กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=39)
-   -   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอังคารที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๓ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=1833)

เถรี 15-05-2010 17:44

เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอังคารที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๓
 
ขอให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกพร้อมกับภาพพระหรือพร้อมกับคำภาวนาไปด้วย เพื่อสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นกับใจของเราก่อนเป็นอันดับแรก

วันนี้มีคนสอบถามเรื่องของการภาวนาไปสักครู่แล้วอึดอัด หายใจไม่ออก ลักษณะนั้นเป็นลักษณะของการที่มีลมหยาบอยู่ในร่างกายมากเกินไป จึงควรที่จะหายใจเข้าออกยาว ๆ สัก ๒ - ๓ ครั้ง เพื่อระบายลมหยาบให้หมดไปก่อน แล้วหลังจากนั้นจึงหายใจตามปกติพร้อมกับคำภาวนา

วันนี้ตรงกับวันอังคารที่ ๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓ เป็นการปฏิบัติกรรมฐานวันที่สองของเดือนพฤษภาคมของพวกเรา ซึ่งก็ยังคงเป็นปกติก็คือ มีการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเสื้อหลากสี อยู่ใกล้ ๆ เราเช่นเคย

เมื่อทุกคนกำหนดภาพพระพร้อมกับคำภาวนาจนกำลังใจทรงตัวแล้ว สิ่งที่เรียกว่าจำเป็นต้องทำเลย ก็คือ การถอยกำลังใจออกมาอยู่ในระดับอุปจารสมาธิ แล้วทำการพิจารณา

การภาวนานั้นจัดเป็นเจโตวิมุตติ คือการหลุดพ้นจาก รัก โลภ โกรธ หลง โดยการใช้กำลังใจข่มไว้ ใช้อำนาจของสมาธิสมาบัติกดกิเลสเอาไว้นั่นเอง ส่วนการพิจารณานั้น จัดเป็นปัญญาวิมุตติ การหลุดพ้นด้วยการใช้ปัญญาพิจารณา เมื่อรู้แจ้งเห็นจริงแล้ว จิตใจยอมรับ ปล่อยวางได้ ก็จะหลุดพ้นได้เช่นกัน ทั้งสองอย่างเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป

ดังนั้น..เมื่อภาวนาจนทรงตัวแล้ว เราจึงจำเป็นที่จะต้องคลายออกมาเพื่อพิจารณา เนื่องจากการภาวนาและพิจารณานั้น เปรียบไปแล้วเหมือนคนที่ถูกผูกขาติดกันไว้ เมื่อก้าวเท้าด้านหนึ่งไปสุดแล้ว ก็ต้องก้าวอีกด้านหนึ่งตาม แล้วจึงก้าวอีกข้างหนึ่งไปได้ ถ้าเราดื้อจะก้าวเพียงเท้าเดียว เมื่อสุดแล้วก็มีแต่จะโดนกระตุกกลับเท่านั้น แต่ถ้าหากผลัดกันก้าวไป ตอนนี้ภาวนาตามหลักเจโตวิมุตติ พอกำลังใจทรงตัวก็คลายออกมาพิจารณาตามหลักของปัญญาวิมุตติ ถ้าเป็นไปได้ดังนี้เราจะมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา

การที่เราปฏิบัติภาวนาแล้วคลายกำลังใจออกมาพิจารณานั้น เราจะพิจารณาตามหลักของอริยสัจสี่ก็ได้ โดยดูที่ตัวทุกข์และสาเหตุของการเกิดทุกข์ เมื่อรู้และเข้าใจถึงถึงสาเหตุที่แท้จริงแล้ว เราก็ไม่สร้างเหตุนั้น ความทุกข์ก็ไม่สามารถที่จะเกิดได้

หรือพิจารณาตามไตรลักษณ์ เห็นทุกอย่างไม่เที่ยง ทุกอย่างเป็นทุกข์ ไม่มีอะไรยึดถือมั่นหมายเป็นตัวตนของเราได้ หรือว่าจะพิจารณาตามแบบของวิปัสสนาญาณ ๙ เริ่มจาก
อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับ
ภังคานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นว่าทุกอย่างล้วนแต่ดับสิ้นสลายไปหมด
ภยตูปัฏฐานญาณ เห็นว่าร่างกายนี้ โลกนี้เป็นทุกข์ เป็นภัย เป็นของน่ากลัว การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารเป็นภัยอันใหญ่หลวงยิ่ง เหล่านี้เป็นต้น ไปจนกระทั่งถึง
สังขารุเปกขาญาณ สามารถปล่อยวางได้ ไม่มีการยึดถือมั่นหมายในตัวตนเราเขาอีก เป็นต้น

เถรี 16-05-2010 09:42

สำหรับวันนี้อยากให้ทุกท่านพิจารณาในลักษณะของไตรลักษณญาณ ก็คือ ลักษณะความเป็นจริงของร่างกายและสรรพสิ่ง ความเป็นจริงในโลกนี้ว่ามีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปในท่ามกลาง และสลายตัวไปในที่สุด โดยเราเอาเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองนี้มาพิจารณาก็ได้ เพราะว่าเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นที่จะต้องพบ จำเป็นที่จะต้องเห็นตามสภาพของเขา

ถ้าเราจะพิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยง เราก็ต้องมองย้อนรอยถอยหลังไปว่า สภาพการชุมนุมทางการเมืองนี้มีมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว ถ้าหากจะนับเอาในชั่วชีวิตของเราที่สามารถจะรู้เห็นได้โดยง่าย ก็นับตั้งแต่เหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ หรือว่าวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ หรือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี ๒๕๓๕ มาจนกระทั่งการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร หรือเรียกง่าย ๆ ว่าพวกเสื้อเหลือง หรือในปัจจุบัน เป็นการชุมนุมของเหล่า นปช.หรือเรียกง่าย ๆ ว่าพวกเสื้อแดง จนกระทั่งเกิดเสื้อหลากสีต่อต้านขึ้นมา

เราจะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดำเนินไปตามสภาพของเขา จนกระทั่งท้ายสุดก็จบลงสิ้นลง ไม่ว่าจะจบลงด้วยสภาพไหนก็ตาม ท้ายที่สุดก็คือจบสิ้นไม่มีอะไรเหลืออยู่ ก็แปลว่า มีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีการเปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปในท่ามกลาง มีการสลายตัวไปในที่สุด ตามหลักอนิจจลักษณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสเอาไว้

ลักษณะที่สองเรียกว่า ทุกขลักษณะ ก็คือ ความเป็นทุกข์ ความทนได้ยาก เราก็ดูว่าเหล่าผู้ที่ออกมาเรียกร้องทางการเมืองต่าง ๆ เหล่านี้ มีความทุกข์เป็นปกติหรือไม่ เอาแค่นิพัทธทุกข์ ทุกข์เนืองนิจที่ร่างกายนี้มีอยู่ อย่างเช่นว่าสภาพความหนาวความร้อนจากอากาศ หรืออาจจะเปียกฝนไปด้วย เพราะระยะนี้ฝนในกรุงเทพฯ ตกบ่อย สภาพความหิว ความกระหาย ต้องกินต้องดื่มเป็นปกติ จนกระทั่งมีพ่อค้าแม่ค้ามือใหม่จำนวนมากที่สามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาส แสวงหาความร่ำรวยได้จากม็อบต่าง ๆ ด้วยการไปขายข้าวขายน้ำ เป็นต้น

เถรี 16-05-2010 09:47

ความเจ็บไข้ได้ป่วยต้องเกิดขึ้นเป็นปกติสำหรับแต่ละคนอยู่แล้ว โดยเฉพาะโรคสำคัญที่สุด ก็คือ โรคหิว ซึ่งตามพระบาลีกล่าวว่า ชิคัจฉา ปรมา โรคา ความหิวจัดเป็นโรคอย่างยิ่ง สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ไม่ว่าจะตัวเขา ก็คือผู้ที่มาประท้วงเรียกร้องทั้งหลาย ตลอดจนตัวเราทั้งหลายก็เช่นกัน มีอยู่เป็นปกติอยู่แล้ว เมื่อมีอยู่แล้วก็ต้องดิ้นรนหาทางบำบัด เพื่อไม่ให้สร้างความทุกข์ให้เกิดแก่เราไปมากกว่านี้ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้คือความทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นปกติของมนุษย์และสัตว์ทุกรูปทุกนาม

แม้กระทั่งวัตถุธาตุก็ตาม ก็มีความทุกข์เป็นปกติ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ก้อนหิน ตึกรามบ้านช่อง รถยนต์ รถไฟสิ่งใดก็ตาม สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นถึงแม้จะไม่มีชีวิตจิตใจ หรือจะมีชีวิตแต่ก็มีแค่ประสาทสัมผัส แต่ไม่ได้มีดวงจิตอย่างต้นไม้ สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นก็ก้าวไปหาความเสื่อมอยูjตลอดเวลา สภาพเสื่อมทรงตัวอยู่ไม่ได้นั่นแหละ คือความทุกข์ เรียกว่าสภาวทุกข์ คือทุกข์โดยสภาพของสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ซึ่งต้องเสื่อมสิ้นสภาพไป ก็แปลว่า สิ่งมีชีวิตก็ดี สิ่งไม่มีชีวิตก็ดี ล้วนแต่มีความทุกข์ทั้งสิ้น และท้ายสุดก็ไม่เหลือตัวตนเราเขาให้ยึดถือมั่นหมายได้

เราไปนึกถึงผู้เรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อปี ๒๕๑๖ ก็ดี ๒๕๑๙ ก็ดี ๒๕๓๕ ก็ดี ตลอดจนกระทั่งในปัจจุบันนี้ก็ดี หลายต่อหลายท่านล้วนล่วงลับดับขันธ์ไปแล้ว ไปสู่ภพภูมิตามความดีความชั่วที่ตนเองจะยึดถือไว้ได้ก่อนจะสิ้นชีวิต ไม่มีใครที่สามารถดำรงขันธ์อยู่ได้ ตัวเราทั้งหลายตลอดจนกระทั่งผู้ที่เรียกร้องประชาธิปไตยในปัจจุบันนี้ ท้ายสุดก็ต้องตายไปทั้งสิ้น ไม่มีใครที่สามารถดำรงสภาพอยู่ได้ ก็แปลว่า ไม่มีอะไรที่เรายึดถือเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขาได้ทั้งสิ้น สภาพทั้งหมดก็คือ ล้วนแล้วแต่เพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน

เมื่อเห็นดังนี้แล้ว เราก็จะเห็นได้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เขาทำนั้น จริง ๆ แล้วก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปในท่ามกลาง สลายไปในที่สุด ระหว่างการกระทำนั้นก็ประกอบไปด้วยความทุกข์เป็นปกติ และท้ายสุดก็ไม่มีใครที่สามารถอยู่ยั้งยืนยง ล้วนแต่เสื่อมสลายตายพังไปไม่เหลืออะไรเลย

เถรี 16-05-2010 09:51

ถ้าเราสามารถเห็นความเป็นจริงดังนี้ ก็จะปล่อยวางความยึดถือมั่นหมาย ว่าเป็นเราเป็นเขา หรือปล่อยความยึดถือมั่นหมายในกายของเราและกายของเขา ถ้าเราสามารถที่จะปล่อยวางได้ในลักษณะอย่างนี้ โอกาสที่จะเข้าถึงความหลุดพ้นก็มีได้มากขึ้น

เมื่อพิจารณามาถึงตรงจุดนี้แล้ว ท่านสามารถที่จะย้อนทบทวนไปในเรื่องของศีล ว่าในขณะนี้พวกเราทุกคนมีศีลทุกสิกขาบทบริสุทธิ์บริบูรณ์ เพราะว่านั่งนิ่งภาวนาอยู่ พิจารณาอยู่ ไม่ได้ล่วงศีลข้อใดเลย เราเป็นผู้มีสมาธิทรงตัว สามารถพิจาณาได้โดยตลอด และเราเป็นผู้มีปัญญา สามารถรู้เห็นได้ตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเรามีศีล มีสมาธิ มีปัญญาดังนี้แล้ว การที่จะก้าวล่วงความทุกข์ไปได้นั้น ก็คือ ต้องพ้นไปจากร่างกายนี้ โดยเฉพาะพ้นไปแล้วก้าวสู่พระนิพพาน

ดังนั้น..จึงให้ทุกท่านเอากำลังใจสุดท้ายนั้น เกาะภาพพระหรือเกาะพระนิพพานไว้ การเกาะภาพพระ คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่อยู่บนพระนิพพาน การเกาะพระนิพพานนั้นจะเกาะเป็นสถานที่เฉพาะ เช่น วิมานของตนเองก็ได้ เกาะวิมานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ หรือเกาะภาพของพระองค์ท่านเป็นการเฉพาะ หรือจะเกาะหลวงปู่หลวงพ่อองค์ใดที่เราได้เห็นหรือมั่นใจว่าท่านอยู่บนพระนิพพานก็ได้ แล้วตั้งกำลังใจว่า ขึ้นชื่อว่าการเกิดมาที่มีร่างกายทุกข์ยากเช่นนี้ เราไม่ต้องการอีก การเป็นเทวดาเป็นพรหม พ้นทุกข์ได้เพียงชั่วคราวเราก็ไม่ต้องการ ตายเมื่อไรเราขอมายังสถานทีนี้ คือ พระนิพพานเพียงแห่งเดียวเท่านั้น

หลังจากนั้นถ้ายังมีคำภาวนาอยู่ ยังรู้ลมหายใจเข้าออกอยู่ ก็ให้กำหนดลมหายใจและคำภาวนาของเราต่อไป ถ้าไม่มีคำภาวนา ไม่มีลมหายใจเข้าออก ก็ไม่ต้องย้อนรอยถอยหลัง กลับมาหายใจกลับมาภาวนา ให้กำหนดรู้เฉย ๆ ว่าขณะนี้ไม่มีลมหายใจ ไม่มีคำภาวนา โดยเอาจิตจดจ่ออยู่ที่เดียวคือพระนิพพานของเรา ให้ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา

พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านอนุสาวรีย์
วันอังคารที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๓


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 02:22


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว