กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=39)
-   -   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๐ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=5615)

เถรี 25-05-2017 19:36

เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๐
 
ให้ทุกคนนั่งในท่าที่สบายของตนเอง ตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกของเราไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า...ให้ความรู้สึกของเราทั้งหมด ไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก...ให้ความรู้สึกของเราทั้งหมด ไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาหรือพิจารณาอย่างไรก็ได้ แล้วแต่เราถนัดมาแต่เดิม

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ ในเรื่องของการปฏิบัติธรรมนั้น สำคัญอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก ถ้าเราทิ้งลมหายใจเข้าออก การปฏิบัติธรรมจะไม่มีผล ส่วนการปฏิบัติที่มีผลนั้นคือ การที่เราจับลมหายใจเข้าออกพร้อมกับคำภาวนา จนกระทั่งทุกอย่างเป็นเองโดยอัตโนมัติ

คำว่าเป็นเองโดยอัตโนมัติก็คือ สภาพจิตของเรากำหนดรู้ลมหายใจพร้อมคำภาวนาได้โดยไม่ต้องบังคับ ถ้ายังไม่ถึงขั้นนี้โอกาสที่จะเอาชนะกิเลสก็ยังไม่มี แต่ถ้าทำถึงขั้นนี้แล้ว ถ้าเราขาดสติ เผลอเมื่อไร กิเลสก็ตีกลับได้ทุกเมื่ออีกเช่นกัน

แต่ว่าเท่าที่เห็นในปัจจุบันนี้ก็คือ พวกเราทั้งหลายไม่มีความจริงจังในการปฏิบัติธรรม สักแต่ว่าปฏิบัติไปเพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมเท่านั้น เหตุใดถึงได้กล่าวเช่นนี้ ก็เพราะว่าเราปล่อยให้สภาพจิตของเรามีเวลาว่างไปฟุ้งซ่านกับ รัก โลภ โกรธ หลง มากจนเกินไป อย่างเช่นว่า อาจจะภาวนาเช้าครึ่งชั่วโมง เย็นครึ่งชั่วโมง เหลือเวลากลางวัน ๑๑ ชั่วโมงกับเวลากลางคืน ๑๒ ชั่วโมง เราปล่อยให้สภาพจิตของเราไหลตามกระแส รัก โลภ โกรธ หลง ไป ถ้าลักษณะอย่างนี้เราจะเอาตัวไม่รอด เพราะว่าทำงานในลักษณะที่ขาดทุนอยู่ทุกวัน

เถรี 25-05-2017 19:39

ทำอย่างไรที่เราจะมีความรู้สึกว่า อานาปานสติหรือว่าลมหายใจเข้าออกนั้น เป็นเหมือนกับเชือกช่วยชีวิตของเรา เหมือนกับเราตกสู่ก้นเหว แล้วมีเชือกช่วยชีวิตอยู่เส้นหนึ่ง ซึ่งก็คือลมหายใจเข้าออกนี้ ให้เราได้ค่อย ๆ ป่ายปีนกลับขึ้นไปสู่เบื้องบน ทำความรู้สึกเหมือนกับว่า เราหายใจเข้าออกครั้งหนึ่ง ก็คือการที่เราปีนขึ้นไปได้สักศอกหนึ่ง ถ้าเรารู้สึกว่าลมหายใจเข้าออกคือเชือกช่วยชีวิตของเรา กำลังใจของเราก็จะเกาะมั่นคง เพราะเกรงว่าถ้าปล่อยมือจากเชือกช่วยชีวิตเมื่อไร เราก็อาจจะตกเหวตาย

แต่คราวนี้เมื่อท่านทั้งหลายกำหนดกำลังใจอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกแล้ว เมื่อกำลังใจทรงตัว ให้ทำงาน ๒ อย่างด้วยกัน อย่างแรกก็คือซักซ้อมให้เกิดความคล่องตัว สามารถเข้าหรือออกสมาธิแต่ละระดับได้อย่างที่ตัวเองต้องการ งานอีกอย่างหนึ่งของเราก็คือ ตั้งสติประคับประคองอารมณ์การปฏิบัติภาวนานั้น ให้อยู่กับเราให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

โดยมากเมื่อปฏิบัติภาวนาจนกำลังใจทรงตัวแล้ว เมื่อเลิกจากการปฏิบัติ ลุกขึ้นมาเราก็ทิ้งไปหมด ถ้าหากว่าเป็นเช่นนั้น โอกาสที่จะก้าวหน้าของเราก็ไม่มี ทำอย่างไรเราจะรักษาการปฏิบัติเอาไว้ได้ ก็คือสามารถกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกพร้อมกับคำภาวนา ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์แบบใดก็ควรที่จะทำให้ได้ คือต้องอาศัยเชือกช่วยชีวิต ได้แก่ลมหายใจเข้าออกนี้เป็นหลัก

เถรี 27-05-2017 12:22

การกำหนดลมหายใจเข้าออกนั้น จะเป็นฐานเดียว สามฐาน เจ็ดฐาน หรือรู้ตลอดกองลม ก็แล้วแต่ว่าท่านมีความถนัดแบบไหน เพราะไม่ว่าท่านจะกำหนดกี่ฐานก็ตาม ท้ายสุดซึ่งจะเกิดขึ้นก็คือสมาธิที่เริ่มทรงตัวเป็นฌาน

มีหลายท่านมาเสียหายตรงที่สมาธิเริ่มทรงตัว เพราะไปฟุ้งซ่าน ถึงเวลาภาวนาเมื่อไรก็อยากจะให้เป็นแบบนั้น การที่กำลังใจของเราฟุ้งซ่าน ไม่มั่นคง โอกาสที่สมาธิจะทรงตัวแน่วแน่ก็ไม่มี จึงเป็นเรื่องที่ท่านทั้งหลายต้องให้ความสำคัญกับลมหายใจเข้าออกในระดับเดียวกับว่า ถ้าเราทิ้งลมหายใจเมื่อไรก็คือเราทิ้งชีวิตของเรา เพราะชีวิตนี้อยู่ได้ด้วยลมหายใจเข้าออก เราแค่อาศัยยานพาหนะก็คือสติ ในการตามดู ตามรู้ลมหายใจเข้าออกของเรา

เมื่อเห็นชัดเจนแล้ว ลมหายใจทรงตัวแล้ว กำลังใจทรงตัวแล้ว ก็คลายออกมาพิจารณาให้เห็นชัดเจนว่า ร่างกายของเราก็ดี ของคนอื่นก็ดี ของสัตว์อื่นก็ดี วัตถุธาตุทั้งหลายก็ดี เกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรปรวนไปในท่ามกลาง สลายไปในที่สุด ให้สภาพจิตยอมรับว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยงจริง ๆ

เถรี 27-05-2017 12:24

อีกส่วนหนึ่งก็คือดูให้เห็นว่า ตัวเราก็ดี คนอื่นก็ดี สัตว์อื่นก็ดี วัตถุธาตุทั้งหลายก็ดี ระหว่างที่ดำรงชีวิตอยู่นั้น ประกอบไปด้วยความทุกข์ ทุกข์ของการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย พลัดพรากจากของรักของชอบใจ ปรารถนาไม่สมหวัง กระทบกระทั่งอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ เป็นต้น

ท้ายสุดก็เสื่อมสลาย ตาย พัง ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเราสักอย่างเดียว ขึ้นชื่อว่าการเกิดมามีร่างกายที่เต็มไปด้วยความไม่เที่ยงเช่นนี้ มีแต่ความทุกข์เช่นนี้ ไม่มีอะไรให้ยึดถือมั่นหมายให้เป็นตัวตนเราเขาได้เช่นนี้ จะไม่มีสำหรับเราอีก ตายเมื่อไรเราขอไปที่เดียวคือพระนิพพาน

ทุกวันให้เราวางกำลังใจในลักษณะอย่างนี้ ส่งกำลังใจสุดท้ายของเราเกาะพระนิพพานเอาไว้ เพื่อเป็นการประกันความเสี่ยงว่า ถ้าหากหมดอายุขัยตายลงไป หรือเกิดอุบัติเหตุอันตรายถึงแก่ความตาย เราจะได้ไปพระนิพพานดังที่เราตั้งความปรารถนาเอาไว้

ลำดับต่อไปให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านเติมบุญ
วันอาทิตย์ที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๐

(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย รัตนาวุธ)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 18:05


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว