กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เคล็ดวิชาต่าง ๆ (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=11)
-   -   ช่างสิบหมู่ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=287)

วาโยรัตนะ 23-03-2009 16:18

ช่างสิบหมู่
 
สำนักช่างสิบหมู่

ช่างสิบหมู่ เป็นชื่อของกลุ่มงานที่รวบรวมช่างต่าง ๆ เอาไว้อยู่ด้วยกัน ๑๐ กลุ่มหรือหมู่ช่างดังกล่าวเป็นช่างฝีมือของไทยที่มีลักษณะหน้าที่การทำงานต่างกัน ช่างสิบหมู่นั้นเข้าใจว่ามีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแต่ไม่มีการบันทึกเป็นหลักฐานจนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นจึงได้มีการจัดช่างเป็นหมวดหมู่ตามลักษณะงานอย่างเป็นกิจจะลักษณะ มีการจัดตั้งกรมช่างสิบหมู่ขึ้นซึ่งต่อมาในปัจจุบันคือสำนักช่างสิบหมู่อยู่ในสังกัดกรมศิลปากร


"ช่าง"ในสมัยก่อนนี้จะต้องเป็นทั้งผู้คิดและผู้ปฏิบัติด้วยอยู่ในคนคนเดียวกันจึงต้องเป็นคนที่มีพรสวรรค์และจินตนาการที่ลึกซึ้งตลอดจนฝีมือที่ละเอียดประณีตบรรจง และที่สำคัญจะต้องมีใจรักในงานเป็นอย่างยิ่ง ช่างทั้ง ๑๐ หมู่นี้จะเป็นช่างหลวงและทำงานสนองพระราชประสงค์ หรือพระบรมราชโองการของพระเจ้าแผ่นดิน

ช่าง ๑๐ หมู่ประกอบด้วย

๑. หมู่ช่างเขียน ซึ่งเป็นงานแม่บทในกระบวนช่างทั้งหลายเพราะไม่ว่าจะเป็นงานช่างใดก็ตามจะต้องอาศัย การเขียน การวาดเป็นแบบก่อนเสมอ ช่างในหมู่นี้จึงประกอบด้วย ช่างเขียน ช่างปิดทอง ช่างลงรัก ช่างแกะ ช่างปั้น ช่างหุ่น และอื่น ๆ

๒. หมู่ช่างแกะ หรือที่ปัจจุบันเรียกว่าเป็นช่างแกะสลัก หมู่ของช่างแกะจะประกอบด้วยช่างแกะตรา ช่างแกะลาย ช่างแกะพระ ช่างแกะภาพ ทั้งยังหมายรวมไปถึงช่างเงินช่างทองและช่างเพชรพลอยอีกด้วย

๓. หมู่ช่างหุ่น " หุ่น " ในที่นี้หมายถึง "รูปร่าง" ช่างหุ่นจึงเป็นช่างที่ทำสร้างให้เป็นตัวหรือเป็นรูปร่างขึ้นมา หมู่ของช่างหุ่นจึงประกอบไปด้วย ช่างไม้ ช่างไม้สูง ช่างเลื่อย ช่างบากไม้ ช่างทำหุ่นรูปคน / รูปสัตว์ / หัวโขน ช่างเขียน

๔.หมู่ช่างปั้น ช่างปั้นจะมีความสัมพันธ์กับช่างปูนช่างหล่อเป็นอย่างมาก และผลงานช่างปั้นก็มักจะออกมาในรูปของผลงานของช่างทั้ง ๒ หมู่ของช่างปั้นจึงประกอบไปด้วย ช่างขี้ผึ้ง ช่างปูน ช่างขึ้นรูป และช่างหุ่น

๕. หมู่ช่างปูน ลักษณะงานของช่างปูนจะมีทั้งงานซ่อมและงานสร้างช่างปูนจะแบ่งออกเป็น พวกปูนก่อ พวกปูนฉาบ และพวกปูนปั้นซึ่งพวกหลังสุดคือพวกปูนปั้นนี้จะต้องมีความประณีตเป็นพิเศษ กับจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์จึงจะสามารถผลิตผลงานออกมางดงามและคงทน ช่างที่รวมอยู่ในหมู่ช่างปูนนี้จะประกอบไปด้วย ช่างปั้น ช่างปูนก่อ ช่างปูนฉาบ และช่างปูนปั้น

๖.หมู่ช่างรัก ช่างรักนี้มีมานานตั้งแต่ปลายสมัยสุโขทัยแล้วงานศิลปะไทยหลายแขนงที่จะต้องมี การลงรักปิดทองเป็นขั้นสุดท้าย ช่างที่อยู่ในหมู่ของช่างรัก ประกอบด้วย ช่างลงรัก ช่างปิดทอง ช่างประดับกระจกช่างมุก และช่างเครื่องเขิน

๗.หมู่ช่างบุ "บุ" หมายถึงการตีแผ่ให้เป็นแผ่นแบน ๆ ซึ่งอาจจะแบนออกมาเป็นรูปต่าง ๆ หรือเป็นแผ่นแบนธรรมดาก็ได้ งานของช่างจึงเกี่ยวพันโดยตรงกันกับงานโลหะทุกชนิด (เงิน นาก ทองเหลือง ทองแดง และทองคำ) จนบางครั้งเรียกกันว่าเป็นช่างโลหะไปเลย

๘.หมู่ช่างกลึง งานของช่างในหมู่ช่างกลึงนี้นอกจากจะมีการกลึงให้กลมและผิวเรียบแล้ว ยังรวมไปถึงการประดับตกแต่งสิ่งที่กลึงแล้วอีกด้วยเช่น การปิดทอง การประดับกระจก การแกะสลัก ช่างในหมู่ของช่างกลึงจึงประกอบไปด้วย ช่างไม้ ช่างเขียน ช่างแกะงา (ช้าง) ช่างทำกล่อง ช่างลงรัก ช่างปิดทอง ช่างประดับกระจก

๙.หมู่ช่างสลัก งานของช่างสลักนี้จะเน้นไปในเรื่องของการสลักเสลาให้สวยงามจึงต้องมีความประณีตบรรจงเป็นพิเศษ วัสดุที่ใช้ในการสลักอาจเป็นของแข็ง เช่น ไม้ กระดาษ และของอ่อนที่ เรียกกันว่า เครื่องสด เช่น หยวกกล้วย ช่างของหมู่ช่างสลัก ประกอบด้วย ช่างฉลุ ช่างกระดาษ ช่างหยวก ช่างเครื่องสด

๑๐.หมู่ช่างหล่อ ด้วยประเทศไทยมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ งานหล่อของไทยจึงเน้นหนักไปในการหล่อพระพุทธรูปเป็นส่วนใหญ่ หมู่ของช่างหล่อ ประกอบด้วย ช่างหุ่นดิน ช่างขี้ผึ้ง ช่างผสมโลหะ และช่างหล่อโลหะ


ปัจจุบันงานช่างต่าง ๆ ยังคงมี ๑๐ หมู่ มีดังนี้

๑.ช่างเขียนภาพและลายไทย

๒.ช่างไม้แกะสลัก

๓.ช่างปิดทองประดับกระจก ประดับกระเบื้อง

๔.ช่างมุก

๕.ช่างปูนและช่างปั้นลายปูนสด

๖.ช่างลายรดน้ำและเครื่องเงิน

๗.ช่างหัวโขน

๘.ช่างเคลือบโลหะ

๙.ช่างปั้นหล่อ

๑๐.ช่างเขียนแบบพุทธศิลป์สถาปัตย์


สำนักช่างสิบหมู่ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมศิลปากรมีหน้าที่และความรับผิดชอบดังนี้

- ผดุงรักษา ฟื้นฟู และสืบทอดศิลปวิทยาการทางด้านช่างฝีมือ และเป็นศูนย์ข้อมูลด้านศิลปกรรมของชาติ

- ดำเนินการด้านช่างและงานศิลปะ ในการบูรณะซ่อมแซมเพื่อการอนุรักษ์โบราณสถานและงานศิลปกรรมที่มีคุณค่าของชาติ

- ศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนางานด้านช่างศิลปกรรมของชาติ

- สำรวจ ออกแบบ เขียนแบบ งานสถาปัตยกรรม วิศวกรรมภูมิสถาปัตยกรรม ประมาณราคากลาง ควบคุมและตรวจงานก่อสร้าง เพื่อการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมไทยประเพณี ไทยประยุกต์ และไทยร่วมสมัย การออกแบบตกแต่งภายในและศิลปสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ วัด สถาบัน องค์กร

- ดำเนินการสร้างสรรค์ งานจิตรกรรม ประติมากรรม และงานช่างสิบหมู่ รวมทั้งงานศิลปประยุกต์ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ

- ควบคุม ดูแล บำรุง รักษา ซ่อมบูรณะ สนับสนุนการสร้างอนุสาวรีย์สำคัญของชาติและการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ

- เผยแพร่ สนับสนุน และส่งเสริมงานด้านช่างศิลปกรรมของชาติแก่สถานศึกษา ชุมชน สังคม

วาโยรัตนะ 23-03-2009 20:20

ช่างเขียน
ช่างเขียน คือบุคคลที่มีฝีมือและความสามารถกระทำการช่างในทางวาดเขียนและระบายสีให้เกิดเป็นลวดลาย หรือรูปภาพต่าง ๆ ได้อย่างงดงามเป็นที่พิศวงและเป็นสิ่งน่าพึงตาพอใจแก่ผู้ได้พบเห็น

ช่างเขียนแต่โบราณ หรือแต่ละพื้นถิ่นสยามประเทศได้มีคำเรียกต่างกันออกไป อาทิ ช่างแต้ม ช่างเขียนสี น้ำกาว ช่างเขียนลายรดน้ำ เป็นต้น
ในบรรดาช่างประเภทต่าง ๆ ในหมวดช่างสิบหมู่ด้วยกัน ช่างเขียนจัดว่าเป็นช่างที่มีความสำคัญยิ่งกว่าช่างหมู่ใด ๆ ทั้งนี้เนื่องจากการวาดเขียนและการเขียนระบายสีเป็นที่ยอมรับนับถือว่าเป็นสื่อที่มีศักยภาพยิ่งสำหรับถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ออกมาให้ปรากฏในลักษณะรูปธรรมที่ชัดเจน สามารถใช้เป็นต้นแบบนำไปสร้างสิ่งต่าง ๆ ได้ต้องตามความประสงค์หรือเป็นต้นแบบที่มีความสำเร็จและมีคุณค่าเฉพาะในตัวชิ้นงานนั้นโดยตรง ดังมีหลักฐาน เป็นที่ปรากฏโดยสำนวนภาษาในหมู่ช่างไทยแต่ก่อนพูดติดปากต่อ ๆ กันมาว่า
http://i113.photobucket.com/albums/n...and/csm004.jpg
"ช่างกลึงพึ่งช่างชัก ช่างสลักแบบอย่างพึ่งช่างเขียน ช่างติและช่างเตียน ดันตะบึงไม่พึ่งใคร"

อนึ่ง ช่างเขียนหรือสาระสำคัญของวิชาช่างเขียน ยังได้รับความนับถือว่าเป็นหลักใหญ่ที่มีความสำคัญกว่า วิชาการช่างศิลปแบบไทยประเพณีทั้งหลายดังจะเห็นได้ว่า ในโอกาสที่ประกอบการพิธีไหว้ครูช่างประจำปี และมี การรับผู้เข้ามามอบตัวเป็นศิษย์ใหม่ในสำนักช่างนั้น ๆ บุคคลผู้เป็นครูช่าง หัวหน้าสำนักช่าง หรือเจ้าพิธีไหว้ครูจะทำการ "ครอบ" หรือ "ประสิทธิประสาธน์" ให้ผู้ที่เข้าเป็นศิษย์ใหม่ให้เป็นผู้ได้รับวิชาและการฝึกหัดเป็นช่างต่อไปได้ ทำการ "ครอบ" แก่ศิษย์ใหม่เป็นปฐมก็คือวิชาช่างเขียน โดยผู้ครอบจับมือศิษย์ใหม่ให้เขียนลายหรือรูปภาพตามรอยเส้นลายมือของครูเป็นประเดิม
งานของช่างเขียน ซึ่งเป็นงานที่มีความสำคัญยิ่งในงานช่างสิบหมู่นั้น มีงานด้านการเขียนวาด เขียนระบายสี และเขียนน้ำยาชนิดต่าง ๆ อยู่หลายอย่างหลายชนิดที่นำมาลำดับสาระและอธิบายให้ทราบได้ ดังต่อไปนี้

งานเขียนระบายสีน้ำกาว

งานเขียนระบายสีน้ำกาว คือ งานเขียนระบายรูปภาพต่าง ๆ ด้วยสีฝุ่นสีต่าง ๆ ผสมกับน้ำกาวหรือยางไม้บาง ชนิดเพื่อให้สีจับติดพื้ที่ใช้รองรับสีนั้นอยู่ทนได้นาน ช่างเขียนรูปภาพแบบไทยประเพณีแต่กาลก่อนจึงเรียกว่า งานเขียนระบายสีน้ำกาว และเรียกรูปภาพหรือลวดลายซึ่งเขียนด้วยวิธีการเช่นนี้ว่า ภาพหรือลายสีน้ำกาว
อนึ่ง งานเขียนรูปภาพตามวิธีที่อ้างมานี้ ในชั้นหลังได้มีผู้เรียกว่าภาพเขียนสีฝุ่น ก็มี ทั้งนี้เนื่องมาแต่ "สี" ต่าง ๆ ที่ช่างเขียนภาพแบบไทยประเพณีใช้เขียนระบายรูปภาพนั้น ลักษณะเป็นผงหรือเป็นฝุ่น ก่อนที่จะนำมาผสมกับน้ำ กาวหรือยางไม้บางชนิดให้มีคุณสมบัติพร้อมใช้เขียนระบายรูปภาพ สีต่าง ๆ เหล่านี้ได้จากวัสดุที่เป็นสีต่างชนิดต่าง ประเภท คือ
สีประเภทที่ได้จากดิน ได้แก่ สีดินขาว สีดินเหลือง สีดินแดง
สีประเภทที่ได้จากพืช ได้แก่ สีเหลืองจากยางของต้นรง สีครามได้จากต้นคราม สีแดงชาดได้จากต้นชาด หรคุณ สีแดงจากเมล็ดในลูกคำเงาะ
สีประเภทที่ได้จากสัตว์ ได้แก่ สีดำจากถ่านงาช้าง
สีประเภทที่ได้จากสารประกอบ ได้แก่ สีขาวฝุ่นได้จากสารประกอบสังกะสี สีเขียวได้จากสารประกอบทอง แดง สีแดงแสดได้จากสารประกอบตะกั่ว สีแต่ละประเภทตามกล่าวนี้ ได้รับการเตรียมด้วยการป่นให้เป็นฝุ่นมีคุณลักษณะเป็นสี แต่ไม่มีคุณสมบัติในการจับติดพื้นที่จะใช้รองรับการเขียนระบาย ดังนี้สีแต่ละสีจึงต้องการสิ่งช่วยประสานสีให้จับติดพื้นที่ต้องการเขียนระบายนั้น สิ่งที่ว่านี้คือ กาวและยางไม้อย่างใดอย่างหนึ่ง ช่างเขียนรูปภาพแบบไทยประเพณีแต่สมัยโบราณนิยม ใช้ยางไม้ที่เก็บจากต้นมะขวิด นำมาละลายในน้ำร้อนให้เป็นน้ำยางเหลวและใสใช้ผสมสีฝุ่นสำหรับเขียนระบายรูป ภาพและลวดลาย สมัยหลังช่างเขียนเปลี่ยนไปนิยมใช้กาวชนิดหนึ่งเรียกว่า "กาวกระถิน" แทน เนื่องจากสามารถหาซื้อได้ง่ายกว่ากาวหรือยางไม้ ซึ่งช่างเขียนได้ใช้ผสมกับสีฝุ่นเพื่อใช้ระบายรูปภาพหรือลวดลาย บางทีเรียกว่า "น้ำยา"
งานเขียนรูปภาพแบบไทยประเพณี มีคตินิยมที่สำคัญประการหนึ่ง คือ นิยมใช้ทองคำเปลวปิดประกอบร่วมกับการเขียน เพื่อแสดงให้เห็นความสำคัญหรือแสดงคุณค่าขององค์ประกอบของรูปภาพหรือลวดลายตามความประสงค์ของช่างเขียน ซึ่งช่างเขียนได้ใช้ยางไม้ชนิดหนึ่ง คือ ยางสดที่กรีดและเก็บมาจากต้นมะเดื่อชุมพร ลักษณะเป็นน้ำยางสีขาว เหนียวพอสมควรใช้ทาลงบนพื้นบริเวณที่ต้องการจะปิดทองคำเปลวแต่เพียงบาง ๆ ผึ่งทิ้งไว้ให้ยางหมาดพอสมควร จึงปิดทองคำเปลวติดเข้ากับบริเวณที่ทายางไว้ ทองคำเปลวจะติดแนบกับพื้นถาวร
ในการปฏิบัติงานเขียนระบายรูปภาพ ข่างเขียนแต่กาลก่อนต้องเตรียมการจัดหาวัสดุ เตรียมทำเครื่องมือ สำหรับเขียนระบายรูปภาพด้วยตนเองทั้งสิ้น ทั้งนี้เนื่องด้วยไม่มีที่จะหาซื้อสี น้ำยา เครื่องมือ ฯลฯ ได้ง่ายดังเช่นในปัจจุบัน ช่างเขียนแต่ก่อนต้องเรียนรู้และฝึกหัดทำพู่กันด้วยขนหูวัว ทำแปรงสำหรับระบายสีขึ้นจากเปลือกต้นกระดัง งาและรากของต้นลำเจียก เป็นต้น และยังได้ใช้กะลามะพร้าวซีกที่เรียกว่า "กะลาตัวเมีย" คือกะลาซีกที่ไม่มีรู นำมาใส่สีแต่ละสีและผสมน้ำยาไว้พร้อมที่จะเขียนระบายรูปภาพ
งานเขียนระบายรูปภาพด้วยสีน้ำกาวหรือสีฝุ่นอาจทำลงบนพื้นได้หลายชนิดด้วยกัน คือพื้นฝาผนังถือปูนบน โครงสร้างก่อด้วยอิฐ พื้นผนังที่เป็นไม้ พื้นชนิดผ้า และพื้นชนิดกระดาษ
งานของช่างเขียนในขั้นปฏิบัติการเขียนระบายสีทำเป็นรูปภาพแบบไทยประเพณี ที่ได้ถือเป็นแบบแผนกันอยู่ ในหมู่ช่างเขียนมาแต่กาลก่อนอาจลำดับการปฏิบัติการเขียนระบายสีเป็นขั้นตอนต่อไปนี้

วาโยรัตนะ 23-03-2009 20:23

งานปฏิบัติการเขียนร่างภาพ จัดเป็นการปฏิบัติงานขั้นพื้นฐานของการเขียนระบายสีให้เป็นรูปภาพ ช่างเขียนแต่ก่อนร่างภาพขึ้นด้วยการใช้ "ถ่านไม้" ซึ่งทำด้วยต้นพริก เผาให้เป็นถ่านแท่งขนาดเสมอด้วยแท่งดินสอดำ ในปัจจุบันมักใช้ร่างภาพบนฝาผนัง บนพื้นไม้ และบนพื้นผ้า ส่วนการร่างภาพบนกระดาษจะใช้ดินสอโบราณชนิดหนึ่ง เรียกว่า "ดินสอแก้ว" ทำด้วยตะกั่วตีเป็นแท่งกลม ปลายทั้งสองทำให้เรียวแหลมใช้ร่างเส้นลงบนกระดาษจะปรากฏเป็นเส้นสีเทาอ่อน การร่างรูปภาพหรือลวดลายสำหรับเป็นเค้าโครงเพื่อจะได้เขียนระบายสีทับลงเป็นรูปภาพหรือลวดลายให้ชัดเจนและสวยงามนั้น มักร่างด้วยเส้นขึ้นเป็นรูปภาพหยาบ ๆ พอให้เป็นเค้ารูปพอเป็นกลุ่ม องค์ประกอบที่มีความสัมพันธ์กันพอประมาณยังไม่จำเป็นต้องเขียนส่วนย่อยส่วนละเอียดแต่อย่างใด
งานปฏิบัติการเขียนระบายสี การระบายสีหรือภาษาช่างเขียนเรียกว่า "ลงสี" ช่างเขียนมักลงสีบริเวณพื้นที่ส่วนที่เป็นฉากหลัง เช่น พื้นดินเขามอ ป่าไม้ ท้องทะเล ท้องฟ้า บ้านเมือง เสียก่อน จึงลงสีในส่วนที่เป็นรูปภาพคน ภาพสัตว์ ที่แสดงเรื่องราวต่าง ๆ อยู่บนฉากหลัง
เมื่องานระบายสีหรือลงสีทำเป็นรูปภาพชั้นต้นล่วงแล้ว งานของช่างเขียนขั้นถัดมาคือ งานปิดทองคำเปลว เพื่อประสงค์ในการเน้นความสำคัญของตัวภาพเด่น ๆ หรือส่วนประกอบร่วมตอนใดตอนหนึ่งเป็นต้นว่า เครื่องศิราภรณ์ เครื่องประดับร่างกาย ยานพาหนะ พระราชมณเฑียร ฯลฯ ให้ปรากฏโดดเด่นเป็นที่น่าสนใจยิ่ง

งานของช่างเขียนในขั้นหลังสุดที่จะต้องทำต่อไปจากการปิดทองคำเปลวเพื่อเสริมสร้างสิ่งน่าสนใจขึ้นสำหรับภาพเขียนคือ การเขียนส่วนย่อยและรายละเอียดในรูปภาพ ให้ครบถ้วนตามแบบแผนอันเป็นขนบนิยมในงานจิตรกรรมแบบไทยประเพณี ด้วย "เส้น" ที่มีขนาดความหนาบางต่างกัน คือ
เส้นที่มีขนาดหนา เรียกว่า เส้นกันหรือเส้นกาฬ ใช้สำหรับเขียนล้อมรูปนอกของรูปภาพต่าง ๆ หรือใช้เขียนกันพื้นที่ส่วนที่เป็นรูปภาพให้เห็นเป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากพื้นฉากหลัง
เส้นที่มีขนาดบาง เรียกว่า เส้นรูป ใช้สำหรับเขียนแสดงส่วนย่อยส่วนที่เป็นรายละเอียดในรูปภาพ
เส้นที่มีขนาดหนาบางไม่เท่ากัน เรียกว่า เส้นแร มีลักษณะพิเศษ คือโคนเส้นหนา ปลายเส้นบางและเรียวแหลม และเป็นเส้นสั้น ๆ ใช้เขียนแรแทนเงาเพื่อแสดงตำแหน่งของวัตถุที่วางซ้อนเหลื่อมกัน
นอกจากนี้ยังมีขั้นตอนเก็บงานในส่วนละเอียดนอกไปจากการใช้เส้นขนาดต่าง ๆ เขียนแสดงสาระสำคัญของรูปภาพ เช่น การเขียนโฉบ คือการระบายสีที่เป็นสีวรรณะอ่อน เช่น สีขาวระบายโฉบส่วนปลายของลายกระหนก การเขียนแร คือการระบายสีที่เป็นสีวรรณะแก่หรือสีคล้ำกว่าสีของส่วนพื้นเดิมที่จะระบายทับลง การเขียนแประ และการเขียนกระทุ้ง สำหรับภาพพุ่มต้นไม้ชนิดต่าง ๆ ตัวอย่างของงานเขียนภาพประเภทต่าง ๆ ที่ช่างเขียนแต่ก่อนได้ เขียนไว้เช่น
ภาพเขียนฝาผนังประจำพระอุโบสถ พระพุทธปรางค์ ศาลาการเปรียญ ศาลาราย
ภาพเขียนบนผืนผ้า ที่เรียกว่า ภาพพระบฎ
ภาพเขียนในสมุดไทย ที่เรียกว่า สมุดธาตุ มีภาพเขียนในหน้าสมุดซึ่งทำด้วยกระดาษข่อยบ้าง กระดาษสาบ้าง เป็นเรื่องไตรภูมิ เรื่องพระมาลัย
ภาพเขียนบนเครื่องกั้นบังตา ที่เรียกว่า ฉากตั้ง ฉากพับ ลับแล ซึ่งมักเขียนเป็นภาพจากวรรณคดีไทยเรื่องต่าง ๆ
ภาพเขียนประกอบตำราต่าง ๆ ซึ่งเขียนลงบนกระดาษสมุดไทย มีเป็นต้นว่า ภาพแผนที่ ภาพแบบอย่างสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ภาพประกอบตำราไม้ดัดและเขามอ ภาพประกอบตำราพิไชยสงคราม ฯลฯ
ภาพเขียนประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่งเขียนลงบนกระดาษบ้างบนไม้บ้าง หรือบนวัสดุอื่น ๆ เช่น ภาพเจว็ด ภาพเทวดานพเคราะห์ ภาพนางสงกรานต์ประจำแต่ละปี
ภาพเขียนเป็นแบบอย่างสำหรับใช้ทำสิ่งของต่าง ๆ เช่น แบบพระราชลัญจกร แบบดวงตราในราชการ แบบเครื่องยศ แบบเครื่องแบบข้าราชการ แบบเครื่องศาสตราวุธ
นอกจากงานหลัก ๆ ดังที่ได้กล่าวมานี้ ยังมีงานเขียนจิปาถะที่ต้องการใช้ฝีมือและความสามารถของช่างเขียน เป็นผู้ให้แบบอย่างอีกมิใช่น้อย อาทิ งานเขียนลายปักพัดยศ ลายปักเครื่องแต่งตัวของผู้แสดงโขนและละคร งานเขียนให้แบบสำหรับทำเครื่องประดับตกแต่งต่าง ๆ ซึ่งล้วนจะต้องอาศัยการเขียนขึ้นเป็นรูปเป็นภาพขึ้นก่อนจะนำ ไปทำการสร้างทำเป็นสิ่งนั้น สิ่งนี้ให้ต้องตามความประสงค์

วาโยรัตนะ 23-03-2009 20:24

งานเขียนน้ำยาปิดทองรดน้ำ

งานเขียนน้ำยาปิดทองรดน้ำ หรือบางแห่งเรียกอย่างสั้น ๆ ว่า "ปิดทองรดน้ำ" เป็นรูปภาพชนิดเอกรงค์ คือ มีลักษณะโดยรวมของรูปลักษณ์ที่ปรากฏเป็น "ลวดลาย" สีทองบนพื้นสีดำเสียเป็นส่วนมาก ที่เขียนเป็นภาพมนุษย์ หรือภาพสัตว์ในลักษณะงานตามกล่าวนี้มีเป็นส่วนน้อย แต่ก็แสดงรูปลักษณะทั้งนั้นเป็นสีทองเช่นกัน ลวดลายหรือ รูปภาพที่ทำให้สำเร็จในขั้นสุดท้ายด้วยการ "รดน้ำ" ชำระล้าง "น้ำยา" ซึ่งได้ดำเนินการเขียนตามกรรมวิธีเขียนน้ำยามาแต่ต้นให้น้ำยาหลุดถอนและคงเหลือแต่สีทองที่ต้องการให้เป็นลวดลายหรือรูปภาพบนพื้นนั้น อาศัยสาระของกระบวนการขั้นสุดท้ายของงานเขียนดังว่ามานี้ จึงมีชื่อเรียกเป็นอีกอย่างหนึ่งว่า "ลายรดน้ำ"


งานเขียนน้ำยาปิดทองรดน้ำตามกระบวนการเขียนที่เป็นขนบนิยมอย่างโบราณวิธี ประกอบด้วยวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ และกระบวนการเขียนทำให้เกิดเป็นลวดลาย หรือรูปภาพ มีดังต่อไปนี้

วัสดุที่เป็นปัจจัยสำคัญในการรองรับการเขียนน้ำยาปิดทองรดน้ำคือ "พื้น" สำหรับงานนี้อาจทำลงบนพื้นชนิดต่าง ๆ คือ พื้นไม้ พื้นผนังถือปูน พื้นโลหะ พื้นหนังสัตว์
วัสดุที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อมาคือยางรักหรือรักน้ำเกลี้ยง สมุก น้ำยาหรดาน และทองคำเปลว
ยางรักหรือรักน้ำเกลี้ยง คือยางจากไม้ต้นชื่อรัก หรือน้ำเกลี้ยง มีลักษณะเป็นยางเหนียว เมื่อแรกกรีดออกมาจากต้นเป็นสีนวล ภายหลังเป็นสีน้ำตาลหรือดำ มีคุณสมบัติสำหรับทารองพื้นผสมกับสมุกและสำหรับเช็ดเพื่อปิดทองคำเปลว
สมุก คือสิ่งที่ทำขึ้นเพื่อทารองพื้นหรือลงเป็นพื้นขึ้นไว้ชั้นหนึ่ง เพื่อช่วยทำให้ผิวหน้าของพื้นที่รองรับอยู่ข้างใต้มีคุณสมบัติดีขึ้น เฉพาะกรณีงานเขียนน้ำยาปิดทองรดน้ำมักใช้สมุกที่ประกอบด้วย ถ่านใบตองแห้งป่นผสมกับ ยางรัก กวนให้เข้ากันทำเป็นสมุก ใช้ทาลงพื้นบนพื้นไม้ พื้นผนังถือปูน เป็นต้น
น้ำยาหรดาน คือน้ำที่ผสมกับสิ่งที่มีคุณสมบัติสำหรับเขียนลวดลายหรือรูปภาพ เฉพาะกรณีงานเขียนน้ำยาปิดทองรดน้ำ น้ำยาหรดานเป็นวัสดุปัจจัยสำคัญยิ่งในขั้นดำเนินการเขียน
ทองคำเปลว คือทองคำแท้ที่แผ่ให้บางที่สุด ตัดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยม เป็นวัสดุสำคัญสำหรับทำให้เกิดเป็นลวดลาย หรือรูปภาพสีทองบนพื้นรักสีดำหรือสีแดง
ในงานเขียนน้ำยาปิดทอง ยังมีอุปกรณ์บางชนิดที่เป็นส่วนประกอบที่จำเป็นคือ ดินสอพอง สำหรับขัดพื้นเก็บคราบน้ำมัน และใช้ตบแบบร่างหรือแบบโรย ฝุ่นถ่านไม้ ใช้ขัดเก็บรอยบนพื้นรัก และผงดินเผา ให้ขัดชักเงาพื้นรัก นอกจากนี้ก็มีเครื่องมือสำหรับงานนี้คือ ไม้พายสำหรับผสมสมุกหรือทาสมุก แปรงสำหรับทารักน้ำเกลี้ยง แปรงปัดทอง สำหรับปัดหน้าทอง พู่กันสำหรับเขียนเส้นและถมพื้น ลูกประคบทองสำหรับกวดหน้าทอง ลูกประคบฝุ่น สำหรับตบแบบร่าง หรือแบบโรยเพื่อถ่ายแบบโกร่งใส่ น้ำยาหรดาน ใช้สำหรับใส่และผสมน้ำยาหรดาน สะพานรองมือใช้สำหรับวางพาดรองมือขณะทำการเขียนน้ำยาหรดาน หินหนองแขมหรือหินฟองน้ำ ใช้สำหรับขัด ปอกพื้นรักสมุก หินลับมีดโกน ใช้สำหรับขัดผิวรัก กระดาษ สำหรับเขียนแบบร่างและทำแบบโรย เข็มสำหรับเจาะ ปรุ ตามเส้นร่างบนกระดาษร่างเพื่อทำเป็นแบบโรย

กระบวนการหรือขั้นตอนงานเขียนน้ำยาปิดทองรดน้ำ

การเตรียมพื้นสำหรับงานเขียนน้ำยาปิดทองรถน้ำ ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะพื้นชนิดไม้แต่เพียงชนิดเดียว ทั้งนี้ เพราะพื้นชนิดไม้เป็นที่นิยมมากกว่าพื้นชนิดอื่น
ไม้ ที่ได้นำมาทำเป็นบานประตูบานหน้าต่าง ฝาตู้ ฝาหีบพระธรรม ฉากบังตา ใบประกับหน้าคัมภีร์ ฯลฯ เพื่อเขียนน้ำยารดน้ำปิดทองนี้ ต้องเป็นไม้เนื้อแห้งสนิท ได้รับการปรับพื้นหน้าให้ราบและขัดผิวพื้นให้เรียบเกลี้ยงไว้เสียชั้นหนึ่งก่อน
การเตรียมพื้นขั้นแรก คือการลงรักหรือทารักน้ำเกลี้ยงลงบนพื้นไม้ซึ่งได้ขัดผิวเตรียมไว้แต่ต้นนั้น ขั้นที่หนึ่ง ด้วยการใช้แปรงแตะรักน้ำเกลี้ยงทาพื้นแต่เพียงบาง ๆ ทาให้ทั่วและให้บางเสมอกัน แล้วบ่มรักที่ทาพื้นไว้นี้ให้แห้ง
งานเตรียมพื้นขั้นที่สอง คือ การลงสมุกหรือทาสมุกลงพื้นอีกชั้นหนึ่งตามอย่างโบราณวิธี ใช้ผงถ่านใบ ตองแห้ง หรือผงดินสอพองกับรักน้ำเกลี้ยง ผสมเข้าด้วยกันกวนให้เหนียวพอสมควร นำมาทาลงบนพื้นซึ่งทารักน้ำเกลี้ยงเตรียมไว้แล้วนั้น เมื่อทาสมุกหรือลงพื้นด้วยสมุกเต็มหน้าพื้นและกวดผิวให้เรียบเสมอกันแล้ว จึงบ่มสมุกให้แห้งโดยใช้เวลา ๒-๓ วัน

วาโยรัตนะ 23-03-2009 20:27

งานขั้นที่สาม นำเอาพื้นซึ่งทาสมุกและบ่มแห้งแล้วมาขัดปราบหน้าสมุกให้เรียบเสมอกันดี จึงชะล้างผิวพื้นให้หมดจดและสะอาด เช็ดน้ำแล้วผึ่งให้แห้ง
งานขั้นที่สี่ คือการลงรักหรือทารักน้ำเกลี้ยงลงเป็นพื้นให้ทั่วหน้าพื้นและเสมอกัน กวดหน้ารักให้เรียบเกลี้ยง จึงบ่มรักซึ่งทาลงเป็นพื้นนี้ให้แห้ง แล้วนำพื้นนี้กลับมาทารักน้ำเกลี้ยงทับอีกสองครั้งโดยต้องบ่มให้แห้งสนิทเสียก่อน ในแต่ละครั้ง
งานขั้นที่ห้า คือการปอกหน้ารัก งานขั้นนี้เป็นการนำเอาพื้นซึ่งทาหรือลงรักน้ำเกลี้ยงไว้ถึงสามขั้นนั้นมาขัด ปอกหน้ารักด้วยหินฟองน้ำ ขัดปอกผิวรักซึ่งทาไว้ให้เรียบเกลี้ยง จึงชะล้างให้หมดคราบขี้รักและสะอาด จึงเช็ดน้ำ แล้วผึ่งให้แห้ง
งานขั้นที่หก นำเอาพื้นที่ได้ปอกหน้ารักเรียบร้อยแล้ว มาทาหรือลงรักน้ำเกลี้ยงด้วยแปรงจีนให้หนาขึ้นพอสมควร และต้องให้เสมอกันทั่วพื้น จึงบ่มรักให้แห้งสนิท
งานขั้นที่เจ็ด ปอกผิวและเก็บรอย โดยการนำเอาพื้นซึ่งทารักบ่มรักแห้งสนิทแล้วปอกผิว ด้วยการใช้ผงถ่านไม้ผสมน้ำเล็กน้อยขัดแต่เบา ๆ มือ ชะล้างคราบขี้รักออกให้หมดและสะอาด เช็ดและผึ่งให้แห้งจึงทำการเก็บรอยต่อไปจนไม่มีรอยเป็นตำหนิจึงชะล้างทำความสะอาด และผึ่งให้แห้ง
งานขั้นที่แปด เป็นขั้นตอนท้ายสุดคือ "การเช็ดรักชักเงา" ด้วยการใช้สำลีปั้นเป็นก้อนกลมขนาดเล็ก ๆ หรือจะใช้สำลีห่อด้วยผ้าเนื้อนุ่ม ๆ ทำเป็นลูกประคบขนาดเล็กแตะรักน้ำเกลี้ยงเล็กน้อย เช็ดถูแต่บาง ๆ ให้ทั่วผิวหน้าพื้น จึงบ่มให้แห้งประมาณ ๑ คืน เป็นสำเร็จการเตรียมพื้นสำหรับงานเขียนน้ำยาปิดทองรดน้ำ


การร่างและทำแบบโรยเพื่อถ่ายแบบ เป็นงานขั้นเตรียมการขั้นที่สอง คือการร่างแบบลวดลายหรือรูปภาพขึ้นตามความคิดและวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ปรากฏ เป็นลายเป็นภาพที่ชัดเจน ถูกต้องและสวยงามมีคุณค่าแก่งานเขียนที่จะเป็นผลสำเร็จต่อไป
งานเขียนน้ำยาปิดทองรดน้ำนี้ช่างเขียนไม่สู้นิยมเขียนร่างลวดลายหรือรูปภาพลงบนพื้นรักซึ่งได้เตรียมขึ้นไว้เป็นอย่างดีแล้วนั้น แต่จะเขียนร่างแบบลวดลายหรือรูปภาพขนาดเท่าจริงลงบนแผ่นกระดาษขนาดเท่ากับพื้นที่จะเขียนน้ำยารดน้ำปิดทอง เรียกว่า "แบบร่าง" การเขียนร่างเส้นขึ้นเป็นลวดลาย เป็นรูปภาพตามอย่างโบราณวิธีนี้ เรียกว่า "ผูกลาย" และ "ผูกภาพ"
เมื่อจัดทำแบบร่างขึ้นสำหรับเป็นแบบเพื่อเขียนน้ำยาปิดทองรดน้ำสำเร็จแล้ว ก็จัดทำ "แบบโรย" เพื่อถ่ายแบบร่างลงบนพื้นซึ่งจะได้ทำการเขียนน้ำยาต่อไป
การทำแบบโรยนี้ก็คือใช้กระดาษหรือรูปภาพไว้นั้นนำมาปรุด้วยเข็มให้เป็นรูเล็ก ๆ ต่อเนื่องกันไปบนเส้นร่างบนกระดาษแบบร่าง ปรุตามเส้นร่างไปจนครบถ้วนทุกเส้นเป็นเสร็จการเตรียมแบบโรยที่จะได้ใช้ถ่ายแบบลวดลายหรือรูปภาพลงบนพื้นซึ่งเตรียมไว้แล้ว
การคุมน้ำยาหรดาน หรือการผสมน้ำยาหรดาน มีสิ่งประกอบร่วมกัน คือ ผงหรดาน น้ำยางมะขวิด และน้ำต้ม ฝักส้มป่อย นำสามสิ่งนี้ใส่โกร่งดินตามส่วนที่ต้องการ กวนให้เข้ากันเป็นอย่างดี จึงใส่น้ำมะนาวลงผสมเล็กน้อย ก็จะได้น้ำยาหรดานพร้อมที่จะใช้เขียนลงบนพื้นต่อไป
การเขียนน้ำยาหรดาน เป็นงานขั้นปฏิบัติการเขียนให้เกิดเป็นลวดลาย หรือรูปภาพขึ้นบนพื้นซึ่งได้ทารักไว้ เริ่มต้นด้วยการนำแบบโรยมาวางทาบทับให้แนบสนิทกับพื้นซึ่งได้ผ่านการเตรียมทารักมาเป็นอย่างดีแล้ว จัดการตรึงแบบโรยอย่าให้เคลื่อนหรือเลื่อนไปมาได้ ใช้ลูกประคบซึ่งห่อผงดินสอพอง วางลงบนหน้าแบบโรยให้ทั่ว ผงดินสอพองจะรอดออกจากห่อผ้าผ่านรูซึ่งปรุบนแบบโรยลงไปติดอยู่บนพื้นรักที่ข้างใต้แบบโรย เมื่อทำให้ผงดินสอพองโรยตัวผ่านแบบโรยลงไปติดที่พื้นรักทั่วแผ่นแล้ว ยกแบบโรยขึ้นจากพื้นรักก็จะเห็นผงดินสอพองติดบนพื้นสีดำ เป็นจุด ๆ เรียงกันแทนเส้นร่างเหมือนกับแบบ ซึ่งร่างขึ้นเป็นลายเส้น เรียกว่า การถ่ายแบบหรือการโรยแบบ แล้วจึงจับการเขียนน้ำยาหรดานต่อไป
การเขียนน้ำยาหรดาน ต้องใช้สะพานรองมือวางพาดให้มือลอยอยู่เหนือพื้นที่จะเขียน เพื่อรองรับมือขณะเขียนน้ำยา มิฉะนั้นอาจเผลอไปถูกเส้นร่างที่โรยแบบไว้ลบเลือนกับป้องกันมิให้เหงื่อไปถูกส่วนที่เขียนน้ำยาหรดานไว้แล้ว ซึ่งจะทำให้น้ำยาชื้นหลุดถอนออกมาเสียก่อนในขณะเขียนน้ำยาส่วนอื่นที่ยังไม่แล้วเสร็จ หรืออาจเป็นเหตุให้น้ำยาหลุดถอน ในตอนที่เช็ดรักเพื่อปิดทองต่อไปได้

งานเขียนน้ำยาหรดาน ทำด้วยการใช้พู่กันขนาดเล็ก ขนพู่กันยาวเป็นพิเศษ จุ่มน้ำยาหรดานพอประมาณ เขียนลากเส้นทับไปบนเส้นร่างที่เป็นเส้นจุดไข่ปลาที่เกิดจากผงดินสอพองที่ได้โรยไว้ ภาษาช่างเรียกวา "ถมเส้น" หรือ "ทับเส้น" เมื่อเขียนน้ำยาหรดานทับเส้นร่างครบถ้วนแล้ว จึงใช้พู่กันดอกเขื่องขึ้นเล็กน้อยจุ่มน้ำยาหรดานเขียนระบายลงในช่องไประหว่างลวดลายหรือระหว่างรูปภาพในส่วนที่ต้องการให้เป็นพื้นสีดำ ภาษาช่างเรียกว่า "ถมพื้น" หรือ "ล้วงพื้น" เมื่อได้ทำการเขียนน้ำยาหรดานลงบนพื้นรักเสร็จครบถ้วนตรงตามแบบร่างหรือแบบโรยแล้ว ผึ่งให้น้ำยาแห้งสักระยะเวลาหนึ่ง เส้นแสดงรายละเอียดของลวดลายหรือรูปภาพต่าง ๆ รวมทั้งพื้นที่เป็นช่องไฟ จะปรากฏเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ คือสีของน้ำยาหรดานนั่นเอง พร้อมกันก็จะเห็นลวดลายหรือรูปภาพเป็นสีดำคือสีพื้นรักเดิม ซึ่งมิได้เขียนหรือระบายน้ำยาถมหรือปิดเอาไว้ ซึ่งภายหลังจะกลายเป็นสีทองเมื่อผ่านขั้นตอนต่อไป
งานปฏิบัติการขั้นต่อไป เป็นการ "เช็ดรัก" เพื่อปิดทองคำเปลวทำให้เกิดเป็นลวดลายหรือรูปภาพต่าง ๆ การเช็ดรักนี้ต้องใช้ "รักเช็ด" หรือ "รักเคี่ยว" คือรักน้ำเกลี้ยงนำมาใส่ภาชนะตั้งไฟอ่อน ๆ เคี่ยวเพื่อขับน้ำซึ่งเจืออยู่ ตามธรรมชาติในรักน้ำเกลี้ยงให้ระเหยออกและยางรักนั้นงวดตัวมีความเหนียวขึ้น รักน้ำเกลี้ยงซึ่งผ่านการเคี่ยวได้ที่แล้วนี้ เรียกว่า "รักเช็ด" สำหรับทาพื้นโดยเฉพาะเพื่อปิดทองคำเปลว งานเช็ดรักทำด้วยการใช้สำลีปั้นเป็นก้อนกลม เล็ก ๆ แตะรักเช็ดแต่น้อย ทาถูลงบนผิวพื้นซึ่งได้เขียนน้ำยาหรดานไว้และน้ำยาแห้งสนิทดีแล้วแต่เพียงบาง ๆ ทาให้ทั่วพื้นที่ แล้วใช้สำลีปั้นก้อนเช่นเดียวกันเช็ดรักที่ทาไว้นี้เพื่อ "ถอน" คือเช็ดรักออกเสียบ้าง ให้เหลือรักเช็ดติดไว้เพียงบาง ๆ จึงจะปิดทองคำเปลวได้งามดี นำทองคำเปลวมาปิดลงบนพื้นที่ได้เช็ดรักไว้ให้เต็มทั่วพื้นที่ทั้งหมด การปิดทองคำเปลวนี้อาจใช้แปรงจีนช่วยในการ "กวดทอง" หรือกดหรือลูบแผ่นทองคำเปลวให้แนบติดกับพื้นที่ได้ เช็ดรักไว้ให้สนิท
งานขั้นสุดท้ายที่สุดสำหรับการเขียนน้ำยาปิดทองรดน้ำ คือ "การรดน้ำ" โดยนำเอาชิ้นงานที่ได้ปิดทองคำเปลวสำเร็จแล้วมารดน้ำ ทำให้น้ำยาหรดานที่ได้เขียนปิดเส้นถมพื้นไว้นั้นพองตัว และหลุดถอนออกจากพื้น คงเหลืออยู่แต่ลวดลายหรือรูปภาพต่าง ๆ เป็นสีทองคำเปลวบนพื้น มีลายเส้นแบ่งส่วนที่เป็นรายละเอียดของลวดลาย หรือรูปภาพและพื้นที่เป็นช่องไฟเป็นสีดำขึ้นมาแทนที่ในส่วนที่ได้เขียนปิดเส้นและถมพื้นไว้ด้วยน้ำยาหรดานมาแต่แรก
การรดน้ำนี้ คือเอาน้ำสะอาดมาโกรกบนพื้นที่ได้ปิดทองคำเปลวนั้นให้เปียกชุ่ม ใช้กระดาษฟางที่แหนบแผ่นทองคำเปลวชุบน้ำช่วยชำระให้น้ำยาหรดานหลุดถอนออกจากพื้นจนหมด เมื่อลวดลายหรือรูปภาพที่เป็นสีทองผุดขึ้นชัดเจน ทั่วทั้งหมดบนชิ้นงานนี้แล้ว จึงล้างทำความสะอาดและเช็ดแต่เพียงเบา ๆ ผึ่งทองรดน้ำสำเร็จสมบูรณ์
งานในหน้าที่ของช่างเขียนน้ำยาปิดทองรดน้ำ ซึ่งมีประจักษ์พยานที่เป็นงานตกทอดมาแต่อดีตเหลือให้เห็นได้ในปัจจุบันที่เป็นประเภทเครื่องอุปโภคได้แก่ ฝาและบานตู้หนังสือ ใบประกับหน้าคัมภีร์ พานแว่นฟ้า ตะลุ่ม หน้าฆ้อง
งานเขียนน้ำยาปิดทองรดน้ำประเภทครุภัณฑ์ ได้แก่ ฉากบังตา ลับแล ม้าหมู่ เตียง
งานเขียนน้ำยาปิดทองรดน้ำประเภทองค์ประกอบสถาปัตยกรรมได้แก่ ฝาผนัง อาคาร เสาภายในอาคาร บานประตู บานหน้าต่าง
งานเขียนน้ำยาปิดทองรดน้ำประเภทยานพาหนะ ได้แก่ งานเขียนลายตกแต่งหัวเรือหลวง เขียนลายแผงห้อย ข้างอานม้า
งานเขียนน้ำยาปิดทองรดน้ำประเภทเครื่องอาวุธ ได้แก่ ลายตกแต่งเขน โล่ ดั้ง ลายฝักดาบ หอก ทวน ง้าว เป็นต้น

วาโยรัตนะ 23-03-2009 20:29

งานเขียนระบายสีกำมะลอ

งานเขียนระบายสีกำมะลอ หรือบางทีเรียกว่า "เขียนสีกำมะลอ" "ลายกำมะลอ" ก็มี เป็นงานเขียนวาดเส้นและ ระบายทำเป็นลวดลายหรือรูปภาพด้วยวิธีการอย่างโบราณวิธีหนึ่งที่เขียนเป็นลวดลาย และเขียนเป็นรูปภาพต่างๆ เขียนระบายด้วยสีหม่นๆ บนพื้นซึ่งทาด้วยยางรักเป็นสีดำสนิท แสดงเส้นล้อมเป็นขอบรูปภาพหรือลวดลายด้วยเส้นสี ทองสดใส เพิ่มความชัดเจนและน่าสนใจชมขึ้นบนพื้นสีดำที่รองรับรูปลักษณ์ตามกล่าวมานี้
อนึ่ง คำว่า "กำมะลอ" โดยความหมายในความเข้าใจทั่วไปว่าเป็นของทำเทียม ของที่ทำหยาบๆ ไม่ทนทาน แต่คำว่า "กำมะลอ" หรือ "สีกำมะลอ" มีความหมายในทางช่างเขียนว่า "งานเขียนสีผสมน้ำรัก" ซึ่งทำเทียม "งานเขียนระบายสีน้ำกาว" แต่มิใช่เป็นงานเขียนระบายสีน้ำกาวตามขนบนิยมซึ่งมีมาก่อนจึงถูกเรียกว่า "งานเขียน สีกำมะลอ" อนึ่ง งาน "ลายกำมะลอ" ยังเนื่องมาแต่คตินิยมของช่างไทยแต่ก่อนถือว่าภาพทั้งหลายเกิดขึ้นด้วย การนำเอา "ลาย" หรือ "ลวดลาย" มาผูกร่วมกันขึ้นเป็นภาพ คำว่า "ลายกำมะลอ" ย่อมหมายถึง "ภาพเขียนผูกขึ้น ด้วยลายระบายด้วยสีกำมะลอ"

http://i113.photobucket.com/albums/n...sland/Kum8.jpg

งานเขียนระบายสีกำมะลอตามกระบวนการเขียนระบายที่เป็นขนบนิยมอย่างโบราณวิธี ประกอบด้วยวัสดุที่ เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับงานได้แก่
สี ลักษณะเป็นสีฝุ่นชนิดสีดินใช้เพียงสองหรือสามสี คือ สีดินแดง สีดินขาว สีดินเขียว สีครามพบว่าได้ใช้อยู่ บ้างเป็นชนิดครามหม้อ
ฝุ่นทองหรือทองผง ลักษณะเป็นฝุ่นหรือผงสีทอง ที่ทำมาแต่เมืองจีน ใช้ไปนานๆ มักลายสีออกเป็นสีทอง ค่อนไปทางแดงคุณภาพสู้ทองคำเปลวไม่ได้ แต่ก็เป็นวัสดุที่ช่างเขียนระบายสีกำมะลอนิยมใช้
ทองคำเปลว เป็นทองคำเปลวชนิดหน้าเต็ม และมีคุณภาพ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์
รัก ใช้ทั้งชนิดรักน้ำเกลี้ยงและรักน้ำใส ที่มีคุณภาพบริสุทธิ์ปราศจากสิ่งอื่น เช่น น้ำมันยาง น้ำมันพืชเจือปน
สมุก ใช้สมุกชนิดผงถ่านใบหญ้าคา หรือผงถ่านใบตองแห้งซึ่งผ่านการบดและแล่งให้เป็นผงละเอียดเตรียม ไว้
ยางมะเดื่อชุมพร (Ficus Glomerta) เป็นน้ำยาสดสับจากต้นมะเดื่อชุมพร มีลักษณะเป็นน้ำสีขาวค่อน ข้างข้น และเหนียว ใช้สำหรับปิดทองคำเปลว หรือกันเส้นเพื่อโรยฝุ่นทองทับ
อุปกรณ์สำหรับงานเขียนระบายสีกำมะลอ ประกอบด้วย อุปกรณ์ที่จำเป็นใช้ คือ กระดาษ ใช้กระดาษเนื้อ เรียบเนียน ดินสอพองป่น ผ้าขาวบาง ใช้สำหรับห่อผงดินสอพองทำเป็นลูกประคบ
เครื่องมือสำหรับใช้ปฏิบัติงานเขียนระบายสีกำมะลอ ประกอบด้วยเครื่องมือที่จำเป็น คือ
พู่กัน พายทาสมุก กระดานรองสมุกและสี หินฟองน้ำ ใช้สำหรับขัดปราบหน้าสมุก
แร่ง คือกระบอกไม้ไผ่ขนาดเล็กปลายข้างหนึ่งตัดตรง หุ้มด้วยผ้าโปร่งปลายอีกข้างหนึ่งตัดเฉียงคล้ายปลาย หลาว
ดินสอขาว คือดินสอพองปั้นทำเป็นแท่งกลมๆ หัวและท้ายแหลมใช้สำหรับร่างลวดลาย หรือรูปภาพต่างๆ
เข็ม ใช้เข็มเย็บผ้าต่อด้ามไม่ให้ยาวขนาดพอจับได้ถนัด
และสะพานรองมือ ใช้สำหรับวางพาดรองมือขณะที่ทำการเขียนระบายสี

การปฏิบัติงานเขียนระบายสีกำมะลอ

พื้นสำหรับรองรับการเขียนระบายสีกำมะลอ มักนิยมใช้พื้นไม้ ไม้ที่จะนำมาทำเป็นพื้นนี้ต้องเป็นไม้ที่เนื้อแห้ง สนิท ผ่านการไสกบปราบผิวหน้าให้เรียบและขัดเกลี้ยงเกลาดีแล้ว นำมาทาด้วยดินสอพองผสมน้ำให้พอเหลว ทาให้ทั่วพื้นหน้าของแผ่นกระดาน ผึ่งให้ดินสอพองแห้งแล้วขัดผิวหน้าแต่เบาๆ พอให้หมดฝุ่นดินสอพองบนพื้นหน้า ปล่อยส่วนที่ตกค้างอุดตามร่องและเสี้ยนไม้ให้เป็นเนื้อเดียวกัน จึงจัดการทาสมุกลงพื้นต่อไป
การทาสมุกทำพื้นรัก การเตรียมทำพื้นรัก มีขั้นตอนเช่นเดียวกับการเตรียมพื้นในงานเขียนน้ำยาปิดทอง รดน้ำดังได้กล่าวแล้ว
การร่างแบบ ในงานร่างภาพหรือลวดลายขึ้นเป็นแบบลงบนพื้นซึ่งได้ทารักรองพื้นไว้เพื่อจะระบายสีลงเป็น รูปภาพหรือลวดลายต่อไปนั้นอาจทำงานร่างแบบขึ้นได้สองวิธีด้วยกัน คือ
วิธีแรก พวกช่างเขียนที่มีฝีมือแข็งและความชำนิชำนาญมาก อาจเขียน ร่างเส้นผูกเป็นภาพ เป็นลวด ลายขึ้นด้วยความแม่นยำและแน่นอน บนพื้นรักที่ได้เตรียมไว้โดยใช้ดินสอขาวเหลาให้ปลายเรียวแหลมเขียนลงเส้น ร่างลงบนพื้นที่รักแต่พอเป็นเค้ารอยรูปภาพหรือลวดลายตามที่คิดจะให้เป็น เรียกว่า "กระทบเส้น"
วิธีที่สอง เป็นวิธีในหมู่ช่างเขียนที่ฝีมืออ่อน ยังไม่สู้ชำนิชำนาญพอจะเขียนลงเส้นร่างด้วยดินสอขาวลง บนพื้นรักตรงๆ จึงต้องร่างแบบลงบนกระดาษขนาดเท่ากับพื้นที่ได้ทำเตรียมขึ้นไว้ แล้วทำเป็นแบบโรยด้วยวิธีเดียว กันกับการทำแบบโรยสำหรับงานเขียนน้ำยาปิดทองรดน้ำ ก่อนจะนำมาโรยผงดินสอพองถ่ายแบบลงบนพื้นรัก ให้เกิดเป็นเส้นร่างตามแบบร่างนั้น
การเขียนระบายสี งานเขียนสีกำมะลอ ใช้สีสำหรับระบายทำเป็นรูปภาพแต่เพียงน้อยสี และมักไม่นิยมระบายสี ให้มีความกลมกลืนหรือให้เป็นแสงเป็นเงาในรูปแบบหากต้องการประสานสีระหว่างสีสองสี สีมักจะระบายสีเข้มลงไว้ ก่อนจึงระบายสีอ่อนเกลี่ยให้ประสานกัน
การเขียนลงเส้นทองที่เป็นรายละเอียดในรูปภาพหรือลวดลายให้เป็นรูปภาพหรือลวดลายให้เป็นรูปลักษณ์ที่มี ความชัดเจนและสวยงามเพิ่มเติมขึ้น อาจทำได้สองวิธีคือเขียนลงเส้นโรยฝุ่นทองวิธีหนึ่ง กับการเขียนลงเส้นปิด ทองคำเปลวอีกวิธีหนึ่ง
งานเขียนระบายสีกำมะลอ อาจเป็นงานเขียนภาพหรือลวดลายที่มีรูปลักษณ์และสีต่างไปจากงานเขียนน้ำยา ปิดทองรดน้ำ หรืองานเขียนระบายสีน้ำกาว แต่ออกจะไม่สู้ปรากฏแพร่หลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง งานเขียนประเภท นี้ที่ประจักษ์เป็นหลักฐานที่พึงทราบได้ดังต่อไปนี้
งานเขียนระบายสีกำมะลอ ตกแต่งบานประตูและบนหน้าต่างประจำอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ หอไตร
งานเขียนระบายสีกำมะลอ ตกแต่งฝาตู้ใส่หนังสือ ฝาหีบหนังสือ หีบพระธรรม หีบหนังสือเทศน์
งานเขียนระบายสีกำมะลอ ตกแต่งฉากไม้ ลับแล พนักพิง
งานเขียนระบายสีกำมะลอ ตกแต่งหน้าใบประกับคัมภีร์ใบลาน
อนึ่ง งานเขียนระบายสีกำมะลอนี้ มีในบางที่เขียนประกอบกับงานเขียนน้ำยาปิดทองรดน้ำด้วยกันก็มี เรียกกัน ว่า "ลายรดน้ำกำมะลอ" ซึ่งได้เขียนบนฝาตู้บ้าง บนฉากไม้กั้นห้องอย่างฝาประจันบ้าง

วาโยรัตนะ 23-03-2009 21:18

ช่างปั้น


ช่างปั้น คือบุคคลประเภทหนึ่งที่มีทั้งฝีมือ และความสามารถเป็นช่าง อาจกระทำการประมวลวัสดุต่างๆ อาทิ ดิน ปูน ขี้ผึ้ง อย่างใดอย่างหนึ่งมาประกอบเข้าด้วยกัน สร้างเป็นรูปทรงที่มีศิลปลักษณะพร้อมอยู่ในรูปวัตถุที่ได้สร้าง ขึ้นนั้นได้เป็นอย่างดี และมีคุณค่าในทางศิลปกรรม

http://i113.photobucket.com/albums/n...ngSipMu002.jpg

งานปั้นและช่างผู้ทำงานปั้นนี้ เมื่อสมัยโบราณที่ล่วงๆ ไปนั้นเรียกว่า "งานปั้น" และ "ช่างปั้น" แต่ในปัจจุบัน "งานปั้น" เปลี่ยนไปเป็น "ประติมากรรม" ซึ่งมีนัยว่ามาแต่คำภาษาบาลีว่า ปฏิมากมฺม หรือในภาษาสันสกฤตว่า ปรฺติมากรฺม ส่วนคำว่า "ช่างปั้น" ก็ได้รับความนิยมเรียกว่า "ประติมากร"
ช่างปั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นช่างที่มีความสำคัญจัดอยู่ในลำดับรองถัดลงมาแต่ช่างเขียน ความสำคัญของงาน ปั้นและช่างปั้นจึงเป็นรองงานเขียนและข่างเขียน กระนั้นก็ดี ช่างปั้นและงานปั้นก็ยังมีความสำคัญ หรือมีอิทธิพล เหนืองานช่างประเภทอื่นอยู่หลายประเภทด้วยกัน ทั้งนี้เนื่องด้วยงานช่างบางประเภทต้องอาศัยวิธีการบางอย่างของ ช่างปั้นนำไปเป็นแบบดำเนินการทำงานช่างประเภทนั้นๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้
งานปั้นอย่างไทย หรืองานปั้นแบบไทยประเพณี มักเป็นงานปั้นที่มีรูปลักษณ์โน้มไปในรูปแบบที่เป็นลักษณะ รูปประดิษฐ์ หรือที่เรียกว่า "อดุมคตินิยม" ตามคติความเชื่อในหมู่คนส่วนมากแต่อดีต เนื่องด้วยเป็นงานศิลปกรรมที่ ได้รับการจัดให้มีขึ้นสำหรับหน้าที่ ประโยชน์ใช้สอย และสร้างเสริมความสำคัญแก่ถาวรวัตถุและถาวรสถานทั้งใน ฝ่ายศาสนจักร และฝ่ายอาณาจักรซึ่งมีคตินิยมรูปแบบที่เป็นลักษณะ "บุคลาธิษฐาน" เป็นสำคัญ
งานปั้นแบบไทยประเพณี ที่บรรดาช่างปั้นแต่อดีตได้สร้างสรรค์ขึ้นไว้นั้นมีอยู่ด้วยกันหลายประเภท งานปั้น แต่ละประเภทยังประกอบการขึ้นเป็นงานปั้นด้วยวิธีการและกระบวนการต่างๆ กัน ซึ่งขึ้นตอนการทำงานของช่างปั้น และงานปั้นประเภทต่างๆ มีดังต่อไปนี้

งานปั้นดิน

งานปั้นดินซึ่งได้ทำขึ้นเป็นงานปั้นแบบไทยประเพณีด้วยโบราณวิธีตามความรู้ของช่างปั้นแต่ก่อนนั้น อาจ จำแนกงานปั้นและวิธีการปั้นดินออกเป็นแต่ละประเภท คือ
งานปั้นดินดิบ งานปั้นประเภทนี้ใช้ดินเหนียวที่นำมาจากแหล่งดินในธรรมชาติทั่วไป หากต้องการให้มีความ แข็งแรงและคงทนอยู่ได้นานๆ จึงนำเอาวัสดุบางอย่างผสมร่วมเข้ากับเนื้อดินเพื่อเสริมให้ดินมีโครงสร้างแข็งแรงขึ้น เป็นพิเศษ ได้แก่ กระดาษฟาง กระดาษข่อย และตัวไพ่จีน เป็นต้น
งานปั้นดินเผา เป็นงานปั้นประเภทใช้ดินเหนียวซึ่งนำมาจากแหล่งดินในธรรมชาติทั่วไปเช่นเดียวกับดินที่ ใช้ในงานปั้นดินดิบ แต่เนื้อดินที่จะใช้ในงานปั้นดินเผา ต้องใช้ทรายแม่น้ำที่ผ่านการร่อนเอาแต่ทรายละเอียดผสม ร่วมกับเนื้อดินแล้วนวดดินกับทรายให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน และทำให้เนื้อดินแน่น อนึ่ง การที่ใช้ทรายผสมร่วมกับดิน เหนียวเช่นนี้ ก็เพื่อช่วยมิให้เนื้อดินแตกร้าวเมื่อแห้งสนิทและนำเข้าเผาไฟให้สุก
งานปั้นดินดิบ และงานปั้นดินเผาในลักษณะงานปั้นแบบไทยประเพณี ช่างปั้นอาศัยเครื่องมือร่วมด้วยกับการ ปั้นด้วยมือขงช่างปั้นเองด้วย เครื่องมือสำหรับงานปั้นดินอย่างโบราณวิธี มีดังนี้
ไม้ขูด ใช้สำหรับขูด ควักดิน
ไม้เนียน ใช้สำหรับปั้นแต่งส่วนย่อยๆ
ไม้กวด ใช้สำหรับกวดดินให้เรียบ
ไม้กราด ใช้สำหรับขูดผิวดินส่วนที่ไม่ต้องการออกจากงานปั้น
เครื่องมือสำหรับงานปั้นอาจจะมีจำนวนมากหรือน้อยชิ้น หรือมีต่างๆ ไปตามแต่ความต้องการและจำเป็น สำหรับช่างปั้นแต่ละคน

วิธีการและขั้นตอนการปั้น

งานปั้นดินดิบและงานปั้นดินเผา ดำเนินงานด้วยวิธีการและมีขั้นตอนโดยลำดับดังนี้
งานขึ้นรูป คือการก่อตัวด้วยดินขึ้นเป็นรูปทรงเลาๆ อย่างที่เรียกว่า "รูปโกลน" ลักษณะเป็นรูปหยาบๆ ทำพอ เป็นเค้ารูปทรงโดยรวมของสิ่งที่จะเพิ่มเติมส่วนละเอียดให้ชัดเจนต่อไป
งานปั้นรูป คือการนำดินเพิ่มเติมหรือต่อเติมขึ้นบนรูปโกลน หรือรูปทรงโดยรวมที่ได้ขึ้นรูปไว้แต่ต้นปรากฏ รูปลักษณะที่ชัดเจน ตามประสงค์ที่ต้องการจะปั้นให้เป็นรูปนั้นๆ จนเป็นรูปปั้นที่มีความชัดเจนสมบูรณ์ ดังความมุ่งหมายของช่างปั้นผู้ทำรูปปั้นนั้น
งานปั้นเก็บส่วนละเอียด เป็นกระบวนการปั้นขั้นหลังสุด โดยทำการปั้นแต่งส่วนที่ละเอียดให้ชัดเจนเน้น หรือเพิ่มเติมส่วนที่ต้องการให้เห็นสำคัญ หรือแสดงออกความรู้สึกเนื่องด้วยอารมณ์ต่างๆ ของช่างปั้น
งานปั้นดินดิบนั้น เมื่อชิ้นงานสำเร็จก็มักผึ่งให้แห้งสนิท แล้วจึงนำไปใช้งานตามความประสงค์ต่างๆ บางอย่างที่ต้องการตกแต่งด้วยการระบายหรือเขียนสีเพิ่มเติมให้สวยงามตามความนิยมและความต้องการใช้งาน จะเขียนระบายด้วยสีฝุ่นผสมน้ำกาวทับลงบนรูปปั้นดินดิบทั้งในส่วนพื้นของรูปและส่วนที่แสดงรายละเอียด มีตัวอย่าง เช่น รูปปั้นหัววัว รูปปั้นหัวกวาง สำหรับแขวนประดับฝาผนัง รูปปั้นฤาษีต่างๆ รูปปั้นนางกวัก รูปปั้นละครยก ตุ๊กตาชาววัง เป็นต้น
อนึ่ง งานปั้นดินเผา ก็ดำเนินขั้นตอนการปั้นเช่นเดียวกับการปั้นดินดิบก่อนแล้วจึงจัดการเผาให้รูปปั้นดินนั้น ให้สุก ด้วยความร้อนที่ใช้ถ่านไม้หรือแกลบเป็นเชื้อเพลิงตามความเหมาะสมแก่ชิ้นงาน
งานปั้นดินเผาบางประเภทเมื่อเผาสุกได้ที่แล้วนำไปใช้งานในสภาพที่ชิ้นงานนั้นมีสีตามธรรมชาติของเนื้อดิน มีตัวอย่างเช่น พระพุทธพิมพ์ พระพุทธปฎิมากรรม ลวดลายต่างๆ สำหรับประดับงานสถาปัตยกรรม หางกระเบื้อง กาบกล้วย เป็นต้น
งานปั้นดินเผาบางประเภทต้องการตกแต่งเพิ่มเติมด้วยการระบายสี และเขียนส่วนละเอียดให้สวยงามตาม ความนิยมและความต้องการใช้เช่น ตุ๊กตาเจ้าพราหมณ์ ตุ๊กตาชายหญิงทำเป็นข้ารับใช้ตามศาลพระภูมิ ตุ๊กตารูปช้างม้าสำหรับถวายแก้บนเจ้าและพระภูมิ ตุ๊กตารูปเด็กทำเป็นของเล่นสำหรับเด็ก ตุ๊กตารูปสัตว์ต่างๆ ทำเป็นของเล่น เป็นต้น

วาโยรัตนะ 23-03-2009 21:25

งานปั้นปูน

ปูนเป็นวัสดุได้มาจากหินปูน หรือเปลือกหอยทะเล เผาไหม้ทำให้เป็นผง ถ้าปูนทำขึ้นจากหินปูน เรียกว่า ปูนหิน ถ้าทำขึ้นจากเปลือกหอยเรียกว่า ปูนหอย ปูนทั้งสองชนิดนี้สีขาวจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ปูนขวา"
ปูนหิน ปูนหอย หรือปูนขาวนี้ลักษณะเป็นผงสีขาว เมื่อนำมาแช่น้ำไว้สักพักหนึ่งแล้วนำมานวดหรือตำให้เนื้อ ปูนจับตัวเข้าด้วยกันเนื้อปูนจะเหนียวเกาะกันแน่นพอสมควร ขณะที่เนื้อปูนยังอ่อนตัวอยู่นี้เหมาะเป็นวัสดุดิบนำมาใช้ ปั้นทำเป็นรูปภาพหรือทำเป็นลวดลายต่างๆ ใช้ตามวัตถุประสงค์ต่างๆ ที่ต้องการภายหลังที่เนื้อปูนแห้งสนิทจะจับตัว แข็งคงรูปดั่งที่ปั้นแต่งขึ้นไว้แต่แรกไม่เปลี่ยนแปลง และเป็นวัสดุดิบที่มีคุณภาพแข็งถาวรอยู่ได้นานๆ ปี ดังนี้ ปูนขาว ซึ่งได้จากหินปูนก็ดี เปลือกหอยทะเลก็ดี จึงเป็นวัสดุดิบที่ช่างปั้นได้นำมาใช้สร้างทำงานปั้นแต่โบราณกาลมากระทั่ง ปัจจุบัน
งานปั้นปูน ซึ่งได้รับการสร้างขึ้นเป็นงานปั้นแบบไทยประเพณี เป็นความรู้และวิธีการเฉพาะงานของช่างปั้น แต่โบราณนั้น อาจลำดับวิธีและกระบวนการปั้นงานปูนปั้นให้ทราบดังต่อไปนี้

ปูนปั้นและการเตรียมปูน

ปูนที่เป็นวัสดุดิบนำมาใช้ทำงานปั้นปูน คือปูนขาวจะต้องได้รับการเตรียมการให้มีคุณภาพเหนียวและจับตัว แข็งแกร่งเมื่อภายหลังปูนปั้นนั้นแห้งสนิทแล้ว ด้วยการประสมน้ำยาและวัสดุบางชนิดเพื่อเพิ่มคุณภาพ คือ น้ำกาว อย่างหนึ่งกับน้ำมันพืชอย่างหนึ่ง ปูนขาวซึ่งเนื้อปูนพร้อมจะใช้ทำงานปั้นได้เรียกว่า ปูนน้ำกาว ส่วนปูนขาวซึ่งเนื้อ ปูนผสมด้วนน้ำมันขึ้นเป็นเนื้อปูนเรียกว่า ปูนน้ำมัน
ปูนน้ำกาวประกอบด้วย ปูนขาวทรายแม่น้ำ กาวหนังสัตว์ น้ำตาลอ้อย และกระดาษฟางเล็กน้อย เหตุที่ต้องใช้ กระดาษฟาง และน้ำตาลอ้อยผสมร่วมกับเนื้อปูน เพราะกระดาษฟางนั้นเป็นสิ่งช่วยเสริมโครงสร้างในเนื้อปูนให้ยึด กันมั่นคงและช่วยให้ปูนไม่แตกร้าวเมื่อเกิดการหดหรือขยายตัว ส่วนน้ำตาลอ้อยที่นำมาใช้ผสมปูนก็เพื่ออาศัยเป็นตัว เร่งให้ปูนจับตัวแข็งแรงเร็วขึ้น อาจทรงตัวอยู่ได้ในขณะที่ยังทำการปั้นไม่แล้วเสร็จ
ปูนน้ำมันประกอบด้วย ปูนขาว ชัน น้ำมันตั้งอิ้ว ซึ่งเป็นน้ำมันพืชที่สกัดมาจากเมล็ดในของผลไม้จากต้น "ทั้ง" หรือ "ทั่ง" (Aleurites Fordii) น้ำมันชนิดนี้ทำมาแต่เมืองจีน เรียกว่า ทั้งอิ้ว แปลว่าน้ำมันจากต้นทั้ง คนไทยเรียกตาม ถนัดปากว่า "ตั้งอิ้ว" และกระดาษฟางเล็กน้อย

เครื่องมืองานปั้นปูน

เครื่องมือสำหรับงานปั้นปูนของช่างปั้นแต่ละคน เมื่อสมัยก่อนก็ดี หรือสำหรับช่างปั้นปูนปัจจุบันก็ดีมีเครื่อง มือไม่มากชิ้น ทั้งนี้เป็นด้วยช่างปั้นปูนพอใจจะใช้ฝีมือของตัวเองมากกว่า จะใช้เครื่องมือช่วยในการปั้นก็เฉพาะที่ จำเป็นหรือในส่วนที่ใช้นิ้วมือปั้นทำส่วนย่อยๆ ในงานปั้นนั้นไม่ถนัด
เครื่องมือสำหรับงานปั้นของช่างปั้นปูนมักทำขึ้นด้วยไม้ไผ่ โดยช่างปั้นปูนแต่ละคนจะทำขึ้นใช้เอง ตามความ เหมาะสมแก่งาน และถนัดมือช่างเอง ที่พอยกขึ้นเป็นตัวอย่างและอธิบายให้ทราบ มีดังต่อไปนี้
เกรียง เกรียงสำหรับงานปั้นปูนมีหลายขนาด ใช้สำหรับตัก ป้าย ปาด แตะ แต่งปูนเพื่อขึ้นรูปประเภทต่างๆ หรือขูดแต่งผิวปูน
ไม้กวด ทำด้วยไผ่เหลาเป็นชิ้นแบนๆ ใช้สำหรับปาดปูน แต่งและกวดผิวปูนให้เรียบเกลี้ยง
ไม้เนียน ทำด้วยไม้ไผ่เหลาเป็นชิ้นแบนอย่างท้องปลิง ปลายข้างหนึ่งปาดเฉียง ใช้สำหรับปั้นแต่งส่วนย่อยๆ ในงานปั้นปูน เช่นขีดทำเป็นเส้น ทำรอยบากขอบลวดลาย
ไม้เล็บมือ ทำด้วยไม้ไผ่กิ่งเล็กๆ ช่างปั้นบางคนเรียกว่า ไม้แวว ใช้สำหรับกดทำเป็นวงกลมล้อมลายตาไก่บ้าง ลายมุกบ้าง ไม้เล็บมือนี้อาจทำขึ้นไว้หลายอันและต่างขนาดกันเพื่อให้เหมาะสมแก่งานที่จะปั้น
ขวาน ทำด้วยเหล็กใส่ด้ามไม้ ใช้สำหรับฟันหรือเฉาะพื้นปูนให้เป็นรอยถี่ๆ เพื่อช่วยให้ปูนที่จะปั้นทับลงบนฝา หรือพื้นปูนเกาะหรือจับติดแน่น
ตะลุมพุก ทำด้วยไม้รูปทรงกระบอกสั้นๆ ต่อด้ามไม้ยาวขนาดจับถนัด ใช้สำหรับตอก "ทอย" ลงบนพื้นปูน หรือพื้นไม้


วาโยรัตนะ 23-03-2009 21:25

อุปกรณ์สำหรับงานปั้นปูน

ในงานปั้นปูนยังต้องการอุปกรณ์บางสิ่งนำมาใช้ประกอบร่วมในการทำงานปั้นปูนให้มีคุณภาพ และเป็นผล สำเร็จอย่างดี ได้แก่
ทอย คือไม้ชิ้นเล็กๆ ยาวประมาณ ๒ ถึง ๓ นิ้ว เหลาปลายให้แหลม ใช้สำหรับตอกลงบนพื้นปูนหรือพื้นไม้เพื่อ เป็นที่ให้ปูนซึ่งจะปั้นติดบนพื้นชนิดนั้นๆ เกาะยึดพื้นได้มั่นคง
อ่างดินเผา เป็นอ่างขนาดย่อมพอใช้ใส่น้ำสะอาด ไว้ชุบล้างเครื่องมือปั้น
ผ้าขาว ผ้าผืนเล็ก ชุบน้ำให้ชุ่มใช้สำหรับลูบแต่งผิวปูนหรือลูบเครื่องมือปั้นให้เปียกอยู่เสมอระหว่างทำงานปั้น
อนึ่ง เครื่องมือปั้นและอุปกรณ์สำหรับงานปั้นนี้ อาจจะมีลักษณะต่างๆ กัน หรือมีจำนวนมากน้อยตามความ ถนัด ความต้องการและกลวิธีทำงานของช่าง

วิธีการและขั้นตอนการปั้น


งานปั้นปูนน้ำกาวและงานปั้นปูนน้ำมัน ดำเนินการวิธีการและขั้นตอนในการปั้นไม่แตกต่างกันมากนัก มีกระ บวนการปั้นตามขั้นตอนต่อไปนี้

งานปั้นปูนบนพื้นราบ
การร่างแบบ ช่างปั้นปูนซึ่งจะทำงานปั้นลวดลาย รูปภาพต่างๆ ลงบนพื้นชนิดที่เป็นฝาผนัง กำแพงถือปูน หรือพื้นไม้ บางคนอาจร่างแบบลงบนกระดาษแผ่นเล็กพอให้เห็นเค้าโครงความคิดของตน แล้วจึงนำไปขยายแบบ ร่างตามขนาดที่จะทำงานปั้นจริงลงบนพื้นที่นั้น แต่ช่างปั้นบางคนที่ทรงไว้ซึ่งความรู้ลึกซึ้งมีประสบการณ์มาก และ ฝีมือกล้าแข็งมักทำการร่างแบบขนาดเท่าจริงลงบนพื้นที่จะปั้นนั้นเลยทีเดียว
งานร่างแบบสำหรับปั้นนี้ ช่างปั้นจะใช้ถ่านไม้ชิ้นเล็กๆ ซึ่งทำจากต้นพริกเผาให้สุกเป็นถ่านเขียนเส้นร่างด้วย เส้นร่างถ่าน จนได้รูปร่างสมบูรณ์ ส่วนสัดถูกต้อง ช่องไฟงามเป็นเรื่องราวครบถ้วนดังวัตถุประสงค์แล้ว จึงใช้พู่กันชนิดเขียนเส้นขนาดเขื่อง ๆ จุ่ม "สีครู" ลักษณะเป็นสีครามอมดำ (Indigo) ทำขึ้นจากเขม่าผสมกับยางรง ฝนกับน้ำให้เข้ากันเขียนทับไปบนเส้นร่างเพื่อเน้นเส้นร่างนั้นให้ชัด และรูปรอยที่ร่างขึ้นไว้ไม่ลบเลือนไปก่อนจะทำ งานปั้นให้เสร็จ แล้วจึงใช้ผ้าเนื้อนุ่มๆ ปัดเส้นร่างด้วยถ่านไม้นั้นออกให้หมดคงเหลืออยู่แต่เส้นสีครูเป็นโครงร่างที่ ชัดเจน เป็นแบบร่างที่จะปั้นปูนทับในลำดับต่อไป
การเตรียมพื้นสำหรับงานปั้นปูน พื้นชนิดก่ออิฐถือปูน มีการเตรียมพื้นดังนี้
พื้นชนิดก่ออิฐถือปูนมักจะฉาบปูนผิวเรียบเกลี้ยงเป็นปรกติอยู่ก่อนแล้ว การจะปั้นปูนเป็นลวดลายหรือรูปภาพ ต่างๆ ติดลงบนพื้นปูนฉาบเรียบเกลี้ยง ช่างปั้นปูนจะต้องทำผิวพื้นปูนฉาบให้เกิดเป็นผิวขรุขระขึ้นในบริเวณที่ได้ร่าง เส้นเป็นแบบร่างลวดลายหรือรูปภาพขึ้นก่อนนั้นโดยใช้ขวานเฉาะเบาๆ ผิวปูนฉาบที่เฉาะให้เป็นรอยนี้จะเป็นที่ปูนปั้น เกาะจับติดทนอยู่ได้นานปี ในกรณีงานปั้นปูนเป็นลวดลายหรือรูปภาพต่างๆ ที่ต้องการปั้นให้นูนสูงขึ้นจากพื้นมาก งานปั้นตรงส่วนนี้จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นช่างปั้นปูนจะต้องตอก "ทอย" ซึ่งมักทำด้วยไม้ไผ่แก่ๆ เหลาทำเป็นลูกทอย ตอกลงที่พื้นปูนฉาบให้แน่น เหลือโคนทอยขึ้นมาตามขนาดที่ต้องการให้เป็นแกนสำหรับปูนปั้น ซึ่งช่างปั้นจะปั้นปูน พอกขึ้นเป็นลวดลายหรือรูปภาพต่างๆ ที่ต้องการให้นูนสูงนั้นต่อไป
พื้นรองรับงานปั้นปูนที่ใช้ไม้รองรับ พื้นชนิดนี้เมื่อผ่านการเขียนร่างแบบขึ้นไว้บนพื้นแล้ว ช่างปั้นก็จะนำ "น้ำเทือกปูน" คือปูนปั้นที่ทำให้เหลวโดยเติมน้ำกาวหรือน้ำมันให้มากสักหน่อย ทาลงบนพื้นไม้บริเวณภายในลวด ลายหรือรูปภาพที่ได้ร่างเป็นแบบไว้นั้นให้ทั่วกัน เมื่อปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง ก็จะเป็นผิวหยาบๆ ซึ่งช่างปั้นจะได้ปั้นทับลง เป็นลวดลายหรือรูปภาพเกาะจับและติดทนอยู่ได้นานปี
งานขึ้นรูป คือการก่อตัวด้วยปูนขึ้นเป็นรูปทรงเลาๆ พอเป็นเค้าโครงที่จะปั้นปูนพอกเพิ่มเติมขึ้นตามลำดับจน เป็นงานปั้นที่สมบูรณ์ การขึ้นรูปด้วยปูนขั้นแรกต้องใส่ปูนให้จับติดกับพื้นส่วนที่เฉาะทำผิวให้ขรุขระนั้นขึ้นเป็น "รูปโกลน" หรือใส่ปูนที่ขึ้นรูปชั้นแรกนี้ทิ้งไว้ให้ปูนจับพื้นหรือเกาะทอยติดแน่นจึงใส่ปูนเพิ่มเติมทับลงเป็นรูปโกลน หรือรูปโครงร่างนั้น ปั้นขึ้นเป็นรูปทรงโดยรวมของเถาหรือตัวลาย หรือรูปภาพในลักษณะที่เรียกว่า "หุ่น" คือเป็นรูป ทรงพอให้รู้ว่าเป็นเค้าโครงของสิ่งที่จะปั้นทำให้ชัดเจนต่อไป
งานปั้นรูป คือการนำปูนมาปั้นเพิ่มเติมหรือต่อเติมขึ้นบนรูปโกลน หรือรูปทรงโครงร่างของรูปภาพซึ่งได้ทำ เป็นงานขึ้นรูปไว้ ให้ปรากฏเป็นรูปลักษณะที่ชัดเจน ได้ส่วนสัด พร้อมด้วยท่วงท่า ลีลาอาการต้องตามประสงค์ที่ต้อง การจะปั้นให้เป็นลวดลาย หรือรูปภาพเช่นนั้นๆ
งานปั้นส่วนละเอียด จะเป็นการปั้นแต่งแสดงส่วนละเอียด ให้ชัดเจนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทำต่อเมื่อปูนที่ได้ปั้น รูปขึ้นไว้นั้นจับตัวและหมาดพอสมควรจึงจัดการปั้นปูนเติมแต่งและปั้นทำส่วนละเอียดแต่ละส่วนลำดับกันไป งานปั้น ส่วนละเอียดในงานปั้นปูนแบบไทยประเพณีมักนิยม "กวด" ผิวงานนั้นให้เรียบเกลี้ยง "กวด" คือกดและลูบไล้เบาๆ บนผิวปูนเพื่อทำให้เนื้อแน่น และเรียบตึงขณะที่ใช้เครื่องมือกวดผิวปูนนี้ต้องหมั่นเช็ดเครื่องมือด้วยผ้าเปียกน้ำบ่อยๆ เพื่อกันมิให้ปูนติดเครื่องมือ และยังช่วยให้การใช้เครื่องมือลูบไล้กวดผิวปูนลื่นเรียบดีอีกด้วย แต่ในงานปั้นปูนน้ำมัน ไม่จำเป็นจะต้องชุบเครื่องมือปั้นให้เปียก หรือใช้ผ้าเปียกน้ำเช็ดเครื่องมือเพื่อป้องกันมิให้ปูนเกาะ เพราะปูนน้ำมันมี เนื้อปูนละเอียดกว่าปูนน้ำกาว ขณะใช้เครื่องมือปั้นกวดผิวงานปั้น น้ำมันซึ่งผสมแทรกอยู่ในเนื้อปูนจะช่วยให้ เครื่องมือลื่นไล้ไปง่ายๆ บนผิวของงานปั้นนั้น
งานปั้นปูนนั้นเมื่อชิ้นงานสำเร็จสมบูรณ์เรียบร้อยเป็นไปดังวัตถุประสงค์ของช่างปั้นแล้ว ปรกติมักปล่อยให้ งานปั้นปูนนั้นแห้งไปเอง ซึ่งใช้เวลาไม่สู้นาน และมักนิยมงานปั้นปูนเป็นสีขาวตามธรรมชาติของปูนขาว หากต้องการตกแต่งเพิ่มเติมให้สวยงามแลดูมีคุณค่ายิ่งขึ้นอาจทำด้วยวัสดุและวิธีการมีดังต่อไปนี้
การตกแต่งด้วยการปิดทองคำเปลว ในขั้นต้นต้องลง "สมุก" ทาเคลือบผิวงานปูนปั้นนั้นให้ทั่วเสียชั้นหนึ่ง ก่อน เพื่อทำให้ผิวงานปูนปั้นเรียบเกลี้ยง เมื่อสมุกแห้งแล้วจึงทา "รักน้ำเกลี้ยง" ให้ทั่วชิ้นงานปล่อยให้รักน้ำเกลี้ยง ที่ทาทิ้วไว้สักพักหนึ่ง พอรักหมาดได้ที่จึงปิดทองคำเปลวทับให้ทั่ว งานปูนปั้นชิ้นนั้นๆ ก็จะมีผิวเป็นสีทองคำอร่ามไป ทั้งหมด
การตกแต่งด้วยการปิดกระจก มักเป็นงานที่ได้รับการตกแต่งต่อเนื่องจากการปิดทองคำเปลว เพิ่มเติม สีสันขึ้นแก่งานปูนปั้นนั้นอีกจึงนำกระจกแก้วบ้าง กระจกหุงบ้าง มาตัด เจียนตามรูปร่างและขนาดที่ต้องการประดับ แต่งลงบนงานปูนปั้นทำเป็น แวว ไส้ลาย พื้นลวดลาย เป็นต้น
การตกแต่งด้วยการเขียนระบายสี ขั้นต้นต้องจัดการเตรียมพื้นผิวชิ้นงานปูนปั้นให้เรียบและแน่นด้วยเลือด หมูสด ผสมกับน้ำปูนขาวกวนให้เข้ากันทำเป็นน้ำยารองพื้นลักษณะค่อนข้างข้น ใช้น้ำยานี้ทาให้ทั่วชิ้นงานปูนปั้น ผึ่งให้น้ำยาแห้งสนิทจึงใช้สีฝุ่นผสมน้ำกาวนำมาเขียนระบายตกแต่งลงบนผิวภายนอกงานปูนปั้นตามวรรณะที่ควร จะเป็นและตามความเห็นงามของช่างผู้ทำการเขียนระบายสีตกแต่งนั้น
งานปั้นปูนที่เป็นประจักษ์พยานปรากฏมาในอดีตมีดังนี้
งานปั้นปูน ประเภทลวดลายประดับตกแต่ง ตัวอย่างเช่น ลวดลายประดับพระมหาธาตุเจดีย์ ลวดลายประดับ หน้าบัน ลวดลายประดับฐานพระพุทธรูป ฯลฯ
งานปั้นปูน ประเภทองค์ประกอบสถาปัตยกรรม ตัวอย่างเช่น บัวปลายเสา กรอบซุ้มคูหาประตูและหน้าต่าง กรอบหน้าบัน กาบพรหมศร บันแถลง ฯลฯ
งานปั้นปูน ประเภทประติมากรรมติดที่ ตัวอย่างเช่น ภาพปั้นพระพุทธรูปประดับประจำซุ้มคูหา พระมหาธาตุ เจดีย์ ภาพปั้นเรื่องพุทธประวัติประดับฝาผนัง ภาพปั้นทวารบาลประจำข้างกบช่องประตู
งานปั้นปูน ประเภทประติมากรรมลอยตัว ตัวอย่างเช่น พระพุทธปฎิมาประธานประจำพระอุโบสถและ พระวิหาร พระพุทธรูปประจำห้องในพระระเบียง พระบรมรูปฉลองพระองค์พระมหากษัตริย์ รูปพระเถรสำคัญ รูปบุคคลมีชื่อ

วรากร 23-03-2009 21:27

ขอบคุณครับสำหรับความรู้ดีๆคู่คนไทย สำหรับตัวกระผมเองมีความชอบอยากจะเป็นช่างทั้ง ๑๐ หมู่ครับ

วาโยรัตนะ 23-03-2009 21:29

งานปั้นรักสมุก

รักสมุก เป็นวัสดุที่ประกอบขึ้นด้วยรักน้ำเกลี้ยง สมุก น้ำมันยาง และปูนแดงเล็กน้อยผสมร่วมเข้าด้วยกันเป็น เนื้อวัสดุที่อาจปั้นให้เป็นรูปทรงต่งๆ ได้ดังประสงค์ และรักสมุกนี้ภายหลังแห้งสนิทแล้วจะแข็งและคงรูปอยู่เช่นนั้นได้ นาน ไม่แตกหักง่ายหากไม่ถูกกระทบกระทั่งอย่างแรง รักสมุกจึงเป็นวัสดุอีกชนิดหนึ่งที่ช่างปั้นสมัยก่อนนิยมทำขึ้น สำหรับใช้ปั้นงานปั้นบางชนิด
งานปั้นรักสมุก เป็นผลงานที่ได้รับการสร้างทำขึ้นด้วยวิธีและกระบวนการปั้นอย่างโบราณวิธี จัดเป็นความรู้ และกลวิธีประกอบกับฝีมือของช่างปั้นเฉพาะประเภทที่มีความสำคัญประเภทหนึ่ง วิธีการและกระบวนการปั้นดัง ต่อไปนี้

การเตรียมรักสมุก

ขั้นต้น นำสมุกซึ่งผ่านการร่อนเป็นผงละเอียด ผสมกับรักน้ำเกลี้ยงคลุกเคล้าให้เข้ากันพอสมควร ใส่ครกตำ หรือโขลกไปจนกระทั่งสมุกแตกร่วนคล้ายกับขนมขี้หนูเป็นใช้การได้
ขั้นที่สอง เอาสมุกซึ่งผสมกับรักน้ำเกลี้ยงที่ได้ตำให้เข้ากันนำขึ้นตั้งไฟโดยใช้ความร้อนปานกลาง กวนสมุก ให้ร้อนระอุทั่วกันไปจนเหนียวใกล้จะได้ที่จึงเติม "น้ำปูนใส" ลงผสมกับสมุก กวนเคี่ยวไปจนกระทั่งสมุกเหนียวได้ที่ก็ ราไฟ ยกเอาภาชนะใส่สมุกนั้นลงพักไว้
ขั้นที่สาม ควักสมุกที่กวนเคี่ยวได้ที่แล้วเล็กน้อย หยอดลงในน้ำเย็นธรรมดาสักพักหนึ่ง จึงเอาสมุกนั้นขึ้นมาปั้น เป็นรูปทรงกรวย ขนาดต่างๆ กันสัก ๓-๔ อัน ตั้งทิ้งไว้สักวันหนึ่ง หรือกับอีกคืนหนึ่ง เพื่อทดสอบดูว่าสมุกที่กวนเคี่ยว นี้จะทรงตัวอยู่ได้ดี พอเหมาะจะนำมาใช้ทำงานนั้นต่อไปได้หรือไม่
ขั้นสุดท้าย นำสมุกที่ผ่านการทดสอบแล้วมาปั้นทำให้เป็นแท่งกลมๆ โตขนาดหัวแม่มือยาวประมาณสักฝ่ามือ หนึ่ง ทำเตรียมไว้หลายๆ แท่งให้พอแก่ความต้องการใช้ปั้น สมุกแต่ละแท่งต้องทาด้วยปูนแดงผสมน้ำปูนข้นๆ ทาให้ ทั่วทั้งแท่งทุกๆ แท่ง จึงใช้ใบตองสดพันห่อให้มิดชิดเก็บไว้สำหรับจะใช้งานต่อไป

เครื่องมือสำหรับงานปั้นรักสมุก

งานปั้นรักสมุก นอกจากการใช้ฝีมือของช่างปั้นแล้ว ยังอาศัยเครื่องมือบางอย่างสำหรับทำงานปั้นในบาง ส่วนมีดังนี้
ไม้คลึงสมุก เป็นเครื่องมือสำหรับคลึง นวด รักสมุกให้อ่อนตัว ทำให้แบบเป็นแผ่นตามต้องการ
ไม้ตีกระยัง ใช้สำหรับ บด ตี รักสมุกให้นิ่มและทำเป็นรูปต่างๆ
ไม้เนียน ใช้สำหรับปั้นแต่งเติมเพิ่มหรือลดรักสมุก หรือกวดผิวเนื้อรักสมุกให้เรียบเกลี้ยง
มีดปลายแหลม ใช้ตัด เจียน ขีดเส้น ช่วยในการปั้น
อุปกรณ์สำหรับงานปั้นรักสมุกที่จะได้ใช้ร่วมในการปั้น มีดังนี้
หินรองตีสมุก ใช้สำหรับรองเพื่อบดหรือตีรักสมุกให้อ่อนตัว หรือบดรักสมุกออกเป็นแผ่น
แม่พิมพ์หิน สำหรับตีพิมพ์รักสมุกใช้ติดประดับงานปั้นตามตำแหน่งที่ต้องการตกแต่งให้มีลวดลาย ต้องมีไว้ หลายชิ้นและแกะทำแม่พิมพ์เป็นลวดลายต่างๆ เตรียมไว้ให้พอแก่ความต้องการใช้งาน
การปั้นรักสมุกมีวิธีการเป็นขั้นเป็นตอนอย่างโบราณวิธี ต่อไปนี้
การปั้นรักสมุกขั้นต้น ต้องนำรักสมุกที่ได้ผ่านการเตรียมและปั้นทำเป็นแท่งๆ ไว้แล้วมาทำให้เนื้อรักสมุกอ่อน ตัวและเนื้อนุ่มพอเหมาะที่ปั้นเป็นรูปต่างๆ ตัดเป็นท่อนสั้นๆ เคล้ากับน้ำมันยางเล็กน้อยให้ทั่ว แล้วนำออกตากแดดจน รักสมุกแต่ละท่อนอ่อนตัวพอสมควร จึงนำมาทุบรวมกันให้เป็นเนื้อเดียวและเหนียวนุ่มพอดี มาคลึงด้วยไม้ คลึงสมุกบนหน้าแผ่นหิน รีดเนื้อรักออกเป็นแผ่นแบบเตรียมไว้สำหรับตัดแบ่งนำมาปั้นขึ้นรูป หรือใช้ตรีพิมพ์กับ แม่พิมพ์ให้เป็นลวดลายต่างๆ ต่อไป
ขั้นที่สอง ใช้รักสมุกปั้นทับลงบนแกนหรือโครงสร้างที่ทำด้วยกระดาษ ไม้ทองหลาง ไม้ระกำ ซึ่งจัดการผูก หรือขึ้นรูปเป็นโครงร่างโกลนๆ ไว้ เป็นต้นว่า กระโหลก กระดาษ ศีรษะหุ่นกระบอก ตุ๊กตาโขน ฯลฯ ปั้นทำรูปทรง ภายนอกและส่วนที่เป็นรายลเอียดต่างๆ ตามรูปลักษณะของงานปั้นชิ้นนั้น
ขั้นที่สาม ตกแต่งงานปั้นด้วยการติดลวดลายต่างๆ ประดับเพิ่มเติมตามตำแหน่งที่ด้วยลวดลายที่เหมาะสม และ สวยงาม คือรักสมุกที่ได้นำมาตีหรือกดลงในแม่พิมพ์หินทำให้เป็นลวดลายต่างๆ ตามแบบในแม่พิมพ์แต่ละแบบๆ นั่นเอง เมื่อจะประดับลวดลายติดกับงานปั้นนั้นต้องใช้ "เทือก" ซึ่งมีส่วนประกอบด้วยวัสดุอย่างเดียวกับรักสมุกที่ได้ ทำขึ้นสำหรับปั้น แต่เคี่ยวให้เหนียวขึ้นไม่ถึงกับจับตัวแน่น มาทาลงตรงตำแหน่งที่ต้องการติดลวดลาย แล้วนำเอา ลายที่ตีพิมพ์มาติดลงที่นั้น เมื่อติดลายประดับตกแต่งสำเร็จแล้ว ผึ่งให้แห้ง ลวดลายก็จะติดแน่นทนอยู่ได้นานๆ

การตกแต่งงานปั้นรักสมุก
http://i113.photobucket.com/albums/n...and/csm006.jpg
งานปั้นด้วยรักสมุกเมื่อสำเร็จเป็นรูปต่างๆ มักเป็นงานปั้นสีดำๆ ไม่สู้งามต้องตาคนทั่วไป ช่างปั้นจึงตกแต่ง งานปั้นด้วยการลงรักปิดทองคำเปลวบ้าง ด้วยการลงสีฝุ่นเขียนระบายเพื่อให้มีสีสันแก่ชิ้นงานปั้นนั้นบ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่ กับความเหมาะสมของงานปั้นด้วยรักสมุกแต่ละชนิด
งานปั้นด้วยรักสมุกอย่างโบราณวิธีตามแบบแผนของช่างปั้นรักสมุกมีงานปั้นอยู่หลายชนิดด้วยกัน ที่ควร กล่าวถึงพอเป็นตัวอย่าง คือ
งานปั้นหน้าโขน เครื่องประดับส่วนต่างๆ บนศีรษะโขน
งานปั้นประดับตกแต่งเครื่องสวมศีรษะ หรือเครื่องศิราภรณ์ คือ ชฎา มงกุฎ รัดเกล้า เกี้ยวลอมพอก
งานปั้นพระพักต์พระพุทธรูป หน้าหุ่นกระบอก หน้าหุ่นใหญ่
งานปั้นตีพิมพ์ลวดลายประดับตกแต่งครุภัณฑ์ต่างๆ เช่น แท่น ฐานแบบต่างๆ ตู้ ม้าหมู่

วาโยรัตนะ 23-03-2009 21:42

ช่างแกะ

ช่างแกะ เป็นช่างประเภทหนึ่งในจำพวกช่างสิบหมู่ จัดเป็นผู้ที่มีความสามารถและฝีมือในการช่าง อาจทำการสร้างสรรค์รูปลักษณ์ที่ประกอบไปด้วยศิลปลักษณะประเภทลวดลายหรือรูปภาพให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการ "แกะ"


คำว่า "แกะ" ซึ่งเป็นวิธีการทำงานของช่างแกะหมายถึง การสร้างทำให้เกิดเป็นลวดลายหรือรูปภาพขึ้นด้วยวิธีใช้เครื่องมือที่เรียกว่า "มีดแกะ" แกะ แคะ ควัก ไปตามวิธีการของช่างประเภทนี้
งานของช่างแกะมักจะเป็นงานขนาดเล็ก เป็นของที่ต้องการความละเอียดประณีตมาก และมีลักษณะศิลปภัณฑ์ที่ได้ใช้วัสดุต่าง ๆ เช่น ไม้ งาช้าง หิน มัน เผือก ฟักทอง เป็นสื่อสำหรับถ่ายทอดความคิด ความเชื่อ ความงามและความสามารถของฝีมือช่างแกะให้ปรากฏ
งานของช่างแกะอาจแสดงออกรูปลักษณ์ในลักษณะงานแกะลอยตัว งานแกะกึ่งพื้นราบ และงานแกะพื้นราบ และงานแกะเส้นเป็นร่องในพื้น
ประเภทของงานแกะอาจแบ่งออกตามวัสดุที่นำมาใช้ทำเป็นสื่อทางการแกะเป็นสองประเภท คือ
งานแกะเครื่องสด
งานแกะเครื่องวัตถุถาวร

งานแกะเครื่องสด

คำว่า "เครื่องสด" หมายถึง วัสดุธรรมชาติที่เป็นของสด เช่น ผลไม้ หัวพืชบางชนิด หยวกกล้วย เป็นต้น

งานแกะเครื่องสด หมายถึง งานที่ช่างแกะได้ใช้วัสดุชนิดที่เป็นเครื่องสด แกะทำขึ้นเป็น ดอกไม้ ใบไม้ ลวดลาย หรือรูปภาพต่าง ๆ แล้วระบายสีให้ดูสมจริงเพื่อการประดับตกแต่งสิ่งต่าง ๆ ให้สวยงาม เป็นการตกแต่งสิ่งต่าง ๆ ให้สวยงามเป็นการตกแต่งอย่างงานกำมะลอ ใช้งานในช่วงเวลาไม่นานเกินกว่า ๓ วัน หรือชั่วเวลาที่เครื่องสดนั้น ๆ จะเหี่ยวแห้งไป จึงทำเครื่องสดชุดใหม่มาเปลี่ยนแทนที่ งานแกะเครื่องสดจึงจัดว่าเป็นการแสดงความสามารถอย่างสำคัญยิ่งของช่างแกะ เพราะต้องทำการแข่งกับเวลา เนื่องด้วยเป็นของสดต้องทำการให้เสร็จเร็ว ๆ และงามดี ด้วยก่อนที่เครื่องสดนั้นจะเหี่ยวเฉาระหว่างทำการแกะสลักและต้องคำนึงถึงอายุของเครื่องสดที่ได้แกะทำสำเร็จและนำไปใช้ในการประดับตกแต่งสำหรับงานใดงานหนึ่ง จะต้องสดอยู่ได้พอแก่เวลาของงานนั้นจะสิ้นสุด ฉะนี้ช่างแกะเครื่องสดจึงเป็นช่างที่ต้องมีความชำนิชำนาญ ความสามารถ และฝีมือดียิ่ง
งานแกะเครื่องสด ในทางปฏิบัติโดยขนบนิยมอย่างโบราณ มีหลักการและวิธีการเป็นขั้นเป็นตอนต่อไป ดังนี้

วัสดุสำหรับงานแกะเครื่องสด
คือวัสดุดิบในธรรมชาติต่อไปนี้
ผลไม้ ได้แก่ ฟักทอง มะละกอ มะเขือ ฯลฯ
หัวพืช ได้แก่ เผือก มัน กระชาย ฯลฯ
ผัก ได้แก่ ต้นหอม พริก ผักคะน้า ฯลฯ
หยวกกล้วย

อุปกรณ์สำหรับงานแกะเครื่องสด
ต้องการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับงานประเภทนี้ ดังนี้
สี มักนิยมใช้สีย้อมผ้าต่าง ๆ สีอังกฤษ หรือกระดาษอังกฤษ
ไม้กลัด
ดอก ไม้ไผ่เกรียกและเหลาเป็นเส้นแบนยาวประมาณ ๑ ศอก
ลวดดอกไม้ไหว
เครื่องมือสำหรับงานแกะเครื่องสด
งานแกะเครื่องสด มีเครื่องมือสำหรับใช้ปฏิบัติงานตามรายการต่อไปนี้
มีดแกะ มีดแทงหยวก มีดบาง เหล็กหมาด พู่กัน กรรไกร เขียงไม้

การปฏิบัติแกะเครื่องสด

การปฏิบัติงานแกะเครื่องสด มักแบ่งงานเครื่องสดออกเป็น ๒ ลักษณะซึ่งทำขึ้นต่างวิธีกัน แต่อาจทำการอยู่ร่วมกันและได้ใช้งานตกแต่งในที่เดียวกันก็ได้ หรือแยกงานกันก็ได้ คือ

การปฏิบัติงานแทงหยวก
"หยวก" คือ ลำต้นกล้วย ที่ลอกออกมาเป็นกาบ หรือแกนอ่อนของลำต้นกล้วย มีสีขาว งานแทงหยวกมักใช้ "หยวก" หรือ "กาบกล้วย"ตานี เพราะมีสีขาวดีและไม่สู้จะเปลี่ยนสีผิวเร็ว
งานแทงหยวก คือการนำเอากาบกล้วยมาทำให้เป็นลวดลายแบบต่าง ๆ โดยวิธีแทงด้วยมีดแทงหยวก ใช้สำหรับงานประดับตกแต่งที่เป็นการชั่วคราว ตัวอย่างเช่น ประดับเบญจารดน้ำ ประดับร้านม้าเผาศพ ประดับจิตกาธาน เป็นต้น

การปฏิบัติการงานแกะเครื่องสด เป็นงานช่างแกะที่ดำเนินงานด้วยหลักการและวิธีการต่างกันกับการแทงหยวก กล่าวคือ เป็นการนำเอาผลไม้ หัวพืช ผักชนิดใดชนิดหนึ่งหรือหลายชนิดที่ต้องการใช้มา เจียน จัก แกะ แคะ คว้าน ด้วยเครื่องมือที่เป็น "มีดแกะ" ทำให้เป็นรูปภาพหรือลวดลายต่าง ๆ เพื่อนำชิ้นงานที่ทำสำเร็จด้วยวิธีแกะนี้ ไปใช้ติดประดับตกแต่ง งานที่ต้องการตกแต่งด้วยเครื่องสดนี้ มีตัวอย่างเช่น บายศรีต้น โถข้าวยาคู พานหมากประจำกัณฑ์เทศน์มหาชาติ กระทงสำหรับเทศกาลลอยกระทง เบญจารดน้ำ เป็นต้น

วาโยรัตนะ 23-03-2009 21:44

งานแกะเครื่องวัตถุถาวร

งานแกะประเภทนี้ เป็นงานที่ช่างแกะได้ใช้วัสดุที่มีเนื้อแน่นอยู่ตัว และแข็งแรงพอสมควร เช่น ไม้ งาช้าง หิน แกะทำเป็นรูปลักษณ์ประกอบด้วยศิลปลักษณะที่เป็นขนบนิยมในงานศิลปกรรมแบบไทยประเพณี มีต่างๆ กันหลาย รูปแบบ งานแกะวัตถุถาวรได้ทำขึ้นเป็น ๓ ลักษณะด้วยกัน คือ
งานแกะสลักทำรูปลักษณะในพื้นราบ ได้แก่ การแกะตราประทับหนังสือราชการ พระราชลัญจกร แม่พิมพ์ สำหรับตีพิมพ์รักสมุก แม่พิมพ์สำหรับราดดีบุก เป็นต้น
งานแกะทำรูปลักษณ์กึ่งลอยตัว ได้แก่ การแกะกระจังปัก กระจังราย ฉลากงาประจำหอคัมภีร์ ใบประกับหน้า ผูกคัมภีร์ เป็นต้น
งานแกะทำรูปลักษณะลอยตัวขนาดเล็ก ได้แก่ พระพุทธรูป นางกวัก เป็นต้น
งานแกะวัตถุถาวร มีหลักการและวิธีการแกะแต่ละลักษณะเป็นขั้นตอนแต่ละตอนต่อไปนี้
วัสดุสำหรับวานแกะเครื่องวัตถุถาวร วัสดุที่จะได้ใช้สำหรับงานแกะประเภทนี้ ใช้กันมาแต่อดีต คือ
ไม้
งาช้าง
หิน ได้แก่ หินสบู่ หินอ่อน เป็นต้น
เครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับงานประเภทนี้ มีดังนี้
มีดแกะ หน้าต่างๆ เช่น หน้าตัด หน้าเพล่ เป็นต้น
เหล็กแกะ หน้าต่างๆ เช่น หน้าตัด หน้าสามเหลี่ยม เป็นต้น
ลูกตุ้มเหล็ก สำหรับจับงานแกะ
สีรง
กระดาษเพลา หรือกระดาษลอกลาย

การปฏิบัติงานแกะ

การปฏิบัติงานแกะ จะกล่าวเฉพาะงานแกะทำเป็นรูปลักษณ์บนพื้นราบ ทั้งนี้เนื่องด้วยเป็นงานเฉพาะในหมู่ ช่างแกะมาแต่โบราณเป็นต้นว่า งานแกะดวงตรา งานแกะแม่พิมพ์หินสำหรับตีพิมพ์ด้วยรักสมุก ซึ่งดำเนินงานโดย หลักการและวิธีการเป็นขั้นเป็นตอน ต่อไปนี้

การปฏิบัติงานแกะตราหรือดวงตราประทับ
ตรา หรือดวงตรา คือเครื่องหมายที่ประกอบด้วยรูปภาพบ้าง ลวดลายบ้างสำหรับทำให้เกิดเป็นรอยประทับ เป็นสำคัญ มักทำด้วยงาช้างกลึงเป็นรูปทรงกระบอกเตี้ยๆ หน้าตราตัดตรง ด้านหลังตรมักกลึงเป็นปุ่มสำหรับจับตรา ประทับ
การแกะดวงตรา ในชั้นต้นจะต้องจัดการผูกเขียนแบบตราขึ้นก่อนบนกระดาษเพลา หรือกระดาษลอกลาย ให้มีขนาดเท่าขนาดหน้าตราที่จะทำขึ้น เขียนลวดลาย อักษรแสดงข้อความ หรือรูปภาพต่างๆ เป็นลายเส้นให้ชัดเจน เรียบร้อย จึงจัดการถ่ายแบบตราจากระดาษเขียนแบบตราใส่ลงในหน้าตรา
การถ่ายแบบ ในชั้นแรกต้องนำเอา "รง" หรือ "สีรง" คือสีเหลืองที่ได้จากยางต้นรง ทาลงบนหน้าตราให้ทั่ว แล้วผึ่งให้สีแห้ง จึงถ่ายแบบตราลงบนหน้าตรา โดยนำกระดาษเขียนแบบตราไว้แล้วคว่ำหน้าปิดลงบนหน้าตรา แล้วฝนด้านหลังกระดาษค่อนข้างแรงเพื่อให้ลายเขียนด้วยดินสอนั้นติดกับผิวหน้าของตราที่ได้ทาด้วยสีรงไว้ คะเน ว่าลายเขียนติดหน้าตราทั่วและชัดเจนพอสมควรแล้วจึงลอกกระดาษเขียนแบบตราที่เป็นต้นแบบออก ก็จะปรากฏ ลายเส้นเป็นแบบร่างตราที่จะแกะต่อไป
งานแกะตรานี้ ช่างแกะได้ใช้ "เหล็กแกะ" แกะ แคะ คุ้ยพื้นระหว่างเส้นร่างบนหน้าตราออกทีละน้อย จนพื้นลึกลงไปจากผิวพื้นหน้าตราพอสมควร จึงแกะเลียบข้างๆ เส้นร่างทั้งสองข้าง แกะเลี้ยงเส้นให้ขนาดเสมอกัน ระวังมิให้คมเหล็กแกะกินเส้นแหว่งเว้าได้ แกะ แคะ คุ้ย และแต่งเส้ไปตามลำดับจนเส้นร่างปรากฏครบถ้วนสมบูรณ์ แล้วจึงคุ้ยพื้นแต่งหน้าพื้นให้เรียบและต่ำเสมอกันเป็นสำเร็จการแกะตรา

การปฏิบัติงานแกะแม่พิมพ์หิน
แม่พิมพ์หิน เป็นแม่พิมพ์ชนิดหนึ่งสำหรับการสร้างสรรค์งานช่างประณีตศิลปประเภทหนึ่ง คือการทำลวดลาย แบบต่างๆ ด้วยวิธีตีพิมพ์ด้วยรักสมุกหรือรักตีลายบ้าง ด้วยวิธีราดด้วยดีบุกหลอมบ้าง
การทำแม่พิมพ์หิน มักใช้หินสบู่หรือหินอ่อน นำมาตัดเป็นแผ่นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหนาประมาณ ๑ นิ้ว ขนาดกว้างและยาวโดยประมาณไม่จำกัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของช่างจะทำขึ้นใช้งานแต่ละอย่าง หินแต่ละแผ่นที่จะใช้แกะทำเป็นแม่พิมพ์นี้ ต้องขัดแต่งผิวหน้าให้เกลี้ยงเรียบเสมอกัน ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
การแกะทำแม่พิมพ์หิน จะต้องจัดการเขียนลวดลายที่เป็นต้นแบบขึ้นก่อนโดยในชั้นต้นช่างแกะมักเอาสีรงมา ทาลงบนหน้าแผ่นหินรอให้สีแห้งแล้วจึงเขียนลายต้นแบบลงบนพื้นที่ได้ทาสีรงนั้น การเขียนลวดลาย เป็นต้นแบบ สำหรับแกะแม่พิมพ์นี้ ต้องเขียนขนาเท่าจริงของขนาดตัวลายแต่ละตัวที่จะทำขึ้นจากแม่พิมพ์
เมื่อเขียนต้นแบบลวดลายขึ้นบนแผ่นหินเป็นที่เรียบร้อยชัดเจนแล้วจึงลงมือแกะด้วยเหล็กแกะโดยค่อยๆ แกะ แคะ ควักเนื้อหินให้เป็นร่องลึกลงไปตามขนาดตัวลายโดยหลักการว่าส่วนใดในตัวลายหรือลวดลายชุดนั้นๆ เมื่อ ทำขึ้นจากแม่พิมพ์แล้วจะมีลักษณะนูนหรือเป็นสันสูง ก็จะต้องแกะ แคะ แม่พิมพ์ให้เป็นร่องลึกในเนื้อหินเข้าไว้ แต่ในทางตรงกันข้าม ส่วนใดในตัวลายหรือลวดลายชุดนั้น มีลักษณะเป็นเบ้าหรือแบนบางก็จะแกะแคะพื้นนั้นเพียง ตื้นๆ หรือเว้นส่วนนั้นให้ต่ำกว่าผิวพื้น หรือเสมอผิวหน้าแผ่นหินก็มี
อนึ่ง การแกะแม่พิมพ์สำหรับตีพิมพ์ หรือราดดีบุกทำเป็นลวดลายนี้ ระหว่างแกะทำแม่พิมพ์ ช่างแกะมักใช้ขี้ผึ้ง หรือดินเหนียวกดลงในร่องรอยที่กำลังแกะอยู่ เพื่อตรวจดูว่าตัวลายหรือลวดลายที่เกิดขึ้นจากร่องรอยแกะนั้น ถูกต้องตามแบบได้ขนาดพอดี ได้ลักษณะสูงต่ำตามแบบ และส่วนละเอียดชัดเจนเป้นที่พอใจหรือยัง ทำเช่นนี้จนได้ ร่องรอยแกะเป็นลวดลายสำเร็จสมบูรณ์เป็นที่พอใจ และสามารถถอดถอนวัสดุที่นำมาตีพิมพ์ หรือราดออกจากแม่ พิมพ์ที่ได้แกะทำขึ้นนั้นได้ง่าย จึงเป็นอันว่าเสร็จการแกะแม่พิมพ์
แม่พิมพ์หิน ซึ่งช่างแกะได้ทำเสร็จขึ้นนี้ ได้ใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับช่างปั้นได้ใช้ตีพิมพ์รักสมุกหรือรักตีลาย ทำเป็นลวดลายต่างเพื่อการประดับตกแต่งงานประติมากรรมบางประเภท กับบรรดาช่างดีบุกหรือช่างราดดีบุกได้ ใช้สำหรับราดดีบุกหล่อ ทำเป็นลวดลายพื้นโปร่ง ทำเป็นฉัตรปรุ หรือใช้บุพนักต่างๆ เป็นต้น

วาโยรัตนะ 24-03-2009 08:17

ช่างสลัก
Engraving



ช่างสลัก เป็นช่างประเภทหนึ่งในจำพวกช่างสิบหมู่ เป็นผู้มีความสามารถและฝีมือในการช่างทำลวดลาย หรือรูปภาพต่างๆ ขึ้นด้วยวิธีการที่เรียกว่า "สลัก" คำว่า "สลัก" อาจเรียกว่าจำหลักหรือฉลักก็มี เป็นวิธีการของช่าง ทำให้เป็นลวดลายหรือรูปภาพ โดยวิธีใช้ "สิ่ว" เจาะเป็นต้น

http://i113.photobucket.com/albums/n...lfamily139.jpg

งานของช่างสลัก เป็นไปในลักษณะศิลปภัณฑ์ที่ทำขึ้นด้วยการใช้วัสดุเหล่านี้ คือ ไม้ หิน หนัง กระดาษ เป็นสื่อสำหรับถ่ายทอดความคิด ความเชื่อ ความงาม และความสามารถของฝีมือให้ปรากฏอาจแสดงออกเป็น รูปลักษณ์ด้วยลักษณะเป็นงานสลักรูปลอยตัว งานสลักรูปกึ่งลอยตัว งานสลักรูปกึ่งพื้นราบ และงานสลักรูปบนพื้น ราบ เป็นมาเช่นนี้โดยลำดับแต่โบราณกาล
งานของช่างสลักและวิธีการของช่างสลักที่เป็นมาตามแบบแผนซึ่งเป็นขนบนิยมและอย่างโบราณวิธี การสลัก นั้นมีอยู่ด้วยกันหลายประเภท และต่างวิธีในการปฏิบัติงานซึ่งแตกต่างออกไปบ้างเล็กน้อย เป็นความรู้ที่จัดเป็นภูมิ ปัญญาในด้านการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมแบบไทยประเพณีอย่างสำคัญสาขาหนึ่ง งานสลักต่างๆ มีดังต่อไปนี้

งานสลักไม้

งานสลักไม้ คืองานที่ใช้ไม้เนื้อดีมีคุณภาพคงทนถาวรเหมาะสมที่จะนำมาสลักทำขึ้นเป็นรูปทรงสิ่งต่างๆ ลวดลายหรือรูปภาพให้คงรูปอยู่เช่นนั้นได้นานๆ งานสลักไม้ในทางปฏิบัติโดยขนบนิยมอย่างโบราณวิธีสลักไม้ มีขั้นตอนที่เป็นความรู้พึงเข้าใจ ในลำดับต่อไปนี้
ไม้ เป็นวัตถุดิบพึงหามาได้จากธรรมชาติ ไม้แต่ละชนิดที่จะนำมาใช้ทำการสลักขึ้นเป็นลวดลายก็ดี รูปภาพก็ดี ต้องได้รับการคัดเลือกเอาแต่เนื้อไม้ที่คุณภาพดี ไม่ให้มีตาไม้ ไม่ย้อนเสี้ยน หรือมียางตกค้างอยู่มากใน เนื้อไม้นั้น จากนี้จึงนำไม้มาผึ่งในที่ร่มให้เนื้อไม้แห้งสนิท ถ้าได้เนื้อไม้ผึ่งค้างปีก็จะเป็นเนื้อไม้ที่คุณภาพดี จึงนำไม้นั้น มาตัดแบ่งเป็นท่อนหรือเป็นแผ่นตามขนาดที่ประสงค์จะนำมาใช้งานสลักไม้ต่อไป

เครื่องมืองานสลักไม้

การปฏิบัติงานสลักไม้ มีเครื่องมือสำหรับ ถาก ฟัน เจาะ ควักคว้าน และแต่งเกลาไม้สลักจนสำเร็จเป็นรูปไม้ สลักจนสำเร็จเป็นรูปไม้สลักดังประสงค์ตามรายการต่อไปนี้
ขวานหมู
ผึ่ง เครื่องมือถากไม้ รูปคล้ายจอบหน้าแคบ
สิ่ว หน้าต่างๆ คือ
สิ่วฉากหรือสิ่วหน้าตัดตรง
สิ่วหน้าเพล่ หรือสิ่วหน้าตัดเฉียง
สิ่วเล็บมือ หรือสิ่วหน้าโค้งรูป ๑/๔ วงกลม
สิ่วร่อง หรือ สิ่วหน้ารูปตัววี (V)
สว่านโยน เครื่องมือสำหรับเจาะไม้
ค้อนไม้
ไม้ตอกสิ่ว เครื่องมือสำหรับใช้แทนค้อนไม้ในบางที

การปฏิบัติงานสลักไม้

การปฏิบัติงานสลักไม้ ขั้นตอนแต่ละขั้นตอนเป็นไปดังต่อไปนี้

การขึ้นรูปสลักไม้

การขึ้นรูปสลักไม้ คือขั้นตอนแรกเริ่มงานปฏิบัติงานส่วนสลักไม้ชั้นต้นจะต้องจัดการร่างแบบขึ้นบนท่อนไม้ หรือแผ่นไม้นั้นให้เป็นรูปร่างหรือลวดลาย พอเป็นเค้ารอยหยาบๆ ขึ้นเสียก่อนด้วยดินสอขาว จึงใช้หมึกตัดเส้นทับเส้น ร่างเดินสอขาวนั้นให้ชัดเจน จากนั้นจึงเริ่มงานขั้น "ขึ้นรูปสลักไม้" ด้วยการใช้ "ขวานหมู" หรือ "ผึ่ง" ฟัน ถาก ตัดเอาเนื้อไม้ส่วนที่ไม่พึ่งประสงค์ออกไปจากท่อนไม้จนกระทั่งเป็นรูปทรงเลาๆ ของรูปภาพเรียกว่า "หุ่นโกลน"

การจัดรูปไม้สลัก

การวัดรูป เป็นขั้นตอนสลักไม้ทำเป็นรูปภาพหรือลวดลายต่อเนื่องจากการที่ได้ขึ้น "หุ่นโกลน" การปฏิบัติงาน ขั้นนี้มักใช้สิ่วหน้าต่างๆ และขนาดต่างกัน สลักปรับเปลี่ยน "หุ่นโกลน" ให้ปรากฏทรวดทรงขนาด และส่วนสัดให้ ชัดเจนจนดูคล้ายจะเป็นรูปไม้สลักกึ่งสำเร็จงานสลักไม้ขั้นนี้เรียกว่า "รัดรูป" และชิ้นไม้สลักที่ผ่านขั้นตอนการรัดรูป แล้วนี้เรียกว่า "หุ่น"

การสลักส่วนละเอียด

การสลักไม้ขั้นนี้จัดเป็นขั้นตอนงานฝีมือที่ต้องใช้ความสามารถมากกว่าการปฏิบัติงานสลักไม้ขั้นต้นๆ เพราะ ต้องสลักทำส่วนละเอียดต่างๆ ของรูปภาพหรือลวดลายให้ปรากฏเห็นได้ชัดตามกระบวนแบบอันเป็นขนบนิยม ทั้งยัง เป็นช่องทางและโอกาสให้ช่างสลักได้แสดงออกความสามารถของฝีมือ ประสบการณ์ความชำนิชำนาญ และภูมิรู้ โดยเต็มกำลังของช่าง

การเก็บงานไม้สลัก

การเก็บงาน คือการตรวจดูความเรียบร้อยของงานไม้สลัก โดยตรวจเก็บส่วนที่ควรปรับควรแก้แต่งให้ดีให้ งามสมบูรณ์ และยังกินความถึง การสลักทิ้งฝีสิ่วไว้บนชิ้นงานให้เห็นความสดในการตัดสินใจอย่างแม่นยำฉับพลัน ในชิ้นงานนั้นหรือการแสดงออกวุฒิภาวะในทางสุนทรียภาพของช่างสลักฝากขึ้นไว้ในชิ้นงาน เช่น การสะบัดปลาย กระหนกอย่างพิสดารในขั้นสุดท้ายเป็นการเน้นการทำให้สมบูรณ์แก่ชิ้นงานเป็นขั้นท้ายที่สุด

การตกแต่งงานไม้สลัก

การตกแต่งงานไม้สลักปรกติมักทาน้ำมันเพื่อรักษาเนื้อไม้หรืออาจตกแต่งในลักษณะและวิธีการอื่นได้อีก คือ
การตกแต่งด้วยการลงรักปิดทองคำเปลว
การตกแต่งด้วยการเขียนระบายสี
การตกแต่งด้วยการประดับมุก
การตกแต่งด้วยการประดับกระจกสี
งานไม้สลัก ที่เป็นงานในหน้าที่ของช่างสลักไม้ มีงานไม้สลักแต่ละประเภท ดังต่อไปนี้
งานสลักไม้ประเภทรูปปฏิมากรรม ได้แก่ พระพุทธรูป เทวรูป รูปฉลองพระองค์พระมหากษัตริย์
งานสลักไม้ประเภทรูปประติมากรรม ได้แก่ รูปนางกวัก รูปเจว็ด รูปอมนุษย์ รูปสัตว์หิมพานต์
งานสลักไม้ประเภทเครื่องอุปโภค ได้แก่ ม้าหมู่ ดั่ง เตียง ตู้ ม้าเครื่องแป้ง อัฒจันทร์ที่ตั้งพระกรอบสำหรับเข้า กระจก
งานสลักไม้ประเภทเครื่องยานพาหนะ ได้แก่ พระราชยาน เรือ พระที่นั่ง ราชรถ สีวิกา
งานสลักไม้ประเภทองค์ประกอบสถาปัตยกรรม ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องยอดพระมหาปราสาท เครื่องประ กอบหน้าบัน ลายหน้าบัน คันทวย บุษบก บานประตู บานหน้าต่าง หย่อง

วาโยรัตนะ 24-03-2009 08:20

งานสลักหนัง

งานสลักหนัง คืองานที่ช่างสลักได้ใช้หนังวัว หรือหนังควายนำมาสลักทำเป็นรูปภาพ และลวดลายปรากฏขึ้น ่ในผืนหนังนั้น เพื่อใช้สำหรับการแสดงมหรสพตามประเพณีนิยมที่เรียกว่า "หนังใหญ่" จัดว่าเป็นการสร้างสรรค์ ศิลปกรรมแบบไทยประเพณีในรูปลักษณ์ที่เป็นงานประติมากรรมบนพื้นราบด้วยวิธีการสลัก

http://i113.photobucket.com/albums/n...ngSipMu001.jpg

การรับรู้รับชมงานศิลปกรรมประเภทนี้ มักนิยมดูชมภาพลักษณ์ของหนังใหญ่ที่เกิดจากเงาของตัวหนังแต่ละ ตัวปรากฏขึ้นบนจอผ้าขาว โดยมีแสงไฟส่องไปยังตัวหนังซึ่งขวางจอผ้าขาว ตัวหนังแต่ละตัวซึ่งได้รับการทำขึ้น ด้วยวิธีการสลักและฝีมือช่างสลัก ยังมีคุณค่าในตัวของมันเองที่เป็นทั้งรูปแบบงานจิตรกรรมร่วมกับประติมากรรม ที่มีความงามทั้งเส้นสายลายเขียนและปริมาตรของรูปและกลุ่มภาพ ซึ่งได้รับการนิรมิตขึ้นด้วยวิธีการสลัก
งานสลักหนัง กล่าวโดยเฉพาะในทางปฏิบัติการสลักหนังใหญ่โดยขนบนิยมอย่างโบราณวิธีสลักหนังใหญ่ โดยขนบนิยมอย่างโบราณวิธีสลักหนัง มีขั้นตอนในการทำงานในลำดับต่อไปนี้
หนัง คือหนังสัตว์ที่เป็นวัสดุดิบตามธรรมชาติ ปรกติใช้หนังวัวหนังควายทั้งตัว นำมาขึงให้ตึงตากแห้งได้ที่ ระหว่างตากหนังจะต้องขูดผิวเอาขนพังผืด และสิ่งสกปรกออกให้สะอาดหมดจด และขูดแต่งฝืนหนังให้เกลี้ยงเรียบ เสมอกันทั้งผืน

เครื่องมืองานสลักหนัง

การปฏิบัติงานสลักหนัง มีเครื่องมือสำหรับช่างสลักหนังได้ใช้สำหรับงานสลัก ดังรายการต่อไปนี้
สิ่ว หน้าต่างๆ คือ
สิ่วฉาก
สิ่วเล็บมือ
สิ่วเม็ดแดง
สิ่วร่อง
มุกหรือตุ๊ดตู่ คือเครื่องมือสำหรับเจาะเป็นรูกลม มีหลายขนาด
ค้อนไม้
เขียงไม้

อุปกรณ์สำหรับงานสลักหนัง

งานสลักหนัง ต้องใช้อุปกรณ์สองสามสิ่งประกอบการงานนี้ ดังนี้
สีเขม่า หรือถ่านกาบมะพร้าว
ใบฟักข้าว
น้ำข้าวเช็ด
ดินสอขาว

การร่างแบบ

การร่างแบบภาพและลวดลายที่จะสลักหนังทำเป็นรูปภาพหรือลวดลายขึ้นบนผืนหนังนี้ มีขั้นตอนดังนี้
ขั้นแรก นำผืนหนังที่ตากแห้งได้ที่มาวางแผ่ลงบนพื้นราบๆ ใช้สีเขม่าหรือถ่านกาบมะพร้าวที่ทำให้เป็นผลผสม กับน้ำข้าวเช็ดค่อนข้างขัน นำมาทาลงบนผืนหนังให้ดำทั่วกันทั้งผืนแล้วผึ่งทิ้งไว้ให้แห้ง
ขั้นที่สอง เมื่อหนังซึ่งทาทำให้ผิวหน้าเป็นสีดำแห้งดีแล้ว จึงขัดถูด้วยใบฟักข้าว โดยประสงค์ให้หนังขึ้นมัน
ขั้นที่สาม นำหนังที่ขัดหน้าเป็นมันเรียบร้อยแล้วมาร่างแบบด้วยดินสอขาว เป็นรูปภาพหรือลวดลายด้วยลาย เส้นสีขาว ซึ่งสุดแท้แต่ประสงค์จะผูกเป็นภาพขึ้นสำหรับสลักหนังให้เข้ากันกับเรื่องแต่ละตอนที่จะแสดงหนังนั้น

การสลักหนัง

การสลักหนัง มีวิธีการสลักในลักษณะต่างๆ กันคือ
วิธีสลักเดินเส้นยาว
วิธีสลักเดินเส้นสั้น
วิธีสลักเปิดพื้นหนังให้เป็นช่องว่าง
วิธีสลักฝ้าปิดหลัง เป็นวิธีการเฉพาะของช่างที่จะทำให้เกิดตัวหนังชนิดต่างๆ
อนึ่ง การสลักหนังวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งจะต้องใช้เขียงไม้รองรับอยู่เบื้องล่างข้างได้แผ่น หนังเสมอ

การตกแต่งหนัง

หนังที่ได้ผ่านการสลักทำขึ้นเป็นตัวหนังนี้ อาจต้องการตกแต่งให้สวยงามตามความต้องการ และประสงค์จะ ใช้แสดงในโอกาสต่างกัน ดังนี้
ตัวหนังใหญ่สำหรับใช้แสดงในเวลากลางคืน ปรกติจะทาตัวหนังด้วยรักน้ำเกลี้ยง เป็นสีน้ำตาลไหม้หรือสีดำ ในพื้นที่เป็นฝ้า มักขูดให้เป็นสีเดิมของหนังคือสีขาวใส และบางส่วนในตัวภาพอาจระบายด้วยสีแดง สีเขียวก็มี
ตัวหนังใหญ่สำหรับใช้ออกแสดงตอนกลางวันตั้งแต่บ่ายไปจนกระทั่งเวลาเย็น ตัวหนังประเภทนี้มักได้รับการ ตกแต่งระบายสีอย่างรูปภาพจิตรกรรมแบบไทยประเพณี
ตัวหนังทั้งที่เป็นหนังกลางคืนและหนังกลางวัน เมื่อทำสำเร็จขึ้นเป็นตัวหนังแล้วจะต้องนำมาเข้าไม้กระหนาบ ตัวหนังขึ้นเป็นคู่ๆ สำหรับใช้จับเชิดหนังต่อไป

วาโยรัตนะ 24-03-2009 08:25

งานสลักกระดาษ

งานสลักกระดาษ หรือบางทีเรียกว่า "งานปรุกระดาษ" คืองานที่ช่างใช้กระดาษชนิดต่างๆ มาสลักทำให้เป็น รูปภาพหรือลวดลาย แล้วนำไปปิดประดับเป็นงานตกแต่งสิ่งต่างๆ ทั้งที่เป็นสิ่งถาวรอยู่ได้นาน เช่น ปิดเป็นลวดลาย บนระใบฉัตรทองแผ่ลวด หรือเป็นสิ่งที่ต้องการใช้งานชั่วคราว เช่น ปิดลวดลายตกแต่งพระเมรุ ตกแต่งฐานเบญจา ตกแต่งเครื่องจิตกาธาน เป็นต้น
งานสลักกระดาษ ทำเป็นรูปภาพหรือลวดลายต่างๆ ที่ตามแบบแผนอย่างศิลปแบบไทยประเพณี และทำขึ้น ด้วยวิธีการอย่างโบราณ วิธีสลักกระดาษนั้น มีหลักการและขั้นตอนในการปฏิบัติงานโดยลำดับต่อไปนี้

วัสดุสำหรับงานสลักกระดาษ


วัสดุที่เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับงานสลักกระดาษ คือกระดาษชนิดต่างๆ ต่อไปนี้
กระดาษอังกฤษ หรืออังกฤษเป็นโลหะชนิดหนึ่งแผ่นบางๆ ปรกติเป็นสีเงินทั้งสองด้าน แต่ได้ทำให้ด้านหนึ่ง เป็นสีทอง หรือสีอื่นๆ ก็มี
กระดาษทองย่น กระดาษชนิดหนึ่งปิดโลหะแผ่นบางๆ เคลือบด้วยสีทอง ผิวย่นเป็นริ้วๆ
กระดาษทองตะกู หรือกระดาษทองน้ำตะโก คือ กระดาษชนิดหนึ่งปิดทับด้วยแผ่นตะกั่วบางๆ แล้วทาด้วยรง ผสมน้ำมันยางให้เป็นสีทอง
กระดาษแผ่ลวด หรือทองแผ่ลวด หรือใบลวดก็ว่า คือกระดาษชนิดหนึ่ง หารักน้ำเกลี้ยงแล้วปิดหน้ากระดาษ ด้วยทองคำเปลวแผ่เต็มหน้ากระดาษ
กระดาษทองเงิน คือกระดาษชนิดหนึ่ง เคลือบผิวเป้นสีทอง สีเงินและสีอื่นๆ ผิวเป็นมันคล้ายอังกฤษ
กระดาษสี คือกระดาษชนิดหนึ่ง ย้อมทำเป็นสีต่างๆ
กระดาษฟาง
กระดาษว่าว

เครื่องมืองานสลักกระดาษ

การปฏิบัติงานสลักกระดาษตามอย่างโบราณวิธี ต้องการเครื่องมือสำหรับงานช่างประเภทนี้ ดังรายการต่อ ไปนี้
สิ่ว หน้าต่างๆ คือ
สิ่วฉาก
สิ่วเล็บมือ
สิ่วเม็ดแตง
สิ่วร่อง
ตุ๊ดตู่ ขนาดต่างๆ
เหล็กปรุ สำหรับดุนลายเนื่องเม็ดไข่ปลา
เหล็กหมาด
มีดบาง สำหรับตัดกระดาษ หรือกรรไกร
ค้อนไม้

อุปกรณ์สำหรับงานสลักกระดาษ ได้แก่

เขียงไม้
ลวดดอกไม้ไหว
แป้งเปียก

การปฏิบัติงานสลักกระดาษ

ขั้นตอนการปฏิบัติงานสลักกระดาษอย่างโบราณวิธี มีลำดับขั้นตอนดังนี้

การผูกเขียนภาพ หรือลวดลายสำหรับสลักกระดาษ
การผูกเขียนรูปภาพหรือลวดลายที่จะใช้เป็นแบบแผนสำหรับจะได้ทำการสลักกระดาษ มีหลักการและวิธีการ ต่างกัน ๒ ลักษณะ คือ การผูกรูปภาพหรือลวดลายแบบเจาะช่องไฟหรือผูกลายทิ้งพื้น และแบบเจาะตัวลายหรือผูก ลายทิ้งลาย
แบบร่าง หรือแบบอย่างที่ผูกเขียนขึ้นสำหรับจะได้ใช้งานสำหรับสลักกระดาษ จะต้องเขียนให้เท่าขนาดจริง และเป็นลายเส้นชัดเจนถ้าเป็นงานสลักกระดาษที่ต้องการทำลวดลายติดเนื่องต่อกันด้วย "แม่ลาย" เดียวกันก็จะต้อง คัดลอก "แม่ลาย" ขึ้นจากแบบร่างที่เป็นต้นแบบไว้ให้มากแผ่นพอแก่จำนวนที่ต้องการกระดาษที่ได้ลอกแม่ลายไว้นี้ เรียกว่า "แม่แบบ"

การเตรียมงานสลักกระดาษ

ขั้นต้น จะต้องตัดกระดาษชนิดที่เลือกไว้จะใช้งานสลักให้ได้ขนาดกันกับขนาด "แม่แบบ" แต่ละแบบ ให้ได้ จำนวนมากพอสำหรับจะใช้งาน
ขั้นที่สอง นำเอากระดาษฟางมาตัดเป็นแผ่นให้ได้ขนาดกันกับกระดาษ "แม่แบบ" ให้ได้จำนวนเกินกว่า กระดาษที่ใช้สลักทำรูปภาพหรือลวดลาย กระดาษฟางนี้ เรียกว่า "ใบซับ" สำหรับใช้วางคั่นอยู่ระหว่างกระดาษที่จะ สลักแต่ละแผ่นๆ
ขั้นที่สาม จัดกระดาษวางให้เป็นลำดับสำหรับจะทำการสลักโดยมีใบซับคั่นไว้แต่ละแผ่น เพื่อคั่นกระดาษที่ได้ สลักแล้วติดกันกระดาษที่ได้สลักแล้วติดกันกระดาษที่ลำดับเรียบร้อยแล้วนี้เรียกว่า "ตั้ง"
ขั้นที่สี่ เป็นการใส่ "หมุด" คือ การดาษว่าวทำเป็น "หมุด" ร้อยลงที่มุมตั้งกระดาษทั้ง ๔ มุม กำกับตั้งกระดาษ มิให้เลื่อนหรือเหลื่อมหลุดออกจากตั้งขณะทำการสลัก

การสลักกระดาษ

การสลักกระดาษ ทำเป็นลวดลายหรือรูปภาพให้ได้งานสลักดังแบบอย่างที่ได้ผูกเขียนทำขึ้นเป็นแบบไว้แต่ แรก ทำดังนี้
นำเอาตั้งกระดาษที่ได้วาง "แม่แบบ" และใส่ "หมุด" ไว้มาวางลงบน "เขียงไม้" ใช้สิ่วหน้าต่างๆ และขนาดต่างๆ กัน ตอกเจาะหรือสลักเดินไปตามลายเส้น "แม่แบบ" ตอนใดที่ต้องการให้เป็นรูเป็นดวงจะใช้ตุ๊ดตู่ เจาะปรุ หรือหากต้องการทำเป็นเส้นแสดงส่วนละเอียด เป็นเส้นไข่ปลา ก็ต้องใช้เหล็กปรุตอกดุนขึ้นมาข้างใต้ตัวลาย หรือรูปภาพ ซึ่งต้องทำภายหลังสลักทำเป็นลวดลายหรือรูปภาพครบถ้วนแล้ว

การรื้อตั้งกระดาษ

เมื่อสลักกระดาษแต่ะลตั้งๆ สำเร็จครบถ้วนแล้ว จึงรื้อตั้งกระดาษออก โดยปลดหมุดแต่ละตัวด้วยการคลายปม ที่ปลายหมุด แล้วถอนหมุดขึ้นให้หมด จึงปลดกระดาษที่สลักแล้วออกจากใบซับนำไปใช้งานต่อไป

การตกแต่งงานสลักกระดาษ

กระดาษชนิดที่ใช้ในการสลักทำให้เป็นลวดลายหรือรูปภาพต่างๆ ส่วนมากมักเป็นกระดาษสีทอง ดังนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มเติมสีสันให้แก่งานสลักกระดาษให้สวยงามมีคุณค่าเสมอด้วย หรือทดแทนงานปิดทอง ประดับกระจก ได้ แม้จะเป็นงานศิลปอย่างกำมะลอก็ตาม จึงได้มีการนำกระดาษสีต่างๆ มาใช้เป็นส่วนประกอบร่วมกับกระดาษ สีทองโดยใช้กระดาษสีรองอยู่ข้างใต้ช่องที่เจาะเป็นลายหรือพื้นลาย ที่ได้สลักทำเป็นลวดลายนั้น
งานสลักกระดาษ เป็นงานศิลปกรรมที่จัดอยู่ในจำพวกประณีตศิลป เป็นงานในหน้าที่ช่างสลัก ซึ่งเป็นช่าง จำพวกหนึ่งในช่างสิบหมู่นี้มีงานสลักกระดาษโดยประเพณีนิยมที่ได้สร้างทำขึ้นในโอกาส วาระ และการใช้สอย ต่างๆ ที่พึงยกมากล่าวให้ทราบคือ
งานสลักกระดาษประดับเครื่องแสดงอิสริยยศ ได้แก่ ฉัตรทองแผ่ลวด ฉัตรปรุ บังสูรย์ บังแทรก จามร
งานสลักกระดาษประดับเครื่องอุปโภค ได้แก่ พานแว่นฟ้า พานพุ่มขี้ผึ้ง ตะลุ่ม กระจาดเครื่องกัณฑ์เทศน์
งานสลักกระดาษประดับเครื่องตกแต่ง ได้แก่ ม่าน ฉาก หน้าบันพลับพลา เพดานปรำ
งานสลักกระดาษประดับเครื่องศพ ได้แก่ ประดับลูกโกศ เมรุราษฎร พระเมรุของหลวง จิตกาธาน เป็นต้น

วาโยรัตนะ 24-03-2009 08:29

ช่างหล่อ
Moulding



ช่างหล่อ เป็นช่างสร้างศิลปกรรมประเภทวิจิตรศิลปงานของช่างหล่อเป็นงานที่เกี่ยวเนื่องกันกับงานปั้น ช่างหล่อจำนวนไม่น้อยมักเป็นผู้ที่มีความสามารถในการปั้นอยู่ด้วย หรือไม่ก็เป็นทั้งช่างปั้นและช่างหล่ออยู่ในคน เดียวกัน ทั้งนี้เนื่องด้วยงานปั้นที่เป็นประติมากรรมแบบไทยประเพณี เป็นต้นว่า พระพุทธปฏิมากร เทวปฏิมากร รูปฉลองพระองค์ พระมหากษัตริย์ ฯลฯ เมื่อจะทำเป็นรูปอย่างโลหะหล่อ ก็จะต้องจัดการปั้นหุ่นรูปนั้นๆ ขึ้นเสียก่อน ด้วยขี้ผึ้ง แล้วจึงทำการเปลี่ยนสภาพรูปหุ่นนั้นแปรไปเป็นรูปโลหะหล่อ ซึ่งกระบวนการแต่ละขึ้นตอนของงานประเภท นี้ ย่อมมีความสัมพันธ์แก่กันและกันทุกขั้นตอน ดังนี้ ช่างหล่อจึงมักเป็นช่างปั้นอยู่ในตัวเป็นขนบนิยมเช่นนี้มาแต่ โบราณ



งานหล่อ ที่เป็นงานของช่างในจำพวกช่างสิบหมู่นี้หมายถึงการสร้างงานประติมากรรม หรือรูปปฎิมากรรม ให้มีขึ้นด้วยการหลอมโลหะให้ละลายเป็นของเหลว แล้วเทกรอกเข้าไปในแม่พิมพ์ที่ได้จัดทำขึ้นบังคับให้โลหะเหลว ขั้งอยู่ในนั้น เมื่อโลหะคลายความร้อนและคืนตัวแข็งดังเดิม ก็จะเป็นรูปทรงตามแม่พิมพ์นั้นบังคับให้เป็นไป พอแกะ หรือทำลายแม่พิมพ์ออกหมดก็จะได้รูปโลหะหล่อ ตามรูปต้นแบบหรือรูปหุ่นที่ได้ทำขึ้นเป็นแบบก่อนที่จะถ่ายถอนทำ แม่พิมพ์ หรือทำแม่พิมพ์ขึ้นหุ้มหุ่นนั้น
งานช่างหล่อ หรืองานหล่อโลหะด้วยวิธีและกระบวนการที่เป็นขนบนิยมอย่างโบราณวิธี มีชื่อเรียกโดยเฉพาะ ว่า วิธีหล่อโหละอย่างสูญขี้ผึ้ง (Lost Wax Process) เป็นวิธีหล่อโลหะวิธีหนึ่ง
งานของช่างหล่อโหละ มักแบ่งงานเป็น ๒ ตอนด้วยกันคือ การขึ้นหุ่นตอนหนึ่ง กับการหล่อโลหะอีกตอนหนึ่ง

การขึ้นหุ่น

จัดเป็นงานขั้นเตรียมงานขั้นต้นเพื่อส่งต่อไปให้การหล่อ การขึ้นหุ่นหรืองานขึ้นหุ่น ก็คือ การปั้นรูปสิ่งที่ประ สงค์จะหล่อเป็นโลหะ งานขั้นแรกนี้ต้องการวัสดุ อุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับปฏิบัติงานตามรายการ ต่อไปนี้

วัสดุสำหรับงานขึ้นรูป
ทรายแม่น้ำ ชนิดเม็ดละเอียด
ดินเหนียว
ดินนวล
ขี้ผึ้งแท้
ขี้วัว
ขี้เถ้าแกลบ ป่นเป็นผงละเอียด
ชัน
น้ำมันยาง
สีฝุ่นแดง

เครื่องมือสำหรับงานขึ้นรูป ประกอบด้วยเครื่องมือต่างๆ ต่อไปนี้
กราด เครื่องมือสำหรับเหลารูป
ขอเหล็ก เหล็กชิ้นแบนยาวประมาณ ๘ นิ้ว ตรงปลายงอเป็นขอ
ไม้เสนียด เครื่องมือสำหรับปั้นแต่ง ทำส่วนละเอียด
มีดบาง สำหรับตัดแบ่งขี้ผึ้ง
กระดาน แผ่นกระดานสำหรับรองบดขี้ผึ้ง
แปรง

งานขึ้นหุ่นแกนทราย

งานขึ้นหุ่น หรือขึ้นรูปประติมากรรมเป็นหุ่นต้นแบบสำหรับจะทำการหล่อโหละให้เป็นรูปประติมากรรมต้น แบบ จะยกเอางานขึ้นหุ่นและหล่อรูปพระพุทธปฎิมากรมาเป็นตัวอย่าง ดังต่อไปนี้
งานขึ้นหุ่นแกนทราย คือการปั้นทรายที่ได้รับการผสมให้มีคุณภาพเหนียว และจับกันทรงตัวอยู่ถาวร เพื่อทำเป็นแกนหรือโครงสร้างของรูปประติมากรรมที่จะปั้นด้วยขี้ผึ้ง ทำเป็นประติมากรรมต้นแบบนำมาพอกขึ้นเป็น รูปบนแกนหรือโครงสร้างทำด้วยทรายนี้ต่อไป
เมื่อขึ้นหุ่นแกนทราย ได้ขนาดได้รูปทรง ส่วนสัด เหมาะสมตามความประสงค์แล้ว ต้องผึ่งรูปหุ่นแกนทรายที่ ขึ้นรูปไว้นี้ในที่โล่งที่มีแดดลงรำไร จนหุ่นแกนทรายแห้งจึงจัดการ "เหลารูป" คือใช้เครื่องมือที่เรียกว่า "กราด" ขูด เกลา เหลา รูปหุ่นแกนทรายแต่งแก้ให้ได้รูปได้ทรง ขนาดที่พอดีและผิวเรียบเกลี้ยง เรียกว่า "รัดรูป"

การทำราง

"ราง" คือทางสำหรับโลหะที่หลอมให้เหลวไหลลงไปในแม่พิมพ์ แล้วแผ่ออกเป็นเนื้อของรูปประติมากรรม แทนที่ขี้ผึ้งที่ได้รับการขับออกไปจากแม่พิมพ์
วิธีทำรางนี้ ต้องเซาะทำเป็นรางรูปตัววี (V) ลงบนหุ่นแกนทรายเป็นแนวดิ่งทางด้านหน้ารางหนึ่งกับทางด้าน หลังรางหนึ่ง ต้นรางเริ่มที่กลางศีรษะของหุ่นแกนทราย ปลายรางไปสุดที่ริมฐานข้างล่าง รางทั้งสองทำรางแตก สาขาออกไปทั้งสองข้างคล้ายกับก้างปลา เว้นระยะรางสาขาแต่ละรางห่างกันพอประมาณ

วาโยรัตนะ 24-03-2009 08:33

การหล่อ

การหล่อโลหะ หรือภาษาช่างหล่อเรียกว่า "เททอง" หมายถึงการหลอมโลหะ เช่น ทองเหลือง ทองแดง ทองสัมฤทธิ์ ให้ละลายเป็นของเหลวแล้วเทโหละหรือทองนั้นลงในแม่พิมพ์ทำเป็นรูปประติมากรรมตามแบบในแม่พิมพ์ นั้น เรียกกันมาแต่สมัยก่อนว่า "เททอง"
วัสดุสำหรับงานหล่อโลหะ มีอิฐมอญ เหล็กเส้น ดินเหนียว ทราย ขี้ผึ้ง ขี้เถ้าแกลบ
เครื่องมือสำหรับงานเททอง มีเตาสุมทอง เบ้าดิน คีมเหล็ก คีมเท กระจ่าเหล็ก สูบลมยืน
งานเททอง มีขั้นตอนที่จะต้องจัดทำ หรือเตรียมงานขึ้นก่อนการเททองอยู่หลายขั้นตอนด้วยกัน คือ

การล้มหุ่น

การล้มหุ่น คือการเคลื่อนย้ายแม่พิมพืที่ได้จัดทำหุ้มหุ่นขี้ผึ้งขึ้นไว้ นำไปยังบริเวรที่จะทำการเททอง

การขึ้นทน

การขึ้นทน คือการยกแม่พิมพ์ที่ได้ย้ายมาขึ้นตั้งบนแท่นที่ซึ่งจะทำการเททอง โดยยกแม่พิมพ์กลับเอาด้านล่าง ตั้งขึ้น

การทำปากจอกและรูผุด

"ปากจอก" คือช่องกลวงๆ ทำขึ้นไว้สำหรับเททองหรือโลหะหลอมเหลวลงไปในแม่พิมพ์อยู่ตรงริมแม่พิมพ์
"รูผุด" คือช่องกลวงๆ สำหรับเป็นทางระบายอากาศ และความร้อนออกจากแม่พิมพ์ อยู่ริมขอบแม่พิมพ์ สลับกับปากจอก

การปิดกระบาน

"กระบาน" คือฝาปิดปากจอกและรูผุด ทำด้วยดินเหนียวผสมขึ้เถ้าแกลบ ปั้นเป็นแผ่นกลมๆ คล้ายงบน้ำอ้อย ตากแห้ง นำมาปิดบนปากจอก และรูผุดเพื่อกันความร้อนหนีออกจากแม่พิมพ์ขณะสุมไฟให้พิมพ์ร้อน

การติดรางถ่ายขี้ผื้ง


"ร่างถ่ายขี้ผึ้ง" ทำด้วยแผ่นเหล็กบางๆ ตีให้โค้งคล้ายกาบกล้วยนำรางนี้วางรับปากกระบวน คือ ปลายสาย ชนวนที่อยู่ตอนล่างของแม่พิมพ์เพื่อถ่ายเทขี้ผึ้งในแม่พิมพ์ที่ละลายออกมาเมื่อแม่พิมพ์ได้รับการสุมไฟให้ร้อนขึ้นตาม ขนาด สุดปลายรางถ่ายขี้ผึ้งนี้ขุดพื้นดินให้เป็นหลุมลึกพอสมควร ใส่อ่างดินไว้ก้นหลุมสำหรับรับขี้ผึ้งที่ไหลออกมา ทางกระบวนผ่านรางลงมา

การสุมแม่พิมพ์

ก่อนการจะเททอง หรือเทโลหะหลอมเหลวลงในแม่พิมพ์จะต้องจัดการสุมไฟทำให้แม่พิมพ์ร้อนจัดเพื่อสำรอก ขี้ผึ้งที่ได้ปั้นทำเป็นหุ่นอยู่ภายในแม่พิมพ์ หลอมเหลวละลายแล้วไหลออกมาจากแม่พิมพ์ทางช่องชนวน และกระบวน ผ่านรางถ่ายขี้ผึ้งให้หมดไปจากข้างในแม่พิมพ์ซึ่งขั้นตอนนี้เรียกว่า "สูญขี้ผึ้ง" คือ ขับขี้ผึ้งให้หายออกไปจากข้าง ในแม่พิมพ์ จึงจะจัดการเททองเข้าไปในช่องว่างในแม่พิมพ์แทนที่ขี้ผึ้งที่ถูกขับให้สูญไปนั้น
เมื่อสุมพิมพ์ไล่ขี้ผึ้งจนหมดแล้วและแม่พิมพ์สุกพอดี จึงเริ่มราไฟลงตามลำดับ ระหว่างที่ลดไฟลงนี้เรียกว่า "บ่มพิมพ์"
พอบ่มไปได้สักระยะหนึ่ง จึงจัดการรื้อเตาออก จัดการพรมน้ำดับความร้อนบริเวณพื้นดินใกล้เตา และนำม้า นั่งร้านมาเทียบแม่พิมพ์เตรียมไว้สำหรับช่างหล่อ จะยกเบ้าหลอมขึ้นไปเททองต่อไป

การหลอมทอง

การหลอมทอง คือการแปรสภาพโลหะด้วยความร้อนให้เป็นของเหลว เพื่อจะนำไปเทใส่ลงในแม่พิมพ์ การหลอมหรือภาษาช่างหล่อเรียกว่า "สุมทอง" นี้จะต้องทำไปพร้อมๆ กันกับการสุมแม่พิมพ์ จึงจะเททองได้พอดีกัน

การเททอง

การเททอง เป็นงานหล่อขั้นล่าสุด ช่างหล่อจะนำดินผสมทรายไปปิดอุดปากกระบวนเสียก่อน และใช้น้ำดินที่ เรียกว่า "ฉลาบ" พรมที่แม่พิมพ์ให้ทั่ว เพื่อประสานผิวแม่พิมพ์ให้สนิท จัดการเปิดกระบวนออกจากปากจอก และรูผุด ให้หมด จึงนำเบ้าใส่น้ำทองขึ้นมาเทกรอกลงในช่องปากจอกตามลำดับกันไป จนกระทั่งน้ำทองนั้นเอ่อขึ้นมาล้นรูผุด จึงหยุดการเททอง ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ว่า ทองขังเต็มช่องว่างในแม่พิมพ์นั้นแล้ว ก็เป็นเสร็จสิ้นธุระในการเททอง

การทุบพิมพ์

ภายหลังการเททองเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ต้องปล่อยแม่พิมพ์และทองหรือโลหะในแม่พิมพ์นั้นเย็นลงไปเองตาม ลำดับ ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ ๒-๓ วัน จึงจัดการทุบแม่พิมพ์ รื้อแก้ลวดที่รัดแม่พิมพ์ออกให้หมด จนกระทั่งปรากฏ รูปประติมากรรมโลหะหล่อที่ได้เททองทำขึ้นนั้น

การตกแต่งความเรียบร้อย

เมื่อจัดการทุบทำลายแม่พิมพ์ออกหมดจนได้รูปประติมากรรมตามต้องการ แต่ยังเป็นรูปที่ไม่สู้เรียบร้อยดีจะ ต้องทำความสะอาดตกแต่งให้ดีงามต่อไป
อนึ่ง เนื่องด้วยคนไทยนิยมและยินดีกับรูปประติมากรรม โดยเฉพาะพระพุทธปฏิมากรที่มีผิวเกลี้ยงเรียบ อย่างที่ในหมู่ช่างหล่อ เรียกว่า "ผิวตึง" ดังนี้ งานประติมากรรม โลหะหล่อที่จัดเป็นศิลปแบบไทยประเพณี จึงต้องขัด แต่งทำให้ผิวเกลี้ยงและเรียบเสมอกันทั้งรูป หรือลงรักปิดทองให้สวยงาม

วาโยรัตนะ 24-03-2009 08:39

ช่างกลึง
Turning


ช่างกลึง เป็นช่างฝีมือประเภทหนึ่งในจำพวกช่างสิบหมู่ งานช่างของช่างประเภทนี้ คือการสร้างทำสิ่งของ บางสิ่งขึ้นจากวัสดุธรรมชาติ โดยวิธีการกลึงเป็นรูปทรงต่างๆ มีรูปลักษณ์ที่ประกอบด้วยศิลปลักษณะ เป็นงานสร้าง ทำเครื่องอุปโภคและเครื่องสำหรับประดับตกแต่งซึ่งโดยมากเป็น ลักษณะทรงกลม ทรงกระบอก หรือรูปทรงกรวย กลม จัดเป็นงานประณีตศิลปอีกประเภทหนึ่ง



งานกลึงและวิธีการกลึงของช่างกลึง ที่เป็นศิลปกรรมแบบไทยประเพณี มีขั้นตอนและวิธีการเป็นลำดับไป ดังนี้

วัสดุสำหรับงานกลึง
วัสดุที่ช่างกลึงในอดีตได้นำมาใช้ทำการกลึงด้วยโบราณวิธีกลึงที่ยังคงอยู่ให้เห็นได้ ได้แก่
ไม้
งาช้าง
เขาสัตว์บางชนิด เช่น เขาวัว เขาควาย เป็นต้น

เครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับงานกลึง
มีดังรายการต่อไปนี้
สิ่วกลึง สิ่วหน้าต่างๆ
ไม้กางเวียนแบบเขาควาย สำหรับสอบขนาด
เลื่อย
บิหล่า เครื่องเจาะชนิดหนึ่ง
เครื่องกลึง

การปฏิบัติงานกลึง
การปฏิบัติงานกลึงนี้ สิ่งสำคัญที่เป็นพื้นฐานของงานกลึงคือ "เครื่องกลึง" ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักอันสำคัญใน การทำงานกลึง เครื่องกลึงมีอยู่มากแบบ ดังนี้
เครื่องกลึงแบบแรก เป็นแบบที่ใช้กำลังแรงคนทำการฉุดชักโดยตรง ส่วนสำคัญของเครื่องกลึงแบบนี้อยู่ที่ตัว ไม้ที่เรียกว่า "ภมร" คือแกนสำหรับชักให้หมุน งานกลึงซึ่งทำขึ้นจากเครื่องกลึงแบบแรกนี้มักเป็นสิ่งของที่เป็น ลักษณะรูปทรงกลม เช่น ตลับ ตัวหมากรุก ตราประทับ เป็นต้น
เครื่องกลึงแบบที่สอง หรือ เรียกว่า เครื่องกลึงแบบกงชัก เป็นเครื่องกลึงแบบที่ประกอบด้วยอุปกรณ์ช่วยผ่อน แรงในการฉุดชัก "ภมร" โดยไม่ต้องออกแรงชักเชือกฉุด "ภมร" ตรงๆ
เครื่องกลึงแบบกงชักนี้ ในส่วนตัว "ภมร" มีลักษณะคล้ายกับ "ภมร" ในแบบแรก แต่จะมีที่ต่างกันตรงส่วนแคร่ รองรับส่วนหัวและท้ายหัว "ภมร" ได้รับการสร้างให้มั่นคงแข็งแรงมากขึ้น ส่วนประกอบสำหรับ "ภมร" นี้เรียกว่า "เรือนภมร"
เครื่องกลึงแบบที่สาม เรียกว่า เครื่องกลึงแบบกงดีด เครื่องกลึงแบบนี้ ลักษณะโดยรวมของเรือนภมรคล้ายกัน กับเครื่องกลึงแบบที่สองแต่แทนที่จะใช้กำลังฉุดชักภมรด้วยมือ หากได้ใช้เท้าถีบชักเชือกฉุดภมร เครื่องกลึงแบบนี้ ดูออกจะใช้งานได้สะดวกและคล่องตัวกว่าเครื่องกลึงสองแบบแรก เพราะช่างกลึงสามารถเหยียบคานกระเดื่องชัก ภมรให้หมุนไปได้ในขณะเดียวที่ช่างทำการกลึงไปได้พร้อมกัน และที่สำคัญคือช่างกลึงอาจควบคุมความเร็วในการ หมุนของภมรได้ตามประสงค์ของตัวเอง
อนึ่ง เครื่องกลึงแบบนี้อาจใช้กลึงทำสิ่งในลักษณะทรงกระบอกหรือทรงกรวยกลมได้มากอย่าง เช่น กลึงลูก กรง กลึงด้ามมีดด ด้ามดาบ กลึงหัวเม็ดทรงมัณฑ์ กลึงโกศไม้ เป็นต้น

การปฏิบัติงานกลึง
งานกลึงขั้นต้น จะต้องตัดแบ่งวัสดุชนิดหนึ่งนั้นออกเป็นชิ้นเป็นท่อนให้ได้ขนาดโตกว่าสิ่งที่จะกลึงเล็กน้อย
งานขั้นที่สอง นำเอาชิ้นวัสดุนั้นติดเข้าที่หน้าภมร หรือที่เรือนภมรให้มั่นคง แล้วทำให้ภมรหมุนพร้อมพาวัตถุ นั้นหมุนตามไป ในตอนนี้ช่างกลึงจะใช้ "สิ่วกลึง" ลงคมสิ่วที่ผิววัตถุ ค่อยสกัด ขูด ผิวที่ไม่ต้องการออก ทำให้เป็นรูป ทรงเลาๆ ของสิ่งที่จะทำ งานขั้นนี้เรียกว่า "กลึงโกลน"
งานขั้นที่สาม ช่างกลึงจะใช้สิ่วกลึง ลงคมสกัด ถาก กลึงลึกเข้าไปในเนื้อวัสดุนั้นหนักมือขึ้น ในกรณีกลึงไม้ ช่างกลึงจะกลึงขึ้นเป็นรูปทรงค่อนข้างจะเห็นชัดว่าเป็นรูปอะไร เรียกว่า "ตั้งรูป" หรือ "ตั้งทรง"
งานขั้นที่สี่ ช่างกลึงจะลงฝีสิ่วหรือคมสิ่วค่อนข้างผ่อนกำลังมือ เนื่องด้วยงานขั้นนี้เป็นการ "วัดรูป" คือกลึงให้ เข้ารูป เข้าส่วน เป็นรูปที่ชัดเจนใกล้สมบูรณ์
งานขั้นที่ห้า เป็นการแทงสิ่วค่อนข้างเบาเพื่อเก็บเหลี่ยม เก็บคม เก็บผิวงานกลึงให้ชัดเจน เรียบร้อย งานขั้นนี้ เรียกว่า "กลึงเก็บ"
งานขั้นสุดท้าย คืองานขัดผิวหรือขัดมันชิ้นงานกลึงนั้นให้ผิวเป็นมัน "ขั้นตอนนี้ช่างกลึงจะใช้ขี้ไม้หรือขี้งา ที่ตกเรี่ยรายอยู่ใต้ภมรนั้น ควักใส่มือโปะลงบนชิ้นงานซึ่งทำให้หมุนไปรอบๆ ขี้ไม้หรือขี้งานั้นจะช่วยขัดผิวของวัตถุ ที่กลึงเสร็จให้ผิวเรียบเป็นมัน จึงปลดชิ้นงานออกจากภมรหรือเรือนภมรก็เป็นอันเสร็จการปฏิบัติงานกลึงโดยโบราณ วิธีกลึงของช่างกลึง

วาโยรัตนะ 24-03-2009 08:42

ช่างหุ่น
Modelling


ช่างหุ่น เป็นช่างฝีมือพวกหนึ่งในจำพวกช่างสิบหมู่ ช่างหมู่นี้ทำการช่างในด้านการสร้างรูปต่างๆ ที่ประกอบ ไปด้วยศิลปลักษณะนานาชนิดที่เป็นลักษณะรูปจำลองแทนสิ่งที่เป็นจริงพวกหนึ่ง กับได้ทำสิ่งที่ใช้เป็นหุ่นโครงร่าง ของสิ่งที่ใช้เป็นหุ่นโครงร่างของสิ่งที่จะทำการตกแต่งรูปทรงให้สมบูรณ์ และสวยงามต่อไป



งานของช่างหุ่นที่เป็นมาโดยขนบนิยมในการศิลปกรรมแบบไทยประเพณี อาจจำแนกออกตามลักษณะของ งานช่างหุ่นได้เป็น ๓ ลักษณะงานด้วยกัน คือ

ช่างหุ่นต่ออย่าง


ช่างหุ่นจำพวกนี้ทำการช่างในลักษณะการสร้างรูปลักษณ์ด้วยการนำเอาวัตถุ เช่นไม้มาต่อกัน ปรุงให้เป็น รูปขึ้น มีรูปลักษณะและอัตราส่วนที่ย่อลงมาอย่างแน่นอน จากส่วนจริงที่จะสร้างทำเป็นของใหญ่ๆ ต่อไป หรือทำเป็น หุ่นที่มีส่วนสัดกะขึ้นไว้โดยประมาณที่จะนำไปไขส่วน หรือขยายส่วนเพื่อสร้างทำเป้นของจริงได้โดยไม่เกิดการผิด พลาด มีตัวอย่าง เช่น ต่ออย่างพระมหาธาตุเจดีย์ พระสถูปเจดีย์ ต่ออย่างพระอุโบสถ พระวิหาร พระมณฑป ต่ออย่างบุษบก เป็นต้น หุ่นที่ต่อเป็นอย่างสิ่งต่างๆ นี้อาจทำด้วยดินเหนียวปั้นทำขึ้นเป็นหุ่นแล้วเผาไฟให้สุกทำเป็น แบบสำหรับทำจริงก็มี หุ่นดินปั้นเผาไฟเหล่านี้บางชิ้นยังมีให้เห็นได้ในพิพิธภัณฑสถานหลายแห่ง

ช่างหุ่นรูป

"หุ่นรูป" เป็นภาษาเฉพาะของช่างหุ่น ซึ่งนอกจากคำว่า "หุ่น" จะหมายถึง รูปแบบที่จำลองจากของจริงต่างๆ หรือรูปปั้น หรือแกะสลักที่ทำโกลนไว้เพื่อเป็นแบบชั่วคราวแล้วคำว่าหุ่นยังมีความหมายโดยปริยายว่าการทำให้มีให้ เป็นขึ้น ช่างหุ่นรูปหรือหุ่นรูปจึงหมายถึงการทำรูปให้มีให้เป็นขึ้น
การงานของช่างหุ่นรูป คือการต่อหุ่นเครื่องอุปโภคชนิดต่างๆ สำหรับนำไปตกแต่ง หรือประดับด้วยวัสดุ ต่างๆ ให้สวยงามมีคุณค่าต่อไปในลักษณะงานประณีตศิลปปรกติใช้วัสดุประเภทหวาย ไม้ระกำ ไม้อุโลก ไม้สมพง ไม้ไผ่ เป็นต้น นำมาผูก ขด หรือต่อกันขึ้นเป็นรูปโกลน โดยอาศัยกาวบ้าง ไม้กลัดบ้าง ผนึกหรือเสียบตรึงให้วัสดุที่จะ คุมกันขึ้นเป็นรูปทรงมั่นคงอยู่ได้
งานหุ่นรูปโกลนที่ทำขึ้นโดยวิธีหุ่นรูปนี้ มีตัวอย่างเช่น หุ่นพานแว่นฟ้า หุ่นตะลุ่ม หุ่นเตียน หุ่นกะบะ เป็นต้น
หุ่นรูปโกลนที่ได้ทำขึ้นนี้ยังไม่เป็นชิ้นงานที่สำเร็จสมบูรณ์ จะต้องนำไปตกแต่งด้วยการถมสมุก ทารักแล้ว เขียนลายปิดทองรดน้ำบ้าง ประดับกระจกบ้าง ประดับมุกบ้าง หรือปั้นลายด้วยรักสมุกให้สำเร็จสมบูรณ์และสวยงาม ต่อไปอีกทอดหนึ่ง

ช่างผูกหุ่น

ช่างผูกหุ่น คือช่างหุ่นประเภทที่ทำหน้าที่สร้างสรรค์หุ่นต่างๆ ที่มีขนาดย่อม และขนาดใหญ่ ด้วยการใช้ไม้ไผ่ หวาย เป็นต้น นำมาผ่า จักเกรียกออกเป็นชิ้นๆ แล้วคุมกันขึ้นเป็นโครงร่างด้วยวิธีผูกมัด ขัดกันทำให้เป็นโครงรูปดัง ที่ต้องการแล้วจึงใช้ลำแพนบ้าง กระดาษบ้าง ผ้าบ้าง ทุทับโครงรูปที่ได้ผูกขึ้นเป็นหุ่นนั้นให้เป็นรูปทรงสมบูรณ์ ตามต้องการ
การงานของช่างผูกหุ่นนี้ ที่เป็นงานโดยขนบนิยมแต่กาลก่อนมี ๒ ประเภท คือ
งานผูกหุ่นรูปภาพ
งานผูกหุ่นเขาจำลอง

งานผูกหุ่นรูปภาพ

การงานของช่างผูกหุ่นและหุ่นรูปภาพนี้ คือ หุ่นที่ได้ทำขึ้นเป็นรูปมนุษย์ อมนุษย์ เทวดา และสัตว์หิมพานต์ เป็นงานประณีตศิลปที่สร้างขึ้นเนื่องด้วยคติความเชื่อตามประเพณีนิยม ในการพระราชพิธีสำคัญบางคราวบาง โอกาส เช่น คติความเชื่อเนื่องในพระราชพิธีถวายเพลิงพระศพพระเจ้าแผ่นดินในอดีตสมัย ในการพระราชพิธีมี ธรรมเนียมว่าจะต้องผูกหุ่นทำเป็นรูปภาพ อมนุษย์ ครุฑ นาค และสัตว์หิมพานต์นานาชนิด ทำเป็นรูปภาพขนาดสูง ใหญ่เท่าคนเป็นๆ อาการยืนประจำแท่นติดลูกล้อให้คนชักลากไปได้ และบนหลังหุ่นรูปยังจัดตั้งมณฑปโถงขนาด เล็กสำหรับทอดผ้าไตรของหลวงไว้ในนั้น โดยเจ้าพนักงานจะนำไปเข้ากระบวนแห่ในการอัญเชิญพระบรมศพไปยัง พระเมรุมาศ ครั้นเมื่อเชิญพระบรมศพขึ้นประดิษฐานบนพระจิตกาธานในพระเมรุมาศแล้ว เจ้าพนักงานจะนำเอาหุ่น รูปภาพต่างๆ ตั้งแต่งเรียงรายรอบเชิงพระเมรุมาศ สมมุติเป็นอมนุษย์ สัตว์จัตุบาท สัตว์ทวิบาทที่มีในจังหวัด ณ เชิงเขาพระสุเมรุนั้น
หุ่นหรือหุ่นรูปภาพนี้ ทำขึ้นโดยอาศัย ไม้ไผ่บ้าง หวายบ้าง ทางมะพร้าว ทางหมากบ้าง นำมาผูกขึ้นเป็นโครง ร่างของรูปภาพที่จะทำขึ้นนั้นชั้นหนึ่งก่อน จึงบุผ้าหรือบุกระดาษหุ้มห่อโครงร่างนั้นขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง มีส่วนละเอียด พอสมควรแล้วจึงขึ้นด้วยรักสมุกทำรายละเอียด หรือช่างจะตกแต่งให้เป็นไปตามแต่จะเห็นงาม
หุ่นรูปภาพจำพวกนี้ นอกจากผูกทำขึ้นสำหรับนำเข้ากระบวนแห่อัญเชิญพระบรมศพและตั้งแต่งประดับราย รอบเชิงพระเมรุมาศ ยังได้ทำเป็นหุ่นรูปภาพต่างๆ สำหรับตั้งแต่งประดับซุ้มในงานที่เป็นพิธีการต่างๆ แต่งรถเข้า กระบวนแห่ในโอกาสต่างๆ เป็นต้น
งานช่างผูกหุ่นรูปภาพจัดว่าเป็นงานประณีตศิลปที่สำคัญประเภทหนึ่งต้องอาศัยฝีมือ และความสามารถของ ช่างหุ่น ที่อาจทำการได้ทั้งงานปั้น งานสลักกระดาษและการเขียนระบายสี พร้อมอยู่ในหุ่นรูปภาพที่ช่างหุ่นทำขึ้น อย่างวิจิตรและประณีตให้ดูประหนึ่งว่าเป็นของจริงแท้
อนึ่ง โดยที่งานผูกหุ่นรูปภาพเป็นงานที่จะต้องสร้างรูปภาพเป็นไปตามขนบนิยมและช่างผูกหุ่นรูปภาพจะยึด ถือแบบอย่างที่เป็นขนบนิยมอย่างเคร่งครัดในการผูกทำหุ่นสืบๆ กันมา ตังนี้เพื่อมิให้เกิดความผิดพลาด คลาดเคลื่อน ไปจากแบบแผนของรูปภาพในการผูกหุ่นขึ้นในภายหลัง จึงได้มีการกำหนดรูปแบบของรูปภาพต่างๆ ที่จะผูกหุ่นขึ้น เป็นแบบแผน ใช้เป็นตำราสำหรับช่างผูกหุ่นรูปภาพได้ใช้ศึกษาและเป็นแบบแผนสำหรับผูกหุ่นขึ้นไว้เป็นแบบแผน โดยลำดับไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย และแบบแผนรูปภาพสำหรับผูกหุ่นชุดนี้ได้รับความนับถือในหมู่ช่าง ศิลปกรรมแบบไทยประเพณีว่าเป็นตำราที่เป็นแบบฉบับอย่างสำคัญสำหรับงานผูกหุ่น ต่อมาจนกระทั่งถึงรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว งานผูกหุ่นรูปภาพโดยเฉพาะที่ใช้ในงานพระราชพิธีออกเมรุ ก็ได้หมดบท บาทตัวของมันเอง ยังคงมีการผูกหุ่นใช้ในงานอื่นๆ อยู่บ้างแต่ก็ห่างคราวกัน

วาโยรัตนะ 24-03-2009 08:44

งานผูกหุ่นรูปภาพ

การงานของช่างผูกหุ่นและหุ่นรูปภาพนี้ คือ หุ่นที่ได้ทำขึ้นเป็นรูปมนุษย์ อมนุษย์ เทวดา และสัตว์หิมพานต์ เป็นงานประณีตศิลปที่สร้างขึ้นเนื่องด้วยคติความเชื่อตามประเพณีนิยม ในการพระราชพิธีสำคัญบางคราวบาง โอกาส เช่น คติความเชื่อเนื่องในพระราชพิธีถวายเพลิงพระศพพระเจ้าแผ่นดินในอดีตสมัย ในการพระราชพิธีมี ธรรมเนียมว่าจะต้องผูกหุ่นทำเป็นรูปภาพ อมนุษย์ ครุฑ นาค และสัตว์หิมพานต์นานาชนิด ทำเป็นรูปภาพขนาดสูง ใหญ่เท่าคนเป็นๆ อาการยืนประจำแท่นติดลูกล้อให้คนชักลากไปได้ และบนหลังหุ่นรูปยังจัดตั้งมณฑปโถงขนาด เล็กสำหรับทอดผ้าไตรของหลวงไว้ในนั้น โดยเจ้าพนักงานจะนำไปเข้ากระบวนแห่ในการอัญเชิญพระบรมศพไปยัง พระเมรุมาศ ครั้นเมื่อเชิญพระบรมศพขึ้นประดิษฐานบนพระจิตกาธานในพระเมรุมาศแล้ว เจ้าพนักงานจะนำเอาหุ่น รูปภาพต่างๆ ตั้งแต่งเรียงรายรอบเชิงพระเมรุมาศ สมมุติเป็นอมนุษย์ สัตว์จัตุบาท สัตว์ทวิบาทที่มีในจังหวัด ณ เชิงเขาพระสุเมรุนั้น
หุ่นหรือหุ่นรูปภาพนี้ ทำขึ้นโดยอาศัย ไม้ไผ่บ้าง หวายบ้าง ทางมะพร้าว ทางหมากบ้าง นำมาผูกขึ้นเป็นโครง ร่างของรูปภาพที่จะทำขึ้นนั้นชั้นหนึ่งก่อน จึงบุผ้าหรือบุกระดาษหุ้มห่อโครงร่างนั้นขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง มีส่วนละเอียด พอสมควรแล้วจึงขึ้นด้วยรักสมุกทำรายละเอียด หรือช่างจะตกแต่งให้เป็นไปตามแต่จะเห็นงาม
หุ่นรูปภาพจำพวกนี้ นอกจากผูกทำขึ้นสำหรับนำเข้ากระบวนแห่อัญเชิญพระบรมศพและตั้งแต่งประดับราย รอบเชิงพระเมรุมาศ ยังได้ทำเป็นหุ่นรูปภาพต่างๆ สำหรับตั้งแต่งประดับซุ้มในงานที่เป็นพิธีการต่างๆ แต่งรถเข้า กระบวนแห่ในโอกาสต่างๆ เป็นต้น
งานช่างผูกหุ่นรูปภาพจัดว่าเป็นงานประณีตศิลปที่สำคัญประเภทหนึ่งต้องอาศัยฝีมือ และความสามารถของ ช่างหุ่น ที่อาจทำการได้ทั้งงานปั้น งานสลักกระดาษและการเขียนระบายสี พร้อมอยู่ในหุ่นรูปภาพที่ช่างหุ่นทำขึ้น อย่างวิจิตรและประณีตให้ดูประหนึ่งว่าเป็นของจริงแท้
อนึ่ง โดยที่งานผูกหุ่นรูปภาพเป็นงานที่จะต้องสร้างรูปภาพเป็นไปตามขนบนิยมและช่างผูกหุ่นรูปภาพจะยึด ถือแบบอย่างที่เป็นขนบนิยมอย่างเคร่งครัดในการผูกทำหุ่นสืบๆ กันมา ตังนี้เพื่อมิให้เกิดความผิดพลาด คลาดเคลื่อน ไปจากแบบแผนของรูปภาพในการผูกหุ่นขึ้นในภายหลัง จึงได้มีการกำหนดรูปแบบของรูปภาพต่างๆ ที่จะผูกหุ่นขึ้น เป็นแบบแผน ใช้เป็นตำราสำหรับช่างผูกหุ่นรูปภาพได้ใช้ศึกษาและเป็นแบบแผนสำหรับผูกหุ่นขึ้นไว้เป็นแบบแผน โดยลำดับไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย และแบบแผนรูปภาพสำหรับผูกหุ่นชุดนี้ได้รับความนับถือในหมู่ช่าง ศิลปกรรมแบบไทยประเพณีว่าเป็นตำราที่เป็นแบบฉบับอย่างสำคัญสำหรับงานผูกหุ่น ต่อมาจนกระทั่งถึงรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว งานผูกหุ่นรูปภาพโดยเฉพาะที่ใช้ในงานพระราชพิธีออกเมรุ ก็ได้หมดบท บาทตัวของมันเอง ยังคงมีการผูกหุ่นใช้ในงานอื่นๆ อยู่บ้างแต่ก็ห่างคราวกัน

งานผูกหุ่นเขาจำลอง
งานผูกหุ่นประเภทหลังนี้เป็นการผูกหุ่นทำเป็นภูเขาจำลองขนาดย่อมบ้าง ขนาดใหญ่และสูงบ้าง สำหรับใช้ ในการพระราชพิธีสำคัญๆ บางงาน อาทิ หุ่นเขาไกรลาสสำหรับพระราชพิธีโสกันต์ หุ่นเขาพระสุเมรุสำหรับพระราช พิธีออกเมรุ หุ่นเขาวงกตในพิธีเทศน์มหาชาติ
งานผูกหุ่นเขาจำลองนี้ ช่างหุ่นจะใช้ไม้จริงต่อกันขึ้นเป็นร่างร้านให้มีขนาดกว้าง ยาว และสูงตามประสงค์ จะทำหุ่นภูเขาขึ้น ณ ที่นั้นโดยเฉพาะหุ่นภูเขาที่สร้างขึ้นให้คนขึ้นไปได้บนภูเขาหุ่นนี้ เช่น ภูเขาไกรลาสในพระราช พิธีโสกันต์ จะต้องทำร่างร้านให้แข็งแรงมั่นคงพอจะรับน้ำหนักคนที่จะขึ้นไป และสิ่งปลูกสร้าง คือมณฑปและเครื่อง ตั้งแต่งขึ้นบนเขานั้นได้พอ
เมื่อทำร่างร้านขึ้นมั่นคงตามขนาดที่กำหนดได้แล้ว จึงใช้ไม้ไผ่ผ่าเป็นซีกๆ ยาวตามขนาด นำมาตั้งเป็นโครง รูปภูเขาหุ้มร่างร้านโดยขัดไม้และผูกด้วยเชือกปอ จัดและดัดให้เป็นรูปทรงก้อนหินใหญ่น้อยเรียงสลับทับเทินกันขึ้น ไปเป็นภูเขาตามขนาดและรูปทรงที่กำหนด
ครั้นผูกทำโครงร่างขึ้นได้ดังกำหนดแล้ว จึงใช้เสื่อลำแพนบุทับลงบนโครงร่างทำเป็นผิวของก้อนหินภูเขาให้ ทั่ว จัดแต่งเสื่อลำแพนให้เข้ารูป ได้ลักษณะจำลองหินผามาจากภูเขาจริง งานขั้นต่อไป คือการปิดกระดาษทับลงบน เสื่อลำแพนได้บุทับโครงร่างทำเป็นโครงกินหินภูเขานั้น โดยใช้กระดาษฟางทาแป้งเปียกปิดทับเสื่อลำแพนนั้น ประมาณ ๔-๖ ชั้น เพื่อทำเป็นผิวของก้อนหินและภูเขา ปิดกระดาษหุ่นภูเขาจำลองนี้ให้ทั่วหมด และพักไว้สักระยะ หนึ่งให้กระดาษที่ปิดแห้ง
พอกระดาษที่ปิดหุ่นภูเขาจำลองนี้แห้งแล้ว จึงระบายสีหุ่นภูเขาด้วยสีฝุ่น เขียนระบายสีให้ดูคล้ายภูเขาหินจริงๆ ทั้งหุ่นภูเขาจำลอง
อนึ่ง หุ่นภูเขาจำลองนี้ อาจตกแต่งด้วยต้นไม้ ชนิดไม้ใบ และไม้ดอก หรือตกแต่ง ด้วยรูปปั้นสัตว์ชนิดต่างๆ ให้ดูเป็นธรรมชาติและสมจริงย่อมทำได้ตามแต่จะเห็นงาม

งานช่างหุ่นเชิด

งานช่างหุ่นอีกประเภทหนึ่งคือ "งานช่างหุ่นเชิด" หุ่นเชิดเป็นเครื่องเล่นชนิดหนึ่งในงานมหรสพตามประ เพณีมาแต่โบราณ หุ่นเชิดนี้อาจทำขึ้นต่างกันเป็น ๓ แบบ คือ
หุ่นแบบที่มีแต่ศีรษะ ประกอบกับไม้กระบอกทำเป็นแกนตัวหุ่นและถุงผ้าคลุมต่างเสื้อ ติดมือเข้าที่มุมก้นถุงทั้ง สองข้างหุ่นแบบนี้เรียกว่า "หุ่นกระบอก"
หุ่นแบบที่มีส่วนศีรษะ ลำตัว แขน และขาครบเต็มตัว ห่อหุ้มด้วยเครื่องละครและมีเครื่องสวมที่ศีรษะแบบ ต่างๆ หุ่นแบบนี้ขนาดเล็ก สูงประมาณย่อมกว่า ๑ ศอกเล็กน้อยใช้เส้นด้ายร้อยไว้สำหรับชักให้หุ่นเคลื่อนไหวเลียนกิริยา คน หุ่นแบบนี้ เรียกว่า "หุ่นชัก"
หุ่นแบบหลัง ลักษณะคล้ายกันกับ "หุ่นชัก" แต่ทำขนาดตัวหุ่นใหญ่โตกว่า คือสูงประมาณศอกคืบหรือกว่านั้น เล็กน้อย หุ่นแบบนี้ใช้ไม้เรียวเสียบติดที่มือและเท้า เชิดทำกิริยาต่างๆ ตามบท โดยเหตุที่หุ่นแบบหลังนี้ตัวโตใหญ่ จึงต้องใช้คนเชิดมากกว่า ๑ คน และอาจทำกิริยาเลียนแบบละครรำได้แนบเนียนมาก หุ่นแบบนี้จึงเรียกกันว่า "หุ่นละครเล็ก"
หุ่นแต่ละแบบเกิดจากการใช้ไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้ทองหลาง ไม้สมพง ไม้อุโลก เป็นต้น ซึ่งเมื่อไม้จำพวกนี้แห้ง สนิทแล้วน้ำหนักเบา นำมาถากเหลาขึ้นเป็นหุ่นศีรษะ หุ่นลำตัว หุ่นแขนและมือ ขาและเท้าให้เป็นรูปโกลนขึ้นก่อน จึงใช้รักตีลายหรือรักสมุกปั้นทำส่วนละเอียดบนใบหน้า มือ เท้า และทำลวดลายเครื่องสวมศีรษะ เครื่องประดับร่าง กายเป็นลำดับต่อไป
กล่าวโดยเฉพาะส่วนใบหน้า มือและเท้า เมื่อปั้นส่วนละเอียดแล้วมักปิดทับด้วยกระดาษสาเนื้อละเอียดเสียชั้น หนึ่งก่อนจึงลงฝุ่นขาวแล้วเขียนสีลงตามที่เป็นคิ้ว ตา ปาก ไพรปาก ตามแบบที่เป็นขนบนิยมกันสืบมา
ส่วนเครื่องสามศีรษะและเครื่องประดับร่างกายนั้นก็จัดการเช็ดรักปิดทองคำเปลว แล้วติดกระจกทำเป็นแวว เทียบว่าประดับด้วยเพชรพลอยให้งามต่อไป
อนึ่ง ในส่วนเครื่องแต่งตัวหุ่นนั้น เป็นหน้าที่ของช่างเย็บ ช่างปักสะดึงกรึงไหม เป็นช่างต่างแผนกไปจากช่าง สิบหมู่

วาโยรัตนะ 24-03-2009 08:46

ช่างรัก
Lacquering



คำว่า "ช่างรัก" เป็นคำเรียกช่างประเภทหนึ่งซึ่งอาศัย "รัก" เป็นวัตถุปัจจัยสำคัญสำหรับประกอบงาน ศิลปกรรมเนื่องด้วยการตกแต่งที่ลักษณะของงานเป็นไปในลักษณะประณีตศิลป หรือมัณฑนศิลป เป็นต้น
http://i113.photobucket.com/albums/n...uerworks30.jpg


รักหรือยางรัก มีคุณลักษณะเป็นยางเหนียว สามารถเกาะจับพื้นของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ประสงค์จะทาหรือถมทับ หรือเคลือบผิวได้ดี มีคุณสมบัติที่ทำให้ผิวพื้นซึ่งทาหรือเคลือบรักเป็นผิวมันภายหลังรักแห้งสนิท มีคุณภาพคงทนต่อ ความร้อน ความชื้น กรดหรือด่างอ่อนๆ และยังเป็นวัสดุที่ใช้เชื่อมสมก หรือสีเข้าด้วยกัน เชื่อมระหว่างผิวพื้นกับวัสดุ สำหรับตกแต่ง เช่น กระจกสี เปลือกหอย และยังใช้ผสมสีเข้าด้วยกันมาแต่โบราณกาล งานศิลปกรรมที่ประกอบด้วย รักลักษณะใดลักษณะหนึ่งตามที่กล่าวมานี้ เรียกว่า "เครื่องรัก" หรือ "งานเครื่องรัก"
"รัก" เป็นชื่อยางไม้ชนิดหนึ่งเป็นวัสดุที่ได้จาก "ต้นรัก" [lac tree (ภาษาพฤกษศาสตร์ ; melanorrhoea usitata)] คือต้นไม้ยืนต้นขนาดย่อม การนำยางรักจากต้นรักมาใช้ ทำด้วยการกรีดหรือสับด้วยมีดที่ลำต้นรักให้เป็น รอยยาวๆ ยางรักจะไหลออกมาตามรอยที่กรีดหรือสับนั้น นำภาชนะเข้ารองรับน้ำยางรักเป็นคราวๆ เก็บรวบรวมไว้ ใช้งานตามขนาดที่ต้องการ ยางรักนี้บางแห่งเรียกว่า "น้ำเกลี้ยง" หรือ "รักน้ำเกลี้ยง" ก็มี "รักหรือยางรัก" แต่ละชนิดที่ช่างรักใช้ประกอบงานเครื่องรัก มีคุณลักษณะดังนี้
รักดิบ คือยางรักสดที่ได้จากการกรีดหรือสับจากต้นรัก ลักษณะเป็นของเหลวสีขาว เมื่อทิ้งไว้สักระยะหนึ่งจะ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและจะกลายเป็นสีน้ำตาลไหม้ รักดิบนี้จะต้องผ่านการกรองให้ปราศจากสิ่งสกปรกปะปน และจะต้องได้รับการขับน้ำที่เจืออยู่ตามธรรมชาติใยยางให้ระเหยออกตามสมควรก่อน จึงนำไปใช้ประกอบงาน เครื่องรัก
รักน้ำเกลี้ยง คือรักดิบที่ผ่านการกรองและได้รับการขับน้ำเรียบร้อยแล้ว เป็นน้ำยางรักบริสุทธิ์จึงเรียกว่า "รักน้ำเกลี้ยง" เป็นวัสดุพื้นฐานในการประกอบงานเครื่องรักชนิดต่างๆ เช่น ผสมสมุก ถมพื้นทาผิว
รักสมุก คือรักน้ำเกลี้ยงผสมกับ "สมุก" มีลักษณะเป็นของเหลวค่อนข้างข้น ใช้สำหรับอุดแนวทางลงพื้นและ ถมพื้น
รักเกลี่ย คือรักน้ำเกลี้ยงผสมกับสมุกถ่านใบตองแห้งป่น บางทีเรียกว่า "สมุกดิบ" ใช้เฉพาะงาน อุดรูยาร่อง ยาแนวบนพื้นก่อนทารักสำหรับปิดทองคำเปลว
รักเช็ด คือรักน้ำเกลี้ยง นำมาเคี่ยวบนไฟอ่อนๆ เพื่อไล่น้ำให้ระเหยออกมากที่สุด จนได้เนื้อรักข้นและเหนียว จัด สำหรับใช้แตะ ทา หรือเช็ดลงบนพื้นแต่บางๆ เพื่อปิดทองคำเปลว หรือทำชักเงาผิวหน้างานเครื่องรัก
รักใส คือรักน้ำเกลี้ยงที่ผ่านกรรมวิธีสกัดให้สีอ่อนจากและเนื้อโปร่งใสกว่ารักน้ำเกลี้ยง สำหรับใช้ผสม สีต่างๆ ให้เป็นรักสี
รักแต่ละชนิดดังที่ได้แนะทำให้ทราบนี้ล้วนมีที่มาจาก "รักดิบ" อยู่ด้วยกันทั้งสิ้น รักแต่ละชนิดจะมีคุณภาพ มากหรือน้อยก็ดี นำมาประกอบงานเครื่องรักแล้วจะได้งานที่ดี มีความคงทนถาวรเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติ พื้นฐานของรักดิบ ที่ช่างรักรู้จักเลือกรักดิบที่มีคุณภาพดีมาใช้
ในงานช่างรัก ยังมีวัสดุบางชนิดที่ควรอธิบายควบคู่กัน เนื่องด้วยเป็นวัสดุที่มีบทบาทสำคัญยิ่งสิ่งหนึ่งสำหรับ ประกอบงานเครื่องรัก คือ "สมุก"
"สมุก" เป็นวัสดุที่ลักษณะเป็นผง หรือป่นเป็นฝุ่น สมุกที่ใช้ในงานเครื่องรักแบบไทยประเพณีอย่างโบราณวิธี มีอยู่ด้วยกัน ๒ ชนิด ดังนี้
สมุกอ่อน สมุกชนิดนี้ ได้แก่ ผงดินสอพอง ผงดินเหนียว เลือดหมูก้อน อย่างใดอย่างหนึ่ง ผสมกับรักน้ำเกลี้ยงตีให้เป็นเนื้อเดียวกันให้ทารองพื้นที่ต้องการรองพื้นบางๆ และเรียบ
สมุกแข็ง ได้แก่ ผงถ่านใบตองแห้ง ผงถ่านหญ้าคา ผงปูนขาวอย่างใดอย่างหนึ่ง ผสมกับรักน้ำเกลี้ยงตีให้ เป็นเนื้อเดียวกัน ใช้ทารองพื้นที่ต้องการรองพื้นหนาและแข็งมาก
งานของช่างรักที่เกี่ยวข้องกับงานประเภทประณีตศิลป ประเภทมัณฑนศิลป และประเภทวิจิตรศิลปที่ได้รับ การสร้างสรรค์ด้วยระเบียบวิธีของช่างรักอย่างโบราณวิธีมีอยู่มากหลายลักษณะด้วยกัน ได้เลือกเอางานช่างรักที่มี ลักษณะสำคัญในด้านรูปแบบที่แสดงออกลักษณะการตกแต่งแบบไทยประเพณีโดยแท้มาแสดงให้ทราบต่อไปนี้
งานช่างลงรักปิดทองคำเปลว
งานช่างประดับกระจก
งานช่างประดับมุก

งานช่างลงรักปิดทองคำเปลว

งานช่างลงรักปิดทองคำเปลว หรืออย่างที่คนส่วนมากเรียกสั้นๆ ว่า "ลงรักปิดทอง" คือกระบวนการตกแต่ง ผิวภายนอกของศิลปวัตถุหรือองค์ประกอบสำหรับงานสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณีด้วยการลงรักหรือทายางรัก แล้วปิดด้วยทองคำเปลวทับทำให้ผิวของศิลปวัตถุหรือองค์ประกอบสำหรับงานสถาปัตยกรรมบางสิ่ง เป็นสีทองดำ เหลืองอร่ามและเป็นมันวาวเหมือนหนึ่งว่าทำด้วยทองคำอันเป็นความเชื่อโดยขนบนิยมในสังคมไทยมาแต่โบราณกาล
งานช่างลงรักปิดทองคำเปลวได้ทำการที่เป็นงานปิดทองเป็น ๔ ลักษณะงานด้วยกัน คือ
งานลงรักปิดทองทึบ
งานลงรักปิดทองร่องชาด
งานลงรักปิดทองร่องกระจก
งานลงรักปิดทองลายฉลุ

งาน

งานปั้นดินดิบและงานปั้นดินเผา ดำเนินงานด้วยวิธีการและมีขั้นตอนโดยลำดับดังนี้
งานขึ้นรูป คือการก่อตัวด้วยดินขึ้นเป็นรูปทรงเลาๆ อย่างที่เรียกว่า "รูปโกลน" ลักษณะเป็นรูปหยาบๆ ทำพอ เป็นเค้ารูปทรงโดยรวมของสิ่งที่จะเพิ่มเติมส่วนละเอียดให้ชัดเจนต่อไป
งานปั้นรูป คือการนำดินเพิ่มเติมหรือต่อเติมขึ้นบนรูปโกลน หรือรูปทรงโดยรวมที่ได้ขึ้นรูปไว้แต่ต้นปรากฏ รูปลักษณะที่ชัดเจน ตามประสงค์ที่ต้องการจะปั้นให้เป็นรูปนั้นๆ จนเป็นรูปปั้นที่มีความชัดเจนสมบูรณ์ ดังความมุ่งหมายของช่างปั้นผู้ทำรูปปั้นนั้น
งานปั้นเก็บส่วนละเอียด เป็นกระบวนการปั้นขั้นหลังสุด โดยทำการปั้นแต่งส่วนที่ละเอียดให้ชัดเจนเน้น หรือเพิ่มเติมส่วนที่ต้องการให้เห็นสำคัญ หรือแสดงออกความรู้สึกเนื่องด้วยอารมณ์ต่างๆ ของช่างปั้น
งานปั้นดินดิบนั้น เมื่อชิ้นงานสำเร็จก็มักผึ่งให้แห้งสนิท แล้วจึงนำไปใช้งานตามความประสงค์ต่างๆ บางอย่างที่ต้องการตกแต่งด้วยการระบายหรือเขียนสีเพิ่มเติมให้สวยงามตามความนิยมและความต้องการใช้งาน จะเขียนระบายด้วยสีฝุ่นผสมน้ำกาวทับลงบนรูปปั้นดินดิบทั้งในส่วนพื้นของรูปและส่วนที่แสดงรายละเอียด มีตัวอย่าง เช่น รูปปั้นหัววัว รูปปั้นหัวกวาง สำหรับแขวนประดับฝาผนัง รูปปั้นฤาษีต่างๆ รูปปั้นนางกวัก รูปปั้นละครยก ตุ๊กตาชาววัง เป็นต้น
อนึ่ง งานปั้นดินเผา ก็ดำเนินขั้นตอนการปั้นเช่นเดียวกับการปั้นดินดิบก่อนแล้วจึงจัดการเผาให้รูปปั้นดินนั้น ให้สุก ด้วยความร้อนที่ใช้ถ่านไม้หรือแกลบเป็นเชื้อเพลิงตามความเหมาะสมแก่ชิ้นงาน
งานปั้นดินเผาบางประเภทเมื่อเผาสุกได้ที่แล้วนำไปใช้งานในสภาพที่ชิ้นงานนั้นมีสีตามธรรมชาติของเนื้อดิน มีตัวอย่างเช่น พระพุทธพิมพ์ พระพุทธปฎิมากรรม ลวดลายต่างๆ สำหรับประดับงานสถาปัตยกรรม หางกระเบื้อง กาบกล้วย เป็นต้น
งานปั้นดินเผาบางประเภทต้องการตกแต่งเพิ่มเติมด้วยการระบายสี และเขียนส่วนละเอียดให้สวยงามตาม ความนิยมและความต้องการใช้เช่น ตุ๊กตาเจ้าพราหมณ์ ตุ๊กตาชายหญิงทำเป็นข้ารับใช้ตามศาลพระภูมิ ตุ๊กตารูปช้างม้าสำหรับถวายแก้บนเจ้าและพระภูมิ ตุ๊กตารูปเด็กทำเป็นของเล่นสำหรับเด็ก ตุ๊กตารูปสัตว์ต่างๆ ทำเป็นของเล่น เป็นต้น

วาโยรัตนะ 24-03-2009 08:47

งานช่างลงรักปิดทองคำเปลว

งานช่างลงรักปิดทองคำเปลว หรืออย่างที่คนส่วนมากเรียกสั้นๆ ว่า "ลงรักปิดทอง" คือกระบวนการตกแต่ง ผิวภายนอกของศิลปวัตถุหรือองค์ประกอบสำหรับงานสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณีด้วยการลงรักหรือทายางรัก แล้วปิดด้วยทองคำเปลวทับทำให้ผิวของศิลปวัตถุหรือองค์ประกอบสำหรับงานสถาปัตยกรรมบางสิ่ง เป็นสีทองดำ เหลืองอร่ามและเป็นมันวาวเหมือนหนึ่งว่าทำด้วยทองคำอันเป็นความเชื่อโดยขนบนิยมในสังคมไทยมาแต่โบราณกาล
งานช่างลงรักปิดทองคำเปลวได้ทำการที่เป็นงานปิดทองเป็น ๔ ลักษณะงานด้วยกัน คือ
งานลงรักปิดทองทึบ
งานลงรักปิดทองร่องชาด
งานลงรักปิดทองร่องกระจก
งานลงรักปิดทองลายฉลุ
http://i113.photobucket.com/albums/n...and/csm026.jpg
งานลงรักปิดทองทึบ

งานลงรักปิดทองทึบ หมายถึงการปิดทองคำเปลวลงบนงานศิลปวัตถุต่างๆ ซึ่งสร้างขึ้นด้วย ดินเผา ปูนปั้น ไม้แกะสลัก หรือโหละหล่อ เพื่อให้ผิวภายนอกของศิลปวัตถุนั้นๆ เป็นผิวทองคำ และเรียบเกลี้ยงทั่วไป ตัวอย่างเช่น พระพุทธรูปปิดทองเป็นพระปฏิมาประธาน เป็นต้น

งานลงรักปิดทองร่องชาด

งานลงรักปิดทองร่องชาด หมายถึงการปิดทองคำเปลวลงบนงานศิลปวัตถุประเภทต่างๆ เช่น ปูนปั้น ไม้แกะสลัก ซึ่งมักแสดงออกในลักษณะลวดลายตกแต่งครุภัณฑ์ ยานพาหนะ หรือองค์ประกอบสถาปัตยกรรมแบบ ไทยประเพณี ซึ่งในส่วนที่เป็นลวดลายก็ดี รูปภาพแทรกระหว่างลวดลายก็ดีจะได้รับการปิดทองคำเปลว ซึ่งดำเนิน การด้วยวิธีการปิดทองทึบ แต่จะมีลักษณะต่างกันตรงที่มีการ "ร่องชาด" ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของงานนี้
คำว่า "ร่องชาด" นี้มาแต่คำว่า "ร่อง" คำหนึ่งกับ "ชาด" อีกคำหนึ่ง "ร่อง" หมายถึงรอยลึกต่ำลงไประหว่างผิว พื้นปรกติ ในกรณีนี้หมายถึง ร่องที่ได้รับการขุดควักลงไปให้ต่ำอยู่ระหว่างช่องไฟของลวดลาย หรือพื้นหลังที่ดู เหมือนต่ำลงไปในงานปั้นปูนเน้นลวดลายให้นูนสูงขึ้นจากพื้นหลังนั้น ส่วนคำว่า "ชาด" หมายถึงวัตถุสีแดงชนิดหนึ่ง ใช้ทำเป็นสีสำหรับเขียนหรือระบายคำว่า "ร่องชาด" ในลักษณะของงานปิดทองร่องชาด อาจมีความหมายเป็นทั้งคำ นามและคำกิริยา ดังนี้
งานลงรักปิดทองร่องชาดนี้ทำขึ้นด้วยความประสงค์ให้สีแดงที่ใช้ทาลง หรือถมลงในส่วนที่เป็นร่องระหว่าง ลวดลายหรือช่องไฟระหว่างสิ่งที่ทำขึ้นในลักษณะ งานปูนปั้นงานไม้หรือหินแกะสลัก ดูเด่นเห็นกระจะขึ้นจากพื้นที่ เป็นร่องลึกต่ำหรือพื้นที่รองรับอยู่เบื้องหลังนั้นนั่นเอง
อนึ่ง การใช้สีชาดหรือสีแดงชาดทาลงหรือถมลงในร่องนี้เป็นไปตามขนบนิยมและประเพณีนิยมว่า "สีแดง" เป็นสีที่มีความหมายถึง ความสว่าง ความสุกใส ควรใช้ควบคู่กับสีทอง ซึ่งหมายถึงความรุ่งเรืองจึงเรียกกันว่า "ลงรักปิดทองร่องชาด" หรือเรียกสั้นๆ ว่า "ร่องชาด"

งานรักปิดทองร่องกระจก


งานลงรักปิดทองร่องกระจกหมายถึงการลงรักลงบนงานศิลปวัตถุต่างๆ ประเภทที่ทำขึ้นด้วย ปูนปั้น ไม้แกะสลัก ดินเผา แล้วปิดทองคำเปลวพับ ลักษณะคล้ายกันกับงานลงรักปิดทองทึบ แต่จะมีลักษณะเฉพาะของงานนี้ อยู่ที่มีการ "ร่องกระจก" เพิ่มขึ้นมา
"ร่องกระจก" คือการใช้กระจกสีต่างๆ แผ่นบาง รูปสี่เหลี่ยม นำมาตัดย่อยเป็นชิ้นเล็กรูปร่างต่างๆ ตามประสงค์ ให้เหมาะแก่งานและพื้นที่นำมาติดลงในพื้นร่องระหว่างลวดลายหรือในช่องไฟของสิ่งที่ได้ปิดทองขึ้นในที่นั่น
ความประสงค์ "ร่องกระจก" ก็เป็นไปเช่นเดียวกับการปิดทองร่องชาด คืออาศัยกระจกที่เป็นวัตถุมีสีและความ มันวาวถมปิดลงในร่องเพื่อหนุนหรือขับลวดลายหรือสิ่งที่ปิดทองซึ่งนูนขึ้นจากพื้นหลังให้เป็นที่ดูเด่นชัด เห็นกระจะ ตานั่นเอง

งานลงรักปิดทองลายฉลุ
งานลงรักปิดทองลายฉลุ หมายถึงงานตกแต่งลักษณะหนึ่งทำขึ้นด้วยการลงรักแล้วปิดทองคำเปลวให้เป็นลวด ลายแบบต่างๆ โดยอาศัยแบบลายฉลุเป็นเครื่องกำหนดให้เกิดเป็นลวดลายเช่นนั้น
งานลงรักปิดทองลายฉลุนี้ พึงหาตัวอย่างดูได้ตามเพดาน ท้องขื่อ ฝ้าเฉลียง ไขรา ฝาผนังในพระอุโบสถ พระวิหาร หอพระธรรม พระมณฑป เป็นต้น ลักษณะทั่วไปมักเป็นลวดลายหย่อม เช่น ลายดาว ลายดอกจอก ลายดาวรังแตน ลายดอกไม้ร่วง หรือทำเป็นลวดลายติดต่อ เช่น ลายก้านแย่งดอกใน ลายกรวยเชิง ลายเกลียวก็มี ลักษณะของลวดลายเป็นสีทองบนพื้นสีแดงบ้าง สีคราม และสีเขียวบ้าง ลวดลายแบบนี้มีลักษณะเป็นตัวขาดจากกัน ไม่ต่อเนื่องกันดังเช่นลายเขียน ทั้งนี้เนื่องจากมี "ขื่อ" ทำขึ้นในแบบลายฉลุเป็นเครื่องกั้นลายแต่ละตัวให้ขาดกัน
งานลงรักปิดทองลายฉลุและวิธีการลงรักปิดทองลายฉลุนี้ เป็นมาด้วยการแก้ปัญหาทางการช่าง ในการทำ ลวดลายตกแต่งตามที่สูงๆ เป็นต้น ฝ้าเพดาน ท้องขื่อ หรือฝ้าปีกนก ฯลฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ดาดอยู่เหนือศีรษะ เป็นตำแหน่ง ที่ยากและลำบากแก่การแหงนหน้าขึ้นเขียนลวดลายที่ประณีตและละเอียด จึงได้ใช้วิธีทำแบบลวดลายขึ้นบนกระดาษ บ้าง หนังแพะบ้าง แล้วฉลุตัวลายให้ขาดเป็นช่องๆ ตามรูปแบบลายนั้น ขึ้นไว้บนพื้นกระดาษนั้น เมื่อจะทำลวดลายก็ เอาน้ำยาขึ้นไปทาพื้นตรงที่จะทำให้เป็นลวดลายแล้วเอาแบบลวดลายปะติดเข้าตรงที่ต้องการให้ติดแน่น จึงเอา ทองคำเปลวปิดลงตรงช่องที่เจาะทำเป็นตัวลายบนแบบนั้นให้ทั่ว พอทองจับติดพื้นดีแล้วจึงแกะแบบถอนออกจากพื้น ตามแบบลายฉลุที่ได้ทำขึ้นเป็นแบบนั้น แบบลายฉลุนี้อาจใช้ทำลวดลายต่อเนื่องกันไปได้ไม่จำกัด ลวดลายและวิธีทำ ให้เกิดเป็นลวดลาย ลักษระเช่นนี้จึงเรียกว่า งานลงรักปิดทองฉลุลาย

วาโยรัตนะ 24-03-2009 09:04

งานช่างประดับกระจก

งานช่างประดับกระจกหรือบางทีเรียกว่า ช่างติดกระจก เป็นงานช่างรักประเภทหนึ่งมาแต่โบราณ ภายหลังได้รับการจัดให้เป็นประณีตศิลปหรือมัณฑนศิลปอีกด้วย ที่เป็นเช่นนี้เนื่องด้วยงานช่างประดับกระจกเป็น งานตกแต่งสิ่งอุปโภคหรือครุภัณฑ์ต่างๆ ให้เกิดความงามเพิ่มเติมสมบูรณ์ขึ้นด้วยศิลปลักษณะบนผิวภายนอกของ สิ่งนั้นๆ โดยการประดับด้วยกระจกสีต่างๆ ผิวมันวาว ซึ่งได้รับการตัดแบ่งและแต่งเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ติดต่อกันเป็น ลวดลายเป็นลายหลากหลายแบบด้วยกันขึ้นบนศิลปภัณฑ์นั้นๆ

http://i113.photobucket.com/albums/n...ngSipMu009.jpg
งานช่างประดับกระจกก็ดี ความนิยมต่องานประดับกระจกก็ดี เนื่องมาแต่สาระซึ่งผู้คนแต่ก่อนเห็นความ สำคัญในคุณลักษณะของกระจกที่เป็นทั้งสีและมีความมันแวววาว กับยังเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติเปล่งประกายออกได้ คล้ายกับอัญมณีเมื่อได้รับแสงสว่างส่องมากระทบผิวกระจกนั้น กระจกสีจึงได้รับการนำมาประดับลงในบางสิ่งที่พึ่ง ประดับด้วยอัญมณีจริง หรือประดับเป็นอย่างของเทียมแทนจะใช้อัญมณี นอกจากนี้ยังเป็นวัสดุ ที่มีคุณภาพแข็ง คงทนถาวรต่อแดด ฝน เป้นเครื่องช่วยป้องกันมิให้วัตถุที่กระจกปิดทับเสื่อมสลายง่าย จึงเป็นเหตุให้เกิดมีงานเครื่อง ประดับกระจกและกระบวนการช่างประดับกระจกเป็นขนบนิยมขึ้นในแวดวงช่างสิบหมู่สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
วัตถุที่เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับงานประดับกระจกคือ กระจกหรือแก้วที่ทำเป็นแผ่นบางๆ ใช้กันมาแต่โบราณ มีอยู่ ๒ ชนิดด้วยกัน ดังนี้
กระจกแก้ว ลักษณะเป็นแผ่นบางๆ รูปร่างสี่เหลี่ยม มีสีต่างๆ กระจกแต่ละแผ่นฉาบด้านหลังด้วยแผ่น บางๆ ของโลหะเงิน หรือโลหะเจือปรอท ผิวหน้าเป็นมันวาว เนื้อกระจกแข็ง
กระจกเกรียบ ลักษณะเป็นแผ่นบางๆ สีต่างๆ ด้านหลังเป็นดีบุก ด้านหน้าผิวมัน กระจกชนิดนี้เนื้ออ่อน อาจตัดแบ่งเป็นชิ้นได้ด้วยกรรไกร กระจกเกรียบนี้ในบางแห่งเรียกว่า แก้วชื่น แก้วจีน หรือแก้วพุก่ำ

วัสดุใช้สำหรับงานช่างประดับกระจก

รักน้ำเกลี้ยง
สมุก ผงถ่านใบตองแห้ง
ชันผง
น้ำมันยาง
ปูนขาว

เครื่องมืองานช่างประดับกระจก



เพชรตัดกระจก ด้ามทำด้วยทองเหลืองลักษณะคล้ายรูปดาบ ยาวประมาณ ๖ นิ้ว ตอนปลายค่อนข้างแบน ติดเศษเพชรยื่นออกมาเล็กน้อย เรียกว่า เพชรเขี้ยวงู
ไม้ตับคีบกระจก ทำด้วยไม้ไผ่ สำหรับคีบจับแผ่นกระจกได้มั่น และตัดกระจกสะดวกดี
ไม้กะขนาด สำหรับกะขนาดกระจกที่จะแบ่งตัด
ไม้ติดขึ้ผึ้งติดกระจก ใช้ติดชิ้นกระจกนำไปปิดลงบนพื้นที่จะประดับกระจก
เกรียงทาเทือก ใบเกรียงทำด้วยเหล็ก รูปร่างคล้ายช้อน ใบเรียวรี ปลายแหลม ต่อด้ามทำด้วยไม้
กรรไกรจีน ใช้สำหรับตัดแต่ง เล็บมุม หรือขอบที่ต้องการตัดกระจกเป็นรูปกลมๆ
กระดานผสมสมุก ทำด้วยไม้แผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีด้ามสำหรับมือจับอยู่ในตัว
ไม้ซาง ใช้สำหรับกวดผิวหน้ากระจก
งานประดับกระจกซึ่งดำเนินการตามขนบนิยมที่เป็นโบราณวิธี มีขั้นตอนโดยลำดับ คือ

การกำหนดแบบลวดลายประดับกระจก

ขั้นต้น ต้องคิดแบบลวดลายสำหรับประดับกระจกขึ้นเป็นแบบอย่างที่ชัดเจนเสียก่อน ลวดลายสำหรับงาน ประดับกระจกเป็นลายประเภทคุณลักษณะของวัสดุเป็นเงื่อนไขบังคับ จะทำเป็นรูปคดโค้งไม่ได้ ทำได้แต่เป็นรูป เหลี่ยมง่ายๆ ซึ่งเป็นรูปแบบพื้นฐานและประเภทรูปแบบเรขาคณิต (Geometric Shape)
ลวดลายแบบเรขาคณิตที่ผูกขึ้นสำหรับประดับกระจกอาจผูกเป็นลวดลายแบบต่างๆ เช่น
แบบลายชนิดที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเรียงชิดติดต่อกัน คล้ายตาสี่เหลี่ยมบนกระดานหมากรุก
แบบลายชนิดที่ใช้รูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ต่อด้านเข้าด้วยกันโดยให้มุมชนกันเป็นคู่ๆ ไปโดยรอบ เรียกว่า ดอกพิกุลร่วง
ลวดบายติดต่อแบบด้านและมุมต่อผสมกัน ซึ่งอาจใช้รูปเหลี่ยมต่างๆ เช่นสี่เหลี่ยม ลูกฟักตัดมุมต่อกันเป็นลาย เรียกว่า ลายแก้วชิงดวง
ขั้นหลัง คือการเตรียมงานตัดกระจกสีต่างๆ เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ให้เป็นรูปเหลี่ยมต่างๆ ได้ขนาดต่างๆ และสี ตามจำนวนที่ต้องการและเพียงพอแก่การจะใช้ประดับทำเป็นลวดลายตามแบบลวดลายที่ได้กำหนดขึ้นไว้

การเตรียมเทือกรัก

เทือกรัก เป็นสิ่งประกอบสำคัญในงานประดับกระจก เป็นตัวเชื่อมอยู่ระหว่างด้านหลังแผ่นกระจกแต่ละชิ้นๆ กับผิวพื้นของสิ่งที่ประดับด้วยกระจกนั้น
เทือกรัก ลักษณะเป็นของเหลวข้นมากและเหนียวจัด ทำขึ้นด้วยรักน้ำเกลี้ยง สมุก น้ำมันยาง หรือรักน้ำเกลี้ยง กับชัน หรือรักน้ำเกลี้ยง ปูนขาว และน้ำมันยางคลุกเคล้าให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วนำขึ้นตั้งไฟอ่อนๆ เคี่ยวและกวน ให้เหนียวจัดจึงเอาลงพักไว้สำหรับใช้งานต่อไป

การประดับกระจก

การประดับกระจกอาจทำประดับเครื่องอุปโภคประเภทภาชนะต่างๆ ที่ผิวพื้นไม่เป็นพื้นราบ เช่น ตะลุ่ม เตียบ เชิงบาตร มักเรียกว่า "หุ่น" กับได้ประดับลงบนผิวพื้นราบกว้าง เช่น ฝาผนัง ฝาตู้หนังสือ หน้าเสา เป็นต้น
วิธีการประดับกระจกขั้นต้นคือ การใช้เกรียงทาเทือกรักลงบนพื้นเกลี่ยให้ราบเสมอกัน แล้วจึงเอาไม้ติดขี้ผึ้ง ติดกระจกจิ้มบนหน้าชิ้นกระจกที่ตัดเตรียมไว้ปิดลงบนเทือกรัก โดยให้จมลงในเทือกรักจนเทือกรักปลิ้นออกมาจาก ใต้กระจก เพื่อจะได้เป็นเครื่องยึดริมชิ้นกระจกแต่ละชิ้นเข้าด้วยกัน และยังช่วยป้องกันน้ำฝนมิให้ซึมเข้าแนวเทือกริม ชิ้นกระจกนี้เรียกว่า "สาแหรก" ทำเช่นนี้เรื่อยไปจนเต็มพื้นที่ครบถ้วนกระบวนรายที่กำหนด
จากนั้นจึงกวดผิวหน้ากระจกแต่ละชิ้นด้วยไม้ซางที่ตัดให้ได้พอเหมาะกับพื้นที่โดยการกลิ้งคลึงแต่เบาๆ จน กระจกอัดตัวติดกับเทือก และมีผิวราบเสมอทั่วกันก็ถึงงานขั้นสุดท้าย คือ การทำความสะอาดเช็ดถูหน้าชิ้นกระจกที่ เปรอะเปื้อนคราบเทือกรักออกด้วยผ้าเนื้อนุ่มสะอาดชุบน้ำมันการะบูนผสมเหล้าขาว หรือแอลกอฮอล์แล้วล้างด้วย น้ำสะอาด เช็ดให้แห้ง ผิวกระจกจะขึ้นมันสดใสสวยงาม
อนึ่ง การประดับกระจกของช่างประดับกระจกแต่โบราณ ยังมีวิธีการประดับกระจกที่พิสดารเป็นความรู้ทาง ช่าง ให้เกิดเป็นรูปทรงต่างๆ บนพื้นที่อีกหลายวิธี เช่น วิธีประดับแบบ "หนามขนุน" มีรูปทรงแลดูคล้ายหนามขนุน วิธีประดับแบบ "ดอกจอก" เป็นรูปทรงเรียงรายเปรียบดังดอกจอก หรือวิธี "ตัดตูดใส่ใจ" ซึ่งเป็นวิธีประดับกระจก ขัดลายขัดสีด้วยรูปแบบกระจกและสีต่างกัน มีการใส่กระจกสีลงตรงใจกลางชิ้นกระจกที่ล้อมอยู่โดยรอบเรียกว่า "ใส่ใจ" เป็นต้น

งานช่างประดับกระจกประเภทต่างๆ

การประดับกระจกโดยประสงค์ตกแต่งสิ่งต่างๆ ให้มีความงามเพิ่มเติมขึ้นแก่สิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น อาจจำแนก ประเภทของลักษณะการประดับกระจกออกไปได้เป็น ๕ ประเภท ดังนี้
การประดับกระจกประเภทพื้นลาย เป็นการประดับกระกกทำเป็นพื้นผิวดาดๆ หรือทำเป็นลวดลายขึ้นบนพื้น ราบ กึ่งราบหรือโค้ง ลักษณะผิวหน้าของชิ้นกระจกอยู่ในระดับเสมอกัน
การประดับกระจกประเภทร่องกระจก เป็นการประดับกระจกลงในพื้นร่องว่างที่เป็นช่องไฟระหว่างลวด ลายสลัก ไม้หรือปั้นปูนลงรักปิดทอง พื้นร่องว่างนั้น อยู่ต่ำกว่าลวดลาย โดยประสงค์ใช้กระจกสี เช่น สีคราม สีเขียว ช่วยขับลวดลายปิดทองคำเปลวให้ดูเด่นขึ้น เรียกว่า "ร่องกระจก"
การประดับกระจกประเภทลายยา เป็นการประดับกระจกสีต่างๆ สีที่ได้รับการตัดแบ่งเป็นชิ้นตามแบบลวด ลายและขนาดที่กำหนดลงในร่องตื้นๆ ซึ่งได้ขุดควักลงบนหน้ากระดานที่จะประดับกระจก งาน "ประดับกระจก ลายยา" นี้ย่อมาจากคำว่า "กระยารง" แปลว่า "เครื่องสี" และการเรียกงานประดับกระจกประเภทนี้ว่า "ลายยา" ก็เป็น ไปในเชิงเปรียบเทียบว่าลวดลายประดับด้วยกระจกสีต่างสีที่ปรากฏบนพื้นสีทองนั้นแลดูคล้ายกันกับลวดลายเขียน ด้วยกระยารง หรือกระยาสี คือเครื่องสีนั่นเอง
การประดับกระจกประเภทแกมเบื้อ เป็นการประดับกระจกสีร่วมด้วยกันกับงานประดับมุก เพื่อเพิ่มเติมสีสันให้ สวยงามแก่งานประดับมุก คำว่า "เบื้อ" หมายถึง "มีแสงเลื่อมพราย" โดยปริยาย หมายถึงกระจก คำว่า "แกมเบื้อ" จึงหมายถึง "ปนด้วยกระจก"
การประดับกระจกประเภทสุดท้ายเป็นการปิดหรือติดกระจกทำเป็น "แวว" สอดประดับตกแต่งในตัวลายแบบ ต่างๆ ด้วยการตัดกระจกเป็นรูป หยดน้ำ กลม ปิดเป็นไส้ลายกระจัง ลายใบเทศ หรือ ลายดอกมะเขือ เป็นต้น
งานช่างประดับกระจก ประเภทได้ทำกันมาแต่กาลก่อน อาจประมวลมาให้ทราบเป็นลำดับ ดังนี้
งานประดับอาคารสถาน เช่น ประดับฝาผนังพระอุโบสถ หอไตร พระที่นั่ง บุษบก หน้าบัน เป็นต้น
งานประดับองค์ประกอบสถาปัตยกรรม เช่น ประดับช่อฟ้า เครื่องลำยอง บัวหัวเสา คันทวย หน้าเสา บานประตู เป็นต้น
งานประดับครุภัณฑ์ เช่น ฐาน แท่น พระแท่นแว่นฟ้า ม้าหมู่ ตู้หนังสือ ตู้พระธรรม หีบใส่คัมภีร์ เป็นต้น
งานประดับยานพาหนะ เช่น เรือพระที่นั่ง ราชรถ พระราชยาน สีวิกา เป็นต้น
งานประดับเครื่องอุปโภคต่าง เช่น ตะลุ่ม กระบะ พานแว่นฟ้า เตียบ ใบประกับหน้าคัมภีร์ เป็นต้น
งานประดับเครื่องประกอบการแสดงมหรสพ เช่น มงกุฎ ชฎาหน้า หรือหัวโขน เครื่องอาวุธบางชนิด เป็นต้น

วาโยรัตนะ 24-03-2009 09:09

งานประดับมุก

งานช่างประดับมุก จัดเป็นงานประณีตศิลปหรืองานมัณฑนาศิลปประเภทหนึ่งที่ทำสำเร็จขึ้นด้วยกระบวนการ ช่างประดับมุก ซึ่งเรียกตามๆ กันมาว่า "เครื่องประดับมุก" หรือ "เครื่องมุก" ที่ทำขึ้นด้วยเปลือกหอยทะเลชนิดหนึ่ง เรียกกันตามภาษาช่างว่า "หอยมุก" นำมาตัดแบ่งเป็นชิ้นย่อยแล้วโกรกทำให้เป็นลวดลายแบบต่างๆ นำมาประดับ ติดลงบนพื้นผิวภายนอกของ "ศิลปภัณฑ์" อย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อตกแต่ง "ศิลปภัณฑ์" นั้นให้เกิดมีศิลปลักษณะ งามพร้อมไปด้วยกระบวนลวดลายแบบต่างๆ และสีสันของผิวชิ้นหอยมุกที่ได้รับการประดับตกแต่งขึ้นไว้นั้น

http://i113.photobucket.com/albums/n...and/csm046.jpg
งานช่างประดับมุกก็ดี ความนิยมที่มีต่องานประดับมุกก็ดี ย่อมเนื่องมาจากผู้คนแต่ก่อนเห็นสำคัญแล้วจัดการ สร้างทำขึ้น จึงเกิดมีงานเครื่องประดับมุก และกระบวนการช่างประดับมุกเป็นขนบนิยมขึ้นในวงการช่างสิบหมู่สมัย หนึ่ง เป็นที่ยอมรับและนิยมกันในภายหลัง และได้รับการผดุงรักษาสร้างสรรค์ต่อเนื่องกันมาโดยมิได้ขาดหาย
การช่างประดับมุก จึงเป็นงานช่างที่จะต้องดำเนินงานร่วมกันด้วยช่างเขียนลาย ช่างตัดและโกรกชิ้นมุก ช่างรัก และช่างประดับมุกที่มีฝีไม้ลายมือทัดเทียมกัน จึงจะสร้างงานเครื่องประดับมุกสำเร็จเป็นงานดี มีคุณภาพ และคุณค่าพร้อม ดังนี้ งานเครื่องประดับมุก จึงเป็นงานประณีตศิลปหรืองานมัณฑนศิลป ที่ประมวลทั้งฝีมือและ ความสามารถของช่างสิบหมู่หลายช่างอยู่ด้วยกัน

มุก หอยมุก

"มุก" หรือ "หอยมุก" เป็นชื่อหอยทะเล เปลือกของหอยมุกเป็นวัสดุดิบตามธรรมชาติ จัดเป็นวัสดุปัจจัยสำคัญ สำหรับงานประดับมุก
หอยมุก หรือเปลือกหอยมุกชนิดที่ช่างประดับมุกนำมาใช้สำหรับงานประดับมุก เป็นหอยมุกชนิดที่มีชื่อเรียก เฉพาะว่า Marbled Turban หรืออย่างที่ชาวทะเลเรียกว่า "หอยอูด" แต่ในบรรดาช่างประดับมุกมักเรียกหอยมุกชนิด นี้ว่า "มุกไฟ" ทั้งนี้เนื่องด้วยผิวของเปลือกหอยชั้นในสุด เป็นสีขาวนวลมันวาว เมื่อรับแสงสว่างหรือแสงไฟจะเป็น ประกายออกเป็นสีต่างๆ ล้อแสงไฟ



วัสดุที่เป็นปัจจัยสำหรับงานประดับมุก นอกจากมุกหรือหอยมุกแล้ว ยังมีวัสดุที่เป็นส่วนประกอบร่วมในงาน ประดับมุกดังต่อไปนี้
รักน้ำเกลี้ยง
รักเช็ด
สมุก
ฝุ่นถ่านเขากวาง
ผงกระเบื้องดินเผา
งานประดับมุก เป็นงานช่างฝีมือชั้นสูง ซึ่งต้องอาศัยเครื่องมือต่างๆ ช่วยในการทำงาน ประกอบด้วย
ตะไบ มี ตะไบแบน ตะไบท้องปลิง ตะไบสามเหลี่ยม ตะไบหางหนู ตะไบรูปคมมีด
คันเลื่อยโกรก และใบเลื่อย
ปากกามือ
ปากคีบ
แปรงทองเหลือง
กระดานสำหรับผสมและทาสมุก
ม้าไม้สำหรับงานโกรกชิ้นมุก
งานประดับมุกมีขั้นตอนในการดำเนินงานอย่างโบราณวิธี คือ



การเตรียมเปลือกหอยมุก

ขั้นตอนการปอกเปลือกหอยชั้นนอกออกจนถึงชั้นในที่ต้องการ
เปลือกหอยมุกที่จะใช้สำหรับงานประดับมุก มักใช้เปลือกตอนที่อยู่ถัดจากปากเปลือกหอยมุกขึ้นไปประมาณ ๔-๖ นิ้ว เปลือกส่วนนี้ไม่สู้หนาและมีเนื้อที่กว้างกว่าตอนที่เลยขึ้นไป ช่างประดับมุกจะใช้เลื่อยตัดแบ่งเปลือกหอยส่วน นี้ออกจากหอยมุกแต่ละตัว เปลือกหอยที่ตัดออกมานี้มีลักษณะโค้งคล้ายกาลกล้วย และโอนเป็นกระพุ้งตามลักษณะ ตัวหอย จึงต้องตัดเปลือกหอยนั้นๆ ออกเป็นชิ้นย่อยๆ เพื่อลดลักษณะที่เป็นกระพุ้งนูนบนหลังเปลือกหอยให้มากที่สุด
ชิ้นเปลือกหอยมุกที่ได้รับการตัดแบ่งเป็นชิ้นย่อยๆ แล้ว ต้องนำมา "ถา" ด้วยตะไบหน้าแบนแต่งหน้าชิ้น เปลือกหอยให้แบนราบ และให้ได้ขนาดความหนาหรือบางเสมอกันทุกๆ ชิ้น แล้วจัดการชะล้างทำความสะอาดชิ้นมุก ที่ได้ทำการขั้นนี้ทั้งหมด ผึ่งให้แห้งเตรียมไว้สำหรับการตัดทำเป็นลวดลายต่อไป

การเขียนลวดลายประดับมุก

งานประดับมุก เริ่มต้นขึ้นจากการ "ผูกเขียนลวดลาย" หรือ การออกแบบเป็นลวดลาย ที่จะได้ใช้เป็นแบบ สำหรับตัดชิ้นมุกให้เป็นตัวลายต่างๆ และเป็นแบบสำหรับประดับชิ้นลวดลายมุกแต่ละชิ้นๆ เป็นลวดลายประดับมุกให้ เป็นไปตามความประสงค์ดังที่ผูกเขียน หรือออกแบบลวดลายนั้นๆ ขึ้นไว้แต่แรก
การผูกเขียนลวดลายสำหรับงานประดับมุกนี้ มักเขียนลวดลายให้มีช่องไฟ หรือทิ้งพื้นที่ระหว่าง ตัวลาย ช่อลาย และเถาให้ห่างพอสมควร เพื่อประสงค์ให้เห็นลวดลายกระจะเด่นงามด้วยประกายความเลื่อมมันบนพื้นสีดำ หากผูกเขียนลวดลายทิ้งพื้น หรือช่องไฟถี่หรือติดกันมากตัวลายชิดกันเกินไปประกายเลื่อมมันของชิ้นมุกทอแข่งกัน ทำให้ไม่เห็นลวดลายชัดเจน หรือพร่างพราวพร่าความงามให้เสียไป
ลวดลายประดับมุกนี้ต้องจัดทำเป็น ๒ แผ่น แผ่นแรกเป็นต้นร่างลวดลายหรือรูปภาพที่จะทำการประดับมุกให้ เป็นตามต้นร่าง แผ่นที่สองเป็นต้นร่างลวดลายที่ลอกแบบจากต้นร่างแผ่นแรกแต่ทำนทางกลับกัน หรือตรงกันข้าม กับลวดบายต้นร่างแผ่นแรก

การตัดลวดลาย

การตัดลวดลาย เป็นงานขั้นที่สองของงานประดับมุก ช่างประดับมุกจะนำเอาชิ้นมุกที่ได้เตรียมทำเป็นชิ้น แบนๆ ขึ้นไว้แต่ต้นนำมาปิดกระดาษแบบลาย แล้วจึงตัดทำให้เป็นลวดและลายตามแบบที่ได้ผูกเขียนขึ้นไว้ให้ครบ ทุกตัว จึงปิดชิ้นมุกลงบนกระดาษแผ่นที่ ๒

การเตรียมพื้นสำหรับงานประดับมุก

งานประดับมุก อาจทำขึ้นบนพื้นกระด้างชนิดต่างๆ เช่น พื้นไม้ พื้นโลหะ พื้นดินเผา แต่จะต้องจัดการเตรียม พื้นซึ่งจะประดับตกแต่งด้วยการลงสมุกให้เหมาะสมเสียก่อน

การประดับมุก

งานประดับมุกในขั้นตอนนี้ คือนำเอากระดาษต้นร่างแผ่นที่ ๒ ที่ได้ปิดชิ้นลายลายมุกเตรียมไว้เรียบร้อยมาปิด ทับลงบนพื้นที่ได้ทำรักสมุกเตรียมไว้
การปิดกระดาษต้นร่างเพื่อประดับมุกลง ทำด้วยการจับแผ่นกระดาษต้นร่างคว่ำหน้าลงแล้วค่อยวางทาบปิด ลงบนพื้นที่ลงรักสมุก ต้องจับกระดาษให้ตึงวางลงให้พอดีกับขนาดของพื้นที่ ระวังอย่าให้กระดาษย่น ร่น หรือ ขาดเสียก่อน พอทาบกระดาษปิดลงสนิทแล้วจึงใช้ไม้ซางทาบลงบนหลังแผ่นกระดาษกลิ้งไม้ซางกวดกระดาษให้ แนบสนิท และกดชิ้นลวดลายมุกให้จมติดกับรักสมุก โดยกลิ้งคลึงไม้ซางกวดไปให้ทั่วพื้นหลังทั้งหมดแผ่นกระดาษ ต้นร่างนั้น จึงปล่อยพื้นที่ปิดกระดาษทิ้งไว้สัก ๒-๓ วันเพื่อให้รักสมุกแห้งและจับชิ้นลวดลายมุกติดแน่นอยู่กับพื้น จึงลอกกระดาษออก แล้วถมรักในพื้นให้เต็มเสมอหน้าลวดลายมุก

การขัดและเก็บเงา

เป็นขั้นตอนภายหลังถมรักเรียบร้อยแล้ว จึงทำการขัดให้ลายมุกผุดขึ้นชัดเจนทั้งหมดและเก็บเงางานประดับ มุก
การเก็บเงา เป็นงานขั้นท้ายสุดของการประดับมุก ทำโดยนำเอารักเช็ดมาเช็ดทับสัก ๒-๓ ทับ ผิวงานประดับ มุกก็จะขึ้นมันเป็นเงางาม
อนึ่ง การเช็ดรักเก็บเงานี้ หากได้ทำหลายๆ ทับก็จะยิ่งเป็นมันและเงาลึกยิ่งขึ้น แต่ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นตาม คุณภาพของานที่ต้องการ
การช่างประดับมุกที่เป็นงานประณีตศิลป ตกแต่งสิ่งที่เป็นศิลปกรรมต่างๆ มีตัวอย่างเช่น
งานประดับมุก บานประตู บานหน้าต่างพระอุโบสถ พระวิหาร พระมณฑป
งานประดับมุก ฝาหีบ ฝาตู้หนังสือ ใบประกับหน้าคัมภีร์
งานประดับมุก ม้าหมู่ พระแท่น ราชบัลลังก์ พระแท่นที่บรรทม ฉาก ลับแล
งานประดับมุก หีบหมาก ถ้ำ ยาดม ฝักดาบ กระดุมเสื้อ
งานประดับมุก หีบศพ เป็นต้น

วาโยรัตนะ 24-03-2009 09:23

ช่างบุ
Metal Beating



ช่างบุ เป็นช่างฝีมือประเภทหนึ่งในจำพวกช่างสิบหมู่ ได้ใช้ฝีมือทำการช่างในลักษณะตกแต่งผิวภายนอก ของงานประเภทศิลปภัณฑ์ ครุภัณฑ์ และสถาปัตยกรรมบางลักษณ์ด้วยงานบุ ให้มีคุณค่าสวยงามและมั่งคงถาวร
คำว่า "บุ" เป็นคำกริยาอย่างหนึ่ง หมายถึง การเอาของบางๆ หรืออีกนัยหนึ่งคือ การตีให้เข้ารูป เช่น บุขันทองลงหิน เป็นต้น
ช่างบุ ที่เป็นช่างหลวงอยู่ในจำพวกช่างสิบหมู่มาแต่โบราณกาล คือ ช่างประเภทที่ทำการบุโลหะให้แผ่ออก เป็นแผ่นบางๆ แล้วนำไปหุ้มคลุมปิดเข้ากับ "หุ่น" ชนิดต่างๆ เพื่อปิดประดับทำเป็นผิวภายนอกของ "หุ่น" ที่ทำขึ้นด้วย วัตถุต่างๆ เช่น ไม้ ปูน โลหะ หิน เป็นต้น ให้เกิดความงาม มีคุณค่า และความคงทนถาวรอยู่ได้นานปี
งานบุโลหะทำขึ้นสำหรับหุ้มห่อปิดคลุมหุ่นชนิดต่างๆ อาจทำแก่สิ่งที่เรียกว่าหุ่นขนาดย่อมๆ ไปจนกระทั่งทำ แก่หุ่นขนาดใหญ่มาก ดังตัวอย่างงานบุในแต่ละสมัยต่อไปนี้
เมื่อสมัยสุโขทัย มีความในจารึกบนหลักศิลาบางหลักระบุเรื่อง การตีโลหะแผ่เป็นแผ่นแล้วบุหุ้มพระพุทธปฏิมา กรอยู่หลายความ หลายแห่งด้วยกัน เป็นต้นว่า จารึกศิลาวัดช้างล้อม ระบุความว่า
"...จึงมาเอาสร้อยทองแถวหนึ่งตีโสมพอกพระเจ้า..."
สมัยล้านนา มีความว่าต้องการช่างบุนี้บันทึกเข้าไว้ในตำนานการสถาปนาศาสนสถานสำคัญมีความตอน หนึ่งใน ชินกาลมาลีปกรณ์ ว่าด้วยการบุโลหะหุ้มพระมหาเจดีย์ ณ วัดเจดีย์หลวง กลางเมืองเชียงใหม่ เมื่อรัชกาล พระเจ้าติโลกราช
ต่อมาถึงสมัยอยุธยา พระพุทธปฏิมากรจำนวนไม่น้อยที่ได้รับการสถาปนาขึ้นในช่วงสมัยอันยาวนานถึง ๔๐๐ ปี ก็ได้รับความนิยมใช้โลหะมีค่าหุ้มห่อหุ้มองค์พระให้สวยงามและมีคุณค่าเพิ่มขึ้น พระพุทธปฏิมากรสำคัญองค์หนึ่ง ได้รับการบุด้วยทองคำ คือ พระพุทธปฏิมาพระศรีสรรเพชญ์
ครั้นมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ การช่างบุยังได้รับการผดุงรักษาให้มีอยู่ต่อมาในหมู่ช่างหลวงจำพวกช่างสิบหมู่ ได้ทำการบุโลหะเป็นเครื่องประดับตกแต่งต่างๆ เช่น บุโลหะประดับฐานเบญจา บุทำพระลองประกอบพระโกศ บุธาร พระกร บุฝักพระแสง ฝักดอาบ และมีงานบุโลหะชิ้นสำคัญยิ่งชิ้นหนึ่ง คือ บุษบกที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตน ศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง เป็นบุษบกที่ทำโครงสร้างด้วยไม้แล้วบุหุ้มด้วยทองคำทั้งองค์ ในจดหมายเหตุการ ปฏิสังขรณ์ วัดรพะศรีรัตนศาสดาราม เมื่อรัชกาลพระบาทสมเด็จพระรนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความบอกลักษณะบุษบก ไว้ว่า
"...และพระมหาบุษบกนั้น ย่อเหลี่ยมไม้สิบสอง สูงแปดศอกคืบแผ่สุวรรณธรรมชาติ หุ้มคงแต่เชิงฐานปัทมขึ้น ไปถึงสุดยอด"

งานบุ

งานบุ ซึ่งเป็นงานช่างที่ทำให้เป็นผลสำเร็จได้ด้วยการปฏิบัติงานตามขนบนิยมอย่างโบราณวิธีบุโลหะ อาจลำดับหลักการและวิธีการให้ทราบดังต่อไปนี้

วัสดุ

วัสดุที่เหมาะสมจะนำมาใช้สำหรับงานบุ ที่เป็นมาแต่กาลก่อน คือ
ทองคำ
ทองแดง
ดีบุก

เครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับงานบุ

การปฏิบัติงานบุโลหะ ได้ใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ตามความเหมาะสมในการปฏิบัติงาน มีดังรายการต่อไปนี้
ค้อนเหล็ก สำหรับตีแผ่โลหะ
ค้อนไม้
ค้อนเขาควาย
ทั่งเหล็ก
กะหล่อน อุปกรณ์ชนิดหนึ่งลักษณะ คล้ายทั่ง แต่หน้าเล็กและมน
เติ่งไม้ อุปกรณ์ชนิดหนึ่งทำด้วยไม้ท่อน หน้าเว้าตื้นๆ
กรรไกร
สว่านโยน
ไม้เนียน ทำด้วยเขาควาย
แม่พิมพ์ ชนิดทำด้วยหิน หรือทำด้วยไม้
ถุงทราย
ชันเคี่ยว
สิ่วสลักหน้าต่างๆ
หมุด ทำด้วยโลหะผสม

การปฏิบัติงานบุโลหะ

การปฏิบัติงานบุโลหะตามหลักการและวิธีการอย่างโบราณวิธีบุโลหะนี้ แบ่งออกเป็นงานบุโลหะ ๒ ลักษณะ ด้วยกันคือ
การบุหุ้มหุ่นอย่างผิวเรียบ
การบุหุ้มหุ่นอย่างผิวเป็นลวดลาย

การบุหุ้มอย่างผิวเรียบ

การบุโลหะในลักษณะนี้ หมายถึงการนำเอาโลหะชนิดใดชนิดหนึ่งมาทำการตีแผ่ออกให้เป็นแผ่นแบนบางๆ ตามขนาดที่ต้องการ จึงนำเข้าปิดบุทับบนหุ่นที่ต้องการบุทำผิวให้เป็นโลหะชนิดนั้น มักบุลงบนสิ่งก่อสร้างประเภท ก่ออิฐถือปูนเป็นปูชนียสถานต่างๆ เช่น พระสถูปเจดีย์ พระพุทธปรางค์ หรือพระมหาธาตุเจดีย์ พระเจดีย์ทรงปราสาท เป็นต้น งานบุโลหะด้วยโลหะแผ่นเช่นนี้ส่วนมากยังนิยมลงรักและปิดทองคำเปลวทับลงบนแผ่นโลหะที่บุทับลงในที่ นั้น ดังความในโคลงที่ว่า
"เจดียลอออินทร ปราสาทในทาบทองแล้วเนื้อ นอกโสรม"
อนึ่ง งานบุโลหะแผ่นผิวเรียบแล้วลงรักปิดทองคำเปลวนี้สมัยโบราณเรียกว่า บุทองสุวรรณจังโก หรอบุทอง ปะทาสี
งานบุโลหะอย่างผิวเรียบนี้ ยังได้ทำขึ้นเป็นรูปปฏิมากรต่างๆ ด้วยหลักการบุ ตี ทุบ เคาะ แผ่นโลหะเรียบขึ้น เป็นรูปทรงในลักษณะประติมากรรม สำหรับบุหุ้ม "หุ่น" ที่ได้ทำขึ้นจัดทำเป็นรูปหล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ หรือไม้สลัก การบุโลหะลักษณะตามกล่าวมานี้ ภาษาช่างบุ เรียกว่า "หุ้มแผลง"

การบุหุ้มหุ่นอย่างผิวเป็นลวดลาย

มักใช้โลหะที่มีเนื้ออ่อนเช่นทองคำ โลหะที่มีเนื้อแข็งไม่เหมาะจะนำมาใช้งานบุลักษณะนี้
งานบุหุ้มหุ่นอย่างผิวเป็นลวดลาย เป็นการทำแผ่นโลหะผิวเรียบๆ ให้เกิดเป็นลวดลายนูนขึ้นบนผิวหน้าแผ่น โลหะนั้น อ้วยการใช้แผ่นโลหะทำให้เป็นลวดลายด้วยแม่พิมพ์หินและตบด้วยถุงทรายก่อนจะนำไปบุทับลงบนหุ่น ชนิดต่างๆ ที่สร้างขึ้น เพื่อรับการตกแต่งด้วยงานบุ งานบุลักษณะผิวเป็นลวดลายนี้ มักเป็นชิ้นงานในลักษณะราบ และการนำเข้าติดกับหุ่น ซึ่งมักทำด้วยไม้จึงมักใช้หมุดตะบู่เข็มทำด้วยทองเหลืองตรึงให้แผ่นหรือชิ้นงานติดกับหุ่น นั้น
งานของช่างบุที่เป็นมาแต่อดีตมีผลงานของช่างที่เป็นตัวอย่างต่อไปนี้
งานบุประดับสถาปัตยกรรม ได้แก่ บุพระสถูปเจดีย์ บุพระพุทธปรางค์ บุเครื่องลำยองประกอบหน้าบัน บุหัวเสา
งานบุประดับราชภัณฑ์ ได้แก่ ฐานพระเบญจา พระแท่นราชบัลลังก์ บุษบก พระลองประกอบพระโกศ ฝักพระแสง
งานบุประดับประติมากรรม ได้แก่ บุพระพุทธรูป บุพระพิมพ์ บุปลาตะเพียนทองเงิน เป็นต้น

วาโยรัตนะ 24-03-2009 09:26

ช่างปูน
Plastering



ช่างปูน เป็นช่างประเภทหนึ่งในจำพวกช่างสิบหมู่ งานของช่างปูน เป็นงานสร้างทำอาคารสถานชนิดเครื่อง ก่อประเภท เจติยสถานและศาสนสถานต่างๆ เช่น พระสถูปเจดีย์ พระพุทธปรางค์เจดีย์ พระอุโบสถ พระวิหาร ฐานชุกชี ซุ้มคูหา กับได้ทำพระมหาปราสาท พระราชมณเฑียร แท่นฐาน เกยราชยาน ประตู เครื่องยอดต่างๆ ใบเสมา กำแพงและป้อมปราการ เป็นต้น และงานของช่างปูนยังเนื่องด้วยการปั้นปูนอีกด้วย



งานปูน จัดเป็นงานช่างเก่าแก่ จำพวกหนึ่งที่ในสยามประเทศนี้ ทั้งนี้พึงเห็นได้จากซากโบราณสถานประเภท เจติยสถาน ชนิดเครื่องก่ออิฐถือปูนทำลวดบังประกอบส่วนต่างๆ อย่างประณีตแสดงฝีมือและความสามารถช่างปูน ชั้นสูง แต่ทว่าหลักฐานความเป็นมาของช่างปูนรุ่นเก่าๆ นั้นไม่สู้มีหลักฐานสิ่งอื่นๆ แสดงให้ทราบได้ว่าเป็นช่างพวก ใดเป็นผู้สร้างทำ นอกเสียจากรูปแบบที่แสดงฝีไม้ลายมือฝากไว้เท่านั้น
งานปูน หรืองานช่างปูนแต่สมัยก่อน มีชื่อเรียกเป็นคำเก่าอีกอย่างหนึ่งว่า "สทายปูน" งานของช่างปูน อาจจำแนกลักษณะงานของช่างปูนออกได้เป็น ๒ ลักษณะ ด้วยกันคือ

ช่างปูนงานก่อ

ช่างปูนจำพวกนี้ ทำงานในลักษณะการก่อวัสดุชนิดต่างๆ เช่น อิฐ หิน ศิลาแลง เป็นต้น ขึ้นเป็นรูปทรงสิ่ง ต่างๆ ตั้งแต่ขนาดเล็ก เช่น ก่อเขามอขึ้นอ่าง ไปจนกระทั่งก่อพระสถูปเจดีย์ ก่อพระพุทธปรางค์เจดีย์ หรือได้ทำการ ในด้านบูรณะปฏิสังขรณ์ เครื่องหิน เครื่องอิฐก่อที่ชำรุดให้คืนดีขึ้นดั่งเดิม

ช่างปูนงานลวดบัว

ช่างปูนจำพวกนี้ ทำงานในลักษณะการถือปูนทำผิวเป็นลวดบัวแบบต่างๆ เช่น บัวคว่ำ บัวหงาย บัวหลังเจียด บัวปากปลิง บัวลูกแก้ว บัวอกไก่ สำหรับประกอบทำฐานลักษณะต่างๆ เป็นต้นว่า ฐานเชิง บาตร ฐานเท้าสิงห์ ฐานปัทม์ ฐานเฉียง ฐานบัวจงกล ฯลฯ หรือทำการถือปูนจับเหลี่ยมเสาแบบต่างๆ คือ เสาแปดเหลี่ยม เสาย่อมุมไม้สิบสอง เสากลม เป็นต้น
งานปูนที่เป็นงานในหน้าที่ของช่างปูนดังกล่าวมีวัตถุปัจจัยสำคัญสำหรับงาน คือ ปูน ซึ่งช่างปูนได้ใช้ในงาน ก่อ ฉาบ และถือปูนเป็นสิ่งต่างๆ มาแต่โบราณ การผสมปูนนี้ ช่างปูน บางคนได้ผสมเนื้อปูนให้มีคุณภาพเหนียวและ คงทนถาวรอยู่ได้นานปี บางคนใช้กระดาษฟางบ้าง หัวบุบุก หัวกลอยบ้าง แม้หัวต้นกระดาษก็ใช้ตำผสมเข้ากับเนื้อ ปูน เพื่อช่วยเสริมความเหนียวและยึดตัวดี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเชื่อและประสบการณ์ของช่างปูนแต่ละคน
งานช่างปูนนี้ เมื่อจะทำการคราวหนึ่งๆ จึงทำปูนขึ้นเฉพาะงานคราวนั้น จะทำเตรียมไว้ล่วงหน้านานเป็นแรม เดือนไม่ได้ การทำปูนเตรียมไว้สำหรับงานก่อ ฉาบ จับ ถือปูนเป็นงานค่อนข้างหนักแรง เพราะต้องใช้แรงตำปูนกับ สิ่งที่ผสมร่วมกันนานกว่าจะเข้าเป้นเนื้อเดียวและเหนียวได้ที่ ในการงานช่วงนี้ มักเป็นภาระหน้าที่ของลูกมือ ช่างปูนตำปูนให้แก่ช่างปูน แต่ในบางกรณีที่ช่างปูนได้ทำงานก่อ งานปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม ที่เป็นงานของหลวง อุปถัมภ์การพระศาสนา มักมีชาวบ้านสมัครมาช่วยตำปูน เป็นการร่วมทำบุญสร้างกุศลด้วยการโขลกตำปูนถวายวัด บุญกิริยาเช่นนี้ จึงเกิดเป็นธรรมเนียมขึ้นในสมัยก่อน เมื่อมีการสร้างหรือซ่อมปูชนียสถาน หรือศาสนสถานอย่างหนึ่ง อย่างใดที่เป็นชนิดเครื่องก่อขึ้นในวัด ชาวบ้านวัยหนุ่มวัยสาวจะสมัครมาช่วยกันตำปูนเตรียมไว้สำหรับช่างปูน จะได้ใช้งานตำปูนนี้จะทำกันในตอนหัวค่ำภายหลังเสร็จธุระประจำวันแล้ว ตั้งครกตำปูนเรียงรายกันหลายๆ ลูกครก ตำปูนนี้โดยมากใช้ครกกระเดื่องซึ่งจะช่วยผ่อนแรงตำได้มาก เมื่อตำปูนเหนียวได้ที่ครกหนึ่งๆ ก็ตักเอาไปพักไว้ใน อ่างดิน เอาผ้าหรือฟางชุบน้ำคลุมปิดไว้ให้ปูนชื้นพอแก่เวลาที่ช่างปูนจะมาเอาไปใช้ในวันรุ่งขึ้น อนึ่ง ปูนที่จัดการ โขลกตำเตรียมไว้นี้ยังไม่ต้องใส่เชื้อน้ำตาล จะใส่เชื้อน้ำตาลก็ต่อเมื่อช่างปูนจะใช้ปูน จึงใส่เชื้อดังกล่าวเอาเองตาม ส่วนหรือขนาดที่เข้าใจ ธรรมเนียมชาวบ้านช่วยตำปูนถวายวัดนี้ นอกเสียจากเป็นบุญกิริยาแล้วยังอาจกล่าวได้ว่า เป็นโอกาสสำหรับคนหนุ่มสาวได้มาสมาคมกันได้โดยผู้ใหญ่ไม่สู้เดียดฉันท์
ช่างปูนที่เป็นช่างปูนงานก่อก็ดีช่างปูนงานลวดบัวก็ดี ช่างประเภทนี้ ใช้เครื่องมือที่จำเป็นอยู่ ๒-๓ อย่าง คือ
เกรียงเหล็ก ขนาดต่างๆ
เกรียงไม้
ประทับหรือบรรทัด ถือลวดบัว หรือจับเหลี่ยม
ครก และสากไม้
ตะแกรง สำหรับร่อนปูน และทราย
อ่างดิน สำหรับพักหรือหมักปูน
ช่างปูน เป็นช่างฝีมือที่ได้ใช้ความสามารถของฝีมือสร้างทำปูนให้เป็นรูปลักษณ์ที่ประกอบไปด้วยศิลป ลักษณะ มีความงามและคุณค่าเชิงประณีตศิลป์ ฉะนี้ช่างปูนจึงได้รับการยอมรับและจัดรวมเข้าในหมู่ช่างสิบหมู่ด้วย สาระสำคัญของช่างปูนตามที่ได้อธิบายมานี้

วาโยรัตนะ 24-03-2009 09:29

บทสรุป
Conclusion



ช่างสิบหมู่ เป็นสถาบันทางการช่างศิลปกรรมแบบไทยประเพณีสถาบันหนึ่ง บุคคลที่มีความสามารถ และฝีมือเป็นช่างในถาบันนี้ จัดเป็นช่างหลวงจำพวกหนึ่งและเป็นข้าราชการที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นส่วนราชการ ที่ฐานะเป็น "กรม" ในราชการของราชสำนักเมื่อสยามประเทศยังปกครองด้วยระบบราชาธิปไตย
ช่างสิบหมู่ ซึ่งเป็นนามของช่างหลวงหมู่นี้ กล่าวโดยเฉพาะคำว่า "สิบ" คำนี้มีนัยว่าแต่คำว่า "สิปป" ซึ่งเป็นคำ บาลี มีความหมายตรงกันกับคำ "ศิลป" เป็นภาษาสันสกฤตว่าฝีมือ ฝีมือทางการช่าง การแสดงออกซึ่งอารมณ์ สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็นแต่คำว่า "สิปป" นี้เมื่อผ่านกาลเวลาอันยาวนาน การพูดเอ่ยนามนี้โดยขาดความระมัด ระวังประการหนึ่ง ความบกพร่องและไม่พิถีพิถันในการเขียนคำ "สิปป" ให้ครบถ้วนอีกประการหนึ่ง ก็เป็นเหตุให้คำ "สิปป" กล่อนและกลายเป็น "สิบ" ดังที่ปรากฏในภายหลัง ดังนี้ช่างสิปปหมู่คือช่างศิลปก็เลือนมาเป็นช่างสิบหมู่ คือช่างศิลปก็เลือนมาเป็นช่างสิบหมู่ ซึ่งเสียความหมายนามอันสำคัญของหมู่ช่างจำพวกนี้ไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการ
ช่างสิบหมู่ ซึ่งมีฐานะเป็นกรมชื่อ "กรมช่างสิบหมู่" จัดเป็นส่วนราชการ ที่ได้รวบรวมช่างฝีมือประเภทต่างๆ มาประจำราชการมากกว่าส่วนราชการที่เกี่ยวกับการช่างส่วนอื่น มีภาระหน้าที่สนองราชการในการสร้างสรรค์ งานศิลปกรรมแบบไทยประเพณีเนื่องด้วยสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม หัตถศิลปต่างๆ ที่เป็นงานใน ราชการส่วนพระมหากษัตริย์ งานสถาปนาและบูรณะปฏิสังขรณ์ศาสนสถาน งานสาธารณสถาน ที่เป็นศิลปกรรม อันงดงามมีคุณค่าทั้งด้านรูปลักษณ์และศิลปลักษณ์
ช่างสิบหมู่ อาจกล่าวได้ว่าเป็นสถาบันผลิตต้นแบบว่าด้วย รูปลักษณ์หลักการและวิธีการช่างศิลปแบบไทย ประเพณี งานของช่างสิบหมู่แต่ละประเภท ที่ได้รับการสร้างสรรค์และแสดงออกให้เห็น ย่อมเป็นแบบฉบับที่ได้รับ การนำไปเป็นแบบแผนของช่างระดับพื้นบ้าน สร้างทำงานศิลปแพร่ออกไปเป็นลำดับมาทุกสมัย สถาบันช่างสิบหมู่ จึงมีความสำคัญในฐานะองค์การที่มีบทบาทกำหนดสาระและกระสวนวัฒนธรรมทางศิลปแก่สังคมมาเป็นลำดับ ช่างสิบหมู่ ยังควรกล่าวได้ว่าเป็นสถาบันที่คงความเป็นเอกลักษณ์ของงานช่างศิลปกรรมแบบไทยประเพณี มาตลอดกาลอันยาวนาน โดยมิได้ขาดตอนในสยามประเทศถ้าจะมีคำกล่าวแย้งขึ้นในตอนนี้ว่าก็ในกระบวนกระสวน ของรูปลักษณ์ในงานศิลปกรรมแบบไทยประเพณีที่ได้รับการสร้างขึ้นในเวลาต่างสมัยห่างช่วงเวลากันนั้น หาได้มี รูปแบบเป็นรูปรอยเกียวกันไม่ จะว่าช่างสิบหมู่คงความเป็นเอกลักษณ์ไว้ได้เช่นไร ความสงกาประการนี้พึงเฉลยได้ ว่างานศิลปกรรมเป็นภาวะที่ไม่หยุดนิ่งย่อมเปลี่ยนภาวะบางประการไปในความเลื่อนไหลของกาลเวลานี้เป็นสัจธรรม กาลเวลาและสังคมอาจเป็นเหตุให้รูปลักษณ์ภายนอกของงานศิลปกรรมต้องเปลี่ยนแปรไปบ้าง แต่ชื่อว่าศิลปกรรม แบบไทยประเพณีนั้น แม้ว่ารูปลักษณ์จะถูกกำหนดให้เปลี่ยนไปตามกาลเวลาและภาวะทางสังคมก็ดี ทว่าในทางคติ ความเชื่อขนบนิยมที่เป็นแบบฉบับหลักการ และวิธีการสร้างสรรค์ที่เป็นแบบแผนสำหรับงานศิลปกรรมแบบไทย ประเพณีนั้น ยังคงเป็นแก่นเป็นประเพณีนิยมในสถาบันช่างสิบหมู่มาอย่างมั่นคงมาโดยลำดับดังนี้ ช่างสิบหมู่ กรมช่างสิบหมู่จึงเป็นสถาบันที่มีบทบาทสำคัญในการผดุงรักษา และถ่ายทอดภูมิปัญญาทางการสร้างสรรค์ ศิลปกรรมและงานศิลปซึ่งเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของประเทศชาติสถาบันหนึ่งแห่งสยามประเทศโดยแท้
ช่างสิบหมู่ และกรมช่างสิบหมู่เป็นส่วนราชการที่พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นพระประมุขแห่งพระราชอาณาจักร ทรงเห็นและเข้าพระราชหฤทัยเป็นอย่างแน่แท้ว่า ช่างสิบหมู่นี้เป็นคณะบุคคลที่มีความสามารถและฝีมือในการช่าง ประเภทต่างๆ อาจนิรมิตสิ่งที่วิจิตรงดงามพิสดารนานาประการ ให้เป็นที่พึงชมพึงนิยมในหมู่ชนที่ได้ชื่อว่าเข้าถึง วัฒนธรรมและอารยธรรม อนึ่งสิ่งวิจิตรงดงามพิสดารซึ่งชื่อว่าศิลปกรรมทั้งปวงก็ล้วนแต่เป็นประจักษ์พยานแสดง ออกซึ่งวัฒนธรรมและอารยธรรม พึงมีในผู้สร้างและผู้เสพย์โดยแท้ ดังนี้พระมหากษัตริย์แต่อดีตจึงโปรดให้จัดตั้ง กรมช่างสิบหมู่นี้ขึ้น เพื่อสนองราชการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมอันเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาแก่บ้านเมืองขึ้น และพระมหา กษัตริย์ลำดับพระองค์แต่อดีตสมัยก็ทรงพระราชูปถัมภ์ช่าง และกรมช่างสิบหมู่มาด้วยดีโดยลำดับ ดังจะเห็นได้จาก ประจักษ์พยานที่เป็นงานเนื่องด้วย สถาปัตยกรรมประติมากรรม จิตรกรรม หัตถศิลปนานาประการซึ่งยังคงอยู่บ้าง ในลักษณะโบราณสถาน และโบราณวัตถุจากอดีต กับที่ยังพบเห็นได้ในลักษณะศิลปสถานและศิลปวัตถุใน ปัจจุบัน กระนั้นก็ตาม เมื่อกาลเวลาล่วงเลยมา สภาพสังคมและสยามประเทศได้รับการเปลี่ยนแปลงการปกครองมา เป็นระบอบประชาธิปไตย ระบบและแบบแผนที่เป็นราชการในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็ได้รับการปรับเปลี่ยน ให้เป็นไปตามความต้องการและเหมาะสมกับระบบและแบบแผนในระบอบการปกครองอย่างใหม่ กรมช่างสิบหมู่ เป็นส่วนราชการในระบอบเดิมย่อมได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงคราวใหญ่ครั้งนั้น เป็นเหตุให้กรมช่าง สิบหมู่หมดบทบาทสำคัญที่จะจรรโลงศิลปกรรมแบบไทยประเพณีซึ่งเป็นเอกลักษณ์ทางศิลปแห่งสยามประเทศไว้ได้ ต่อไป และเป็นการสิ้นสภาพกรมช่างสิบหมู่ที่เป็นสถาบันการช่างศิลปกรรมแบบไทยประเพณีที่ธำรงอยู่อย่าง ต่อเนื่องมาเป็นเวลานับด้วยศตวรรษๆ ไปจากสยามประเทศโดยไม่อาจฟื้นกลับคืนตราบกระทั่งปัจจุบัน

วาโยรัตนะ 24-03-2009 09:35

กรมช่างสิบหมู่

กรมช่างสิบหมู่ เป็นกรมช่างหลวงกรมใหญ่กรมหนึ่งมาแต่สมัยโบราณ ลักษณะและความสำคัญของช่าง สิบหมู่และกรมช่างสิบหมู่นี้พึงทราบได้จากพระราชดำรัส ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแถลง พระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน เมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๐ ทรงมีพระราชดำรัสเรื่อง "กรมช่างสิบหมู่" ขึ้นไว้ให้ทราบดังนี้

"ส่วนซึ่งแบ่งปันฝ่ายทหารแต่ทำการฝ่ายพลเรือนนั้น คือ กรมช่างสิบหมู่ ซึ่งแบ่งไว้ในฝ่ายทหารนั้น ก็คงจะ เป็นด้วยช่างเกิดขึ้นในหมู่ทหารเหมือนทหารอินเยอเนีย แต่ภายหลังมาเมื่อทำการต่างมากขึ้นจนถึงเป็นการละเอียด เช่น เขียน ปั้น แกะสลัก ก็เลยติดอยู่ในฝ่ายทหารแต่ไม่ได้เกี่ยวข้องอันใดในราชการทหาร ไม่ได้ขึ้นกรมพระกลาโหม มีแต่กองต่างหาก แม่กองนั้นมักจะเป็นเจ้านายโดยมาก เมื่อเกิดช่างอื่นๆ ขึ้นอีกก็คงอยู่ในกรมเดิม ฝ่ายพลเรือนบ้าง ทหารบ้าง ไม่เฉพาะว่ากรมช่างจะต้องเป็นทหาร"

อนึ่ง การช่างต่างๆ ในกรมช่างสิบหมู่นี้มีช่างทำการร่วมอยู่ด้วยกันหลายประเภทนับเป็นกรมช่างใหญ่ และเป็นส่วนราชการแต่โบราณที่ได้จัดการรวบรวมคนที่เป็นช่างประเภทต่างๆ มาประจำทำราชการทางการช่าง สนองราชกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นช่างที่ชำนาญการเฉพาะประเภทมีอยู่จำนวนมากกว่าในกรมอื่นๆ

"ช่างหลวง" คือผู้ที่มีฝีมือและความสามารถทำการช่างต่างเป็นราชการของในหลวงแต่สมัยโบราณ ยังมีอยู่ อีกหลายหมู่ หลายพวกซึ่งจะได้นำมาอธิบายเป็นพวกๆ ต่อไปนี้
เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานีแห่งสยามราชอาณาจักรนั้น มีรายการแสดง "ช่างหลวง" ประเภทต่างๆ ปรากฏอยู่ในทำเนียบตำแหน่งนาพลเรือนแต่สมัยนั้น โดยสรุปคือ

กองช่างเลื่อย เป็นช่างทำการเลื่อยไม้ต่างๆ ทำเสา ทำกระดาน เป็นต้น

กองช่างก่อ เป็นช่างทำการก่ออิฐ ก่อศิลาแลง ถือปูนหรือฉาบปูน ก่อสร้างอาคารสถานที่ต่างๆ

กรมช่างดอกไม้เพลิง เป็นช่างทำดอกไม้เพลิงต่างๆ สำหรับใช้ในราชการของหลวง

กรมช่างเงิน เป็นช่างทำเงินตรา คือเงินที่รัฐกำหนดขึ้นไว้เป็นวัตถุที่มีตราของทางราชการใช้ชำระหนี้ได้ ตามกฎหมายหรือใช้ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน

กรมช่างปืน เป็นช่างทำอาวุธสำหรับราชการในกองทัพ

กรมช่างสนะ คำว่า "สนะ" แปลว่า "เย็บ ปัก หรือชุน" ช่างสนะเป็นช่างตัดเสื้อผ้า หรือช่างตัดเย็บฉลอง พระองค์สำหรับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

"ช่างเชลย" เป็นคนเชลยที่ทางราชการกวาดต้อนมาได้จากการทำสงครามชนะ เชลยคนใดที่มีฝีมือ และ ความสามารถเป็นช่างอย่างใดอย่างหนึ่ง จะได้รับการคัดเลือกแยกออกมาจากหมู่เชลย นำมาเข้าประจำทำราชการ ทางการช่างตามความรู้ความสามารถและฝีมือที่คนผู้นั้นถนัด ช่างเชลยนี้ ทางราชการมักจัดให้อยู่เป็นหมู่เป็นพวก ตามย่านที่กำหนดให้อยู่อาศัย ไม่ควบคุมเข้มงวดดังเชลยทั่วไป เหตุด้วยมีคุณสมบัติเป็นช่าง ซึ่งทางราชการต้องการ ใช้งาน ช่างเชลยต้องทำงานให้แก่หลวง แต่ทางราชการก็ให้โอกาสประกอบอาชีพด้วยการรับจ้างทำการช่างเลี้ยง ตัวได้ด้วย

เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่ข้าศึกและไม่เป็นที่ผู้คนจะอาศัยอยู่เป็นปกติได้ ภายหลัง พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงลงมา สถาปนาเมืองธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี สร้างพระราชวังขึ้นเป็นที่ประทับบริหารราชการปกครองบ้านเมืองสืบมาสมัย หนึ่งนานเกิน ๑๐ ปี ในช่วงเวลานี้ ทางราชการจัดให้มีกรมช่างต่างๆ ตามขนบนิยม กล่าวเฉพาะช่างหลวงที่นอกไป จากกรมช่างต่างๆ เช่น กรมช่างมหาดเล็ก กรมช่างทหารใน และกรมช่างสิบหมู่ แล้วยังมีช่างอื่นๆ ที่ควรอ้างขึ้นไว้ให้ทราบในที่นี้ ดังนี้

ช่างดอกไม้เพลิง ช่างจำพวกนี้ปรากฏเป็นเนื้อความอยู่ในหมายรับสั่งเรื่อง พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระ บรมศพสมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์ พระราชชนนี ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อจุลศักราช ๑๑๓๘ ความว่า
"แลดอกไม้เพลิง ระทาใหญ่ ๑๖ ระทา นอกระทา ๕ สิ่งนั้น ดินมาศ ของหลวง ช่างทำดอกไม้ทำดอกไม้น้อย คิดเอาเงินของหลวง ช่างไทย ๖ ชั่ง ช่างจีน ๒ ชั่ง ๖ ตำลึง ๓ บาท รวม ๘ ชั่ง ๖ ตำลึง ๓ บาท"
อนึ่ง ช่างดอกไม้เพลิงนี้ ยังมีความในหมายรับสั่งเรื่องงานพระศพกรมขุนอนิทรพิทักษ์ ระบุให้ทราบเรื่องช่าง จำพวกนี้เพิ่มเติมขึ้นอีกพอสมควร ดังความต่อไปนี้
"เครื่องเล่น ๗ วัน ๗ คืนเป็นเงิน กลางวัน ๙ ชั่ง ๒ ตำลึง ๒ บาท กลางคืน ๒ ชั่ง ๒ ตำลึง รวม ๑๑ ชั่ง ๔ ตำลึง ๒ บาท
ให้ช่างดอกไม้เพลิง นาย ๔ คน คนละ ๓ ตำลึง เงิน ๑๒ บาท ช่างดี ๑๓ คน คนละ ๑ ตำลึง เงิน ๑๓ ตำลึง ช่างกลาง ๑๑ คน คนละ ๓ บาท เงิน ๘ ตำลึง ๑ บาท ช่างเลว ๒๗ คน คนละ ๒ บาท เงิน ๑๓ ตำลึง ๒ บาท ๕๕ คน เงิน ๓ ชั่ง ๖ ตำลึง ๓ บาท"

ช่างทองพระคลังมหาสมบัติ ช่งจำพวกนี้คือช่างทองรูปพรรณ ได้ทำการประเภทเครื่องราชูปโภค ราชภัณฑ์ต่างๆ ที่เป็นสิ่งของมีค่าทางวัตถุและคุณค่าทางรูปแบบซึ่งประกอบขึ้นด้วยฝีมืออันวิจิตร ประณีต

ช่างกลึง เป็นช่างอีกจำพวกหนึ่ง จัดเป็นช่างรวมอยู่ในกรมช่างสิบหมู่

ช่างสลักกระดาษ ช่างจำพวกนี้จัดเป็นช่างประเภทหนึ่งในกรมช่างสิบหมู่ ทำการช่างด้านสลัก ปรุกระดาษ ชนิดต่างๆ ทำเป็นลวดลายหรือรูปภาพสำหรับประดับ ปิด บุ เพื่อการตกแต่งสิ่งต่างๆ
ครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์บ้านเมืองเป็นปึกแผ่นแน่นหนา ความเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับมาจนกระทั่งถึง รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "ช่างหลวง" เกิดมีเพิ่มขึ้นตามความต้องการของทางราชการ บรรดา ช่างหลวงซึ่งทางราชการระบุขึ้นไว้ในพระราชบัญญัติเรื่องการไถ่ตัวไพร่หลวงเป็นทาส เป็นหลักฐานส่วนหนึ่งให้ ทราบว่า ช่างหลวง เมื่อรัชกาลที่ ๔ นั้น มีช่างต่างๆ ลำดับดังต่อไปนี้
"หมู่ไพร่หลวงซึ่งเป็นช่างคฤหัสช่างทหารใน ช่างเขียน ช่างปั้น ช่างรัก ช่างปูน ช่างแกะ ช่างกลึง ช่างหุ่น ช่างหุงกระจก ช่างบุ ช่างหล่อ ช่างแผ่ดีบุก ช่างเหล็ก ช่างเรือ ช่างดอกไม้เพลิง ช่างสลักหนัง ช่างชาดสีสุก ช่างฉลองพระบาท ช่างเลื่อยงา ช่างฟอก ช่างทำยอนพระกรรณ์ ช่างบาตร ช่างประดับกระจก ช่างปิดกระจก ช่างดัดต้นไม้ ช่างเหลารางปืน ช่างเงิน ช่างทอง ช่างมุก ช่างย้อมผ้าสีขี้ผึ้ง ช่งต่อฝาบาตร ช่างเขียนน้ำกาว ช่างสาน ช่างคร่ำ ช่างทอสายคัมภีร์ ช่างทำฝักพระแสง ช่างสานพระมาลา ช่างทำกรรไกร ช่างชำระพระแสง ช่างฟันช่อฟ้าหางหงส์"
ช่างหลวง หลายหมู่หลายพวกเป็นข้าราชการประจำอยู่ตามหมู่กองต่างๆ สำหรับการช่างสนองความต้องการ ที่เป็นราชกิจของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือในราชการของหลวงที่เป็นมาโดยลำดับแต่โบราณโดยระเบียบอันเป็น โบราณประเพณีของราชสำนัก มาจนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแก้ไขการปก ครองแผ่นดินใหม่ ครั้งนั้นโปรดให้จัดระเบียบ "ช่างหลวง" ที่แยกกันอยู่คนละหมวดละกองหรือต่างกรมกันเป็นต้นว่า "ช่างประดับกระจกขึ้นกรมวัง" หรือ "ช่างสนะขึ้นกับกรมภูษามาลา" มาแต่โบราณนั้นเสียใหม่ ให้เป็นไปตามพระ ราชดำริที่ทรงพระราชดำรัสแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดินในสมัยนั้นให้ทราบดังนี้
"อนึ่ง กรมต่างๆ แยกกันอยู่ไม่มีใครบังคับบัญชาใครเป็นลำดับ แลไม่มีการสโมสรพร้อมเพียงกัน เมื่อมีราชการอันใดขึ้นก็ซัดทอดกันโยเยไป กว่าจะเดินได้ตลอดทุกกรม บรรดาที่เกี่ยวข้องเป็นการเนิ่นนานช้าเสีย เวลา เมื่อจะพรรณนาถึงโทษที่เป็นอยู่เช่นนี้ก็ไม่มีที่สิ้นสุดลงได้ จึงต้องขอรวมความลงว่าในการซึ่งจะให้ราชการทั้ง ปวงเรียบร้อยเป็นแบบอย่างคล่อง สะดวกได้ตามสมควรที่จะปกครองบ้านเมืองในเวลานี้ จำจะต้องแบ่งราชการให้มี ผู้เป็นหน้าที่รับผิดชอบเป็นส่วนไปพอแก่กำลังที่จะรักษาการได้นั้นอย่างหนึ่งจะต้องเลิกการที่กรมทั้งปวงแสวงหาผล ประโยชน์ได้โดยลำพังตัว ไปมีกำหนดเงินกำหนดการให้ กลับเป็นเงินจ่ายให้ตามสมควรแก่การที่ได้ทำนั้นอย่าง หนึ่ง การจึงจะเป็นไปสะดวกได้ตลอด"
ภายหลังการแก้ไขการปกครองแผ่นดินใหม่นี้แล้ว บรรดาช่างหลวงนานาประเภทได้ถูกจัดเข้าสังกัดและขึ้น กับ "กรมวัง" เป็นต้นมา


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 01:02


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว