กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=43)
-   -   พรหมวิหาร ๔ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=2269)

ลัก...ยิ้ม 17-11-2010 09:14

พรหมวิหาร ๔
 
พรหมวิหาร ๔
เป็นธรรมที่ปิดกั้นความเลวทั้งปวง


สมเด็จองค์ปฐมทรงพระเมตตาตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ ดังนี้


๑. “เป็นอย่างไรเจ้า ความดียังไม่ได้ทำ เพียงแค่คิดก็ยากเสียแล้วใช่ไหม แล้วใยความเลวเล่า ทำได้โดยไม่ทันคิด ทำไมจึงง่ายยิ่งนัก ที่ร่างกายของพวกเจ้าต้องประสบกับความลำบากเหน็ดเหนื่อยทั้งกายและใจ อันมีความเจ็บไข้ได้ป่วยไม่สบาย เป็นต้น นี่เป็นผลของความเลวหรือความดี” (ก็ยอมรับว่า เป็นผลของความเลว)

๒. “พรหมวิหาร ๔ เมื่อเข้าใจดีแล้ว ธรรมนี้แหละเป็นทำนบปิดกั้นความเลวทั้งปวง จงหมั่นนำมาประพฤติปฏิบัติเถิด”

๓. “เศรษฐีรวยทรัพย์ ต้องอาศัยความเพียรเก็บหอมรอบริบประการหนึ่ง อาศัยทานบารมีที่มีแต่อดีตชาติหนึ่ง การสะสมพรหมวิหาร ๔ ก็เช่นกัน จักต้องอาศัยความเพียรเก็บหอมรอบริบ ดูมันทุกวันว่า วันนี้เก็บพรหมวิหาร ๔ ไปได้เท่าใด”

๔. “สำหรับทานบารมีก็จักต้องอาศัย เพื่อวัดกำลังใจของการทรงพรหมวิหาร ๔ เข้าไว้ หากพรหมวิหาร ๔ มีกำลังต่ำ การให้ทานก็เกิดขึ้นไม่ได้ จิตมันละโมบโลภมาก แม้แต่ทรัพย์สินนอกกายก็ไม่ยอมให้ใคร ถ้ามีกำลังปานกลาง การให้อามิสทานก็ยังมีการหวังผลเป็นการตอบแทน แต่ถ้ามีกำลังสูง การให้อามิสทานก็ให้โดยไม่มีการหวังผลตอบแทน รวมทั้งมีกำลังใจให้อภัยทานแก่บุคคลผู้หลงผิดอยู่ตลอดเวลา ถ้าบุคคลผู้นั้นไม่ประพฤติผิดในพระธรรมวินัย ใครเขาจักมีอารมณ์โกรธ โลภ หลง ก็เรื่องของเขา แม้เขาจักด่า นินทา ชม สรรเสริญร่างกายของเรา จิตของเราก็ไม่หวั่นไหวไปกับถ้อยคำนั้น ๆ”

๕. “จิตมีพรหมวิหาร ๔ เต็ม มีอภัยทานอยู่เสมอ แม้ในบุคคลที่กระทำผิดในพระธรรมวินัย ก็ใช่ว่าจักโกรธแค้นขุ่นเคืองก็หาไม่ หากเตือนได้ก็เตือนด้วยจิตเมตตา กรุณา อารมณ์พระอรหันต์ไม่ข้องติดอยู่ในกรรมทั้งปวง จิตมีมุทิตาเยือกเย็นอยู่เสมอ หากเตือนไม่ได้ อุเบกขาก็ทรงตัวอยู่แล้ว ไม่มีอะไรจักทำให้จิตของพระอรหันต์พร่องได้จากพรหมวิหาร ๔”

ลัก...ยิ้ม 22-11-2010 07:45

๖. “ศึกษาศีล ศึกษาธรรม แล้วพิจารณาย้อนไปย้อนมาให้รอบคอบ จักเห็นตัวพรหมวิหาร ๔ ในคำสั่งสอนอย่างชัดเจน และอย่าตำหนิกรรมของอาทิกัมมิกะบุคคลเหล่านั้น (ผู้กระทำผิดก่อนที่จะบัญญัติศีลข้อนั้น ๆ) พวกเขาเป็นครูสอนเรื่องขาดพรหมวิหาร ๔ หรือการมีอารมณ์เบียดเบียนทั้ง ๓ ประการ ให้แก่พวกเจ้าได้เห็นชัดโดยการศึกษา จึงจัดว่าพวกเขาเหล่านั้นมีบุญคุณ ที่เป็นแบบอย่างให้พวกเจ้าได้ตระหนักว่า การกระทำเหล่านั้นไม่ควรกระทำ เพราะในที่สุดก็เป็นผลเบียดเบียนตนเองชัด”

๗. “เพราะฉะนั้นจงอย่าด่าครู อย่าตำหนิครู ให้พิจารณาการกระทำของครูเหล่านั้นโดยธรรม เจ้าจักเห็นอารมณ์ที่เป็นต้นเหตุให้ครูเหล่านั้นหลงผิด เห็นความชั่วว่าเป็นความดี จึงกระทำความชั่วไปตามความหลงที่คิดว่าดีนั้น ๆ จงพิจารณาให้ถ่องแท้ จักเห็นอารมณ์โกรธ โลภ หลง ที่บงการครูเหล่านั้นให้กระทำผิด ๆ อยู่ ไม่ว่าทางด้านมโนกรรม วจีกรรม กายกรรม การสร้างกรรมทางใดทางหนึ่ง ก็ได้ชื่อว่าเบียดเบียนตนเองเป็นที่สุดเหมือนกัน”

๘. ขึ้นชื่อว่ากฎของกรรม ไม่มีการให้ผลนั้นไม่มี ถ้าตราบใดผู้ก่อกรรมนั้น ๆ ยังมีการจุติอยู่ และไม่มีการเข้าถึงพระโสดาบันเพียงใด อบายภูมิ ๔ ยังเปิดรับอยู่เสมอ”

๙. “แม้บรรลุพระโสดาบันแล้ว ตราบใดที่ยังมีร่างกายยังมีการจุติอยู่ กฎของกรรมทั้งความดีและความชั่วก็ยังให้ผลอยู่ เพียงแต่ปลอดจากการไปสู่อบายภูมิ ๔ เท่านั้น จนกว่าจิตดวงนั้นจักมีบารมี ๑๐ เต็ม เป็น ๓๐ ทัศ และมีพรหมวิหาร ๔ เต็มเป็นอัปปมัญญา ตัดสังโยชน์ ๑๐ ขาดสะบั้นแล้ว ทิ้งอัตภาพของขันธ์ ๔ หรือกายพรหมและเทวดาอันเป็นภพชาติสุดท้ายแล้ว จิตเคลื่อนสู่พระนิพพานดินแดนเอกันตบรมสุขเท่านั้นจึงจักได้ชื่อว่าพ้นจากกฎของกรรมทั้งปวง สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ”

๑๐. “เพราะฉะนั้น พวกเจ้ายังมีขันธ์ ๕ อยู่ ก็จงอย่าประมาทในธรรม เร่งความเพียร พยายามรักษาพรหมวิหาร ๔ เข้าไว้ ให้มีกำลังเพิ่มขึ้นตามลำดับ ตามคำสอนที่เคยให้พิจารณาควบคู่ไปกับพระกรรมฐานทั้งหลายก็ดี การพิจารณาโดยอาศัยจากการศึกษาศีลในพระไตรปิฎกก็ดี จงทำให้ชินเป็นปกติตั้งแต่ตื่นยันหลับไปเลย อย่าว่างเว้น อย่าให้ขาด เห็นความสำคัญเข้าไว้ตามนี้”

ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๗
รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 00:26


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว