กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=39)
-   -   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๔ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=2392)

เถรี 12-01-2011 17:28

เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๔
 
ขอให้ทุกคนนั่งในท่าที่สบายของตัว สำคัญที่สุดคือการตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เอาความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป ไหลตามลมหายใจออกมา ถ้าจิตเผลอไปคิดเรื่องอื่นเมื่อไร ให้ดึงกลับมาอยู่กับลมหายใจเข้าออกทันที พยายามรักษาอารมณ์ใจของเราให้อยู่กับลมหายใจเข้าออกให้ได้

สำหรับวันนี้ เป็นวันศุกร์ที่ ๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๔ เป็นการปฏิบัติธรรมรับปีใหม่วันแรกของเดือนและวันแรกของปีสำหรับพวกเราในที่นี้

ในวาระปีใหม่นั้น ควรจะถือว่าเป็นวาระพิเศษ ที่เราจะได้ทบทวนว่า ในช่วงปีที่ผ่านมานั้น การปฏิบัติของเราเป็นอย่างไร มีความก้าวหน้าขึ้นหรือว่าลดน้อยถอยลง หรือว่าล้าเสียแล้ว หมดกำลังกายหมดกำลังใจที่จะปฏิบัติแล้ว

เรื่องทั้งหลายเหล่านี้นั้น พระพุทธเจ้าได้มอบหลักธรรมะให้แก่พวกเรา ที่จะใช้ในการตรวจสอบตนเองได้ หลักธรรมหมวดแรก ก็คือ อิทธิบาท ๔

ซึ่งประกอบไปด้วย ฉันทะ คือ ความพอใจ รักที่จะปฏิบัติจริง ๆ ให้ทุกคนทบทวนดูว่า ตั้งแต่เริ่มการปฏิบัติมาก็ดี หรือว่าตั้งแต่ปีที่แล้วที่ผ่านมาก็ดี ตลอดจนถึงปัจจุบันนี้ก็ดี เรายังมีความยินดี มีความพอใจ เต็มอกเต็มใจที่จะปฏิบัติธรรมของเราอยู่หรือไม่ ? เรายังรักในทาน ในศีล ในภาวนา หรือว่ายังรักยังทุ่มเทอยู่กับ ศีล สมาธิ ปัญญา ของเราอยู่หรือไม่ ?

ข้อที่สองคือ วิริยะ ความพากเพียรบากบั่น ไม่ท้อถอย เรายังมีความเพียรในการปฏิบัติทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญาอยู่หรือไม่ ? หรือว่าท้อถอยเสียแล้ว หมดกำลังใจเสียแล้ว ?

เรื่องนี้เป็นเครื่องวัดตนเองได้อย่างชัดเจนที่สุด เพราะว่าถ้าเรามีความพากเพียรบากบั่น ทุ่มเท ไม่ท้อถอย ผลลัพธ์ที่ดีย่อมจะเกิดขึ้นแก่เราอย่างชัดเจน แต่ถ้าความเพียรพยายามไม่พอ ผลที่เกิดขึ้นอาจจะมีเล็กน้อยหรือไม่เกิดขึ้นเลย ทำให้บางคนเบื่อหน่าย หมดอารมณ์ที่จะปฏิบัติไปมากต่อมากด้วยกัน

เถรี 13-01-2011 10:44

ข้อที่ ๓ คือ จิตตะ กำลังใจที่มุ่งมั่นต่อเป้าหมาย อย่างเช่น เมื่อช่วงบ่ายที่ได้กล่าวไว้ว่า เราจะไปพระนิพพาน นั่นคือเป้าหมายของเรา แต่เรารู้จักพระนิพพานจริงแล้วหรือ ? จึงได้วิสัชนากันเสียยาว ว่าสภาพพระนิพพานเป็นอย่างไร

สำหรับตอนนี้ ให้ทุกคนพิจารณาว่า กำลังใจของเรายังแน่วแน่ต่อเป้าหมายคือพระนิพพานเพียงใด ? หรือมีการเปลี่ยนแปลงแปรปรวน สั่นคลอนไปตามสภาพของกิเลสที่ถาโถมเข้ามาหาเราอยู่ตลอดเวลา ?

โดยเฉพาะข้อสุดท้ายของอิทธิบาท ๔ คือ วิมังสา เราจะต้องรู้จักไตร่ตรองทบทวนอยู่เสมอ ๆ ถ้าหากว่าเป็นธุรกิจสมัยนี้ ก็คือการสรุปและประเมินผลงานนั่นเอง

เราจะต้องรู้ตัวว่า เราทำอะไร ? เพื่ออะไร ? ปัจจุบันนี้เรายังมุ่งตรงต่อเป้าหมายนั้นหรือไม่ ? เรามุ่งมาแล้วได้ระยะทางใกล้ไกลเท่าไร ? ยังห่างจากเป้าหมายเท่าไร ? ยังต้องใช้ความเพียรพยายามทุ่มเทอีกเท่าไร ?

ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายสามารถที่จะนำเอาหลักธรรม คืออิทธิบาท ๔ นี้ มาใช้ในการประเมินโดยที่ไม่เข้าข้างตนเองแล้ว เราก็จะรู้ว่า ในช่วงปี ๒๕๕๓ ที่ผ่านมานั้น การปฏิบัติของเรา ก้าวหน้า คงที่ หรือว่าถอยหลังกันแน่ ?

ถ้าหากว่ามีความก้าวหน้า ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดี ที่ท่านทั้งหลายสามารถใช้กำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา ในการปฏิบัติธรรมแล้วเกิดผลแก่ตนเองมากขึ้น

ถ้าหากว่าคงที่อยู่ ก็ยังนับว่าใช้ได้ เพราะว่าเราทวนกระแสโลกขนาดอยู่เฉย ๆ ก็ถือว่าถอยหลังแล้ว เพราะโลกหมุนไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา ถ้าเรารักษาระดับคงที่เอาไว้ได้ ก็ถือว่ากำลังใจของเราอยู่ในระดับที่ใช้ได้ ไม่ถึงกับแพ้ให้แก่กิเลส

เถรี 16-01-2011 15:39

แต่ถ้าพิจารณาแล้ว กำลังใจของเราถอยหลัง อย่างนั้นก็แย่แล้ว เพราะว่าเราสู้กิเลสไม่ได้แล้ว จำเป็นที่จะต้องรวบรวมกำลังใจของเราขึ้นมาใหม่ แล้วตั้งหน้าปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา ของเราต่อไป เพื่อที่จะสร้างกำลังใจของเราให้เข้มแข็ง ให้มั่นคง

โดยมีศีลเป็นกรอบ ไม่ให้เราหลุดออกจากเขตของความดี มีสมาธิเป็นกำลัง เพื่อที่จะหักห้ามใจของเราไม่ให้ละเมิดในสิ่งที่ไม่ดีไม่ถูกต้อง มีปัญญาเป็นเครื่องนำทาง ให้เราก้าวไปในทางที่ถูก หรือถ้าท่านเห็นว่า ในเรื่องของอิทธิบาทนั้น วัดกำลังใจของท่านได้ไม่ชัดเจน เราจะเปลี่ยนจาก อิทธิบาท ๔ มาเป็น สัมมัปปธาน ๔ ก็ได้ สัมมัปปธาน ๔ คือ ความเพียรในด้านที่ถูกต้อง ๔ ประการด้วยกัน

อย่างที่ ๑ เรียกว่า สังวรปธาน ท่านบอกว่า เพียรพยายามระมัดระวัง ไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้นในใจของเรา

อย่างที่ ๒ เรียกว่า ปหานปธานพียรพยายามละความชั่วในใจของเราให้หมดสิ้นไป อย่างที่ ๑ ระวังไม่ให้ความชั่วเกิด อย่างที่ ๒ ขับไล่ความชั่วที่เกิดขึ้นแล้ว ให้ออกไปให้หมด นี่จึงเป็นสิ่งที่เพียรพยายามถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้

อย่างที่ ๓ เรียกว่า ภาวนาปธาน คือ เพียรสร้างความดีให้เกิดขึ้นในใจของเรา

อย่างที่ ๔ เรียกว่า อารักขนานุปธาน คือ การเพียรพยายามรักษาความดีในใจของเราให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

จะว่าไปแล้ว สัมมัปปธาน ๔ นี้เป็นเครื่องประกันคุณภาพให้แก่ทุกคน ว่าจิตใจของเรามีคุณภาพดีพอหรือไม่ ถ้าหากว่าเรารู้จักระมัดระวัง ไม่ให้ความชั่วเข้ามาในใจ ถ้ามีความชั่วเข้ามาก็ขับไล่ออกไปโดยเร็ว เพียรพยายามสร้างความดีขึ้นมาในใจ เมื่อมีความดีแล้ว ก็ประคับประคองรักษาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ก็เป็นการประกันคุณภาพได้ว่ากำลังใจของเราจะมีแต่ก้าวหน้าในด้านที่ดีขึ้นเท่านั้น

เถรี 17-01-2011 00:28

เราก็มาวัดว่าในช่วงปีที่ผ่านมา ตราบจนมาชนปีใหม่ ๒๕๕๔ นี้ เราสามารถขับไล่ความชั่วในใจของเราออกไปได้เท่าไร ? แล้วขณะเดียวกัน เราสามารถระมัดระวัง ปิดกั้นไม่ให้ความชั่วเข้ามาในใจเราได้เท่าไร ?

เราหนักแน่นไม่คลอนแคลน ความชั่วไม่สามารถแทรกซึมเข้ามาได้ หรือว่าเราหละหลวมผ่อนคลาย ปล่อยให้ความชั่วเข้ามาในใจเราอยู่ตลอดเวลา? แล้วมาดูว่า เราสามารถสร้างความดีขึ้นมาในใจเราได้เท่าไร ? ศีลของเรามีความก้าวหน้าหรือไม่ ? สมาธิของเรามีความก้าวหน้าหรือไม่ ? ปัญญาของเรามีความก้าวหน้าหรือไม่ ?

เมื่อมีความดีเหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว เราสามารถรักษาให้คงที่ทรงตัวเอาไว้ได้หรือไม่ ? หรือเราสามารถสร้างให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปได้หรือไม่ ? สิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะเป็นตัวประเมินผลการปฏิบัติของเราได้เป็นอย่างดี และในขณะเดียวกัน ก็เป็นเครื่องประกันคุณภาพจิตใจของเราด้วยว่า จิตใจของเรามีคุณภาพพอที่จะผ่านขั้นตอนการประเมินหรือไม่ ?

ถ้าหากว่าไม่ผ่าน ก็อย่าเพิ่งเสียใจ ให้เราเร่งเพียรพยายามเข้าใหม่ การทำความดีไม่มีคำว่าสายเกินไป ไม่มีคำว่าช้าเกินไป ทำเมื่อไร ก็ดีเมื่อนั้น ไม่มีบุคคลใดที่บริสุทธิ์ผุดผ่องมาตั้งแต่กำเนิด ทุกคนจะต้องโดนสภาพของกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง ย้อมจิตใจให้ตกต่ำดำมืดอยู่เสมอ

เถรี 20-01-2011 13:15

เราก็ตั้งหน้าตั้งตาดูว่า เราในปัจจุบันนี้มีความยินดีพอใจที่จะละกิเลสเพื่อเข้าสู่พระนิพพานหรือไม่ ? เรายังพากเพียรพยายามรักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา ใช้ปัญญาประกอบอยู่หรือไม่ ? เรายังมีกำลังใจที่ปักมั่นแน่วแน่ต่อเป้าหมายไม่คลอนคลายหรือไม่ ? และท้ายสุด เราทำอะไร ? เพื่ออะไร ? ตอนนี้อยู่ตรงจุดไหน ? เหลือเป้าหมายอีกใกล้ไกลเท่าไร ? เรารู้ตัวอยู่หรือไม่ ?

หรือว่าเราระมัดระวังรักษาใจของเราให้ปลอดจากความชั่วได้เท่าไร ? เราขับไล่ความชั่วในจิตใจออกไปได้เท่าไร ? เราสร้างความดีขึ้นในใจของเราได้เท่าไร ? แล้วเรารักษาความดีนั้นให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นได้เท่าไร ?

ถ้าท่านทั้งหลายประเมินตนเองแล้ว ถ้าหากว่าความดีนั้นน้อยอยู่ ก็สามารถที่จะสร้างความดีให้เพิ่มขึ้นได้ ขณะเดียวกันถ้ามีความดีอยู่แล้ว ก็จะได้ทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป จึงจะได้ชื่อว่าปีใหม่นี้ ก็คือปีใหม่ที่เป็นมงคล เป็นปีใหม่ที่เป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นปีใหม่ที่เป็นความสุขความเจริญของพวกเราอย่างแท้จริง

ในขณะนี้ก็ขอให้ทุกคนทบทวนดูว่า ศีลทุกสิกขาบทของพวกเราสมบูรณ์บริบูรณ์พร้อมหรือไม่ ? สมาธิภาวนาของเราทรงตัวหรือไม่ ? มีปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในสามัญลักษณะ คือความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตนของเราจริงหรือไม่ ? แล้วให้รักษาอารมณ์ภาวนาพิจารณาของเราเอาไว้ดังนี้ จนกว่าจะได้ยินสัญญานบอกว่าหมดเวลา

พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านอนุสาวรีย์
วันศุกร์ที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๔


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 20:12


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว