กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=43)
-   -   ธรรมที่เป็นไปได้ทั้งถูกและผิด (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=2913)

ลัก...ยิ้ม 22-09-2011 10:29

ธรรมที่เป็นไปได้ทั้งถูกและผิด
 
ธรรมที่เป็นไปได้ทั้งถูกและผิด

สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตาตรัสสอนไว้ มีใจความสำคัญดังนี้

๑. “จุดนี้ให้ดูอิทธิพลของสัญญา ที่ไปกำหนดจดจำในสิ่งที่ตาสัมผัสรูป หูได้สัมผัสเสียง แต่จิตไปคาดโทษ คนเปิดน้ำไหลทิ้งนั้น เป็นสัญญาที่จดจำในธรรม ที่กล่าวโทษโจทก์ผู้ทำของเสียหาย ต้องตกสู่อเวจีมหานรก นี่ล้วนแต่ความจำได้ของจิตทั้งนั้น ซึ่งทำให้จิตเกาะติดอยู่ตามนั้น เจ้าเลยปรับอาบัติเขาแบบพุทธบัญญัติ หากผู้ใดผ่านไปเห็นของสงฆ์เสียหาย แล้วไม่จัดการแก้ไขหรือบอกให้ผู้อื่นแก้ไข กี่องค์ก็ปรับเท่านั้น จิตเกาะติดในกรรมจนเอาไปฝันนี่ไม่ดี เพราะไปเกาะกรรมชั่วของผู้อื่น จุดนี้จึงมีทั้งถูกและผิด ถูกที่พึงรักษาของสงฆ์ ผิดเพราะไปเอาจิตไปเกาะกรรมที่คนอื่นเขาทำเอาไว้

อีกจุดหนึ่งคือ ในอดีตเจ้าโกรธและขุ่นเคืองในบุคคลผู้เปิดน้ำ-เปิดไฟของวัดทิ้งไว้ แต่ในปัจจุบัน อารมณ์ของเจ้ามันเปลี่ยนเป็นสงสารเขาแทน เพราะไม่อยากให้เขาเป็นโทษเพราะไม่รักษาของสงฆ์ เพราะฉะนั้น รักษาอารมณ์จิตตัวเมตตานี้เข้าไว้ให้ดี แต่พยายามวางตัวอารมณ์เกาะติดในกรรมผู้อื่นให้หมดสิ้นไปด้วย เพราะพรหมวิหารมี ๔ ข้อต้องใช้ให้ครบ โดยเฉพาะอุเบกขา

๒. “มรรคผลจักได้จริงต่อเมื่อเอาจริงกันในทางปฏิบัติเท่านั้น ให้สำรวมกาย วาจา ใจ ว่าจุดไหนบกพร่องบ้าง เพราะบางครั้งจิตตกอยู่ในอำนาจความโกรธ โลภ หลง และบางขณะก็ฟุ้งซ่านไปด้วยอำนาจของนิวรณ์ทั้ง ๕ ประการ จุดนี้จักต้องแก้ไขให้ได้ ถ้าแก้ไขไม่ได้มรรคผลก็จักได้ยาก ตถาคตเป็นเพียงผู้บอกผู้ชี้แนะ ตนจักต้องเป็นที่พึ่งแห่งตนเท่านั้น อย่าทะนงตนว่าดีแล้ว และจงอย่าประมาทในชีวิต อย่าปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยไร้ค่า มุ่งทำความเพียรเพื่อพระนิพพาน ต้องทำกาย-วาจา-ใจให้ได้มรรค-ผล-นิพพานด้วย

๓. “อย่าไปคิดว่าเพศสมณะกับฆราวาสไม่เท่ากัน ความจริงแล้วอยู่ที่การสำรวมกาย-วาจา-ใจ ให้ถึงพร้อมด้วยศีล-สมาธิ-ปัญญา อยู่ที่ความตั้งใจจริงของใจเท่านั้น ว่าจักรักษาศีล สมาธิ ปัญญาจริงหรือไม่ อย่าจริงแค่สัญญา ให้ใช้ปัญญาไตร่ตรองให้มาก ๆ แล้วให้พิจารณาอันไหนเป็นสัญญา อันไหนเป็นปัญญาด้วย มิใช่ทำไป ๆ เหมือนคนตาบอด จิตบอดไม่รู้จักแยกแยะ จักต้องทำไปรู้ไป จึงจักใช้ได้

เช่น รู้ว่าสุขภาพไม่ดีก็ต้องเพิ่มความไม่ประมาทในชีวิต ไม่มีใครฝืนกายสังขาร ไม่ให้เจ็บไม่ให้ตายได้ การทรงชีวิตอยู่ก็อยู่กับความทุกข์ ต้องจมอยู่กับกายที่สกปรก ไม่เที่ยง ต้องเป็นภาระให้ชำระสะสางทุกวัน จิตต้องคอยกังวลกับสุข-ทุกข์เวทนา ซึ่งเป็นธรรมดาของร่างกาย หากใช้ปัญญาพิจารณาตามความเป็นจริง จักเห็นธรรมของร่างกายปรากฎอยู่อย่างนั้นด้วยปัญญา ที่รู้-ที่เห็นตามความเป็นจริงอยู่อย่างนี้ จิตก็จักคลายกังวลและวางเฉยในปกติธรรมของร่างกายลงได้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ทุกบทเนื่องถึงจิตกับร่างกายเหมือนกันหมด อย่าประมาทคิดว่าเราจักยังไม่ตาย พระอริยเบื้องสูงท่านไม่ประมาท คิดถึงความตายทุกขณะจิต ท่านพร้อมที่จะทิ้งกายนี้อยู่เสมอ จิตมุ่งสู่พระนิพพานจุดเดียวอย่างมั่นคง รู้ลม-รู้ตาย-รู้นิพพาน

๔. “อย่าไปตำหนิใครว่าปฏิปทาไม่เหมือนกับเรา ชีวิตของแต่ละคนมีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นเครื่องจำแนกและถูกจองจำด้วยผลของกรรม อันเกิดจากการกระทำของตนเอง ดังนั้น จงเอาจิตรอด ส่วนกายนั้นมันไม่รอดอยู่แล้วเป็นธรรมดา

ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๘
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 01:41


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว