กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   พระครูสุวรรณเสลาภรณ์ (หลวงปู่สาย อคฺควํโส) (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=17)
-   -   หลักบำเพ็ญภาวนาทางจิต (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=64)

ชินเชาวน์ 21-01-2009 10:44

หลักบำเพ็ญภาวนาทางจิต
 
ขณะนั่งตั้งจิตในพระกัมมัฏฐานภาวนานั้น ถ้าเห็นว่าจิตหดหู่ ท้อถอยตกไปในฝ่ายโกสัชชะแล้ว
พึงเจริญธัมมวิจยะ หรือปิติสัมโพชฌงค์ อันใดอันหนึ่งนั้นก่อน เพื่อยกจิตที่หดหู่นั้นให้เฟื่องฟูขึ้น แล้วจึงเจริญกัมมัฏฐานต่อไป
เปรียบดังเพลิงนั้นจะดับอยู่แล้ว เอามูลโคแห้ง หญ้าแห้ง ฟางแห้ง มาใส่แล้วเป่าลมขึ้น เพลิงนั้นก็จะติดรุ่งโรจน์ขึ้นอีกได้
ขณะเมื่อจิตฟุ้งซ่านพึงเจริญ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเปกขา สัมโพชฌงค์
จิตนั้นก็จะระงับลงเปรียบดังจะดับกองเพลิงที่ใหญ่ฯ จะเอามูลโคสด หญ้าสด ฟืนสด มาทุ่มเทลง เพลิงนั้นก็จะดับไป
ดังนี้และเรียกว่าข่มจิต


คัดลอกจากหนังสืออนุสรณ์งานบำเพ็ญกุศลศพ ครบ ๑ ปี
พระครูสุวรรณเสลาภรณ์ (หลวงพ่อสาย อคฺควํโส)
อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าขนุน ต. ท่าขนุน อ. ทองผาภูมิ จ. กาญจนบุรี

ทิดตู่ 22-01-2009 14:12

ไม่รู้จะขยายความอย่างไรครับ หลวงปู่ท่านอธิบายได้ตรงมากแล้วครับ แต่ถ้าติดตรงบาลี โกสัชชะ ก็แปลว่า ความขี้เกียจ ธัมมวิจยะ ก็แปลว่า การใคร่ครวญในธรรม ปิติสัมโพชฌงค์ก็แปลว่า ความอิ่มใจในธรรมอันเป็นองค์ตรัสรู้ ปัสสัทธิ ก็แปลว่า ความสงบ สมาธิ อุเปกขาสัมโพชฌงค์ ก็แปลว่า ความวางเฉยจากการตั้งใจมั่นในธรรมอันเป็นเครื่องตรัสรู้ (จริง ๆ อันนี้ก็น่าจะแปลกันได้นะครับ) คือ ที่ผมได้ความรู้จากข้อธรรมข้อนี้ อย่างหนึ่งก็คือเห็นว่า เวลาขี้เกียจควรจะพิจารณาในธรรมอันทำให้จิตใจเกิดความอิ่มใจ สว่างโพลง มีความรื่นเริงในธรรม เหมือนโยนกองฟางแห้งลงไปในกองไฟ แล้วเป่าลมให้ไฟมันลุกโชน เวลาที่ฟุ้งซ่านจนเกินไปก็ใช้ธรรมอันเป็นเครื่องสงบใจในด้านต่าง มีอานาปานุสสติ เป็นต้น เข้าไปสงบไว้ เหมือนโยนกองฟางสดเข้าไปเพื่อเป็นการดับไฟกองนั้น สรุปทั้งขี้เกียจ ทั้งฟุ้งซ่าน ก็ใช้ข้อธรรมในโพชฌงค์ ๗ ประการมาเป็นหลักในการปฏิบัติได้ทั้งนั้น สมกับเป็นธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้โดยแท้ครับ

ทิดตู่ 22-01-2009 15:40

โพชฌงค์ หรือ โพชฌงค์ ๗ คือ ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ หรือองค์ของผู้ตรัสรู้ มี ๗ อย่างคือ
สติ (สติสัมโพชฌงค์) ความระลึกได้ สำนึกพร้อมอยู่
ธัมมวิจยะ (ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์) ความเฟ้นธรรม ความสอดส่องสืบค้นธรรม
วิริยะ (วิริยสัมโพชฌงค์) ความเพียร
ปีติ (ปีติสัมโพชฌงค์) ความอิ่มใจ
ปัสสัทธิ (ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์) ความสงบกายใจ
สมาธิ (สมาธิสัมโพชฌงค์) ความมีใจตั้งมั่น จิตแน่วในอารมณ์
อุเบกขา (อุเบกขาสัมโพชฌงค์) ความวางเฉย ความมีใจเป็นกลาง เพราะเห็นตามเป็นจริง
โพชฌงค์ ๗ เป็นหลักธรรมส่วนหนึ่งของ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ (ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ เกื้อหนุนแก่อริยมรรค อันได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และมรรคมีองค์ ๘)

เถรี 22-01-2009 15:55

ถ้าได้อ่านในนิทานตลิ่งชัน เรื่องพ่อนก หลวงพ่อสมปองท่านก็เทศน์เกี่ยวกับโพชฌงค์ ๗ ไว้เหมือนกัน
ท่านบอกว่า "นกทรงอยู่ในโพชฌงค์ ๗ ประการ เป็นสมาธิจนถึงอุเบกขา ตั้งอยู่ในฌาน ๔ ทรงตัว สิ่งที่ทำให้เกิดความอิ่มใจ สติคำนึงอยู่แต่ในสัจธรรมที่เค้าได้พบ
สองคือใคร่ครวญในธรรม แล้วเกิดความปีติชุ่มชื่นใจอิมเอิบ พอเกิดความชุ่มชื่นใจ อิ่มเอิบแล้ว ปัสสัทธิก็เกิด พอมันสงบปุ๊บ ก็เกิดกลายเป็นสมาธิ พอเข้าสู่สมาธิเมื่อไร ก็เกิดการวางเฉยทุกอย่าง นิ่ง แยกกายจิต
พอเข้าสู่อุเบกขาธรรม ก็ทรงเข้าสู่ฌาน ๔ ละเอียดปุ๊บ จิตก็ไม่ถอนออกมา นับแต่นั้นเป็นต้นมา เป็นอันว่าร่างนั้นจิตนั้นก็แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง พอมาคลายสมาธิอีกทีก็อยู่ที่พรหมแล้ว"

เถรี 22-01-2009 18:57

"ข้าแต่พระนาคเสน โพชฌงค์ มีเท่าไร"
"ขอถวายพระพร มี ๗ ประการ"
"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า บุคคลตรัสรู้ด้วยโพชฌงค์เท่าไร"
"ขอถวายพระพร บุคคลตรัสรู้ด้วยโพชฌงค์ข้อเดียว"
"คือข้อไหน พระผู้เป็นเจ้า"
"ขอถวายพระพร คือข้อ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ (ใคร่ครวญธรรมะ)"
"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ถ้าอย่างนั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงโพชฌงค์ ๗ ไว้ทำไม"
"ขอถวายพระพร พระองค์จะเข้าพระทัยความข้อนี้อย่างไร...คือดาบที่บุคคลสวมไว้ในฝัก บุคคลไม่ได้ชักออกจากฝัก อาจตัดสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ขาดได้หรือ"
"ไม่ได้พระผู้เป็นเจ้า"
"ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือ บุคคลปราศจาก ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ แล้ว ตรัสรู้ด้วยโพชฌงค์ ๖ ไม่ได้"
"ถูกแล้ว พระนาคเสน"

จากมิลินทปัญหา วรรคที่ ๗ ปัญหาที่ ๘


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 15:41


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว