เก็บตกบ้านอนุสาวรีย์ต้นเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๓
ถาม : ทำอย่างไรจะได้ฌานสี่เร็ว ๆ ?
ตอบ : อย่าอยาก หยุดอยากเมื่อไรมีโอกาสได้ทันที ตราบใดที่ยังอยากอยู่ ไม่ได้หรอก เพราะว่าฌานสี่ต้องมีอุเบกขา ถ้ายังอยากอยู่ก็ยังไม่เป็นอุเบกขาสิ เรามีหน้าที่ภาวนา จะเป็นฌานหรือไม่เป็นฌานก็ช่าง แค่นั้นแหละ..จบ |
ถาม : ตอนนี้หนูใจเย็นลงกว่าเดิม แล้วใจเย็นแบบนี้ เพราะเกิดพรหมวิหารสี่ขึ้นมาหรือเปล่า ?
ตอบ : ถ้าหากพรหมวิหารสี่ทรงตัว ต้องใจเย็นโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว แต่บางทีเรื่องการใจเย็น อาจจะเกิดจากสมาธิดีขึ้นด้วยก็ได้ เพราะฉะนั้น..ยังไว้วางใจไม่ได้ เผลอเมื่อไรเดี๋ยวหลุด ถ้าหลุดไปอีก คราวนี้เราจะไปลงกับคนรอบ ๆ ข้าง แต่ถ้าพรหมวิหารทรงตัวจริง ๆ จะเย็นเองโดยอัตโนมัติ ถาม : ถ้าเกิดสมาธิตก พรหมวิหารที่ทรงตัวก็ตกด้วย ? ตอบ : ตกไปด้วย ยกเว้นว่าเราสามารถทำได้เลย ถ้าเราทำได้เลย ต่อให้สมาธิตก แต่กำลังใจก็ไม่ได้ตกไปด้วย ถ้าถึงระดับนั้นแสดงว่าพื้นฐานแน่นมากแล้ว ตอนนี้ไม่น่าจะใช่ของเราหรอก ถาม : ส่วนใหญ่คนสายหลวงพ่อฤๅษี ถ้าถึงฌานสี่ เขาจะหลุดออกไปเป็นส่วนใหญ่ใช่ไหมคะ ? ตอบ : ฌานสี่ที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลยก็มีเยอะแยะไป ถาม : แล้วทำไมหนูถึงเป็นฌานสี่ที่ไม่รู้เรื่อง อยู่นิ่ง ๆ ไม่ได้ พอถึงฌานสี่เมื่อไร ก็โดนดีดออกไปทุกทีค่ะ ตอบ : อย่าไปใส่ใจ จะเป็นอย่างไรก็ช่าง ถาม : ทีนี้พอหนูไม่รู้ว่าเป็นฌานอะไร จึงไปเทียบตามตำราแล้วไม่เห็นตรงตามตำราค่ะ เพราะยังภาวนาไปได้ตลอด และรู้ลมหายใจตลอด ตอบ : มีอยู่สองอย่าง อย่างแรก คือ เราเข้าใจผิดว่าใช่ ส่วนอย่างที่สองคือเป็นฌานใช้งาน ถ้าฌานใช้งานอย่างละเอียด จะสามารถกำหนดรู้ทุกอย่างได้เหมือนกัน แต่ให้สังเกตอยู่อย่างเดียวว่า ลมหายใจจะละเอียดมากเป็นพิเศษ ละเอียดถึงขนาดรู้สึกว่าลมหายใจเป็นเส้นเล็ก ๆ แค่นั้นเอง |
ถาม : แหวนจักรพรรดิ มีวิธีใช้เฉพาะไหมครับ ?
ตอบ : อธิษฐานได้ทุกเรื่อง ถึงเวลาก็อาราธนาไว้บ่อย ๆ ก็แล้วกัน |
ถาม : ถ้าอย่างนี้ ฌานใช้งาน เราก็ไม่รู้จะเอาอะไรเทียบสิคะ ว่าตกลงเป็นฌานอะไรกันแน่ ?
ตอบ : อยู่ที่เรา ถ้าหากซักซ้อมจนชำนาญก็จะรู้ว่าใช่หรือไม่ใช่ ให้สังเกตง่าย ๆ ว่า ถ้าเป็นปฐมฌานจะอ่อนไหวและสลายตัวได้เร็ว แต่ถ้าเป็นฌานสี่จะหนักแน่นทรงตัว บางทีอยู่ได้เป็นเดือนเป็นปี ไม่ใช่ว่าไม่สลาย พังเหมือนกัน แต่พังช้ากว่า |
พระอาจารย์กล่าวว่า "อย่าเลี้ยงลูกให้เก่ง อย่าเลี้ยงลูกให้ฉลาด แต่เลี้ยงลูกให้มีความสุขประสาเด็กก็พอแล้ว รีบเอาอะไรยัดเยียดเข้าไปเต็มสมองลูก เดี๋ยวเขาจะไม่ใช่เด็ก"
|
ถาม : การที่เราระลึกถึงภาพพระ แล้วถ้าเราจับภาพพระดูด้านข้าง ?
ตอบ : ในความเป็นทิพย์ เราอยากดูด้านไหนก็จะเป็นด้านนั้น ถาม : ที่เราควรดู ควรดูเป็นเฉพาะด้านหรือเปล่า ? ตอบ : อยู่ที่เรา ชอบอย่างไรก็ดูอย่างนั้น ไม่ได้สำคัญว่าเป็นแบบไหน สำคัญที่ว่านึกถึงท่านได้หรือไม่ |
ถาม : ในหนังสือที่ท่านเขียน ถ้าสมมติเราทำแค่ไหน แล้วเราอ่านโดนใจเรา แสดงว่า..?
ตอบ : แสดงว่ากำลังใจของเราตอนนั้น อยู่ใกล้ ๆ เคียง ๆ กับข้อความเหล่านั้นแหละ |
ขอแจ้งให้ทราบว่า บ้านอนุสาวรีย์จะอยู่ถึงต้นเดือนมีนาคม ๒๕๕๔ เท่านั้น พอถึงวันที่ ๑-๒-๓ เมษายน พระอาจารย์จะย้ายไปรับสังฆทานที่บ้านวิริยบารมีค่ะ ส่วนวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๔ จะมีการทำบุญฉลองขึ้นบ้านใหม่ ที่บ้านวิริยบารมี |
หลวงพ่อกล่าวถึงนิยายจีนกำลังภายใน เรื่อง เทพมารสะท้านภพ ว่า "อ่านไปแล้วจะเจอหลักวิชา มีความใคร่แต่ไร้รัก มีรักแต่ไร้ความใคร่ เป็นหลักการที่ต้องทำ
มีรักแต่ไร้ความใคร่ จะต้องเป็นตัวพรหมวิหารสี่ ส่วนมีความใคร่แต่ไร้รักนั้น จะว่าไปแล้วก็เป็นอุเบกขาอย่างหนึ่ง ทำอย่างไรที่จะไม่ให้ผูกพันอยู่ในเรื่องระหว่างเพศ แต่เป็นกำลังใจแบบมิจฉาสมาธิ พระเอกในเรื่องใช้จิตใจที่มุ่งมั่นอยู่กับคนรัก ทุ่มเทให้กับการฝึกกระบี่ พูดง่าย ๆ ก็คือ เขารักผู้หญิงมากเท่าไร เขาก็ใช้กำลังใจระดับนั้นในการฝึกกระบี่ เขาก็เลยกลายเป็นยอดฝีมือระดับต้น ๆ ของยุทธจักรได้ แต่คราวนี้อยู่ที่เราจะเอามาดัดแปลงใช้ ถ้าเรามีความรักในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มากเท่าไร เราก็ต้องทุ่มเทการปฏิบัติให้สมกับความรักเช่นกัน" |
ต้นเดือนที่บ้านอนุสาวรีย์ที่ผ่านมา พระอาจารย์ท่านอ่านหนังสือเล่มหนึ่งให้ฟัง ชื่อ พระมหากษัตริย์ยอดกตัญญู ในหลวงของเรา เป็นหนังสือที่เขียนโดย พ.อ. (พิเศษ) ทองคำ ศรีโยธิน
มีเนื้อหาดังนี้ "คราวหนึ่งในหลวงป่วย สมเด็จย่าก็ป่วย ไปอยู่ศิริราชด้วยกัน อยู่คนละมุมตึก ตอนเช้าในหลวงเปิดประตูแอ๊ดออกมา พยาบาลกำลังเข็นรถสมเด็จย่าออกมารับลม ผ่านหน้าห้องพอดี ในหลวงพอเห็นแม่ก็รีบออกจากห้อง มาแย่งเข็นรถ มหาดเล็กกราบทูลว่าไม่ต้องเข็น ให้พยาบาลเข็น ในหลวงบอกว่า "แม่ของเราทำไมต้องให้คนอื่นเข็นด้วย เราเข็นเองก็ได้" นี่ขนาดพระเจ้าแผ่นดินเป็นกษัตริย์ ยังมาเข็นรถให้แม่ มาป้อนข้าว ป้อนน้ำ ป้อนยาให้แม่ ให้ความอบอุ่นแก่แม่ ดูว่าในหลวงปฏิบัติต่อสมเด็จย่าอย่างไร ? สมเด็จย่าอยู่โรงพยาบาลศิริราช ในหลวงไปเยี่ยมตอนไหน ? ไปเยี่ยมตอนตีหนึ่งตีสอง ตีสี่เศษ ๆ ก็เสด็จกลับ เฝ้าแม่วันละหลายชั่วโมง แม่พอเห็นลูกมาเยี่ยมก็หายป่วยไปครึ่งหนึ่งแล้ว ทีมแพทย์ที่รักษาเห็นในหลวงมาเยี่ยมก็ต้องฟิตตามไปด้วย ต้องปรึกษาหารือว่าจะให้ยาอย่างไร ต้องปรับปรุงการรักษาอย่างไร ทำให้สมเด็จย่าได้รับการดูแลที่ดีขึ้น กลางคืนในหลวงอยู่กับสมเด็จย่า คืนละหลายชั่วโมง ลองหันมาดูตัวเราซิ ว่าพ่อแม่ป่วยเราเคยโผล่หน้าไปดูสักหน่อยไหม ? ว่าตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง พ่อแม่ยังไม่ทันจะบอกเลย ก็รีบบอกว่า "ฉันมีธุระ งานยุ่ง ต้องรีบไปแล้ว" โผล่แค่ไปเป็นมารยาทเท่านั้นแล้วก็กลับ ไม่ได้ไปเพราะความกตัญญู" |
"ในหลวงเสด็จจากวังสวนจิตรฯ ไปวังสระประทุมตอนเย็นทุกวัน ไปทำไมครับ ? ไปกินข้าวกับแม่ ในหลวงเสด็จไปกินข้าวกับแม่สัปดาห์ละกี่วัน ทราบไหมครับ ? สัปดาห์ละ ๕ วัน..!
มีใครบ้างครับที่อยู่คนละบ้านกับแม่ แล้วไปกินข้าวกับแม่สัปดาห์ละ ๕ วัน ? ในหลวงมีโครงการเป็นร้อยเป็นพัน ยังสละเวลาไปกินข้าวกับแม่สัปดาห์ละ ๕ วัน พวกเราแค่ซี ๗ ซี ๘ ซี ๙ ร้อยเอก พันตรี พลตรี อธิบดี ปลัดกระทรวง ไม่เคยไปกินข้าวกับแม่เลย บอกว่างานยุ่ง ให้พาแม่ไปกินข้าวหน่อย ก็บอกว่าไม่มีเวลา..จะไปตีกอล์ฟ ไม่มีเวลาพาแม่ไปกินข้าว แต่มีเวลาไปตีกอล์ฟ เห็นหรือยังว่าตัวเองทำอย่างไร ? พ่อแม่เหมือนไม้ใกล้ฝั่ง ฝนตก น้ำเซาะ อีกไม่นานก็โค่น ถึงวันนั้นเราก็ไม่มีแม่แล้ว ในหลวงจึงตัดสินพระทัยไปกินข้าวกับแม่ สัปดาห์ละ ๕ วัน อีกสองวันไปไหนครับ ? อีก ๒ วัน ดร.เชาว์ ณ ศีลวันต์ บอกว่าในหลวงถือศีลแปดวันพระ อดข้าวเย็น ก็เลยไม่ได้ไปหาแม่ เพราะว่าถือศีล อีกวันหนึ่งที่เหลือก็อาจจะกินข้าวกับพระราชินี หรือคนใกล้ชิด แต่ให้แม่ไป ๕ วัน เห็นชัดไหมครับ ? ทุกครั้งที่ในหลวงไปหาสมเด็จย่า ก็ไปกราบที่ตัก สมเด็จย่าจะดึงในหลวงมากอดและก็หอมแก้ม ในหลวงเป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน กราบคนธรรมดาที่เป็นแม่ บางคนเป็นใหญ่เป็นโต ไม่กล้าไหว้แม่" |
ถ้าใครอยากอ่านเรื่องพระมหากษัตริย์ยอดกตัญญู สามารถอ่านได้ที่เว็บนี้ค่ะ http://www.chaoprayanews.com/2009/02...9%83%E0%B8%99/
|
ถาม : ผมจะเอาน้ำมันชาตรีไปใส่กับน้ำมันอื่นได้ไหมครับ นอกจากน้ำมันงา ?
ตอบ : อะไรสมควรก็ใส่ไปสิ สาเหตุที่เขาใส่น้ำมันงาหรือน้ำมันมะพร้าว เพราะเขาเผื่อว่าเราจะกินรักษาโรคได้ ถ้าใส่น้ำมันอื่น ถึงเวลาก็พิจารณาด้วย ถ้ากินไม่ได้ก็อย่าเผลอกินเข้าไปก็แล้วกัน ถาม : ตอนที่ผมไปบวชธุดงค์ หลวงพี่สมปองท่านจะเสกพวกจีวร ผ้าไตร ถ้าเกิดผมถือว่าเป็นของส่วนตัวแล้วเอากลับบ้านได้ไหม ? ตอบ : ชำระหนี้สงฆ์เท่าราคาปัจจุบัน แล้วจะเอาไปไหนก็เอาไป เดี๋ยวนี้ผ้าไตรดี ๆ ชุดหนึ่งราคาไม่กี่พันเอง..! |
ถาม : การปฏิบัติ ถ้าพิจารณาตั้งแต่เริ่มต้นเลย ค่อยเข้าวิปัสสนา ?
ตอบ : ถ้าพิจารณาก็ต้องเข้าวิปัสสนาสิจ๊ะ การพิจารณาวิปัสสนาญาณก็คือ พยายามให้เห็นว่าตัวเราก็ดี คนอื่นก็ดี สัตว์ทั้งหลายก็ดี วัตถุธาตุสิ่งของก็ดี มีความไม่เที่ยงเป็นปกติ มีความทุกข์เป็นปกติ ไม่มีอะไรเป็นตัวตนเราเขา ส่วนใหญ่ก็ประกอบมาจากธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม มีความเสื่อมสลายตายพังไปในที่สุด พยายามมองให้เห็นชัดจนจิตยอมรับ ทำแล้วทำอีก ย้ำแล้วย้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีกไปเรื่อย ไม่ว่าจะไปไหนก็ตาม ให้เห็นไปเรื่อย คนนั้นเด็ก คนนี้กลางคน คนนี้แก่ เราเองก็แก่มาจนป่านนี้แล้ว ทุกอย่างไม่เที่ยงจริง ๆ ระหว่างที่ดำรงชีวิตอยู่ก็มีแต่ความทุกข์ เดินทางไปทำงานรถก็ติด คนที่รอรถเมล์อยู่ที่ป้ายรถเมล์ ก็รอว่าเมื่อไรรถจะมาเสียที เด็ก ๆ ก็แย่งกันไปโรงเรียน ไม่มีใครมีความสุขจริงแท้เลยสักคน มีแต่ความทุกข์ทั้งนั้น เราเองไปทำงานก็ต้องบริหารตนเอง ต้องบริหารหมู่คณะ ลูกน้องก็อัดขึ้นมา เจ้านายก็กระแทกลงไป เราอยู่ตรงกลางก็แบนพอดี จะเห็นแต่ความทุกข์อยู่ตลอดเวลา |
ถามว่าทำไมจึงต้องดูความทุกข์ด้วย ? ดูในด้านที่เป็นสุขไม่ได้หรือ ? จะดูในด้านที่เป็นสุขก็ได้อยู่ แต่ความสุขนั้นไม่จีรังยั่งยืน เป็นความสุขเพราะเรารู้สึกว่าความทุกข์ลดน้อยลง จริง ๆ แล้วทั้งหมดล้วนเป็นความทุกข์ทั้งสิ้น
ถ้าเราไปดูเป็นความสุขก็จะไม่เบื่อไม่หน่าย ใจจะไม่คลายออก จะไม่ละ ไม่วาง แต่ถ้าเราเห็นเป็นความทุกข์ ถึงจะเกิดความเบื่อหน่าย จิตใจจะปลด จะคลาย จะวาง แล้วเราก็จะไม่ไปดิ้นรน อยากได้ใคร่ดีอะไรอีก ท้ายสุดก็คิดว่า ในเมื่อเป็นเช่นนี้ ขึ้นชื่อว่าการเกิดมามีร่างกายนี้เราไม่ต้องการ การเกิดมาในโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์อย่างนี้ เราไม่ต้องการ เหลือที่เดียวคือพระนิพพาน ก็เอาใจเกาะพระนิพพานไว้ หรือเกาะพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งไว้ ตั้งใจนึกว่านั่นเป็นภาพแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนพระนิพพาน เราเอาใจเกาะภาพพระก็เหมือนเกาะอยู่บนพระนิพพาน พิจารณาบ่อย ๆ จะต้องทำเป็นปกติเลย ไม่ใช่ทำเฉพาะตอนไปนั่งปฏิบัติ ถ้าทำเฉพาะเวลานั่งปฏิบัติยังไม่พอรับประทาน..! |
ถาม : ทำอย่างไรที่เราจะรู้ว่าไม่ติดในความว่าง ?
ตอบ : อันดับแรก รู้ลมหายใจเข้าออก เมื่อลมหายใจเบาลง และคำภาวนาหายไป กำหนดรู้ไว้แค่นั้น แล้วตั้งใจว่าเราจะปฏิบัติเป็นระยะเวลานานแค่ไหน อย่างเช่นว่า สักครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมง ถ้าถึงเวลา จิตจะคลายออกมาเองโดยอัตโนมัติ เราก็จะไม่ไปติดอยู่ตรงจุดที่เราคิดว่าเป็นความว่าง แต่ความจริงเราสามารถที่จะให้คลายออกมาเองได้ ถ้าเรามีความคล่องตัว เราก็กำหนดให้คลายจิตออกมาแล้วก็มาพิจารณาแทน ก็จะไม่ติดกับความว่าง ถาม : จำเป็นต้องนั่งนานไหมคะ ? ตอบ : อยู่ที่ความคล่องตัวของเรา ถ้าคนที่มีความคล่องตัวไม่ต้องนั่ง จิตก็ทรงตัวได้ ถามว่าจำเป็นจะต้องนั่งนานไหม ? ถ้าสมาธิทรงตัวสูงสุดแล้ว ครู่เดียวก็พอ เราก็คลายออกมาพิจารณาแทน สาเหตุที่ต้องให้สมาธิทรงตัวก่อน ก็เพื่อที่จะให้มีกำลังในการพิจารณา ถ้าไปพิจารณาเลย บางทีสมาธิยังไม่ทรงตัว จิตก็จะฟุ้งไปคิดเรื่องอื่น ถาม : ถ้าเราพิจารณาแล้วทรงตัวได้ เราก็ใช้วิธีนั้นได้ ? ตอบ : เราก็ถอยออกมา แล้วก็มาพิจารณาต่อ พอเข้าสมาธิไป กำลังทรงตัวเต็มที่ นิ่งอยู่สักพัก แล้วกำหนดให้กำลังจิตคลายออกมาเพื่อใช้ในการพิจารณา |
ถาม : ตอนนี้ยังรู้สึกว่านิ่ง ๆ แน่น ๆ
ตอบ : ไม่เป็นไร พยายามขยับขึ้น ขยับลงไปเรื่อย จะแน่นจะเบาอย่างไรก็ช่าง ให้พิจารณาดูว่า ตอนนี้นิวรณ์กินใจเราได้หรือไม่ได้ ถ้ารัก โลภ โกรธ หลง กินใจเราไม่ได้ ก็แปลว่าใช้ได้ พอซ้อมบ่อย ๆ เข้าออก ๆ จนคล่องตัว อาการแน่นจะค่อย ๆ เบาลง เบาลงไม่ได้หมายความว่าสมาธิน้อยลง แต่ที่เบาลงเพราะความคล่องตัวมีมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่อารมณ์เบา แต่กิเลสก็กินเราไม่ได้ ถาม : ถ้านิวรณ์ไม่เข้า ก็รู้ไปอย่างเดียว ? ตอบ : จิตตอนนั้นก็มีสภาพที่เรียกว่ามีคุณภาพ พอนิ่งอยู่ในระดับหนึ่งจนพอแล้ว เราก็ถอยออกมาพิจารณาวิปัสสนาต่อไป ถาม : ควรจะถอยออกมาพิจารณา ? ตอบ : จำเป็นต้องทำอย่างนั้น ไม่อย่างนั้นจะไม่ก้าวหน้า เพราะถ้าไปโดยสมาธิส่วนเดียว พอเต็มที่แล้วก็เหมือนกับเดินชนข้างฝา ไปต่อไม่ได้ เราต้องถอยมาพิจารณาแทน พอพิจารณาจนจิตเหนื่อยแล้ว ก็จะกลับเข้าไปหาสมาธิอีก ต้องทำแบบนี้ถึงจะค่อย ๆ ก้าวหน้าไป แต่ถ้าเราไปสมาธิด้านเดียว ถ้าตันแล้ว ออกมาจะฟุ้งซ่านไปเลย |
ถาม : เวลาที่เราเดิน เข้าถึงฌานได้ไหมคะ ?
ตอบ : ได้ ถาม : บางทีก็รู้สึกว่าก็ไปได้เหมือนกัน ตอบ : อยู่ที่ว่าเรามีความคล่องแค่ไหน ถ้ามีความคล่องตัวน้อย ทันทีที่เริ่มทรงเป็นฌาน เราจะเดินไม่ออก เอาแค่ลมหายใจ จมูก อก ท้อง สามจุด ถ้าเราจับได้พร้อมกัน เราจะก้าวขาไม่ออก เพราะจิตกับประสาทจะเริ่มเป็นคนละส่วนกัน แต่ถ้าเรามีความคล่องตัว ต่อให้ใช้สมาธิขั้นไหนก็สามารถที่จะก้าวเดินได้ ขึ้นอยู่กับการซักซ้อมของเรา |
พระอาจารย์กล่าวว่า "พระพุทธเจ้าตรัสถึงเมถุนสังโยค คือ สิ่งที่ยังเนื่องด้วยกามอยู่
มีข้อหนึ่งว่า ยินดีในการนวดเฟ้น ประเภทนี้นี่แหละที่อย่างไรก็ต้องไปลงอ่างให้ได้ นอกจากนี้ ยินดีเมื่อได้ฟังเสียงเพศตรงข้าม แม้กระทั่งฟังเสียงที่คุยกันอีกด้านหนึ่งของข้างฝา ยินดีในการนวด ยินดีในการสบตากับเพศตรงข้าม ท้ายสุด..แม้แต่การคิดจะไปเกิดเป็นเทวดานางฟ้า ถือว่ายังเป็นเมถุนสังโยค คือการเนื่องด้วยกามอยู่" |
ถาม : อารมณ์ที่ไม่เอาแล้ว กับอารมณ์ช่างหัวมัน ทำไมอารมณ์ช่างหัวมันถึงได้เบากว่า ?
ตอบ : ไม่เอาแล้วแค่อยู่ในระดับเบื่อหรือเข็ด ช่างหัวมันเป็นอุเบกขาไปแล้ว เมื่อปล่อยวางได้มากกว่าก็ต้องเบากว่า เพราะฉะนั้น..ช่างหัวมันให้ได้เยอะ ๆ แต่ว่า..จะเข็ดจริง เบื่อจริงหรือเปล่า ? ถาม : อันนั้นก็อีกเรื่องหนึ่งครับ ตอบ : กลัวแต่จะเบื่อ ๆ อยาก ๆ เท่านั้น..! |
ถาม : จะแก้ไขความกลัวที่มันฝังรากลึกของเด็กได้อย่างไร ?
ตอบ : ให้เขาทำอะไรที่ค่อนข้างจะเสี่ยงสักนิดหนึ่ง โดยการควบคุมใกล้ชิดของเรา พูดง่าย ๆ ว่า เรานำให้เขาเห็น นี่แค่ประการเดียวเท่านั้น ประการต่อไป จับเขาฝึกสมาธิ ถ้ากำลังใจมั่นคง ความกลัวจะน้อยลง และประการสุดท้ายให้เขารู้อย่างแท้จริงว่า ชีวิตนี้คืออะไร แล้วเขาจะเลิกกลัว ค่อย ๆ ไปทีละขั้น เคยฝึกเด็กอยู่หลายคน รู้เลยว่าเด็กบางคนพื้นฐานจิตใจไม่เหมาะที่จะใช้งานในลักษณะนี้ เขากลัวจนฝังอยู่ในสายเลือด แก้ไขไม่ได้ ให้คนอื่นทำ คนอื่นทำได้แม้ว่าจะกลัว แต่พวกนี้มืออ่อนตีนอ่อน ทำอะไรไม่ถูกเลย ถาม : แล้วคนธรรมดาจะสอนให้รู้จักกล้า ? ตอบ : เหมือนกัน อันดับแรก ต้องทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจก่อน ตัวเรานั่นแหละที่จะต้องนำ เมื่อเกิดแรงบันดาลใจขึ้นมา ก็อยากเอาเป็นแบบอย่าง เลียนแบบในวีรบุรุษวีรสตรีในดวงใจของเขา ฉะนั้น...ต้องเริ่มที่เรา ทำให้เขาดู อยู่ให้เขาเห็น |
ถาม : เวลานั่งกรรมฐาน แล้วลุกขึ้นมาโดยไม่มีเวทนาเลย ต้องทรงฌานระดับไหนขึ้นไปจึงจะทำได้
ตอบ : แค่ปฐมฌานละเอียดก็ทำได้แล้ว |
พระอาจารย์กล่าวว่า "เรื่องของการปฏิบัติ เกี่ยวกับการรู้เห็น อยากจะย้ำกับพวกเราอีกครั้งว่า การรู้เห็นเป็นเพียงของแถมเท่านั้น จิตที่สงบเหมือนกับน้ำที่นิ่ง พอน้ำนิ่งก็จะสะท้อนเงาสิ่งรอบข้างลงไปชัด ๆ เลย ถึงไม่ต้องการก็จะรู้เห็นเอง เพียงแต่ว่าจะมีสติสักเท่าไรในการรู้เห็น
ถ้าคล้อยตามเชื่อไปเลย ครั้งแรก ๆ จะใช่ แต่พอนานไป ๆ จะมีการทดสอบ สิ่งต่าง ๆ ที่เห็นก็จะไม่ใช่แล้ว ถ้าหากเรายังหลงตามอยู่ก็จะผิดทางไปเลย เราจึงต้องมีสติอยู่เสมอว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นของแถมในการปฏิบัติ เป้าหมายที่แท้จริงของเราคือการหลุดพ้น คือความหมดกิเลสอย่างสิ้นเชิง ฉะนั้น..ถ้าหากยังมายึดติดสิ่งทั้งหลายเหล่านี้อยู่ ก็จะไม่สามารถทำให้เราก้าวล่วงไปได้ เรื่องของการรู้เห็นไม่ต้องไปอยากมาก ทำไปเรื่อย ๆ ถ้าวิสัยเก่ามีอยู่ ถึงเวลาก็จะมาเอง" |
ถาม : พักหลัง ๆ จะไม่จับลมหายใจ สมาธิจะนิ่ง ๆ ตลอด พอนิ่งแล้วก็เฉย ๆ ทีนี้ควรจะทรงอารมณ์นานแค่ไหน ?
ตอบ : ถ้านิ่งไปสักระยะหนึ่งแล้ว รู้ว่าจิตสงบมีกำลังก็ถอยออกมาพิจารณา คือคลายออกมาสู่อารมณ์ปกติ เหมือนที่เราจะคุยกัน เพียงแต่ว่าหลับตาเพื่อป้องกันการฟุ้งซ่าน แล้วก็พิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ไม่มีตัวตนของร่างกายเรานี้ ที่มีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง สลายตัวไปในที่สุด ให้เห็นได้ในทุกอิริยาบถ พูดง่าย ๆ ว่าไม่ว่าไปไหนก็ให้เห็นทุกข์เอาไว้ ใจจะได้เบื่อและถอนออกมาจากความอยากได้ใคร่ดีต่าง ๆ ถ้าไม่เบื่อ เราก็จะอยากเกิด อยากทุกข์ต่อ ฉะนั้น..เอาเบื่อให้ได้ก่อน พอเบื่อได้แล้วก็จะค่อย ๆ ปล่อยวางไปเอง ถาม : ตอนนี้เบื่อมาก ๆ ตอบ : รักษาความเบื่อไว้ ความเบื่อเป็นสิ่งที่ดี เพราะถ้าไม่เบื่อเราก็ยังอยากเกิดมาทุกข์อีก เพียงแต่ว่าตอนรักษาความเบื่อ สภาพจิตเราต้องมีความฉลาดด้วย คือใช้ปัญญาประกอบไปด้วย จะช่วยตัดการเกิด ตัดชาติ ตัดภพได้ ถ้าเปรียบกับการเวียนตายเวียนเกิดที่นับชาติไม่ถ้วนกับชีวิตเรานี้ เวลาก็แค่นิดเดียวเท่านั้นเอง พูดง่าย ๆ ว่ามีแค่ชั่วลมหายใจเดียวเท่านั้นเอง เราหายใจเข้า..ไม่หายใจออกอาจจะตาย หายใจออก..ไม่หายใจเข้าอาจจะตาย ในเมื่อถึงเวลาแล้ว โอกาสที่จะตายมีอยู่ตลอดเวลา โอกาสเราจะพ้นจากร่างกายนี้ไปได้มีอยู่ตลอดเวลา ทำไมเราจะอยู่กับร่างกายนี้ไม่ได้ ถ้ากำลังใจอยู่อย่างนี้ ก็จะเริ่มเป็นสังขารุเปกขาญาณ คือปล่อยวาง ฉะนั้น..พิจารณาบ่อย ๆ ความเบื่อเป็นสิ่งที่ดี ต้องประคองไว้ แต่ขอบอกว่าถ้าอยากได้ อารมณ์นี้ก็จะหนี ไม่อยู่ด้วยแล้ว แต่พอไม่อยากได้ ก็จะอยู่นาน พอรู้ว่าเป็นของดี เราตั้งหน้าตั้งตาเก็บ ก็หนีไปแล้ว ไม่เอากับเราด้วย |
ถาม : พระคาถาเงินล้านที่ภาวนา ทีนี้จิตไม่ภาวนาไปด้วย ไม่ทราบว่า ผลของพระคาถาจะยังคุ้มครองอยู่หรือเปล่า ?
ตอบ : มีเป็นปกติเลยจ้ะ ถ้าเคยเกิดผลก็จะเกิดยาวไปเลย การภาวนาในปัจจุบันของเราเป็นแค่ส่วนที่ช่วยเสริมเท่านั้น เกิดผลแปลว่าพอแล้ว ถ้าหากว่าอยากได้มากกว่านั้น ต้องเสริมเข้าไป ถาม : หมายถึงเสริมอย่างไรคะ ? ตอบ : คือภาวนาเพิ่มไปทุกวัน |
พระอาจารย์เล่าให้ฟังว่า "สมัยก่อนทางเหนือ จะมีเชื้อสายของเจ้าเจ็ดตนอยู่ท่านหนึ่ง เขาเรียก "เจ้าน้อยค่ำคน" ค่ำคน ก็คือ แกล้งคน คำว่าน้อยก็คือ ผู้ที่บวชเณรแล้วสึกมา ส่วนผู้ที่บวชพระแล้วสึกมา เขาเรียกว่าหนาน
เจ้าน้อยค่ำคนจะตั้งร้านน้ำเอาไว้ มีกระบวยตักน้ำขนาดใหญ่กับขนาดเล็กอยู่ เจ้าน้อยจะแอบอยู่และมีลูกก๋ง ลูกก๋งทางเราเรียกว่าคันกระสุน ถ้าหากว่าคนตักน้ำด้วยกระบวยใหญ่ กินไม่หมดแล้วเทน้ำทิ้ง เจ้าน้อยจะยิง ถ้าคนตักน้ำด้วยกระบวยเล็ก กินแล้วตักซ้ำอีก เจ้าน้อยก็จะยิง พอเขาโวยวายว่ายิงทำไม เจ้าน้อยก็จะบอกว่าเพราะไม่รู้จักประมาณตน หิวน้ำมากก็เอากระบวยอันใหญ่ตัก หิวน้ำน้อยก็เอากระบวยอันเล็กตัก ไม่ใช่ว่าหิวน้อยก็ใช้อันใหญ่ตัก หิวมากก็ใช้อันเล็กตัก ถ้าไม่รู้ตัวก็สมควรที่จะโดน เจ้าน้อยสอนคนด้วยวิธีนั้น แสดงว่ามาสายพระโพธิสัตว์เต็ม ๆ ขนาดไม่ได้เกี่ยวกับตัวเองเลย ยังพยายามจะสอนเขา" |
ถาม : ลายมือ (ลายเขียน) บอกลักษณะนิสัยคนได้ แล้วลายมือเด็กบอกได้หรือเปล่าคะ ?
ตอบ : ลายมือเด็กยังไม่มั่นคง เขายังมีเวลาที่จะสั่งสมและเปลี่ยนแปลงตัวเองอีกระยะหนึ่ง ถ้าจะเอาให้แน่ ๆ ก็ต้องบรรลุนิติภาวะแล้ว อันนี้บอกได้แน่นอน ขนาดหมอจีนเขาไปดูฮวงจุ้ยให้ที่วัดท่าขนุน เขาบอกว่าอาจารย์ลองเขียนชื่อให้เขาดูหน่อย พอเขียนให้เขาบอกว่า ท่านอาจารย์เป็นคนไม่เห็นแก่หน้าใคร รับคนเสมอกัน พูดง่าย ๆ ก็คือ ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง จะยากดีมีจนอย่างไรให้ราคาเท่ากันหมด จะไม่มีคนที่มีความสำคัญพิเศษ เขาบอกว่าหลวงปู่สายอยู่กุฏิผิดที่ ไม่อย่างนั้นหลวงปู่จะอยู่ได้อีกนาน ตรงนี้ก็แค่ฟังไว้ เพราะหลวงปู่ท่านไม่อยู่แล้ว ศาลาของวัดท่าขนุนที่ตั้งอยู่ในมุมนั้น ถนนที่เข้าด้านหน้าโบสถ์ ทำให้เงินทองรั่วไหลหมด เขาก็เลยให้เปลี่ยนและทำถนนเส้นใหม่เข้ามา ทางด้านหน้าโบสถ์ให้ปิดไว้ และแนวกุฏิที่สร้างไว้ในแดนสงบ เขาบอกว่าเราสร้างถูกแล้วแต่เนื่องจากพื้นที่จำกัด จึงสร้างลักษณะหลังพิงเขา แต่ด้านหน้าไม่มีช่องว่าง อยู่ติดน้ำเลย เขาบอกว่าเหมือนนกจะบินแล้วไม่มีที่ให้วิ่งก่อนตัว ก็เลยกลายเป็นว่ามีบริวารเยอะเสียเปล่า แต่ช่วยอะไรไม่ได้ อย่างไหนที่พอแก้ไขได้ตามเขาว่า เราก็ทำ ตรงไหนที่หมดปัญญา ก็ปล่อยไปตามเวรตามกรรม..! |
ถาม : เดี๋ยวนี้เวลาหนูสวดมนต์ โดยเฉพาะคาถาเงินล้าน เหมือนกับความรู้สึกของตัวเองหายไป
ตอบ : ความรู้สึกหายไปเพราะ จิตของเราเริ่มเป็นสมาธิ แต่สติตามไม่ทัน พอเริ่มเป็นปฐมฌานหยาบ ความรู้สึกก็จะขาดเหมือนกับหลับไปเฉย ๆ ไม่สามารถที่จะรับรู้ได้ว่าตอนนี้ตัวเองทำอะไร ถาม : แก้อย่างไรคะ ? ตอบ : วิธีแก้ก็คือ เอาจิตจดจ่ออยู่กับสิ่งที่เราทำ ถ้ามีลมหายใจเข้าออกก็ตามจี้ติด ๆ ไว้ ถ้าเผลอหลุดเมื่อไร ก็จะวูบไปเลย หรือไม่ตอนเราเปิดเทปฟัง พยายามตั้งสติไว้ที่หูว่าเราจะฟังให้ได้ทุกคำ ถ้าจิตเราจดจ่ออยู่ตรงนั้น ก็จะไม่หลับ เผลอถอยห่างออกมาเมื่อไรก็จะหลับ ถาม : ถ้าเราฝึกโดยอยู่กับลมหายใจระหว่างวัน จะช่วยได้ไหมคะ ? ตอบ : ได้ ซ้อมให้มาก ๆ เข้าไว้ ถ้าจิตละเอียดขึ้นเราก็จะก้าวข้ามไปได้ ถ้าไม่ละเอียด ไปถึงตรงจุดนั้นเมื่อไรก็จะตัดหลับ ถาม : แสดงว่าที่หนูพูดมา คือหลับไปใช่ไหมคะ ? ตอบ : จะเรียกว่าหลับก็ไม่ใช่หลับ พูดง่าย ๆ ว่าตัดหลับ ความจริงก็คือ จิตเริ่มเป็นสมาธิ แต่สติเราหยาบเกิน สติตามไม่ทัน ในเมื่อตามไม่ทัน โดนทิ้งห่าง เราก็เลยไม่รับรู้อะไร |
ถาม : บางทีเวลาหนูนั่งสมาธิ หนูเห็นภาพพระชัด แต่มีความรู้สึกเหมือนข้างในบอกว่า กำลังจะชัดนะ ๆ แล้วอยู่ ๆ ภาพก็หายไป หายได้เหมือนกันหรือคะ ?
ตอบ : การที่เราจะเห็นอะไร เราต้องส่งใจไปถึงตรงนั้นได้ เมื่อเราเองมาสนใจกับความชัดหรือไม่ชัด ก็คือ มาสนใจกับลูกตา พอสนใจกับลูกตา จึงเท่ากับเราดึงใจกลับมาที่ตัวเอง ภาพก็หายไปสิ... นึกถึงตาเท่ากับเราดึงจิตเข้ามาที่ตัว แล้วจะไปเห็นอะไรเล่าจ๊ะ ? เพราะเท่ากับเราดึงจิตกลับมาที่ตัว ภาพก็หายแวบไปเท่านั้น ถาม : ต้องปล่อยไปเลยใช่ไหมคะ ? ตอบ : จะชัดหรือไม่ชัดไม่เป็นไร มีหน้าที่แค่รับรู้ไว้เฉย ๆ ยิ่งไม่ใส่ใจจะยิ่งชัดมาก |
ถาม : ผมเคยเอาเรื่องพระอีกฝ่ายไปพูดกับพระอีกฝ่ายหนึ่ง อาจจะยุยงให้เขาแตกกัน ถ้าเขายังไม่แตกกันยังไม่เป็นสังฆเภทใช่ไหมครับ ?
ตอบ : ไม่เป็น แค่ชั่วเฉย ๆ..! ถาม : ตอนผมบวช ผมมีพฤติกรรมที่ไม่ดี แต่ผมได้ไปละพฤติกรรมตอนนั้น และไปขอขมาพระพี่เลี้ยง ถ้าเกิดมีพระบวชใหม่ จะเอาพฤติกรรมผมไปทำตามเลียนแบบ เห็นผมทำได้ ก็เอาชื่อผมไปพูดบ้าง ผมจะมีโทษกับเขาได้ไหมครับ ? ตอบ : เราเลิกแล้ว โทษของเราไม่มี ถาม : แล้วเขาเอาชื่อผมไปพูด ? ตอบ : การที่เขาเอาชื่อเราไปพูด อาจจะเกิดโทษทางโลก คือ เขาเห็นว่าเราเป็นพวกเดียวกัน เดี๋ยวเราจะซวยไปด้วย แต่โทษทางธรรมไม่มี เพราะโทษทางธรรม ใครทำคนนั้นก็ต้องรับไป เรื่องของสังฆเภทนั้นเกิดได้ยาก ที่เกิดยากเพราะเขาต้องแยกกลุ่มเป็นสองฝ่าย ต่างฝ่ายต่างทำสังฆกรรมของกลุ่มตัวเอง ไม่ยอมลงสังฆกรรมร่วมกับอีกฝ่าย อย่างนั้นจึงจะเรียกว่าสังฆเภท ถ้าแค่ทะเลาะเฉย ๆ ไม่แยกกันตอนลงปาฏิโมกข์ ไม่ถือว่าเป็นสังฆเภท แต่โทษก็สาหัส แบบไม่ถึงกับประหารก็คงจำคุกตลอดชีวิตไปเลย..! |
ถาม : ในเรื่องสติ สติมันต้องไวมาก ขนาดที่ว่าเห็นทุกอย่างช้า..ใช่ไหมคะ ?
ตอบ : ใช่จ้ะ..ถ้าหากว่าเห็นกิเลสยังเร็วอยู่ ก็จะสู้ไม่ทัน เราต้องเร็วกว่า ในเมื่อเราเร็วกว่ากิเลส ทุกอย่างก็เหมือนกับช้า ถาม : ต้องเร็วกว่าจริง ๆ ประมาณว่า เวลาเคลื่อนไหว ต้องเห็นเป็นเหมือนภาพช้า ? ตอบ : ใช่จ้ะ..ถูกต้องแล้ว |
ถาม : ถ้าเรานั่งสมาธิแล้วง่วง ควรทำอย่างไร ?
ตอบ : มี ๒ อย่าง ถ้าฝืนได้ก็ฝืน หรือเปลี่ยนอิริยาบถไปเดินแทน หรือไม่ก็ล้างหน้าล้างตา แล้วกลับมาลุยกันใหม่ ถ้าไม่ไหวจริง ๆ ก็นอนภาวนาไปเลย |
ถาม : อะไรที่ทำให้ตัวท่านเปลี่ยนใจจากการปรารถนาพระโพธิญาณ ?
ตอบ : ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจจะปรารถนาพระโพธิญาณ แต่เกิดจากการที่อาตมาติดตามหลวงพ่อมานาน ในเมื่อหลวงพ่อปรารถนาพระโพธิญาณ เราที่ตามมาทำหน้าที่ ก็เกิดใกล้เคียงกัน จึงเท่ากับเป็นพระโพธิสัตว์ไปโดยปริยาย เรียกว่าเป็นแบบตกกะไดพลอยโจน ในเมื่อหลวงพ่อท่านเปลี่ยน อาตมาก็เลยเปลี่ยนบ้างเท่านั้นเอง ถาม : จะเปลี่ยนเมื่อไรก็ได้ ? ตอบ : ได้..อยู่ที่เราเอง ถ้าหากกำลังใจมั่นคง จะไปต่อเรื่อย ๆ ก็ไม่มีใครว่า แต่ถ้าคิดว่าพอเสียที ก็เลิกได้ เพียงแต่ว่าถ้าสร้างมาเยอะแล้ว ต้องไปขออนุญาตพระพุทธเจ้าเพื่อเลิก ถ้าสร้างมาน้อยก็เลิกเองได้ จุดธูปขอลาต่อหน้าหิ้งพระเลย ถาม : เมื่อไรก็ได้ ? ตอบ : เดี๋ยวนี้ก็ได้ ถาม : ของหนูยังต้องทำอีกไกลไหม ? ตอบ : จะเท่าไรก็แล้วแต่ อยู่ที่เราชอบหรือไม่ชอบ ถ้าชอบก็ไปต่อเลย ไม่มีใครเขาว่า จะมากจะน้อยก็ทำไป ถ้าบารมีน้อยทำมากหน่อยเดี๋ยวก็มากเอง ถ้าบารมีมากอยู่แล้วทำอีกหน่อยเดี๋ยวก็เต็ม เท่านั้นเอง ถาม : แล้วหนูควรทำสายไหน ? ตอบ : สายไหนก็ทำไปเถอะ ลงท้ายที่นิพพานทั้งหมด ถาม : ได้หรือคะ ไม่แย้งกัน ? ตอบ : จะมีอะไรแย้งกัน ? ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระพุทธเจ้าสอนมาไม่มีแย้งกันแม้แต่นิดเดียว การที่บอกว่าสายนั้นสายนี้ เกิดจากครูบาอาจารย์ที่เราเคารพนับถือและปฏิบัติตาม แต่ว่าทั้งหมดมาจากพระไตรปิฎก มาจากคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น |
ถาม : ที่การปฏิบัติของหนูติดขัดอยู่ เป็นเพราะดวงหรือเป็นเพราะกรรม ?
ตอบ : ไม่ใช่หรอกจ้ะ เรามาสายพุทธภูมิเราเรียนเพื่อเป็นครูเขา การจะเป็นครูเขาได้ ต้องรู้ครบถ้วนทุกอย่างจึงจะสอนเขาได้ เพราะฉะนั้น..อะไรที่คนอื่นกระทำได้ไม่ติดขัด เราเองจะยากกว่าเขาอย่างน้อยสี่เท่า..! ถาม : อย่างน้อยหรือคะ ? ตอบ : ใช่..เพราะถ้าไม่มีข้อบกพร่องอะไรให้เราได้ศึกษาเรียนรู้เลย แล้วคนอื่นเขาบกพร่องมา เราจะสอนเขาได้อย่างไร ? เพราะฉะนั้น..จึงต้องลำบากกว่าคนอื่นเขาทุกเรื่องแหละ ถาม : เป็นบททดสอบหรือคะ ? ตอบ : จะว่าเป็นบททดสอบก็ใช่ จะว่าเป็นการศึกษาความรู้ก็ใช่ ถึงเวลาจะได้นำไปสอนคนอื่นเขาต่อไป ถ้าโดนมาไม่ครบทุกแง่ทุกมุม จะทำให้สอนเขาได้ไม่ทั่ว ถาม : จะถึงอีกเมื่อไร ? ตอบ : ถ้าเราเร่งสร้างในส่วนที่เป็นบุญใหญ่จะเร็วขึ้น ถ้ายังปล่อยเรื่อย ๆ ก็ช้าอยู่ เพราะฉะนั้น..ไม่มีใครบอกได้แน่ ๆ ถาม : ส่วนใหญ่ที่ต้องทำคือในเรื่อง..? ตอบ : ศีล สมาธิ ปัญญานั่นแหละ ในส่วนของบุญใหญ่เช่น อาจจะสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่มหึมา หรือทำการสังคายนาพระไตรปิฎกอะไรทำนองนั้น ถาม : ก็มีร่วมสร้างกับเขา ตอบ : ทำไปเรื่อย ๆ ร่วมสร้างเองก็ได้ หรือกำลังพอก็ทำเอาเองเลย วิ่งใส่บุญทุกอย่างที่ขวางหน้า แต่อย่าทิ้งการภาวนา เพราะการภาวนาเป็นบุญใหญ่ที่สุด |
ถาม : ตอนนี้โยมมาถูกทางหรือเปล่า ?
ตอบ : ถ้ายังไม่พ้นกรอบของศีล ๕ ก็มาถูก ฉะนั้น..เราต้องรักษาศีลพร้อมกับการภาวนา ไหลตามโลกไปก็อย่าให้เกินกรอบของศีล ถ้าไปตรงไหนแล้วเขาบอกว่าจำเป็นต้องละเมิดศีล เราก็ไม่ไปด้วยหรอก ถาม : คือ เราควรจะเลือกใช่ไหมคะ ? ตอบ : ต้องดูด้วย ถ้าหากเป็นในหน้าที่การงานต่าง ๆ ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ ก็ใช้คำว่าปฏิสัมพันธ์กันให้น้อยที่สุด เพื่อรักษาอารมณ์ใจของเรา ถ้าหากไม่ใช่ในเรื่องของหน้าที่การงาน เราจะหลีกคนเลี่ยงคนอย่างไรก็อยู่ที่เรา คนอื่นอาจจะว่าเราถือเนื้อถือตัว หรือเก็บตัวก็ช่างเขา รอกำลังใจให้เข้มแข็งกว่านี้ค่อยไปว่ากันอีกที ถาม : ตอนนี้ก็ไม่ได้ผิดศีลอะไร ตอบ : ตราบใดที่ยังรักษาศีลได้ก็ยังไม่ผิด ผิดอยู่อย่างเดียว คือ ยังไม่บรรลุมรรคผล..! ถาม : หนูมีอะไรที่เป็นมิจฉาทิฏฐิบ้าง ? ตอบ : ตราบใดที่ยังไม่เข้าถึงมรรคผล ความเป็นมิจฉาทิฏฐิมีอยู่ทุกคน มีมากมีน้อยเท่านั้น เพราะฉะนั้น..ไม่ต้องไปกังวลหรอก เราใช้ศีลเป็นกรอบ ใช้สมาธิเป็นเครื่องช่วยเหลือ ท้ายสุดก็ใช้ปัญญา ดูว่าสิ่งไหนเป็นความดีอย่างแท้สุดหรือเปล่า อันไหนเป็นความดีแท้เราก็ทำเข้าไป อันไหนไม่ดีแท้ก็พยายามละ พยายามวาง ถาม : ที่มีติดขัดก็คือเรื่องเงิน ตอบ : หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านให้เอาไว้แล้ว คาถาเงินล้าน ภาวนาคาถาเงินล้านแทนคำภาวนาอื่นไปก่อน อย่างน้อยให้ได้วันละ ๑๐๘ จบทุกวัน ถ้าทำได้สม่ำเสมอสองเดือนติดกัน ทุกอย่างจะคล่องตัวเอง เพราะในคาถาเงินล้านมีตั้งแต่ปัดอุปสรรค รักษาทรัพย์ ฯลฯ |
ถาม : จิตลึก ๆ ยังอยากจะช่วยคนอยู่
ตอบ : ให้ทำได้เท่าที่ทำได้ ดูด้วยว่าอย่าทำให้ตัวเองและคนรอบข้างเดือดร้อน คือ อย่าให้เกินกำลัง นั่นแหละเขาเรียกว่า ทำแบบคนมีปัญญา ถ้าคิดจะช่วยโดยที่ไม่ได้ดูว่าตัวเองเดือดร้อนหรือเปล่า อันนั้นปัญญาน้อยไปหน่อย ถาม : (ไม่ได้ยิน) ตอบ : จำไว้ว่าอย่าอยากดีจนเกินไป อยากดีก็ไปสำนักนั้นบ้าง สำนักนี้บ้าง ไปเรื่อย ๆ เราอาจจะต้องเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติไปเรื่อย แล้วก็ทำไปไม่ถึงไหนเลย ยึดหลักอะไรให้ได้สักอย่าง แล้วตั้งหน้าตั้งตาทำไปเลย จะได้เร็ว ทางลัดไม่มี คนช่วยให้เราทำได้ไม่มี มีแต่ต้องใช้ความพยายามตัวเองเท่านั้น เพราะฉะนั้น..ที่ไหนเขาบอกว่ามีทางลัด สามารถที่จะลัดหนทางได้ ช่วยให้บรรลุเร็ว ๆ ได้นี่อย่าไปเชื่อ ถ้าหากช่วยอย่างนั้นได้ พระพุทธเจ้าท่านช่วยเราไปหมดแล้ว ถาม : แล้วเรื่องสัญญา จะช่วยคนได้ไหม ? ตอบ : อาตมาไม่เอาอะไร เพราะถือว่าเลยไปแล้ว เสียเวลาไปคิด ตั้งหน้าตั้งตาทำปัจจุบันให้ดี อนาคตดีแน่นอน มัวแต่ไปติดสัญญาอยู่ จะเอาตัวไม่รอด ถาม : เรื่องคู่บารมี ? ตอบ : ไม่เป็นไรจ้ะ จะช้าจะเร็ว ก็จะมีไปเองจ้ะ ถึงเวลาวาระบุญ วาระกรรมจะส่งมาเอง ไม่ต้องไปเสียเวลาไปดิ้นรนไขว่คว้า ถาม : ตอนนี้ยังไม่มีเลย ตอบ : ไม่มีเลยแหละดี ถาม : อยากจะให้มีก็ไม่ใช่ ตอบ : อย่าหวังพึ่งคนอื่น ถ้าหวังพึ่งคนอื่นเดี๋ยวก็ไปคว้าเอาคู่มา จะไปไหนไม่รอด ตั้งหน้าตั้งตาทำของเราให้เต็มที่ เดี๋ยวทุกอย่างจะมาเอง |
ถาม : ไม่มีใครช่วยใคร ต้องทำด้วยตัวเอง ?
ตอบ : พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเลย สุทธิ อสุทธิ ปัจจัตตัง นาญโญ อัญญัง วิโสธะเย คนจะบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตัว บุคคลหนึ่งจะทำให้อีกบุคคลหนึ่งบริสุทธิ์นั้นไม่ได้ ต้องทำเอง ถาม : เรื่องผู้ชาย ถ้าไม่มีจะดีใช่ไหมคะ ? ตอบ : เรื่องผู้ชาย ถ้าเข้ามาเมื่อไรจะยุ่งเมื่อนั้น ยกเว้นเราตั้งใจจะให้เขาเป็นเนื้อคู่ เพราะผู้หญิงกับผู้ชาย โอกาสที่จะอยู่ด้วยกันโดยไม่มีเรื่องเพศมาเกี่ยวข้องเป็นไปได้ยาก เดี๋ยวกระแสกรรมจะชักนำให้เสียไปเปล่า ๆ จำไว้ว่าอย่ากลัวการอยู่คนเดียว ถ้ามัวแต่กลัวอยู่ กลายเป็นตัดสินใจผิด ๆ พลาด ๆ เดี๋ยวจะเดือดร้อนไปเอง ส่วนใหญ่จะไปคิดว่า เดี๋ยวแก่ไปไม่มีใครดูแล เจริญ...กลายเป็นแก่แล้วต้องไปดูแลเขา จะซวยซ้ำซวยซ้อน ถาม : คู่บารมีนี่ไม่มีใช่ไหมคะ ? ตอบ : ไม่มีก็หาได้ บอกแล้วว่าบุพเพสันนิวาส เขาเรียกว่าคู่บารมี คือมาตั้งแต่ชาติก่อน ส่วนอีกอย่างคือเกื้อกูลกันในปัจจุบัน ในเมื่อไม่มีในอดีตเราก็หาในปัจจุบันได้ นี่แสดงว่าสู้แม่ชีที่วัดไม่ได้ แม่ชีสมศรีน้ำหนักประมาณร้อยกิโลกรัม สึกไป เราก็ถามว่า "เอ็งอ้วนขนาดนี้จะสึกไปทำซากอะไร มีผู้ชายที่ไหนจะมาแต่งด้วย ?" เขาบอกว่า "แค่ผู้ชาย..เดินรอบตลาดรอบเดียวก็หาได้แล้ว..!" เขาไปเดินพักเดียวพามาจริง ๆ อะไรจะมั่นใจตัวเองได้ขนาดนั้น แล้วเขาก็แต่งงานอยู่กินกันมาจะสิบปีแล้ว ตลกมากเลย..ตอนแรกอาตมาก็นึกว่าเขาพูดเล่น ถาม : แต่ลึก ๆ ของหนูคิดว่าเป็นห่วง ตอบ : เดี๋ยวก็แพ้ใจตัวเอง โอกาสที่เราจะมีปัญญา มีกุศลกรรม เห็นทุกข์ของการครองคู่นั้นน้อย ส่วนใหญ่มีแต่อกุศลกรรมจะกระหน่ำซ้ำเติมให้เราคิดผิด ทำผิด ลองดูคนรอบข้างเราสิ เขาแต่งงานไป กี่คู่ที่มีความสุข ? คู่ไหนที่ไม่ทะเลาะกันบ้างไหม ? คู่ไหนที่ไม่บ้านแตกสาแหรกขาด ? โดยเฉพาะคนสมัยนี้ความอดทนน้อย หม้อข้าวยังไม่ทันจะดำเลย เลิกกันแล้ว..! สมัยนี้ดันไปเล่นไมโครเวฟ ก็เลยไม่ทันดำจริง ๆ ก็หย่ากันแล้ว...ไปได้แล้ว เลิกคุย มัวแต่ไปวิตกกังวลอยู่ เสียเวลาทำมาหากิน ไปนั่งภาวนาดีกว่าไป จะได้บรรลุเร็วหน่อย..! ถาม : ถ้าลาพุทธภูมิจะเป็นอย่างไร ? ตอบ : ถ้าลาเรื่องยุ่ง ๆ ข้างนอกจะลดน้อยลง แต่การปฏิบัติก็ยังคงมาแบบเดิม คือไปช้ากว่าคนอื่นเขา |
ถาม : อากาสานัญจายตนะกับอากิญจัญญายตนะ ต่างกันอย่างไรครับ เพราะว่าว่างเหมือนกัน ?
ตอบ : อากาสานัญจายตนะว่างเพราะเราจับความว่างของอากาศ อากิญจัญญายตนะว่างเพราะเราใช้ส่วนหนึ่งปัญญาพิจารณาเห็นว่าทุกอย่างไม่มีอะไรเหลือ พวกที่ถามโดยไม่ทำนี่นอกจากจะปัญหามากแล้ว ในเมื่อตัวเองทำยังไม่ถึง ถามไปแล้วก็ลืมหมด..! |
พระอาจารย์กล่าวถึงตำแหน่งของกุฏิเจ้าอาวาสว่า "กุฏิเจ้าอาวาสควรอยู่ตำแหน่งหลังซ้ายของพระประธาน และพระประธานหันหน้าทิศตะวันออกเท่านั้น
ถ้าจะเอารวย กุฏิเจ้าอาวาสควรอยู่ด้านหลังซ้ายของพระประธาน ถ้าจะเอาดัง ก็อยู่หน้าซ้ายหรือหน้าขวาของพระประธาน ได้สามมุมนี้เท่านั้น นอกนั้นไม่เหมาะสักมุม เพราะมีแต่ทิศโจร ทิศปาราชิก ทิศทุคตะ ทิศมรณะ ทิศกาลกิณี" แต่ว่าตำราของหลวงพ่อต่างกับตำราอื่น โดยเฉพาะมุมรวยนี้ตรงกันข้ามเลย มุมรวยตามแบบของหลวงพ่อนั้น ตำราอื่นเขาว่าอยู่แล้วจน..! |
ถาม : เนวสัญญานาสัญญายตนะก็เป็นสัญญา ?
ตอบ : เป็นการใช้กำลังของสมาธิบังคับร่างกาย เมื่อเกิดความรู้สึกขึ้นมาก็ทำเป็นเหมือนกับไม่รู้สึก ถาม : ทุ่มเทกำลังสมาธิไปที่ส่วนใดส่วนหนึ่งหรือครับ ? ตอบ : ทำไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็รู้เอง ประเภทที่หมอผ่าตัดแล้วไม่ร้องโอ๊ยก็ใช้ได้ ไม่อย่างนั้นคนไม่เคยกินแล้วมาถามว่า อาหารนี้รสเป็นอย่างไร ? ตอบไปก็เหนื่อยเปล่า..! |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 06:45 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.