กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เคล็ดวิชาต่าง ๆ (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=11)
-   -   กระบวนพยุหยาตราชลมารค (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=296)

วาโยรัตนะ 25-03-2009 20:01

ประวัติเรือนารายณ์ทรงสุบรรณ
เรียบเรียงโดย กองประวัติศาสตร์ กรมยุทธการทหารเรือ


เรือนารายณ์ทรงสุบรรณเป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง ประเภทรูปสัตว์ กล่าวคือ เป็นเรือที่แกะสลักหัวเรือเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ทั้งสัตว์จริงและสัตว์ในเทพนิยาย เรือรูปสัตว์ปรากฏขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระองค์ทรงแก้เรือแซเป็นเรือไชยและเรือรูปสัตว์ต่าง ๆ เพื่อจะให้ตั้งปืนใหญ่ที่หัวเรือได้ เรือรูปสัตว์มาจากตราประจำตำแหน่งของ เสนาบดี เช่น ราชสีห์ คชสีห์ นาค ฯลฯ

นอกจากนี้ เรือพระที่นั่งก็มีหัวเรือเป็นรูปสัตว์ตามพระราชลัญจกร เช่น เรือ ครุฑ อย่างพระราชลัญจกร "พระครุฑพ่าห์" หัวเรือแต่เดิมทำเป็นรูปครุฑเท่านั้น ซึ่งก็เป็นสัญลักษณ์ หมายถึง เรือพระที่นั่งแห่งพระมหากษัตริย์ผู้อยู่ในฐานะสมมติเทพนั่นเอง

ความเป็นมาของเรือนารายณ์ทรงสุบรรณนั้น มีชื่อเดิมว่า "มงคลสุบรรณ" พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาเจษฎาบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ต่อขึ้นตามแบบอย่างสมัยอยุธยา โดยมีพระราชประสงค์ ตามที่ปรากฏความในพระราชพงศาวดารว่า "ไว้เป็นเกียรติยศสำหรับแผ่นดิน"
ลักษณะของเรือลำนี้มีความยาว ๑๗ วา ๓ ศอก กว้าง ๕ ศอก ๕ นิ้ว ลึก ๑ ศอก ๖ นิ้ว กำลัง ๖ ศอก ๖ นิ้ว พื้นท้องเรือภายนอกสีแดง กำลังฝีพาย ๖๕ คน โขนเรือแต่เดิมจำหลักไม้รูปพญาสุบรรณ หรือพญาครุฑยุดนาค เท่านั้น มีช่องกลมสำหรับติดตั้งปืนใหญ่อยู่ที่หัวเรือใต้ตัวครุฑ

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้ทรงพระนิพนธ์เกี่ยวกับเรือมงคลสุบรรณในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคไว้ว่า

"เรือพระที่นั่งมงคลสุบรรณมีปืน จ่ารงที่หัวเรือตรงช่วงเท้าของรูปครุฑ มีฝรั่งกำกับปืน ๓ นาย คือ พระยาพิเศษสงคราม หลวงชนะทุกทิศ และหลวงฤทธิวารี มีจมื่นสรรเพชภักดี และจมื่นศรีเสาวรักษ์ จมื่นเสมอใจราช และจมื่นไวยวรนารถ อยู่ประจำหน้าพระที่นั่ง

ที่บัลลังก์นี้มีเครื่องราชูปโภคทอดไว้ เช่น พระล่วมมณฑป พระแสงดาบต้น กระดานชนวน หม้อลงพระบังคน ธารพระกร พระสุพรรณราช และพระสุพรรณศรี ทั้งยังมีวิชนี เครื่องสุธารสชา ชุดกล้อง เข้าใจว่าเป็นกล้องยาสูบ เชิงเทียน พระเต้าน้ำ และพระสุพรรณภาชน์สองชั้น

ส่วนนอกบัลลังก์ด้านหน้า ผูกพระแสงปืนคาบศิลาขนาดยาวสิบคืบ ประดับลวดลายคร่ำทอง เป็นปืนที่ใช้ลูกปืนขนาดหกบาท พนักงานประจำปืนชื่อพระยาอภัยศรเพลิง หลวงเสน่ห์ศรวิชิต และหลวงสนิทอาวุธ มีเจ้ากรมพระศุภรัตชื่อหลวงสุนทรภิรมย์ และจางวางพิชัยพลระดม ที่ท้ายที่นั่งนอกม่านมีมหาดเล็ก ๒ คน มีเวรพนักงานพระภูษามาลาเชิญพระกลด ๒ คน และมีแพทย์หลวงอีก ๑ คน คือ หมอยาทิพจักร และหมอนวดราชรักษา"

จวบจนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ มีพระราชดำริ ให้เสริมรูปพระนารายณ์ประทับยืนบนหลังพญาสุบรรณ เพื่อความสง่างามของลำเรือ และเพื่อให้ต้องตามคติในเทพปกรณัมของศาสนาพราหมณ์ว่า พญาสุบรรณนั้นเป็นเทพพาหนะของพระนารายณ์

วาโยรัตนะ 25-03-2009 20:02

เทวรูปพระนารายณ์ที่สร้างขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๔ นั้น สร้างด้วยไม้จำหลักปิดทองประดับกระจก องค์พระนารายณ์ทรงเครื่องภูษิตาภรณ์ และมงกุฎยอดชัย พระพักตร์และพระวรกายประดับกระจกสีขาบ (สีน้ำเงินเข้ม) มี ๔ พระกร ทรงเทพศาสตราในพระกรทั้ง ๔ คือ ตรี คทา จักร สังข์ ตามลักษณะในเทพปกรณัมของพราหมณ์ ซึ่งปรากฏในบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ ในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ตอนกุมภกรรณต้องศรพระรามสิ้นชีวิตว่า

"แลเห็นพระองค์ทรงลักษณ์ ผ่องพักตร์จำรัสรัศมี
สีเขียวดั่งนิลมณี มีกายปรากฏเป็นสี่กร
ทรงเทพอาวุธจักรสังข์ ทั้งตรี คทา ศิลป์ศร
จึงรู้ว่านารายณ์ฤทธิรอน จากเกษียรสาครเสด็จมา"


และเมื่อเสริมรูปพระนารายณ์แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ขนานนามเรือลำนี้ใหม่ว่า
"นารายณ์ทรงสุบรรณ"

จากหลักฐานประเภทบันทึกการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในสมัยรัตนโกสินทร์ พบหลักฐานการนำเรือพระที่นั่งมงคลสุบรรณ หรือนารายณ์ทรงสุบรรณลำนี้ เข้าร่วมในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคเป็นครั้งสำคัญ ๒ ครั้ง คือ กระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในการเสด็จเลียบพระนครของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๓๙๔ ซึ่งในขณะนั้น เรือลำนี้ยังไม่มีการเสริมรูปพระนารายณ์ ทั้งยังคงมีชื่อมงคลสุบรรณ

และอีกครั้งหนึ่งในการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๔๒๙ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

ส่วนเครื่องแต่งกายของเจ้าพนักงานและฝีพายประจำเรือนั้น มีปรากฏข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ ตอนที่ว่าด้วยการเสด็จเลียบพระนครทางชลมารคใน พ.ศ.๒๓๙๔ ว่า


"เรือมงคลสุบรรณ เรือศรีสุพรรณหงส์ นักสราชถือธงหักทองขวางหน้าเรือท้ายเรือ มีกลองชนะทำด้วยเงิน ลำละ ๕ คน เจ้าพนักงานเป็นนายกำกับลำ นุ่งปูม สวมเสื้อเข้มขาบโพกขลิบทอง ฝีพายลำละ ๖๕ คน ฝีพายใส่เสื้อสักหลาดขลิบโหมด หมวกกลีบลำดวน กางเกงมีกรวยเชิง ใช้พายทอง"

สันนิษฐานว่า ตัวเรือนารายณ์ทรงสุบรรณคงเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา จึงไม่พบหลักฐานการนำออกมาร่วมในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในรัชกาลต่อ ๆ มา คงเหลือแต่โขนเรือซึ่งตามประวัติทราบว่า กระทรวงทหารเรือเก็บรักษาไว้จนถึงปี ๒๔๙๖ จึงมอบให้กรมศิลปากรเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจนถึงปัจจุบัน

โขนเรือนารายณ์ทรงสุบรรณ เป็นงานประณีตศิลป์ชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่งานแกะสลักและปิดทองประดับกระจก ได้พัฒนาไปจนถึงขั้นสูงสุด มีการคิดวิธีการประดับกระจกและลวดลายในการประดับกระจกขึ้นอีกหลายแบบ

นอกจากนั้น โขนเรือลำนี้ยังมีความสำคัญในด้านความหมายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยเหตุที่ลักษณะอันงดงามของโขนเรือลำนี้ สะท้อนคติความเชื่อในการเทิดทูนสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชของชาวไทยโบราณ ว่าทรงเป็นสมมติเทพ คือ ปางอวตารของพระผู้เป็นเจ้าตามคติของพราหมณ์ ที่มีอิทธิพลต่อภูมิปัญญาและความเชื่อของคนไทยร่วมกับคติพุทธศาสนา พระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์ที่ได้รับการเคารพบูชาอย่างยิ่งมีสองพระองค์ คือ พระอิศวร และพระนารายณ์

สำหรับคติความเชื่อในเรื่องสมมติเทพของคนไทยตั้งแต่โบราณนั้น ถือว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นปางอวตารขององค์พระเป็นเจ้าทั้งสอง รวมอยู่ในพระองค์เดียวกัน แต่ความเป็น "พระนารายณ์เป็นเจ้า" ซึ่งเป็นเทพผู้คุ้มครองพิทักษ์รักษาโลกนั้น ดูจะได้รับการนำมาเป็นสาระของสัญลักษณ์และขนบราชประเพณีมากเป็นพิเศษ ดังเช่น

การสร้างรูปพระนารายณ์ทรงสุบรรณ เป็นลายหน้าบันพระอุโบสถของพระอารามหลวง หรือพระมหาปราสาทราชมณเฑียร การสร้างรูปสัตว์อันเป็นเทพพาหนะคือ ครุฑและสัตว์อื่นเป็นเทพบัลลังก์คืออนันตนาคราช เป็นโขนเรือพระที่นั่งและเรือพระราชพิธีหลายลำ ตลอดจนการสร้างพระแสงจักรและพระแสงตรีเป็นเครื่องประกอบในพระแสงอัษฎาวุธ สำหรับพระองค์สมเด็จพระมหากษัตริย์เจ้า ก็ล้วนเป็นการเทิดทูนและยกย่องพระองค์ ให้มีพระราชสถานะและพระบรมเดชานุภาพ ดุจองค์พระนารายณ์ทั้งสิ้น

ดังนั้น การต่อเรือซึ่งมีโขนเรือเป็นรูปนารายณ์ทรงสุบรรณนี้ น้อมเกล้าฯ ถวายในมหามงคลวโรกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก จึงนับว่าเป็นการเหมาะสม เพราะเท่ากับเป็นการเทิดพระเกียรติและเสริมส่งพระบรมเดชานุภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามคติธรรมเนียมที่บรรพชนไทยได้ยึดมั่นสืบต่อมาแต่โบราณ


อนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า พระราชทานนามเรือพระที่นั่งซึ่งต่อใหม่นี้ว่า
"เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙" ซึ่งจักปรากฏเป็นสัญลักษณ์แห่งพระบรมเดชานุภาพ และเป็นพระเกียรติยศสำหรับแผ่นดิน สืบไปชั่วกาลนาน



เด็กเมื่อวานซืน 26-03-2009 11:39

สำหรับที่นั่งกลางลำเรือ ถ้าเป็นของเรือที่ประกอบในขบวนจะเรียกว่า คฤห์ ครับ

เด็กเมื่อวานซืน 29-03-2009 10:15

วันนี้ขอนำรายละเอียดปืนจ่ารง มาให้ชมกันครับ


ภาพจิตรกรรม ฝรั่งกำลังจุดยิงปืนจ่ารงหน้าเรือ ปัจจุบันภาพจิตรกรรมนี้อยู่ที่พระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร พระราชวังบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ครับ


สำหรับปืนจ่ารง นี้ น่าจะใช้เรียกเฉพาะปืนเหล็กที่หล่อขึ้นในประเทศไทย มีขนาดกระสุนต่างกัน ตั้งแต่ ๓ นิ้ว ๔ นิ้ว และ ๕ นิ้ว แต่ดินดำที่ใช้ในการยิงมีน้ำหนักเท่ากันคือ ๑ ชั่ง ( ๑.๒ กิโลกรัม หรือ หนึ่งกิโลกรัม สองขีด ) ยกเว้น ปืนมหาฤกษ์ และ ปืนมหาชัย ที่จัดอยู่ในประเภทปืนจ่ารง แต่ใช้ดินดำน้ำหนัก ๒ ชั่ง ( ๒.๔ กิโลกรัม)

ในเอกสารโบราณ มีคำเรียกชื่อ ปืนจ่ารง ต่างกันไปหลายชื่อ เช่น ปืนจ่ารงหลังช้าง , ปืนจ่ารงหน้าเรือ (ตามภาพจิตรกรรม แต่ใช้ขนาดกระสุนเพียง ๑-๒ นิ้ว) , ปืนจ่ารงรางล้อ หรือ ปืนจ่ารงรางเกวียน

เด็กเมื่อวานซืน 29-03-2009 10:22

ภาพ เกวียนรางปืน สำหรับใช้ลากปืนจ่ารง ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์พระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต กทม.


หมายเหตุ

ปืนมหาฤกษ์ และ ปืนมหาชัย เป็นปืนที่สำหรับไว้ยิงในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ซึ่งจะมีปืนประจำชุดที่ใช้ยิงในงานพระราชพิธีนี้ อยู่จำนวน ๔ กระบอก ได้แก่ ปืนมหาฤกษ์ , ปืนมหาชัย , ปืนมหาจักร์ และ ปืนมหาปราบยุค ครับ


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 23:59


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว