กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   ปกิณกธรรมจากเกาะพระฤๅษี (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=44)
-   -   วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๐ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=1848)

เถรี 21-05-2010 07:20

วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๐
 
อบรมที่เกาะพระฤๅษี วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๐


วันนี้วันพระ ผมเองต้องไปเรียนต่อเพราะเปิดเทอมใหม่แล้ว พระก็ไปปาฏิโมกข์กันหมดเหลือแต่แม่ชี ระยะนี้พายุเข้าทางด้านอันดามัน ฝนจะตกหนักต่อเนื่องอีกหลายวัน

พวกเรายังไม่เคยรบกับน้ำท่วม ถ้าน้ำท่วม พอเริ่มลดให้ตักน้ำล้างตามไปด้วย อย่างพวกโคลน ให้ตักน้ำราดทิ้งไปเลย อย่าปล่อยจนน้ำลดหมด ไม่อย่างนั้นแล้วเราจะต้องเสียเวลามาล้างทีหลังอีกนานมาก

ห้องน้ำของเรา ถ้าน้ำท่วมโคลนจะเข้าไปได้ ถึงเวลาน้ำลง พอพื้นเริ่มโผล่ก็เริ่มล้างได้ ถ้าไม่ล้างไล่ไปตอนนั้น เราจะต้องเสียน้ำจำนวนมหาศาลมาล้างทีหลัง แล้วก็ต้องหิ้วน้ำไกล ตอนที่ท่วมน้ำอยู่ใกล้ ล้างได้ง่าย ที่นี่น้ำท่วมเป็นปกติ

สมัยแรก ๆ ที่ผมมาอยู่ที่นี่ หลายปีน้ำจึงจะท่วมสักครั้งหนึ่ง พอ อบต. ไม่รู้ว่าจะเอางบไปทำอะไร ก็ไปสร้างฝายเอาไว้ตรงด้านหลังหน่วยป้องกัน กจ. ๑๒ ตั้งแต่สร้างฝายเสร็จ น้ำจะท่วมทุกครั้งที่ฝนตกหนัก

การสร้างฝายถ้าจะให้ได้ประโยชน์ จะต้องสร้างเหนือหมู่บ้าน คนในหมู่บ้านจะได้ใช้น้ำ แต่นี่ไปสร้างไว้ใต้หมู่บ้านมา ๓ - ๔ กิโลเมตร..! เขาไม่รู้ว่าจะเอาเงินไปทำอะไร เลยไปสร้างทิ้งไว้เล่น ๆ ให้น้ำท่วมวัดเรา นั่นเป็นเรื่องของทางโลกเขา

เมื่อคืนผมตื่น ๕ ทุ่มกว่า เป็นการตื่นเองอย่างที่ชีปุ๊กบอก ถึงเวลาโดนสั่งให้ตื่น เรื่องอย่างนี้ บางทีก็เป็นการเร่งรัดผลปฏิบัติของเราอย่างหนึ่ง หรืออาจจะต้องช่วยเหลือต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายอีกอย่างหนึ่ง จัดเป็นสัญญาเดิม งานเดิม ที่สืบเนื่องกันมาตั้งแต่อดีต บางคำสั่งที่ได้รับ ก็รู้สึกว่าฝืนใจของเรา

แต่ถ้าพิจารณาว่าไม่มีผลเสียก็ให้ทำตาม หรือว่าไม่ยากเกินความสามารถก็ให้ทำตาม ผมจะยกตัวอย่างตัวอย่างให้ฟังเรื่องหนึ่ง เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อ ๒๐ กว่าปีที่แล้ว มีโยมท่านหนึ่งเป็นผู้หญิง...

ตอนนั้นท่านเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา เป็นคนที่ชอบปฏิบัติธรรม ได้ยินชื่อเสียงของหลวงปู่ปาน วัดบางนมโค แล้วเกิดความเลื่อมใส ก็พยายามสืบหาว่า มีใครสืบทอดวิชาของหลวงปู่ปานได้บ้าง

พอทราบว่าหลวงพ่อวัดท่าซุงสืบทอดวิชาได้ เสาร์อาทิตย์ก็ขับรถไปวัดท่าซุงเพื่อฝึกมโนมยิทธิ แต่ไม่มีความเข้าใจในมโนมยิทธิ ในเมื่อไม่เข้าใจ จึงต้องใช้คำว่ายังฝึกไม่ได้ ความจริงท่านไม่เข้าใจว่า สิ่งที่ตัวเองทำนั้นก็คือได้แล้ว

เถรี 21-05-2010 07:25

แต่ท่านจำหลักอันหนึ่งไว้ได้ว่า ให้เชื่อความรู้สึกแรก หลักการที่สำคัญที่สุดในมโนมยิทธิก็คือ ถ้าไม่เห็นก็ต้องเชื่อความรู้สึกแรก ถ้าไม่เชื่อความรู้สึกแรก ไปเอ๊ะเข้าเมื่อไร จะผิดเมื่อนั้น แล้วเราจะรู้เลยว่า ของใหม่ที่ผิดนั้น ของเก่ามักจะถูกทุกที

โยมท่านนี้พอได้หลักก็มาปฏิบัติต่อที่บ้าน ด้วยความที่เคารพศรัทธาในหลวงปู่ปาน และหลวงพ่อวัดท่าซุงเป็นอย่างยิ่ง เมื่อรู้ว่ามโนมยิทธิต้องทำอย่างไร ก็พยายามกำหนดใจไปตามที่ครูฝึกได้สอนมา

คราวนี้ความรู้สึกที่เกิดขึ้น เหมือนกับว่าเหลวไหล อยู่ ๆ ก็บอกให้ลุกไปปิดหน้าต่าง ตอนนี้ยังไม่เหลวไหลหรอก ยังพอจะมีเค้าว่า เออ..ให้ปิดหน้าต่าง แต่พอปิดหน้าต่าง กลับมายังไม่ทันจะนั่ง ความรู้สึกบอกว่า ให้ไปเปิดหน้าต่างใหม่..?!?

แล้วให้ไปเปิดประตู ให้ไปปิดประตู ไปชะโงกดูในห้องน้ำ เดินไปเดินมาเป็นยายบ้าอยู่คนเดียว แต่ท่านก็ทำตามทุกอย่าง แล้วฝนก็ตก ท่านเล่าให้ฟังว่า ความรู้สึกบอกชัด ๆ เลยว่า “ให้ขับรถไปวัดท่าซุงเดี๋ยวนี้” ฝนกำลังตก ซ้ำยังเป็นกลางคืนด้วย..!

ท่านก็เอา..บ้าก็บ้าวะ ขึ้นรถได้ก็ขับออกจากบ้านไป พอขึ้นสายเอเชียได้ ฝนตกกระหน่ำจนมองแทบไม่เห็นทาง คลานได้แค่ ๓๐ - ๔๐ ความรู้สึกบอกชัด ๆ เลยว่า “ให้เพิ่มความเร็วเป็น ๑๒๐..!”

มองทางไม่เห็นนะ..กลางคืนด้วย ท่านก็เอา..บ้าก็บ้าวะ ๑๒๐ ก็ ๑๒๐ เหยียบไปเลย ความรู้สึกบอกว่าออกขวาท่านก็ขวา เข้าซ้ายได้ท่านก็เข้าซ้าย ท่านบอกว่าพอออกขวาทีไร เห็นไฟแดงวาบผ่านซ้ายมือไปทุกที แสดงว่าท่านกำลังแซงรถคันอื่นอยู่..!

แต่ท่านไม่เห็นรถหรอก เพราะฝนกำลังตกหนัก มืดไปหมด มองรถคันหน้าไม่เห็น อาศัยความรู้สึกอย่างนั้นขับไปอย่างเดียว พอไปได้สัก ๔๐ - ๕๐ กิโลเมตร ความรู้สึกบอกให้เลี้ยวซ้ายลงข้างทางไปเลย..!

โอ้โห..ถนนสูงมากนะ..สูงเป็นเมตรเลย..! ท่านก็พุ่งโครมลงไปกลางนา ความรู้สึกบอกให้ขับตะลุยไปข้างหน้า เดี๋ยวจะมีทางขึ้น ท่านก็ลุยไปข้างหน้า รถไม่ยักกะติดหล่ม พอลุยไปถึงข้างหน้ามีทางให้ขึ้นจริง ๆ..!

ในความรู้สึกมีเสียงถามว่า“นี่ลูกเชื่อพ่อขนาดนี้เชียวหรือ ?” ท่านบอกว่าเชื่อ “แล้วถ้าตาย..?” ท่านตอบว่า “ตอนนี้หนูกำลังปฏิบัติความดีอยู่ ถ้าหากว่าตาย หนูมั่นใจว่าต้องได้ไปดีแน่..!”

ความรู้สึกที่เป็นเสียงชัด ๆ บอกว่า “ถ้าหากว่าลูกเชื่อพ่อขนาดนี้ก็กลับบ้านได้แล้ว..” พอดีถึงทางแยกท่านก็เลี้ยวกลับ เมื่อถึงบ้านจอดรถเสร็จสรรพ เสียงนั้นบอกให้ไปอาบน้ำอาบท่า เปลี่ยนเสื้อผ้าเสียใหม่

เถรี 22-05-2010 11:41

พออาบน้ำอาบท่าเปลี่ยนชุดเสร็จ ก็มากราบพระ ท่านบอกว่า ยังไม่ทันจะตั้งหลัก ก็เหมือนกับบังคับตัวเองไม่ได้ หงายตึงลงก็ไปเลย คือออกไปแบบมโนมยิทธิเต็มกำลัง คราวนี้ไม่ใช่ความรู้สึกแล้ว ทุกอย่างชัดเจนเหมือนกับเอาตัวนี้ไปเองเลย..!

ที่เล่าเรื่องนี้ให้ฟังก็เพราะว่า ท่านผู้อำนวยการท่านนี้ท่านเกษียณมานานแล้ว ตอนช่วงก่อนเกษียณนั้น พันเอกณรงค์ กิตติขจร จะตั้งพรรคเพื่อเล่นการเมือง มาขอให้ท่านเป็นที่ปรึกษาพรรค ก็เพราะความเป็นทิพย์นี่แหละ ถึงเวลาท่านไปทักใครก็ตรงไปหมด

แต่ความรู้สึกก็บอกว่า “อย่าไปยุ่งกับการเมือง” ท่านจึงไม่รับ ตอนนี้ไม่ทราบว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร ๒๐ กว่าปีผ่านมาแล้ว ท่านผู้อำนายการท่านนี้ จะสนิทกับหลวงตาวัชรชัยมาก ถ้ามีโอกาสผมจะลองสอบถามดู ไม่ทราบว่าท่านยังอยู่หรือเปล่า ?

นั่นคือการปฏิบัติชนิดที่เรียกว่า “มอบกายถวายชีวิต” ขึ้นชื่อว่าเรื่องของธรรมะแล้ว แม้ตายก็ยอม ขอให้ได้ทำ

คราวนี้ถ้าเป็นความรู้สึกของพวกเรา คงจะรู้สึกว่าไร้เหตุไร้ผลสิ้นดี กลางค่ำกลางคืน ฝนตกหนักยังจะให้ไปวัดอีก หรือไม่ก็วิ่งความเร็ว ๔๐ - ๕๐ ก็แย่แล้วเพราะมองทางไม่เห็น จะเกิดอุบัติเหตุอย่างไรก็ไม่รู้ แล้วบอกให้เหยียบถึง ๑๒๐ เป็นเราจะกล้าไหม ? แต่ว่าท่านผู้อำนวยการท่านนี้กล้า เพราะอย่างที่ท่านบอกว่า ตอนนี้กำลังทำความดี ถ้าตายตอนนี้ก็ไปดีแน่นอน

ต้องมาวัดกับกำลังใจของเราเองว่า เรามีกำลังใจอย่างนี้ไหม ? พวกเราลำบากหน่อยก็โอดโอยโวยวายแล้ว แต่นี่ท่านแลกกันด้วยชีวิต ครูบาอาจารย์ในอดีตจนถึงปัจจุบันแต่ละท่าน ที่ท่านได้ดีมาก็เพราะปฏิบัติธรรมชนิดแลกกันด้วยชีวิต

นี่ยังดีนะ..ว่าวัดเราไม่เน้นการเดินจงกรม ถ้าหากว่าสายของหลวงปู่มั่น ท่านเน้นการจงกรม ผูกเชือกไว้แล้วเดินกันชนิดทางเดินจงกรมลึกท่วมแข้ง แต่ละวันก็เดิน..เดิน..เดิน เดินไปเรื่อย

ดินกลายเป็นฝุ่นติดเท้าทีละนิดทีละหน่อย ท้ายสุดทางจงกรมก็ลึกท่วมหน้าแข้ง นั่นท่านทำกันหลาย ๆ ปี ทำกันอย่างชีวิตเข้าแลก วันหนึ่งเดินกัน ๑๐ ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ของเราเองไม่ได้เน้นตรงนั้น แต่มาวัดกันว่า ในแต่ละวันกำลังใจของเราเกาะความดีได้กี่ชั่วโมง ปล่อยให้กิเลสกินใจเรากี่ชั่วโมง เรากำไรหรือขาดทุน เราทำวันนี้ได้ดีกว่าเมื่อวานหรือเปล่า ?

สิ่งเหล่านี้เราต้องรู้จักวิเคราะห์วิจัย จึงจะสามารถสังเคราะห์ขึ้นมาเป็นธรรมเฉพาะตัวเองเราได้ ถ้าไม่รู้จักใช้ตรงจุดนี้ โอกาสที่จะสำเร็จก็ยาก อย่าลืมว่า โพชฌงค์ ๗* (องค์ธรรมเครื่องช่วยให้ตรัสรู้ ๗ อย่าง) มีอยู่ตัวหนึ่งที่เรียกว่า ธัมมวิจยะ



หมายเหตุ :

* ที.ปา. ๑๑/๒๓๗/๒๖๔ ; ๔๓๔/๓๑๐ ; อภิ.วิ.๓๕/๕๔๒/๓๐๖

เถรี 22-05-2010 11:45

พวกคุณต้องรู้จักวิจัยแยกแยะในธรรมะ เก็บเอาส่วนที่ดีเข้ามา ไล่เอาส่วนที่ไม่ดีออกไป พยายามสร้างกำลังใจของตัวเองให้ผ่องใส รักษาความดีเอาไว้ พอนานไปเรายืนระยะได้ ต่อไปความดีก็จะไม่ถอยหลังอีก

จนกระทั่งท้ายสุด ก็จะเหลือความดีในส่วนเดียว หลักการปฏิบัติจริง ๆ มีเท่านี้เอง อย่างที่หลวงพ่อท่านให้เราอธิษฐานว่า “ข้าพเจ้าขอมอบกายถวายชีวิต ต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

คำว่ามอบกายถวายชีวิตก็คือ สิ่งใดที่เป็นงานเพื่อพระศาสนา เป็นงานเพื่อแบ่งเบาภาระของครูบาอาจารย์ เป็นงานเพื่อมรรคผลนิพพานของตน เราทำชนิดแลกด้วยชีวิต..!

ผมเองอยู่วัดท่าซุง ไม่รู้ว่าเฉียดตายกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง แม้กระทั่งลงไปตีกับชาวบ้านเขา โดนเขาคว้าปืนไล่ยิงมาแล้วก็มี แต่ว่านั่นผมถือว่าผมทำเพื่อพระศาสนา ผมต้องปกป้องรักษาวัด ต้องดูแลทรัพย์สมบัติของสงฆ์

ระยะนั้นคืนหนึ่งผมนอนประมาณ ๒ ชั่วโมงเท่านั้น แล้วไม่ได้อยู่เฉย ๆ ต้องพายเรือตรวจการณ์ทั้งคืน จนตอนนั้นโรคกระเพาะรับประทาน เพราะว่าตื่นอยู่ตลอด ออกกำลังทั้งคืน ถ้าเราไม่พายเรือตรวจวัด คนอื่นก็เข้ามาเบียดเบียน มาขโมยปลาหน้าวัด

ในเมื่อออกกำลังทั้งคืน นอนก็ไม่ได้นอน จึงเป็นโรคกระเพาะ ปีนั้นทั้งปีผมไม่ได้กลับกุฏิเลย นอนอยู่แต่ในเรือ เรื่องพวกนี้เราเองต้องมีสามัญสำนึกว่า เราต้องอยู่ให้วัดได้อาศัย ไม่ใช่อยู่อาศัยวัดอย่างเดียว

อยู่ให้วัดอาศัยก็คือ มีงานอะไรเราต้องทำให้เต็มที่ ถ้าหากว่างานในส่วนของคันถธุระหมดลงในแต่ละวัน เราก็ดึงกำลังใจของเราเข้ามาในส่วนวิปัสสนาธุระ คือให้อยู่กับการภาวนา


ในระหว่างที่ทำงาน ก็พยายามทรงกำลังใจ กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกให้เป็นปกติ พอเลิกงานเราก็มาทุ่มเทให้กับกรรมฐานของเราต่อ หลักการพวกนี้จริง ๆ แล้วพวกท่านก็รู้ แต่ว่าไม่ได้ปักมั่นอยู่ในใจ ถึงเวลาก็เรื่อย ๆ กันไป จึงต้องมาตอกย้ำกันใหม่อีกที

เมื่อตอกย้ำแล้ว ก็ขอให้ทำให้นานหน่อย อย่าให้เป็นไฟไหม้ฟาง ไม่ใช่ว่าฟังไปทีก็เกิดความกระตือรือร้น เกิดความฮึกเหิมอยากจะทำ แต่ได้วูบเดียวเท่านั้น พอลับหลังก็หายเงียบไปอีก

เถรี 23-05-2010 09:27

งานผมมีเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ขนาดไม่รับกิจนิมนต์ยังไม่มีเวลาว่าง บางท่านก็มาในลักษณะที่ปฏิเสธไม่ได้ อย่างที่ชีปุ๊กโดนอย่างนั้นแหละ เมื่อปฏิเสธไม่ได้ก็ต้องไป เวลาของตัวเองก็มีน้อย เวลาที่จะดูแลวัดวาอารามก็มีน้อย เวลาที่จะอยู่อบรมพวกท่านก็มีน้อย

สมัยก่อนผมคิดว่า ผมบวชเข้าไปเป็นโอกาสที่ดีที่สุด ได้อยู่ใกล้ชิดหลวงพ่อ แต่ไม่ใช่ คุณเชื่อไหมว่า เดือนทั้งเดือนบางทีไม่ได้เห็นหน้าท่านเลย ท่านบอกว่า ใครมีงานประจำของตัวเองให้ทำงานนั้นไป บางวันทนคิดถึงท่านไม่ไหว ต้องไปแอบในหอระฆัง รอตอนหลวงพ่อขึ้นรับแขกที่ศาลานวราช ได้เห็นหน้าท่านสักนิดก็ยังดี

ถ้าหากว่าผมไม่รู้จักทำเพื่อตัวเอง ไม่รู้จักศึกษาแบบของครูบาอาจารย์ แล้วเอามาตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติ คิดว่าคงไม่สามารถที่จะมานั่งอยู่ตรงนี้ได้ในทุกวันนี้ ถ้ามัวแต่รอครูบาอาจารย์มาเคี่ยวเข็ญให้ทำให้ มาสั่งสอน ถ้าท่านไม่มีเวลาเราก็จะเสียโอกาส

ปีสุดท้ายหลวงพ่อท่านยังปรารภว่า “ตั้งแต่นี้ไปข้าต้องให้เวลากับพระเสียที มัวแต่วิ่งงานก่อสร้าง สงเคราะห์ญาติโยม สงเคราะห์ทหารตำรวจ สงเคราะห์ผู้ยากจนในถิ่นทุรกันดาร ไม่มีเวลาให้พระท่านเลย จนกระทั่งท่านรอไม่ไหว สึกหาลาเพศกันไปมากแล้ว..”

ท่านถึงได้ให้สร้างสถานที่ธุดงค์ ๑๐๐ ไร่ ถึงเวลาท่านจะทุ่มเทเวลาให้กับพระกับเณร แต่ว่าสังขารของท่านไม่อำนวย มรณภาพไปเสียก่อน งานนี้จึงไม่ได้ทำ แล้วผู้รับสืบทอดต่อมาก็อยู่ลักษณะของพี่ของน้อง บางทีน้องอาจจะเก่งกว่าพี่ด้วย จึงไม่มีการจ้ำจี้จ้ำไชสั่งสอนกัน วัน ๆ ได้แต่เปิดเสียงตามสายของหลวงพ่อเท่านั้น

แบบนั้นถ้าไม่ใช่วาระของบุญกุศลเข้ามาจริง ๆ ต่อให้เสียงตามสายกรอกหูอยู่ พวกเราก็ไม่ฟัง แต่ถ้าหากวาระบุญเข้ามาจริง ๆ นั่นเป็นเวลาที่ดีที่สุดที่เราจะทำกรรมฐาน ตั้งสมาธิเงี่ยหูฟังว่าหลวงพ่อสอนอะไร...

นางกาติยานี ** เป็นมหาเศรษฐี ไปฟังธรรมที่วัด โจรเข้าไปปล้นบ้าน ท่านไปวัดตอนเย็น รอพระเทศน์จนถึงค่ำ สมัยก่อนฟืนไฟก็ไม่มี ท่านบอกให้สาวใช้กลับบ้าน เอาคบไฟมาหลาย ๆ อันหน่อย จะไปจุดให้สว่าง จะได้ฟังธรรม

สาวใช้กลับมาเห็นโจรกำลังเจาะกำแพง ก็ตาลีตาเหลือกกลับมาบอกว่า “พระแม่เจ้า..โจรกำลังเจาะกำแพงบ้านอยู่ จะขนสมบัติของพระแม่เจ้าไปหมดแล้ว..!”



หมายเหตุ :
** พระสุตตันตปิฎก : อังคุตตรนิกาย : เอกนิบาต : เอตทัคคปาลิ : เอตทัคควรรคที่ ๗

เถรี 23-05-2010 09:30

นางกาติยานีบอกว่า “เธอจงอย่าทำให้เราฉิบหายเสียเลย โอกาสในการฟังธรรมเป็นของยาก ใครอยากได้อะไร ก็จงให้เขาเอาไปเถิด..!”

แล้วเธอก็นั่งฟังธรรมของเธอไป ปรากฏว่าหัวหน้าโจรเขามาซุ่มรออยู่ รอว่าถ้าหากว่าเจ้าของบ้านกลับ จะได้ส่งสัญญาณให้ลูกน้องรีบหนี พอเห็นนางทาสีที่เป็นสาวใช้วิ่งมาบอก ก็คิดว่า

“ถ้าเธอกลับในตอนนี้ ลูกน้องเรายังไม่ทันจะได้สมบัติอะไร เสียเวลาไปเปล่า ๆ เราจะฟันเธอให้ตายตรงนี้ แต่ถ้าหากว่าเธอไม่ไป แสดงว่าความดีของเธอมีมากจริง ๆ เราก็ควรที่จะขอขมาต่อเธอ..”

ปรากฏว่านางกาติยานีไม่ไป ตั้งใจฟังธรรมจริง ๆ แล้วก็บรรลุมรรคผล เป็นพระโสดาบัน หัวหน้าโจรก็เลยเรียกลูกน้องขนสมบัติทั้งหมดไปคืนให้ กราบขอขมาว่า คนที่มีความดีขนาดนี้เราไม่ควรจะไปเบียดเบียน แล้วก็ขอบวชกับพระโสณโกฏิกัณณะเถระ

ปรากฏว่าโจรทั้งหมดกลายเป็นพระอรหันต์ ดังนั้นว่า โอกาสที่ดีที่สุดก็คือตอนที่เปิดเสียงตามสาย พวกเราควรจะทำสมาธิแล้วตั้งใจฟังตามไป

แม้ว่าหลวงพ่อจะสิ้นไปแล้ว แต่เสียงธรรมท่านยังอยู่
ไม่เหมือนกับสมัยของหลวงปู่ปาน ตอนนั้นเครื่องบันทึกเสียงยังไม่มี เราไม่มีโอกาสได้ยินเสียงหลวงปู่ปาน แต่ว่าเสียงของหลวงพ่อ ถึงบางท่านจะไม่ทัน แต่เรายังได้ยินเสียง ยังมีซีดี มีวีดิโอให้เห็นภาพได้ โอกาสอย่างนี้เป็นเรื่องหายาก เราควรจะฉวยโอกาสไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้...

--------------------------------


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 22:05


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว