กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   กระทู้ธรรม (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=2)
-   -   ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=3165)

ลัก...ยิ้ม 30-07-2012 09:46

๑๒๑.

หากจิตเกาะงานทางโลก
ตายแล้ว.. ตายอีก
ก็ต้องกลับมาทำงานนั้นใหม่ อย่างไม่รู้จบ

ลัก...ยิ้ม 31-07-2012 09:09

๑๒๒.

ถ้าไม่ฝืนความจริงเสียอย่างเดียว
จิตก็สงบ วางอารมณ์ ยอมรับกฎของกรรมได้
หากทำได้ก็เรียกว่าเข้าถึงอริยสัจ จักพ้นทุกข์ได้ก็ที่ตรงนี้

ลัก...ยิ้ม 01-08-2012 09:09

๑๒๓.

บุคคลใดใช้ปัญญาพิจารณากฎของกรรมตามความเป็นจริงแล้ว
จักได้ชื่อว่าเข้าถึงอริยสัจ สามารถตัดสังโยชน์ได้ง่าย

ลัก...ยิ้ม 03-08-2012 10:18

๑๒๔.

กฎของกรรมหรืออริยสัจนั่นแหละ ตัวเดียวกัน
ให้รู้ว่าโลกนี้เป็นทุกข์ โลกนี้ไม่เที่ยง
ยึดถืออันใดมิได้
กฎของกรรมเกิดขึ้นมาได้เพราะเรายึดถือทุกข์

ลัก...ยิ้ม 04-08-2012 11:47

๑๒๕.

หลักการของการปฏิบัติธรรม
จักต้องรู้อารมณ์อยู่ตลอดเวลา ได้บ้าง ตกบ้าง ก็ไม่เป็นไร
เพราะการกำหนดรู้อารมณ์ คือผลของการปฏิบัติ
และผลจักเป็นของจริง ต้องถูกกระทบก่อนเสมอ
แล้วจบลงที่ว่ามันทุกข์ มันเป็นอริยสัจ

ลัก...ยิ้ม 06-08-2012 09:40

๑๒๖.

ให้พิจารณาว่า อะไรเกิดขึ้นเป็นที่ขัดข้องแล้ว
ล้วนแต่เป็นความทุกข์ทั้งสิ้น
นี่คืออริยสัจหรือกฎของกรรม

ลัก...ยิ้ม 07-08-2012 09:09

๑๒๗.

บุญบารมีเต็ม คือรักษาไว้ซึ่งกำลังใจให้เต็ม
อยู่ในการตัดสังโยชน์เป็นปกติ
ทำทุกอย่างเพื่อพระนิพพานจุดเดียว
เอาทุกสิ่งทุกอย่างเป็นกรรมฐานหมด

ลัก...ยิ้ม 08-08-2012 09:16

๑๒๘.

จิตที่เย็นสนิท คือจิตที่พิจารณากฎของกรรม
แล้วยอมรับความเป็นจริงของขันธ์ ๕ โดยไม่ดิ้นรน

ลัก...ยิ้ม 09-08-2012 10:40

๑๒๙.

บุคคลใดที่ต้องการจักไปพระนิพพานในชาตินี้
บรรดาเจ้าหนี้เก่า ๆ ก็จักตามทวงตามเล่นงานอย่างไม่ลดละ
หากทนไม่ได้ก็ไปไม่ได้

ต้องวางอารมณ์ยอมรับกฎของกรรมให้เป็นธรรมดาให้ได้
การพ่ายแพ้เป็นของธรรมดา แต่จงอย่าถอย จิตก็จักไม่ดิ้นรนมาก
ไม่ช้าไม่นาน กฎของกรรมก็จักคลายตัวไปเอง

ลัก...ยิ้ม 10-08-2012 09:22

๑๓๐.

ทุกอย่างที่ทำให้จิตมีอารมณ์กังวลอยู่
ล้วนแต่เกี่ยวเนื่องด้วยการเกาะติดขันธ์ ๕ ทั้งสิ้น
เช่น เศรษฐกิจไม่ดี, การเจ็บป่วย
ต้นเหตุ เพราะจิตไม่ยอมรับนับถือกฎของกรรม

ลัก...ยิ้ม 14-08-2012 09:19

๑๓๑.

ใช้ทุกขเวทนาให้เป็นประโยชน์ เอาทุกข์นั่นแหละ
สอนจิตให้ยอมรับความไม่เที่ยงของโลก และขันธโลก (ร่างกาย)
ทุกขสัจหรือทุกข์กาย ต้องกำหนดรู้จึงจักรู้ว่าเป็นทุกข์
แล้วลงตัวธรรมดา ว่ามันก็เป็นของมันอยู่อย่างนี้เอง ไม่มีใครฝืนได้

ลัก...ยิ้ม 15-08-2012 09:21

๑๓๒.

การเจ็บป่วยจึงเป็นของดี จักได้ไม่ประมาทในความตาย
เพราะไม่มีใครเอาสมบัติของโลกไปได้
รู้ลม-รู้ตาย-รู้นิพพาน
เป็นทางลัดเข้าสู่พระนิพพานได้ง่าย ๆ

ลัก...ยิ้ม 16-08-2012 10:39

๑๓๓.

การรู้เป็นเพียงแค่เข้าใจเท่านั้น
ของจริงอยู่ที่ผลของการปฏิบัติ

การรู้คือมรรค การปฏิบัติเพื่อตัดโกรธ-โลภ-หลง คือผล

ลัก...ยิ้ม 17-08-2012 10:26

๑๓๔.

จิตฟุ้งอยู่ในสัญญา เพราะมัวไปยุ่งกับเรื่องของผู้อื่น
จิตชอบจำแต่ความเลวของผู้อื่น
อันเป็นภัยที่กลับมาทำร้ายจิตตนเองให้เศร้าหมอง
ขาดเมตตากับกรุณาจิตตนเอง ชอบจุดไฟเผาตนเอง

ลัก...ยิ้ม 20-08-2012 09:08

๑๓๕.

ฟุ้งเลว ให้แก้ที่ฟุ้งดี จำเลวให้แก้ที่จำดี
ฟุ้งออกนอกตัวเป็นกิเลส ฟุ้งอยู่กับตัวเป็นพระธรรม
หากฟุ้งเข้าหาอริยสัจ เข้าหาพระธรรมเป็นธัมมวิจัย.. ไม่ใช่นิวรณ์

ลัก...ยิ้ม 21-08-2012 08:47

๑๓๖.

ฟุ้งเรื่องอะไร ให้พยายามแก้เรื่องนั้น
โดยใช้อริยสัจเป็นหลักสำคัญในการแก้ปัญหา
หากแก้ไม่ไหว จงใช้อานาปานุสติเข้าระงับจิตให้สงบ แล้วจึงใช้อริยสัจ
ธรรมของตถาคตต้องหยุดอารมณ์จิตให้สงบก่อน
จึงจักเห็นการเคลื่อนไหวของกิเลสได้ตามความเป็นจริง

ลัก...ยิ้ม 22-08-2012 10:29

๑๓๗.

จิตของผู้มีปัญญา จักเป็นจิตที่รู้เท่าทันความจริงในอริยสัจอยู่เสมอ
พระอรหันต์ท่านทรงอธิปัญญา ก็อยู่ที่ตรงนี้

ลัก...ยิ้ม 23-08-2012 09:14

๑๓๘.

อย่าหนีความโกรธ
เพราะเป็นกิเลสที่ต้องละด้วยสมถะและวิปัสสนา (กสิณ ๔ และพรหมวิหาร ๔)
ให้คิดว่าคือครูทดสอบอารมณ์จิต
จึงต้องแก้ที่จิตตน อย่าไปแก้ที่บุคคลอื่น

ลัก...ยิ้ม 24-08-2012 09:44

๑๓๙.

พุทธานุสติอย่าทิ้งไปจากจิต
เมื่อรู้ว่าอารมณ์โทสะจริตยังเด่นอยู่ จงอย่าทิ้งพระ
อย่าไปไหนคนเดียว อย่าอยู่คนเดียว ให้อยู่กับพระ
พระอรหันต์ทุกองค์ท่านยังไม่ทิ้งพระ แล้วเราเป็นใคร

ลัก...ยิ้ม 27-08-2012 09:48

๑๔๐.

การพิจารณาร่างกายอยู่เสมอ เป็นอุบายไม่ให้จิตส่งออกนอกกาย
เป็นวิปัสสนาญาณที่ถูกต้องของพระพุทธศาสนา เป็นอริยสัจ
ให้ดูอาการของจิต ที่เกาะติดร่างกายนี้ว่าเป็นเราเป็นของเรา นี้แหละเป็นสำคัญ

ลัก...ยิ้ม 28-08-2012 10:11

๑๔๑.

อย่าทิ้งอานาปานุสติ ยิ่งกำหนดรู้ลมมากเท่าไหร่
จิตยิ่งทรงสติได้มากขึ้นเท่านั้น
ช่วยเตือนใจว่า ชีวิตนี้มันไม่เที่ยง อาจตายได้ตลอดเวลา

มีมรณาฯ ควบอุปสมานุสติอยู่เสมอ
ความไม่ประมาทก็ยิ่งน้อยลง ก็ยิ่งใกล้พระนิพพานเพียงนั้น

ลัก...ยิ้ม 30-08-2012 09:09

๑๔๒.

จิตจักเจริญได้ต้องอาศัยความเพียร
ในการปฏิบัติจริง ๆ แล้ว ให้ตัดสังโยชน์ ๓ ให้ได้ก่อน
โดยเอาอธิศีลเป็นพื้นฐาน เมื่อได้แล้วสังโยชน์ ๔-๕ ไม่ต้องตัด
ให้รวบรัดตัดอวิชชาข้อ ๑๐ เลย
รู้ลม-รู้ตาย-รู้นิพพาน

ลัก...ยิ้ม 31-08-2012 10:07

๑๔๓.

อุบายที่ทรงเมตตาแนะวิธีเข้าพระนิพพานแบบง่าย ๆ
สำหรับผู้ที่มีพื้นฐานได้สังโยชน์ ๓ ข้อแรกแล้ว
ก็คือ รู้ลม-รู้ตาย-รู้นิพพาน

ลัก...ยิ้ม 03-09-2012 10:29

๑๔๔.

กาม-กิน-นอน ...สามตัวนี้ยังติดกันมาก
ซึ่งล้วนเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดร่างกาย หรือรูป-นาม (ขันธ์ ๕) ทั้งสิ้น
อันเป็นโทษของการเกาะติด
หากละวางได้ก็เป็นคุณ ซึ่งมีอยู่ในศีล ๘ ทั้งสิ้น

ลัก...ยิ้ม 04-09-2012 09:16

๑๔๕.

อธิศีล มีศีล ๕ รองรับ ก็พ้นอบายภูมิ ๔ ได้ถาวร
อธิจิต ไม่ติดในกาม-กิน-นอน มีศีล ๘ รองรับ ก็พ้นเกิดพ้นตาย
อธิปัญญา จิตไม่ยินดี-ยินร้ายในสมมุติของโลกและขันธโลก ในสมมุติบัญญัติ ๖ คือ หมดอุปาทาน
มีศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ รองรับ จิตวางสมมุติได้ จิตก็วิมุติทั้งกาย-วาจา-ใจ

ลัก...ยิ้ม 05-09-2012 09:53

๑๔๖.

ให้พิจารณาโทษของการติดรูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส-ธรรมารมณ์ ให้มาก
และพิจารณาโทษของการติดกาม-กินและนอนให้มากด้วย
แล้วจักทำให้จิตหลุดจากกามคุณ ๕ ได้ หากโชคดีก็จบกิจเลย

ลัก...ยิ้ม 06-09-2012 10:37

๑๔๗.

งานใดที่ทำอยู่พึงคิดว่า งานนั้นเป็นกรรมฐาน
เห็นธรรมภายนอก ก็น้อมเข้ามาเป็นธรรมภายใน
ให้เห็นไตรลักษณ์ เห็นทุกข์ในงานนั้น ๆ
พิจารณาเข้าหาอริยสัจ อันเป็นตัวปัญญาสูงสุดในพุทธศาสนา

ลัก...ยิ้ม 10-09-2012 09:12

๑๔๘.

ให้สังเกตอายตนะสัมผัสกระทบให้มาก
แล้วดูอารมณ์จิตที่ไหวไปตามอายตนะนั้นด้วยปัญญา
คือรู้เท่าทันกองสังขารแห่งกายและจิต ชื่อว่าปัญญา
จงอย่าเผลอในธรรมสัมผัสที่เกิดจากทวารทั้งหก

ลัก...ยิ้ม 11-09-2012 10:38

๑๔๙.

หมั่นพิจารณากายคตานุสติ กับอสุภกรรมฐานเข้าไว้
เพื่อเตือนสติให้รู้เท่าทันสภาวะร่างกายของตน
จักได้คลายอารมณ์เกาะติดรูปในยามที่ถูกกระทบ จุดนี้สำคัญ
จักต้องใช้ปัญญาพิจารณาจริงจัง จึงจักวางได้


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 17:18


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว