ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น
ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน ทบทวน.. เก็บเล็กผสมน้อย ๑. การพอใจในกาม ก็คือการพอใจในซากศพ ฆ่ากันตาย เพราะศึกชิงนางหรือศึกชิงนาย แย่งซากผีมาเป็นคู่ครอง เพราะคิดว่าร่างกายนี้ เป็นเราเป็นของเรา ศีลทั้ง ๕ ข้อขาดได้ จากโทษของกามเป็นเหตุ |
๒. เรื่องการเบียดเบียน จัดเป็นธรรมขั้นสูงในพรหมวิหาร ๔ เพราะปุถุชนหลงคิดว่า กายนี้เป็นเราเป็นของเรา จึงเอาใจกายซึ่งเป็นผู้อื่นมากกว่า จิตซึ่งคือตัวเรา ซึ่งมาอาศัยกายอยู่ชั่วคราว จึงเป็นธรรมดาของปุถุชน ที่เบียดเบียนผู้อื่นเห็นง่าย เบียดเบียนตนเองเห็นยาก ตรงข้ามกับการรู้ของอริยชน ที่เห็นการเบียดเบียนตนเอง เพราะรู้ว่า กายนี้หาใช่เรา ใช่ของเราไม่ ตัวเราคือจิต รู้เรื่องกฎของกรรม รู้อารมณ์จิตของตนเองอยู่เสมอ |
๓. ใครจักมีความเห็นในการปฏิบัติเป็นอย่างไร ก็เรื่องของเขา จงอย่าไปขัดคอใคร เพราะบารมีธรรมของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน คิดได้เท่านี้ ก็จักวางอารมณ์ให้ลงตัวธรรมดาได้ |
๔. รูปปั้น-รูปถ่าย-ภาพเขียนต่าง ๆ มิใช่ตถาคต ขันธ์ ๕ หรือร่างกายก็มิใช่ตถาคต มิใช่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าคือพระธรรม หรือจิตผู้ทรงธรรม |
๕. จงอย่าคิดว่า ตนดีแล้วเป็นอันขาด หากตัดสังโยชน์ยังไม่ได้ครบ ๑๐ ข้อ จะเป็นการประมาทเกินไป ประเดี๋ยว..โดนท่านผู้มีฤทธิ์เหนือกว่าเราทดลองเอา เช่น เทวดา เป็นต้น |
๖. บุคคลส่วนใหญ่มักชอบอารมณ์เดือดร้อนใจ ซึ่งเป็นอารมณ์ทุกข์ แต่ไม่รู้อารมณ์ของตนเอง จึงเกาะทุกข์ เกาะความเดือดร้อนใจอยู่ร่ำไป แต่ผู้รู้ก็จักพยายามละ และปล่อยวางอารมณ์นั้นอยู่ตลอดเวลา ขอจงพยายามปฏิบัติให้ได้ตามนี้ |
๗. ภาราหะเว ปัญจักขันธา ทุกข์อันใด จักมาเกินกว่าภาระที่มีต่อขันธ์ ๕ นั้นไม่มี อยู่คนเดียวก็ทุกข์คนเดียว ยิ่งอยู่หลายคน ยิ่งเพิ่มทุกข์มากขึ้นเท่านั้น |
๘. โทษของกาม มิใช่กาเมเพียงสถานเดียว ตถาคตหมายถึงการติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ ตัวสุดท้ายต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะอารมณ์ของจิตเป็นภัยร้ายแรงที่สุด ที่คอยทำร้ายจิตตนเองอยู่เสมอ การกำหนดรู้อารมณ์ของตนเอง จึงต้องมีอยู่ตลอดเวลา การพลั้งเผลอย่อมมีบ้างเป็นธรรมดา หากแก้ไขจุดนี้ไม่ได้ ก็ตัดสังโยชน์ข้อ ๔-๕ ไม่ได้ |
๙. ตราบใดที่ยังมีร่างกาย คำว่าปราศจากโรคนั้นย่อมไม่มี ผู้มีปัญญาย่อมรู้ จักเห็นโรคอันเกิดจากธาตุ ๔ เสื่อมได้ตลอดเวลา แม้ความหิวก็นับว่าเป็นโรค ร่างกายจึงเป็นรังของโรค |
๑๐. อโรคยา ปรมา ลาภา มีโรคก็เป็นทุกข์ ไม่มีโรคก็เป็นสุข แต่จริง ๆ แล้ว สำหรับนักปฏิบัติคำว่าไม่มีโรคนั้น ไม่มี การมีขันธ์ ๕ จึงมีทุกข์อย่างยิ่ง ภารา หเว ปัญจักขันธา ความโง่ ทำให้ไม่เห็นทุกข์ คิดว่าการมีขันธ์ ๕ เป็นสุข เห็นกามตัณหาเป็นของดี ทั้ง ๆ ที่เป็นตัวทำให้เกิดขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของทุกข์ทั้งปวง |
๑๑. ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก หนีไม่พ้นกฎธรรมดาไปได้ (กฎของกรรมอันเดียวกัน) ต้องแยกให้ออกระหว่างโลกียธรรมกับโลกุตรธรรม เลือกให้เป็น จิตจักได้รับความสุขจากการปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริง หมายเหตุ ข้อความในวงเล็บเป็นความเห็นของคุณลุงหมอสมศักดิ์ สืบสงวน |
๑๒. อย่าอยู่คนเดียว อย่าไปไหนคนเดียว ให้อยู่กับพระ ให้ไปกับพระ เพราะคุณของพระทั้ง ๓ คือพระรัตนตรัยนั้น หาประมาณมิได้ |
๑๓. ทำงานรอความตาย แต่อย่าตายเปล่า ขอตายเป็นครั้งสุดท้าย มีมรณาและอุปสมานุสติอยู่เสมอ |
๑๔. พวกปุถุชนจักมีความประมาทในชีวิตมาก ในเรื่องการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ ซึ่งก็เป็นของธรรมดา ถ้าหากจักถึงตายก็ตายเปล่า เพราะมิได้พร้อมตาย ซ้อมตายไว้เป็นปกติธรรม รู้ลม-รู้ตาย-รู้นิพพานอยู่เสมอ |
๑๕. ขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่ พยายามตรวจดูศีล-สมาธิ-ปัญญา อย่าให้พร่องไปจากจิต เผลอก็เริ่มต้นใหม่ จิตจักชินอยู่กับความดีของหลักธรรมปฏิบัตินี้ จนอารมณ์ศีล-สมาธิ-ปัญญาทรงตัว คำว่าคิดชั่วก็จักไม่ยอมคิดเลย |
๑๖. ไม่ต้องไปห้ามใคร ให้ห้ามใจตนเอง เพราะธรรมภายนอก แก้ไขไม่ได้หรือได้ยาก ให้แก้ธรรมภายใน คือที่ใจตนเอง ทุกอย่างหนีไม่พ้นกฎธรรมดา หรือกฎของกรรมไปได้ |
๑๗. จงอย่าฝืนกฎธรรมดา ไม่ต้องไปห้ามใคร ให้ห้ามใจตนเองดีกว่า นั่นแหละ เป็นของจริงของแท้ |
๑๘. ให้ดูอารมณ์จิตตัวเดียว ดูแต่ความเลวของตนเอง เพราะจะละความชั่วได้ ต้องเห็นความชั่วที่ตัวเราเองก่อนเสมอ |
๑๙. พระตถาคตเจ้าทุก ๆ พระองค์ อนุญาตให้บริโภคเภสัชทั้ง ๕ ได้ในยามวิกาล รวมทั้งน้ำปานะด้วย (มีนมสด-นมเปรี้ยว-เนยแข็ง-เนยเหลวคือ พวกน้ำมันจากพืชและสัตว์-น้ำผึ้ง-น้ำอ้อย- น้ำผลไม้จากผลไม้ที่ลูกเล็กกว่ากำปั้นมือคนโบราณ) หมายเหตุ ข้อความในวงเล็บเป็นความเห็นของคุณลุงหมอสมศักดิ์ สืบสงวน |
๒๐. อย่าฝืนโรค จนเกิดภัยเบียดเบียนตนเอง ในขณะที่กายยังมีชีวิตอยู่ ให้รักษาชีวิตไว้เพื่อการปฏิบัติธรรม ตัดสังโยชน์ ๑๐ ให้หมดก่อนตาย ทุกอย่างให้เดินสายกลาง |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 05:57 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.