กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   ธรรมวิภาค (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=68)
-   -   จตุกกะ คือ หมวด ๔ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=6018)

ตัวเล็ก 17-01-2018 17:39

จตุกกะ คือ หมวด ๔
 
อบาย ๔ (สถานที่อันปราศจากความเจริญ)

๑. นิริยะ (นรก) หมายถึง ภูมิหรือสถานที่เสวยทุกข์ของคนหรือสัตว์ผู้ทำบาป เมื่อตายไปแล้วก็ไปเกิดในที่นั้น และแล้วก็ได้รับทุกขเวทนาต่าง ๆ ตามแต่กรรมที่ตนได้ทำไว้

๒. ติรัจฉาน (กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน) หมายถึง สัตว์ดิรัจฉานที่เราพบอยู่ทุกวันนี้เอง เช่น ช้าง, ม้า, วัว, ควาย เป็นต้น ได้ชื่อว่าเป็นอบาย คือ หาความเจริญไม่ได้ ไม่สามารถพัฒนาให้มีความก้าวหน้า บรรพบุรุษเคยเป็นอยู่อย่างไร ก็เป็นอยู่อย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลง หรือถ้าเปลี่ยนแปลงก็เปลี่ยนแปลงเล็กน้อย

๓. ปิตติวิสัย (ภูมิแห่งเปรต) หมายถึง สถานเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์จำพวกหนึ่งที่ว่ากันว่ามีรูปร่างพิกลต่าง ๆ เช่น ตัวสูงโย่งยาวเท่าต้นตาล มีปากเท่ารูเข็ม กินแต่เลือดและหนองเป็นอาหาร เป็นต้น

๔. อสุรกาย (พวกอสูร) หมายถึง สัตว์ที่เกิดในอบายภูมิพวกหนึ่ง ชอบเที่ยวหลอกหลอนคนคู่กับเปรต แต่เปรตไม่เหมือนอสุรกาย (ผี) เป็นแต่คนไปพบเอง

ตัวเล็ก 23-02-2018 11:51

อัปปมัญญา ๔ (ธรรมที่แผ่ไปไม่มีประมาณ)

๑. เมตตา (ความรักใคร่) ได้แก่ ปรารถนาจะให้คนอื่นมีความสุข แผ่ไมตรีจิตคิดจะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขทั่วหน้าสม่ำเสมอกันหมดโดยไม่จำกัดขอบเขต ผู้เจริญย่อมกำจัดความพยาบาทเสียได้

๒. กรุณา (ความสงสาร)
ได้แก่ ความคิดที่จะช่วยให้คนอื่นพ้นทุกข์ภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เขากำลังประสบอยู่ ผู้เจริญย่อมกำจัดวิหิงสา (ความเบียดเบียน) เสียได้

๓. มุทิตา (ความพลอยยินดี)
ได้แก่ เมื่อผู้อื่นได้ดีก็มีความสุขแช่มชื่นเบิกบานใจด้วย ผู้เจริญย่อมกำจัดอคติและริษยาเสียได้

๔. อุเบกขา (ความวางเฉย) ได้แก่ การมีใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียงไปด้วยความชอบหรือความชัง ในเมื่อไม่สามารถจะช่วยเหลือได้ โดยพิจารณาเป็นกลางว่าเขามีกรรมเป็นของตนเอง เมื่อทำดังนี้จิตก็จะสงบ ผู้เจริญย่อมกำจัดปฏิฆะ (ความกระทบกระทั่ง) เสียได้

พรหมวิหาร ๔ แผ่ไปจำเพาะเจาะจง แต่อัปปมัญญา ๔ แผ่ไปไม่มีประมาณ ไม่จำกัดว่าเป็นใคร

ตัวเล็ก 24-02-2018 09:21

อุปาทาน ๔ (ความถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส)

๑. กามุปาทาน (ความยึดมั่นในกาม) ได้แก่ การเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในกาม คือสิ่งที่ตนคิดว่าน่าปรารถนา น่าพอใจ หมกมุ่นอยู่ว่านั่นของเรา จึงเป็นเหตุให้เกิดการหึงหวงกันขึ้น เป็นต้น

๒. ทิฏฐุปาทาน (ความถือมั่นทิฏฐิ) ได้แก่ การยึดมั่นถือมั่นในลัทธิหรือหลักคำสอนต่าง ๆ ของฝ่ายตน โดยเห็นผู้อื่นผิดหมด เมื่อเข้าใจกันไม่ได้ จึงก่อให้เกิดสงครามระหว่างศาสนา หรือลัทธิต่างกันขึ้น หรือแม้ศาสนาเดียวกันก็ฆ่ากันได้ เพราะความเห็นขัดแย้งกัน

๓. สีลัพพตุปาทาน (ถือมั่นศีลพรต) ได้แก่ การยึดถือเอาสิ่งที่ตนประพฤติปฏิบัติอย่างงมงายว่าขลัง ว่าศักดิ์สิทธิ์ มิได้เป็นด้วยความรู้ความเข้าใจด้วยตามหลักเหตุผล

๔. อัตตวาทุปาทาน (ถือมั่นวาทะว่าตน) ได้แก่ ความสำคัญมั่นหมายว่านี่คือเรา นี่ของเรา นั่นของเรา จนเป็นเหตุให้แบ่งแยกเป็นพรรคเป็นพวกขึ้น จนถึงกับยึดถือว่าตัวตนที่เที่ยงแท้อยู่

ตัวเล็ก 25-02-2018 11:36

โอฆะ ๔ (กิเลสดุจน้ำท่วมพาผู้ตกไปให้พินาศ)

๑. กาโมฆะ (โอฆะคือกาม) หมายเอา วัตถุกามและกิเลสกามที่จะทำให้คนหลงยึดติดอยู่กับความเพลิดเพลิน

๒. ภโวฆะ (โอฆะคือภพ) หมายเอา กิเลสที่หมักหมมอยู่ในสันดานสัตว์ ทำให้อยากเป็น อยากมี

๓. ทิฏโฐฆะ (โอฆะคือทิฏฐิ) หมายเอา มิจฉาทิฏฐิที่ท่วมทับใจสัตว์ ทำให้ยึดถือในสิ่งที่ผิด

๔. อวิชโชฆะ (โอฆะคืออวิชชา) หมายเอา ความไม่รู้ทั่วไป คือ ไม่รู้วิชชา ๔ หรือวิชชา ๖

ตัวเล็ก 26-02-2018 16:54

ทักขิณาวิสุทธิ ๔ (ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา (ของที่ทำบุญ))

๑. ผู้ให้เป็นผู้ถือศีล มีกัลยาณธรรม แต่ผู้รับทุศีล มีบาปธรรม มีผลเพียงกึ่งเดียว เหมือนหว่านพืชพันธุ์ดีลงในนาที่ขาดปุ๋ย

๒. ผู้ให้เป็นทุศีล มีบาปธรรม แต่ผู้รับเป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม มีผลเพียงกึ่งเดียวเช่นกัน เหมือนพืชไม่ดีหว่านลงในนาดี

๓. ทั้ง ๒ ฝ่ายไม่มีศีล มีบาปธรรม หวังผลได้น้อย เหมือนหว่านพืชชนิดเลวลงในนาที่ขาดปุ๋ย

๔. ทั้ง ๒ ฝ่ายต่างก็สมบูรณ์ด้วยศีลและกัลยาณธรรม มีผลมาก เหมือนหว่านพืชพันธุ์ดีลงในนาที่อุดมด้วยปุ๋ยฉะนั้น

ตัวเล็ก 27-02-2018 14:34

บริษัท ๔ (พุทธศาสนิกชน)

๑. ภิกษุบริษัท คือ ชายที่บวชเป็นพระในพุทธศาสนา ถือศีล ๒๒๗ ข้อ

๒. ภิกษุณีบริษัท คือ หญิงที่บวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา ถือศีล ๓๑๑ ข้อ (ในปัจจุบันไม่มีแล้ว)

๓. อุบาสกบริษัท คือ คฤหัสถ์ผู้ชายที่นับถือพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง ถือศีล ๕ หรือศีล ๘

๔. อุบาสิกาบริษัท คือ คฤหัสถ์ผู้หญิงที่นับถือพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง ถือศีล ๕ หรือศีล ๘

ตัวเล็ก 28-02-2018 13:34

บุคคล ๔ (ประเภทของบุคคล)

๑. อุคฆฏิตัญญู หมายถึง ผู้มีไหวพริบปฏิภาณดี ฟังหัวข้อธรรมก็บรรลุมรรคผลได้

๒. วิปจิตัญญู หมายถึง ฟังการอธิบายขยายความก็บรรลุมรรคผลได้

๓. เนยยะ หมายถึง ผู้มีปัญญาค่อนข้างน้อย ต้องเคี่ยวเข็ญจ้ำจี้จ้ำไชกันอย่างหนัก จึงจะขึ้นพ้นน้ำได้

๔. ปทปรมะ หมายถึง ปทปรมะไม่ใช่คนโง่ แต่ฉลาดเกินไปจนไม่ยอมรับความคิดคนอื่น ปทปรมะเขาแปลว่ามากด้วยบทบาท ในเมื่อความรู้มากก็ทำตัวเป็นน้ำล้นแก้ว เติมเข้าไปไม่ได้ เพราะเถียงทุกเรื่อง รู้ทุกเรื่อง

ตัวเล็ก 02-03-2018 14:51

ปฏิปทา ๔ (แนวทางปฏิบัติให้ถึงความหลุดพ้น)

๑. ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติก็ลำบาก บรรลุก็ยาก เพราะไม่รู้จักใช้ปัญญามองหากองกรรมฐานที่เหมาะสมแก่จริตของตน หรือมองหาวิธีการที่จะปฏิบัติให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงนั้น ๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นการปฏิบัติของเราก็จะกลายเป็นเนิ่นช้า

๒. ทุกขาปฏิทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติลำบาก แต่บรรลุเร็ว อย่างสายหลวงปู่มั่น เดินจงกรมจนทางลึกถึงหน้าแข้งเลย แต่ว่าบรรลุกันเยอะมาก

๓. สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติง่าย สบาย ๆ แต่บรรลุยาก เพราะว่าส่วนใหญ่มัวแต่ไปหลงกับความสบาย

๔. สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติสบาย บรรลุง่าย แต่สบายในชาติปัจจุบัน เพราะว่าอดีตลำบากมาตั้งเท่าไรแล้วก็ไม่รู้

ตัวเล็ก 04-03-2018 17:22

โยนิ ๔ (กำเนิด, แบบหรือชนิดของการเกิด)

๑. ชลาพุชะ คือ สัตว์ที่ถือปฏิสนธิและเจริญเติบโต เมื่อถึงกำหนดก็คลอดออกจากครรภ์มารดา หรือเรียกว่า เกิดในมดลูก ส่วนใหญ่ก็พวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น มนุษย์และสัตว์ดิรัจฉานบางประเภท เช่น โค, สุนัข, แมว

๒. อัณฑชะ คือ สัตว์ที่เกิดจากฟองไข่ ไข่ออกมาก่อนฟักเป็นตัวทีหลัง จนกระทั่งบางคนเขาเรียกว่า ทวิชาติ คือ เกิด ๒ ครั้ง เกิดเป็นไข่ครั้งหนึ่ง เกิดเป็นตัวครั้งหนึ่ง สัตว์ที่ออกไข่มาเป็นฟองก่อน แล้วจึงฟักออกมาเป็นตัวภายหลัง เช่น เป็ด, ไก่, นก, หรือสัตว์เลื้อยคลานบางประเภท เช่น งู, ตะกวด เป็นต้น

๓. สังเสทชะ คือ สัตว์ที่เกิดในของสกปรก ของเน่าเปื่อย ซากสัตว์เน่า เช่น หนอน, เชื้อโรค เป็นต้น

๔. โอปปาติกะ คือ สัตว์ที่เกิดขึ้นมาเป็นตัวเลย เมื่อตายก็ไม่ทอดทิ้งสรีระไว้ เช่น สัตว์นรก, เปรตบางพวก เป็นต้น

ตัวเล็ก 05-03-2018 16:36

วิบัติ ๔ (ความผิดพลาด, ความเสียหาย)

๑. สีลวิบัติ (ความวิบัติแห่งศีล) ได้แก่ ผู้มีศีลวิบัติ มีการย่อหย่อน ไม่ประพฤติปฏิบัติตามหลักของศีล

๒. อาจารวิบัติ (ความวิบัติแห่งมารยาท) ได้แก่ ความเสียหายทางความประพฤติ จรรยามารยาทไม่ดี หรือไม่เหมาะสมแก่ภาวะของตน

๓. ทิฏฐิวิบัติ (ความวิบัติแห่งทิฏฐิ) ได้แก่ ความเห็นที่คลาดเคลื่อนไปจากความดี คือมีความเห็นที่ขัดแย้งต่อความเป็นจริง เช่น เห็นว่าการทำบุญไม่ได้บุญ เป็นต้น

๔. อาชีววิบัติ (ความวิบัติแห่งอาชีวะ) ได้แก่ การหาเลี้ยงชีพในทางที่ผิด เรียกว่า มิจฉาชีพ


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 03:18


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว