กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=39)
-   -   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๗ เมษายน ๒๕๖๒ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=6578)

เถรี 30-04-2019 07:44

เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๗ เมษายน ๒๕๖๒
 
ให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกของเราเอาไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเรา ไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเรา ไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ ที่เรามีความถนัด มีความชำนาญมาแต่เดิม

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๒ สองวันก่อนเรากล่าวถึงความสำคัญของอานาปานสติ ที่เป็นพื้นฐานใหญ่ในการเจริญกรรมฐานทั้งปวง กล่าวถึงในเรื่องของการที่เราต้องนำเอากำลังสมาธิ มาใช้ในการพิจารณาตัดละร่างกายนี้ เพื่อที่จะไม่ให้กิเลสเอาสมาธิมาใช้ในการฟุ้งซ่าน

สำหรับวันนี้ก็จะกล่าวถึงในส่วนที่ท่านทั้งหลายเมื่อถึงเวลาปฏิบัติแล้ว มีความอยากได้ใคร่ดีในการปฏิบัติอย่างหนึ่ง ไม่ได้ศึกษาเรียนรู้แล้วก็ปฏิบัติไปตามเวรตามกรรมอย่างหนึ่ง

เรื่องของการปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าศึกษามามากก็เป็นอุปสรรค ถ้าเรารู้มากก็จะไปคอยดูว่า ขั้นตอนจะเป็นไปตามที่รู้มาหรือไม่ ขณะเดียวกัน ถ้าไม่ศึกษาเอาไว้เลย เราก็จะไม่มีแนวทางในการปฏิบัติ การศึกษานั้นจะต้องพอเหมาะ พอดี พอควร

วิธีที่ดีที่สุดก็คือ ศึกษาในส่วนที่เรากำลังปฏิบัติ อย่างเช่นว่าลมหายใจเข้าออก และขั้นตอนของปฐมฌาน เป็นต้น เมื่อเราทำลมหายใจเข้าออกจนทรงตัว ขั้นตอนทุกอย่างเป็นไปตามที่ตำราหรือครูบาอาจารย์ว่าไว้ ว่าอาการอย่างนี้เป็นปฐมฌาน เราค่อยไปศึกษาวิธีการพิจารณาวิปัสสนาญาณด้วยกำลังของปฐมฌาน แล้วก็ศึกษาอารมณ์ของฌานที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ เพิ่มขึ้นไปตามลำดับ ไม่อย่างนั้นแล้วเวลาเราปฏิบัติไปแล้วอยากได้ใคร่ดีจนเกินไป ก็จะทำให้กำลังใจของเราฟุ้งซ่านโดยใช่เหตุ ความก้าวหน้าในการปฏิบัติก็จะไม่มี

ส่วนอีกข้อหนึ่งก็คือ การปฏิบัติธรรมของเราต้องหวังผล อย่าทำเหมือนกับแก้บน อย่าทำเพื่อให้เราได้ชื่อว่าปฏิบัติธรรมไปวัน ๆ เมื่อถึงเวลาเราก็ทำงานของเรา พอนอกเวลาการทำงาน นั่นก็คือเวลาที่เราจะมาเข้มงวดกับการปฏิบัติธรรมของตนเอง ก็แปลว่า เวลาทำงานให้ใจของเราอยู่กับงาน เวลาว่างให้ใจของเราอยู่กับกรรมฐาน ถ้าหากว่ากำลังใจของเราทุ่มเทอยู่กับงาน นั่นคือการทรงสมาธิอย่างหนึ่ง และเป็นสมาธิใช้งานด้วย

นักบินบางท่าน ด้วยความที่กำลังใจจดจ่ออยู่กับขั้นตอนของการบิน โดยเฉพาะนักบินที่ขับเครื่องบินรบเร็วกว่าเสียง พลาดนิดเดียวมีสิทธิ์ตาย กำลังใจที่จดจ่ออยู่ทำให้นักบินหลายท่านทรงสมาธิได้โดยไม่รู้ตัว บางคนจึงชอบการบินมากเป็นพิเศษ เพราะว่าขึ้นบินเมื่อไรจะรู้สึกว่าตัวเองทำไมมีความสุขอย่างนี้ ทำไม รัก โลภ โกรธ หลง กินใจเราไม่ได้เลย ความฟุ้งซ่านต่าง ๆ กินใจเราไม่ได้เลย ดังนี้เป็นต้น

ดังนั้น..เวลาปฏิบัติงาน กำลังใจของเราทั้งหมดให้ทุ่มเทอยู่กับงาน เมื่อเลิกงานแล้ว กำลังใจของเราก็มาทุ่มเทอยู่กับกรรมฐาน จึงนับเป็นการปฏิบัติที่ต่อเนื่อง

นายกระรอก 02-05-2019 21:07

เมื่อปฏิบัติไปแล้ว ส่วนสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ต้องรู้จักรักษาอารมณ์ใจเอาไว้ ของพวกเราส่วนมากร้อยละเกิน ๙๐ เมื่อเลิกกรรมฐานแล้วก็ปล่อยวางทั้งหมด พูดง่าย ๆ คือทิ้งไปเลย ไม่มีการประคับประคองรักษากำลังใจของเรา ให้มั่นคงแน่วแน่เท่ากับตอนที่กำลังปฏิบัติธรรม

ถ้าลักษณะอย่างนั้นเราทำไปก็เสียเวลาเปล่า เพราะว่าถึงเวลากำลังใจก็ไหลไปตามกิเลส ไหลไปตาม รัก โลภ โกรธ หลง การปฏิบัติถ้าหวังความก้าวหน้า ต้องรู้จักรักษากำลังใจให้ต่อเนื่อง อย่าปล่อยให้ รัก โลภ โกรธ หลง แทรกเข้ามาได้ เพราะว่าถ้า รัก โลภ โกรธ หลง แทรกเข้ามาเมื่อไร ปัญญาจะถดถอย สมาธิก็ถดถอย

คราวนี้การที่เราจะรักษาอารมณ์ใจไว้ได้นั้นทำอย่างไร ? ถ้าเราภาวนาไปแล้วอารมณ์ใจทรงตัว จะเกิดอาการอย่างหนึ่งก็คือ รู้ลมและคำภาวนาโดยอัตโนมัติ วิธีการรักษาอารมณ์ใจก็คือ เอาสติเข้าไปประคับประคองอาการรู้นั้นเอาไว้ อย่าเผลอให้สติหลุดไปจากตรงนั้น ถ้าหลุดไปเมื่อไร รัก โลภ โกรธ หลง จะแทรกเข้ามาตอนไหนก็ไม่รู้

ถ้าเราเอาสติประคับประคองระมัดระวังอยู่ เราก็จะสามารถรักษากำลังใจให้แน่วแน่เท่ากับตอนช่วงที่เรานั่งปฏิบัติธรรม ไม่ว่าจะ ยืน เดิน นั่ง นอน ดื่ม กิน คิด พูด ทำอย่างไรก็ตาม กำลังใจของเราก็จะปราศจากกิเลส เทียบเท่ากับตอนที่นั่งปฏิบัติ อย่างน้อย ๆ อำนาจของฌานสมาบัติที่ทรงอยู่ กิเลสทั้งหลายกินใจเราไม่ได้ ความผ่องใสของใจก็จะมีมากขึ้นไปเรื่อย ๆ เมื่อคลายสมาธิออกมา อย่าลืมที่ได้กล่าวไปเมื่อวาน ก็คือต้องรีบเอาวิปัสสนาญาณมาให้พิจารณา ไม่อย่างนั้นกิเลสจะเอากำลังสมาธิไปฟุ้งซ่าน แล้วก็ทำให้เราเดือดร้อนเป็นอันมาก

เมื่อพิจารณาจนอารมณ์ใจทรงตัวแล้ว จะเป็นการภาวนาเองโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าภาวนาแล้วอารมณ์ใจทรงตัวถึงที่สุด ไปต่อไม่ได้ เมื่อคลายออกมา เราต้องบังคับให้พิจารณา ไม่อย่างนั้นสภาพจิตก็จะฟุ้งซ่านเอง ถ้าเรารู้จักกระทำดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น การปฏิบัติธรรมของเราจึงจะก้าวหน้า ไม่เช่นนั้นปีแล้วปีเล่า เราทำไปเท่าไรก็ยังคงอยู่กับที่ หรือไม่ก็ถดถอยไปเรื่อย เมื่อรู้สาเหตุแล้ว ต่อไปก็ให้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติไปตามที่ได้กล่าวมา เพื่อความก้าวหน้าของเรา จนกระทั่งสามารถหลุดพ้นเข้าสู่พระนิพพานได้ในที่สุด

ลำดับต่อไปก็ขอให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านเติมบุญ
วันอาทิตย์ที่ ๗ เมษายน ๒๕๖๒

(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย นายกระรอก)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 03:19


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว