กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=43)
-   -   พุทโธ อัปปมาโณ ธัมโม อัปปมาโณ สังโฆ อัปปมาโณ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=2472)

ลัก...ยิ้ม 16-02-2011 07:37

พุทโธ อัปปมาโณ ธัมโม อัปปมาโณ สังโฆ อัปปมาโณ
 
พุทโธ อัปปมาโณ ธัมโม อัปปมาโณ สังโฆ อัปปมาโณ

สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตาตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ดังนี้

๑. “การคิดถึงเรื่องราวในพระสูตร หรือในพระธรรมวินัยก็ดี จงคิดให้ได้สารธรรม คือ ธรรมในธรรมแห่งเรื่องราวในบทนั้น ๆ อย่ามุ่งหวังเอาแต่เพียงความจำได้ ให้วกเข้าสู่สัจธรรมคือของจริงอยู่เสมอ แล้วพวกเจ้าจักได้ประโยชน์ และเพลิดเพลินอยู่ในธรรมนั้น ๆ อย่างหาที่สุดมิได้ นี่แหละเจ้า..ที่เขาเรียกว่า ธัมโม อัปปมาโณ”

๒. “ในนั้นมีพระอริยสงฆ์หรือพระอริยเจ้าเป็นตัวดำเนินเรื่อง ชี้ให้เห็นชัดในกฎของกรรมของแต่ละบุคคลที่ไม่เหมือนกัน ให้เห็นอริยสัจคือทุกข์ อันสืบเนื่องมาจากกฎของกรรมนั้น ๆ ให้เห็นอริยมรรคคือ การบำเพ็ญเพียรเพื่อพ้นทุกข์ที่ติดอยู่ในสักกายทิฏฐินั้น ๆ จนในที่สุดให้เห็นว่าท่านทำอย่างไร จึงได้ซึ่งอริยผลในการแสวงหาความพ้นทุกข์ได้ นี่ก็เป็นสังโฆ อัปปมาโณ”

๓. “เรื่องราวที่มีมาเป็นพระสูตรก็ดี พระธรรมวินัยก็ดี พระอภิธรรมก็ดี มาจากคำสั่งสอนของพระตถาคตเจ้าซึ่งประกาศซึ่งพระธรรมอันเป็นหนทางพ้นทุกข์ อันเป็นแนวทางให้พระอริยสงฆ์เดินตามทางปฏิบัตินี้มาแล้วพ้นทุกข์ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าทุก ๆ พระองค์ตรัสเหมือนกันหมดว่า ให้ดับที่เหตุแห่งธรรมนั้น พระพุทธเจ้าเป็นผู้แสดงธรรมให้งามทั้ง ๓ กาล อาทิกัลยาณัง (งามเบื้องต้นคือ งามด้วยศีล มีอธิศีล-มีกรรมบถ ๑๐ พ้นจากอบายภูมิทั้ง ๔) มัชเฌกัลยาณัง (งามท่ามกลางคือ งามด้วยสมาธิ มีจิตตั้งมั่น นิวรณ์หรือราคะ โทสะ โมหะ แทรกเข้ามาไม่ได้) ปริโยสานกัลยาณัง (งามในที่สุด คืองามด้วยปัญญา มีอธิปัญญาตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหาน ไปนิพพานได้) ยังบุคคล พรหม เทวดาให้งามด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ได้เข้าถึงอริยมรรค อริยผล หมดจดแล้วจากกิเลสตามลำดับ นี่ก็เป็น พุทโธ อัปปมาโณ”

๔. “เพราะฉะนั้นการใคร่ครวญในพระธรรมวินัยก็ดี ในพระสูตรก็ดี ในพระอภิธรรมก็ดี เป็นการระลึกถึงพุทธะรัตนะ ธัมมะรัตนะ สังฆะรัตนะ เป็นธรรมพ้นโลกที่เจริญอยู่ในจิตของพวกเจ้าอยู่ตลอดเวลา ที่ยังระลึกนึกถึงอยู่นั้น”

๕. “แต่จงอย่าลืม พระในพระสูตรก็ดี ในพระธรรมก็ดี ขันธ์ ๕ ของท่านไปไหน ตายหมดแล้วใช่ไหม (ก็รับว่าใช่) ก็จงคิดให้ลงที่ตนเองว่า ในไม่ช้าร่างกายของเราก็ตาย อย่าหลงลืมความตาย ให้ระลึกนึกถึงเอาไว้เสมอ

ลัก...ยิ้ม 17-02-2011 08:53

๖.“แล้วจงคิดว่า ท่านแต่ละองค์นั้นตายแล้ว จิตของท่านไปไหนกันบ้าง พ้นทุกข์ถาวรก็มี พ้นทุกข์ชั่วคราวก็มี กลับลงสู่อบายภูมิ ๔ ให้เกิดทุกข์หนักก็มี ให้ธรรมของท่านสอนในธรรมของเรา พิจารณาและถามจิตของตนเองอยู่เนือง ๆ ปรารถนาภพชาติใดเป็นที่ไป ปรารถนาพ้นทุกข์อย่างถาวร ปรารถนาพ้นทุกข์ชั่วคราว ปรารถนากลับมาจุติใหม่ให้เกิดทุกข์ หรือปรารถนาอบายภูมิ ๔ เป็นที่ไป ท่านทั้งหลายเป็นครู เป็นบทเรียนสอนเรา สอนธรรมหรือกรรมอันเป็นการกระทำ อันเกิดจากกาย วาจา ใจ ของตนเองเป็นที่ตั้ง สอนให้รู้ว่าธรรมที่เบียดเบียนทำให้ทุกข์ในสถานไหนบ้าง ธรรมที่ไม่เบียดเบียนทำให้สุขในสถานไหนบ้าง”

๗. “พวกเจ้ายังเป็นเสขะบุคคลอยู่ (บุคคลที่ยังต้องตัดกิเลสอยู่) ศึกษาจุดนี้ให้ดี แม้แต่พระตถาคตเจ้าทั้งหลายก็เป็นครู ร่างกายของพระตถาคตเจ้าพ้นโลกไม่ได้ ในที่สุดก็ดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพาน แต่จิตของพระตถาคตเจ้าสอนธรรมพ้นโลก ผลของการออกสู่อภิเนษกรมณ์บรรลุอภิเษกพระสัมมาสัมโพธิญาณ จิตตถาคตพ้นโลกแล้วมีศีล สมาธิ ปัญญา ตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานแล้ว จึงออกประกาศพระธรรมคำสั่งสอน รื้อขนเวไนยสัตว์ให้พ้นทุกข์ หลุดพ้นจากห้วงวัฏฏะสงสาร ทำหน้าที่พระบรมศาสดาประกาศพระพุทธศาสนา ตามวาระที่ได้บำเพ็ญบารมีมาตามสมควรแล้ว พระตถาคตเจ้าทุก ๆ พระองค์ก็ต้องทิ้งร่างกาย

๘. “เจ้าจงอย่าลืมจุดนี้ ที่ครูทุกท่านสอนมรณานุสติควบคู่กับลมหายใจเข้า-ออก เหมือนดั่งองค์สมเด็จพระบรมครูองค์ปัจจุบันตรัสสอนพระอานนท์ว่า ตถาคตนึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก หรือนัยหนึ่งยืนยันกับพระสารีบุตรว่า ตถาคตมากด้วยอานาปานุสติ

๙. “ถ้าหากพวกเจ้าอยากได้ดีจงอย่าลืม ๒ จุดนี้ อานาปาทำให้มีสติแจ่มใสระลึกได้อยู่ตลอดเวลา จิตมีกำลังตั้งมั่น การรู้ลมเข้าออก คือ รู้ความไม่เที่ยงหรือนัยหนึ่งรู้ความเที่ยงว่า จักต้องตายแน่นอน ในความไม่เที่ยงแห่งลมเข้าหรือลมออกนั้น ๒ จุดนี้จักต้องควบกันไว้เสมอ เชื่อมโยงเข้าไว้ให้ได้เป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกัน ความประมาทจักไม่มี(ทรงหมายความว่า การรู้ลมหรืออานาปาอยู่เสมอ หากลมหยุดความตายก็มาถึง)

๑๐. “เมื่อเห็นความไม่เที่ยงของลม เห็นความตาย ก็ย่อมเห็นร่างกายไม่เที่ยงไปด้วย เห็นธาตุ ๔ หรือแม้แต่วิญญาณธาตุ ก็เห็นหมดว่าไม่เที่ยง ความหลงใหลใฝ่ฝันในร่างกายก็จักน้อยลงไปตามลำดับ เห็นไปทั้งเมื่อธาตุ ๔ ไม่เที่ยง บกพร่องอยู่ตลอดเวลา ความเสื่อมของธาตุ ๔ มีความสกปรกเป็นที่รองรับ ไหลเข้า-ไหลออกอยู่ตลอดเวลา เป็นของน่าเบื่อหน่าย เป็นของนำมาซึ่งความทุกข์ เมื่อพิจารณาอย่างนี้ก็ได้ชื่อว่าเข้าถึงครู คือ ได้วิชชามาจริง แล้วนำมาปฏิบัติให้จริง ผลที่ได้ก็จักเป็นผลจริงในทุก ๆ ประการ


ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๗
รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 16:39


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว