กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เก็บตกจากบ้านอนุสาวรีย์ (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=26)
-   -   เก็บตกบ้านอนุสาวรีย์ต้นเดือนตุลาคม ๒๕๕๓ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=2173)

เถรี 05-10-2010 21:11

เก็บตกบ้านอนุสาวรีย์ต้นเดือนตุลาคม ๒๕๕๓
 
ในขณะที่กำลังสนทนาเรื่องน้ำหนักตัว พระอาจารย์กล่าวให้ฟังว่า

"บางทีการถามเรื่องน้ำหนักตัวก็ถือเป็นการเสียมารยาท เพราะคนไม่ใช่สัตว์ โดยเฉพาะไม่ใช่สัตว์เลี้ยง ในเมื่อคนไม่ใช่สัตว์เลี้ยง เรื่องอ้วนผอมสำหรับคนจึงไม่มีความจำเป็น

สัตว์เลี้ยงจำเป็นต้องเลี้ยงให้อ้วน จึงจะได้ราคา แต่ถ้าคนอ้วนแล้วมีแต่ราคาจะตก ดังนั้น..การถามถึงเรื่องน้ำหนักจึงถือว่าผิดมารยาท

โบราณเขาบอกว่า สัตว์ผอม ฤๅษีพี อีกนารีไม่มีถัน คนจนแต่งประชัน สี่สิ่งนั้นไร้ความดี

โบราณเขาถือว่า สัตว์ต้องอ้วนจึงจะดี ถ้าเป็นนักบวชนักปฏิบัติต้องผอมแล้วจึงจะดี นี่ถ้าสมัยก่อนใครเกิดมาอ้วนโดยธรรมชาติ แล้วไปบวชคงไม่รุ่ง แต่ถ้าเป็นสมัยนี้อ้วนแล้วเขาชอบกัน เขาเรียกกันว่าหุ่นเจ้าคุณ

ผู้หญิงที่นั่งคุยกับเราแล้วเหมือนกับหันหลังให้ (ข้างหน้าเหมือนไม้กระดาน) โบราณเขาถือว่ากาลกิณี ส่วนคนจนไปแต่งเนื้อแต่งตัวประชันกับคนรวยเขา โบราณถือว่าไม่มีความสำนึกในฐานะตัวเอง เพราะไปอวดร่ำอวดรวยทั้งที่ฐานะของตนไม่อำนวยให้"

เถรี 05-10-2010 21:26

พระอาจารย์กล่าวให้ฟังถึงการสอบที่ผ่านมาว่า "มีวิชาหนึ่ง ชื่อว่า การจัดการพฤติกรรมมนุษย์ตามแนวพระพุทธศาสนา อาจารย์ท่านตั้งคำถามว่า "มีทฤษฎีกล่าวว่า บุคคลย่อมเป็นไปตามสิ่งแวดล้อม แต่วัยรุ่นบางคนอยู่ท่ามกลางเพื่อนที่ติดยา เที่ยวกลางคืน กินเหล้า สูบบุหรี่ ทำไมเขาจึงไม่เป็นไปตามเพื่อน จงอธิบาย"

อาตมาก็อธิบายไปว่า ข้อที่หนึ่ง ทฤษฎีนี้ไม่ถูกต้อง เพราะทฤษฎีที่ถูกต้องต้องครอบคลุมได้หมดทุกคน ในเมื่อยังมีข้อยกเว้นอยู่ แสดงว่าไม่น่าจะถูก จนกว่าจะมีคนยกข้อคัดค้านขึ้นมาได้ ทฤษฎีนี้ก็จะตกไป

ข้อที่สอง พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ให้ความเข้มงวดกวดขัน อบรมมาดี ข้อที่สาม เด็กเป็นบุคคลที่ใฝ่ดี มีหิริโอตตัปปะมาแต่กำเนิด ข้อที่สี่ มีการสั่งสมบุญในลักษณะของ ปุพเพกตปุญญตา มาแต่ปางก่อน

ในส่วนของปุพเพกตปุญญตา คือ การสั่งสมบุญมาแต่อดีต เป็นส่วนสำคัญมาก จะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมว่าเราจะไปดีหรือไปไม่ดี ขนาดบุคคลที่สั่งสมบุญมาในอดีตแต่พอมีอกุศลกรรมมาแทรก ยังมีโอกาสพลาดได้เลย เพราะฉะนั้น..อย่าไปคิดว่า เรามีดีแล้วก็ไปประมาท ถ้าอย่างนั้นก็มีสิทธิ์พังได้

จริง ๆ แล้วทฤษฎีตะวันตกได้แต่กายกรรมและวจีกรรมเท่านั้น ส่วนมโนกรรมยังไปไม่ถึง มโนกรรมของเขา คือจิตใต้สำนึก (sub conscious) ซึ่งคลำได้ผิว ๆ เท่านั้น ไม่เหมือนพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ชัดเจนเลย ทั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมครบสามส่วน"

เถรี 05-10-2010 21:41

พระอาจารย์กล่าวถึงเรื่องผมให้ฟังว่า "เรื่องของผม โบราณเขาว่าไว้หลายอย่าง อย่างหนึ่งเรียกว่า เกล้านางนี เป็นผมที่มีลักษณะขึ้นมาคล้ายกับมงกุฎ ผมจะจับทรงของตัวเอง เขาถือว่าเป็นของสำคัญคู่ตัวของบุคคลนั้น บางคนก็เรียกว่า เมาลีโพธิสัตว์ เพราะมีบางคนเท่านั้นที่จะเป็น

ทรงผมอีกอย่างเขาเรียกว่า ผมผีมัด มีลักษณะโดนมัดเป็นกระจุกเล็ก ๆ เต็มศีรษะ ต่อให้แกะออกหรือหวีให้เรียบอย่างไร รุ่งเช้าก็จะเป็นอย่างนั้นอีก

ส่วนที่ชัดที่สุดก็ต้องพระเกศาของพระพุทธเจ้า มีลักษณะม้วนเป็นทักษิณาวัตรแนบติดกับพระเศียร ตั้งแต่วันแรกที่ออกผนวชจนกระทั่งวันสุดท้าย ไม่เคยยาวไปกว่านั้นอีกเลย

คนจีนเขามีตำราว่า บุคคลที่ผมจับทรงเหมือนกับใส่หมวก มักจะมีโอกาสเป็นใหญ่เป็นโต ตั้งแต่ต้นมาจนบัดนี้อาตมาเจอมา ๑ ราย เท่านั้น กำลังรออยู่ว่า ถ้าเขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้ว จะได้เป็นใหญ่เป็นโตขนาดไหน

หลวงพ่อรุ่ง วัดบางแหวน จ. ชุมพร ชาวบ้านเขาเรียกกันว่า หลวงพ่อรุ่งเคราเหล็ก เพราะว่าผมเผ้าหนวดเคราของท่านไม่สามารถที่จะโกนได้ ต่อให้มีดคมกริบขนาดไหนก็โกนไม่เข้า ถากไปก็เหมือนกับถากเส้นลวด เราจะเห็นได้ว่า ผมเผ้าหนวดเคราของคน ยังบอกเรื่องราวได้มากมายถึงขนาดนี้"

เถรี 05-10-2010 22:16

พระอาจารย์กล่าวถึงเรื่องฤกษ์ยามให้ฟังว่า "เท่าที่ศึกษามา ฤกษ์ที่น่าใช้ก็คือ ระยะเวลาที่เป็นปลายทลิทโทฤกษ์ (ฤกษ์ขอทาน) แล้วต่อด้วยมหัทธโนฤกษ์ (ฤกษ์มหาเศรษฐี) ช่วงที่คาบกันเกี่ยวกันระหว่างนั้น หมายถึงว่า ถึงลำบากอยู่ก็จะสบายทันที เป็นเคล็ดวิธีที่โบราณาจารย์ท่านแนะนำมา

แต่สำหรับภูมิปาโลฤกษ์ (ฤกษ์รักษาแผ่นดิน) เหมาะสำหรับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน หรือไม่ก็ระดับผู้ว่าราชการจังหวัดขึ้นไป เพราะเป็นผู้รักษาเมือง"

ถาม : หนูเกิดเพชฌฆาตฤกษ์ค่ะ
ตอบ : เพชฌฆาตฤกษ์ก็ดี เพราะว่าเป็นคนที่ทำอะไรเด็ดขาด ถึงเวลาตัดสินใจ "ไม่" หรือ "เอา" คำเดียว..ก็จบเลย

เถรี 06-10-2010 08:22

พระอาจารย์เล่าให้ฟังว่า "สมัยเรียนอยู่ชั้นประถมปลายมีเพื่อนชื่อ "คมเพชร" มีนิสัยเกเรมาก ถ้าจำไม่ผิดพ่อแม่เขาพาไปให้ หลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลา เปลี่ยนชื่อให้ใหม่เป็น "กระสินธุ์" แปลว่า สายน้ำ ปรากฏว่าความประพฤติเขาเปลี่ยนไปเลย

แสดงว่า หลวงพ่อน้อยท่านรู้จริง ท่านบอกว่าชื่อนี้แข็งไป ท่านเปลี่ยนหักมุมสุด ๆ เลย จากเพชรกลายเป็นน้ำ..!"

เถรี 06-10-2010 09:55

ถาม : หนูมีอาชีพเป็นหมอ น้องสาวที่อยู่ด้วยกันเรียนจัดดอกไม้ ขณะคุยโทรศัพท์กันอยู่ดี ๆ เขาก็พูดไม่ได้ อ่อนแรงไปค่ะ ขนาดหนูเป็นหมอ ยังคิดว่าไม่น่าจะมาเกิดกับน้อง หนูพยายามทำใจยอมรับ แต่หนูก็ยังทำใจไม่ได้
ตอบ : ไม่ต้องยอมรับจ้ะ เขาให้เราทำหน้าที่ แต่เราทำผิดเอง เราทำผิดตรงที่ไปตั้งใจให้ยอมรับ ถ้ากำลังใจของเราไม่พอ จะยอมรับไม่ได้ ให้เปลี่ยนกำลังใจของเราไปทำหน้าที่แทน

อย่างเช่นว่า ต้องดูแลเขาอย่างไร จะต้องรักษาเขาอย่างไร ต้องฟื้นฟูสภาพจิตใจเขาอย่างไร แสดงว่าเราหลงประเด็นเอง


ถาม : น้องหนูยังนอนที่ไอ.ซี.ยู. ตั้งแต่วันที่ ๑๕ แล้ว เหมือนกับเขาดีขึ้น แต่ก็ยังไม่รับรู้
ตอบ : ภาษาพระเขาบอกว่า วาระกรรมมาถึงพอดี เอาอย่างนี้..อะไร ๆ เราก็จ่ายมาแล้ว จ่ายอีกสักหมื่นห้าก็แล้วกัน ไปบอกเขาว่าจะปล่อยชีวิตสัตว์ ปล่อยพวกวัวควายให้เขา แล้วอุทิศให้เจ้ากรรมนายเวรให้เขาอโหสิกรรมให้ด้วย แต่ต้องไปซื้อที่โรงฆ่าสัตว์ แถว ๆ โรงฆ่าสัตว์ปทุมธานี ก็ได้

โรงฆ่าสัตว์ปทุมธานีอยู่ตรงกันข้ามกับธนาคารโคกระบือของในหลวง เราซื้อจากโรงฆ่าสัตว์ก็จูงข้ามไปที่ธนาคารโคกระบือ ให้เขาเอาเข้าบัญชีไปเลย เท่ากับว่าเราช่วยชีวิตสัตว์ใหญ่

เรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ ส่วนใหญ่เกิดจากกรรมเก่าที่ทำมา ในการที่เราไปฆ่าคนฆ่าสัตว์เอาไว้ จึงต้องคืนให้เขาด้วยชีวิต อาการที่หนักแบบนี้ควรจะคืนเขาด้วยชีวิตของสัตว์ใหญ่ จะให้ไปช่วยชีวิตคนก็คงหาที่ไหนไม่ได้ เพราะไม่มีใครเอาคนไปฆ่าให้เราเห็น ก็ต้องเอาสัตว์มีชีวิตนี่แหละ ลองไปเลือกดู...ราคาน่าจะไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท

ไปสื่อสารกับคนป่วย ถ้าเขาสามารถกระพริบตาได้หรือจับมือเราบีบได้ ก็บอกให้เขารับรู้ พอทำเสร็จก็กลับมาบอกเขาอีกที บอกให้เขาตั้งใจว่าบุญที่เราทำทั้งหมดนี้ ขออุทิศให้กับเจ้ากรรมนายเวร อย่างน้อย ๆ ก็เป็นแสงสว่างหนึ่งที่ปลายอุโมงค์ มีทางดีกว่าไม่มีเลย

เถรี 06-10-2010 11:24

ถาม : เริ่มเบื่อน้อยลงแล้วค่ะ
ตอบ : เริ่มเบื่อน้อยลง ก็แย่นะสิ

ถาม : อย่างทำงาน รู้ว่าเป็นหน้าที่ก็ทำ ๆ ให้เสร็จ ๆ สักแต่ว่าทำไป จึงเบื่อน้อยลงเรื่อย ๆ
ตอบ : ให้กำลังใจของเราอยู่กับปัจจุบันด้วย คือ ทำงานก็ให้อยู่กับงานตรงนั้นเลย ไม่อย่างนั้นแล้วความเบื่อที่น้อยลง อาจเป็นเพราะว่ากิเลสของเราตีกลับ คือ กำลังใจเราไปทุ่มเทกับงาน อาจจะเป็นในลักษณะที่ว่า "ตรงนี้ได้กำไรเยอะ ต้องรีบทำหน่อย" กลายเป็นว่ากิเลสย้อนกลับมาแล้วเราไม่รู้ตัว

เพราะฉะนั้น..ให้วางกำลังใจอยู่กับปัจจุบันตรงนั้นจริง ๆ ต้องระมัดระวังไว้ อย่าไปคิดว่าเราก้าวผ่าน ให้คิดอยู่เสมอว่าเราถดถอย จะได้ไม่ประมาท


ถาม : แล้วมีวิธีดูไหมคะ ว่าเราถอยหรือเราดีขึ้น ?
ตอบ : วัดจากนิวรณ์ ๕ ก็พอ ไม่ต้องมากมาย ถ้าโผล่มาเมื่อไรแสดงว่าเราพังไปนานแล้ว เพียงแต่เราไม่รู้ตัวเท่านั้นเอง

ถาม : เวลาไปกราบพระ หนูต้องบินฝ่าแดดฝ่าลมไป มีวิธีที่นึกแล้วถึงเลยไหมคะ ?
ตอบ : เราต้องคิดว่าเราอยู่ตรงหน้านั้นแล้ว แต่ก็อาจจะเป็นรูปแบบเฉพาะตัวของเราก็ได้ แบบเดียวกับพระยาครุฑ เคยอ่านกากีไหม ? เขาว่าดังนี้

เราจะแจ้งทางทุเรศเขตอรัญ........สัตตภัณฑ์คั่นสมุทรใสศรี
แม้จะขว้างแววหางมยุรี.............ก็จมลงจนถึงที่สุธาธาร
อันน้ำนั้นสุขุมละเอียดอ่อน...........จึงชื่อสีทันดรอันใสสาร
ประกอบหมู่มัจฉากุมภาพาล........คชสารเงือกน้ำและนาคินทร์
ผู้ใดคิดข้ามนทีสีทันดร................ย่อมม้วยมรณ์เป็นเหยื่อแก่สัตว์สิ้น
แสนมหาพญาครุฑยังเต็มบิน........จึงล่วงสินธุ์ลุถิ่นพิมานทอง

ของเราแสดงว่าเป็นแบบเดียวกับพระยาครุฑ ต้องค่อย ๆ ไป เราใช้มโนมยิทธิไปแบบทีเดียวถึงเหมือนคนอื่นไม่เป็น สมัยก่อนอาตมาเคยเป็นเหมือนกัน เวลาที่แหวกฝ่าอากาศไป รู้สึกแสบไปหมดทั้งตัว เพราะไปเร็วมากเลย น่าจะเร็วพอ ๆ กับเครื่องบินขับไล่ เอฟ ๑๖

คิดว่าทำไมตัวเราต้องมาลำบากอย่างนี้ด้วย เพราะจริง ๆ แค่นึกก็ถึงแล้ว พอกำลังใจตัดตรงจุดนี้ได้ กลายเป็นว่าแค่นึกก็ถึงแล้ว แต่ทีนี้ของเราอาจจะยังตัดไม่ได้ เพราะฉะนั้น..ค่อย ๆ ไปแบบนั้นก่อนก็แล้วกัน จะได้เก็บไปสอนเขาได้ว่า ประเภทลำบากลำบน เราก็เคยเป็นมาก่อนแล้ว

เถรี 08-10-2010 12:19

ถาม : ถ้าอยากจะแช่อยู่ในฌานเรื่อย ๆ โดยไม่ออกไป ต้องทำอย่างไร ?
ตอบ : อย่างที่บอก..ให้กำหนดรู้อยู่กับปัจจุบัน แต่ให้ประคองความรู้สึกเท่ากับตอนที่เรานั่ง จะลำบากนิดหนึ่ง แต่ถ้าทำบ่อย ๆ จะชิน แล้วก็จะทำได้

ให้ความรู้สึกของเราอยู่ตรงนี้ เดี๋ยวนี้ เอาสติประคองอยู่ในอารมณ์นั้น แล้วไม่ให้หลุดไป ถ้าเผลอเมื่อไรก็จะหลุด หลุดแล้วก็ทำใหม่ ลองดู..ไม่ยากหรอก


ถาม : คนที่บ้านเขาบอกว่า เขานั่งภาวนาไปเมื่อเช้านี้ พออารมณ์สบายเขาก็เลยจับภาพพระ และจิตเขายังอยู่บนพระหัตถ์ของพระ พอเลิกทำตรงนั้นแล้วมีความสุข อิ่มอกอิ่มใจมาก ไม่อยากพูดกับใครเลย
ตอบ : ให้ทำบ่อย ๆ แต่ขณะเดียวกันก็ให้รู้ว่า ในเรื่องการปฏิบัติ โลกต้องไม่ช้ำ ธรรมต้องไม่เสีย สิ่งไหนที่เลี่ยงไม่พูด แล้วอยู่กับความสุขปัจจุบันของเราก็อยู่ไป แต่ถ้าสิ่งไหนจำเป็นต้องปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นก็ให้ทำ ไม่อย่างนั้นแล้วจะเดือดร้อน

มีโยมคนหนึ่งโทรมาร้องไห้ บอกว่าไปทำงานที่ไหนก็โดนเขาแกล้ง อาตมาบอกว่า "ก็เอ็งดันทำตัวไม่เหมือนชาวบ้านเขา.." เขาบอกว่าคนอื่นไม่ดี อาตมาบอกว่า "ไม่ใช่หรอก เอ็งบอกว่าทำงานที่ไหนก็เดือดร้อนทุกที่ แสดงว่าตัวเอ็งต้องไม่ดี ถ้าดีแล้วทำไมเราจึงเข้ากับเขาไม่ได้..?"

ในที่สุดเขาก็หลุดปากออกมาว่า ถ้าหากไปกับคนพวกนั้นแล้วจะรักษากรรมบถ ๑๐ ไม่ได้ เลยพยายามไม่พูดไม่คุยด้วย นั่นแหละ..กลายเป็นเราทำตัวต่างจากเขามากเกินไป คนเขาหมั่นไส้เลยแกล้งเอา กลายเป็นว่าอะไร ๆ เอ็งดีคนเดียว แสดงว่าโลกช้ำเพราะกลัวธรรมจะเสีย ก็เลยต้องปล่อยให้ร้องไห้อีกหลายยก..


ถาม : แล้วอารมณ์ที่เขาได้เป็นอารมณ์อะไร ?
ตอบ : เขาพยายามจะรักษากรรมบถ ๑๐ ให้ได้ กรรมบถ ๑๐ นั้นเน้นตรงวาจา นอกจากจะไม่พูดโกหกแล้ว ยังไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดวาจาที่ไร้ประโยชน์

ทีนี้..วาจาที่ไร้ประโยชน์ ถ้าไม่โยงให้เข้าในเรื่องของการปฏิบัติธรรมแล้วก็ไร้ประโยชน์ทั้งนั้น ก็เลยไม่พูดเสียเลย ไม่พูดแล้วจะไปทำงานร่วมกับคนในบริษัทได้อย่างไร ใครไปถามอะไรก็หุบปากเงียบ ถ้าเป็นอาตมาไม่บ้องหูให้ก็เกรงใจแล้ว นี่เขาแค่แกล้งให้ก็ยังดี

เถรี 08-10-2010 12:25

ถาม : กรณีของคนที่บ้าน เขามีอารมณ์สบายก็จริง แต่มีความสุขแค่ ๔ - ๕ นาทีเองค่ะ
ตอบ : เดี๋ยวก็ได้เยอะขึ้น การปฏิบัติอยู่ที่การซักซ้อมบ่อย ๆ พอเกิดความคล่องตัวแล้วก็รักษาอารมณ์ได้นานขึ้นเรื่อย ๆ แต่ต้องรู้อยู่เสมอว่าเราอยู่กับโลก ต้องเคารพสมมติทางโลก ในเมื่อเคารพสมมติทางโลก ก็อย่าพยายามทำตัวให้ต่างจากเขามากนัก

อย่างหนังสือที่อ่านไปคราวก่อน งำประกาย : กโลบายไร้ผู้ต่อต้าน เขาบอกว่าให้รู้จักปิดบังตัวเองบ้าง ไม่ใช่ถึงเวลาก็นั่งสมาธิกลางบริษัทเลย ไม่เกรงใจใคร กูจะปฏิบัติของกู รับรองได้ว่าตีนมารอบทิศ..!


ถาม : ในพระไตรปิฎกมีคำว่ากายนิพพานหรือเปล่าคะ ?
ตอบ : ไม่มี..มีแต่อาทิสมานกาย ธรรมกาย อายตนะนิพพานก็ไม่มีตรง ๆ เพียงแต่ท่านบอกว่า ดูก่อน..ภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่ แต่ท่านไม่ได้บอกว่าเป็นอายตนะนิพพาน

นิพพานก็คือนิพพาน ตามรากศัพท์แปลว่า ธรรมชาติที่หาความเสียดแทงไม่ได้ คือ ไม่มีอะไรกระทบได้แล้ว กระทบก็ร่วง เพราะฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจหรอก ว่าพระปฏิบัติที่เข้าถึงท่านจึงได้ขลัง เพราะไม่มีอะไรเสียดแทงได้แล้ว ก็ขลังโดยปริยาย

ไม่ต้องมากมายหรอก แค่พระอนาคามีก็พอ อนาคามีนั้นเมื่อไร้ซึ่งความโลภ ไร้ซึ่งความโกรธขึ้นมา ปืนก็ยิงไม่ออกแล้ว..!

เถรี 08-10-2010 12:31

ถาม : จิตของคนเรานี่เป็นพลังงานอย่างหนึ่งหรือเปล่าคะ?
ตอบ : เป็นสิจ๊ะ พลังงานมหาศาลกว่าปรมาณูอีก

ถาม : แล้วเวลาเราคิดอะไรไป ก็เป็นพลังงานอย่างหนึ่ง ?
ตอบ : เป็นจ้ะ ถึงได้ก่อให้เกิดกระแสที่เขาเรียกว่า มโนกรรม กรรมที่เกิดจากใจ จึงต้องควบคุมให้ดี ให้คิดดี พูดดี ทำดี อย่าให้คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว

เพราะว่าพลังงานนั้น นอกจากจะทำร้ายคนอื่นแล้ว ยังทำร้ายตนเองด้วย แต่ถ้าหากทำดีก็จะดีต่อตัวเราและดีต่อคนอื่นด้วย


ถาม : แสดงว่ามีผลใช่ไหมคะ ?
ตอบ : มีแน่จ้ะ

ถาม : แล้วทำไมบางครั้งจะมีไฟกลม ๆ อยู่ตรงระหว่างหน้าผาก ?
ตอบ : ไม่ต้องไปใส่ใจจ้ะ ตรงนั้นเป็นแหล่งพลังงานอย่างหนึ่งที่ทางด้านฮินดูเขาถือว่าเป็นจักระ คือ แหล่งพลังงานอย่างหนึ่งใน ๗ จุดใหญ่ของร่างกาย

ไม่ต้องไปใส่ใจตรงจุดนั้น ให้ใส่ใจอยู่กับลมหายใจของเรา กำหนดความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป ไหลตามลมหายใจออกมา ภาพหรือแสงเสียงที่ปรากฏอย่าไปใส่ใจ ถ้ามัวแต่ไปใส่ใจอยู่การปฏิบัติจะไม่ก้าวหน้า


ถาม : จะเกิดอย่างไรก็ปล่อย ?
ตอบ : จะเป็นอย่างไรช่าง แต่ของอย่างนี้แปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือ เรายิ่งไม่สนใจก็ยิ่งชัด เขาจะยั่วให้สนใจ

ถาม : แล้วทำไมคนอื่นเขาไม่เป็นแบบนี้ ?
ตอบ : แต่ละคนไม่เหมือนกันจ้ะ การปฏิบัติก็เหมือนกับคนที่เรียนหนังสือ คนนั้นเรียนสาขาวิชานั้น คนนี้เรียนสาขาวิชานี้ ในเมื่อเรียนคนละสาขา จะให้เหมือนกันก็เป็นไปไม่ได้ ยกเว้นวิชาพื้นฐานเท่านั้น

ถาม : แล้วอย่างหนูต้องปฏิบัติอย่างไรคะ ?
ตอบ : เอาอานาปานสติเป็นหลักจ้ะ เรื่องของลมหายใจเข้าออกทำให้ใจของเราไม่ฟุ้งซ่าน ส่วนการปฏิบัติในด้านอื่น ๆ เพื่อการรู้เห็นต่าง ๆ นั้น จริง ๆ แล้วเป็นของแถมของนักปฏิบัติ ถ้าเราทำถึงส่วนใหญ่จะมาเอง

ดังนั้น..ไม่ต้องไปดิ้นรนทำหรอก ประเภทอยากรู้อยากเห็นอย่างชาวบ้าน รู้เห็นมาก ๆ บางทีก็โดนหลอก..!

เถรี 08-10-2010 12:36

ถาม : เรื่องการตำหนิกรรม ในหน้าที่การงานอย่างที่เราสั่งสอนเขา ถือว่าเป็นการตำหนิกรรมหรือเปล่าคะ ?
ตอบ : ถ้าหากสอนก็สอนโดยยกตัวอย่างให้ชัดเจน แต่การตำหนิกรรม บางทีไม่ใช่การสอน การตำหนิกรรมส่วนใหญ่จะใส่อารมณ์ร่วมไปด้วย รัก โลภ โกรธ หลง ก็เลยงอกงาม รักที่จะสอนเขากำลังใจของเราต้องมั่นคงพอ

ถาม : ต้องตีไปยิ้มไปใช่ไหมครับ ?
ตอบ : ประเภทตีด้วยอุเบกขา อย่าไปตีด้วยโทสะ

ถาม : แล้วในกรณีที่เราพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์ พูดถึงการกระทำของบุคคลอื่น ?
ตอบ : จะมากจะน้อยก็มีโทษ เพราะพระพุทธเจ้าท่านให้ อัตตนา โจทยัตตานัง กล่าวโทษโจทย์ตนเอง มีอะไรก็แก้ไขที่ตัวเองให้ดี เราไม่สามารถจะแก้ไขคนอื่นเขาได้ เพราะเรื่องของคนอื่น คือ เรื่องของโลก โลกทั้งโลกหนักเกินกำลังของเรา ดูที่ตัวแก้ที่ตัวจึงจะเกิดผล

ถึงแม้ว่าการทำงานนั้นจะต้องทำร่วมกัน ก็รอเวลาที่ประชุมกันเกี่ยวกับงาน ถ้าอย่างนั้นก็ใส่กันได้เต็มที่เพราะว่าเป็นหน้าที่ แต่ถ้าเป็นนอกเวลา โบราณเขาถือคติว่า ถ้าติให้ติลับหลัง ถ้าชมให้ชมต่อหน้า ถ้าติต่อหน้าคนอื่น น้อยคนที่จะรับได้ ดีไม่ดีก็โกรธกันไปตลอดชีวิตเลย

เถรี 08-10-2010 12:41

ถาม : เรื่องการนั่งกรรมฐาน ผมจะรู้ได้อย่างไรว่าจริตไหนถูกกับเราครับ ?
ตอบ : คุณเอาหนังสือคู่มือปฏิบัติกรรมฐาน ของ หลวงพ่อวัดท่าซุง ตั้งใจบูชาหน้าหิ้งพระ จุดธูปอธิษฐานขอบารมีพระและครูบาอาจารย์ช่วยสงเคราะห์ กรรมฐานใดที่เหมาะแก่เราให้อ่านแล้วชอบใจ ถ้าชอบหลายกองให้ตั้งใจใหม่ว่า กองใดที่เราทำแล้วได้ผลไวที่สุด ให้ชอบมากที่สุด

ไม่ต้องไปสนใจเรื่องจริตหรอก คนเรามีจริตครบทั้ง ๖ อย่าง เพียงแต่ว่าจะเด่นด้านไหนขึ้นมาเท่านั้น ถ้าไม่ใช่คนที่จิตละเอียดจริง ๆ จะแยกไม่ออกหรอก


ถาม : ตอนนี้ผมนั่งภาวนานะมะพะธะอยู่ แต่ว่าจะหงายหลังตลอด แล้วก็จะนิ่งไปเลย อย่างนี้เขาเรียกว่าเข้าอุปจารสมาธิหรือเปล่า ?
ตอบ : ถ้าเอาหนังสือของหลวงพ่อมาอ่าน จะรู้ว่าอยู่ระดับไหน เพราะในหนังสือมีรายละเอียดบอกเอาไว้เกี่ยวกับระดับขั้นของอารมณ์ฌาน อารมณ์สมาธิ อ่านแล้วจะรู้เอง

ถาม : มันไม่ยอมหงายครับ ค้างไว้อย่างนั้น แล้วก็เมื่อยครับ อยากให้หงายก็ไม่หงาย
ตอบ : อย่าอยากให้เป็น และอย่าอยากให้หงาย ทำใจให้เป็นกลาง มีหน้าที่ตามดู ตามรู้อย่างเดียว

ถ้าวางกำลังใจไม่ถูก การปฏิบัติจะไปยากมาก ถ้าวางกำลังใจถูกก็จะเร็วเกินกว่าที่เราจะคิด


ถาม : ผมไม่ได้หวังอะไรครับ หวังให้นิ่งอย่างเดียว
ตอบ : ก็ที่เอ็งหวังจะให้หงายนั่นแหละ ฮ่วย..!

เถรี 09-10-2010 11:37

ถาม : ตอนนี้แม่ผมไปวัดแถวปทุม บริจาคเงินจนจะหมดตัวแล้วครับ
ตอบ : เราเป็นลูกก็ลองทักท้วงดูสิ ว่าผมยังต้องกินต้องใช้นะแม่

ถาม : แม่ไม่ยอมฟังเลยครับ น้ำเชี่ยวมาก ห้ามไม่ไหว
ตอบ : ห้ามไม่ไหวก็รอ หรือไม่ก็พูดให้ท่านฟังเสียหน่อยว่า ถ้าแม่ตายผมไม่มีเงินจัดงานศพให้แม่นะ ถือว่าผมบอกแม่แล้ว ถึงเวลาผมอาจจะเอาเสื่อห่อ ๆ ศพแม่แล้วฝังเลยก็ได้..!

ถาม : บุญที่แม่ทำไปที่นั่น จะได้เท่ากับทำพระดี ๆ ไหม ?
ตอบ : ต้องดูด้วย บุญที่ทำแล้วจะได้เต็มที่ ต้องประกอบด้วย
๑. เจตนาบริสุทธิ์ คือ ทำเพื่อเป็นการหวังสละออกจริง ๆ ไม่ได้คิดจะทำอวดคนอื่นเขา ไม่ได้ทำเพราะสถานการณ์พาไป
๒. วัตถุทานบริสุทธิ์ คือ สิ่งที่เราใช้ในการทำบุญต้องหามาได้โดยบริสุทธิ์ ไม่ได้ลักขโมย หยิบฉวย หลอกลวง ช่วงชิงของใครเขามา
๓. ผู้ให้บริสุทธิ์ คือ ตัวเราตอนนั้นเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์
๔. ผู้รับบริสุทธิ์ ผู้รับเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์

ไปวิเคราะห์ก็แล้วกันว่าส่วนไหนพร่องบ้าง ถ้าไม่พร่องเลยสักข้อ แม่ก็ได้บุญไปเต็ม ๆ


ถาม : สองข้อผมมั่นใจ แต่อีกสองข้อผมไม่มั่นใจสิครับ
ตอบ : อย่างนั้นก็เป็นเรื่องของแม่แล้วครับ..!

เถรี 09-10-2010 11:43

ถาม : เวลาผมไปที่นั่นทีไร ผมเครียดทุกทีครับ
ตอบ : เครียด..รับไม่ได้ใช่ไหม ?

ถาม : รับไม่ได้มาก ๆ ผมอยากจะออกมา เมื่อต้นเดือนงานศพตา ไปเผาที่วัดอื่น แต่นิมนต์พระวัดนี้ไปสวด เหมือนหักหน้าพระเจ้าของวัดนั้นหรือเปล่าครับ ?
ตอบ : ประมาณนั้นแหละ...เป็นเรื่องที่โดยมารยาทแล้วไม่ควรจะทำกัน

ถาม : มีอะไรจะแนะนำผมไหมครับ ? เตือนแม่ก็ไม่ฟัง
ตอบ : เราให้ยาเบาไป พูดให้แม่ได้สติต้องกระแทกสักตูมใหญ่ ๆ

ถาม : ตอนช่วงปีใหม่ผมบินกลับมาที่เมืองไทย มีลูกศิษย์ของหลวงพ่อ เขาบอกว่า เขาจะช่วยเปิดตาที่สามให้เห็นพวกกายทิพย์ และสอนเรานั่งกรรมฐานแนวหลวงพ่อครับ นั่งกรรมฐานไปเขาก็จะถามเหมือนฝึกมโนมยิทธิ ผมสงสัยว่าที่เขาสอนผม เขาใช้ไข่มานวดลูกตา เขาบอกว่าได้วิชามาจากอาจารย์คนหนึ่ง ฝึกจนได้ตามสายหลวงพ่อด้วยครับ
ตอบ : ตามที่อาตมาศึกษาสายหลวงพ่อมาไม่เคยมีอย่างนี้ ยังดีที่เขาบอกว่ามาจากคนอื่น..!

เถรี 09-10-2010 11:51

ถาม : เขาบอกว่าเขาช่วยจูนคลื่นให้ ผมก็ลองนั่งสมาธิ ลองมองดู ถามว่าผมเห็นอะไรไหม ? ผมก็เคยถามพวกแม่ชีว่าผมเห็นถูกไหม ? ก็เห็นถูกตามที่แม่ชีบอก ผมไม่ได้หลอกตัวเองใช่ไหมครับ ?
ตอบ : ถ้าตัวเองเห็นแล้วสรุปไม่ได้ ก็ไม่ต้องถามคนอื่น เหมือนกับกินข้าวแล้วไปถามคนอื่นว่าผมอิ่มไหม ?

ถาม : จะให้แน่ใช้สัมผัสแรกใช่ไหม ?
ตอบ : จริง ๆ แล้ว เราต้องเชื่อความรู้สึกแรก แล้วการเห็นไม่มีการผิดไม่มีการถูก เห็นก็คือเห็น หากแต่ว่าพอเรารู้เห็นแล้วเราไปเชื่อถือ ไปคล้อยตามแล้วปฏิบัติ ตอนนั้นแหละถึงจะเกิดการผิดถูก ต้องระมัดระวังตรงที่ว่า เราจะเชื่อถือและปฏิบัติตาม

อย่างวัดที่คุณว่าเหมือนกัน เขาเห็นตามนั้นแล้วก็ไหลตามไป ในเมื่อไม่มีการยั้งตัว คนส่วนใหญ่เห็นว่าผิด แต่เขาเห็นว่าถูก

ฉะนั้น..ในเรื่องของการปฏิบัติ แรก ๆ ถ้าแค่เห็นยังไม่มีการผิดถูก แต่ถ้าเห็นแล้วไปคล้อยตามคำแนะนำ ต้องระมัดระวังให้มาก เพราะว่าความผิดถูกจะเริ่มปรากฏ ถูกก็เสมอตัว ถ้าผิดก็ขาดทุน


ถาม : ผมศึกษาตามสายของหลวงพ่อมา ให้กำหนดภาพพระให้ชัดเจน แต่ผมนั่งสมาธิไม่ค่อยได้กำหนด เอาให้นิ่งอย่างเดียว แล้วก็ถอนออกมา จะเป็นอย่างไรครับ ?
ตอบ : ถ้าเราต้องการรู้เห็น ต้องเกี่ยวกับภาพ ยกเว้นว่าเราต้องการความสงบเฉย ๆ

ที่ทำไปก็ถูกอยู่ แต่การสงบเฉย ๆ ถือว่าขาดทุน เพราะว่าการปฏิบัติตามสายหลวงพ่อท่านหวังความหลุดพ้น ความสงบเป็นแค่สุขปัจจุบันเท่านั้น ถ้าไม่สามารถจะรักษาให้ต่อเนื่องได้ ยังไม่แน่ว่าความสุขในอนาคตจะมีได้ เพราะว่าเราอาจจะพลาดลงอบายภูมิไปเลยก็ได้

ฉะนั้น..ป่วยการที่จะกล่าวถึงประโยชน์สุขสูงสุดที่จะพึงได้คือการหลุดพ้น ถ้าเราแค่สงบเฉย ๆ แปลว่ายังไม่พอกิน

เถรี 09-10-2010 11:54

ถาม : สรุปแล้วถ้าต้องการฝึกมโนมยิทธิ คือ ต้องกำหนดภาพพระให้ชัดใช่ไหมครับ ?
ตอบ : ควรจะเป็นอย่างนั้น ขอยืนยันว่าถ้าทำได้คล่องตัวแล้วจะมีปัญหาตามมาอีกมหาศาล เพราะบุคคลที่รู้เห็นมักจะโดนหลอกได้ง่าย

ถาม : กำหนดรูปหลวงพ่อได้ไหมครับ ?
ตอบ : แล้วแต่สะดวก ให้จับได้สักรูปหนึ่งเอาให้ชัดจริง ๆ ก็แล้วกัน

ถาม : ถ้าลืมภาพ ก็ลืมตามาดูใหม่หรือครับ ? อย่างนี้สมาธิก็หลุดไป
ตอบ : แสดงว่าคุณลืมตาไม่เป็น คนทำสมาธิเป็นไม่ว่าจะหกคะเมนตีลังกาอย่างไร สมาธิเขาก็ทรงตัวได้เสมอ

ถาม : แต่ว่าผมทำได้ภาพไม่ละเอียดครับ
ตอบ : ค่อย ๆ ทำไป บุคคลสมัยก่อนเขาทำ ๓๐-๔๐ ปีกว่าจะได้ เราทำมากี่นาที..!

เถรี 09-10-2010 11:57

ถาม : เวลาภาวนาใช้คำบริกรรม เมื่อก่อนพอหลุดก็หายไปเลยครับ พอตอนนี้คำบริกรรมยังอยู่แล้วก็ร้องเพลงตามไปด้วย
ตอบ : ดึงความรู้สึกทั้งหมดมาอยู่กับลมหายใจเข้าออก ถ้ายังดึงกลับมาไม่ได้ ก็ยังคงร้องเพลงไปด้วย ลักษณะอย่างนั้นเป็นการแยกจิตทำงานหลายอย่างพร้อมกัน แต่คราวนี้กลายเป็นกิเลสมารช่วยหนุน จึงออกนอกลู่นอกทาง

ถาม : พอใช้ลมหายใจเข้ามาช่วย เพลงก็หายไป แต่กลายเป็นภาพที่เราไปเห็นมาในแต่ละวัน
ตอบ : ไม่ต้องไปใส่ใจ ให้กำหนดความรู้สึกทั้งหมดอยู่กับลมหายใจอย่างเดียว ภาพจะปรากฏไม่ต้องสนใจ แต่ยิ่งไม่สนใจก็ยิ่งชัด เขาตั้งใจจะกวนให้เราเลิก ต้องทนสู้..นั่งตื๊อดูว่าใครจะอึดกว่ากัน

ถ้าเราสามารถผ่านได้ เขาก็จะไม่มาอีก เขาแค่ต้องการกวนน้ำให้ขุ่น พอขุ่นแล้วจิตเราไม่มีคุณภาพ การปฏิบัติของเราไม่ก้าวหน้า เขาถือว่าประสบความสำเร็จ เขาก็จบของเขาแค่นั้น ส่วนเราเองก็เดือดร้อนไปเรื่อย

เถรี 09-10-2010 12:22

ถาม : เวลาจะควบแน่นเพื่อบีบให้ออก ถ้าไม่อยากออก จะต้องทำอย่างไร ?
ตอบ : แล้วทำไมถึงไม่อยากออก?

ถาม : อยากจะแช่อยู่นาน ๆ
ตอบ : จะไปยากอะไร ก็แค่นึกว่าไม่ไป ๆ ๆ กำลังใจก็จะต้านไว้เอง หรือลดลงมาอย่าให้ถึงฌาน ๔

ถาม : ขนาดหนูผ่อนลงแล้ว ภาวนาต่อก็แน่นใหม่อีก
ตอบ : เรื่องธรรมดา ก็ซ้อมขึ้น ๆ ลง ๆ ไปเรื่อย ต่อไปจะมีความชำนาญ เขาเรียกว่า วุฏฐานวสี

วุฏฐานะ คือ การออก , วสี คือ ความคล่องตัว , วุฏฐานวสี คือ มีคล่องตัวในการเข้าออกฌาน

เถรี 10-10-2010 20:22

พระอาจารย์เล่าให้ฟังว่า "สมัยเด็ก ๆ มีคนได้แก้วจากต้นกล้วย เขาเองก็ไม่ได้คิดอยากได้หรอก แต่ด้วยความที่เป็นคนขยัน ปลูกกล้วยแล้วรักษาอย่างดี

วันหนึ่งฝันเห็นผู้หญิงแต่งชุดไทยมาหา บอกว่าขอบคุณที่ช่วยดูแลเขามานาน ตอนนี้จะไปเกิดแล้ว จะทิ้งของดีเอาไว้ให้ ให้เก็บรักษาเอาไว้ จะได้ช่วยให้ครอบครัวเจริญรุ่งเรือง

เจ้าของต้นกล้วยก็พยายามไปค้นหา หาที่กอกล้วยแล้วยังไม่เจออะไร ท้ายสุดเห็นกล้วยออกปลีอยู่ จึงตัดปลีออกมาผ่าดู ปรากฏว่ามีแก้วอยู่ข้างใน"

ถาม : ผู้หญิงที่มาเข้าฝัน เป็นรุกขเทวดาหรือครับ ?
ตอบ : เป็นรุกขเทวดาชั้นต่ำ แบบเดียวกับพระพุทธเจ้าที่เคยเสวยพระชาติเป็นกุสนาฬิเทวดา เป็นเทวดาอยู่บนกอหญ้าคา

ถาม : อยู่บนไม้ไม่มีแก่นใช่ไหมครับ ?
ตอบ : ถ้าเป็นรุกขเทวดาชั้นสูงจะอยู่บนไม้มีแก่น

ถาม : รุกขเทวดาชั้นต่ำอายุกาลจะสั้นกว่าหรืออย่างไร ?
ตอบ : ไม่ใช่สั้นกว่า แต่กำลังบุญจะน้อยกว่า อีกอย่างคือ กิเลสรัก โลภ โกรธ หลง ใกล้เคียงมนุษย์มากกว่า

ถาม : ขนาดกำลังบุญน้อยยังให้แก้วได้
ตอบ : อย่าลืมว่าเทวดาปลายแถวยังทรงความดีมากกว่ามนุษย์หัวแถวหลายเท่า

ถาม : แล้วใครเป็นคนดูแลแก้ว
ตอบ : แก้วนั้นเหมือนกับเป็นศูนย์รวมพลังของเขา ในเมื่อเขาไม่ได้ใช้แล้วก็เลยยกให้ โบราณเขาเรียกแก้วกัทลี กัทลี แปลว่า กล้วย

เถรี 10-10-2010 20:28

ถาม : งูเหลือมปากเป็ด เขาบอกว่าคนใต้จะเก็บไว้ไม่ให้คนอื่นเห็นเลย
ตอบ : อาตมามีอยู่สี่ตัว ตัวขนาดเท่าถั่วงอก ที่บอกว่าเหมือนถั่วงอกเพราะปากเขาแบนจึงดูเหมือนถั่วงอก ก่อนหน้านี้อาตมาเอามาใส่ตู้ไว้ให้ดู ๓-๔ ตัว ของบางอย่างที่เขาหายาก เขาก็หวงกัน แต่เราอาจจะทำบุญไว้เยอะกระมังก็เลยหาง่าย

จริง ๆ อาตมาอยากได้งูนกเลี้ยงมากกว่า ไม่ได้อยากได้งูเหลือมปากเป็ดหรอก อยากรู้ว่างูนกเลี้ยงเขาอยู่ได้อย่างไร ? เพราะเป็นงูที่อ่อนปวกเปียกทั้งตัวเหมือนกับไม่มีกระดูก นอนอยู่ที่ไหนนกจะไปทำรังให้ แล้วหาอาหารมาป้อนให้ทุกวัน

ถ้าเราได้เขามาเก็บไว้ ตอนเช้า ๆ ต้องรีบเอาไปไว้ตรงชานบ้านเพื่อให้นกมาป้อน นกทุกตัวที่ผ่านมาต้องหาอาหารให้เขากินก่อน ไม่อย่างนั้นไปไหนไม่ได้หรอก

ตำราว่าเป็นเมตตามหานิยม ถ้าใครมีอยู่จะทำให้เจ้าของบ้านพลอยเป็นที่รักของคนอื่นไปด้วย ที่อาตมาอยากได้ ไม่ใช่ต้องการให้เป็นมหานิยม แต่อยากรู้อยากเห็นเท่านั้น

เขาบอกว่าเข้าป่าให้พยายามสังเกต ถ้ามีเสียงนกเกรียวกราวอยู่ที่ไหน น่าจะมีงูนกเลี้ยงอยู่ที่นั่น

เถรี 10-10-2010 22:31

มีร้านก๋วยเตี๋ยวร้านหนึ่ง พยายามตะโกนเรียกลูกค้าเข้าร้าน นานเข้าเสียงเริ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ เพราะความเครียด

พระอาจารย์จึงกล่าวว่า "สำคัญตรงความรู้ตัว ในเมื่อเขาไม่รู้ตัวเขาก็ยังทำไปเรื่อย ก่อนหน้านี้อาตมาก็พอ ๆ กับเขา เสียงดังใส่คน พอรู้ตัวก็รีบหยุดทันที

คนเราจะแก้ไขตัวเองได้ต้องมีความรู้ตัว ถ้าไม่รู้ว่าจุดบกพร่องอยู่ตรงไหนก็แก้ไขไม่ได้ จุดบกพร่องที่แก้ไขยากที่สุดคือ ส่วนใหญ่คิดว่าตัวเองดีแล้ว

การคิดว่าตัวเองดีแล้วมีโทษก็คือ อันดับแรก ไม่แสวงหาความก้าวหน้า อันดับที่สอง ปิดกั้นจากความดีในระดับสูงกว่าที่ควรจะได้ ควรจะเป็น อันดับสุดท้าย ก็คือ เข้าไม่ถึงความดีอย่างแท้จริง"

เถรี 10-10-2010 22:42

พระอาจารย์กล่าวถึงการจัดงานรักษาศีลแปดที่วัดให้ฟังว่า "ความจริงแล้วการรักษาศีลปฏิบัติธรรม เราทำอยู่ที่ไหนก็ได้ แต่ส่วนใหญ่ที่เขาจัดกันขึ้นมา มีประโยชน์อยู่อย่างหนึ่งคือ หมู่คณะลากกันไปได้ ประเภทพวกมากลากไป

อยู่บ้านเราอาจจะอดใจไม่ไหวไปกินข้าวเย็น แต่อยู่ที่วัดเขาพร้อมใจกันอด พอเห็นคนอื่นเขาอดได้ เราก็มีกำลังใจอดได้บ้าง

สำหรับงานนี้ใครสมัครแล้วต้องไป หมาจะคลอดหรือเมียจะคลอดก็ต้องไป ถ้าไม่ไปเราคิดค่าประกาศนียบัตร ๙๙ บาท เพราะถ้ารอไปพิมพ์ประกาศนียบัตรวันงานแล้วจะทำไม่ทัน ในเมื่อพิมพ์ไปแล้วตามรายชื่อที่สมัคร ถ้าไม่ไปก็เสียเงินเสียของไปเปล่า ๆ

หลายต่อหลายคนมีอุปสรรคขัดขวางไม่ให้ทำความดี มีอยู่สองคนอยู่ข้างวัดแค่นั้น พอถึงวันงานกลับป่วย มาไม่ได้

เราจะได้รู้ว่า มารเขารักเรามาก มีความเมตตา อยากสงเคราะห์ให้เราอยู่กับเขานาน ๆ พยายามดึงถ่วงเราเอาไว้ไม่หลุดพ้น ควรจะตอบแทนความรักความหวังดีของเขาไหม..?!"

เถรี 11-10-2010 09:35

ถาม : ที่ว่าเอาใจไปรับพวกรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส แล้วทำให้กำลังรั่วไปหมด ที่รั่วออกไปคือทำใจไหลตามคิดตามหรือคะ ?
ตอบ : ใช่..เป็นการนึกคิดปรุงแต่ง ไม่ใช่การสักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น แล้วหยุดเอาไว้ได้ แต่เราไปยินดียินร้าย พอใจและไม่พอใจ จึงเป็นการใช้พลังงานอย่างหนึ่ง

ถ้าเราสามารถหยุดเอาไว้ได้ ไม่ไปยินดียินร้าย สักแต่ว่ารับรู้ ก็ไม่ต้องไปสูญเสียกำลังกับเรื่องเหล่านี้


ถาม : ไม่ใช่ว่าเราปิดหูปิดตา ?
ตอบ : ไม่ใช่...เราสนใจได้ แต่ให้สนใจในลักษณะสักแต่ว่ารู้เฉย ๆ ถ้าไปยินดี..พลังงานก็หายไปแล้ว ไปยินร้าย..พลังงานก็หายไปแล้ว เพราะเราไปใส่อารมณ์

ยินดีก็เป็นโลภะมีส่วนของราคะ ยินร้ายก็เป็นโทสะมีส่วนของโมหะอยู่ด้วย เป็นกิเลสใหญ่มากเลย


ถาม : อย่างอ่านนิยาย แล้วเราไปคิดตามที่เขาเขียน ?
ตอบ : ไม่ต้องเสียเวลาหรอก เราไหลตั้งแต่ตอนซื้อมาแล้ว พอเห็นชื่อ แดน บราวน์ เราก็รั่วแล้ว จะต้องปรุงไปแล้ว ว่าเรื่องก่อนสนุกแค่ไหน แล้วเรื่องนี้จะสนุกแค่ไหน แหม..ดาวินชีโค้ดสุดยอดเลย แล้วเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรหนอ ต้องอ่านให้ได้" กิเลสเขาปรุงให้กินไปหลายถ้วยหลายจานแล้วยังไม่รู้ตัวอีก..!


เถรี 11-10-2010 09:39

ถาม : หนูเคยคิดอย่างหนึ่งว่า เวลาที่เราเกิดความยินร้าย แล้วตัดไม่ได้สักทีหนึ่ง เพราะยังมีการระลึกนึกถึงอยู่ ก็เลยมาคิดว่า เป็นไปได้ไหมที่เราจะมีความยินดีในความยินร้ายนั้น ?
ตอบ : มี..ที่ยังตัดไม่ได้ อันดับแรกคือกำลังไม่พอ อันดับที่สองคือยังไปห่วงหาอาวรณ์ สายใยเลยยังรัดพันอยู่

ถาม : จริง ๆ แล้ว เราก็สามารถสรุปได้ว่ามีแค่ตัวเดียวก็คือ มีความพอใจ
ตอบ : จะเรียกว่าอย่างนั้นก็ได้ พระท่านสรุปว่าเป็นฉันทะ ความพอใจ จึงเกิดราคะ ความยินดี อยากมี อยากได้ สองศัพท์รวมกันเขาเรียกว่าอวิชชา แปลว่า ไม่รู้ เลยโง่เสียท่าอยู่เรื่อย..!


เถรี 11-10-2010 12:56

ถาม : (ไม่ได้ยิน)
ตอบ : เมื่อกำลังใจถึงอุปจารสมาธิ ภาพต่าง ๆ จะปรากฏขึ้น ในเมื่อภาพต่าง ๆ ปรากฏขึ้น ถ้าสงสัยใคร่รู้ให้กำหนดถามเดี๋ยวนั้นเลยว่า ท่านมาด้วยเหตุใด มีความประสงค์อะไร หรือถ้าไม่สามารถที่จะรับรู้ได้ชัดเจน ก็ให้ตั้งใจบอกว่า ให้มาเข้าฝันด้วย จะได้สื่อให้รู้ ๆ กันไปเลย

ถาม : เดี๋ยวนี้จะเป็นเวลาเข้าห้องน้ำ
ตอบ : นั่นเป็นเวลาที่ใจเราสบาย เพราะกำลังอุปจารสมาธิ คือ กำลังใจที่เบา ๆ สบาย ๆ ตรงช่วงนั้นจะเริ่มรู้เห็นสิ่งต่าง ๆ แบบหลวงพ่อวัดท่าซุง ท่านไปสวรรค์ครั้งแรกก็อาศัยนั่งพิงตุ่มในห้องน้ำ

ยังดีจ้ะที่ของเราท่านมาแบบดี ๆ ถ้ามาแบบไม่ดีเดี๋ยวได้วิ่งกันแน่..!


ถาม : เป็นท่านจริง ๆ มาหรือเปล่าคะ ?
ตอบ : ถามท่านสิจ๊ะ ท่านมาแล้วเราไม่รู้จักถาม ถามแล้วอย่าไปย้ำ เพราะโลกอื่นเขาไม่โกหกหรอก ถ้าเราไปย้ำ บางท่านนิสัยเหมือนคน เห็นเราไปถามย้ำเหมือนไม่เชื่อถือกัน เดี๋ยวมีการเฉ่งคืน..!

เถรี 11-10-2010 13:09

พระอาจารย์อ่าน ธรรมลีลา ของ ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ให้ฟังว่า "ในมหาปรินิพพานสูตร พระพุทธเจ้าตรัสชมพระอานนท์ว่าเป็นสุดยอดของพุทธอุปัฏฐาก ในบรรดาอุปัฏฐากทั้งหมดที่ผ่านมาไม่มีใครเกินท่าน

แต่ทำไมหลังจากเสด็จดับขันธปรินิพพาน ในการสังคายนาพระไตรปิฎกหลังจากนั้น ๓ เดือน พระมหากัสสปะสั่งปรับอาบัติพระอานนท์ถึง ๕ ข้อ ?

อย่าลืมว่าพระพุทธเจ้าเพิ่งตรัสชมพระอานนท์ไปเมื่อสามเดือนก่อน (และ) การจัดการเหล่านั้น (ของพระอานนท์) น่าจะถูกต้อง แต่กลับโดนคณะสงฆ์ปรับอาบัติ

เรื่องนี้ผู้เขียนได้ศึกษาแล้วและเห็นว่าไม่ลงตัวกับหลักฐานพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท ความแตกต่างเช่นนี้ได้จุดประกายให้นักวิชาการสายพุทธควรจะไปศึกษาเพิ่มเติมองค์ความรู้ให้สมบูรณ์ต่อ


จริง ๆ แล้วมีคำอธิบาย เพียงแต่ว่า ดร. ท่านคงไม่ได้คิดถึง เรื่องทั้งหลายเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่คณะสงฆ์ชิงปรับอาบัติพระอานนท์ก่อน ก็เพื่อไม่ให้คนกล่าวโทษพระอานนท์ทีหลัง แล้วกลายเป็นโทษแก่ตัวเอง เพราะตอนนั้นพระอานนท์เป็นพระอรหันต์ไปแล้ว

โทษที่ปรับอาบัติพระอานนท์ ก็คือ ๑) ทูลขอให้ภิกษุณีบวช ข้อนี้ ดร.ฉัตรสุมาลย์ ท่านรับไม่ได้เด็ดขาด ถือว่าเป็นการกีดกันสิทธิสตรี ท่านต่อสู้เรื่องนี้มานาน ๒) ปรับอาบัติข้อที่พระอานนท์ให้บรรดาพระญาติพระวงศ์ของมัลลกษัตริย์ ที่เป็นสตรีไปถวายบังคมพระบรมศพก่อน ทำให้ทั้งหมดร้องไห้จนน้ำตาตกต้องพระพุทธสรีระ

๓) ปรับอาบัติเพราะพระอานนท์เหยียบสังฆาฏิของพระพุทธเจ้าเพื่อดึงให้ตึงตอนเย็บ ๔) ปรับอาบัติเพราะพระอานนท์ไม่สอบถามว่า สิกขาบทใดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย ๕) ปรับอาบัติพระอานนท์ที่ไม่ทูลขอให้พระพุทธเจ้าอยู่ตลอดกัป เพื่อสงเคราะห์มนุษย์และเทวดา"

เถรี 11-10-2010 13:14

"พระอานนท์ท่านแก้ได้ทุกข้อกล่าวหา ชี้แจงแก่คณะสงฆ์ได้ชัดเจน แต่ด้วยความที่เห็นแก่พระธรรมวินัย และเข้าใจว่าคณะสงฆ์ปรับอาบัติท่านด้วยเหตุใด ท่านจึงยอมรับว่าผิดและแสดงคืนอาบัติ ก็คือ ยอมสารภาพว่าเป็นความผิดเฉพาะของตน

แต่ที่จริงแล้ว คณะสงฆ์ปรับอาบัติพระอานนท์ก็เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ชิงทำเสียก่อน ไม่อย่างนั้นคนรุ่นหลังจะทะเลาะกันเพราะเรื่องของท่าน แล้วจะเกิดโทษแก่ตัวเองหนักไปเรื่อย จนอาจจะเป็นเหตุให้เกิดความแตกแยกในพระพุทธศาสนา

โดยเฉพาะคนที่กำลังใจไม่ถึง คิดไม่ถึงว่าพระอานนท์ทำอย่างนั้นไปเพราะอะไร ถ้าพระอานนท์นิพพานไปแล้ว ไม่มีโอกาสที่จะมาว่ากล่าว มาบอกกันให้ชัดเจน ก็จะทำให้คนที่มาทีหลังไม่เข้าใจ ไปตำหนิพระอรหันต์ได้ โทษก็จะหนัก

ฉะนั้น..การที่ท่านชิงปรับอาบัติเสียก่อน ก็เพื่อที่เป็นการอนุเคราะห์แก่โลก บาลีเรียกว่า โลกานุกัมปายะ อนุเคราะห์แก่ชนรุ่นหลัง ปิดประตูนรกไม่ให้คนลง แต่นี่กำลังมีคนไปตะกายแง้ม ๆ มาหน่อยแล้ว

ท่านรับไม่ได้ตรงที่ว่า ทำไมถึงไปปรับอาบัติพระอานนท์เรื่องให้บวชภิกษุณี คิดว่าเป็นการกีดขวางไม่ให้สตรีบวช คนเราดีแสนดีถ้าเขาจะหาเรื่องมาติก็หามาจนได้แหละ"

เถรี 11-10-2010 17:18

ถาม : เวลาที่จะประคองภาพพระให้ได้นาน ๆ ทั้งวันทำอย่างไรครับ ?
ตอบ : ควบกับลมหายใจเข้าออก ตราบใดที่ยังรักษาลมหายใจเข้าออกอยู่ ตราบนั้นก็ยังรักษาภาพพระได้

ถาม : จับภาพขนาดไหนก็ได้ใช่ไหมครับ ?
ตอบ : เอาขนาดที่เราถนัด กำหนดได้กำลังสบาย จะใหญ่จะเล็กอยู่ที่เรา

ถาม : ผมพยายามประคองภาพพระให้ได้สององค์ ดีหรือไม่ หรือองค์เดียวก็พอ ?
ตอบ : ถ้ายิ่งหลายองค์ก็ต้องยิ่งใช้สมาธิสูง เพราะถ้าพลาดแล้วก็จะหายไป ฉะนั้น..อยู่ที่เรา ถ้าคล่องตัวหลาย ๆ องค์ก็ได้

ถาม : ส่วนคำภาวนานี่ไม่จำเป็นใช่ไหมครับ ? ให้อยู่กับลมหายใจตลอด
ตอบ : ถ้าจับลมหายใจได้ ไม่ต้องใช้คำภาวนาก็ได้จ้ะ

เถรี 11-10-2010 17:45

ในขณะที่กำลังสนทนาถึงข่าวของแอนนี่ บรู๊ค พระอาจารย์กล่าวว่า "ในทุกเรื่อง ถ้ามีความสงสัยใครสักคน แล้วได้มีการจับเข่าคุยกันและถามตรง ๆ ทุกอย่างจะดีขึ้น เพราะเราจะทราบความจริงจากเจ้าตัวโดยตรง

แต่ส่วนใหญ่เราไม่ทำอย่างนั้น เราไปวิพากษ์วิจารณ์กันรอบนอก พอวิจารณ์กันในรอบนอก ไม่มีการสอบถามข้อเท็จจริงกับเจ้าตัวโดยตรง เรื่องที่ไม่ควรจะเป็นความผิด ก็กลายเป็นความผิดไป"

เถรี 11-10-2010 17:54

พระอาจารย์กล่าวถึงภาพยนตร์เรื่องหนึ่งให้ฟังว่า "สมัยก่อนมีหนังอยู่เรื่องหนึ่ง ชื่อ ท้าฟัน เป็นการนัดต่อสู้กันระหว่างวิทยายุทธของสามเกาะบูรพาคือญี่ปุ่น (นินจา) กับแผ่นดินใหญ่คือจีน (วัดเส้าหลิน) นัดต่อสู้กันทุก ๆ สามปี

เหมือนกับว่าวิทยายุทธของเส้าหลินถึงจุดอิ่มตัวแล้ว พัฒนาต่อไม่ได้แล้ว แต่ทางด้านของญี่ปุ่นกลับพัฒนาไปได้เรื่อย เพราะว่าบุคคลที่ออกจากสำนักเพื่อเป็นตัวแทนในการต่อสู้นั้น จะต้องฆ่าอาจารย์ตัวเองให้ได้ เขาบอกว่าถ้าไม่มีกฎข้อนี้บังคับเอาไว้ ก็จะไม่มีความก้าวหน้า

แต่ปรากฏว่าในการต่อสู้ทุกครั้ง จีนแผ่นดินใหญ่ชนะทุกที พอมาถึงรุ่นปัจจุบัน ระหว่างพระเอกสองคน คือ ญี่ปุ่นกับจีน แผ่นดินใหญ่ยังคงชนะเหมือนเดิม

ในการต่อสู้ช่วงท้าย ๆ พระเอกญี่ปุ่นบาดเจ็บจะตกเขา แต่ด้วยความเหี้ยม เขาเอาดาบซามูไรแทงเท้าตัวเอง ปักเอาไว้ไม่ยอมให้ตก แล้วเขาก็ถามปัญหาที่คาใจ ว่าทำไมเขาจึงสู้ไม่ได้สักที ทั้ง ๆ ที่เขาพัฒนาก้าวหน้าไปเรื่อย

พระเอกที่เป็นคนจีน เป็นศิษย์ของเส้าหลินบอกว่า "วิทยายุทธของสามเกาะบูรพาเต็มไปด้วยความโหดเหี้ยม นอกจากจิตใจจะคับแคบไม่เปิดกว้างพอแล้ว ส่วนสำคัญที่สุดก็คือพื้นดินที่เป็นเกาะ ทำให้รากฐานไม่มั่นคง ไม่เหมือนกับแผ่นดินใหญ่ที่กว้างใหญ่ไพศาล

คนจีนตั้งแต่เกิดมา ก็พบแต่ผืนแผ่นดินอันกว้างขวาง จะย่างก้าวไปไหนก็มีแต่ความมั่นใจ จึงเพาะเป็นรากฐานที่ฝังลึกอยู่ในใจถึงความมั่นคงในพื้นฐานของตน แต่ทางด้านสามเกาะบูรพาจะไม่มีตรงจุดนี้"

เพราะฉะนั้น...สู้กันไปถึงขนาดไหน ท้ายที่สุด ตรงจุดที่รากฐานไม่มั่นคงก็จะทำให้เขาแพ้"

เถรี 11-10-2010 18:01

"ถ้าเราเอาความรู้ตรงนี้มาใช้ในหลักการปฏิบัติของเรา ก็คือ ถ้ารากฐานของเราไม่มั่นคง โอกาสที่จะชนะกิเลสของเราก็ไม่มี

จุดที่ควรจะให้มั่นคงมาก ๆ คือ ศีลและสมาธิ ถ้าศีลและสมาธิไม่ทรงตัว โอกาสที่จะใช้ปัญญาไปปราบกิเลสก็ยาก

เราอย่าลืมว่า ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ บรรดาพราหมณ์ต่าง ๆ เขาทรงสมาบัติ ๘ กันเป็นปกติ แม้กระทั่งพระพุทธเจ้าก็ยังต้องไปศึกษาจากสำนักของอาฬารดาบสและอุทกดาบส จนกระทั่งได้สมาบัติ ๘ แล้วจึงพิจารณาเห็นว่าไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ และไปแสวงหาทางพ้นทุกข์เองนานถึง ๖ ปี กว่าจะบรรลุมรรคผล

ดังนั้น...ถ้าพื้นฐานไม่มั่นคง โอกาสที่เราจะจะต่อยอดพัฒนา จนกระทั่งกลายเป็นปัญญาในการตัดกิเลสก็ยาก

ขณะเดียวกัน..เราจะคิดว่าพื้นฐานศีลและสมาธิมั่นคงแล้ว จะสามารถช่วยในการตัดกิเลสได้ ก็ยังไม่ใช่..เพราะถ้าขาดตัวปัญญา จะเป็นเหมือนอาจารย์ต่าง ๆ ในสมัยโบราณ ไปไม่รอด ติดอยู่แค่พรหม ดังนั้น..ให้ทุกคนเร่งสร้างพื้นฐานของตัวเองให้มั่นคงไว้ก่อน"

เถรี 12-10-2010 00:27

ถาม : ตอนนี้ลูกปฏิบัติสติปัฏฐานสี่แบบยุบหนอพองหนอ ลูกมีโอกาสอ่านหนังสือ เจอที่ท่านบอกว่าให้เอาจิตจับที่พระนิพพานเป็นหลัก อันไหนควรจะให้ความสำคัญสูงสุดกว่ากันคะ ?
ตอบ : ขึ้นอยู่กับวิธีการที่เราทำ ถ้าเราทำมาทางยุบหนอพองหนอ เราก็ต้องกำหนดรู้ปัจจุบันไปด้วย แต่ให้อธิษฐานตั้งใจว่า ถ้าตายเราขอไปพระนิพพานเพิ่มเข้าไปหน่อย ของเก่าก็ใช้ได้อยู่แล้ว แต่ว่าเพิ่มต่อไปนิด

ถาม : หนูอ่านในเว็บเจอ ที่ท่านเมตตาสอนว่า ให้กำหนดจิตส่วนหนึ่งแบ่งเกาะอยู่ที่พระนิพพาน
ตอบ : ก็บอกแล้วว่าเป็นคนละวิธีกัน ขึ้นอยู่กับว่าเราถนัดวิธีไหน ถ้าอย่างพวกนี้ (ชี้ไปที่คนในบ้านอนุสาวรีย์) เขามาทางด้านนี้นานแล้ว เขาจะสามารถปฏิบัติตามนั้นได้เลย

แต่เราต้องไปกำหนดพองยุบ กำหนดรู้อยู่กับอารมณ์ปัจจุบัน นั่นเป็นคนละส่วนกัน แต่จะเรียกว่าส่วนเดียวกันก็ได้ แต่เราเปลี่ยนจากการรู้ปัจจุบันไปรู้นิพพานแทน แต่ถ้าไม่เคยชินเดี๋ยวเราก็จะไปกำหนดรู้หนอ ๆ แล้วนิพพานก็จะหล่นหายไปอีก


ถาม : แล้วถ้าหนูจะมาฝึกแนวนี้
ตอบ : เคยถนัดแบบไหนให้ทำแบบเดิมจ้ะ เพียงแต่เราตั้งใจว่า การปฏิบัติของเราทั้งหมดนี้ อานิสงส์ที่ต้องการทั้งหมดคือพระนิพพาน ถ้าหากเราตายไปเมื่อไร เราขอไปพระนิพพานแห่งเดียว ให้ปิดท้ายอย่างนี้ไว้

ไม่อย่างนั้นสิ่งที่เราทำมาชำนาญแล้ว เมื่อเราไปเปลี่ยนเอาของใหม่ จิตใจเรายังไม่ยอมรับ เราเคยพองหนอยุบหนอ เราก็พองยุบไป เพียงแต่ว่าตบท้ายเกาะพระนิพพานเอาไว้ด้วย


ถาม : ที่ท่านบอกว่าให้รู้พระนิพพาน ให้รู้อย่างไรคะ ?
ตอบ : พวกนี้ส่วนใหญ่เขาเคยฝึกมโนมยิทธิมา เขาจะสามารถรู้เห็นพระนิพพานได้จ้ะ ในเมื่อรู้เห็นได้ก็กำหนดใจเกาะพระนิพพานได้

เรื่องของการฝึกจริง ๆ แล้ว ไม่ได้ขัดกันหรอกจ้ะ เพียงแต่ว่าเราถนัดอย่างไหน ถ้าหากว่าไปเปลี่ยนใหม่ เท่ากับเริ่มต้นใหม่ ความเคยชินเดิม ๆ อาจจะทำให้ใจของเราไม่ยอมรับแล้วก็ไปได้ช้า ก็เหลืออยู่อย่างเดียวว่า เอาของเดิมของเราแล้วไปต่อท้ายด้วยพระนิพพาน

เถรี 12-10-2010 00:38

ถาม : ถ้าหนูจะเริ่มมาฝึกแนวนี้ ไม่เข้าใจว่าจะต้องแบ่งความรู้สึกอย่างไร ?
ตอบ : เหมือนกับว่าตอนนี้เรานั่งคุยอยู่ที่นี่ แล้วแบ่งความรู้สึกส่วนหนึ่งนึกถึงบ้านของเราไปพร้อม ๆ กัน ขณะที่คุยก็ให้รู้เรื่องด้วยและความรู้สึกที่เกาะบ้านก็ให้ชัดเจนด้วย จะเป็นในลักษณะอย่างนั้น

ทำสองอย่างไปพร้อมกัน เพียงแต่เราเปลี่ยนจากบ้านที่เรารู้จักมาเป็นภาพพระหรือเป็นพระนิพพาน ดังนั้น..ไม่ว่าเราจะ ยืน เดิน นั่ง นอน ดื่มกิน คิด พูด ทำ อะไรก็ตาม ให้อีกใจหนึ่งของเราแบ่งเกาะพระนิพพาน หรือเกาะภาพพระไว้เสมอ

ไม่ต้องชัดเจนหรอกจ้ะ แค่นึกถึงได้ก็ใช้ได้ พอทำไปนาน ๆ เดี๋ยวก็จะค่อย ๆ ชัดขึ้นมาเอง

ถาม : ถ้าอย่างนั้นหนูกลับไปพองยุบ แต่ก็แบ่งใจ
ตอบ : ถ้ายังไม่ชำนาญเดี๋ยวได้ตีกันตาย พอเราไปส่งอารมณ์อาจารย์ก็จะบอกว่าไม่ใช่ ๆ ให้ทิ้งซะ..!

ถาม : ถ้าอย่างนั้น อารมณ์ที่เราไม่ได้จับพองยุบ ก็ไปจับตรงนั้นส่วนหนึ่งใช่ไหมคะ ?
ตอบ : ถนัดอันไหนทำอย่างนั้นจ้ะ เพียงแต่เพิ่มขึ้นมาหน่อย ปัจจุบันขณะของเราก็คือปัจจุบันที่เกาะพระนิพพานด้วย

เถรี 12-10-2010 09:41

ถาม : บางทีเราไปจับเวทนาที่ปวดมาก ๆ ก็ไม่ไหวค่ะ
ตอบ : จริง ๆ แล้วอยากจะบอกว่า สายพองหนอยุบหนอนั้น หลักการนั้นใช้ได้ แต่ตอนปฏิบัติไปกลับข้างกัน

อาตมาได้เขียนหนังสือไว้เล่มหนึ่ง ชื่อว่า "เมื่อข้าพเจ้าปฏิบัติสติปัฏฐานแบบพองหนอยุบหนอ" ซึ่งตอนนี้ยังออกไม่ได้ เพราะยังเป็นลูกศิษย์ที่ มจร. อยู่ ทางมหาวิทยาลัยเขาให้ปฏิบัติตามสายนี้ ถ้าหนังสือเล่มนี้ออกมา เท่ากับว่าไปโยนระเบิดใส่เขา..!

ในสายยุบหนอพองหนอ ท่านพูดถึงเรื่องการปรับอินทรีย์ ๕ ให้เสมอกัน อินทรีย์ ๕ นั้น ก็คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ซึ่งตัวสมาธิเขาจะให้ใช้แค่อุปจารสมาธิหรือไม่ก็เป็นขณิกสมาธิเท่านั้น โดยที่บอกว่าต้องปรับให้เสมอกับวิริยะ ค่อยเป็นค่อยไปทีละส่วน ทีละเล็กทีละน้อย

เขาบอกว่าถ้าหากสมาธิมากเกินไปจะทำให้ขี้เกียจ ก็คือจะนิ่งไปเฉย ๆ แต่ตรงจุดนี้เขาไม่เข้าใจว่า สมาธิเป็นตัวระงับกายสังขารและรัก โลภ โกรธ หลง ได้ดีที่สุด

อาตมาเองนั่งทำสมาธิ แล้วไปส่งอารมณ์สอบกับท่านอาจารย์ประเสริฐ สุมงฺคโล วัดเพลงวิปัสสนา ท่านอาจารย์ถามว่ามีเวทนาไหม ? อาตมาบอกว่าไม่มี แต่ท่านอาจารย์ไม่เชื่อ สั่งให้อาตมานั่งให้ดูเดี๋ยวนั้นเลย พออาตมานั่งไป ๔๕ นาที ท่านอาจารย์ก็เรียก พอท่านอาจารย์เรียกอาตมาลืมตาขึ้นมา ท่านก็สั่งให้ลุกเดินให้ดู

อาตมาก็เดินแล้วบอกกับท่านอาจารย์ไปว่า "ผมไม่เห็นมีเวทนาอะไรเลย" ท่านอาจารย์ถึงกับนั่งรำพึงว่า "เรื่องของสมาธิกำจัดเวทนาได้จริง ๆ" ท่านอาจารย์เข้าใจว่าอาตมานั่งนิ่งไปเฉย ๆ ไม่รับรู้อะไรข้างนอก แต่ท่านไม่รู้ว่าทุกอย่างที่คนอื่นทำตอนนั้น อาตมากำหนดรู้ได้ทั้งหมด

เถรี 12-10-2010 09:53

ก็เลยกลายเป็นจุดบอดตรงที่ว่า ในส่วนของกำลังใจ แทนที่จะต้องมากลัดกลุ้มในการต่อสู้กับเวทนา หรือไม่ก็อารมณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามา ทำไมเราไม่ใช้สมาธิระงับเสีย

ในเมื่อคุณต้องการให้อินทรีย์ ๕ เสมอกันตามที่พระพุทธเจ้าสอนมา คุณก็ตั้งสมาธิสักร้อยหนึ่งแล้วก็ดึงตัวอื่นให้เป็นร้อยตามกันขึ้นไปสิ
ไม่ใช่คุณกดสมาธิเหลือแค่ ๓ หรือ ๕ และกดตัวอื่นลงตามไปด้วย แล้วอีกกี่ชาติจึงจะรู้เรื่อง ทำแบบนี้มีหวังถูกกิเลสตีตายก่อน..!

ท่านใช้คำอธิบายว่า การปฏิบัติโดยขณิกสมาธิเหมือนกับเราค่อยสะสมงาทีละเมล็ด ๆ นานไปก็จะมีงาจำนวนมากพอที่จะคั้นเอาน้ำมันมาใช้การได้ อาตมาก็ได้แต่สงสัยว่าในเมื่อเรามีงาเป็นเกวียนแล้ว ทำไมต้องไปเก็บทีละเมล็ดด้วย ?

ตรงจุดนี้บอกให้ฟังไว้เป็นข้อมูลเฉย ๆ นะจ๊ะ ว่าหลักการถูก แต่ตอนปฏิบัติน่าจะผิด เพราะไปทำกลับข้างกัน เรื่องของวิปัสสนาและเรื่องของสมถะต้องไปพร้อมกัน ถ้าเอาเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง โอกาสที่จะเอาดีได้นั้นยากมาก

ถ้าเราเอาวิปัสสนาอย่างเดียว ก็เหมือนกับคนที่มีอาวุธคมกล้ามาก แต่แรงไม่พอที่จะยกอาวุธไปตัดไปฟันอะไรได้ ในขณะเดียวกัน ถ้าเราเอาสมถะอย่างเดียว เราก็เท่ากับเราเพาะกายจนร่างกายแข็งแรงชนิดแบกควายทั้งตัวได้ แต่เราดันไม่มีอาวุธที่จะเอาไปตัดไปฟันกิเลสอีก

เพราะฉะนั้น..ทั้งวิปัสสนาและสมถะ สองอย่างต้องทำไปด้วยกัน แต่ปัจจุบันสายพองหนอยุบหนอเขาเอาเฉพาะวิปัสสนาอย่างเดียว ในเมื่อเขาเอาวิปัสสนาอย่างเดียว กำลังจึงไม่พอที่จะตัดกิเลสเสียที

ตัวอย่างที่ท่านยกมาว่า หลวงปู่รูปหนึ่งปฏิบัติตั้งแต่เริ่มบวช ระยะเวลาผ่านไป ๖๐ ปี ท่านกำหนดพองหนอยุบหนอต่อเนื่องไป จนท่านอายุ ๘๐ ก็บรรลุมรรคผล

อาตมาคิดว่า ถ้าเราไม่มีเวลาถึง ๖๐ ปี ตายเสียก่อนแล้วเราจะได้บรรลุไหม ? เพราะฉะนั้น..ถึงแม้หนังสือเล่มนี้อาตมาจะเขียนในลักษณะเป็นกลาง คือ ตั้งเป็นข้อสังเกตเฉย ๆ ไม่ได้ระบุการถูกผิด แต่ก็แรงสำหรับการปฏิบัติสายนี้ ออกไปเมื่อไรยุทธจักรถล่มทลายแน่นอน จึงต้องเก็บเอาไว้ก่อน ทั้ง ๆ ที่เขียนเสร็จตั้งแต่ปี ๒๕๔๘

เถรี 12-10-2010 12:14

ถาม : ยังนั่งสมาธิไม่ค่อยดีครับ
ตอบ : ไม่ค่อยดีก็เพิ่มความพยายามเข้า สำคัญตรงที่ต้องเอาจริงเอาจัง ส่วนใหญ่แล้วพวกเราไม่ค่อยเอาจริงกัน พอลำบากก็ถอย โอกาสที่จะเอาดีจึงยาก การปฏิบัติต้องทุ่มเท ต้องแบ่งเวลาวันละอย่างน้อยเช้าชั่วโมง เย็นชั่วโมงหนึ่ง

ถาม : แล้วควรจะไปทางสายไหนดี ?
ตอบ : ขึ้นอยู่กับว่าคุณชอบทางไหน แต่พื้นฐานคืออานาปานสติ ลมหายใจเข้าออกจะทิ้งไม่ได้เลย หลังจากนั้นถ้าทรงตัวแล้วเราจะเลือกอะไรก็ได้

เถรี 12-10-2010 12:33

ในขณะที่สนทนาเรื่องหวย พระอาจารย์กล่าวให้ฟังว่า "อบายมุข แปลว่า ปากทางแห่งความเสื่อม ผู้แพ้ย่อมเสียดายทรัพย์ ผู้ชนะย่อมก่อเวร ย่อมทำให้ทรัพย์สินฉิบหาย ไม่มีผู้ใดให้ความเชื่อถือ"

ถาม : แต่เราไม่ได้ซื้อจนฉิบหาย เราซื้อแค่พอได้
ตอบ : โลภเจตนานำหน้ามาเลย..!

ถาม : หลวงพ่อวัดท่าซุงไม่ให้เล่นหวย แต่หลวงพ่อเองชอบให้หวย ?
ตอบ : หลวงพ่อท่านเคยเล่นหวยครั้งเดียวในชีวิตและถูกรางวัลที่หนึ่งด้วย แล้วท่านก็ให้คนอื่นไปเลย ท่านต้องการแค่รู้ว่า สิ่งที่หลวงปู่ปานว่ามาเป็นความจริงหรือเปล่า ?

หลวงพ่อท่านฝันว่าตกส้วมหลุมจมมิดหัว ท่านจึงเล่าถวายให้หลวงปู่ปานฟังว่าดีร้ายประการใด หลวงปู่ปานบอกว่า จะถูกหวยรางวัลที่หนึ่ง ท่านบอกว่า คนที่ฝันว่าตกส้วมหลุมจมมิดหัว หรือฝันว่าโดนเขาฟันคอขาด แปลว่า จะถูกรางวัลที่หนึ่ง

หลวงพ่อท่านถวายการรับใช้หลวงปู่ปานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ขออนุญาตลามากรุงเทพฯ นั่งเรือมาขึ้นที่ท่าเตียน มาซื้อหวย

สมัยนั้นหวยใบละบาท ถ้าขายไม่หมดแต่เราซื้อแล้วถูก เขาก็จะคิดให้ตามเปอร์เซ็นต์ ไม่เหมือนกับสมัยนี้ที่เขากำหนดตายตัวว่ารางวัลเท่านี้ได้เงินเท่านี้ อีกอย่างสมัยก่อนคนซื้อต้องเซ็นชื่อลงต้นขั้วด้วย แล้วเขาจะมีชื่อที่เป็นรหัสที่ตัวเองรู้อยู่คนเดียว อาจจะเป็นชื่อ หนุ่มอยุธยา หรือ สาวผักไห่ เป็นต้น

หลวงพ่อท่านบอกว่า สมัยนั้นท่านมีเงินติดย่ามอยู่สองร้อยบาท อาตมาลองคำนวณดูแล้วเท่ากับเงินแปดแสนสมัยนี้ ปรากฏว่า ท่านถูกรางวัลที่ ๑ จริง ๆ ได้มาแปดพันบาท ท่านก็เลยยกให้คนอื่นไป

หลวงปู่ปานถามว่า "ทำไมไม่เอาวะ..!" หลวงพ่อบอกว่า "ไอ้เงินระยำจากการพนัน ผมไม่ต้องการ"

เถรี 12-10-2010 19:03

สำหรับคนอื่นเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่อาตมาแล้ว..ถ้าฝันว่าจับปลาได้ มักจะได้เงินทุกครั้ง จับปลาได้มากก็ได้เงินมาก จับปลาได้น้อยก็ได้เงินน้อย แต่ต้องได้ทุกครั้ง

มีเรื่องที่ขำ ๆ อยู่ก็คือ ตอนอยู่พม่าฝันว่าเพื่อนตกปลา แล้วปลาหลุดจากเบ็ดตกน้ำไป อาตมาก็ตามไปตะครุบเอาไว้ ปรากฏว่าได้เงินมาจริง ๆ เหมือนกัน

เรื่องพวกนี้ต้องช่างสังเกต แบบเดียวกับหลวงปู่เทสก์ หลวงปู่ท่านฝันว่าฟันหลุดเมื่อไรญาติตายทุกที ท่านเล่าให้ฟังเองเลยนะ ก็เลยกลายเป็นเรื่องเฉพาะตัวที่เราต้องสังเกตเอาเองว่าเกิดอะไรขึ้น

เพราะว่าความฝันมีทั้ง ธาตุวิปริต กรรมนิมิต จิตนิวรณ์ เทพสังหรณ์

๑) ธาตุวิปริต กินมาก ไฟธาตุกำเริบ จึงฝันเลอะเทอะ
๒) กรรมนิมิต ความดีความชั่วของเราแสดงเหตุให้รู้ ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
๓) จิตนิวรณ์ เก็บความฟุ้งซ่านตอนกลางวันไปฝันตอนกลางคืน
๔) เทพสังหรณ์ เทวดาท่านสงเคราะห์ให้รู้

ส่วนใหญ่ตำราท่านบอกว่าความฝันที่แม่นยำ คือ เทพสังหรณ์ ให้สังเกตดู..ถ้าเป็นความฝันประมาณตีสองไปแล้ว จิตใจของคนที่วุ่นวายมาตลอดทั้งวัน พอถึงเวลาเริ่มสงบลง ตอนนั้นมีความสะอาดพอที่จะรับรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ ถ้ามีอะไรที่ควรแก่การสงเคราะห์ เทวดาท่านก็จะสอดแทรกเข้ามาให้เสมอ จึงได้เรียกว่าเทพสังหรณ์

กำลังใจของเราจริง ๆ ก็เป็นอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า กลางคืนเป็นควัน กลางวันเป็นเปลว กลางคืนก็ฟุ้งซ่านคิดไปเรื่อย จะทำนั่นทำนี่ กลางวันก็ลุยกับภาระเต็มที่ กว่าจิตที่นอนมาทั้งคืนจะสงบได้ก็ใกล้สว่าง

ถ้าว่ากันตามหลักวิทยาศาสตร์ ความฝันเป็นกลไกธรรมชาติที่ให้เราได้รับการผ่อนคลาย ไม่อย่างนั้นถ้าไม่มีการผ่อนคลายเลย เดี๋ยวเครียดตาย..!

เถรี 12-10-2010 19:08

พระอาจารย์กล่าวถึงครูบาทางภาคเหนือให้ฟังว่า "ถ้าจำไม่ผิด น่าจะเป็น หนังสือศิลปะวัฒนธรรม เขาขึ้นปกว่า ครูบาบ่มแก๊ส

สมัยก่อน คำว่า "ครูบา" หมายถึงพระเถระอาวุโสที่ทรงคุณความดีอย่างสูง เป็นที่เคารพของคนทั้งบ้านทั้งเมือง

พอรุ่นหลัง ๆ ตั้งแต่ครูบาเทือง ครูบาบุญชุ่มขึ้นมา เป็นที่เคารพนับถือตั้งแต่อายุน้อย ๆ กลายเป็นรูปแบบครูบารุ่นใหม่ขึ้นมา เขาก็เลยใช้คำว่า "ครูบาบ่มแก๊ส" คือ สุกไม่ทันก็เลยต้องบ่มด้วยแก๊ส

แต่ถ้าจะเอาคำว่า "ครูบา" ตามความหมายแบบโบราณ ก็จะขาดช่วงไปเลย คำว่าขาดช่วงไป คือ หาบุคคลที่มีคุณความดีความงาม ระดับเดียวกับหลวงปู่หลวงพ่อครูบาในอดีตนั้นยังไม่ได้ ตั้งแต่รุ่นครูบาอิน วัดฟ้าหลั่ง มรณภาพไปแล้ว รุ่นหลัง ๆ ไม่ได้อย่างนั้น จึงต้องเป็น "ครูบาบ่มแก๊ส" ไปก่อน

แต่ดีใจว่า "ครูบาบ่มแก๊ส" ตามที่เขาวิพากษ์วิจารณ์นั้นมีเยอะ รุ่นนี้ถ้าสามารถรักษาตัวรอดได้ เป็นพระเถระสัก ๒๐ พรรษาขึ้นไป วงการสงฆ์ของภาคเหนือจะมั่นคงเป็นหลักเป็นฐาน เพราะท่านเริ่มเป็นที่เคารพนับถือของคนอื่นตั้งแต่พรรษายังน้อย

โดยเฉพาะทางเหนือกับพม่า ในเรื่องของศาสนามาแนวเดียวกัน ก็คือ เคารพศรัทธาบุคคลตั้งแต่บวชเป็นเณร บรรดาครูบาอายุน้อย ๆ มักบวชตั้งแต่ยังเป็นเณร

พอไปเจอหนังสือระดับนั้นกระทุ้งเข้า ก็แปลกนะ...เหมือนกับยิ่งตียิ่งดัง..!"

เถรี 12-10-2010 22:46

"ตอนนี้รุ่นของครูบาเทือง ครูบาบุญชุ่ม ก็ถือว่าเริ่มอาวุโสแล้ว เพราะอายุกาลเข้าระดับ ๔๐ เศษ ๆ แล้ว รอบรรดาท่านรุ่นหลังทั้งหลายเข้าสู่ ๔๐ กว่าพร้อม ๆ กัน วงการสงฆ์ทางเหนือก็จะมั่นคง

ปัจจุบันนี้ในสายตาของพระเณรด้วยกัน วงการสงฆ์ภาคเหนือตกต่ำมาก ตกต่ำตรงที่มีบรรดาพระตุ๊ดเณรแต๋วเยอะเป็นพิเศษ ไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นเพราะอะไร อาจจะเป็นเพราะว่าท่านทั้งหลายเหล่านี้มีมากเป็นปกติอยู่แล้ว

พอพวกเขาเข้าไปบวช ในความรู้สึกของฆราวาสไม่ค่อยรู้สึกเท่าไร แต่ในวงการสงฆ์สัมผัสใกล้ชิดกว่า จึงรู้สึกว่าวงการสงฆ์ของภาคเหนือในปัจจุบัน ถ้าไม่ได้บรรดาครูบาบ่มแก๊สที่เขาเสียดสีกัน คอยค้ำจุนเอาไว้บ้าง จะเละกว่านี้อีกเยอะ

พูดถึงครูบาบ่มแก๊ส ทำให้นึกถึงท่านโกณฑัญญะพราหมณ์ บรรดาพราหมณ์ทั้ง ๑๐๘ ที่ได้รับเชิญเข้าไปเพื่อทำนายมหาปุริสลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะนั้น ท่านโกณฑัญญะพราหมณ์อายุน้อยที่สุด

สมัยก่อนเขามักใช้คำว่า จบไตรเพทตอนอายุ ๑๖ ตีเสียว่าตอนนั้นท่านโกณฑัญญะพราหมณ์อายุ ๑๖ แต่ความสามารถของท่านเกินอายุ เราจะเห็นว่าสังคมของฮินดูหรืออินเดียโบราณ เขาเชื่อความสามารถของคน ไม่ได้เชื่อความอาวุโสอย่างเดียว"


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 09:19


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว