กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=39)
-   -   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๘ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=4654)

เถรี 25-10-2015 18:07

เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๘
 
ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกของเราไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า...ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก...ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ที่เราถนัดและชื่นชอบมาแต่เดิม

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘ เมื่อครู่ที่ได้กล่าวว่า การปฏิบัติธรรมของพวกเรานั้น ส่วนใหญ่แล้วจะบกพร่องในส่วนของวิริยบารมีและขันติบารมี โดยเฉพาะบุคคลรุ่นใหม่ ๆ ที่มักจะใจร้อน ใจเร็ว ทำให้ขาดความพากเพียรและความอดทน

คราวนี้ในการปฏิบัติธรรมของเรานั้น ถ้าจะว่าไปแล้วก็คือต้องทำให้หวังผล การที่เราหวังมรรคหวังผลในการปฏิบัติธรรมนั้น ในช่วงสุดท้ายก็เป็นการขับเคี่ยวกันระหว่างสังโยชน์ ๑๐ กับบารมี ๑๐ ก็คือ ทำอย่างไรที่เราจะสร้างบารมี ๑๐ ให้เต็ม ทำอย่างไรที่เราจะละสังโยชน์ ๑๐ ให้ได้

ในส่วนของบารมี ๑๐ ทั้งหลาย หลายท่านก็ได้ไปหลายข้อแล้ว คำว่าได้ในที่นี้ คือ ไม่มีความหนักใจที่จะประพฤติปฏิบัติ อย่างเช่น ในส่วนของทานบารมี ศีลบารมี เมตตาบารมี สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เราประพฤติปฏิบัติกันจนเป็นปกติ จนลืมไปแล้วว่าเราปฏิบัติอยู่ในบารมี ๑๐

ส่วนของเนกขัมมบารมีก็มีหลายท่านที่ปฏิบัติในศีล ๘ เป็นปกติ ปัญญาบารมีของท่านทั้งหลายก็เห็นอยู่แล้วว่าการปฏิบัติธรรมนั้นเป็นของดี เราจึงตั้งหน้าตั้งตามาปฏิบัติ ก็แสดงว่าท่านทั้งหลายไม่ได้บกพร่องในส่วนของปัญญาบารมี เพียงแต่บกพร่องในส่วนของวิริยบารมี ขันติบารมี ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

เถรี 26-10-2015 06:58

ส่วนของสัจจะบารมีนั้นให้วัดง่าย ๆ ว่า ถ้าเรานัดหมายกับผู้ใดแล้วไปตรงตามเวลา ตรงตามนัดหมาย แปลว่าเราเป็นผู้มีสัจจะบารมี ถ้าบุคคลใดนัดหมายแล้วยังไม่สามารถไปได้ตรงตามเวลา แปลว่าสัจจะบารมียังบกพร่องอยู่

ในส่วนของอธิษฐานบารมีนั้นเป็นความตั้งใจว่า เราทำความดีนี้เพื่ออะไร ทุกคนสามารถที่จะตั้งใจได้ ถือว่าข้อนี้ผ่านสำหรับพวกเรา ก็จะไปสำคัญตรงอุเบกขาบารมีอีกที การปฏิบัติธรรมของเราถ้าไม่มีอุเบกขาบารมี โอกาสที่จะปฏิบัติแล้วได้ผลก็มีน้อย เนื่องจากว่าสมาธิทุกระดับต้องประกอบไปด้วยอุเบกขา ก็คือ เรามีหน้าที่ภาวนา ส่วนผลของการภาวนาจะเกิดอย่างไรก็ช่าง การที่เราทำกำลังใจว่าผลจะเกิดอย่างไรก็ช่างนั่นคือตัวอุเบกขาบารมี ไม่อย่างนั้นหลายท่านก็ไปตามดู ตามรู้ ตามจี้อยู่ตลอดเวลา ตอนนี้เราภาวนาอย่างนี้ เดี๋ยวอีกสักครู่จะเป็นอย่างนี้ ลักษณะนั้นเป็นความฟุ้งซ่าน สมาธิจะไม่ทรงตัวแนบแน่นได้

ก็แปลว่าส่วนใหญ่ของเราในบารมี ๑๐ มีส่วนที่น่าหนักใจอยู่แค่ ๓ ส่วน คือส่วนวิริยบารมี เรามีความพากเพียรสมบูรณ์บริบูรณ์หรือว่าบกพร่องอยู่ ? ขันติบารมี เรามีความอดทนอดกลั้นต่อสิ่งที่มากระทบรอบข้างในการปฏิบัติของเราหรือไม่ ? แล้วก็อุเบกขาบารมี เราสามารถปล่อยวางได้หรือไม่ว่าเรามีหน้าที่ปฏิบัติภาวนา ส่วนผลจะเกิดอย่างไรก็ช่างมัน ?

ถ้าท่านทั้งหลายสามารถทำได้ ก็แปลว่าท่านเป็นผู้ที่สามารถทรงบารมี ๑๐ เอาไว้ได้ ก็ให้พากเพียรพยายามทำให้เข้มข้นยิ่ง ๆ ขึ้นไป ถ้าเป็นสมัยที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่าซุงท่านยังอยู่ ท่านสั่งให้ทุกคนเขียนบารมี ๑๐ ติดหัวเตียงเอาไว้ ตื่นเช้าขึ้นมาก็อ่านดู ข้อไหนยังบกพร่องก็ให้เร่งรัดในข้อนั้น

เถรี 28-10-2015 07:13

ในส่วนของสังโยชน์ ๑๐ นั้น ท่านให้ละสังโยชน์ ๓ ข้อแรก คือในส่วนของสักกายทิฐิ ความเห็นว่าตัวเราเป็นของเรา ทั้ง ๆ ที่ร่างกายนี้เป็นธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นสมบัติของโลกที่เรายืมมาใช้ชั่วคราว แล้วเราจะละอย่างไร ? ท่านให้ละด้วยการระลึกถึงความตายเป็นปกติ รู้ตัวอยู่เสมอว่าเราจะต้องตาย

วิจิกิจฉา คือ สังโยชน์อีกข้อหนึ่งที่ประกอบไปด้วยความลังเลสงสัย ว่าการปฏิบัติธรรมนี้ได้ผลจริงหรือไม่ ? พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ดีจริงหรือไม่ ? หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านแนะนำว่า ให้เราทำความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างจริงใจ ไม่ล่วงเกินด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง แล้วรักษาศีลทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ล่วงละเมิดศีลด้วยตนเอง ไม่ยุงยงส่งเสริมให้ผู้อื่นทำ ไม่ยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นทำ

ถ้าสามารถรักษากำลังใจในการละสังโยชน์ ๓ ในหัวข้อเบื้องต้นได้ในลักษณะนี้ ท่านให้โดดไปตัดอวิชชาตัวสุดท้ายเลย ท่านบอกว่าอวิชชาคือความเขลา ไม่รู้จริงนั้น ประกอบไปด้วย ๒ ศัพท์ ศัพท์แรก ก็คือ ฉันทะ มีความยินดี มีความพอใจ ตาเห็นรูปพอใจในรูป หูได้ยินเสียงพอใจในเสียง จมูกได้กลิ่นพอใจในกลิ่น ลิ้นได้รสพอใจในรส กายสัมผัสพอใจในสัมผัส เป็นต้น

ในเมื่อเกิดความพอใจขึ้นมาก็คือฉันทะ ก็จะเกิดราคะ คือความอยากมีอยากได้ ทำให้เรายึดติดอยู่ ไม่สามารถที่จะหลุดพ้นจากกองกิเลสได้ เราจึงต้องสร้างสมาธิภาวนาของเราให้เข้มข้นเข้าไว้ ด้วยการซักซ้อมภาวนาบ่อย ๆ เมื่อสมาธิเข้มข้นขึ้น สติก็จะแหลมคมว่องไว จากเห็นรูปก็จะหยุดอยู่แค่เห็น ไม่เก็บเข้ามาใส่ใจปรุงแต่งต่อ หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส ใจครุ่นคิดก็ลักษณะเดียวกัน เมื่อสติแหลมคม สามารถที่จะยับยั้งตนเองได้ ก็ต้องอาศัยกำลังสมาธิในการหักห้ามใจอีกส่วนหนึ่ง

เถรี 29-10-2015 12:29

ในเมื่อสติ สมาธิของเรามั่นคงทรงตัว ก็ให้ทบทวนสังโยชน์ทั้ง ๔ ส่วนที่ได้กล่าวมา ทำใจของเราตัด ละ ให้ได้ว่า ร่างกายของเรานี้ก้าวไปสู่ความตายอย่างเที่ยงแท้แน่นอน ตายเมื่อไรขึ้นชื่อว่าการเกิดมามีร่างกายที่เต็มไปด้วยความทุกข์เช่นนี้เราไม่ต้องการ สิ่งที่เราต้องการอย่างเดียวคือพระนิพพาน แล้วให้เอาใจของเราจดจ่ออยู่กับภาพพระหรือพระนิพพานเอาไว้

เมื่อทุกคนทำกำลังใจมาถึงตรงจุดนี้แล้ว ก็ให้ย้อนกลับไปดูลมหายใจและคำภาวนาของเรา ถ้ายังมีลมหายใจอยู่ให้กำหนดดู กำหนดรู้ลมหายใจของเราไป ถ้ายังมีคำภาวนาอยู่กำหนดการภาวนาของเราไป ถ้าหากว่าลมหายใจเบาลงหรือว่าหายไป คำภาวนาหายไป ก็ให้กำหนดใจรู้อยู่เฉย ๆ อย่าดิ้นรนอยากให้เป็นอย่างนั้น และอย่าดิ้นรนออกจากอาการเหล่านั้น เรามีหน้าที่รับรู้เท่านั้นว่าตอนนี้เป็นอย่างนี้ ๆ แล้ว

ถ้าสามารถวางกำลังใจอย่างนี้ได้ เราก็สามารถก้าวสู่สมาธิขั้นสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ลำดับต่อไปก็ให้ทุกท่านภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยจนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา

พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันอาทิตย์ที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๘

(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย รัตนาวุธ)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 20:41


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว