กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   พระครูวิลาศกาญจนธรรม (หลวงพ่อเล็ก สุธมฺมปญฺโญ) (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=18)
-   -   การละอุปาทาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=748)

เถรี 25-07-2009 09:49

การละอุปาทาน
 
ถาม : เราจะละอุปาทานที่อยู่ในใจเราได้อย่างไร ?
ตอบ : ใช้ สติ สมาธิ และปัญญา สติจะต้องรู้เท่าทันอยู่ ว่าความเป็นจริงเป็นอย่างไร สมาธิต้องมีกำลังเพียงพอที่จะหักห้ามใจได้ ข้อสุดท้ายคือปัญญา รู้เห็นตามสภาพความเป็นจริง จิตก็จะเบื่อหน่ายคลายกำหนัด แล้วถอนความอยากเสียได้

ถ้ายังไม่เห็นตามสภาพความเป็นจริง อย่างเช่นว่า ผู้หญิงเห็นผู้ชายยังหล่ออยู่ ผู้ชายเห็นผู้หญิงก็ยังสวยอยู่ แปลว่ายังโดนอวิชาบังเอาไว้ แต่ถ้าเรามองเข้าไปว่า เออ..นั่นสักแต่เป็นรูปเป็นนาม สักแต่ว่าเป็นธาตุ ภายในร่างกายก็มีแต่เครื่องจักรกล เต็มไปด้วยความสกปรก เห็นความเป็นจริง จิตก็จะคลายออกมา เพราะฉะนั้น...ต้องหลายอย่างรวมกัน ไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่ง

ถาม : ต้องซ้ำไปเรื่อย ๆ หรือ ?
ตอบ : ต้องซ้ำแล้วซ้ำเล่า ครั้งแรก ๆ ก็อาจจะสะเทือนใจนิดหน่อย แต่พอปัญญามากขึ้น สะเทือนมากขึ้น บางอย่างถ้าหากปัญญาเราพร้อม กระทบทีเดียวจู่ ๆ นั่งน้ำตาไหลเลย สลดใจว่าทำไมก่อนหน้านี้เราไม่เห็น แต่ตอนนี้เห็น คนอื่นก็ว่าบ้า นั่งร้องไห้ทำไม

เราว่าเราเป็นเจ้าของร่างกายนี้ ที่จริงเป็นประสาทของร่างกายที่โยงติดกัน แต่ใจเราไปยึดว่าเป็นของเรา ก็เลยรับไปด้วยว่าเราเจ็บ เราปวด

ที่เคยเปรียบเอาไว้ว่า ร่างกายนี่คือรถ จิตก็เหมือนกับคนขับรถ แต่เราดันไปคิดว่า ร่างกายนี้คือเรา พอมาแยกออก รถส่วนรถ เราส่วนเรา รถชนโครมเข้า ซ่อมได้ก็ซ่อม ซ่อมไม่ได้ก็หาคันใหม่ อย่างนี้ก็จะไม่ไปยึดไปเกาะกับร่างกาย ไม่ใช่รถชนโครม โอ๊ย..รถของเราพังหมดแล้ว นั่นไปยึดอยู่

เรื่องของกายกับจิตที่ยึดเกาะเหนียวแน่นขนาดนั้น เพราะเราเกาะมาจนนับชาติไม่ถ้วน ใช้เป็นเครื่องอาศัยอยู่ในแดนนี้ ในเมื่อเราอาศัยมาชาติแล้วชาติเล่า กัปแล้วกัปเล่า ก็เลยยึดถือแน่นหนามาก กลายเป็นอุปาทานขันธ์ ยึดมั่นไม่ยอมปล่อย ว่านี่..ตัวกูของกู..

เถรี 25-07-2009 09:57

เคยทำอย่างนี้แล้วรู้สึกว่าเป็นวิธีที่ดีทีเดียว คือพิจารณาว่า เรื่องของ โลภะ โทสะ โมหะ นั้น เป็นสมบัติของร่างกาย เพราะฉะนั้น..ปกติจะต้องมีอยู่แล้ว เอ็งจะมีก็มีไป แต่ข้าไม่ให้ความร่วมมือกับเอ็ง เหมือนที่เคยเปรียบว่า เหมือนลวกก๋วยเตี๋ยวใส่น้ำเปล่า ส่งไปให้ใครเขาจะกิน

ที่ก๋วยเตี๋ยวอร่อยชวนกินได้เพราะอะไร ? เพราะเราใส่พริก ใส่น้ำส้ม ใส่น้ำตาล ใส่หมูสับ ใส่ผงชูรส ยิ่งใส่ยิ่งอร่อย ก็เลยกินไม่เลิก เหตุที่กินไม่เลิก เพราะมีการปรุงเพื่อเพิ่มรสชาติ

เรื่องของราคะ โลภะ โทสะ โมหะ ก็เช่นกัน ที่เราไม่เลิกไม่ละเว้น ไม่ปล่อยวาง ก็คือ เราไปปรุง ไปคิดเพิ่ม
ในเมื่อเราไปคิดเพิ่ม ก็เกิดอารมณ์ไปทาง ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ แล้วแต่เหตุการณ์นั้น ๆ

ถ้าเกิดเราไม่คิด สิ่งนั้นก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของเขาเอง เราไม่คิดก็เหมือนเราไม่เอาเชื้อไปต่อ ไฟที่จุดขึ้นมาไม่มีเชื้อที่จะต่อ ก็ต้องดับไปเองโดยธรรมชาติ

จริง ๆ แล้ว ถ้าเรารู้เท่าทัน ไม่ให้ความร่วมมือไปนึกคิดปรุงแต่ง เรื่องของ รัก โลภ โกรธ หลง ก็ทำอันตรายเรายาก ที่ทำอันตรายเราได้เพราะเราไปคิด แบบที่หลวงพ่อชาท่านบอกว่า เหมือนกับแทะเนื้อติดกระดูก แทะไปก็ไม่ได้เป็นอรรถเป็นธรรมอะไรขึ้นมาหรอก อร่อยน้ำลายตัวเอง เอาแต่เคี้ยวกรอด ๆ อยู่นั่น เพราะฉะนั้น..ถ้ารู้เท่าทัน เลิกเคี้ยวเสียก็หมดเรื่อง

ถาม : แต่ว่าจิตที่เป็นอุปาทาน ถึงแม้เราจะบอกอย่างไรก็ไม่เชื่อ ?
ตอบ : นั่นแสดงว่ายังยึดอยู่ ในครั้งแรกถ้าปัญญาไม่พอ จะไม่เห็นหรอก ถึงเห็นบางทีก็ยังไม่ยอมรับ ถึงแม้ยอมรับ แต่ถ้ากำลังสมาธิไม่มีไว้ช่วยในการตัดละ ก็เอาไม่อยู่

เพราะฉะนั้น..เรื่องของ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องทำควบคู่กันไป ย้ำตอกตะปูไปเรื่อย ๆ ตักน้ำรดหัวตอไปเรื่อย เดี๋ยวก็เปียกเอง

ถาม : แล้วถ้าบอกให้คิด ?
ตอบ : เป็นทางที่ถูก แต่ไม่ใช่บอกเฉย ๆ ให้เห็นจริง ๆ ด้วยว่า สิ่งรอบข้างมีปกติเป็นอย่างนั้น ไม่ว่าจะไปทางไหน สิ่งใดที่กระทบ หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ อะไรก็ตาม ถ้าสามารถรู้เท่าทันและบอกได้ทุกครั้ง ก็พอที่จะทำให้จิตเชื่อเราได้ แต่ถ้าหากรู้เป็นบางครั้ง ก็แปลว่ายังไม่เชื่อ จึงต้องสร้าง สติ สมาธิ ปัญญา ให้เข้มแข็งมากขึ้น เพื่อที่ไอ้ตัวแสบจะได้ยอมเชื่อ แต่ถ้าเป็นตัวแสบจำเป็นก็ไม่ง่ายนะ ...(หัวเราะ)... ค่อย ๆ ย้ำ ตอกตะปูไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็มิดไปเอง



เทศน์ก่อนทำกรรมฐาน ณ บ้านอนุสาวรีย์
๔ กรกฎาคม ๒๕๕๒


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 17:14


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว