๑๓. เกิดอารมณ์สงสัยว่า เวลาพระองค์จะโปรดใคร ทรงตั้งความหวังไว้หรือไม่ ? ทรงตรัสว่า พระตถาคตเจ้าทุกพระองค์ทรงเป็นสัพพัญญูวิสัย ย่อมรู้ด้วยพุทธญาณในการตรวจดูอุปนิสัยของสัตว์โลก รู้ล่วงหน้าว่า บุคคลใดจักบรรลุธรรมในวันนี้หรือวันหน้า โดยมิต้องตั้งความหวัง รู้โดยหน้าที่ กล่าวคือเป็นหน้าที่ของพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ จักต้องกระทำอย่างนี้ คำว่ารู้ผิดพลาดไม่มีในพระพุทธเจ้า ซึ่งกรณีนี้พุทธสาวกรู้ได้ไม่ครบ
แม้แต่พุทธันดรนี้พระอัครสาวกฝ่ายขวา ท่านพระสารีบุตร ยังให้ลูกชายนายช่างทองเจริญกรรมฐานผิดกอง กล่าวคือไม่ถูกจริตจึงไม่มีผล เรื่องนี้มิใช่ตำหนิกัน เพียงแต่ให้รู้ว่าสัพพัญญูวิสัยกับวิสัยของสาวกนั้นผิดกัน ให้ดูปฏิปทาพระอรหันต์ที่ท่านรู้จริง ท่านจักถ่อมตนเสมอ และคิดเสมอว่าความผิดอาจจักเกิดขึ้นได้ กรณีนี้พวกเจ้าพึงสังวรจิตเอาไว้ด้วย อย่าทะนงตนว่าทำอะไรจักไม่ผิดพลาดเลยนั้นหาสมควรไม่ ให้ดูท่านพระสารีบุตรเป็นตัวอย่าง จักได้ปรามจิต..ไม่คิดหลงตนจนเกินไป |
๑๔. อภัยจริงหรือไม่ ให้สังเกตตอนจิตถูกกระทบแล้วยังหวั่นไหวอยู่หรือไม่ หากจิตเกาะไม่ปล่อยวาง นั่นแหละคือการอภัยไม่จริง ถ้าจิตปล่อยวางไม่เอาเรื่องเหล่านี้มาคิด มาจำ หรือปรุงแต่ง ตรงนั่นแหละคืออภัยทานที่แท้จริง แต่อภัยทานจักเกิดขึ้นได้ก็ด้วยพิจารณากฎของกรรม คือทุกขสัจ หรืออริยสัจตามความเป็นจริง เห็นการยึดคือการเกาะติดสัญญา แล้วปรุงแต่งเป็นความเศร้าหมอง คือทุกข์เกิดขึ้นแก่จิตแล้ว เห็นเหล่านี้ด้วยปัญญาที่รู้แจ้งแทงตลอดเกิดขึ้นแก่จิตของตนเอง นั่นแหละจึงจักปล่อยวางสัญญาต่าง ๆ ลงได้สนิท อภัยทานเกิดได้ด้วยอาศัยปัญญาตรงนี้
พิจารณาสิ่งที่เห็นด้วยอายตนะ.. เกิดแล้วก็ดับ นั่นมิใช่ตัวตนของเรา และมิใช่ตัวตนของใคร มีเกิดขึ้น แล้วก็ตั้งอยู่ ดับไป เป็นธรรมดา ยึดถืออะไรไม่ได้ในอายตนะนี้ รูป – เวทนา – สัญญา – สังขาร - วิญญาณไม่เที่ยง ยึดเมื่อไหร่ก็ทุกข์เมื่อนั้น ให้ปล่อยวางลงด้วยอำนาจของวิปัสสนาญาณ รู้แจ้งเห็นจริงตามธรรมด้วยปัญญา พิจารณาใคร่ครวญไตร่ตรองให้รอบคอบ ความปล่อยวางก็จักเกิดขึ้นแก่จิตของผู้รู้ของตนเอง อยู่ในจิตนี่แหละ ความสุขความสงบก็จักเกิดขึ้นมาก ภัยภายนอก ภัยภายใน คุกคามอย่างไรก็ไม่ถึงจิต เรื่องของเขาก็เรื่องของเขา เรื่องขันธ์ ๕ ก็เรื่องขันธ์ ๕ เรื่องของเราก็คือจิตเท่านั้น รักษาจิตของเราให้อยู่ในธรรมเพื่อพระนิพพาน มุ่งตัดกิเลสเพื่อหลุดพ้นจากบ่วงมารเท่านั้นเป็นพอ อย่าคิดไปแก้กรรมภายนอก แก้กรรมในจิตด้วยจิตของตนเองเท่านั้นเป็นพอ หมดกรรมเมื่อไหร่ก็ถึงซึ่งพระนิพพานเมื่อนั้น นิพพานัง ปรมังสูญญัง นิพพานเป็นธรรมว่างอย่างยิ่ง จิตพระอรหันต์ว่างจากกรรมที่เป็นกิเลสทั้งปวง จึงจักเข้าถึงซึ่งพระนิพพานได้ |
๑๕. ให้ทำใจให้สบาย ๆ อย่าห่วงกังวลถึงเหตุการณ์ภายหน้าว่าเป็นอย่างไร ทุกอย่างล้วนเป็นกฎของกรรมทั้งสิ้น จงดูแลตนเองให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพของจิตใจ ไม่มีใครที่จักช่วยเราได้นอกจากตัวของตนเอง ฝึกฝนจิตเอาไว้ให้ดี ให้พร้อมรับกับสถานการณ์ทุกรูปแบบ อย่าคิดว่าในชีวิตจักไม่เจอกับสิ่งที่เลวร้าย เวลานี้ทั่วโลกต่างประสบกับภัยพิบัติต่าง ๆ นานา รวมทั้งข่าวมรณภัย ตายหมู่คราวละมาก ๆ มีให้เห็นให้ฟังอยู่เป็นประจำ เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จักประมาทเป็นอันขาด และให้นึกอยู่เสมอว่าความตายเป็นของจริง ซึ่งไม่มีใครที่มีร่างกายจักหนีได้พ้น พวกเจ้าเองก็เช่นกัน ทำอะไรก็ทำไป แต่ไม่ควรประมาทในกรรมเป็นอันขาด
|
(พระธรรม ที่ทรงตรัสสอนในเดือนตุลาคม ๒๕๔๐) ปกิณกธรรม สมเด็จองค์ปฐม ทรงตรัสสอนไว้มีความสำคัญดังนี้ ๑. มองร่างกายให้เป็นคุณบ้าง เพราะการมีร่างกายทำให้รู้ทุกข์อันเกิดจากร่างกาย ได้เห็นความรัก - โลภ - โกรธ - หลง อันเนื่องจากจิตที่เกาะติดร่างกายนี้ เพราะหากมองในมุมที่เป็นโทษอย่างเดียว เห็นว่าจิตต้องตกเป็นทาสรับใช้ร่างกาย หิวก็ต้องหาอาหารให้ หนาวหรือร้อนก็ต้องหาผ้าห่มอันประทังได้กับสภาพของอากาศให้ หรือในสาธารณูปโภค ทุกอย่างจิตต้องหาเพื่อร่างกายหมดทุกอย่าง ถ้าคิดอย่างนี้ในบางขณะ อารมณ์จิตก็จักเกิดนิพพิทาญาณ เบื่อหน่าย เศร้าหมองได้ พิจารณาให้ลงตัวธรรมดา ให้เห็นธรรมดาที่จิตยอมรับสภาพของร่างกายตามความเป็นจริงให้ได้ ตรงนั้นแหละที่จิตจักไม่เบื่อหน่าย มีแต่ร่างกาย เห็นสภาพที่แท้จริงของร่างกาย จิตเป็นสุขและไม่ทุกข์กับสภาพที่แท้จริงของร่างกาย หรืออันใดในโลกอีกเลย (หมายถึงเหตุการณ์พิจารณาจุดนี้ คล้าย ๆ กับตอนพิจารณาอาหารเป็นอาหาเรปฏิกูลสัญญา จิตจะเบื่ออาหารมาก บางคนกินไม่ลง กินไม่ได้ เพราะเห็นอาหารเป็นของสกปรก เป็นหนอนก็กินไม่ได้ เมื่อจิตเกิดปัญญายอมรับความจริงเรื่องอาหาร ว่าอาหารทุก ๆ ชนิดก็มาจากสิ่งสกปรกก่อนทั้งสิ้น จิตก็ยอมรับสภาพความเป็นจริงของอาหาร เห็นเป็นของธรรมดาหมด คือพิจารณาอาหารจากสวยงามเป็นไม่สวยงาม.. สุภะเป็นอสุภะ แล้วก็พิจารณาย้อนกลับจากอสุภะเป็นสุภะ จากผ้าสวยงามจนเป็นผ้าขี้ริ้ว แล้วพิจารณาย้อนกลับ ผ้าขี้ริ้วก็มาจากผ้าที่สวยงามก่อนทั้งสิ้น หากเข้าใจด้วยปัญญา ไม่ใช่เข้าใจแต่สัญญา ประเดี๋ยวก็ลืมแล้ว จะมองเห็น..ของเก่าทุกอย่างก็มาจากของใหม่ทั้งสิ้น เรื่องนี้หากเห็นด้วยปัญญาแล้ว จะพิจารณาได้ไม่รู้จบหรือจบยาก) |
๒. การเห็นทุกข์ พิจารณาทุกข์ หาต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ก็จักรู้วิธีพ้นทุกข์ได้ ด้วยการละ - ปล่อย - วางที่จิตของตนเอง นั่นแหละจึงจักเป็นหนทางพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง หากเห็นทุกข์แล้ว ไม่ใช้อริยสัจเป็นหลักสำคัญในการแก้ปัญหา แก้ทุกข์แล้ว ก็จักพิจารณาไปไม่ถึงที่สุดของทุกข์ได้ด้วยปัญญา ก็จักละ-ปล่อย-วางทุกข์ไม่ได้ แต่กลับติดอยู่ในทุกข์ (ปัญหา) เพราะจิตไม่ยอมละ – ปล่อย - วาง ทำไปอีกกี่แสนชาติก็ไม่พ้นทุกข์
จำไว้..อย่าทิ้งอริยสัจ ต้องอาศัยกำลังใจคือบารมี (บารมี ๑๐) ให้เต็มพร้อมอยู่ในจิตปัจจุบันเสมอ รักษาศีล - สมาธิ - ปัญญา ให้พร้อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จักเป็นหนทางดับทุกข์ หรือมรรคปฏิปทาตามความเป็นจริง ถ้ากำลังใจไม่พร่อง เพียรอยู่เป็นปกติ ทุกอย่างก็เป็นของไม่ยาก พระนิพพานก็เป็นของที่ไม่ไกล ให้มุ่งดูกิเลสของจิตตนเป็นสำคัญ อย่าไปมุ่งดูบุคคลอื่น ให้วัดตัวตัดความโกรธ – โลภ - หลงของตนเองทุกวัน อย่าไปวัดของคนอื่น |
๓. การพิจารณาให้เข้าสู่อริยสัจอยู่เสมอ เห็นทุกอย่างในโลกไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง ยึดถือเมื่อไหร่ก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น ให้พิจารณาอย่างจริง ๆ จัง ๆ จึงจักตัดความเกาะติดได้ ถ้าไม่ขยันพิจารณาหรือขาดความเพียร กิเลสก็จักพอกหนาขึ้นทุกวัน ๆ จนในที่สุดเมื่อขันธ์ ๕ จะพังลง ก็ไม่สามารถที่จักแก้ไขอารมณ์กิเลสเหล่านั้นได้ ก็ไปไม่ถึงพระนิพพาน ก็ต้องโทษตนเองที่ประมาท ขาดความเพียร ไม่ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ตั้งแต่ตอนนั้น
บารมี ๑๐, สังโยชน์ ๑๐ จึงต้องพร้อมวัด - ตรวจ - สอบอารมณ์จิตอยู่เสมอ มีมรณาฯ และอุปสมานุสติ คล่องตัวคล่องจิตด้วยความไม่ประมาทในชีวิต หากต้องการความเจริญของจิต ให้หมั่นสำรวจความบกพร่องของศีล - สมาธิ - ปัญญาของตนเองอยู่เสมอ ไม่ต้องดูความดี ให้ดูแต่ความชั่ว หากละความชั่วได้หมดก็ถึงซึ่งความดีได้เอง ความดีที่สุดคือพระนิพพาน อย่าลืมตั้งอารมณ์ให้ถึงที่สุดของความดีในพระพุทธศาสนาให้ได้ จักได้มีจุดหมายปลายทางไว้เตือนสติ ไม่ให้บกพร่องในศีล - สมาธิ - ปัญญาอยู่เสมอ |
๔. การตั้งอารมณ์ให้ดีที่สุดในพุทธศาสตร์ไว้เสมอ ด้วยอุบายย่อ ๆ ว่า รู้ลม – รู้ตาย - รู้นิพพานนั่นเอง มีสติกำหนดรู้อยู่เสมอว่า หากลมหายใจหยุด ความตายก็เกิด จิตก็มุ่งตรงสู่พระนิพพานจุดเดียว (ทวารทั้ง ๖, ประตูทั้ง ๖, อายตนะ ๖) ให้พยายามลงอารมณ์สักแต่ว่าเท่านั้น ให้มีสติระลึกเข้าไว้อยู่เสมอว่า ทุกสิ่งมิใช่บุคคล - ตัวตนเรา - เขา เป็นเพียงแค่สภาวธรรมหรือกรรม ไม่เที่ยง เกิด - ดับ ๆ อยู่ตลอดเวลาเป็นสันตติธรรม มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้นเอง ให้มองเป็นธรรมดาให้มากที่สุด แล้วจิตจักวางลงได้ในคำว่าสักแต่ว่า
|
๕. ให้พิจารณาความไม่เที่ยงเข้าไว้เสมอ ๆ จักได้คลายความยึดมั่นถือมั่นลงได้ด้วยประการทั้งปวง แม้จักยังไม่สนิท ก็บรรเทาสักกายทิฏฐิลงได้บ้างไม่มากก็น้อย อย่าลืมคำว่า สักกายทิฏฐิ มีเป็นขั้น ๆ หยาบ - กลาง - ละเอียด จากปุถุชนมาสู่พระโสดาบันจนถึงพระอรหันต์ ก็เนื่องจากการเห็นทุกข์ในความไม่เที่ยงไม่เท่ากัน โดยเฉพาะเกิดเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ เจ็บเป็นทุกข์ พลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์ ความโศกเศร้าเสียใจเป็นทุกข์ แล้วในที่สุดความตายเข้ามาถึงก็เป็นทุกข์ ต่างคนต่างปฏิบัติไปก็เข้าสู่อริยสัจตามระดับจิตนั้น ๆ เห็นความไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นโทษ จึงพิจารณาสักกายทิฏฐิ เพื่อปลดเปลื้องความยึดมั่นถือมั่นในทุกข์นั้นลงเสีย อย่าลืม ละที่จิตอย่างเดียวเท่านั้น ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จที่ใจ ถ้าหากจิตหรือใจดีเสียอย่างเดียว กาย - วาจา ซึ่งเป็นบ่าวก็จักดีตามไปด้วย เดินมรรคด้วยจิต ทำให้ถูกทาง แล้วจักเข้าถึงมรรคผลนิพพานได้ง่าย
|
๖. ให้พิจารณาอายุของร่างกายที่มากขึ้นทุกวัน ความตายก็ใกล้เข้ามาทุกที จงอย่ามีความประมาทในชีวิต และให้เห็นทุกข์ของการมีชีวิตอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยความเร่าร้อนจากภัยนานาประการ เรื่องเหล่านี้มิใช่ของแปลกหรือของใหม่แต่อย่างไร เป็นภัยที่อยู่คู่กับโลกมานานแล้ว ในทุก ๆ พุทธันดรก็เจอมาอย่างนี้ อย่าไปหวังแก้โลก อย่าไปหลงปรุงแต่งตามโลก ให้เห็นตัณหา ๓ ประการ ที่ครอบงำโลกให้วุ่นวายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มองทุกอย่างตามความเป็นจริง แล้วปล่อยวางโลกเสียด้วยความเห็นทุกข์ เห็นความไม่เที่ยง น่าเบื่อหน่าย ไม่น่ายินดี ไม่น่ายินร้ายแม้แต่นิดเดียว
|
๗. การปฏิบัติจงอย่าสนใจจริยาผู้อื่น ให้มองอารมณ์จิตตนเองเข้าไว้เป็นสำคัญ เพราะตนเองปรารถนาจักไปพระนิพพาน จึงต้องฝึกจิตให้ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างในโลก แม้ในไตรภพให้หมดจด เพราะการไปพระนิพพาน จิตติดอะไรแม้แต่อย่างเดียวก็ไปไม่ถึงพระนิพพาน การปฏิบัติต้องเอาจริงเอาจังจึงจักไปได้ แต่ตราบใดที่ยังมีขันธ์ ๕ อยู่ ก็ให้พิจารณาปัจจัย ๔ เป็นสิ่งจำเป็นที่จักต้องยังอัตภาพให้เป็นไป สักแต่ว่าเป็นเครื่องอยู่ สักแต่ว่าเป็นเครื่องอาศัย แล้วอยู่อย่างพิจารณาให้เห็นชัดว่า ร่างกายหรือวัตถุธาตุทั้งหมดมีคำว่าเสื่อมและอนัตตาไปในที่สุด จิตก็คลายความเกาะติด จิตมีความสุขสงบ เมื่อถึงวาระร่างกายจักพัง การตัดทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ภายนอกรวมตัว หรือแม้แต่ร่างกายก็ตัดไม่ยาก เนื่องด้วยพิจารณาจนรู้แจ้งเห็นตามความเป็นจริงแล้วด้วยปัญญา และไม่มีความประมาทในชีวิต
|
๘. พิจารณาร่างกาย พิจารณาเวทนา โดยย้อนกลับไปกลับมา ไม่มีร่างกายก็ย่อมไม่มีเวทนา ไม่มีเวทนาก็ย่อมไม่มีร่างกาย แล้วให้เห็นปกติของรูปและนามซึ่งอาศัยซึ่งกันและกัน พิจารณาให้ลึกลงไปจักเห็นความไม่มีในเรา ในรูปและนามได้ชัดเจน เราคือจิตที่ถูกกิเลสห่อหุ้ม ให้หลงติดอยู่ในรูปในนามอย่างนี้ มานานนับอสงไขยกัปไม่ถ้วน หากไม่พิจารณาให้เห็นชัดเจนลงไปในรูปและนาม ก็จักตัดความติดอยู่ไม่ได้ และเมื่อตัดไม่ได้ก็ไปพระนิพพานไม่ได้ ธรรมที่กล่าวมานี้มิใช่สาธารณะ หากตนเองยังทำไม่ได้ ก็ไม่พึงพูดออกไปเพื่อแนะนำบุคคลอื่น ตราบจนกว่าตัวเองจักได้จริง นั่นแหละสมควรพูดได้
|
๙. ให้เห็นร่างกายนี้มีปกติธรรม คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ในความเสื่อม แล้วก็ดับไป ทุกอย่างหาแก่นสารอันใดไม่ได้ การอาศัยร่างกายอยู่ ก็เพียงแค่ยังอัตภาพให้เป็นไป ด้วยดำริว่าจักไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นด้วย แล้วมองร่างกายนี้ให้เป็นเช่นสุสานฝังศพ ฝังเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักพอ เพราะการเกิดมีเท่าไหร่ การตายก็มีเท่านั้น เกิดกับตายจึงเป็นเรื่องธรรมดาของร่างกาย
ถ้าหากจิตติดอยู่กับธาตุอายตนะขันธ์ก็ยังต้องเกิด ต้องตายอยู่กับร่างกายนี้อีกนับชาติไม่ถ้วน ให้ถามแล้วให้จิตตอบ เข็ดจริงหรือ ถ้าหากยังมีความอาลัยในชีวิตหรือในร่างกายนี้ ก็ยังเข็ดไม่จริง เรื่องการปล่อยวางการเกาะร่างกาย ขึ้นอยู่กับจิตที่จักพิจารณา ขึ้นอยู่กับสติ - สัมปชัญญะกำหนดรู้อยู่เสมอ ๆ ว่า ธาตุ อายตนะ ขันธ์นี้ไม่มีในเรา ไม่ใช่เรา จักต้องเอาจริง แต่มิใช่เคร่งเครียดจนเป็นเหตุให้หนักใจ และมีความเบาใจ มีความเข้าใจในบทพระธรรมคำสั่งสอนเพียงพอแล้ว สามารถปฏิบัติได้ตามคำสั่งสอนนั้น ๆ |
๑๐. ดูคนทุกคนที่มีลีลาชีวิตต่าง ๆ กันไป ให้เห็นเป็นกฎของกรรม และทุกอย่างเป็นของธรรมดา ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปเท่านั้น อย่าถืออะไรมาเป็นสาระที่จริงจังของชีวิต ในยามนี้มีชีวิตอยู่ก็ให้เกื้อหนุนกันไป ด้วยความสงสาร และมีความเมตตาปรานี เป็นการทำจิตให้อ่อนโยนและทำให้เป็นผู้มีมิตรมาก แต่จำไว้ว่าอย่าเบียดเบียนตนเองมากจนเกินไป การกระทำทุกอย่างให้อยู่ในสายกลาง คือไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น ให้มีจิตเมตตาหวังดีกับคนทั้งโลกหรือสัตว์ทั้งโลก ความหวังดีไม่จำเป็นที่ต้องจักให้เป็นวัตถุ การรักษาศีลและกรรมบถ ๑๐ อันบริบูรณ์ ก็คือการหวังดีกับคนและสัตว์ทั้งโลกแล้ว ถ้าหากรักษาได้ อย่าขวางทางบุญและบาปของใคร เพราะพื้นฐานของจิตใจของแต่ละคนเกี่ยวกับบุญและบาปมีต่างกัน ไม่เท่ากัน จิตเมื่อจักวางในจริยาของบุคคลอื่น ก็จักต้องใช้ปัญญาพิจารณาจุดนี้ให้มาก ๆ ลงตัวธรรมดาให้ได้ แล้วจิตจึงจักปล่อยวางกรรมของคนอื่น ๆ ลงได้ ไม่ว่ากรรมดีหรือกรรมเลว
|
๑๑. ให้เห็นการเกิดและการตายเป็นของคู่กัน เกิดเท่าไหร่ตายหมดเท่านั้น การตายจึงเป็นของธรรมดา แม้พวกเจ้าเองก็เช่นกัน ยังมีความประมาทในความตายแฝงอยู่มาก ให้สอบจิตตนเองดูจักรู้ว่า ใน ๒๔ ชั่วโมงระลึกนึกถึงความตายอย่างยอมรับความจริงได้สักกี่ครั้ง การนึกถึงความตายอย่างนกแก้วนกขุนทองนั้น หาประโยชน์ได้น้อย เพราะเป็นสัญญาล้วน ๆ จำไว้..มรณานุสติกรรมฐานเป็นฐานใหญ่ ที่จักนำจิตตนเองให้เข้าถึงความไม่ประมาทได้โดยง่าย และเป็นตัวเร่งรัดความเพียร ด้วยเห็นค่าของเวลาชีวิตที่เหลืออยู่ ชีวิตจริง ๆ ดั่งเช่นเปลวเทียน วูบ ๆ วาบ ๆ แล้วก็ดับหายไป เกิดใหม่ก็ดับอีก หากไม่เร่งรัดปัญญาให้เกิด ก็ยังจักต้องเกิดอีกนับภพนับชาติไม่ถ้วน
|
๑๒. ร่างกายที่เห็นอยู่นี้มิใช่ของจริง ตัวจริง ๆ คือจิต ให้พิจารณาแยกส่วนออกมาให้ได้ ร่างกายนี้สักเพียงแต่ว่าเป็นที่อยู่อาศัย เสมือนบ้านเช่าชั่วคราวเท่านั้น ไม่ช้าไม่นานจิตวิญญาณก็จักออกจากร่างกายนี้ไป ทุกร่างกายมีความตายไปในที่สุดเหมือนกัน แล้วพิจารณาการอยู่ของร่างกาย ทุกลมหายใจเข้า - ออกคือทุกข์ เนื่องด้วยความไม่เที่ยง หาอันใดทรงตัวไม่ได้ พิจารณาให้เห็นชัดจึงจักวางร่างกายลงได้ในที่สุด เรื่องของบ้านเมือง เรื่องของเศรษฐกิจเวลานี้สับสนวุ่นวาย ให้พิจารณาเห็นเป็นธรรมดา เพราะดวงเมืองไทยเป็นอย่างนี้เอง จักต้องทำใจให้ยอมรับสถานการณ์ให้ได้ทุก ๆ สภาพ เพราะล้วนแล้วเป็นกฎของกรรมทั้งสิ้น
|
๑๓. ให้ดูวิริยบารมี เพราะยังมีความขี้เกียจอยู่เป็นอันมาก ให้โจทย์จิตเข้าไว้ให้ดี ๆ อย่าไปเสียเวลากับจริยาของผู้อื่น ใครจักเป็นอย่างไรก็ช่าง พิจารณาโลกก็เท่านี้ หาที่สิ้นสุดไม่ได้ ประการสำคัญคือประคองจิตตนเองให้พ้นไปเท่านั้น ความสำคัญอยู่ที่ตรงนี้ การสงเคราะห์ผู้อื่นเป็นเพียงหน้าที่เท่านั้น กระทำแล้วก็ให้ผ่านไป อย่าเอาจิตไปเกาะกรรมของเขา มองให้เห็นธรรมดา แก้โลกไม่มีสิ้นสุด ให้แก้ที่จิตใจตนเองเป็นสิ้นสุดได้ พยายามปลดสิ่งที่เกาะติดอยู่ในใจลงให้ได้มากที่สุด เท่าที่จักมากได้ วางภาระและพันธะลงเสียให้เป็นสักแต่ว่าหน้าที่เท่านั้น จิตจักได้ไม่เป็นทุกข์ ประเด็นที่สำคัญอันจักต้องให้เห็นชัดคือพิจารณากฎของกรรม ให้ยอมรับนับถือในกฎของกรรม จุดนั้นจึงจักถึงซึ่งจิตเป็นสุขและสงบได้
|
๑๔. เวลานี้ดวงเมืองกำลังร้อน จึงมีเหตุให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปทุกหย่อมหญ้า เวลานี้ไม่มีอะไรแก้ไข ให้นิ่งเฉยสงบเข้าไว้เป็นดีที่สุด เหมือนสถานการณ์ของบ้านเมือง (ทรงตรัสไว้เมื่อ ๒๕ ต.ค. ๒๕๔๐ ปัจจุบันดวงเมืองก็กำลังร้อน ตั้งแต่ ๘ เม.ย. จนถึงวันนี้ ๑๐ เม.ย. ๒๕๕๒ ห่างกัน ๑๒ ปี) ภาวะเศรษฐกิจเป็นอย่างนี้ อยู่เฉย ๆ ไม่ลงทุนทำอะไรเลยดีกว่า สถานการณ์ของวัดก็เช่นกัน ทั้งดวงเมืองและดวงวัด เพราะเวลานี้กฎของกรรมกำลังให้ผลหนัก ความผันผวนย่อมเกิดขึ้นได้ทุกวัน แต่ไม่ควรที่จักหวั่นไหว รักษาจิตให้สงบ ให้เห็นทุกอย่างเป็นธรรมดาเข้าไว้ รักษาอะไรไม่สำคัญเท่ารักษาจิตใจของตนเอง ดูจุดนี้เอาไว้ให้ดี รักษาอารมณ์ของตนเองให้อยู่ในกุศล ดีกว่าปล่อยให้ตกอยู่ในห้วงของอกุศล ปล่อยวาง กรรมใครกรรมมันให้ได้ ใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้แจ้ง เห็นชัดในกฎของกรรมจุดนั้นแหละ จึงจักปล่อยวางกรรมใครกรรมมันได้ ความสุขจักเกิดขึ้นแก่จิตใจของตนอย่างแท้จริง
|
๑๕. การทำบุญทำทานแล้วพิจารณาถึงบุญและทานนั้น อันทำเพื่อพระนิพพานโดยไม่หวังผลตอบแทน จัดเป็นจาคานุสติด้วยและอุปสมานุสติด้วย อารมณ์อยู่กับกุศล ซึ่งดีกว่าปล่อยจิตคิดถึงแต่ความชั่ว - ความเลว แม้แต่ผู้อื่นเขาทำบุญ ทำทานก็ให้เห็นเป็นธรรมดา เห็นแล้วให้ยินดีด้วย แล้วปล่อยวาง จิตจักได้บริโภคอารมณ์ที่ไม่เป็นพิษ เพราะปกติจิตมักจักไหลลงสู่อารมณ์ที่เป็นกิเลส จิตชินกับความเลวมากกว่าความดี เวลานี้เราจักมาละความเลวกันก็จักต้องละกันที่จิต ฝึกจิตให้ชินอยู่กับทาน - ศีล - ภาวนา ให้ติดดีมากกว่าติดเลว ให้สอบอารมณ์ของจิตไว้เสมอ อย่าคิดว่าบุญ - ทานไม่ติดแล้ว ฉันไม่เกาะทั้ง ๆ ที่จิตยังติดเลวอยู่อีกมากมาย หากบุญ - ทานทำแล้วไม่เกาะ แม้เห็นผู้อื่นทำแล้ว โง่ - หยิ่ง ไม่เกาะ ไม่ยินดีด้วย จิตก็ยิ่งเศร้าหมองปานนั้น ทำบุญทำทานแล้วก็เหมือนไม่มีผล เพราะจิตไม่ยินดีกับบุญกับทานนั้น จึงเท่ากับจิตติดบาปอกุศล นับว่าขาดทุนแท้ ๆ พระอรหันต์ท่านยังทำบุญ ทำทานด้วยความยินดีกับบุญและทานนั้น จิตเป็นสุข คำว่าไม่เกาะของพระอรหันต์คือ ไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ในโลกธรรม ๘ จิตไม่เกาะบุญบาปในที่นี้ เนื่องด้วยผลบุญผลบาปไม่สามารถให้ผลแก่จิตใจของท่านอีก แล้วพวกเจ้าเล่า ? จิตยังข้องอยู่ในบาปอกุศลอยู่เป็นอันมาก หากพูดว่าไม่ติดในบุญ ในทาน ทั้งที่จิตยังติดบาปกุศลอยู่ การทำบุญ ทำทานแล้วก็เหมือนไม่ได้ทำ
จงเอาอย่างพระอรหันต์ ท่านยังไม่ทิ้งจาคานุสติกรรมฐาน อภัยทานอันเป็นทานภายในสูงสุดในธรรมทาน เกิดขึ้นด้วยพรหมวิหาร ๔ เป็นอัปมัญญา พระอรหันต์ไม่ข้องอยู่ในบาปอกุศลของบุคคลรอบข้าง เพราะท่านมีอภัยทานอยู่ในจิตเสมอ แล้วพวกเจ้ามีแล้วหรือยัง ? เพราะฉะนั้น จงอย่างประมาทในอกุศลกรรม พยายามรักษาจิตให้ผ่องใสไว้ด้วยการระลึกนึกถึง การทำบุญ - ทำทาน - รักษาศีล - เจริญภาวนาด้วยจิตที่ยินดี ทำทุกอย่างเพื่อพระนิพพานจุดเดียว ดีกว่าปล่อยให้จิตตกเป็นทาสของบาปอกุศล |
๑๖. พรุ่งนี้ ครบรอบปีวันมรณภาพของท่านฤๅษี (๓๐ ต.ค. ๓๕) พึงถวายสังฆทานให้ท่าน ระลึกนึกถึงในพระคุณอันหาที่สุดมิได้ของท่านฤๅษีที่มีต่อพวกเจ้า พยายามทำจิตให้สงบเยือกเย็นให้ถึงที่สุด ทุกอย่างทำเพื่อพระนิพพานจุดเดียว พิจารณาตามบารมี ๑๐ ควบกับพรหมวิหาร ๔ แล้วจิตจักเจริญขึ้นได้มาก หากเพียรอย่างต่อเนื่อง พระนิพพานก็อยู่ไม่ไกล
|
(พระธรรม ที่ทรงตรัสสอนในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๐) ปกิณกธรรม สมเด็จองค์ปฐม ทรงตรัสสอนปกิณกธรรมไว้มีความสำคัญดังนี้ ๑. ชีวิต - สุขภาพของร่างกายย่อมกำหนดไม่ได้ที่จักให้เที่ยง เพราะมีความแปรปรวนอยู่เป็นธรรมดา ดูแต่กระแสจิตหรืออารมณ์จิต ฝึกแล้วฝึกอีกก็ยังยากที่จักกำหนดได้ การฝึกร่างกายอย่างนักกีฬา ฝึกได้เพียงชั่วขณะหนึ่ง ไม่ช้าโรคชราก็มาเยือน ร่างกายก็ทรุดโทรมลง ต่างกับจิตใจยิ่งฝึกยิ่งเข้มแข็ง ยิ่งมีความอดทนผ่องใสยิ่งกว่าอื่นใด ไม่ได้เสื่อมลงอย่างร่างกาย สำคัญอยู่ที่เวลาฝึกจิตใจให้อดทนเข้มแข็งเพียงพอหรือไม่ ที่ไม่เพียงพอเพราะจิตยึดเกาะเวทนาของร่างกายมากเกินไป ให้ใช้ปัญญาเป็นตัวปลดจึงจักปล่อยวางได้ และการที่จักดูว่าวางได้หรือไม่ได้ ก็ให้เอาทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นของร่างกายนี้แหละเป็นตัววัด |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 06:38 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.