กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   ประวัติและปฏิปทาของพระสุปฏิปันโน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=21)
-   -   หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=1545)

เทิด 27-01-2010 14:38

หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา
 
ประทีปธรรมในดวงใจ

http://i398.photobucket.com/albums/p...u/41442e28.jpg

พระชัยวงศาวาท
หลวงปู่ให้โอวาทอบรมพระ เณร อุบาสก อุบาสิกา ในวันเข้าพรรษา ปี ๒๕๓๙
เกิดมาได้พึ่งพุทธศาสนาถือว่าเป็นผู้โชคดี

พระภิกษุก็ดี สามเณรก็ดี เด็กวัดก็ดี ศรัทธา (อุบาสก อุบาสิกา) ก็ดี ที่ได้มาพึ่งพระพุทธเจ้า พระธรรม วัดวา ครูบาอาจารย์ (พระสงฆ์) ซึ่งผู้รู้ถือว่าเป็นโชคดี เป็นประโยชน์ ต้องดีอกดีใจ ถ้าไม่มีโชค ไม่มีบุญ ก็จะได้ตกอยู่ในอเวจีมหานรก ถ้าไม่ได้อยู่ในอบายภูมิ ก็จะได้เป็นสัตว์เดรัจฉาน

มนุษย์เราแตกต่างกันที่บุญกุศล

คนเราเกิดเป็นมนุษย์ก็ไม่เหมือนกัน...ไม่เหมือนกันอย่างไร...บุญกุศลมีมากบ้าง มีพอประมาณบ้าง มีนิดเดียวบ้างก็มี คนที่มีบุญกุศลมากก็ต้องขวนขวายกระทำบุญ บุญน้อยก็ยิ่งต้องขวนขวายเข้าไปอีก ยิ่งถ้าไม่มีบุญก็ต้องรีบเร่งหมั่นกระทำเอา...หมั่นทำอะไร...หมั่นทำบุญ ทำทาน ถือศีล ภาวนา หมั่นดูแลรักษา พระพุทธเจ้า พระธรรม ครูบาอาจารย์ (พระสงฆ์) ต้องทำจิตใจให้มั่นคง ให้ระลึกนึกถึงทุกเช้าทุกเย็น

ต้องรู้ทางแห่งบาปกรรมและบุญกุศล

ถ้าไม่มีบุญก็ไม่ได้เข้ามาอยู่ในวัด อย่างที่ผ่านมา บางคนก็ว่า มาอยู่ในวัดสนุกมาก กินข้าวเสร็จแล้วก็นอน แล้วก็เล่น อันนั้นคือ การมาอยู่เพื่อทำบาป การทำบาปนั้น...พระภิกษุก็ดี สามเณรก็ดี เกียจคร้านไม่เรียนหนังสือหนังหา ไม่ทำวัตรสวดมนต์ ภาวนาก็ไม่ภาวนา อันนั้นบาปก็จะหนักขึ้น นึกว่า (บวชเข้ามาแล้ว) จะทำให้พ้นความทุกข์ยากลำบาก...ไม่พ้นหรอก จะต้องย้อนกลับไปเกิดเป็นวัว ควาย ช้าง ม้า หรือเป็นสัตว์อะไรก็ไม่รู้ ถ้าอยากจะพ้นความทุกข์ยากลำบาก หนีจากการเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็จะต้องขวนขวายสร้างนิสัยให้เกิดความขยันหมั่นเพียรด้วยตนเอง

การที่ศรัทธา (พุทธบริษัท) อยากจะพ้นจากความยากลำบากนั้น ทางแห่งบาปกรรมอยู่ที่ไหน ทางแห่งบุญกุศลอยู่ทางไหน ต้องหมั่นขยันเรียน แล้วจะได้พบเส้นทางนั้นในตำหรับตำรา ถ้าไม่ขยันเรียนก็จะถือ (คิด) ว่าเป็นของเล่น ไม่รู้จักทางบุญ ทางบาป จะให้ครูบา (หลวงปู่) บอกกล่าวทุกอย่างนั้น ก็บอกสอนไม่หมดหรอก จะติดตามไปสอนทุกรูปทุกคนก็ไปไม่ได้ จะให้ได้ก็ดังเช่นขณะนี้ ที่ได้แต่ชี้หนทางให้ ให้จำไว้ทุกคน พระภิกษุก็ต้องขยัน สามเณรก็ต้องขยัน จะได้พ้นจากบาปกรรมความทุกข์ยากลำบาก

เทิด 28-01-2010 09:53

ศาสนาจะเจริญได้ก็ด้วยศรัทธาพุทธบริษัท ๔

ทำอย่างไร จึงจะทำให้เกิดความสุข ทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิดบุญบารมี ทำให้วัดวาศาสนารุ่งเรือง...การที่วัดวาศาสนาจะรุ่งเรืองนั้น ก็เพราะศรัทธาพุทธศาสนิกชน พระภิกษุก็คือพุทธศาสนิกชน สามเณรก็คือพุทธศาสนิกชน เด็กวัดก็คือพุทธศาสนิกชน อุบาสก อุบาสิกา ฆราวาสก็คือพุทธศาสนิกชน

ฆราวาสบางคนนั้น บุญบารมีมากกว่าพระภิกษุสามเณรก็มี ไม่มีบุญบารมีเลยก็มี พระภิกษุสามเณรนี้ ก็นับว่ามีบุญอยู่หน่อยแล้ว แต่ไม่ได้ระลึกถึงบุญอันนั้น...ทำอย่างไรจึงจะได้บุญกุศลเยอะ ก็ต้องหมั่นดูแลรักษา"วัตร"ให้ดี...สามเณรจะต้องเชื่อฟังพระภิกษุ เด็กวัดก็จะต้องเคารพเชื่อฟังสามเณรและพระภิกษุ ถ้าไม่เคารพเชื่อฟังใครเลย ก็จะไม่มีครูบาอาจารย์


เป็นศิษย์พระพุทธเจ้าจริง ๆ ต้องรู้หน้าที่

อยากเป็นศิษย์พระพุทธเจ้าจริง ๆ ก็จะต้องเชื่อฟังครู อุปัฏฐากวัดวา...ใครมีงานก็ต้องพิจารณาให้ดี ใครดูแลอะไรต้องนึกได้ทุกเช้าเย็น การเรียนหนังสืออย่างหนึ่ง การภาวนาอย่างหนึ่ง การท่องสวดมนต์อย่างหนึ่ง จะต้องนึกถึงทุกคราว เวลาที่จะว่างเว้นสำหรับการละเล่น จะไม่มีเลยทุกค่ำเช้า ถ้าอดหลับอดนอนไม่ไหวก็หลับนอน การหลับนี้ก็หลับไม่นานสัก ๓ - ๔ ชั่วโมงก็ตื่น

อดีต "ครูบา" เมื่อครั้งยังเป็นเด็กวัด

เมื่อครั้งครูบา (หลวงปู่) ยังเป็นเด็กวัดนั้น ไม่เหมือนสมัยนี้หรอก ต้องตื่นก่อนที่ครูบาอาจารย์จะตื่น ตื่นขึ้นมาเอาถังน้ำไปตักน้ำในห้วย กลับมาตักน้ำใส่คณโฑ น้ำเก่าเททิ้ง เปลี่ยนเอาน้ำใหม่ใส่ เปลี่ยนน้ำให้ครูบาอาจารย์ แล้วก็เปลี่ยนน้ำของ พระพุทธ พระธรรม ประเคนจนเสร็จหมด เอาอาสนะของครูบาอาจารย์มาปูตรงที่ท่านจะสอนหนังสือ เสร็จแล้วกราบ นั่งทบทวนตำราเรียนอยู่ตรงนั้น

เทิด 28-01-2010 22:17

วัตรที่แท้จริง

อย่างที่มาอยู่นี่ เขาเรียกว่า วัดห้วยต้ม วัดนาทราย วัดนาเลี่ยง อันนี้ไม่ใช่"วัตร"อาจจะใช่"วัด"แต่ไม่เป็น"วัตร"ที่แท้จริง วัตร คือ การดูแลวัดวาศาสนา เรียนหนังสือก็เป็นวัตร เขียนหนังสือก็เป็นวัตร อุปัฏฐากพระพุทธ พระธรรม ก็เป็นวัตร

กิจวัตร

"กิจจะ"คือ ให้มีกิจจะนิสัย ถ้ามี"กิจวัตร"ตื่นเช้ามาก็ปฏิบัติ ต้องกวาดต้องตักน้ำ ต้องเรียนหนังสือ ภาวนาสวดมนต์ นี่คือ"กิจวัตร"เป็นวัตรทั้งหมด ส่วนฆราวาสนอกวัดมี"วัตร"ต้องมาตักบาตร ก็ต้องมาทุกเช้า ถ้าอยากให้มากขึ้นต้องมาปฏิบัติ วิปัสสนากรรมฐานภาวนาทุกเย็น มาสวดมนต์ไหว้พระทุกเย็น อันนี้คือวัตร เป็นกิจวัตร ไม่ใช่เข้ามาวัดเปล่า ๆ (ต้อง) มีวัตร คือ การดูแลรักษา

เทิด 29-01-2010 20:08

ให้จดจำที่ครูบาสั่งสอน

ถ้าอยากเป็นคนดีมีบุญมีกุศล ก็ต้องเชื่อฟังครูบาอาจารย์ ไม่ลบหลู่ท่าน ต้องเคารพยำเกรง เมื่อครูบายังอยู่นี่ ก็มีเวลาสั่งสอนได้เพียงครั้งคราวเท่านั้น พอได้ยินได้ฟังก็ขอให้จดจำ ถ้าครูบาจากไป จะมีใครมาสั่งสอนดังเช่นครูบา...

ถ้าเชื่อฟังพ่อแม่ครูบาอาจารย์ บุญบารมีท่านทั้งหลายเหล่านั้น ก็จะคุ้มครองปกปักรักษา คนที่ไม่เชื่อฟัง ฝืนคำสั่งสอนพ่อแม่ครูบาอาจารย์ เมื่อคราวที่เป็นพ่อคนแม่คน ลูกตัวเองก็จะยิ่งไม่เชื่อฟังยิ่งกว่าอีก สอนยากมาก...

อยากเป็นคนดีก็ขอให้นึกถึงบุญ ทานอย่างหนึ่ง ศีลอย่างหนึ่ง ภาวนาอย่างหนึ่ง ทั้งสามอย่างนี้จะได้ช่วย ตนก็จะได้ถึงสุข บาปกรรมที่ทำให้ลำบากอยู่ขณะนี้ เป็นกรรมที่ได้กระทำไว้แต่ชาติก่อน ผู้ที่ได้ประกอบกรรมดีในภพนี้ ชาตินี้ ก็จะได้พบกับความสุขในภพชาติต่อ ๆ ไป

ด้วยอานุภาพของศีลหรือศีลบารมีนั้น ถ้าเราตายจากโลกนี้ไป เวรกรรมจะหมดไป บาปกรรมก็จะไม่มี ถ้าจะมีก็เป็นกรรมเก่า กรรมใหม่ก็จะไม่มี เราจะไม่สร้างเวรและปลูกบาปกรรมใหม่แล้ว...

ถ้ายังทำอีก ก็เป็นการปลูกสร้างบาปกรรมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็ต้องรับกรรมเพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ เช่นกัน ยิ่งนานวันก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ต้องคำนึงถึงการได้เข้ามาวัดวา ซึ่งได้จุดประกายแสงสว่างขนาดนี้แล้ว...ครูบาพยายามทำให้แสงสว่างเกิดขึ้น คนที่เคารพเชื่อฟังครูบา ก็ได้ช่วยกันทำให้แสงสว่างเกิดขึ้น คนที่ไม่เคารพเชื่อฟังครูบา กลับทำให้แสงสว่างนั้นมืดดับลงไปอีก


ให้เป็นผู้นำชี้ทางสวรรค์แก่ญาติของตน

การที่ได้มาอยู่วัด ก็ควรที่จะสามารถเป็นผู้นำได้บ้าง...เป็นผู้นำอะไร...นำพ่อแม่ พี่น้อง ลุงป้า น้าอา ทำบุญให้ทาน ชี้ทางแสวงบุญ...ทางสวรรค์..ตัวผู้นำเองต้องหมั่นสร้างบุญกุศล รู้จักข่มจิตใจ ถ้าไม่รู้จักละเว้น ก็จะไม่ได้อะไรเลย ถ้ารู้จักการละเว้นได้ก็จะดีมาก

พระบัญชา กตปุญโญ ผู้ถอดเทป-แปล

เทิด 30-01-2010 22:42

"หลวงปู่สอนว่า..."

ควรตั้งใจเมื่อให้ทาน

เมื่อเราจะให้ทาน
ควรจะชำระจิตใจ เจตนาให้บริสุทธิ์
อย่าไปโกรธ อย่าไปเกลียด อย่าให้มีใจขุ่นมัว...
ให้ตั้งจิตตั้งใจปรารถนาว่า
"สุทินนัง วะตะเม ทานัง นิพพานะ ปัจจะโย โหตุ เม นิจจัง"
ดังนี้สามครั้ง


คำรำพึงถึงบุญ

เมื่อใดให้ทานแล้ว
นานเท่าใดก็ดี
ก็ให้มีปีติยินดีอยู่ทุกเมื่อ
อย่าให้เบื่อหน่ายและแหนงใจ
ควรรำพึงว่า
"ทานัง เม ปริสุทธัง"
และ "มุตตะ จาโค"
ไปในใจเถอะ


การกราบไหว้ที่ถูกต้อง

เมื่อเราจะไหว้พระนบธรรมนั้น
ควรไหว้ให้มันถูก
คือ หัวเข่าทั้งสอง
แขนศอกทั้งสองกับหน้าผากหนึ่ง
ให้ติดกับอาสนะ
อย่าไหว้ให้หน้าไปซ้ายไปขวา
คือ ให้หน้าเข้าทางพระแท้จึงชอบแล

เทิด 31-01-2010 19:38

ผู้ไม่มีไตรสรณะ

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
เป็นรัตนอันอุดม ดีวิเศษ
ที่เรารู้อยู่ทั่วกันแล้ว
ว่าเป็นของบริสุทธิ์เลิศสดใส
และมีคุณแก่เราทั้งหลายหาที่สุดบ่ได้
ถ้ารู้แล้วไม่ปฏิบัติตามอย่างนั้น
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ก็บ่เป็นที่พึ่งแก่เราได้เลย
อุปมาดังวังน้ำใส
ถ้าเราเห็นแล้วบ่ลงอาบลงล้าง
มันก็บ่หมดบ่ใส(ไม่สะอาดหมดจด)


ผู้มีไตรสรณะที่แท้จริง

เมื่อใดเราปฏิบัติธรรมด้วยดีแท้
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
จึงจะเป็นที่พึ่งแก่เราได้
อุปมาดังวังน้ำใส
ถ้าเราเห็นแล้วลงอาบลงล้างและขัดสี
จึงจะหมดจะใส(จึงจะสะอาดหมดจด)
เราทั้งหลายรู้แล้วจงหมั่นอาบหมั่นล้างและขัดสี
จะได้ดีในชาตินี้และชาติหน้า


อานิสงส์ของบุญ

การไปวัดไปวา
และการทำบุญทำทาน
อย่าได้เข้าใจว่าเป็นการเล็กน้อย
เพราะว่าจะได้อานิสงส์ทุกบาทย่าง
และทุกลมหายใจเข้าออกของผู้ไปทำบุญ
ใครคนใดจะมาอ่านมานับอานิสงส์ได้(ไม่มีใครสามารถประมาณอานิสงส์ได้)
ก็พึงรู้ว่ามีมากนัก
ดังนี้ เราควรกระทำแล

เทิด 01-02-2010 19:53

ทำบุญอย่าอายผู้อื่น

การทำบุญ
ให้เป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ตนในชาตินี้ชาติหน้า
ผู้มีปัญญา
ไม่ควรจะอายผู้อื่นในการทำบุญ
ปัญญาเรามี
ควรเข้าใจทำคนเดียวพอ
รู้ใครรู้มัน
ควรรีบขวนขวายใส่ใจทำเอาในใจ
เพราะว่าของนี้ทำแทนกันบ่ได้
ถ้าเราบ่คิดกระทำเอา
ใครก็บ่ทำเผื่อปันให้เราได้


ญาติพี่น้องผู้ประเสริฐ

คนผู้ใด
อันบ่ใช่พี่น้องของเรา
ถ้าเขาเป็นคนดี
มีปัญญา
และมีคุณแก่เรามากนัก
อันคน ๆ นั้นจะได้ชื่อว่า
เป็นญาติพี่น้องผู้ประเสริฐแห่งเราแท้เเล


โง่ก่อนฉลาด

ทางเดินของเราต้องเป็นป่ามาก่อน
แล้วจึงจะเป็นที่ราบเรียบ
คือว่าคนเราต้องเป็น คนใบ้คนเง่า (โง่) มาก่อน
แล้วจึงจะค่อยรู้ค่อยแจ้งในภายหลัง เหมือนกันทุกคนแล
ต้องเป็นคนใบ้คนหลงใน "สงสาร" มานาน เหมือนกันทุกคน
เป็นดังคนป่าบ่รู้ทาง มีผู้มาบอกทางให้
เรารู้แล้วดังนั้น
ควรรีบเดินตามไปเร็ว ๆ
บ่ต้องยั้งรอให้มันได้หลงไป หลายครั้งหลายคราว

เทิด 02-02-2010 19:20

๑๐ ทางสองเส้น

คนจักไปนรกนี้ง่าย เป็นทางอันราบเรียบ
คนไปเมืองพระนิพพานนั้นยาก ดูเป็นขวากเป็นหนาม
ฝูงคนอยากเลวก็บ่อาจจะไปถึง
เพราะว่าไปยาก
เพียงจะได้เดินหน้าเข้าสู่อเวจีนรก
ส่วนทางอันยากคือว่าลำบากในชาตินี้
แต่ก็เป็นดีในชาติหน้านั้นใครบ่เข้าใจ
ดังคำโบราณว่า "หนทางไปวัดนี้หมอง ทางไปหนองนี้เตียน"
ถ้าเราได้รู้แล้วควรพิจารณาจะไปทางใดดี
หนทางมีสองเส้น
ใครบ่อาจจักเว้นได้สักคนแล


๑๑ ฟังธรรมอย่ากำเสียง

การฟังธรรม
บ่ควรจะฟังเอาเสียงอันม่วน
ควรตั้งใจฟังเอาคำที่เป็นแก่นเป็นสาร
ที่จักได้เป็น "กรรมฐาน"
สอนจิตสอนใจไปภายหน้า
เพื่อจักได้หาหนทางเข้าสู่พระนิพพาน


๑๒ อายบาปดีกว่าอายบุญ

การทำบุญทำทาน
เป็นการที่เราบ่ควรจักคร้านจักอายแล
ถ้าจักอาย
ให้อายและกลัวต่อบาป
ผู้ที่เกิดมาพบพระพุทธเจ้า
ก็ควรศึกษา อย่าเกียจคร้าน
อย่าอายในการทำดี

เทิด 04-02-2010 00:48

๑๓ ทุกข์ก่อนสุข

พวกเราใคร่ถึงสุข
ใคร่พ้นจากทุกข์
ก็ควรอุตส่าห์กระทำเพียร
อดทุกข์-อดอยากเอาบ้างเสียก่อน
จึงจักได้ดีแล


๑๔ กรรมชั่วทำง่าย กรรมดีทำยาก

กรรมใด
อันเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ตนแท้
กรรมอันนั้นกระทำได้โดยยาก
กรรมอันใด
บ่เป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ตนนั้น
กรรมอันนั้นกระทำได้โดยง่าย


๑๕ ทำบุญต้องใช้ปัญญา

ผู้บ่มีปัญญา เห็นท่านทำบุญก็ทำตามไป
บ่พิจารณาหาที่ถูก บ่รู้ก็บ่ถามใคร
ทำไปบ่เลือก ทำมากเข้าไว้เป็นประมาณ
ที่จักเป็นแก่นเป็นสารถูกดีแท้นั้นมีน้อย อันผิดมีหลาย
ส่วนผู้มีปัญญากระทำแต่ที่ถูกที่ชอบ
เอาตามสติกำลังแห่งตน
การกระทำที่ถูกแท้นั้น
จักน้อยมากเท่าใดก็ตาม ก็มีอานิสงส์มาก

เทิด 05-02-2010 00:26

๑๖ อย่ามัวเมาในสังขาร

คนเราอายุ ๓๐ ลืมหน้า ๕๐ ลืมหลัง
๖๐-๗๐ ลุกก็ยาก นั่งก็ยาก หลังจากนั้นก็ร้องโอย
หนังเหี่ยวเขี้ยวหล่น ตาหม่นตามัว หัวหงอกหัวขาว
เฒ่าแก่แล้ว ควรพิจารณาดูกายตัวเราให้ชัด
อุ้มลูกแล้ว ก็ยังว่าค่อยให้หลานแถม(อีก)
คนที่มีเงิน พอหมื่นพอแสนแล้ว ก็ยังให้ได้ถึงล้านโกฏิเล่า
หลงเลี้ยงคราบเน่า ไว้รอวันตาย
เราทั้งหลาย ควรที่จะหาช่องทางดี
อย่าประมาท ทางศีล ทางทาน
อายุสังขารเรา มันบ่อยู่ที่เก่า
เป็นอันรู้เฒ่าชราไป
ให้คิดไว้บ่อย ๆ


๑๗ ผู้มีปัญญา

ผู้มีปัญญา ควรดูอย่างไว้
ให้หน่ายโลกสงสาร
ให้พากันเข้าวัดนอนวา
รักษาศีล
ภาวนา นับลูกประคำ
แล้วให้ได้สั่งลูกสอนหลาน ให้เขาเอาเราเป็นตัวอย่าง
เป็นกรรมฐานเล่าสืบกันไป ภายหน้าว่า
พ่อแม่ของข้า ได้รักษาศีล ฟังธรรม ใจศีล ใจบุญ


๑๘ อย่าประมาท

เราเป็นผู้กระทำบุญ แสวงหาสุขภายหน้า
เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ฉะนี้แล้วอย่าให้เสียเวลา
ควรเร่งกระทำบุญ ไปตามเวลากาละอันควร
บ่ควรจักอ้างว่า ตัวนี้หนุ่มอยู่
ปล่อยมันเฒ่ามันแก่ เสียก่อนค่อยกระทำ
จะว่าอย่างนั้นก็บ่ควร
อันความตายแห่งคนทั้งหลาย มันบ่มีเวลา
หนุ่มก็ตาย เฒ่าก็ตาย มันบ่แน่
ควรพิจารณาให้ดี ๆ
ครั้นว่าเจตนามี
เราควรเร่งกระทำเสีย เมื่อยามหนุ่มนี้ ประเสริฐแล

เทิด 06-02-2010 13:53

๑๙ อัตโนนาโถ

อนึ่ง ลูกเราไม่ใหญ่เราบ่ตายมันก็ว่า
แม้ว่าลูกใหญ่มา
เขาจะไปช่วยรักษา ศีล ภาวนา ก็หาบ่ได้
แม้นว่า ข้าวของสมบัติทั้งมวล ในที่สุดก็ตกเป็นของแผ่นดินเปล่า
คือว่าใครตายก็ละไว้ บ่เอาตามไปได้สักคน
เหตุนั้นบ่ควรที่เราจะห่วง มันบ่เป็นแก่นเป็นสาร
ถึงเมื่อเราตายไป ใครก็บ่ไปช่วยส่งนี้แล
สมควรผู้มีปัญญา ควรขวนขวายกระทำบุญ ให้ได้เป็นที่พึ่งแก่ตนเสียบ้าง
อัตโนนาโถ
ตัวให้เอาตัวเป็นที่พึ่ง อย่าเอาคนอื่นเป็นที่พึ่ง
ตายบ่ไปด้วยกัน


๒๐ ผู้มีศีล

เราเป็นผู้รู้ศีล
ควรรำพึงดูศีลแห่งตนทุกวันทุกคืน แม้นว่าหลับตื่นมาก็ดี
ให้คิดถึงศีลและเจตนา คิดเว้นจากบาป
ให้ได้รักษาศีล เสมอดังชีวิตแห่งตนนั้น จึงดีแล
เมื่อได้รับศีล
ได้รักษาให้บริสุทธิ์ดีแล้ว ดังนั้นก็ควรปีติยินดี
ให้รำพึงภายในใจ ให้ปราถนาสุขภายหน้าว่า
"สีละเม ปริสุทธา นิพพานะ ปัจจะโย โหตุ เม นิจจัง"
ดังนี้ไปบ่อย ๆ เถอะ


๒๑ ธรรมทั้ง ๕

อุบาสก อุบาสิกา หญิงชายทั้งหลาย
ควรตั้งอยู่ในธรรมทั้ง ๕ อย่างนี้คือ
๑. ประกอบด้วยศรัทธา เชื่อในคุณแก้วทั้งสาม
๒. ประกอบด้วยศีลบริสุทธิ์ทุกเมื่อ อันเป็นนิจศีลแท้
๓. อย่าถือมงคลตื่นข่าว คือ ให้เชื่อกรรม อย่าให้เชื่อข่าว
๔. อย่าเที่ยวไปแสวงหาเขตนาบุญนอกจากพุทธศาสนา
๕. ให้กระทำบำเพ็ญแสวงหาเจตนาบุญแต่ในพุทธศาสนาสิ่งเดียว

เทิด 07-02-2010 20:46

๒๒ ผู้มีสัจจะ

ชาติคนผู้ดี
อันปากว่าอย่างใด ในใจก็ควรให้เป็นอย่างนั้นแท้จึงดี
อันปากว่าแท้ ในใจบ่กระทำตามก็หาประโยชน์บ่ได้
เหตุนั้น ควรมี "สัจจะ"
ครั้นว่าจักทำอันใด ก็ให้ทำอันนั้นแท้ ๆ
จึงจะสัมฤทธิ์ เป็นดีไปภายหน้าแล


๒๓ ปากเป็นหนึ่ง ใจเป็นสอง

เมื่อเรากระทำอันใด
ถ้าบ่เห็นผลแลคุณวิเศษ ก็อย่ารีบอวดว่าดี
ให้ทำไปก่อน
ครั้นว่าดีแท้นั้น บ่ต้องอวด
บางคนบ่รู้บ่หัน บ่ทันได้ทำ
ก็อวดรู้ไปเสียก่อน
ปากเป็นหนึ่ง ใจเป็นสอง
อันนี้บ่ดีแล


๒๔ กบในบ่อน้ำ

เราบ่ควรมีมานะกระด้าง ถือตัวว่าดี
รู้ฉลาด และได้กระทำความดีมากมาย อย่างนั้นอย่างนี้บ่ควร
อันที่จริงคนที่เขารู้
และได้กระทำดี ยิ่งกว่าเราหลายพันเท่า ก็มีมากมาย
เพราะว่าของอันใดก็ดี
ย่อมมีอันยิ่งเหนือกว่ากัน เป็นธรรมดา บ่มีที่สุด
อุปมาเป็นดังกบอยู่ในน้ำบ่อ
ก็สำคัญว่า น้ำในบ่อนั้นลึกและกว้าง
เหตุว่ามันบ่เคย ได้เห็นน้ำมหาสมุทรสักครั้ง

เทิด 09-02-2010 22:38

๒๕ อยากฉลาดต้องโง่เป็น

ผู้มีปัญญา
จักไปที่ใด ควรเอาโง่ไปด้วยเสียบ้าง
อย่ามีมานะจองหอง
ให้กระทำตัวเป็นดั่งร่ม
ควรจะรู้ว่าเมื่อใด ควรจะหุบหรือกาง
ถ้าถือตัวว่าดี ฉลาดรู้และบ่ข้อง(ไม่ยุ่งเกี่ยว) บ่ถามใคร
จะทำอันใด บ่มองบ่ดู ใครบ้างอย่างนั้น
เราจักเป็นผู้บ่รู้ จนวันตาย
ไปที่ไหน ให้เอาโง่ไปด้วยเสียบ้าง
จะดีเมื่อภายหลัง


๒๖ คบคนพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตพาไปหาผล

คนเราถ้าคบกับคนโง่คนเซ่อ ก็โง่ก็เซ่อไปตามกัน
เหมือนใบตองห่อปลาร้าปลาเน่า มันเหม็นสาบคาวไปตามกัน
ถ้าคบกับคนดีมีปัญญา ก็เป็นคนดีมีปัญญาไปตามกัน
เหมือนใบตองห่อของหอม มันก็หอมไปตามกัน
เหตุนั้น เราบ่ควรคบกับคนโง่คนเซ่อ คบแต่ผู้มีปัญญา
เพราะการคบกับคนเซ่อนั้น มันจะพาไปสู่ทางผิด
เป็นเหตุให้ฉิบหาย ในชั่วนี้ชั่วหน้า
ถ้าคบผู้มีปัญญา จะพาไปสู่ทางดีนั้นแล


๒๗ ชีวิตนั้นมีความตายเป็นของเที่ยง

เราบ่ควร
จะร้องไห้หาคนที่ตายไปแล้ว จนตาพุตาพอง
เพราะเราจะต้องตายเหมือนกัน บ่วันหนึ่งก็ยามหนึ่ง(ไม่วันใดก็วันหนึ่ง)
คนตายแล้ว
แม้นจักร้องไห้ หาสักเท่าใด
มันก็บ่คืนมา
คนเกิดมาแล้ว ก็มีอันจะตายไป เที่ยงแท้เป็นมั่น
อุปมาเป็นดั่งดวงตะวัน
ออกมาแล้ว ก็มีอันจักตกไป เป็นธรรมดา

เทิด 10-02-2010 22:36

๒๘ ให้ทำตัวเหมือนเต่าในกระดอง

โทษของผู้อื่นเราเห็นได้ง่าย
ฝ่ายโทษของเราแท้ เราเห็นได้ยาก
เหตุฉะนั้น เมื่อเราเห็นโทษท่านมี
อย่ารีบติฉินนินทาว่าร้าย
ควรรู้จักหลบจักซ่อนไว้ ยังโทษแห่งตนและโทษของผู้อื่น
เป็นดั่งเต่าอันซ่อนหัวและเท้า ในกระดองนั้น
จงระวังตัวเราอย่าให้มีโทษ


๒๙ หวานเป็นลม ขมเป็นยา

เมื่อเขาสรรเสริญ ก็อย่ารีบพอใจ
แม้นเขานินทาและตักเตือน ก็อย่ารีบเกลียด
คำสรรเสริญและคำติเตียน ย่อมเป็นของคู่กัน
คนที่เขาไม่ติเตียนนินทา บ่มีในโลกนี้
ถ้าเราจะได้ยินแต่คำสรรเสริญสิ่งเดียว บ่ได้ยินคำนินทา
ฉะนั้น เราจักเป็นผู้บ่รู้จักตาย
ถ้าเราบ่ยินดีคำสรรเสริญ ก็เก็บไว้ในใจ
ส่วนคำนินทาว่าร้าย ถ้าเราอดได้
แม้คำร้ายก็กลายเป็นดี
ดังคำสุภาษิตที่ว่า "หวานเป็นลม ขมเป็นยา"
เรารู้แล้ว "ควรกินอันขม ควรอมอันหวาน"


๓๐ ไม้อ่อนบ่ห่อนหัก

เมื่อเขาด่าด้วยคำหยาบช้าสาหัส
ให้คิดไว้ว่า เขาด่าเท่านี้บ่เป็นไร
เขาด่า ก็ยังดีกว่าเขาทุบตี
เขาทุบตี ก็ยังดีกว่าเขาฆ่า
แม้นเขาฆ่าเสีย ก็ยังนับว่าดีอยู่
เพราะบางคน ฆ่าตัวตายเองก็ยังมี
ควรเราอย่าเกลียด อย่าด่าตอบ อย่าผูกเวรหมายมั่น
อันมิเป็นการดี
คนผู้ใดบ่เกลียดและใจดี ปากหวาน ขานอ่อน ใครบ่ห่อนฆ่า
ดังสุภาษิตว่า "ไม้อ่อนบ่ห่อนหัก"
ควรจำไว้ ให้เอาไม้เป็นครู

เทิด 16-02-2010 08:06

๓๑ ทุกข์เพราะใจ

เราทั้งหลาย
จักติดข้องอยู่ในทุกข์ก็เพราะใจ
จักพ้นทุกข์ก็เพราะใจอย่างเดียวเป็นเหตุ
ถ้าใจของผู้ใดอันกามคุณมีอำนาจชักนำไปได้
ผู้นั้นก็ต้องติดข้องอยู่ในทุกข์ตลอดไป
ถ้าใจของผู้ใดกามคุณชักลากนำไปบ่ได้
ผู้นั้นก็จักพ้นทุกข์โดยแท้บ่ต้องสงสัย


๓๒ สุขกับทุกข์

สุขกับทุกข์
มี ๔ อย่าง คือ
สุขกับบุญ
ทุกข์กับบุญ
สุขกับบาป
ทุกข์กับบาป


๓๓ วาสนาของคน

คนเราทุกคน
เกิดมาแล้ว จะมีติดตัวมา ๒ อย่าง คือ
วาสนาทำบุญ
วาสนาทำบาป
สองอย่างเป็นเหตุ
ถ้ามีวาสนาทำบาป ก็จะทำบาปไปเรื่อย ๆ
วาสนาทำบุญ ก็จะทำบุญไปเรื่อย ๆ

เทิด 17-02-2010 07:27

๓๔ ความดีต้องรีบทำ เร็ว ๆ ไว ๆ

ถ้าจะสร้างบุญ
สร้างเสียแต่เดี๋ยวนี้
ต่อไปข้างหน้าก็ไม่ได้สร้างแล้ว
เป็นผีก็ไม่ได้สร้าง
เป็นเทพก็ไม่ได้ทำ
ทำแต่ในปัจจุบันชาตินี้แหละ
จะทำดีก็ให้รีบทำ


๓๕ ต้องให้ได้ทั้ง ทาน ศีล ภาวนา

ที่ดีที่สุด
ก็ทาน - การให้ ศีล - รักษาศึล ภาวนา - พิจารณาให้มันหมดกิเลส
ของทานที่ดีก็ยังดีไม่เต็มที่ ไม่เท่าบุญที่ภาวนาพุทโธ
อย่างคำโบราณว่า
ของทานกองสูงเท่าฟ้า ผลบุญยังไม่เท่าภาวนาพุทโธคำเดียว
แต่เฉพาะ "พุทโธ" อย่างเดียวก็ไปไม่รอด
เพราะว่าบารมีเราน้อย
เราก็ต้องหาปัจจัย หาเสบียงไว้
ทุกวันนี้เราก็มีเสบียง
ก็เพราะบุญบารมีที่ได้สร้างไว้แต่ก่อน


๓๖ กินบุญเก่า

ที่เราอยู่ทุกวันนี้ใช้ของเก่า
อุปมาอย่างทำไร่ทำนา
ทำนาเดี๋ยวนี้ ปลูกเดี๋ยวนี้
จะกินเดี๋ยวนี้ไม่ได้
ทั้งที่ปลูกเดี๋ยวนี้ ต้องไปกินปีหน้า
ที่เรากินปัจจุบัน คือ ข้าวที่ปลูกปีที่แล้ว

เทิด 18-02-2010 11:29

๓๗ มโนมยิทธิ

นี่ใครไม่เห็น เขาก็ไม่เชื่อ
ชั้นฟ้าเขาก็ไม่เชื่อ
ตานอกนี่ไม่เห็น ถ้าตาในก็พอเห็นได้
จะขึ้นชั้นฟ้าได้อย่างไร
ถ้าเรายึดมั่นใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ก็จะมีบันไดขึ้น บันไดทิพย์ ถ้าไม่มีก็ช่าง ก็ไปได้
อย่างใครปฏิบัติได้ บำเพ็ญได้
ขึ้นไปดาวดึงส์ ไปดูข้างบนได้
ที่ขึ้นได้เพราะจิตมุ่งไป มุ่งไปมันก็ไป อย่างเราจะไปเชียงใหม่
มุ่งคิดหาเชียงใหม่ อยากไป คิดก็ไปแล้ว ลัดนิ้วมือเดียว
ตัวก็นั่งอยู่นี่ จิตก็เที่ยวอยู่โน่น


๓๘ กรรมเก่า

กรรมเก่าที่หายก็หาย
ที่ไม่หายก็ไม่หาย
ที่หายเพราะมันหมดชุด
ที่ไม่หายเพราะมันยังอยู่
แต่ละอย่าง ๕๐๐ ชาติ
เมื่อไรครบ ๕๐๐ ชาติ มันก็หมดไป
อันใดไม่ครบ ๕๐๐ ชาติ มันก็ไม่หมด
กรรมร้ายนี่มันมีชุด
กรรมดีก็มีชุดอย่างหนึ่ง


๓๙ อายุยืนแต่ไม่ดี

คนจะหมดอายุ ต่ออายุให้เขา
บุญอันนั้นก็มาช่วยเราให้มีอายุยืนขึ้น
แต่ระวังผลบุญที่อายุยืน อย่าเอาอายุไปทุ่มเททางบาป
เป็นคนอายุยืนจริง แต่ทำบาปไม่ดี
คนไม่ดีแล้วอายุยืนเกี่ยวกับกรรม เช่น ขังนก ขังหนู
บังคับให้อยู่ในกรงอย่างนั้น อย่างไก่ชน
กรรมนั้นช่วยให้อายุยืน
แต่มีความทุกข์ตลอดชีวิต
อายุยืนก็ไม่ดี
ตายก็ไม่ตาย เป็นก็ไม่เป็น อยู่ทรงกรรมไปนาน ๆ

เทิด 19-02-2010 10:15

๔๐ ใครทำ...ใครได้

การทำบุญ
จะทำแทนกันก็ไม่ได้
เราทำแทนเขา
เขาอยู่เปล่า ๆ
เขาก็ไม่ได้


๔๑ มีบุญก็ทุกข์

ไม่มีบุญก็ทุกข์
มีบุญก็ทุกข์
ยิ่งมีบุญมาก
ก็ยิ่งทุกข์


๔๒ ไก่กับไข่

การกินไข่ไก่ที่มีเชื้อ
บาปกว่ากินแม่มัน
เพราะมันยังไม่ได้ทำบาปอะไร
ยังบริสุทธิ์อยู่

เทิด 20-02-2010 13:06

๔๓ ทำแท้ง

คนก็เหมือนกัน
เด็กอยู่ในท้องก็ดี ยังมีศีลบริบูรณ์
ถ้าฆ่าก็บาปมาก
อย่างหมอทำแท้งบาปหนัก
เพราะเด็กนั้นอาจจะเป็นคนมีบุญมาเกิด
ถ้าพ่อแม่ขี้เกียจเลี้ยง ทำแท้งเสีย
บาปมาก


๔๔ เสียดายทุกข์

ความสุขกับความทุกข์อยู่ร่วมกัน
จะให้มันทุกข์ก็ทุกข์
จะให้มันสุขก็สุข
คนไม่มีปัญญาปล่อยตามใจก็ทุกข์
เพราะไม่มีอะไรมาแก้ไข
ถ้าหวงทุกข์ไว้ไม่ยอมทิ้งมัน
ก็จะติดอยู่อย่างนั้น


๔๕ จะเอาดีต้องเอาให้เป็น

การแสวงหาธรรมะหรือแสวงหาบุญ
เราต้องเดินต้องฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ
ถ้าคิดจะอยู่อย่างสบาย ๆ
ให้ได้บุญขึ้นมาเองนั้น ไม่มีทางได้
เหมือนอย่างแก้วลูกดีตกอยู่ในขยะ
เราต้องไปโกยขี้ขยะ เพื่อจะเก็บเอาแก้วขึ้นมา
จะปล่อยให้แก้วออกมาเองนั้น ไม่มาหรอก
เราต้องไปเขี่ยไปจับ
เราจะเอาดีต้องบุกกองขี้ขยะเข้าไป

เทิด 21-02-2010 16:05

๔๖ สำคัญที่ศรัทธา

เวลาเราก็มีไม่มาก
เกิดมาชาติหนึ่งเวลาสูญเปล่ามีมาก
เวลาทำงานจริง ๆ มีไม่มาก
เวลาสูญเปล่ามีตลอดชีวิต
เลี้ยงชีพไปอย่างนั้นตลอดชีวิต
ลืมบุญ ลืมศีล ลืมธรรม
จะเอาบุญอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้
ไม่เสาะหาจริง ๆ ก็ไม่ได้
ไม่มีศรัทธาก็ไปไม่รอด
มีเจตนาแต่ไม่มีศรัทธาก็ไปไม่ถึง
ต้องมีศรัทธาช่วยเจตนา


๔๗ อย่าเชื่อกิเลส

จะทำอะไรก็ทำให้สำเร็จ
ยากก็ช่าง ง่ายก็ช่าง
หนาวก็จะทำ ร้อนก็จะทำ
คนเราหาวันสบายไม่มี
ข้างหน้าก็มองไม่เห็น ข้างหลังก็ลืมไปแล้ว
ระวังกิเลส
บางทีมันจะเอาให้ตาย บางทีก็มาล้อเล่น ลองจิตลองใจ
ถ้าขี้เกียจก็จะเชื่อมัน ก็จะไม่ได้อะไร


๔๘ พรหมวิหาร ๔

เมตตา กรุณา
มุทิตา อุเบกขา
อุเบกขา
เป็นหลักธรรมที่เข้มแข็งมาก
ถ้าไม่เอา "อุเบกขา" มาตัดกิเลส
กิเลสจะเกิดและกำเริบ ทำให้เราเสีย


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 06:23


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว