กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=43)
-   -   ให้สนใจศีล (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=3009)

ลัก...ยิ้ม 10-11-2011 11:53

ให้สนใจศีล
 
ให้สนใจศีลที่ท่านพระ... แนะนำให้มาก

๑. “การรักษาศีลเพื่อป้องกันกิเลส มีขั้นตอนดังนี้

ก) ใหม่ ๆ จะเคร่งและเครียดมาก ขนาดต้องจดศีล ๒๒๗ ใส่กระเป๋าไว้ และหมั่นทบทวนเมื่อมีโอกาสทุกครั้ง จนจำขึ้นใจได้

ข) ศีลพระ จะเอาแต่เจตนาเป็นหลักตัวเดียวไม่ได้ เพราะจะรู้-จะไม่รู้ หรือสงสัยหรือสำคัญผิด ก็มีอาบัติปรับทั้งสิ้น

ค) ในที่สุด จะต้องมาดูอารมณ์จิตของตนว่า มันเกิดกิเลสหรือไม่ เพราะพระพุทธเจ้าทรงมีบัญญัติศีลก็เพื่อประโยชน์กับผู้ปฏิบัติเอง ทรงตรัสไว้ ๑๐ อย่าง (๑๐ ข้อ)

ในข้อ ๕ เพื่อป้องกันอาสวะ (กิเลส) ที่จะเกิดในปัจจุบัน (มิให้เกิดขึ้น)
ในข้อ ๖ เพื่อกำจัดอาสวะ (กิเลส) ที่จะเกิดในอนาคต (ให้หมดไป)

ง) จุดนี้ทำให้ท่านพิจารณาใคร่ครวญจนเห็นคุณของการมีศีล และเห็นโทษของการไม่มีศีล จนกระทั่งใจไม่ยอมละเมิดศีลอีก (เพียรหมั่นศึกษาศีลด้วยปัญญา จนกระทั่งศีลรักษาใจไม่ให้ละเมิดอีกเป็นอัตโนมัติ) จึงเท่ากับระมัดระวังจิตไม่ให้เกิดกิเลสนั่นเอง (ยกตัวอย่างง่าย ๆ ไม่ปาณาติบาตก็ตัดโกรธ ไม่อทินนาทานก็ตัดความโลภ ไม่กาเมฯ ก็ตัดความหลง เป็นต้น)

๒. “ท่านจึงเข้าใจดีว่า รักษาศีลทำไม รักษาศีลเพื่อป้องกันกิเลสตัวใหญ่ ๆ คือ โลภ โกรธ หลง ผลจากความเพียรระมัดระวังรักษาศีล รักษาใจท่านไม่ให้ละเมิดศีลเป็นอัตโนมัติ เท่ากับป้องกันจิตไม่ให้เกิดกิเลสไปในตัว ผลทำให้จิตสงบเยือกเย็นมาก เพราะการรักษาศีลก็คือการรักษาจิตไม่ให้เกิดกิเลส การระมัดระวังศีลก็คือ การระมัดระวังจิตไม่ให้เกิดกิเลส ซึ่งเป็นอันเดียวกัน”

๓. “เมื่อจิตเป็นสีลานุสติ จิตเป็นฌานในศีล จึงเท่ากับศีลรักษาจิตไม่ให้เกิดกิเลสได้ไปในตัว นี่แหละคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ต่างอาศัยซึ่งกันและแยกกันไม่ได้ในการปฏิบัติ รวมกันเป็นหนึ่งตรงจุดนี้แหละ คือต้องเกิดมรรคผลก่อนจึงจะรู้จริงได้ ดังนั้นศีลพระจึงละเอียดกว่าศีล ๕ และศีล ๘ ของฆราวาสมาก เมื่อศีลรักษาใจท่านไม่ให้ละเมิดศีลได้เป็นอัตโนมัติแล้ว จึงเท่ากับตัดอารมณ์ราคะ (โลภ) และปฏิฆะ (โทสะ) ได้ไปในตัวเช่นกัน”

ลัก...ยิ้ม 11-11-2011 11:47

สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตาตรัสสอนเสริมให้ มีความสำคัญดังนี้

๑. “สำหรับพวกเจ้า จงหมั่นศึกษาคำสอนเรื่องศีล ป้องกันไม่ให้เกิดกิเลสของท่านพระ... ให้มาก ๆ จักได้ตัดอารมณ์ราคะและปฏิฆะได้จริง ๆ เสียที”

๒. “การรักษาศีล-สมาธิ-ปัญญา ให้ดูบารมี ๑๐ หรือกำลังใจเต็มเป็นสำคัญ ถ้ากำลังใจไม่เต็มเสียอย่างเดียว ศีล สมาธิ ปัญญาก็เต็มอยู่ในจิตไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง.. จักต้องคอยตรวจดูการกระทำของกาย วาจา ใจอยู่ตลอดเวลา ว่ากรรมนั้นเป็นไปเพื่อกิเลสหรือเป็นไปเพื่อพระนิพพาน เรื่องของการผิดพลาดบ้าง เป็นของธรรมดา แต่พึงมีสติ-สัมปชัญญะกำหนดรู้ด้วยปัญญาว่า ต่อไปจักไม่ทำ ไม่พูด ไม่คิดอย่างนั้นอีก”

๓. “การปฏิบัติงานทั้งทางโลกและทางธรรมต้องไม่ทิ้งสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทา ให้จิตยอมรับความจริง ยอมรับกฎธรรมดาหรือกฎของกรรมเข้าไว้ หากจิตยังฝืนอยู่เท่าไหร่ ถือว่ายังห่างไกลวิปัสสนาญาณเท่านั้น ทำอะไรก็ให้จิตยอมรับกฎของธรรมดาเข้าไว้บ้าง พิจารณาทุกอย่างให้เข้าหาธรรมดา เพราะจุดนี้แหละ.. คืออริยสัจ และเป็นเหตุให้ตัดร่างกายได้ในที่สุด”

ลัก...ยิ้ม 14-11-2011 11:29

๔. “ดูจิต ดูอารมณ์ของจิตที่เกาะติดขันธ์ ๕ ด้วยอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเรา เป็นของเรา ว่าอารมณ์อันไหนเกิดแก่จิตบ้าง ถ้าไม่เห็นก็แก้ไขอันใดมิได้ จักต้องเห็นจิต เห็นอารมณ์ของจิตจึงจักแก้ไขได้ ในประการอื่น ๆ ไม่สำคัญเท่ากับดูจิต เป็นอารมณ์ของตนเอง ให้เห็นคุณของศีล สมาธิ ปัญญา ให้เห็นโทษของการไปติดขันธ์ ๕ ให้เห็นโทษของกามคุณ ๕ นี้ จักต้องอาศัยความใจเย็น สอบสวนจิตให้ลึกลงไป ค่อย ๆ ทำไป แล้วจักเห็นเหตุเห็นผล เห็นหนทางแก้ไขอารมณ์ของจิตชัดเจนขึ้น

๕. “อย่าสนใจสิ่งอื่นใดให้มากกว่าจิตของตน เพราะการส่งจิตออกนอกกายนั้น เป็นการแสวงหาทุกข์ เป็นสมุทัยเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แต่การเห็นอารมณ์จิตของตนเอง รักษาอารมณ์จิตของตนเองให้ทรงอยู่ในความผ่องใส ว่างจากกิเลส เป็นความสุข แม้จักระงับได้ชั่วคราว ก็จัดว่าเป็นความดีสูงสุดในพระพุทธศาสนา เห็นจิต เห็นอารมณ์ของจิต จึงเป็นคุณสมบัติของนักปฏิบัติธรรมในเขตพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง แต่จักจำต้องเห็นจิต เห็นอารมณ์ของจิตตามความเป็นจริง อย่าให้เห็นไปด้วยการเจือไปด้วยอารมณ์กิเลส คือ โมหะ โทสะ ราคะ เข้ามาบดบังความเห็นของจิตก็ใช้ไม่ได้ จักต้องมองเห็นด้วยปัญญา คือในอริยสัจนั่นแหละ จึงจักเป็นการมองจิต รู้อารมณ์ของจิตอย่างแท้จริง”

๖. “อย่าเป็นกังวลเรื่องสงฆ์ในวัด หรือแม้นอกวัดให้มากเกินไป เพราะความหวังดีกับพระพุทธศาสนาก็จงหวังดีกับจิตของตนเองด้วย ทุกอย่างทำตามหน้าที่ อย่าเก็บเอาความกังวลเข้ามา หรือเก็บเอากรรม หรือการกระทำของผู้อื่น จริยาของผู้อื่นเข้ามา เพราะจักทำให้เป็นทุกข์ พยายามทำทุกอย่างให้ดี ก็ต้องทำด้วยจิตเป็นสุข อย่าให้จิตตนตกเป็นทาสของกิเลสตามอุปาทานของตนเองก็แล้วกัน”


ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๙
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 05:44


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว