กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   ธรรมวิภาค (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=68)
-   -   ทุกะ คือ หมวด ๒ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=5764)

ตัวเล็ก 17-08-2017 21:56

ทุกะ คือ หมวด ๒
 
ธรรมมีอุปการะมาก ๒ ประการ คือ

๑. สติ ความระลึกได้
๒. สัมปชัญญะ ความรู้ตัว


สติ ความระลึกได้ หมายความว่า ก่อนจะทำ จะพูด คิดให้รอบคอบก่อน แล้วจึงทำ จึงพูดออกไป

สัมปชัญญะ ความรู้ตัว หมายความว่า ขณะทำ ขณะพูด มีความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ทำหรือพูดเรื่องหนึ่ง แต่ใจไปคิดอีกเรื่องหนึ่ง

ธรรมทั้ง ๒ นี้ ช่วยรักษาจิตจากอกุศลธรรม และช่วยให้จิตประกอบด้วยกุศลธรรมทุกอย่าง เหมือนมหาอำมาตย์ผู้มีความรู้ความสามารถ ทำราชกิจทุกอย่างให้สำเร็จเรียบร้อย เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า ธรรมมีอุปการะมาก


ที่มา http://nakthamtee.blogspot.com/2015/09/blog-post.html

ตัวเล็ก 17-08-2017 21:59

ธรรมเป็นโลกบาล คือ คุ้มครองโลก ๒ ประการ คือ

๑. หิริ ความละอายแก่ใจ
๒. โอตตัปปะ ความเกรงกลัวผลการทำชั่ว

หิริ ความละอายแก่ใจ หมายความว่า รู้สึกรังเกียจทุจริต มีกายทุจริต เป็นต้น เหมือนคนเกลียดสิ่งโสโครก มีอุจจาระ เป็นต้น ไม่อยากจับต้อง

โอตตัปปะ ความเกรงกลัวผลของความชั่ว หมายความว่า สะดุ้งกลัวต่อทุจริต มีกายทุจริต เป็นต้น เหมือนคนกลัวความร้อนของไฟ ไม่กล้าไปจับไฟ

คนดีทั้งหลายย่อมเคารพตน คือคิดถึงฐานะของตน มีชาติและตระกูลเป็นต้น ด้วยหิริ ย่อมเคารพผู้อื่น คือคิดถึงเทวดาที่คุ้มครองรักษาตนเป็นต้น ด้วยโอตตัปปะแล้ว งดเว้นจากการทำบาป รักษาตนให้บริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น ธรรมทั้ง ๒ นี้ จึงชื่อว่าธรรมคุ้มครองโลก และธรรมทั้ง ๒ ประการนี้ เรียกว่า “เทวธรรม” เพราะทำจิตใจของมนุษย์ให้สูงเยี่ยงเทวดา


ที่มา http://nakthamtee.blogspot.com/2015/09/blog-post.html

ตัวเล็ก 17-08-2017 22:00

ธรรมอันทำให้งาม ๒ ประการ คือ

๑. ขันติ ความอดทน
๒. โสรัจจะ ความสงบเสงี่ยม


ขันติ ความอดทน หมายความว่า ทนได้ไม่พ่ายแพ้ ความหนาว ร้อน หิว กระหายทุกขเวทนา อันเกิดจากความเจ็บป่วย ความบาดเจ็บ ถ้อยคำด่าว่า เสียดสี ดูถูก ดูหมิ่น และการถูกทำร้าย

โสรัจจะ ความสงบเสงี่ยม หมายความว่า เป็นผู้ไม่มีอาการผิดแปลกไปจากปกติ ประหนึ่งว่า ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่รับรู้ความหนาว ความร้อนเป็นต้นเหล่านั้น

อนึ่ง การไม่แสดงอาการเห่อเหิม จนเป็นที่บาดตาบาดใจคนอื่นเมื่อเวลาได้ดี ก็ควรจัดเป็นโสรัจจะด้วย

บุคคลผู้มีขันติและโสรัจจะ ย่อมประคองใจให้อยู่ในปกติภาพที่ดีอย่างสม่ำเสมอ ไม่พลุ่งพล่านหรือซบเซาในยามมีความทุกข์ ไม่เห่อเหิมหรือเหลิงในยามมีความสุข เพราะฉะนั้น ขันติและโสรัจจะ จึงชื่อว่า ธรรมอันทำให้งาม


ที่มา http://nakthamtee.blogspot.com/2015/09/blog-post.html

ตัวเล็ก 17-08-2017 22:04

บุคคลหาได้ยาก ๒ ประการ คือ

๑. บุรพการี บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน
๒. กตัญญูกตเวที บุคคลผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้ว และตอบแทน


บุรพการี คือ บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน หมายความว่า เป็นผู้ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นโดยไม่คิดถึงเหตุ ๒ ประการ คือ
๑. ผู้นั้นเคยช่วยเหลือเรามาก่อน
๒. ผู้นั้นจะทำตอบแทนเราในภายหลัง
ยกตัวอย่าง เช่น บิดามารดาเลี้ยงดูบุตรธิดา และครูอาจารย์สั่งสอนศิษย์เป็นต้น

กตัญญูกตเวที คือ บุคคลผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้วและตอบแทน หมายความว่า ผู้ได้รับการช่วยเหลือจากใครแล้วจดจำเอาไว้ ไม่ลืม ไม่ลบล้าง ไม่ทำลายจะด้วยเหตุใดก็ตาม คอยคิดถึงอยู่เสมอ และทำตอบแทนอย่างเหมาะแก่อุปการะที่ตนได้รับมา

บุพพการี ชื่อว่าหายาก เพราะคนทั่วไปถูกตัณหาครอบงำ คือ อยากได้มากกว่าอยากเสีย

กตัญญูกตเวที ชื่อว่าหายาก เพราะคนส่วนมากถูกอวิชชา ได้แก่กิเลสที่ทำลายความรู้ เช่นความโลภ ความโกรธ และความตระหนี่เป็นต้น ครอบงำ คือ ปิดบังความรู้สึกที่ดี

ที่มา http://nakthamtee.blogspot.com/2015/09/blog-post.html

ตัวเล็ก 17-01-2018 16:43

อริยบุคคล ๒ (บุคคลที่บรรลุธรรมวิเศษ)

๑. พระเสขะ หรือ พระผู้ยังต้องศึกษา ได้แก่ พระอริยบุคคลที่ยังไม่ได้บรรลุอรหัตผลมี ๗ จำพวก คือ
พระโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล
พระสกทาคามิมรรค สกทาคามิผล
พระอนาคามิมรรค อนาคามิผล
พระอรหัตมรรค

ท่านเหล่านี้ที่ได้ชื่อว่า "เสขะ" เพราะยังต้องปฏิบัติให้บรรลุมรรคผลเบื้องสูงขึ้นไป คือศึกษาในอธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขาและอธิปัญญาสิกขาต่อไป เพื่อให้บรรลุมรรคผลเบื้องสูงขึ้นไปจนถึงอรหัตผล อันเป็นภูมิธรรมของพระอเสขะ

๒. พระอเสขะ หรือ พระผู้ไม่ต้องศึกษา คือ ท่านได้บรรลุอรหัตผลแล้ว ไม่ต้องศึกษาต่ออีกเพราะได้ศึกษาเสร็จสิ้นพร้อมทั้งละสังโยชน์ ๑๐ ได้ด้วย ดังนั้นจึงได้นามว่า อเสขะ

ตัวเล็ก 19-01-2018 14:27

กัมมัฏฐาน ๒ (อุบายฝึกจิต วิธีอบรมจิต)

๑. สมถกรรมฐาน คือ กรรมฐานฝึกจิตใจให้ผ่องใส ไม่มีความเศร้าหมองหรือขุ่นมัวที่ติดข้องอยู่ในใจ เรียกว่าปราศจากนิวรณ์ จิตที่ปราศจากนิวรณ์แล้วนี้ย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิแน่วแน่อยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง จนถึงขั้นได้ฌานในระดับต่าง ๆ คือ ระดับที่กำหนดรูปธรรมเป็นอารมณ์ เรียกว่า รูปฌาน มี ๔ ขั้น และระดับที่กำหนดรูปธรรมเป็นอารมณ์ เรียกว่า อรูปฌาน มี ๔ ขั้นเหมือนกันรวมเรียกว่า สมาบัติ ๘

สมถกรรมฐานนี้มีอารมณ์ ๔๐ อย่าง คือ
กสิณ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อสุภกรรมฐาน ๑๐
อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑
จตุธาตุววัตถาน ๑
อัปปมัญญา ๔
และอรูปกรรมฐาน ๔

อารมณ์กรรมฐานเหล่านี้ยังแบ่งบัญญัติกรรมฐาน ๒๘ และ ปรมัตถกรรมฐาน ๑๒

๒. วิปัสสนากรรมฐาน คือ กรรมฐานเป็นอุบายให้เกิดปัญญา รู้เท่าทันสภาวธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นตามเป็นจริง จนสามารถถอนความหลงผิดที่หลงยึดในสิ่งทั้งหลายเสียได้ จนยกจิตของตนเองขึ้นสู่ไตรลักษณ์ เพื่อมุ่งถึงจุดสูงสุด คือ วิมุตติ (ความหลุดพ้นที่แท้จริง)

สมถะและวิปัสสนา ทั้ง ๒ นี้ มีผลมุ่งหมายต่างกัน คือ สมถะ มีผลมุ่งให้ได้ฌาน วิปัสสนา มีผลมุ่งให้ได้ญาณ

ตัวเล็ก 21-01-2018 13:39

กาม ๒ (ความใคร่, ความต้องการสิ่งที่ต้องประสงค์)

๑. กิเลสกาม (กิเลสกามเป็นเหตุใคร่) หมายถึง กิเลสที่ทำให้นรชนหลงใหลไปทางอันจะหมกมุ่นอยู่ด้วยความเร่าร้อนของไฟกิเลส หาทางที่จะสลัดออกจากภพได้ยาก เพราะกิเลสทำให้หลงระเริงติดอยู่ในสิ่งยั่วยวนตามแรงของกิเลสนั้น ๆ มีราคะ โลภะ อิจฉา (ความอยากได้) เป็นต้น

๒. วัตถุกาม (วัสดุอันน่าใคร่) หมายถึง วัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดมี รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นที่พอใจ เครื่องประดับ เครื่องนุ่งห่ม เหล่านี้เป็นต้น ที่ชื่อว่าเป็นกาม เพราะเป็นอารมณ์ของตัณหา บุคคลเมื่อหลงยึดถือสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็ย่อมทำให้ตัวเองหลงใหลมัวเมา เพลิดเพลินอยู่ไม่รู้จักหาทางหลุดพ้นออกไปจากภพได้ เพราะเหตุแห่งความปรารถนา

ตัวเล็ก 22-01-2018 10:27

ทิฏฐิ ๒ (ความเห็น, ทฤษฎี)

๑. สัสสตทิฏฐิ (ความเห็นว่าเที่ยง) หมายถึง ความเห็นที่บัญญัติว่า อัตตาและโลกเที่ยงแท้ยั่งยืน คือ ไม่แปรผันเปลี่ยนแปลงไป เป็นอย่างไรก็อยู่อย่างนั้น หาที่สุดมิได้ ถึงแม้ร่างกายจะเสื่อมสลายไปก็ตาม ส่วนดวงชีพ หรือ เจตภูต หรือ มนัส (ใจ) ยังเป็นธรรมชาติไม่สูญสิ้น ย่อมสามารถถือปฏิสนธิในกำเนิดอื่นต่อไปได้อีก ส่วนมติทางพระพุทธศาสนา ได้ปฏิเสธอัตตาว่าไม่เที่ยงแท้ถาวร แต่ยอมรับการเวียนว่ายตายเกิดของสภาวธรรมด้วยอำนาจแห่งเหตุปัจจัย และยอมรับความสูญสิ้นของสภาวธรรมเหล่านั้นเหมือนกันเมื่อขาดเหตุปัจจัย

๒. อุจเฉททิฏฐิ (ความเห็นว่าขาดสูญ) หมายถึงความว่ามนุษย์และสัตว์จุติจากอัตภาพนี้แล้วขาดสูญหมด ไม่สามารถถือปฏิสนธิในกำเนิดอื่น หรือภพอื่น ต่อไปได้อีก

ทิฏฐิทั้ง ๒ นี้เป็นความเห็นผิดที่ขัดแย้งกันเอง พร้อมทั้งขัดต่อความเห็นในทางพระพุทธศาสนาด้วยเพราะ พระพุทธศาสนาได้แสดงความเห็นไว้ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับเป็นธรรมดา”

ตัวเล็ก 23-01-2018 11:02

เทสนา ๒ (การชี้แจง, การแสดงธรรมสั่งสอน)

๑. ปุคคลาธิฏฐาน (มีบุคคลเป็นที่ตั้ง) หมายถึง การแสดงธรรมโดยยกบุคคลขึ้นเป็นตัวอย่าง ให้ผู้ฟังเห็นภาพพจน์เพื่อความเข้าใจง่าย เช่น พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาเรื่องการให้ทาน พระองค์ทรงยกเรื่องพระเวสสันดรชาดกมาเล่าให้ผู้ฟัง ๆ เป็นต้น

๒. ธัมมาธิฏฐาน (มีธรรมเป็นที่ตั้ง) หมายถึง การแสดงธรรมล้วน ๆ โดยยกหัวข้อธรรมขึ้นแสดงเป็นข้อ ๆ แล้วอธิบายไปตามหัวข้อธรรมนั้น ๆ เช่น แสดงธรรมเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น

เทศนาทั้ง ๒ นี้มีลักษณะการแสดงที่แตกต่างกัน
ปุคคลาธิฏฐาน เป็นการแสดงธรรมในพระสูตร
ส่วนธัมมาธิฏฐานจะเป็นการแสดงธรรมในอภิธรรม

พรรวินท์ 23-01-2018 13:19

อ้างอิง:

ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ ตัวเล็ก (โพสต์ 205253)
เทสนา ๒ (การชี้แจง, การแสดงธรรมสั่งสอน)

๑. ปุคคลาธิฏฐาน (มีบุคคลเป็นที่ตั้ง) หมายถึง การแสดงธรรมโดยยกบุคคลขึ้นเป็นตัวอย่าง ให้ผู้ฟังเห็นภาพพจน์เพื่อความเข้าใจง่าย เช่น พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาเรื่องการให้ทาน พระองค์ทรงยกเรื่องพระเวสสันดรชาดกมาเล่าให้ผู้ฟัง ๆ เป็นต้น

๒. ธัมมาธิฏฐาน (มีธรรมเป็นที่ตั้ง) หมายถึง การแสดงธรรมล้วน ๆ โดยยกหัวข้อธรรมขึ้นแสดงเป็นข้อ ๆ แล้วอธิบายไปตามหัวข้อธรรมนั้น ๆ เช่น แสดงธรรมเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น

เทศนาทั้ง ๒ นี้มีลักษณะการแสดงที่แตกต่างกัน
ปุคคลาธิฏฐาน เป็นการแสดงธรรมในพระสูตร
ส่วนธัมมาธิฏฐานจะเป็นการแสดงธรรมในอภิธรรม

เทศนา เขียนแบบนี้หรือไม่คะ ถ้าทักท้วงผิดขออภัยค่ะ

สุธรรม 23-01-2018 13:43

อ้างอิง:

ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ พรรวินท์ (โพสต์ 205256)
เทศนา เขียนแบบนี้หรือไม่คะ ถ้าทักท้วงผิดขออภัยค่ะ

:4672615: บาลีเขียน เทสนา ครับ

ตัวเล็ก 26-01-2018 11:11

นิพพาน ๒ (การดับกิเลสและกองทุกข์)

๑. สอุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสยังมีเบญจขันธ์เหลือ หมายถึง พระอริยะผู้ละกิเลสได้สิ้นเชิงด้วยการบรรลุอรหัตผล เป็นพระอรหันต์ ที่ยังมีชีวิตอยู่

๒. อนุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ (ขันธปรินิพพาน) หมายถึงพระอรหันต์ที่สิ้นชีพแล้ว กิเลสาสวะไม่มีแล้ว กรรมที่ท่านทำมาก่อนจะบรรลุก็ตามให้ผลไม่ได้แล้ว

นิพพานนี้เป็นโลกุตรธรรม และเป็นจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาอีกด้วย

ตัวเล็ก 26-01-2018 17:47

บูชา ๒ (การแสดงความเคารพต่อบุคคลหรือสิ่งที่นับถือด้วยเครื่องสักการะ)

๑. อามิสบูชา บูชาด้วยอามิส คือ สิ่งของ หมายถึง การให้สิ่งของมี ดอกไม้, ของหอม, อาหาร และวัตถุอื่น ๆ ให้แก่คนที่ตนเคารพนับถือ แต่ในที่นี้ท่านหมายเอาการถวายแก่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวก

๒. ปฏิบัติบูชา บูชาด้วยปฏิบัติตาม หมายถึง การปฏิบัติตามคำสอนของท่าน ไม่ล่วงละเมิดข้อที่ท่านบัญญัติไว้ การประพฤติปฏิบัติเช่นนี้ พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ เพราะสามารถดำรงพระศาสนาไว้ได้

การบูชาทั้ง ๒ นี้ อามิสบูชาแม้จะมีมากเท่าไร เช่น พระเจดีย์เป็นหมื่นเป็นแสน มีอารามทั่วประเทศ ถ้าศาสนิกชนไม่ปฏิบัติตามธรรมที่พระศาสดาสั่งสอน ศาสนาก็ย่อมไม่ยืนยงไปได้ แต่ถ้าศาสนิกชนปฏิบัติตามธรรมที่พระศาสดาสั่งสอน แม้จะไม่มากนักก็สามารถดำรงศาสนาไว้ได้ ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงไม่สรรเสริญอามิสบูชา แต่ทรงสรรเสริญปฏิบัติบูชาแทน

ตัวเล็ก 27-01-2018 22:02

ปาพจน์ ๒ (คำเป็นประธาน คือ พระพุทธพจน์)

๑. ธรรม ได้แก่ คำสอนที่มุ่งขัดเกลาจริตของบุคคลให้มีความประณีตยิ่งขึ้น ธรรมนี้มีอยู่ก่อนแล้ว แต่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบแล้วนำมาแจกแจง แยกแยะ แล้วสอนให้เวไนยสัตว์ปฏิบัติตาม ธรรมนี้ไม่ใช่บทบัญญัติที่จะไปลงโทษแก่ผู้ล่วงละเมิด แต่ว่าเมื่อบุคคลปฏิบัติตามหรือล่วงละเมิดก็จะได้ผลด้วยตนเอง

๒. วินัย ได้แก่ ข้อบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ และอภิสมาจาร การถือมารยาทที่ควรประพฤติ ทรงวางไว้เพื่อควบคุมการประพฤติปฏิบัติของพุทธบริษัท ให้ดำเนินไปในทางที่ถูกต้อง

ตัวเล็ก 28-01-2018 09:52

วิมุตติ ๒ (ความหลุดพ้นจากกิเลส)

๑. เจโตวิมุตติ ความหลุดพ้นด้วยอำนาจใจ หมายถึง ความที่จิตหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสด้วยการฝึกจิต เรียกว่า “สมถกรรมฐาน”

๒. ปัญญาวิมุตติ ความหลุดพ้นด้วยอำนาจแห่งปัญญา หมายถึง ความหลุดพ้นจากกิเลสด้วยการใช้ปัญญาพิจารณาด้วยการปฏิบัติ "วิปัสสนากรรมฐาน"

ตัวเล็ก 29-01-2018 09:50

สังขาร ๒ (สภาพที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น)

๑. อุปาทินนกสังขาร (สังขารมีใจครอง) ได้แก่ สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย สังขารมีใจครอง คือ สามารถเคลื่อนไหวไปไหนมาไหนได้ตามต้องการ

๒. อนุปาทินนกสังขาร (สังขารไม่มีใจครอง) ได้แก่ สิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลาย เช่น กรวด, หิน, ดิน, ทรายบ้านเรือน ตลอดถึง รถ, เรือ, ยานพาหนะต่าง ๆ เป็นต้น

ตัวเล็ก 30-01-2018 12:12

สมาธิ ๒ (การทำจิตใจให้สงบแน่วแน่ไม่ฟุ้งซ่าน)

๑. อุปจารสมาธิ (สมาธิแบบเฉียด ๆ) ได้แก่ การทำจิตให้สงบชั่วขณะหนึ่ง อาจเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ สัก ๓ นาที ๕ นาที

๒. อัปปนาสมาธิ (สมาธิแน่วแน่) ได้แก่ จิตที่ตั้งมั่นสนิทแล้ว เป็นสมาธิฌาน

ตัวเล็ก 30-01-2018 17:12

สุข ๒ (ความสบายกายสบายใจ)

๑. กายิกสุข (สุขทางกาย) ได้แก่ การที่ร่างกายของคนเราไม่มีความทุกข์ ไม่มีโรค ไม่มีภัยเบียดเบียน

๒. เจตสิกสุข (สุขทางใจ) ได้แก่ จิตที่ประสบกับอารมณ์ที่น่าปรารถนา ทำให้เกิดความสบายใจ แช่มชื่นใจ

ตัวเล็ก 31-01-2018 15:17

ปฏิสันถาร ๒ (การต้อนรับ, การทักทายปราศัย)

๑. อามิสปฏิสันถาร (ปฏิสันถารด้วยอามิส) ได้แก่ การต้อนรับด้วยสิ่งของ เช่น ให้น้ำดื่ม หรือแม้กระทั่งการให้ที่พักอาศัย การให้ข้าวปลาอาหาร เป็นต้น โดยสมควรแก่ฐานะของแขกผู้มาเยือน

๒. ธัมมปฏิสันถาร (ปฏิสันถารโดยธรรม) ได้แก่ การกล่าวแนะนำแขกในทางที่ดี เพื่อให้เขาได้ถือเอาไปปฏิบัติ หรือได้แก่การต้อนรับโดยความสมควรแก่ฐานะของแขกผู้มา ว่าใครควรจะลุกขึ้นยืนรับ ใครควรจะไหว้ เป็นต้น

ตัวเล็ก 01-02-2018 17:10

ปริเยสนา ๒ (การแสวงหา)

๑. อริยปริเยสนา (แสวงหาอย่างประเสริฐ) หมายถึง การประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิตถูกต้องตามกฎหมายและศีลธรรม ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่น อีกความหมายหนึ่ง หมายถึงการแสวงหาธรรมเครื่องดับกิเลสและกองทุกข์

๒. อนริยปริเยสนา (แสวงหาอย่างไม่ประเสริฐ) หมายถึง การประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิตในทางผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่น ตรงข้ามกับอริยปริเยสนา

อนึ่ง สัมมาอาชีวะ เป็นอริยปริเยสนา มิจฉาอาชีวะ เป็นอนริยปริเยสนา


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 06:45


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว