กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=43)
-   -   ให้ทบทวนพระธรรมคำสอน (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=2829)

ลัก...ยิ้ม 05-08-2011 08:20

ให้ทบทวนพระธรรมคำสอน
 
ให้ทบทวนพระธรรมคำสอนในอดีตแบบย่อ ๆ

สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตาตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ดังนี้

๑. “ปฏิบัติที่ไหนให้ทิ้งกายที่นั่น คือ ทุกกาลเวลา โดยไม่เลือกสถานที่ เมื่อพึงจักเจริญกรรมฐานให้กำหนดจิตตัดร่างกาย คลายความห่วงใยเกาะติดในร่างกาย เป็นการตัดตาย แล้วผลของการปฏิบัติพระกรรมฐานจักเป็นผลดี(การปฏิบัติกรรมฐานให้ทำที่กาย และจิตตนไม่ให้ติดร่างกายครูอาจารย์ ไม่ติดสถานที่ ให้ติดพระธรรม ไม่ให้ประมาทในความตาย มีมรณาและอุปสมาทุกลมหายใจเข้าออก ซ้อมตายและพร้อมตายอยู่เสมอ)

๒. “ให้ลองกำหนดดู การระลึกนึกถึงความตาย ซ้อมทิ้งร่างกายอยู่เสมอ ๆ จักทำให้จิตไม่ประมาท มีความขยันหมั่นเพียรที่จักเอาชนะกิเลส แม้กระทั่งอารมณ์ขี้เกียจ ก็จักคลายตัวลงไป ขอให้ตั้งใจทำให้จริงก็แล้วกัน” (ทรงเน้นเรื่องความเพียรในบารมี ๑๐ คือ วิริยะ ขันติ สัจจะบารมี โดยมีปัญญาบารมีคุม ทำความดี ความเพียรทุกอย่างเพื่อพระนิพพานจุดเดียว ด้วยความไม่ประมาทในความตาย)

๓. “แล้วหมั่นตรวจสอบสังโยชน์ ตรวจสอบอารมณ์จิต ดูให้แน่ชัดว่ายังมีความเกาะติดอยู่ในสังโยชน์มากน้อยเพียงใด ค้นหาพระกรรมฐานแก้จริต พยายามทำให้ทรงอยู่ประจำจิตเสียให้ได้ ถ้าตั้งใจจริงก็ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้” (ทรงเน้นการปฏิบัติจะต้องกำหนดรู้อารมณ์จิตของตนไว้เสมอ ใช้สังโยชน์ ๑๐ เป็นเครื่องวัดอารมณ์ไว้เสมอ เมื่อรู้จริตหรืออารมณ์จิตของตน ก็คือรู้จริต ๖ และรู้กรรมฐานแก้จริตไปในตัว อย่าละความเพียรและอย่าประมาทในกรรมทั้งมวล)

๔. “อิทธิบาท ๔ อย่าทิ้ง ต้องหมั่นตรวจสอบให้มีในอารมณ์ของจิตอยู่เสมอ มิฉะนั้นก็ยากที่จักละซึ่งกิเลสได้” (ทรงทราบว่า พวกเราล้วนมีอารมณ์ขี้เกียจเป็นใหญ่ หรือปฏิบัติไม่ค่อยจริงจัง เป็นพวกลิงกลัวไม้เรียวเสียส่วนมาก ทั้งดื้อทั้งรั้น ต้องคอยกระตุ้น คอยกำราบกันอยู่เสมอ)

๕. “อย่าสนใจกิเลสภายนอก ให้สนใจกิเลสภายในเป็นสำคัญ ภายนอกแก้ไขไม่ได้ ให้แก้ไขตนเองโดยตรง แล้วจึงจักพ้นไปได้ อย่าคิดว่ายาก ถ้าตั้งใจทำจริง คำว่ายากย่อมไม่มี(ทรงทราบว่า พวกเราไม่น้อยที่มีอารมณ์ซ่า หลงตัวหลงตนคิดที่จะไปสอนผู้อื่น ไปแก้ไขผู้อื่น ทั้ง ๆ ที่ตัวเรายังแก้ไขตนเองไม่ได้ ชอบตั้งตนเป็นอาจารย์ใหญ่ เที่ยวสอนคนอื่นแนะนำผู้อื่น พยากรณ์ผู้อื่นว่าเป็นขั้นนี้ขั้นโน้น ทั้ง ๆ ที่ธรรมนั้นยังไม่มีในตน จัดเป็นอุตริมนุสธรรม หากเป็นสมมุติสงฆ์ก็ต้องปรับอาบัติขั้นปาราชิก แต่นี่ยังเป็นฆราวาสก็ต้องหมั่นเตือน หมั่นให้มีสติ กำหนดรู้อารมณ์จิตของตน โดยใช้สังโยชน์ ๑๐ เป็นเครื่องวัดตลอดเวลา จะได้ไม่หลงออกนอกลู่นอกทาง ขาดสติก็เพราะขาดการกำหนดรู้ลมหายใจนั่นเอง)


ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๘
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 20:39


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว