ไปธุดงค์เพื่ออะไร พระเณรบางกลุ่มหลังจากออกพรรษาแล้ว นิยมพากันออกเที่ยวธุดงค์ไปในที่ต่าง ๆ มีการตระเตรียมบริขาร หรือชุดธุดงค์กันอย่างครบเครื่อง แต่ในการไปนั้น มีอยู่หลายรูปที่ไปแบบผิดเป้าหมาย เช่น ทรงเครื่องกัมมัฏฐานไปรถทัวร์บ้าง รถไฟบ้าง เที่ยวไปเยี่ยมเพื่อนฝูงตามสำนักต่าง ๆ บ้าง หลวงปู่จึงกล่าวท่ามกลางคณะสงฆ์ว่า "การกระทำตนเป็นพระธุดงค์รูปงามนั้น ย่อมไม่ควร ผิดวัตถุประสงค์ของการเดินธุดงค์ ทุกองค์พึงสำเหนียกให้มากว่า การประพฤติธุดงคกัมมัฏฐานนั้น มุ่งการฝึกฝนขัดเกลาจิตใจให้ปราศจากกิเลสประการเดียวเท่านั้น การไปธุดงคกัมมัฏฐานแต่ตัวส่วนใจไม่ไปนั้น ไม่เป็นการประเสริฐเลย" |
ละเอียด หลวงพ่อเบธ วัดป่าโคกหม่อน ได้เข้าสนทนาธรรมกับหลวงปู่ถึงการปฏิบัติสมาธิภาวนา โดยท่านเล่าว่า สามารถทำให้จิตเข้าถึงอัปปนาสมาธิได้เป็นเวลานาน ๆ ครั้นถอยออกมาจากสมาธิ บางทีก็เกิดความสุขอิ่มเอิบอยู่เป็นเวลานาน บางทีก็เกิดความสว่างไสวสามารถเข้าใจสรรพางค์กายได้อย่างครบถ้วน แล้วจะมีสิ่งใดต้องปฏิบัติต่อไปอีก หลวงปู่ว่า "อาศัยพลังอัปปนาสมาธินั่นแหละมาตรวจสอบจิต แล้วปล่อยวางอารมณ์ทั้งหมดอย่าให้เหลืออยู่" |
ว่าง ในเวลาต่อมา หลวงพ่อเบธพร้อมด้วยพระสหธรรมิกอีกสองรูป และคฤหัสถ์อีกหลายคนเข้านมัสการหลวงปู่ หลังจากหลวงปู่ได้แนะนำข้อปฏิบัติแก่ผู้ที่เข้ามาใหม่แล้ว หลวงพ่อเบธได้ถามถึง ข้อปฏิบัติที่หลวงปู่แนะนำเมื่อคราวที่แล้วว่า การปล่อยวางอารมณ์นั้น ทำได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว หรือชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น ไม่อาจรักษาให้อยู่ได้เป็นเวลานาน หลวงปู่ว่า "แม้ที่ว่าปล่อยวางอารมณ์ได้ชั่วขณะหนึ่งนั้น ถ้าสังเกตจิตไม่ดี หรือสติไม่สมบูรณ์เต็มที่แล้ว ก็อาจเป็นได้ว่า ละจากอารมณ์หยาบไปอยู่กับอารมณ์ละเอียดก็ได้ จึงต้องหยุดความคิดทั้งปวงเสีย แล้วปล่อยจิตให้ตั้งอยู่บนความไม่มีอะไรเลย" |
อุบายคลายความยึด เมื่อกระผมทำความสงบให้เกิดขึ้นแล้ว ก็พยายามรักษาจิตให้ดำรงอยู่ในความสงบนั้นด้วยดี แต่ครั้นกระทบกระทั่งกับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง จิตก็มักจะสูญเสียความสงบที่พยายามทรงไว้นั้น หลวงปู่ว่า "ถ้าเช่นนั้น แสดงว่าสมาธิของตนเองยังไม่แข็งแกร่งเพียงพอ ถ้าเป็นอารมณ์แรงกล้าเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอารมณ์ที่เป็นจุดอ่อนของเราแล้ว ต้องแก้ด้วยวิปัสสนาวิธี จงเริ่มต้นด้วยการพิจารณาสภาวธรรมที่หยาบที่สุด คือ กาย แยกให้ละเอียดพิจารณาให้แจ่มแจ้ง ขยับถึงพิจารณานามธรรมอะไรก็ได้ทีละคู่ ที่เราเคยแยกพิจารณามา ก็มีความดำความขาว ความมืดความสว่าง เป็นต้น" |
ความหลังยังฝังใจ ครั้งหลวงปู่ไปพักผ่อนที่วัดป่าโยธาประสิทธิ์ มีพระเณรจำนวนมากมากราบนมัสการหลวงปู่ เพื่อขอฟังโอวาทจากหลวงปู่ หลวงตาพลอย ผู้ที่มาบวชเมื่อแก่ได้ปรารภถึงตนเองว่า "กระผมบวชมาก็นานพอสมควรแล้ว ยังไม่อาจตัดอารมณ์ห่วงอาลัยในอดีตได้ แม้จะตั้งใจอย่างไรก็เผลอจนได้ ขอทราบอุบายวิธีอย่างอื่นเพื่อปฏิบัติตามแนวทางนี้ต่อไปด้วยครับกระผม" หลวงปู่ว่า "อย่าให้จิตแล่นไปสู่อารมณ์ภายนอก ถ้าเผลอ เมื่อรู้ตัวให้รีบดึงกลับมา อย่าปล่อยให้มันรู้อารมณ์ดีหรือชั่ว สุขหรือทุกข์ ไม่คล้อยตาม และไม่หักหาญ" |
หยุดต้องหยุดให้เป็น มีนักปฏิบัติกราบเรียนหลวงปู่ว่า กระผมพยายามหยุดคิด หยุดนึกให้ได้ตามที่หลวงปู่เคยสอน แต่ไม่เป็นผลสำเร็จสักที ซ้ำยังเกิดความอึดอัดแน่นในใจ สมองมึนงง แต่กระผมก็ยังศรัทธาว่าที่หลวงปู่สอนไว้ย่อมไม่ผิดแน่ ขอทราบอุบายวิธีต่อไปด้วยครับ หลวงปู่ว่า "ก็แสดงถึงความผิดพลาดอยู่แล้ว เพราะบอกให้หยุดคิดหยุดนึก ก็กลับไปคิดที่จะหยุดคิดเสียอีกเล่า แล้วอาการหยุดจะอุบัติขึ้นได้อย่างไร จงกำจัดอวิชชาแห่งการหยุดคิดหยุดนึกเสียให้สิ้น เลิกล้มความคิดที่จะหยุดคิดเสียก็สิ้นเรื่อง" |
เมื่อกล่าวถึงสัจธรรมแล้ว ย่อมลงสู่กระแสเดียวกัน มีหลายท่านชอบถามว่า คำกล่าวหรือการเทศน์ของหลวงปู่ ดูคล้ายนิกายเซ็น หรือคล้ายมาจากสูตรเว่ยหล่างเป็นต้น อาตมาเรียนถามหลวงปู่ก็หลายครั้ง ในที่สุดหลวงปู่ก็กล่าวว่า "สัจธรรมทั้งหมดมีอยู่ประจำโลกอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าตรัสรู้สัจธรรมนั้นแล้ว ก็นำมาสั่งสอนสัตว์โลก เพราะอัธยาศัยของสัตว์ไม่เหมือนกัน หยาบบ้าง ประณีตบ้าง พระองค์จึงเปลืองคำสอนไว้มากถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เมื่อมีนักปราชญ์ฉลาดสรรหาคำพูดให้สมบูรณ์ที่สุด เพื่อจะอธิบายสัจธรรมนั้น นำมาตีแผ่เผยแจ้งแก่ผู้มุ่งสัจธรรมด้วยกัน เราย่อมจะต้องอาศัยแนวทางในสัจธรรมนั้น ที่ตนเองไตร่ตรองเห็นแล้วว่าถูกต้อง และสมบูรณ์ที่สุดนำแผ่ออกไปอีก โดยไม่ได้คำนึงถึงคำพูด หรือไม่ได้ยึดติดในอักขระพยัญชนะตัวใดเลยแม้แต่น้อยเดียว" |
มีอยู่จุดเดียว ในนามสัทธิวิหาริกของหลวงปู่ มีพระมหาทวีสุขสอบเปรียญ ๙ ประโยคได้เป็นรูปแรก ทางวัดบูรพารามจึงจัดฉลองพัดประโยค ๙ ถวาย หลังจากพระมหาทวีสุขถวายสักการะแก่หลวงปู่แล้ว หลวงปู่ได้ให้โอวาทว่า "ผู้ที่สามารถสอบเปรียญ ๙ ประโยคได้นั้น ต้องมีความเพียรอย่างมาก และมีความฉลาดเพียงพอ เพราะถือว่าเป็นการจบหลักสูตรฝ่ายปริยัติ และต้องแตกฉานในพระไตรปิฎก การสนใจทางปริยัติเพียงอย่างเดียวพ้นทุกข์ไม่ได้ ต้องสนใจปฏิบัติทางจิตต่อไปอีกด้วย พระธรรมทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น ออกไปจากจิตของพระพุทธเจ้าทั้งหมด ทุกสิ่งทุกอย่างออกจากจิต อยากรู้อะไรค้นได้ที่จิต" |
โลกกับธรรม วันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ หลวงปู่ไปพักผ่อนอยู่ที่วัดถ้ำศรีแก้ว ภูพาน สกลนคร ค่ำวันสุดท้ายที่หลวงปู่จะเดินทางกลับ ท่านอาจารย์สุวัจ พร้อมพระเณรในวัด ได้เข้าไปกราบหลวงปู่เพื่อเป็นการอำลาหลวงปู่ หลวงปู่กล่าวว่า "พักผ่อนอยู่ที่นี่สบายดี อากาศก็ดี ภาวนาก็สบาย นึกถึงบรรยากาศเก่า ๆ เมื่อสมัยเที่ยวธุดงค์" แล้วหลวงปู่ก็ได้กล่าวธรรมโอวาทมีความตอนหนึ่งว่า "สิ่งใดซึ่งสามารถรู้ได้ สิ่งนั้นเป็นของโลก สิ่งใดไม่มีอะไรจะรู้ได้ สิ่งนั้นคือธรรม โลกมีของคู่อยู่เป็นนิจ แต่ธรรมเป็นของสิ่งเดียวรวด" |
ละอย่างหนึ่งติดอีกอย่างหนึ่ง ลูกศิษย์ฝ่ายคฤหัสถ์ผู้ปฏิบัติธรรมคนหนึ่ง เข้านมัสการหลวงปู่ เพื่อรายงานผลการปฏิบัติให้หลวงปู่ฟังด้วยความภาคภูมิใจว่า "ปลื้มใจอย่างยิ่งที่ได้พบหลวงปู่วันนี้ ด้วยกระผมปฏิบัติตามที่หลวงปู่เคยแนะนำ ก็ได้ผลไปตามลำดับ คือ เมื่อลงมือนั่งภาวนาก็เริ่มละสัญญาอารมณ์ภายนอกหมด จิตก็หมดความวุ่น จิตรวม จิตสงบ จิตดิ่งสู่สมาธิ หมดอารมณ์อื่น เหลือแต่ความสุข สุขอย่างยิ่ง เย็นสบาย แม้จะให้อยู่ตรงนี้นานเท่าไหร่ก็ได้" หลวงปู่ยิ้มแล้วพูดว่า "เออ ก็ดีแล้วที่ได้ผล พูดถึงความสุขในสมาธิมันก็สุขจริง ๆ จะเอาอะไรมาเปรียบไม่ได้ แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้น มันก็ได้แค่นั้นแหละ ยังไม่เกิดปัญญาอริยมรรคที่จะตัดภพชาติ ตัณหา อุปาทาน ได้ ให้ละสุขนั้นเสีย แล้วพิจารณาขันธ์ห้าให้แจ่มแจ้งต่อไป" |
ปรารภธรรมเปรียบเทียบ "จิตของพระอริยเจ้าชั้นโลกุตตระนั้น แม้จะยังอยู่ในโลกคลุกคลีกับสิ่งแวดล้อมโดยสถานใด ก็ไม่อาจจูงจิตของท่านให้ไขว้เขวเจือปนกับสิ่งเหล่านั้นได้ คือ โลกธรรมไม่อาจครอบงำจิตได้เลย คือ จิตไม่กลับกลายไปเป็นจิตปุถุชนได้อีก ไม่อาจกลับไปอยู่ใต้อำนาจของกิเลสตัณหาได้อีก เปรียบเหมือนกะทิมะพร้าวที่คั้นออกมาแล้ว เอาไปสำรอกหรือเคี่ยวด้วยความร้อนจนเป็นน้ำมันออกมาได้แล้ว ย่อมไม่กลับกลายไปเป็นกะทิเหมือนเดิมอีก แม้จะเอาไปปะปนระคนกับกะทิอย่างไร ก็ไม่อาจทำให้น้ำมันนั้นกลายเป็นกะทิเหมือนเดิมได้" |
ภายนอกกับภายใน เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๔ หลังจากหลวงปู่กลับจากราชพิธีในพระราชวัง กำลังพักผ่อนอยู่ที่พระตำหนักทรงพรต วัดบวรนิเวศฯ มีท่านเจ้าคุณซึ่งเป็นนักปฏิบัติรูปหนึ่งได้เข้าไปเยี่ยมสนทนาธรรมกับหลวงปู่ โดยขึ้นต้นด้วยคำถามว่า "เขาว่าคนที่เป็นยักษ์ในชาติปางก่อน กลับมาเป็นมนุษย์ในชาตินี้นั้น เรียนคาถาอาคมอะไรก็ศักดิ์สิทธิ์ไปทุกอย่าง เป็นความจริงแค่ไหนครับผม" หลวงปู่ลุกขึ้นนั่ง แล้วตอบว่า "ผมไม่เคยได้สนใจเรื่องอย่างนี้เลย ท่านเจ้าคุณเคยภาวนาถึงตรงนี้ไหม หสิตุปบาท คือ กิริยาที่จิตยิ้มเอง โดยปราศจากเจตนาที่จะยิ้ม เกิดในจิตของเหล่าพระอริยเจ้าเท่านั้น ไม่มีในสามัญชน เพราะพ้นเหตุปัจจัยแห่งการปรุงแต่งแล้ว เป็นอิสระด้วยตัวมันเอง" |
หวังผลไกล เมื่อมีแขกหรืออุบาสกอุบาสิกาไปกราบนมัสการหลวงปู่ แต่หลวงปู่มีปกติไม่เคยถามถึงเรื่องอื่นใด มักจะถามว่า "ญาติโยมเคยภาวนาบ้างไหม" บางคนตอบว่าเคย บางคนตอบว่าไม่เคย ในจำนวนนั้นมีอยู่คนหนึ่งฉะฉานกว่าใคร เขากล่าวว่า "ดิฉันเห็นว่าพวกเราไม่จำเป็นต้องมาวิปัสสนาอะไรให้มันลำบากลำบนนัก เพราะปีหนึ่ง ๆ ดิฉันก็ฟังเทศน์มหาชาติจบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ตั้งหลายวัด ท่านว่าอานิสงส์การฟังเทศน์มหาชาตินี้จะได้ถึงศาสนาพระศรีอาริย์ ก็จะพบแต่ความสุขความสบายอยู่แล้ว ต้องมาทรมานให้ลำบากทำไม" หลวงปู่ว่า "สิ่งอันประเสริฐที่มีอยู่เฉพาะหน้าแล้วไม่สนใจ กลับไปหวังไกลถึงสิ่งที่เป็นแต่เพียงการกล่าวถึง เป็นลักษณะของคนไม่เอาไหนเลย ก็ในเมื่อมรรค ผล นิพพานในศาสนาสมณโคดมในปัจจุบันนี้ ยังมีอยู่อย่างสมบูรณ์ กลับเหลวไหลไม่สนใจ เมื่อถึงศาสนาพระศรีอาริย์ ก็ยิ่งเหลวไหลมากกว่านี้อีก" |
การปฏิบัติธรรมนั้นเพื่ออะไร หลวงพ่อเบธ ซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดของหลวงปู่ อยู่ที่วัดโคกหม่อน แม้ท่านจะบวชเมื่อวัยชรา แต่ก็เคร่งครัดต่อการปฏิบัติธุดงคกัมมัฏฐานอย่างยิ่ง หลวงปู่เคยยกย่องว่าปฏิบัติได้ผลดี วันหนึ่งท่านอาพาธหนักใกล้จะมรณภาพแล้ว ท่านปรารภว่า อยากเห็นหลวงปู่เป็นครั้งสุดท้ายเพื่อลาตาย เมื่อหลวงปู่ไปถึงแล้ว หลวงพ่อเบธลุกกราบหลวงปู่แล้วล้มตัวนอนตามเดิมโดยไม่ได้พูดอะไร แต่มีอาการยิ้ม และสดชื่นอย่างเห็นได้ชัด ขณะนั้น สุรเสียงอันชัดเจนและนุ่มนวลของหลวงปู่ก็มีออกมาว่า "การปฏิบัติทั้งหลายที่เราพยายามปฏิบัติมา ก็เพื่อจะใช้ในเวลานี้เท่านั้น เมื่อถึงเวลาที่จะตาย ให้ทำจิตให้เป็นหนึ่ง แล้วหยุดเพ่งปล่อยวางทั้งหมด" |
ไม่เคยเห็นหวั่นไหวในเหตุการณ์อะไร เวลา ๔ ทุ่มผ่านไปแล้ว เห็นหลวงปู่ยังนั่งพักผ่อนอยู่ตามสบาย จึงเข้าไปกราบเรียนว่า "หลวงปู่ครับ หลวงปู่ขาวมรณภาพเสียแล้ว" หลวงปู่แทนที่จะถามว่า ด้วยเหตุใด เมื่อไร ก็ไม่ถามกลับพูดต่อไปเลยว่า "เออ ท่านอาจารย์ขาว ก็หมดภาระการแบกหามสังขารเสียที พบกันเมื่อ ๔ ปีที่ผ่านมาเห็นลำบากสังขาร ต้องให้คนอื่นช่วยเหลืออยู่เสมอ เราไม่มีวิบากของสังขาร เรื่องวิบากสังขารนี้ แม้จะเป็นพระอริยเจ้าชั้นไหน ก็ต้องต่อสู้จนกว่าจะขาดจากกันได้ ไม่เกี่ยวข้องกันอีก แต่ตามปกติสภาวะของจิตนั้น มันก็ยังอยู่กับสิ่งเหล่านี้เอง เพียงแต่จิตที่ฝึกดีแล้วเมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นย่อมละและระงับได้เร็ว ไม่กังวล ไม่ยึดถือ หมดภาระเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้น มันก็แค่นั้นเอง" |
จริงตามความเป็นจริง สุภาพสตรีชาวจีนคนหนึ่ง ถวายสักการะแด่หลวงปู่แล้วกราบเรียนว่า ดิฉันจะต้องไปอยู่ที่อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อทำมาค้าขายและอยู่ใกล้ชิดกับญาติทางโน้น ทีนี้บรรดาญาติ ๆ ก็เสนอแนะว่า ควรจะขายของชนิดนั้นบ้าง ชนิดนี้บ้าง ตามแต่เขาจะเห็นดีว่าอะไรขายได้ดี ดิฉันยังมีความลังเลใจ ตัดสินใจเองไม่ได้ว่าจะเลือกขายของอะไร จึงให้หลวงปู่ช่วยแนะนำด้วยว่า จะให้ดิฉันขายอะไรจึงจะดีเจ้าคะ หลวงปู่ว่า "ขายอะไรก็ดีทั้งนั้นแหละ ถ้ามีคนซื้อ" |
ไม่ได้ตั้งจุดหมายไว้ เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๒ คณะนายทหารประมาณ ๑๐ กว่านาย เข้านมัสการหลวงปู่เมื่อเวลาค่ำแล้ว ในคณะของนายทหารเหล่านั้น มียศพลโทสองท่าน หลังจากสนทนากับหลวงปู่เป็นเวลาพอสมควรแล้ว ก็ถอดเอาพระเครื่องจากคอของแต่ละท่าน รวมใส่พานถวายให้หลวงปู่ช่วยอธิฐานแผ่เมตตาจิตให้ ท่านก็อนุโลมตามความประสงค์แล้วก็มอบคืนให้ไป มีนายพลท่านหนึ่งถามหลวงปู่ว่า ทราบว่ามีเหรียญหลวงปู่ออกมาหลายรุ่นแล้ว อยากถามหลวงปู่ว่ามีรุ่นไหนดังบ้าง หลวงปู่ตอบว่า "ไม่มีดัง" |
หลวงปู่กับเกจิอาจารย์ เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๒๐ หลวงปู่รับนิมนต์ไปร่วมพิธีกรรมที่วัดธรรมมงคล สุขุมวิท ในงานนี้ ท่านรับนิมนต์เข้าไปนั่งปรกในพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลด้วย เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ออกมานั่งพักที่กุฏิเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง สนทนากับเหล่าศิษยานุศิษย์ ที่เข้ามาศึกษาเล่าเรียนอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนหลายรูป และมีพระรูปหนึ่งคงไม่เคยเห็นการเข้าพิธีพุทธาภิเษกมาก่อน เพิ่งเคยเห็นครั้งนี้เป็นครั้งแรก จึงถามหลวงปู่ว่า นั่งปรกเขาทำอย่างไร หลวงปู่จึงว่า "อาจารย์องค์อื่น ๆ เขานั่งปรกนั่งพุทธาภิเษกอย่างไร เราไม่รู้ ส่วนตัวเรานั่งสมาธิอย่างเดียว ตามแบบฉบับของเรา" |
อยากเรียนเก่ง หนูได้ฟังคุณตาสรศักดิ์ กองสุข แนะนำว่า ถ้าใครต้องการเรียนเก่งและฉลาด ต้องหัดนั่งภาวนาทำสมาธิให้ใจสงบเสียก่อน หนูอยากจะเรียนเก่งเรียนฉลาดอย่างเขา จึงพยายามนั่งภาวนาทำใจให้สงบ แต่ใจมันก็ไม่สงบสักที บางทีก็ยิ่งทวีความฟุ้งซ่านมากขึ้นก็มี เมื่อใจไม่สงบเช่นนี้ ทำอย่างไรจึงจะเรียนเก่งเจ้าค่ะ หลวงปู่ว่า "เรียนอะไร ก็ให้มันรู้อันนั้น เดี๋ยวก็เก่งเองแหละ ที่ใจไม่สงบก็ให้รู้ว่ามันไม่สงบ เพราะอยากสงบ มันจึงไม่สงบ ขอให้พยายามภาวนาเรื่อย ๆ ไปเถอะ สักวันหนึ่งก็จะได้สงบตามต้องการ" |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 02:49 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.