เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ |
วันนี้เป็นวันอังคารที่ ๑๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ วันนี้ท่านอาจารย์วิสุทธิ์ วรรณวงษ์ศิริ ส่งวัตถุมงคลมาให้ชุดหนึ่ง อาทิตย์ก่อน พี่ณพ (พ.ต.อ.อรรณพ กอวัฒนา) ก็ส่งพระหลวงปู่ปาน พิมพ์ขี่ครุฑใหญ่ มาให้องค์หนึ่ง ถ้าหากว่าเป็นสองท่านนี้ส่งของมา ผมก็ไม่ต้องลำบากไปเช็ค เพราะว่าผมเองส่วนหนึ่งที่ดูของเหล่านี้เป็น ก็เพราะได้รับการถ่ายทอดจากท่านอาจารย์วิสุทธิ์ ตอนที่ท่านยังบวชเป็นพระอยู่
ส่วนของพี่ณพนั้น ผมอยากจะเรียกว่า "เจ้ากรมพระเครื่องหลวงปู่ปาน" คาดว่าที่มีอยู่ในมือแกตอนนี้ ไม่ถึงพันองค์ก็ใกล้เคียง เพราะว่าพี่ณพเขาเล่นพระหลวงปู่มาตั้งแต่หนุ่ม ๆ ซื้อตั้งแต่สมัยองค์ละเจ็ดแปดร้อยบาท จนกระทั่งมาระยะหลัง องค์ละหลายหมื่นบาท ถ้าถูกใจก็ซื้อ แต่พระองค์นี้พี่ณพใช้ติดตัวมานาน ตอนนี้แกอายุ ๗๗ ปีแล้ว ก็เลยส่งมาให้ผมใช้ติดตัวต่อ โดยนิสัยของผม ถ้าข้าวของอยู่กับผมก็อยู่ไม่นานหรอก เปลี่ยนเป็นเงินไปใช้ในกิจการงานสงฆ์หมด แกก็เลยต้องกำชับไว้ว่า "ให้ไว้ใช้ติดตัว" พี่ณพสร้างวัตถุมงคลไว้ ๒-๓ รุ่น เพราะว่าสมัยหนุ่ม ๆ ตั้งแต่ยังเป็น ตชด. อยู่ ก่อนที่จะย้ายมาภูธรแล้วก็เข้านครบาล มีครูบาอาจารย์มาก แล้วยิ่งพอหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง แนะนำพระอาจารย์ต่าง ๆ ให้ พี่ณพก็เที่ยวไปขอสังฆาฏิของครูบาอาจารย์ท่านเก็บเอาไว้ ถ้าใครทันรุ่นสร้างโบสถ์วัดท่าซุงก็จะเห็นว่า มีวัตถุมงคลชุดสังฆาฏิพระสุปฏิปันโนอยู่ด้วย นั่นเป็นฝีมือของพี่แกทำขึ้นมา เพื่อจำหน่ายหารายได้ช่วยสร้างโบสถ์วัดท่าซุง แต่คราวนี้ส่วนที่พี่ณพอยากทำมากที่สุด ก็คืออยากเอาสังฆาฏิพระสุปฏิปันโนมาเป็นส่วนผสมของพระเครื่อง ปรากฏว่ามาทำสำเร็จเอาตอนเกือบจะเกษียณอายุแล้ว คือตอนที่ไปเป็นสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา |
ถ้าหากว่าพวกท่านติดตามวัตถุมงคลสายหลวงพ่อวัดท่าซุงก็จะรู้ รุ่นนั้นสร้างก่อนหลวงพ่อมรณภาพไม่กี่ปี หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านก็เมตตาไปปลุกเสกให้ด้วย ทั้ง ๆ ที่สร้างเสร็จก็ใช้ได้เลย เพราะว่าเป็นส่วนผสมสังฆาฏิของพระสุปฏิปันโนเกิน ๒๐ รูป แต่ว่าในความรู้สึกของผม ราคาตอนนั้นแพงครับ ๙๙๙ บาท ผมก็ต่อว่าพี่แกไป
เหตุที่ต่อว่าเพราะว่าพี่ณพเขาทำงานแบบโปร่งใส ทำในนามของสถานีตำรวจภูธรบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ในเมื่อจะเอามาแบ่งปันให้คนอื่น ก็ต้องควักกระเป๋าซื้อเองถึงจะตัดบัญชีได้ ผมขอแกเอาไว้ตั้งแต่ยุคนั้น ปรากฏว่า ๓๐ ปีให้หลัง เพิ่งจะมาได้เมื่อไม่กี่วันก่อนนี้เอง แล้วแกก็ยังจำอยู่ บอกว่า "หลวงพี่ว่าผมกระดูกขัดมัน เพราะฉะนั้น..ตอนนี้เอาไปซะให้พอ" ที่เอาไปซะให้พอก็คือ..อย่างละ ๒ องค์..! แล้วคราวนี้พี่ท่านก็ไปสร้างวัตถุมงคลโดยใช้มวลสารชุดนี้เป็นหลัก แล้วก็มีมวลสารอื่นของครูบาอาจารย์ที่เก็บสะสมไว้ด้วย โดยที่ความศรัทธาอยู่ที่วัตถุมงคลรุ่นเก่า ๆ ก็เลยทำในรูปลักษณะของหลวงพ่อโต วัดบางกระทิง กับขุนแผนเคลือบ วัดใหญ่ชัยมงคล ด้วยความที่พี่แกคร่ำหวอดอยู่ในวงการพระเครื่อง รู้ว่าพวกเซียนปลอมได้สะเด็ดขนาดไหน ยิ่งยุคนี้ถอดพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ ก็เลยหาวิธีป้องกันการปลอมสารพัด ถึงขนาดออกปากว่า พระเครื่องของแกชุดนี้ ถ้าหากว่าใครปลอมได้ ถือว่าสุดยอดที่สุดในโลก เพราะว่ามีทั้งมวลสารที่ปลอมไม่ได้ มีทั้งโค้ด มีทั้งการยิงเลเซอร์ มีทั้งฝังวัตถุที่คนอื่นหาไม่ได้ พี่ท่านบอกว่า เดี๋ยวหมดโควิดแล้วจะเอามาให้ผมช่วยสร้างวัดสักลังสองลัง มีการถามด้วยว่าเอาหรือเปล่า ? ไม่ต้องเหนื่อยสร้างเองก็ต้องเอาอยู่แล้ว |
ส่วนของอาจารย์วิสุทธิ์ที่ส่งมานั้น ท่านบอกว่าชำระหนี้สงฆ์ พวกคุณต้องเข้าใจนะครับว่า พวกที่เล่นวัตถุมงคลหรือวัตถุโบราณ เผลอเมื่อไรก็จะติดหนี้สงฆ์ เพราะว่าพระเครื่องสมัยเก่าส่วนใหญ่สร้างถวายเป็นพุทธบูชา ประมาณว่าสร้างสืบอายุพระพุทธศาสนา พระพุทธรูปก็เช่นกัน
ตอนสมัยที่อยู่เกาะพระฤๅษี เมียของ "จ่าชู" เอาพระท่ากระดานองค์หนึ่งไปฝากผมเอาไว้ เพราะว่าพวกจ่าชูเขาตั้งทีมไปขุดพระท่ากระดาน ได้มาแล้วเกิดอาถรรพ์ล้มหายตายจากกันหลายคน มาถามผมว่ามีวิธีแก้อาถรรพ์ไหม ? ผมก็ถามพระท่านต่อ ท่านบอกว่าวัตถุมงคล ถ้าหากว่าทำการชำระหนี้สงฆ์ ก็เป็นอันว่าจบ ท่านให้สร้างพระพุทธรูปด้วยโลหะ หน้าตักไม่ต่ำกว่า ๕ นิ้วถวายวัดไป เป็นการแลกเอาพระเครื่ององค์นั้นไปไว้ในครอบครองของเราแทน โดยไม่เป็นหนี้สงฆ์ เมื่อเมียจ่าชูเขาทำตามนั้น ก็เป็นอันว่าพวกอาถรรพ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ถึงขนาดล้มหายตายจากกันไปก็สิ้นสุดลง จำหน่ายพระเครื่องเอาเงินเป็นทุนการศึกษาให้กับลูกได้ อาจารย์วิสุทธิ์ท่านเล่นวัตถุมงคลมาหลายสิบปี ใช้วิธีชำระหนี้สงฆ์มาเป็นระยะ ๆ โดยการถวายวัตถุมงคลส่วนหนึ่งให้ผม ระบุว่าชำระหนี้สงฆ์ แล้วให้ผมเอาไปออกในรายการทำบุญต่าง ๆ ของเว็บวัดท่าขนุน ด้วยความที่ทั้งสองท่านดังที่กล่าวมา ถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ ของที่ผ่านมือเชื่อถือได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ผมเองก็ไม่ต้องเสียเวลาตรวจดู ไม่ต้องเสียเวลามาเช็ค แต่ว่า..กว่าที่จะเรียนรู้ขนาดนี้ได้ ภาษาเซียนเขาบอกว่า "โดนทุบ" มาเยอะ บางทีรุ่นใหม่ ๆ ก็บอกว่า "ค่าหน่วยกิต" ในการเรียนนั้นแพง บางคนที่ใจร้อนก็โดนไปหลายล้าน ถ้าหากว่าเจอท่านที่มีจรรยาบรรณ ก็กัดฟันกลืนเลือด เก็บเอาไว้เป็นบทเรียน เจอท่านที่ไม่มีจรรยาบรรณก็ขายต่อ ทุบคนอื่นต่อไป |
เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องยาก ถ้าท่านทั้งหลายสนใจ ต้องศึกษาไปทีละอย่าง อย่าไปโลภมากกวาดมั่วไปหมด เอาอย่างเดียวก่อน ถ้าสมมติจะเล่นวัตถุมงคล ก็เนื้อดิน ชิน ผง เลือกเอาสักอย่างหนึ่ง แล้วพยายามศึกษาว่า ลักษณะเนื้่อหาเป็นอย่างไร ผ่านระยะเวลายาวนานไปแล้ว เกิดปฏิกิริยาอะไรที่เป็นเอกลักษณ์
ถ้าหากว่าเป็นวัตถุมงคลของกรุ หรือของพระเกจิอาจารย์ แต่ละชนิดมีพิมพ์ทรงอย่างไร มีตำหนิอย่างไร ขนาดนั้นสมัยนี้ก็ยังโดนชนิดที่ว่า "ปาดคอเซียน" กันเยอะ เพราะว่าสมัยนี้ถอดบล็อกกันด้วยคอมพิวเตอร์ พวกตำหนิเล็ก ๆ น้อย ๆ บางทีสามารถทำได้ ก็ต้องดูส่วนประกอบอื่น อย่างเช่นว่าพวกเนื้อโลหะได้อายุหรือไม่ รอยปั๊ม รอยตะไบ แล้วค่อยไปประกอบกับตำหนิด้วย ก็ต้องบอกว่ายิ่งมาก็ยิ่งยากขึ้น ยุคนี้สมัยนี้ถ้าหากว่าใครสนใจ ก็ต้องใช้ความพยายามมากกว่ายุคก่อน ผมเคยถามหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุงว่า พวกที่เล่นวัตถุมงคลนี้มีโทษไหมครับ ? ท่านบอกว่า ถ้าเขามีใจเคารพจริง ๆ ก็ได้เปรียบ เป็นการปฏิบัติในพุทธานุสติ สังฆานุสติ เพราะว่าส่องอยู่ทุกวัน แต่ถ้าหากว่าไม่มีความเคารพ อย่างเช่นว่าเอาวัตถุมงคลไปแบกับดินขาย ถ้าอย่างนั้นก็จะเกิดโทษแก่ตัวเอง เพราะว่าเป็นการปรามาสพระรัตนตรัย เป็นต้น ถ้าหากว่าใครสนใจก็ค่อย ๆ ศึกษาไป แต่อย่าลืมงานหลักของเรา ก็คือเรื่องของ ศีล สมาธิ ปัญญา ในเมื่อสนใจเรื่องแบบนี้ ก็ต้องตีเข้ามาให้เข้ากรอบไตรสิกขาให้ได้ ถ้าพระเครื่องเป็นรูปพระพุทธก็คือพุทธานุสติ ถ้าเป็นรูปพระสงฆ์ก็คือสังฆานุสติ เป็นต้น ถ้าอย่างนี้ถึงบอกว่า เรียนหรือว่าศึกษาเกี่ยวกับวัตถุมงคลแล้วก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่อย่างนั้นก็ได้แค่พุทธานุภาพหรือไม่ก็ได้แค่ของดีเอาไว้อวดคนอื่นว่าเรามีเท่านั้นเอง ขอเรียนถวายทุกท่านคร่าว ๆ ไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอบคุณมากครับ พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๑๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย) |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 06:56 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.