กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=39)
-   -   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=6663)

เถรี 22-06-2019 20:41

เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒
 
ขอให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกของเราทั้งหมดไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเรา ไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเรา ไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ ที่เรามีความถนัด มีความชำนาญมาแต่เดิม

วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๓๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ เป็นการปฏิบัติธรรมต้นเดือนมิถุนายนในวันแรก แต่เนื่องจากว่ามีงานที่ติดพันกันอยู่ ดังนั้น..การปฏิบัติธรรมจึงคร่อมกันอยู่ระหว่าง ๒ เดือน โดยเฉพาะเดือนนี้ต้องมาบ้านเติมบุญทั้งหัวเดือนปลายเดือน เพราะว่าช่วงก่อนและหลังจากนั้นติดงานอยู่

สำหรับเมื่อครู่นี้ที่ได้กล่าวไปแล้ว ก็คือในเรื่องของสถานการณ์บ้านเมืองที่พัฒนาไปในทางที่ไม่ดี เพราะว่ามีการแย่งชิงประโยชน์กัน ตรงจุดนี้ขอให้ญาติโยมทั้งหลายเข้าใจว่า ปกติธรรมดาของโลกเป็นเช่นนั้น เพราะว่าโลกของเรานั้นประกอบไปด้วยโลกธรรม คือ สิ่งที่เป็นธรรมดาในโลก ๘ อย่างด้วยกัน แบ่งออกเป็น ๔ คู่ ก็คือ ได้ลาภ-เสื่อมลาภ, ได้ยศ-เสื่อมยศ, ได้รับคำสรรเสริญ-โดนนินทาด่าว่า, มีความสุข-เกิดความทุกข์

เถรี 22-06-2019 20:43

ทั้ง ๘ อย่างนี้เป็นสิ่งประจำโลก เป็นสมบัติประจำโลก ใครเกิดมาก็ต้องพบทั้งนั้น คราวนี้โลกธรรมทั้ง ๘ อย่างนี้ เป็นตัวร้อยรัดเราให้ติดอยู่กับโลก ที่หนาแน่นแข็งแรง ยากแก่การที่จะตัดละ เพราะว่าในด้านดี ก็คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เกิดขึ้น เราก็หวั่นเกรงว่าจะเสื่อมสลายไป พอเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์เกิดขึ้น เราก็หวั่นไหว พูดง่าย ๆ ก็คือทั้งหวั่นทั้งไหว

ในเมื่อเป็นเช่นนั้น เราจึงจำเป็นจะต้องสร้างกำลังใจของเราให้มั่นคง เพื่อที่จะได้ก้าวพ้นจากโลกธรรมทั้งหลายที่ร้อยรัดเราให้ติดอยู่ ซึ่งทำให้ไม่สามารถหลุดพ้นไปได้ ส่วนที่จะสร้างกำลังใจของเราได้ดีที่สุด คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ก็คือหลักไตรสิกขา ซึ่งถ้ากระจายออกอีกเล็กน้อย ก็จะกลายเป็นมรรคมีองค์ ๘ เมื่อสรุปลงมาค่อยเหลือเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา

ศีลนั้นเป็นเครื่องป้องกันเราไม่ให้ตกไปสู่อบายภูมิ ก็คือขีดเส้นให้ กาย วาจา ของเราอยู่ในกรอบ ไม่ไหลลงไปในทางที่ต่ำ คือเว้นจากการฆ่าสัตว์และทรมานสัตว์ เว้นจากการลักขโมยหรือหยิบฉวยสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ เว้นจากการแย่งชิงคนรักหรือของรักของผู้อื่น เว้นจากการโกหกมดเท็จ เว้นจากการดื่มสุราหรือเสพยาเสพติด ถ้าเราตั้งสติระมัดระวังรักษาสิกขาบทเหล่านี้ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ล่วงละเมิดเป็นปกติ สภาพจิตของเราจะเริ่มทรงตัวเป็นสมาธิเอง

ดังนั้น...ศีลจึงเป็นเครื่องเกื้อหนุนสมาธิได้ดีที่สุด โดยเฉพาะศีล ๘ ทำให้เราละเว้นสิ่งไม่จำเป็นต่าง ๆ ลงไปได้มากต่อมากด้วยกัน เป็นการขัดเกลากำลังใจของเราให้กองกิเลสต่าง ๆ เบาบางลงไปโดยอัตโนมัติ เมื่อสภาพจิตเริ่มเป็นสมาธิ ความหวั่นไหวต่าง ๆ ที่เกิดจากการกระทบของโลกธรรมก็จะน้อยลง ถ้าสามารถทรงสมาธิสูงสุดก็คือฌาน ๔ ได้ ความหวั่นไหวจากโลกธรรมจะไม่ปรากฏ จนกว่าท่านจะหลุดจากสมาธิออกมาใหม่

เถรี 23-06-2019 22:20

ดังนั้น...นักปฏิบัติที่ดีเมื่อทรงสมาธิได้แล้ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประคับประคองรักษากำลังใจของเราเอาไว้ อย่าให้หลุด อย่าให้หล่นหายไป ไม่เช่นนั้นอาการจิตตก สมาธิตก กรรมฐานแตก จะเกิดขึ้นกับท่านทั้งหลาย ซึ่งนักปฏิบัติที่มีประสบการณ์จะรู้เลยว่าทุกข์ทรมานใจขนาดไหน ที่สภาพจิตของเราเปลี่ยนจากฟ้ากลายเป็นเหว จากที่ทรงคุณงามความดีเต็มจิตเต็มใจ ก็กลับกลายเป็นมีแต่ความชั่วมายึดครองจิตใจ บุคคลที่รู้เข็ดรู้จำ จะไม่อยากให้เรื่องทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้นอีก

เมื่อพยายามประคับประคองรักษากำลังใจของตนเองกลับมาทรงตัวได้ใหม่ ก็ต้องตั้งสติระมัดระวังสุดขีด เหมือนคนที่เดินอยู่บนผิวน้ำแข็งบาง ๆ กลัวเกรงสุดชีวิตว่าแผ่นน้ำแข็งจะแตก ทำให้เราจมหายลงไปใต้ความเย็นที่สามารถคร่าชีวิตของเราได้

เมื่อท่านทั้งหลายใช้สมาธิจนกระทั่งอารมณ์ใจทรงตัว สภาพจิตผ่องใส ปัญญาก็จะเกิด พิจารณาแล้วเราจะเห็นว่า โลกธรรมทั้งฝ่ายดี คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ที่ว่าดีเพราะว่าเราชอบ ทั้งฝ่ายไม่ดี คือ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ที่ว่าไม่ดีเพราะว่าเราไม่ชอบ จริง ๆ แล้วมีโทษสาหัสพอกันทั้งคู่

เถรี 23-06-2019 22:23

ส่วนที่เราชอบก็สร้างให้ราคะกับโลภะให้เกิดขึ้นในใจของเรา ก็คือยินดีแล้วอยากมีอยากได้ ส่วนที่ไม่ชอบก็ก่อให้เกิดโทสะขึ้นในใจของเรา ก็คือหงุดหงิด กลัดกลุ้ม ไม่อยากมี ไม่อยากได้ เครียด

ทั้ง ๒ อย่างไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เรายินดีหรือไม่ยินดีก็ตาม เป็นเครื่องร้อยรัดเราให้จมอยู่ในวัฏสงสารทั้งคู่ จึงต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นทุกข์เห็นโทษของโลกธรรมทั้งหลายเหล่านี้ แล้วอยู่ในลักษณะสักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น ไม่ยินดียินร้าย ฝ่ายดีเข้ามาก็เสพรับอย่างมีสติ ฝ่ายไม่ดีเข้ามาก็ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ไม่คลอนแคลน เพราะเข้าใจดีว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และท้ายที่สุดก็ไม่มีอะไรทรงตัวอยู่ได้ตลอดกาล

ถ้าท่านสามารถทำอย่างนี้ได้ โลกธรรมก็ไม่สามารถที่จะทำอันตรายต่อท่านทั้งหลายได้ ถ้าสภาพจิตปลดละปล่อยวางได้อย่างแท้จริง ท่านทั้งหลายก็สามารถล่วงพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน

ลำดับต่อไปก็ขอให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา

พระครูวิลาศกาญจนธรรม,ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านเติมบุญ
วันศุกร์ที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒

(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย ทาริกา)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 22:03


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว