กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=39)
-   -   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=7118)

เถรี 22-07-2020 08:56

เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓
 
ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๑๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓ วันนี้เรื่องที่อยากจะบอกกล่าวกับญาติโยมทั้งหลาย โดยเฉพาะท่านผู้เก่าในการปฏิบัติ แต่ว่าหาความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมไม่ได้ ส่วนใหญ่แล้วก็เกิดจากการที่ท่านขาดหลักธรรมและกองกรรมฐานที่เหมาะสมที่จะเอาไปประพฤติปฏิบัติกัน

หลักธรรมที่ว่าก็คือ หลักอิทธิบาท ๔ อิทธิบาท คือคุณเครื่องพื้นฐานที่นำเราไปสู่ความสำเร็จ มีอยู่ ๔ ประการคือ ๑ ฉันทะ ยินดีและพอใจที่จะทำสิ่งนั้น ๆ อย่างจริงจัง

คำว่า จริงจัง ในที่นี้ ก็คือการแลกด้วยชีวิต หมายความว่าถ้าหากทุ่มเทจริงจัง ถึงตายลงไปก็ยอม เพื่อให้ได้อรรถได้ธรรมที่ตนเองต้องการ ซึ่งกำลังใจในลักษณะของความพอใจชนิดที่แลกกันด้วยชีวิตนี่แหละ ที่จะทำให้เกิดความสำเร็จในการปฏิบัติธรรมได้

ท่านทั้งหลายก็ต้องพินิจพิจารณาดูว่า ตัวเราเองนั้นมีความยินดีและพอใจที่จะปฏิบัติธรรมจริง ๆ หรือเปล่า ? หรือว่ายังยินดีในเรื่องอื่น ๆ ที่ขวางกับการปฏิบัติธรรม เป็นต้นว่า ดูหนัง ฟังเพลง แช็ตไลน์ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้จะเห็นได้ชัดว่า ความยินดีและพอใจของท่านนั้นออกไปนอกลู่นอกทาง นอกแนวของการปฏิบัติไปมากแล้ว ถ้าขาดความยินดีความพอใจที่เรียกว่าฉันทะตัวนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางโลกหรือว่าเรื่องทางธรรม ท่านก็ไม่สามารถที่จะปฏิบัติให้สำเร็จลงได้

เถรี 22-07-2020 08:59

ข้อที่ ๒ คือ วิริยะ พากเพียรกระทำสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นอย่างเต็มที่ ถ้าถามว่าอย่างเต็มที่นี่ระดับไหน ? ก็ต้องระดับประมาณฝนทั่งให้เป็นเข็ม เด็กรุ่นหลังไม่เคยเห็นทั่ง ทั่งก็คือแท่นเหล็กหล่อที่เอาไว้สำหรับรองรับเวลาตีเหล็ก ไม่ว่าจะตีเหล็กเป็นรูปร่างลักษณะอย่างไร เป็นเครื่องใช้ไม้สอยอะไรก็ตาม วัตถุสำคัญอย่างหนึ่งที่ใช้ในการตีเหล็ก ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือทั่ง เป็นเหล็กหล่อแท่งใหญ่มาก ถึงจะมั่นคงแข็งแรงเพียงพอที่จะรองรับค้อนหนัก ๆ ที่เหวี่ยงฟาดอยู่ตลอดเวลาได้

ความเพียรพยายามในการปฏิบัติธรรมนั้นต้องอยู่ในระดับฝนทั่งให้เป็นเข็ม ก็คือค่อย ๆ ขัด ค่อย ๆ ถู จนกระทั่งเหล็กแท่งใหญ่กลายเป็นเข็มลงไป ต้องใช้ความเพียรพยายามสูงขนาดไหน ? ท่านทั้งหลายก็เปรียบเทียบดู แล้วตัวเราเองนั้นใช้ความเพียรความพยายามในระดับนั้นแล้วหรือยัง ?

เถรี 23-07-2020 20:37

ข้อที่ ๓ จิตตะ กำลังใจในการจดจ่อปักมั่นอยู่กับเป้าหมายไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เป็นคนใจง่าย ถึงเวลาเขาบอกว่ากองกรรมฐานนี้ดี เราก็ย้ายไปทำกรรมฐานกองนั้น ยังไม่ทันที่จะเกิดผล

เขาบอกว่ากรรมฐานกองโน้นดี เราก็ย้ายไปทำกรรมฐานกองโน้น ซึ่งอาตมาเคยเปรียบไว้ว่า เหมือนเราขุดบ่อต้องการน้ำ แต่ขุดลงไป ๒-๓ เมตร เขาบอกว่าทางด้านโน้นดีกว่า น่าจะมีน้ำ เราก็ย้ายที่ไปขุดใหม่ ก็ได้แต่ย้ายไปย้ายมา ทำงานด้วยความเหนื่อยยาก แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ คือไม่เจอน้ำเลย เนื่องจากว่ากำลังใจเราไม่ได้ปักมั่นอยู่ที่เดียว

ลักษณะของการปฏิบัติธรรมนั้นเป็นการฝืนกระแสโลก ถ้ากำลังใจของเราไม่เด็ดเดี่ยวมั่นคง สิ่งแรกเลยที่เราจะสู้ไม่ได้ก็คือคำพูดของคน ที่กล่าวหาว่าเราบ้าบ้าง เพี้ยนไปแล้วบ้าง ซึ่งถ้าหากว่ากำลังใจของเราจดจ่อปักมั่นแน่วแน่ต่อเป้าหมาย ก็จะไม่แยแสกับสิ่งต่าง ๆ ที่มาจากภายนอก โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการปฏิบัติธรรมอย่างที่ต้องการ ก็จะมีก็จะเกิดขึ้น ญาติโยมทั้งหลายก็ต้องพินิจพิจารณาดูว่า กำลังใจของเราปักมั่น แน่นหนาดีแล้วหรือ ต่อเป้าหมายของเราคือพระนิพพาน ?

เถรี 23-07-2020 20:41

ข้อสุดท้ายคือ วิมังสา ต้องหมั่นไตร่ตรองทบทวนอยู่เสมอ ๆ ที่ปัจจุบันนี้ต่างประเทศนำเอาไปเป็นทฤษฎีในการสรุปและประเมินผล ซึ่งความจริงแล้วพระพุทธเจ้าตรัสไว้ ๒,๖๐๐ ปีเศษแล้ว

วิมังสาที่ไต่ตรองทบทวนนั้น ก็เพื่อที่จะได้มั่นใจว่า เรากระทำอะไร ? เพื่ออะไร ? ยังตรงต่อเป้าหมายหรือไม่ ? ขาดระยะทางอยู่ใกล้ไกลเท่าไร ? เป็นต้น เราจะได้ใช้ความเพียร ใช้กำลังใจที่จดจ่อปักมั่น ใช้ความยินดีที่กระทำสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ได้อย่างเต็มที่และถูกต้องตรงตามเป้าหมายที่วางเอาไว้

ดังนั้น...ท่านทั้งหลายที่ปฏิบัติธรรมในลักษณะของเป็นคนเก่า ทำมานานแต่ไม่เกิดผล ให้พิจารณาดูว่าเราเองนั้นขาดตัวอิทธิบาท ๔ หรือไม่ ?

ประการที่สอง ที่อยากจะบอกกล่าว ก็คือ อานาปานสติ คือการระลึกถึงลมหายใจเข้าออก ซึ่งเป็นพื้นฐานของกองกรรมฐานทั้งปวง ซึ่งถ้าท่านทั้งหลายขาดอานาปานสติกรรมฐานควบไปแล้ว กองกรรมฐานใด ๆ ทำไปก็ไม่เกิดผล เพราะว่าขาดหลักหรือว่าขาดพื้นฐานที่มั่นคงเพียงพอ ซึ่งจะทำให้สิ่งทั้งหลายที่เราทำนั้นพังไปเสียหายไปโดยง่าย

เถรี 23-07-2020 20:44

นักปฏิบัติที่ดีอย่างไรเสียก็จะลืมลมหายใจเข้าออกไม่ได้ โดยเฉพาะท่านทั้งหลายที่เดือดร้อนเพราะ รัก โลภ โกรธ หลง กระหน่ำซ้ำเติมอยู่ทุกวัน ถ้าเราหยุดใจเอาไว้ที่ลมหายใจเข้าออกได้ รัก โลภ โกรธ หลง ก็จะหาเราไม่เจอชั่วคราว ทำให้เรามีเวลาพัก ทำให้เรามีเวลาคิดไตร่ตรอง แล้วหาช่องทางที่จะต่อสู้ เพื่อให้ประสบความสำเร็จต่อไป

ฉะนั้น...ญาติโยมทั้งหลาย ไม่ว่าจะปฏิบัติกรรมฐานสายไหนก็ตาม จะเป็น พุทโธ นะมะพะทะ สัมมา อะระหัง พองหนอ ยุบหนอ หรือจะใช้การภาวนาตัวบทพระคาถาใด ๆ ก็ดี ต้องควบลมหายใจเข้าออกไปด้วย จึงจะเกิดเป็นอัปปนาสมาธิที่ตั้งมั่น ควรแก่การใช้งาน ควรแก่การนำไปตัดกิเลส ถ้าอย่างนั้นแล้วท่านทั้งหลายจึงจะประสบความสำเร็จอย่างที่หวัง

ลำดับต่อไปให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านเติมบุญ
วันเสาร์ที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย คะน้า)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 14:30


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว