กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=39)
-   -   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๒ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=6775)

เถรี 22-09-2019 20:47

เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๒
 
ให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกของเราเอาไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเรา ไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเรา ไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ ที่เรามีความถนัด มีความชำนาญมาแต่เดิม

วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๒ ช่วงก่อนกรรมฐานที่กล่าวถึงความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ของประเทศชาติ แล้วญาติโยมบางท่านก็เครียด

เหตุที่เครียดเพราะว่าเราไปแบกเอาไว้ ส่วนสาเหตุของการแบกเอาไว้นั้น เกิดจาก ๒ สาเหตุด้วยกัน สาเหตุแรกคือขาดการสำรวมอินทรีย์ ก็คือขาดการระมัดระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราประการหนึ่ง ส่วนอีกประการหนึ่งก็คือไปยึดมั่นถือมั่น ซึ่งความจริงนั้นเริ่มจากตัวกูของกู แต่ของเรานั้นไปไกลถึง นี่ประเทศชาติของกู นี่ก็เพื่อนพ้องน้องพี่ของกู ท้ายสุดก็ลงตรงตัวกู

ในเมื่อเราขาดการสำรวมอินทรีย์ สิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เราก็รับเอาไว้หมด ยิ่งรับเอาไว้มาก ปล่อยไม่ได้ วางไม่เป็น ก็ยิ่งแบกหนัก ยิ่งแบกหนักมากเท่าไร ก็เครียดมากเท่านั้น

ดังนั้น ในการปฏิบัติธรรมของพวกเรา ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขในปัจจุบัน ที่เรียกว่าทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ คือให้เราพิจารณาจนกระทั่งเห็นจริง ว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรให้ยึดถือมั่นหมายได้ สรรพสัตว์ทั้งหลายล้วนแล้วแต่เป็นไปตามกรรม ถ้าเกินกำลังเราก็ต้องปล่อยวาง ถ้าไม่ปล่อยวางเราก็เครียด

เนื่องจากว่าพระพุทธเจ้านอกจากจะสอนเมตตา กรุณา มุทิตาแล้ว ยังสอนอุเบกขาเอาไว้ด้วย ก็แปลว่าในส่วนของอุเบกขานั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องรู้จักเอามาใช้ในสถานการณ์แบบนี้

เถรี 25-09-2019 23:23

แต่ว่ากำลังใจของบางท่าน อุเบกขาก็เป็นหลักธรรมที่สูงเกินไป เรายังเข้าไม่ถึง ปล่อยไม่ได้ วางไม่ลง ก็ต้องเอาขั้นต้นก็คือการสำรวมอินทรีย์ ระมัดระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา
ระมัดระวังอย่างไร ? ตาเห็นรูปให้สักแต่ว่าเห็น หูได้ยินเสียงให้สักแต่ว่าได้ยิน จมูกได้กลิ่นให้สักแต่ว่าได้กลิ่น ลิ้นได้รสให้สักแต่ว่าได้รส กายสัมผัสให้สักแต่ว่าสัมผัส ใจครุ่นคิดให้รู้จักควบคุม ระมัดระวังให้คิดอยู่ในเรื่องที่ดีที่เป็นประโยชน์

คราวนี้การที่เราจะระมัดระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ของเราก็คือ ควบคุมที่ใจ ระมัดระวังใจของเราไม่ให้คิดชั่ว ไม่ให้อยากเห็นในสิ่งที่ไม่สมควร ไม่ให้อยากได้ยินในสิ่งที่ไม่สมควร ไม่ให้อยากได้กลิ่นในสิ่งที่ไม่สมควร ไม่ให้อยากได้รสในสิ่งที่ไม่สมควร ไม่อยากสัมผัสในสิ่งที่ไม่สมควร

พยายามหักห้ามใจของเราเอาไว้ เหมือนอย่างกับรูปปริศนาธรรมในนิกายเซน ที่มีลิงปิดตา ปิดหู ปิดปาก อย่างที่บางท่านเขียนเอาไว้ว่า ปิดตาไม่ดู ปิดหูสองข้าง ปิดปากเสียบ้าง จะนั่งสบาย ก็คือลักษณะของการปล่อยวางได้บ้าง เพราะว่าถ้าไม่ปล่อย เราก็จะหนัก เราก็จะเครียดอยู่คนเดียว

แต่การที่เราจะปล่อยได้นั้น เราก็ต้องพิจารณาจนเห็นทุกข์เห็นโทษจริง ๆ ว่า การเกิดมามีร่างกายเช่นนี้ การเกิดมาในโลกที่ทุกข์ยากเร่าร้อนเช่นนี้ ทำให้เราต้องประสบกับภาวะที่ไม่พึงปรารถนา ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา ต้องไปเสพเสวยในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร ก่อให้เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจขึ้นมา เมื่อเราเห็นโทษ ไม่อยากเกิดอีก ก็จะรู้ระมัดระวัง แต่ถ้าตราบใดที่เรายังไม่เห็นโทษ เราไม่รู้จักระมัดระวัง ก็จะเสพเสวยสิ่งต่าง ๆ ไปตามอารมณ์ ทำให้เราเครียด ทำให้เราลำบาก ทำให้เราเดือดร้อนได้ในภายหลัง

เถรี 25-09-2019 23:29

ดังนั้น การที่ท่านทั้งหลายเมื่อปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะการนั่งสมาธิภาวนา ทำได้แล้วก็ต้องรู้จักเอากำลังจากการภาวนาของเรานั้น ไปใช้ในการควบคุม กาย วาจา ใจ ของตนเอง ให้อยู่ในกรอบ ให้อยู่ในขอบเขต เลือกเสพรับแต่สิ่งที่ดี ๆ พูดแต่เรื่องที่ดี ๆ ทำแต่เรื่องที่ดี ๆ คิดแต่เรื่องที่ดี ๆ

ถ้าถามว่า พูด คิด ทำ อย่างไรในเรื่องที่ดี ? ก็เริ่มจากความคิดของเราให้เป็นไปในอนุสติ ๑๐ ประการ ก็คืออานาปานุสติ ระลึกถึงลมหายใจเข้าออกเพื่อให้กำลังใจทรงตัวตั้งมั่น นึกถึงคุณความดีของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพื่อจะได้ยึดท่านเป็นหลักชัยในชีวิต คิดถึงคุณความดีของพรหม ของเทวดา ของพระบนพระนิพพาน เพื่อที่เราจะได้อาศัยปฏิปทาดำเนินของท่านทั้งหลายเหล่านั้น ทำตัวเราให้เป็นเทวดา ให้เป็นพรหม ให้เป็นพระบนนิพพานบ้าง

คิดถึงคุณของการรักษาศีล เพื่อตัดความโกรธ ตัดโทสะ คิดถึงคุณของการบริจาคให้ทาน เพื่อตัดความโลภ คิดถึงความตาย เพื่อที่จะได้ดำเนินชีวิตไปด้วยความไม่ประมาท คิดเห็นสภาพตามความเป็นจริงของร่างกายนี้ เพื่อที่เราจะได้รู้ว่ามีความไม่เที่ยง มีความเป็นทุกข์ ไม่มีอะไรยึดถือมั่นหมายได้เป็นปกติ แล้วยกจิตสุดท้ายของเราเกาะพระนิพพานเอาไว้

ตั้งใจว่าถ้าเราหมดอายุขัยตายไปลงไปก็ดี หรือเกิดอุบัติเหตุอันตรายใด ๆ ถึงแก่ชีวิตก็ตาม เราขอมาอยู่ที่พระนิพพานแห่งเดียวเท่านั้น แล้วรักษาอารมณ์ใจของเราจดจ่อแน่วแน่อยู่เช่นนั้น ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ถ้ากำลังใจคลายออกมา เราก็พิจารณาใหม่ว่า สภาพร่างกายนี้ สภาพของโลกนี้ มีความไม่เที่ยงเป็นปกติ มีความทุกข์เป็นปกติ ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเราตามปกติ ถ้าความรู้สึกเลือนลางจืดจางไป ก็กลับไปหาลมหายใจเข้าออกใหม่ เพื่อบ่มเพาะกำลังของเรา แล้วก็นำกำลังนั้นมาพิจารณาตัดละต่อ ๆ ไป การปฏิบัติของท่านทั้งหลายก็จะมีความก้าวหน้าดังที่ต้องการ

ลำดับต่อไป ขอให้ท่านทั้งหลายภาวนาหรือพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม,ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านเติมบุญ
วันเสาร์ที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๒

(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย คะน้า)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 14:14


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว