กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   ประวัติและปฏิปทาของพระสุปฏิปันโน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=21)
-   -   พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล) (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=921)

มายา 05-02-2010 21:26

นักปฏิบัติลังเลใจ

ปัจจุบันนี้ ศาสนิกชนผู้สนใจในการปฏิบัติมีความงวยงง สงสัยอย่างยิ่งในแนวทางการปฏิบัติ
โดยเฉพาะผู้เริ่มต้นใหม่ เนื่องจากคณาจารย์ฝ่ายต่าง ๆ แนะแนวทางการปฏิบัติไม่ตรงกัน
ยิ่งกว่านั้น แทนที่จะอธิบายให้เขาเข้าใจโดยความเป็นธรรม
ก็กลับทำเหมือนไม่อยากจะยอมรับคณาจารย์อื่น สำนักอื่น ว่าเป็นการถูกต้อง
หรือถึงขั้นดูหมิ่นสำนักอื่นไปแล้วก็เคยมีไม่น้อย

ดังนั้น เมื่อมีผู้สงสัยทำนองนี้มากและได้มาเรียนถามหลวงปู่อยู่บ่อย ๆ
จึงได้ยินหลวงปู่อธิบายให้ฟังอยู่เสมอว่า

"การเริ่มต้นปฏิบัติวิปัสสนาภาวนานั้น จะเริ่มต้นโดยวิธีไหนก็ได้
เพราะผลมันเป็นอันเดียวกันอยู่แล้ว ที่ท่านสอนแนวปฏิบัติไว้หลายแนวนั้น
เพราะจริตของคนไม่เหมือนกันจึงต้องมีวัตถุ สี แสง และคำสำหรับบริกรรม เช่น พุทโธ สัมมาอรหัง เป็นต้น
เพื่อหาจุดใดจุดหนึ่งให้จิตรวมอยู่ก่อน เมื่อจิตรวมสงบแล้ว คำบริกรรมนั้นก็หลุดหายไปเอง
แล้วถึงรอยเดียวกัน รสเดียวกัน คือมี วิมุติ เป็นแก่น มีปัญญา เป็นยิ่ง"

มายา 24-02-2010 21:16

แนะนำหลวงตาแนน

หลวงตาแนนบวชเมื่อวัยเลยกลางคนไปแล้ว หนังสือก็อ่านไม่ออกสักตัว ภาษากลางก็พูดไม่ได้สักคำ
ดีอย่างเดียว คือ เป็นคนตั้งใจดี ขยันปฏิบัติกิจวัตรไม่ขาดตกบกพร่อง ว่าง่ายสอนง่าย
เมื่อเห็นพระรูปอื่นออกไปธุดงค์ หรืออยู่ปฏิบัติกับสำนักครูบาอาจารย์อื่น ๆ
ก็อยากจะไปกับเขาด้วย จึงไปลาหลวงปู่

เมื่อหลวงปู่อนุญาตแล้ว หลวงตาแนนกลับวิตกว่า
กระผมไม่รู้หนังสือ ไม่รู้ภาษาพูดเขา จะปฏิบัติกับเขาได้อย่างไร

หลวงปู่แนะนำว่า
"การปฏิบัติไม่ได้เกี่ยวกับอักขระพยัญชนะหรือคำพูดอะไรหรอก
ที่รู้ว่าตนไม่รู้ก็ดีแล้ว วิธีปฏิบัติในส่วนวินัยนั้น ให้พยายามดูแบบอย่างเขา
แบบอย่างครูบาอาจารย์ผู้นำ อย่าทำให้ผิดแผกจากท่าน

ส่วนธรรมะ ให้ดูที่จิตของตัวเอง ปฏิบัติที่จิต เมื่อเข้าใจจิตแล้วอย่างอื่นก็เข้าใจได้เอง"

มายา 24-02-2010 21:30

ตื่นอาจารย์

นักปฏิบัติธรรมสมัยนี้มีสองประเภท
ประเภทที่หนึ่ง เมื่อได้รับข้อปฏิบัติ หรือข้อแนะนำจากอาจารย์
พอเข้าใจแนวทางแล้ว ก็ตั้งใจเพียรพยายามปฏิบัติไปจนสุดความสามารถ
อีกประเภทหนึ่ง ทั้งที่มีอาจารย์แนะนำดีแล้ว ได้ข้อปฏิบัติถูกต้องแล้ว
แต่ก็ไม่ตั้งใจทำอย่างจริงจัง มีความเพียรต่ำ ขณะเดียวกันก็ชอบเที่ยวแสวงหาอาจารย์
ไปในสำนักต่าง ๆ ได้ยินว่าสำนักไหนดีก็ไปทุกแห่ง ซึ่งในลักษณะนี้มีอยู่มากมาย

หลวงปู่แนะนำลูกศิษย์ว่า
"การไปหลายสำนักหลายอาจารย์ การปฏิบัติจะไม่ได้ผล
เพราะการเดินหลายสำนักนี้ คล้ายกับการเริ่มต้นปฏิบัติใหม่ไปเรื่อย
เราก็ไม่ได้หลักธรรมที่แน่นอน บางทีก็เกิดความลังเล งวยงง จิตก็ไม่มั่นคง
การปฏิบัติก็เสื่อม ไม่เจริญคืบหน้าต่อไป"

มายา 24-02-2010 21:40

จับกับวาง

นักศึกษาธรรมะ หรือนักปฏิบัติธรรมะ มีสองประเภท
ประเภทหนึ่ง ศึกษาปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง
ประเภทสอง ศึกษาปฏิบัติเพื่อจะอวดภูมิกัน ถกเถียงกันไปวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น
ใครจำตำราหรืออ้างครูบาอาจารย์ได้มาก ก็ถือว่าตนเป็นคนสำคัญ
บางทีเข้าหาหลวงปู่ แทนที่จะถามธรรมะข้อปฏิบัติจากท่าน
ก็กลับพ่นความรู้ความจำของตนให้ท่านฟังอย่างวิจิตรพิสดาร ก็เคยมีไม่น้อย

แต่สำหรับหลวงปู่นั้นท่านฟังได้เสมอ เมื่อเขาพูดจบลงแล้วยังช่วยต่อให้อีกด้วยว่า

"ผู้ใดหลงใหลในตำราและอาจารย์ ผู้นั้นไม่อาจพ้นทุกข์ได้
แต่ผู้ที่จะพ้นทุกข์ได้ต้องอาศัยตำราและอาจารย์เหมือนกัน"

มายา 27-02-2010 00:03

เมื่อถึงปรมัตถ์แล้วไม่ต้องการ

ก่อนเข้าพรรษาปี พ.ศ.๒๔๙๖ หลวงพ่อเถาะซึ่งเป็นญาติของหลวงปู่
ที่ได้ออกธุดงค์ติดตามท่านอาจารย์เทสน์ ท่านอาจารย์สาม ไปอยู่จังหวัดพังงาหลายปี
ได้กลับมาเยี่ยมนมัสการหลวงปู่ เพื่อขอศึกษาข้อปฏิบัติทางกัมมัฏฐาน
และเมื่อได้รับความรู้ในการศึกษาปฏิบัติจนเป็นที่พอใจแล้ว
หลวงพ่อเถาะได้พูดตามประสาความคุ้นเคยว่า
หลวงปู่สร้างโบสถ์ ศาลา ได้ใหญ่โตสวยงามอย่างนี้ คงจะได้บุญได้กุศลอย่างมากเลยทีเดียว

หลวงปู่ตอบว่า
"ที่เราสร้างนี่ก็เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ประโยชน์สำหรับโลก สำหรับวัดวาศาสนาเท่านั้นแหละ
ถ้าพูดถึงเอาบุญ เราจะมาเอาบุญอะไรอย่างนี้"

มายา 01-03-2010 20:20

ผู้ไม่มีโทษทางวาจา

เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๖ หลวงปู่กำลังอาพาธหนักพักรักษาอยู่ที่ห้องพระราชทาน
ตึกจงกลนี วัฒนวงศ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หลวงปู่สาม อกิญฺจโน เดินทางมาเยี่ยมหลวงปู่ถึงห้องพยาบาล

ขณะที่หลวงปู่กำลังนอนพักอยู่ เมื่อหลวงปู่สามขยับไปนั่งใกล้ชิดแล้วก็ยกมือไหว้
หลวงปู่ดูลย์ก็ยกมือรับไหว้ แล้วต่างองค์ก็ต่างนั่งอยู่เฉย ๆ ตลอดระยะเวลานาน
และเมื่อสมควรแก่เวลาแล้ว หลวงปู่สามประนมมืออีกครั้ง พร้อมกับพูดว่า "กระผมกลับก่อน"
หลวงปู่ดูลย์ว่า "อือ" ตลอดเวลาเกือบสองชั่วโมงได้ยินเพียงเท่านี้

เมื่อหลวงปู่สามกลับไปแล้ว ก็อดที่จะถามหลวงปู่ไม่ได้ว่า
"หลวงปู่สามอุตส่าห์มานั่งตั้งนาน ทำไมหลวงปู่จึงไม่สนทนาอะไรกับท่านบ้าง"

หลวงปู่ตอบว่า
"ธุระมันหมดแล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องพูดอะไร"

มายา 01-03-2010 20:39

ขันติบารมี

เท่าที่อยู่ใกล้ชิดกับหลวงปู่ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน
ไม่เคยเห็นท่านแสดงอากัปกิริยาใด ๆ ให้เห็นว่า
ท่านอึดอัดหรือรำคาญจนทนไม่ได้ถึงกับต้องบ่นอุบอิบกับกรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
เช่น ไปเป็นประธานในงานสถานที่ใด ๆ ก็ไม่ไปเจ้ากี้เจ้าการให้เขาจัดแจงดัดแปลงพิธีการใหม่
หรือไปในสถานที่ที่เป็นกิจนิมนต์ แม้จะต้องนั่งรอนาน หรืออากาศจะร้อนอบอ้าวอย่างไร ก็ไม่เคยบ่น
เวลาเจ็บไข้ไม่สบาย หรือเวลาเผอิญอาหารมาไม่ตรงเวลา แม้จะหิวกระหายเพียงใด ก็ไม่เคยบ่น
หรือแม้รสชาติอาหารจะจืดจางอย่างไร ก็ไม่เคยเรียกหาเครื่องปรุงเพิ่มเติมอะไรเลย
ตรงกันข้าม ถ้าเห็นพระเถระรูปไหนชอบทำตัวเจ้ากี้เจ้าการ ขี้บ่น หรือทำสำออยให้คนอื่นเอาใจ

หลวงปู่ก็มักจะปรารภให้ฟังว่า
"แค่นี้อดทนไม่ได้หรือ ถ้าแค่นี้อดทนไม่ได้ จะเอาชนะกิเลสตัณหาได้อย่างไร"

มายา 01-03-2010 20:56

ไม่เบียดเบียนแม้ทางวาจา

หลวงปู่กล่าววาจาบริสุทธิ์ เพราะท่านกล่าวเฉพาะวาจาที่เป็นประโยชน์
และไม่ทำให้ทั้งตนเอง และผู้อื่นต้องเดือดร้อนเพราะคำพูดของท่าน
แม้จะมีผู้ใดมาพูดเป็นเหตุที่จะชวนให้ท่านวิพากษ์วิจารณ์ใคร ๆ อย่างไร ท่านก็ไม่เคยคล้อยตาม

หลายครั้งที่มีผู้ถามท่านว่า หลวงปู่ ทำไมพระนักพูดนักเผยแผ่ระดับประเทศบางองค์
เวลาพูดหรือเทศน์ชอบพูดโจมตีคนอื่น พูดเสียดสีสังคม หรือพูดกระทบกระแทกพระเถระด้วยกัน เป็นต้น
พระที่พูดในลักษณะนี้ จ้างให้ผมก็ไม่นับถือหรอก

หลวงปู่ว่า
"ก็ท่านมีภูมิรู้ ภูมิธรรมอยู่อย่างนั้น ท่านก็พูดไปตามความรู้ความถนัดของท่านนั่นแหละ
การจ้างให้นับถือไม่มีใครเขาจ้างหรอก เมื่อไม่นับถือ ก็อย่าไปนับถือซิ
ท่านคงไม่ว่าอะไรหรอก"

มายา 02-03-2010 22:23

ดีเหมือนกัน...แต่

นักปฏิบัติที่ตื่นอาจารย์ ตื่นสำนักใหม่ ๆ ในปัจจุบันนี้มีอยู่มาก
เมื่อเขาชอบใจอาจารย์องค์ไหน เขาก็กล่าวยกย่องอาจารย์องค์นั้น
ตลอดจนถึงชักชวนผู้อื่นให้ช่วยนับถือหรือเห็นด้วยกับตน
ยิ่งปัจจุบันนี้มีพระนักเทศน์ชื่อดังอยู่มากมายที่อัดเทปขายอย่างแพร่หลาย
มีอุบาสิกาท่านหนึ่งนำเทปนักเทศน์ชื่อดังไปถวายให้หลวงปู่ฟังหลายม้วน
แต่หลวงปู่ไม่ได้ฟัง เพราะตั้งแต่เกิดมาท่านยังไม่เคยมีวิทยุเทปกับเขาเลยแม้แต่สักเครื่องเดียว
หรือสมมติว่าถ้ามี ท่านก็คงเปิดฟังไม่เป็น ต่อมามีผู้เอาเครื่องเล่นเทปไปเปิดให้หลวงปู่ฟังจนจบหลายม้วน
แล้วได้เรียนถามท่านว่าฟังจบแล้วเป็นอย่างไรบ้าง

หลวงปู่ว่า
"ดีเหมือนกัน สำนวนโวหารสละสลวยน่าฟัง ทั้งรวยด้วยคำพูด แต่หาสาระแก่นสารอะไรไม่ได้
การฟังแต่ละครั้งนั้นควรให้ได้อรรถรสของ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ จึงจะเป็นสาระ"

มายา 02-03-2010 22:42

อยู่ ก็อยู่ให้เหนือ

ผู้ที่เข้านมัสการหลวงปู่ทุกคน มักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า
แม้หลวงปู่จะมีอายุใกล้ร้อยปีแล้วก็จริง แต่ดูผิวพรรณยังผ่องใส และสุขภาพร่างกายยังแข็งแรงดี
แม้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดท่านมาตลอดก็ยากที่จะได้เห็นท่านแสดงอาการหมองคล้ำ อิดโรย
หรือหน้านิ่วคิ้วขมวดออกมาให้เห็น ท่านมีปกติสงบเย็นเบิกบานอยู่เสมอ มีอาพาธน้อย
มีอารมณ์ดี ไม่ตื่นเต้นตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่เผลอคล้อยตามคำสรรเสริญ หรือคำตำหนิติเตียน

มีอยู่ครั้งหนึ่ง ท่ามกลางพระเถระฝ่ายวิปัสสนาที่กำลังสนทนาธรรมกับหลวงปู่
เรื่องปรกติจิตที่อยู่เหนือความทุกข์ มีลักษณะโดยอาการเป็นอย่างไร

หลวงปู่ว่า
"การไม่กังวล การไม่ยึดถือ นั่นแหละคือ วิหารธรรมของนักปฏิบัติ"

มายา 16-03-2010 20:33

ทำจิตให้สงบได้ยาก

การปฏิบัติภาวนานั้น จะให้ได้ผลออกมาเร็วช้าเท่าเทียมกันย่อมเป็นไปไม่ได้
บางคนได้เร็ว บางคนได้ผลช้า หรือบางคนอาจจะยังไม่เคยได้ลิ้มรสผลแห่งความสงบเลยก็มี
แต่ก็ไม่ควรท้อถอย เพราะเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ได้ประกอบความเพียร ย่อมเป็นบุญเป็นกุศลขั้นสูง
เคยมีลูกศิษย์เป็นจำนวนมากได้เข้ามากราบเรียนถามหลวงปู่ว่า
อุตส่าห์พยายามปฏิบัติภาวนามานานแล้ว แต่จิตไม่เคยสงบเลย แส่ออกไปข้างนอกอยู่เรื่อย
มีวิธีอื่นใดบ้างที่พอจะปฏิบัติได้

หลวงปู่เลยแนะนำวิธีอีกอย่างหนึ่งว่า

"ถึงจิตไม่สงบก็ไม่ควรให้มันออกไปไกล ใช้สติระลึกไปแต่ในกายนี้
ดูให้เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อสุภสัญญา หาสาระแก่นสารไม่ได้
เมื่อจิตมองเห็นชัดแล้ว จิตก็เกิดความสลดสังเวช เกิดนิพพิทา
ความหน่ายคลายกำหนัด ย่อมตัดอุปาทานขันธ์ได้เช่นเดียวกัน"

มายา 20-07-2010 22:05

หลวงปู่เตือนพระผู้ประมาท

ภิกษุผู้อยู่ด้วยความประมาท คอยนับจำนวนศีลของตนแต่ในตำรา คือ
มีความพอใจ ภูมิใจกับจำนวนศีลที่มีอยู่ในคัมภีร์ว่าตนนั้นมีศีลถึง ๒๒๗ ข้อ

"ส่วนที่ตั้งใจปฏิบัติให้ได้นั้น จะมีสักกี่ข้อ"

มายา 20-07-2010 22:15

อุทานธรรมข้อต่อมา

เมื่อบุคคลปลงผม หนวด เคราออกหมดแล้ว และได้ครองผ้ากาสาวพัสตร์เรียบร้อยแล้ว
ก็นับว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นภิกษุได้ แต่ยังเป็นได้แต่เพียงภายนอกเท่านั้น
ต่อเมื่อเขาสามารถปลงสิ่งที่รกรุงรังทางใจ อันได้แก่อารมณ์ตกต่ำทางใจได้แล้ว
ก็ชื่อว่าเป็นภิกษุจากภายในได้

ศีรษะที่ปลงผมหมดแล้ว สัตว์เลื้อยคลานเล็กน้อย เช่น เหา ย่อมอาศัยอยู่ไม่ได้ฉันใด
จิตที่พ้นจากอารมณ์ ขาดจากการปรุงแต่งแล้ว ทุกข์ก็อาศัยอยู่ไม่ได้ฉันนั้น
ผู้มีปกติเป็นอยู่อย่างนี้ ควรเรียกเอาว่า
"เป็นภิกษุแท้"

มายา 20-07-2010 22:34

เตือนศิษย์ไม่ให้ประมาท

เพื่อป้องกันความประมาท หรือมักง่ายต่อการประพฤติปฏิบัติของพระเณร
หลวงปู่จึงสรรหาคำสอนตักเตือนไว้อย่างลึกซึ้งว่า

"คฤหัสถ์ชน ญาติโยมทั่วไป เขาประกอบอาชีพการงานด้วยความยากลำบาก
เพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุข้าวของเงินทอง มาเลี้ยงครอบครัวลูกหลานของตน
แม้จะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าอย่างไร เขาก็ต้องต่อสู้ ขณะเดียวกันเขาก็อยากได้บุญได้กุศลด้วย
จึงพยายามเสียสละทำบุญ ลุกขึ้นแต่เช้า หุงหาอาหารอย่างดีคอยใส่บาตร
ก่อนใส่เขายกอาหารขึ้นท่วมหัวแล้วตั้งจิตอธิษฐาน ครั้นใส่แล้วก็ถอยไปย่อตัวยกมือไหว้อีกครั้งหนึ่ง
ที่เขาทำเช่นนั้นก็เพื่อต้องการบุญต้องการกุศลจากเรานั่นเอง


แล้วเราเล่ามีบุญกุศลอะไรบ้างที่จะให้เขา
ได้ประพฤติตนให้สมควรที่จะรับเอาของเขามากินแล้วหรือ
"

มายา 22-07-2010 01:12

แค่ศีลห้าก็ไม่มี

มีพระใกล้ชิดหลวงปู่รูปหนึ่ง ชอบถือวิสาสะจนเกินควร คือ
ชอบหยิบเอาข้าวของบางอย่างที่ยังไม่ได้รับอนุญาตไป
มีผู้มากราบเรียนหลวงปู่ให้ทราบ แต่ท่านก็มักจะวางเฉย

มีอยู่ครั้งหนึ่ง ท่านต้องการใช้สิ่งของอันนั้น จึงให้พระรูปหนึ่งไปถามหา
แต่กลับถูกปฏิเสธว่าเขาไม่ได้เอาไป พระรูปนั้นจึงกลับมากราบเรียนหลวงปู่ว่า
"เขาปฏิเสธว่าไม่ได้เอา" หลวงปู่ก็เพียงแต่พูดออกมานิดหนึ่งว่า

"พระบางรูปมัวแต่ตั้งใจรักษาศีล ๒๒๗ จนลืมรักษาศีล ๕"

มายา 22-07-2010 01:34

แนะนำตามวิทยฐานะ

พระอาจารย์สุจินต์ สุจิณฺโณ เรียนจบนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นานแล้ว
มีความเลื่อมใสในการปฏิบัติธรรม เคยไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงปู่หลุยเป็นเวลาหลายปี
ต่อมาเมื่อได้ยินกิตติศัพท์ของหลวงปู่ดูลย์ จึงลาหลวงปู่หลุยมาปฏิบัติกับหลวงปู่
ตลอดถึงขอบรรพชาอุปสมบทอยู่กับหลวงปู่ตลอดมา และเมื่ออยู่กับหลวงปู่พอสมควรแก่ความต้องการแล้ว
จึงกราบลาหลวงปู่เพื่อขอเดินทางธุดงค์วิเวกต่อไป

หลวงปู่จึงแนะนำว่า

"เรื่องของพระวินัยนั้น ให้ศึกษาอ่านตำรับตำราให้เข้าใจให้ถูกต้องทุกข้อมูล
เพื่อปฏิบัติไม่ให้ผิด ส่วนธรรมะนั้น ถ้าอ่านมากก็จะมีวิตกวิจารณ์มาก จึงไม่ต้องอ่านก็ได้
ขอให้ตั้งใจปฏิบัติเอาเพียงอย่างเดียวก็พอ"

มายา 23-07-2010 01:27

เรื่องกิน

กระผมได้ปฏิบัติทางจิตมานาน ก็พอมีความสงบอยู่บ้าง
แต่มีปัญหาเรื่องของการบริโภคอาหารที่ปรุงจากเนื้อสัตว์ คือ
เพียงแค่เห็นก็นึกเวทนาไปถึงเจ้าของเนื้อนั้นว่า เขาต้องสูญเสียชีวิตเพื่อเราผู้บริโภคโดยแท้
คล้ายกับว่าเราผู้บริโภคจะขาดเมตตาไปมาก เมื่อเกิดความกังวลใจเช่นนี้ ก็ทำความสงบใจได้ยาก

หลวงปู่ว่า

"ภิกษุจะบริโภคปัจจัยสี่ต้องพิจารณาเสียก่อน เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า
การกินเนื้อสัตว์คล้ายจะเป็นการเบียดเบียน และขาดเมตตาต่อสัตว์
ก็ให้งดเว้นการฉันเนื้อเสีย พากันฉันอาหารเจต่อไป"

มายา 23-07-2010 01:40

เรื่องกินมีอีก

เวลาต่อมาประมาณสี่เดือน ภิกษุกลุ่มนั้นกลับมากราบเรียนหลวงปู่อีกหลังจากออกพรรษาแล้ว
บอกว่าพวกกระผมฉันเจมาตลอดพรรษาด้วยความยากลำบากอย่างยิ่ง
เพราะญาติโยมแถวนั้น ไม่มีใครรู้เรื่องอาหารเจเลย ทำให้เกิดความลำบากทั้งด้วยการแสวงหา
และลำบากแก่ญาติโยมผู้อุปัฏฐาก บางรูปถึงขนาดสุขภาพไม่ดี บางรูปอยู่เกือบไม่พ้นพรรษา
การทำความเพียรก็ไม่เต็มที่เท่าที่ควร

หลวงปู่ว่า

"ภิกษุเมื่อจะบริโภคปัจจัยสี่ต้องพิจารณาเสียก่อน ครั้นเมื่อพิจารณาแล้ว
เห็นว่าอาหารที่ตั้งอยู่เฉพาะหน้านี้แม้จะมีผักบ้าง เนื้อบ้าง ปลาบ้าง ข้าวสุกบ้าง
แต่ก็เป็นของบริสุทธิ์โดยสามส่วน คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน และเขาไม่ได้ฆ่าเพื่อเจาะจงเรา
และเราก็แสวงหามาโดยชอบธรรมแล้ว ญาติโยมเขาถวายด้วยศรัทธาเลื่อมใสแล้ว
ก็พึงบริโภคอาหารนั้นไป ครูบาอาจารย์ของเราท่านก็ปฏิบัติอย่างนี้มาแล้วเหมือนกัน"

มายา 23-07-2010 01:56

เรื่องกินยังไม่จบ

เมื่อวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๓ พ.ศ. ๒๕๒๒ หลวงปู่พักอยู่ที่วัดป่าประโคนชัย
มีภิกษุกลุ่มหนึ่งซึ่งชอบเดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่าง ๆ ได้แวะเข้าไปขอพักที่วัดป่านั้น

หลังจากแสดงความคารวะตามสมณวิสัยแล้ว ก็กล่าวถึงจุดเด่นที่พวกเขายึดถือเป็นหลักปฏิบัติว่า
ผู้บริโภคเนื้อสัตว์คือผู้สนับสนุนให้คนฆ่าสัตว์ ผู้บริโภคผักมีจิตเมตตาสูง
สามารถพิสูจน์ได้ว่าเมื่อหันไปบริโภคผักแล้ว จิตใจก็สงบเย็นดีขึ้น

หลวงปู่ว่า

"ดีทีเดียวแหละ ท่านใดสามารถฉันมังสวิรัตได้ก็เป็นการดีมาก ขออนุโมทนาสาธุด้วย
ส่วนท่านที่ยังฉันมังสะอยู่ หากมังสะเหล่านั้นเป็นของบริสุทธิ์โดยสามส่วน คือ
ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่สงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อเจาะจงให้เรา และได้มาด้วยความบริสุทธิ์แล้ว
ก็ไม่ผิดธรรมผิดวินัยแต่ประการใด อนึ่ง ที่ว่าจิตใจสงบเยือกเย็นดีนั้น
ก็เป็นผลเกิดจากพลังของการตั้งใจปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย
ไม่เกี่ยวกับอาหารใหม่ อาหารเก่า ที่อยู่ในท้องเลย"

มายา 23-07-2010 23:42

ผลคล้ายกันแต่ไม่เหมือนกัน

แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นวันคล้ายวันเกิดของหลวงปู่ ซึ่งพอดีกับวันออกพรรษาผ่านไปแล้ว ๒ วัน ของทุก ๆ ปี
สานุศิษย์ทั้งหลายของหลวงปู่ก็นิยมจะเดินทางไปกราบนมัสการหลวงปู่เพื่อศึกษา และไต่ถามข้อวัตรปฏิบัติ
หรือรายงานผลของการปฏิบัติตลอดทั้งพรรษา ซึ่งเป็นกิจที่ศิษย์ของหลวงปู่กระทำอยู่เช่นนี้ตลอดมา

หลังจากฟังหลวงปู่แนะนำข้อวัตรปฏิบัติแล้ว หลวงปู่จึงจบลงด้วยคำสอนว่า

"การศึกษาธรรมด้วยการอ่านการฟัง สิ่งที่ได้ก็คือ สัญญา (ความจำได้)
การศึกษาธรรมด้วยการลงมือปฏิบัติ สิ่งที่เป็นผลของการปฏิบัติ คือ ภูมิธรรม"


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 05:22


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว