กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ในวาระสำคัญต่าง ๆ (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=40)
-   -   เทศน์วันมาฆบูชา วันเสาร์ที่ ๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๓ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=6910)

หยาดฝน 15-02-2020 15:00

เทศน์วันมาฆบูชา วันเสาร์ที่ ๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๓
 

เทศน์วันมาฆบูชา วันเสาร์ที่ ๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๓

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

สพฺพปาปสฺส อกรณํ
กุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํ
เอตํ พุทฺธาน สาสนํ ติฯ


ณ โอกาสบัดนี้ อาตมภาพจะได้แสดงพระธรรมเทศนาในมาฆบูชากถา เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา เพิ่มพูนบารมี เสริมสร้างกุศลบุญราศี ให้แก่ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ที่พร้อมใจกันมาบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันมาฆบูชา ณ วัดท่าขนุนแห่งนี้

อันว่าวันมาฆบูชานั้น เป็นวันสำคัญวันหนึ่งทางพระพุทธศาสนา นับย้อนหลังไปเมื่อ ๒,๖๐๘ ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนเป็นประวัติศาสตร์แห่งพระพุทธศาสนา คือหลังจากที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ผ่านไปได้ ๙ เดือนพอดี ช่วงนั้นองค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้มีพุทธสาวกเป็นจำนวนมาก ทั้งพระภิกษุสงฆ์และคฤหัสถ์ ที่พร้อมใจกันปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระชินวรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า

หยาดฝน 15-02-2020 15:02

ในบรรดาสาวกทั้งหลายเหล่านั้นมีพระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ได้เดินทางมารวมกันยังเวฬุวันมหาวิหาร ในวันเพ็ญเดือน ๓ หรือวันมาฆบูชา ซึ่งถ้าหากว่าเป็นทางฮินดูเขาแล้ว จะต้องมีพิธีกรรมลอยบาปที่แม่น้ำคงคา แต่เมื่อท่านทั้งหลายเหล่านั้นปฏิบัติตามคำสอนในพระพุทธศาสนา ไม่ได้ปฏิบัติตามศาสนาฮินดูอีกแล้ว จึงทำให้มารวมตัวกันโดยมิได้นัดหมายที่เวฬุวันมหาวิหาร ซึ่งพระเจ้าพิมพิสารทรงสร้างไว้เป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา

ซึ่งปรากฏว่ามีเหตุสำคัญ ๔ ประการเกิดขึ้นในวันนั้นโดยพร้อมเพรียงกัน คือเป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงในเดือนมาฆมาส พระสงฆ์ทั้งหลายนั้นมาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ทุกองค์ล้วนแล้วแต่เป็นพระอรหันต์ และบวชโดยได้รับเอหิภิกขุอุปสัมปทาจากองค์สมเด็จบรมศาสดาทั้งสิ้น ดังนั้นวันนี้จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันจาตุรงคสันนิบาต แปลว่าวันถึงพร้อมด้วยองค์ ๔ ก็คือเหตุการณ์สำคัญทั้ง ๔ ที่ปรากฏขึ้นดังกล่าวมาแล้วนั้น

องค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ทรงประกาศ ประกาศอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการของพระพุทธศาสนา ไม่ได้สอนธรรมเพื่อให้ท่านทั้งหลายนำไปปฏิบัติ เนื่องจากพระทั้ง ๑,๒๕๐ รูปล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ จบกิจทางพระพุทธศาสนาแล้ว แต่ยังได้ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาอยู่

หยาดฝน 15-02-2020 15:09

องค์สมเด็จพระบรมครูสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นว่า การที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้นควรที่จะมีหลักการ อุดมการณ์ และวิธีการไปในแนวเดียวกัน ดังนั้นพระองค์ท่านจึงได้ประกาศหลักการในพระพุทธศาสนาทั้ง ๓ ข้อ ก็คือ

๑. “สพฺพปาปสฺส อกรณํ” แปลว่า ต้องสอนให้คนทั้งหลายนั้นละเว้นจากกระทำความชั่วทั้งปวง คือ เว้นจากการคิดชั่ว พูดชั่ว และทำชั่ว

๒. “กุสลสฺสูปสมฺปทา” แปลว่า ให้สอนให้บุคคลทั้งหลายกระทำบุญกุศลให้ถึงพร้อม
การกระทำบุญกุศลให้ถึงพร้อม คือการกระทำความดีด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจนั่นเอง

๓. “สจิตฺตปริโยทปนํ” แปลว่า สอนบุคคลให้ชำระจิตของตนให้ผ่องใส ปราศจากกิเลส
ซึ่งถ้าหากว่าใครทำได้ จิตใจที่สงบก็จะมีการรับรู้ได้รวดเร็ว มีการทรงจำที่ดี มีปัญญาที่ยอดเยี่ยม ประกอบไปด้วยสติสัมปชัญญะ สามารถเข้าถึงธรรมได้ง่าย

หลักการทั้ง ๓ ข้อนี้ถือว่าเป็นหลักใหญ่ในพระพุทธศาสนา ที่จะนำพาพุทธบริษัททั้งหลายให้พ้นจากทุกข์ภัยไปได้

หยาดฝน 15-02-2020 15:13

แล้วพระองค์ท่านยังได้แนะนำอุดมการณ์ ๓ ข้อของพระพุทธศาสนาก็คือ

๑. “ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา ทรงประกาศว่า อุดมการณ์ในพระพุทธศาสนานั้น การบำเพ็ญตบะ คือ การทรงขันติ ได้แก่ ความอดทนอดกลั้น เนื่องจากสมัยนั้นเชื่อว่าการบำเพ็ญตบะนั้นต้องทรมานตนเท่านั้น พระองค์ท่านจึงประกาศอุดมการณ์ที่ชัดเจนที่สุดว่า ให้ใช้ขันตินี้ในการฝึกฝนกาย วาจา ใจ ของตนเอง

๒. “นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา” พระองค์ท่านประกาศว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้รู้ทุกท่านล้วนแล้วแต่สอนให้มุ่งพระนิพพาน หลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งสิ้น

๓. ข้อสุดท้ายก็คือ ในส่วนของการที่จะไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้ายผู้อื่น ไม่ว่าเขาทั้งหลายเหล่านั้นจะเชื่อถือ หรือว่ารับฟังเราหรือไม่ปฏิบัติก็ตาม เราไม่ควรที่จะเบียดเบียนเขาทั้งหลายเหล่านั้น ดังนั้นในส่วนของอุดมการณ์ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศนั้น เป็นภาษาบาลี กล่าวว่า น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี” แปลว่า บุคคลที่ยังเบียดเบียนผู้อื่นไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ

ดังนั้นอุดมการณ์ของพระพุทธศาสนานั้นก็คือ ต้องไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ อดทนอดกลั้นเพื่อกระทำความดีให้เกิดผลสำเร็จตามที่ได้มุ่งหมายเอาไว้

หยาดฝน 15-02-2020 15:21

หลังจากนั้นก็ทรงประกาศวิธีการที่จะให้เข้าถึงการละเว้นความชั่วทั้งปวง การกระทำความดีให้ถึงพร้อม และการชำระใจของตนให้ผ่องใสจากกิเลส ประกอบกันขึ้นมา ๖ ข้อ

๑. “อนูปวาโท” อย่าได้ว่าร้าย อย่าได้ติเตียนผู้อื่น ซึ่งอย่างในปัจจุบันนี้สื่อโซเชียลต่าง ๆ นั้น ทำให้เราเข้าไปคอมเมนท์ ให้ความเห็นต่าง ๆ ได้ง่าย จะเป็นเหตุให้เราว่ากล่าว ติเตียน ว่าใส่ร้ายผู้อื่นเขาหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่พุทธบริษัททั้งหลายจะต้องระมัดระวังตนเองให้ดี

๒. “อนูปฆาโต” ไม่ให้เข่นฆ่าทำร้ายผู้อื่น เพราะว่าเป็นที่มาแห่งการเบียดเบียน นำไปสู่ความเกลียดแค้นชิงชังกัน

๓. “ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร” คือให้สำรวมรักษาศีลของตนเองให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ บุคคลทั่วไปรักษาศีล ๕ อุบาสกอุบาสิการักษาศีล ๘ ถ้าหากเป็นสามเณรก็รักษาศีล ๑๐ พระภิกษุรักษาศีล ๒๒๗ เป็นต้น ระมัดระวังรักษา อย่าละเมิดศีลด้วยตนเอง อย่ายุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล และอย่ายินดีเมื่อเห็นผู้อื่นละเมิดศีล

๔. “มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ” แปลว่า เป็นบุคคลผู้รู้ประมาณในการบริโภค ไม่ใช่กินล้นกินเกิน เราจะเห็นว่าพระปฏิบัติส่วนใหญ่แล้วฉันแค่มื้อเดียว พอที่จะยังร่างกายนี้ให้มีกำลังปฏิบัติธรรมได้ ถ้าหากว่าเป็นพระฝ่ายคันถธุระ ประกอบหน้าที่การงาน ก็ฉันแค่ ๒ มื้อ ดังนั้นในส่วนนี้ถ้าเรารู้จักประมาณ โรคภัยไข้เจ็บก็จะมีน้อย ร่างกายไม่หนักไปด้วยสารอาหาร ทำให้เลือดลมปลอดโปร่ง สามารถทรงสมาธิได้ง่าย

ข้อที่ห้า ท่านบอกว่า ให้รู้จักพอใจในความสงบ ในสถานที่อันวิเวก ก็แปลว่า เราต้องรู้จักปลีกตัวออกจากหมู่ ก็คือ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ ท่านบอกว่า ให้อยู่อาศัยในที่นั่งที่นอนอันสงัด ไม่เกลื่อนกล่นด้วยผู้คนที่มารบกวน ซึ่งพระนักปฏิบัติอย่างแท้จริง ส่วนใหญ่ก็เข้าป่าไปเลยก็มี

ข้อสุดท้าย “อธิจิตฺเต จ อาโยโค” ให้หมั่นประกอบในการทำจิตให้สงบ เป็นสมาธิ โดยเฉพาะเป็นอัปปนาสมาธิ ตั้งแต่ปฐมฌานละเอียดเป็นต้นไป เพื่อที่จะให้มีกำลังในการที่จะสามารถตัดกิเลสได้

หยาดฝน 15-02-2020 15:23

นอกจากในส่วนของจาตุรงคสันนิบาตที่เกิดขึ้นแล้ว ยังเป็นวันสำคัญก่อนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน ๓ เดือน พระองค์ท่านทรงปลงอายุสังขารในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๓ นี้ ณ ปาวาลเจดีย์ แล้วหลังจากนั้นก็เสด็จไปปรินิพพานที่กุสินารา

ดังนั้นในเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในวันมาฆบูชานั้น เป็นเหตุการณ์ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ และเป็นวันที่พระองค์ท่านปลงอายุสังขาร ทำให้เกิดเหตุที่เป็นประวัติการณ์ใหญ่ในพระพุทธศาสนาทั้งสองประการ

ในขณะเดียวกันความนิยมของบ้านเรานั้น เมื่อถึงวันมาฆบูชาญาติโยมทั้งหลายก็จะไปทำบุญ ใส่บาตร ถือศีล ปฏิบัติธรรม มีการเวียนเทียนถวายเป็นพุทธบูชา เป็นต้น

หยาดฝน 15-02-2020 15:23

ส่วนในวัดท่าขนุนของเรานั้นยังมีเพิ่มเติมไปอีก ก็คือมีการอุปสมบทหมู่เพื่อปฏิบัติธรรมในสัปดาห์มาฆบูชานี้ และขณะเดียวกันมีการตามประทีปเป็นพุทธบูชานับเป็นหมื่น ๆ ดวง และมีการจัดให้มีงานปิดทองรอยพระพุทธบาท ซึ่งเป็นงานประจำปี ที่สาวกขององค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า จักสามารถที่จะเลือกกระทำเอาในกองบุญการกุศลใดก็ได้

แล้วพยายามที่จะให้สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เข้ากับวิธีการทั้ง ๖ ข้อ ก็คือการที่เราจะไม่ว่าร้ายผู้อื่น การที่เราจะไม่ทำร้ายผู้อื่น เป็นต้น จนกระทั่งข้อสุดท้าย คือ การชำระจิตของตนให้สะอาด ให้สงบ จนกระทั่งปราศจากกิเลสโดยสิ้นเชิง ก็แปลว่าท่านทั้งหลายสามารถที่จะกระทำตามอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการในพระพุทธศาสนา ได้โดยสมบูรณ์บริบูรณ์ จึงจักได้สมกับเป็นพุทธศาสนิกชน หรือว่าเป็นพุทธมามกะ ผู้นั่งใกล้พระพุทธศาสนา

หยาดฝน 15-02-2020 15:25

อาตมภาพรับทานวิสัชนามาในมาฆบูชากถาก็พอสมควรแก่เวลา ท้ายสุดแห่งพระธรรมเทศนา อาตมภาพขอตั้งสัตยาธิษฐาน อ้างคุณพระศรีรัตนตรัย มีพระพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ เป็นประธาน มีบารมีธรรมของหลวงปู่สาย อคฺควํโส และอดีตเจ้าอาวาสวัดท่าขนุนทุกรูปเป็นที่สุด ขอได้โปรดดลบันดาลให้ญาติโยมทั้งหลายประสบแต่ความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผลไปด้วยจตุรพิธพรชัยทั้ง ๔ ประการ มี อายุ วรรณะ สุขะ พละ ตลอดจนถึงธนสารสมบัติอันเป็นที่พึงใจทั้งปวง รับหน้าที่วิสัชนามาก็พอสมควรแก่เวลา จึงขอสมมติยุติพระธรรมเทศนาลงคงไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์วันมาฆบูชา ณ วัดท่าขนุน
วันเสาร์ที่ ๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๓


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 05:25


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว