กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=43)
-   -   ให้เห็นความจริงของชีวิตหรือสัจธรรม ๕ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=3133)

ลัก...ยิ้ม 10-01-2012 11:06

ให้เห็นความจริงของชีวิตหรือสัจธรรม ๕
 
ให้เห็นความจริงของชีวิตหรือสัจธรรม ๕

สมเด็จองค์ปฐม ทรงตรัสสอนปกิณกธรรมไว้หลายเรื่อง มีความสำคัญดังนี้

๑. เรื่องให้เห็นความจริงของชีวิตร่างกายหรือสัจธรรม ๕ มีความสำคัญดังนี้

๑.๑ ให้เห็นความจริงของชีวิต การเจริญพระกรรมฐานจักให้ได้ผลดี จักต้องเข้าหาความจริงของชีวิตร่างกายทุกครั้งไป ให้ถามตนเองดูว่า ร่างกายนี้เมื่อเกิดมาแล้ว มีความแก่ลงไปเป็นธรรมดาใช่หรือไม่ มีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดาใช่หรือไม่ ขณะที่ยังไม่ตายมีความปรารถนาไม่สมหวังเป็นธรรมดาใช่หรือไม่ มีความพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นธรรมดาใช่หรือไม่

๑.๒ สัจธรรมเหล่านี้ พึงถามให้เจริญอยู่ในจิต ให้เห็นทุกข์ของการมีร่างกายที่จักต้องประสบกับสภาพเช่นนี้อยู่เป็นปกติ ซึ่งถ้าหากพ้นจากสภาวะการเกิดมีร่างกายแล้ว เหตุเหล่านี้ก็จักไม่มีในเรา ให้ถามจิตแล้วให้จิตตอบ จนกว่าจิตจักหน่ายจากความอยากมีร่างกายอย่างนี้อีก และพยายามรักษาจิตอย่าให้มีความเศร้าหมอง มองให้เห็นธรรมดาในการมีร่างกายว่า มันมีสภาพเช่นนี้เป็นธรรมดา ให้พิจารณาจนกว่าจิตจักยอมรับสภาพเหล่านี้อย่างไม่มีทุกข์

๑.๓ อนึ่ง เรื่องของคุณหมอ ให้ระวังสุขภาพให้มาก เพราะวัยชรานี้ กระดูกต่าง ๆ ทั้งหลายในร่างกายนี้เริ่มเปราะบาง เสื่อมไปตามหลักธรรมดาของร่างกาย เพราะฉะนั้น ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่พึงอยู่ในอิริยาบถเดียวนาน ๆ จักเป็นอันตรายแก่สุขภาพได้โดยง่าย เรื่องอาหารก็พึงระมัดระวัง พึงกินอาหารที่บำรุงกระดูกเอาไว้บ้าง อย่าปล่อยไปตามอัธยาศัย ประหยัดมากเกินไป ก็เป็นการเบียดเบียนสุขภาพของกายและจิตโดยใช่เหตุ อย่าลืมว่า จิตนี้ยังอาศัยกายอยู่ ก็พึงบำรุงรักษากายเข้าไว้ด้วย เมตตาอย่าให้เป็นที่เบียดเบียนจิตมากจนเกินไป

๑.๔ คุณหมอเองก็ไม่ควรประมาทในความตาย ชีวิตเหลือน้อยวันด้วยกันทุกคน ตั้งใจกันเข้าไว้ว่า ทุกลมหายใจเข้าออกคือพระนิพพาน (รู้ลม-รู้ตาย-รู้นิพพาน) อย่ามัวเมาประมาทในชีวิต และจงอย่าห่วงกังวล เรื่องใครจะตายก่อนตายหลัง ขอให้เตรียมจิตให้พร้อมก็แล้วกัน เรื่องของความตายนี้ อายุไม่สำคัญ มีโอกาสตายได้ทุกเวลา

๑.๕ อย่าสนใจในจริยาของผู้อื่น สิ่งที่ควรจักสนใจให้มากคือ อารมณ์จิตของตนเองเมื่อถูกกระทบ โดยเฉพาะธรรมารมณ์ที่เกิดเป็นนิมิตขณะกายหลับพักผ่อน จักมีนิมิตเกิดเข้ามากระทบจิตให้เกิดอารมณ์พอใจ-ไม่พอใจอยู่เสมอ จักเป็นข้อทดสอบอารมณ์อยู่เป็นปกติธรรม ยิ่งในขณะที่ร่างกายไม่ดีหรือเจ็บป่วยมากเท่าไหร่ ยิ่งต้องรักษากำลังใจให้ดีมากขึ้นเท่านั้น พร้อมกับรักษาอารมณ์จิตคิดถึงพระนิพพานให้มาก (รู้ลม-รู้ตาย-รู้นิพพาน) พร้อมพิจารณาร่างกายเข้าสู่ไตรลักษณ์ เห็นกายเป็นเพียงแค่สภาวธรรมอันหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา และดับไปเป็นธรรมดาอยู่อย่างนั้น เราคือจิตที่เป็นเพียงแค่ผู้อาศัยอยู่ในกายนี้เท่านั้น เห็นทั้งสันตติภายนอกคือ ร่างกาย เห็นทั้งสันตติภายใน คือ อารมณ์จิตของเราที่เกิดดับ ๆ อยู่อย่างนั้น แล้วพยายามวางธรรมภายนอก พิจารณาธรรมภายใน ให้รู้อยู่ในธรรมปัจจุบันให้มาก

๑.๖ ให้สำรวมจิต อย่าให้ห่วงด้วยประการทั้งปวง ประการสำคัญที่สุด คือ ห่วงขันธ์ ๕ ของตนเอง จุดนี้ต้องสอบจิตให้หนัก พยายามอย่าไปเผลอห่วงมันเข้า วิธีคลายห่วงก็ให้พิจารณาขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริงในสัจธรรมทั้ง ๕ เกิดเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ เจ็บเป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์ ความปรารถนาไม่สมหวังและความโศกเศร้าเสียใจเป็นทุกข์ ทุกข์เหล่านี้มันมาจากไหน มาจากอุปทานขันธ์ ๕ ทั้งสิ้น ถ้าตัดความห่วงใยในขันธ์ ๕ (ตัดห่วงขันธ์ ๕) ตัวเดียว ก็ตัดได้หมดทุกอย่าง และจักต้องมุ่งตัดในขันธ์ ๕ ของตนเองเป็นประการสำคัญ

ลัก...ยิ้ม 11-01-2012 10:32

๒. เรื่องเวลาของนักปฏิบัติธรรม มีอยู่แต่ธรรมปัจจุบันเท่านั้น มีความสำคัญดังนี้

๒.๑ งานทางโลก เมื่อทำไปให้เห็นงานงวด (งวดเหลือน้อยลง) ก็พึงพิจารณาว่าชีวิตของเราก็งวดลงไปทุกทีเช่นกัน อย่าพึงมีความประมาทในชีวิต อย่าคิดว่าอายุจักยืนยาว ให้คำนึงถึงมรรคผลนิพพานเข้าไว้ ดูหนทางการปฏิบัติเข้าสู่มรรคผลนิพพานไว้เสมอ (ศีล-สมาธิ-ปัญญา-หรือ ทาน-ศีล-ภาวนา) อย่าประมาทในความตาย ให้ทำความรู้สึกไว้เสมอว่า เวลาในขณะจิตนี้แหละ คือเวลาที่จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จักปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพาน

๒.๒ เวลาของนักปฏิบัติ มีอยู่แต่ธรรมปัจจุบันเท่านั้น ตั้งใจตั้งจิตให้มาเอาจริงกันที่ตรงนี้ มองตัวปัจจุบันให้พบ แล้วอย่าไปปฏิบัติภายนอก ให้มาละ มาปฏิบัติที่ภายในกายและจิตของตนเองนี้แหละ (๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ทรงตรัสสอนอยู่แค่กายกับจิตเท่านั้น) ทำให้ได้อย่างนี้อยู่ตลอดเวลา จึงจักขึ้นชื่อว่า ปฏิบัติได้ตรงตามคำสอนของตถาคต

๒.๓ หน้าที่พระพุทธศาสนามีเท่าไหร่ ให้ตั้งใจทำให้ดีที่สุด ทำได้แค่ไหนให้พอใจแค่นั้น อย่าดิ้นรนไปให้เกินกำลังของร่างกาย จักเป็นการเบียดเบียนตนเองเป็นอย่างยิ่ง ร่างกายป่วยก็ต้องกินยารักษาโรคนั้น อย่าทิ้งยา (อันเป็น ๑ ใน ๔ ของปัจจัย ๔ ที่มีความจำเป็นของผู้มีร่างกาย) อย่าคิดว่าร่างกายจักเป็นอย่างไรก็ช่างหัวมัน จุดนี้ทำไม่ถูก เพราะพรหมวิหาร ๔ พึงมีกับร่างกายของตนเองก่อน การกินยาเป็นการบรรเทาทุกขเวทนาของร่างกาย จิตยังอาศัยกายนี้อยู่ กายชำรุดก็พึงซ่อมแซมไปถ้ายังซ่อมแซมได้ เพื่อความเป็นสุขของจิต รักษาโรคเพื่อยังอัตภาพให้เป็นไป เพื่อความเบียดเบียนจิตจักได้ไม่เกิดจากเวทนาของโรคแห่งกายนี้ จักได้นำจิตนี้ มาปฏิบัติธรรมอย่างมีสติ-ปัญญาที่แจ่มใส อันเนื่องด้วยไม่มีทุกขเวทนาของกายเข้ามาเบียดเบียนจนเกินไป

๒.๔ หลวงพี่ วอ. ท่านเล่าว่า ท่านตระเวนไปหาพระดี ๆ ทั่วเมืองไทย ได้พบพระดี ๆ หลายองค์ มีอยู่ ๓ องค์ ทักท่านเหมือนกันหมดว่า ให้ท่านหยุดตระเวนเสียที แต่ท่านไม่เข้าใจ กลับบอกว่า ที่ยังตระเวนไปก็เพื่อหาที่สงบ ๆ เพื่อปฏิบัติธรรม จุดนี้แหละที่ท่านไม่เข้าใจ เพราะความสงบมันอยู่ที่ใจท่าน หากจิตท่านยังไม่สงบ ยังปรุงแต่งธรรม ยังมีอุปาทาน เมื่อถูกกระทบจากธรรมภายนอก (อายตนะภายนอกกับภายในกระทบกันแล้ว จิตขาดการสำรวมอินทรีย์ หรือขาดอินทรีย์สังวรณ์) จิตก็ไม่สงบ ยังฟุ้งซ่าน เป็นนิวรณ์ ทำปัญญาให้ถอยหลัง หรือโง่ทุกครั้ง สอบตกทุกครั้งเมื่อถูกกระทบ สรุปว่าท่านจะไปอยู่ที่ไหน มันก็ไม่สงบ หากยังไม่เข้าใจคำว่าหยุดตระเวนเสียที ซึ่งพระดี ๓ องค์ท่านทัก "หยุด" นี้ ท่านหมายความว่า หยุดอารมณ์ฟุ้งซ่าน หยุดอารมณ์ ๒ คือพอใจกับไม่พอใจ ระงับนิวรณ์ ๕ ให้ได้ จึงจะเห็นความสงบ พบความสงบได้ที่ใจของตนเอง ดังคำตรัสที่ว่า “ธรรมของตถาคตจักต้องหยุดก่อน (หยุดอารมณ์ ๒ โดยระงับนิวรณ์ หยุดฟุ้งซ่าน) จึงจักเห็นการเคลื่อนไหวของกิเลสได้ตามความเป็นจริง จัดว่าตัวอกุศลกรรมยังให้ผลกับหลวงพี่วอ. อยู่ ท่านจึงยังไม่พบกับความสงบ ในปัจจุบันได้ข่าวว่าท่านหยุดตระเวนหาพระดีแล้ว ท่านก็ปักหลักปฏิบัติธรรมอยู่ที่เพชรบูรณ์

๒.๕ พลอากาศเอก อาทร โรจนวิภาต ถึงแก่กรรมเมื่อวันศุกร์ ๙ พ.ย. ๒๕๓๙ ท่านก็ไปพระนิพพานแล้ว หลวงพ่อฤๅษีท่านมารับศิษย์เอกของท่านไปพระนิพพาน เมื่อเห็นธรรมมรณภัยภายนอกแล้ว ก็ให้น้อมเข้ามาสอนจิตเป็นธรรมภายในว่า แม้ร่างกายของเราเอง ไม่ช้าไม่นานก็จักต้องสู่สภาพความตายเช่นนี้เหมือนกัน จักได้ไม่มีความประมาทในชีวิต เร่งปฏิบัติความดี เพื่อจักพ้นจากมนุษย์โลกเข้าสู่แดนพระนิพพาน ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง แต่ความตายนั้นเที่ยง ก่อนจักตายก็ไม่มีนิมิตเครื่องหมาย หากกรรมความตายเข้ามาตัดรอนชีวิตเมื่อไหร่ ก็ตายเมื่อนั้น จึงไม่ควรประมาทในความตาย จิตพร้อมตาย โดยซ้อมตายไว้เสมอ มีอานาปาฯ บวกมรณาฯ และอุปสมานุสติอยู่เสมอ รู้ลม-รู้ตาย-รู้นิพพาน ทำความเพียรเพื่อพระนิพพานไว้ไม่ขาดสาย

ลัก...ยิ้ม 12-01-2012 11:56

๒.๖ ยิ่งร่างกายมันไม่ดี ยิ่งต้องหมั่นพิจารณาดูสภาพของร่างกายตามความเป็นจริง ให้จิตยอมรับนับถือสภาพของร่างกาย ที่มันแก่ มันเสื่อม มันป่วยอยู่อย่างนี้เป็นธรรมดา แม้ความตายจักเข้ามาถึง มันก็เป็นปกติธรรมของร่างกาย พิจารณาเข้าไว้ แล้วตั้งจิตให้มั่นคงว่า ร่างกายอย่างนี้จักไม่มีกับเราอีก ตายเมื่อไหร่ไม่ขอมีร่างกายเช่นนี้อีก มนุษยโลก-เทวโลก-พรหมโลกก็ไม่ปรารถนา หวังอยู่จุดเดียวคือพระนิพพาน จุดนี้พยายามรักษาให้ทรงอยู่ในอารมณ์ของจิตเข้าไว้

๒.๗ อย่าไปหาธรรมภายนอก ให้หาที่กายและจิตเรานี่แหละ อริยสัจแปลว่า ความจริงที่ตถาคตเป็นผู้พบเป็นบุคคลแรกในโลก ได้พิสูจน์แล้วด้วยตนเองจนบรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว จึงนำมาสอนให้ผู้อื่นบรรลุตาม โลกไม่เที่ยงหมายความว่า โลกภายนอกมันไม่เที่ยงอยู่เป็นปกติ แก้ไขอะไรไม่ได้ โลกภายในคือขันธโลกหรือร่างกาย (ขันธ์ ๕) ก็ไม่เที่ยง แต่ขันธโลกประกอบด้วยกายกับจิต (ใจ) กายเป็นสมบัติของโลก ซึ่งไม่มีใครเอาไปได้ มันก็แสดงไตรลักษณ์ ไม่เที่ยงของมันอยู่อย่างนั้น ให้พิจารณาหาความจริงให้พบ ร่างกายประกอบด้วยธาตุ ๔ หากธาตุใดธาตุหนึ่งหย่อนลงไป ก็ทำให้ความเจ็บไข้ไม่สบายปรากฏ สร้างให้เกิดทุกขเวทนาแก่ร่างกาย แล้วจิตนั่นแหละเป็นผู้รับรู้แห่งเวทนานี้ ดังนั้นตราบใดที่ยังมีร่างกาย ก็ย่อมจักหนีสภาวะธรรมของร่างกายที่ไม่เที่ยงอยู่นี้ไม่พ้น จงพิจารณาให้ถึงซึ่งความเบื่อหน่ายในร่างกาย ให้ถึงซึ่งความวางเฉยในร่างกายลงได้ เมื่อนั้นแหละ จิตจึงจักสิ้นทุกข์ และอารมณ์นั้นจักถึงพระนิพพานได้โดยง่าย ด้วยความปรารถนาในร่างกายนี้ไม่มีในจิตอีกต่อไป ทุกวันนี้ที่ยังทุกข์อยู่ เพราะจิตยังห่วงร่างกายของตนเองบ้าง ของผู้อื่นบ้าง จักด้วยจุดประสงค์อะไรก็เป็นทุกข์อยู่ดี ให้สอนจิตให้ดี ๆ จักได้รู้จักปล่อยวางได้ ชีวิตล่วงไป ความตายก็ใกล้เข้ามา อย่าเอาแต่ห่วงคนอื่น ให้ห่วงจิตของตนเองเป็นสำคัญ ตรวจสอบจิตดูว่า จิตปล่อยวางร่างกายของตนเองได้บ้างหรือยัง ติดตรงไหนให้แกะตรงนั้น ดูให้เห็นจริง ๆ นะ จึงจักแกะได้

๒.๘ พระอริยเจ้ายิ่งปฏิบัติไป ท่านจะไม่เบียดเบียนกายและจิต ท่านจะถนอมรักษาร่างกายตามที่จะสามารถรักษาได้ เพื่อไม่ให้ร่างกายเกิดทุกขเวทนาขึ้นมาเบียดเบียนจิต เพื่อจะทำให้จิตได้ดำเนินงานคือ เจริญพระกรรมฐานไปได้สะดวก ปัจจุบันของท่านอยู่ที่ตรงนี้ ไม่ใช่ห่วงร่างกายแต่ทำหน้าที่ให้กับร่างกาย โดยยึดหลักเมตตาในพรหมวิหาร ๔ ต้องไม่เบียดเบียนกายและจิต เพื่อยังอัตภาพให้เป็นไป (ไม่ตึงไป-ไม่หย่อนไป ใช้หลักสายกลาง) แต่ถ้ากายจะตายก็ปล่อยวาง เพราะห้ามตายไม่ได้ จุดนี้แหละคือมัชฌิมาของกายและจิต คำว่าพระอรหันต์คือ ท่านเลิกเบียดเบียนกายกับจิตของตนเอง ด้วยเหตุของการพิจารณาเห็นกายกับจิตตามความเป็นจริง จุดนั้นแหละ จึงจักหาความพอดีของกายกับจิตได้ จุดนี้ต้องพิจารณาให้ลึกซึ้ง แล้วจักเห็นได้ชัดว่ามีธรรมละเอียดซ่อนอยู่ เมื่อพบแล้วจักรู้ได้ถึงคำว่าไม่เบียดเบียนทั้งกายและจิต ตรัสไว้แค่นี้ให้พวกเจ้าเก็บไปพิจารณาให้ละเอียดยิ่ง ๆ ขึ้นไป

๒.๙ ตราบใดที่ยังไม่ถึงซึ่งพระนิพพาน อย่าให้จิตทิ้งบุญ เพราะปกติจิตของเรามักจะไหลลงสู่เบื้องต่ำ คือใฝ่หาบาป ชอบทำจิตของตนเองให้เศร้าหมองอยู่เสมอ บุญนี่แหละจะสะสมให้เป็นกำลังเข้าถึงซึ่งพระนิพพาน ใครมีกำลังใจทำบุญทำทานในระดับไหนก็ได้ชื่อว่าบุญ จงอย่าไปขัดศรัทธาของเขา จิตของคนเกาะบุญไม่เหมือนกัน เพราะเมื่อเขาได้ทำตามความพอใจของเขา จิตเขาก็เป็นสุข ดังนั้น ใครอยากทำบุญทำทานในระดับไหน เพื่อความสุขของจิตก็อย่าไปขัด และให้รับได้หมดทุกประการ ในขณะที่ฟังคนอื่น ๆ เขาคุยถึงการทำบุญทำทานในระดับไหน ๆ ก็ตาม หรือแม้แต่ซื้ออาหารเลี้ยงปลา ปล่อยสัตว์เดรัจฉาน หรือแม้แต่เลี้ยงหมา เลี้ยงแมว ให้ถือว่าเป็นบุญ จิตเขาเป็นสุขดีกว่าให้จิตเขาเป็นบาป

๒.๑๐ จักเจริญกรรมฐานให้ได้ดีจักต้องตัดอาลัยในชีวิต อย่าไปหดหู่กับร่างกาย ให้เห็นธรรมดาของร่างกาย มันจักป่วยก็เป็นธรรมดา มันจักตายก็เป็นธรรมดา การเจริญพระกรรมฐานเป็นการฝึกจิต ให้ยอมรับกฎธรรมดาของร่างกายตามความเป็นจริง อย่าท้อแท้อ่อนแอจักไม่มีผล พิจารณาจุดนี้ให้ดี ๆ จิตของเจ้าเวลานี้ แย่ตรงที่ท้อแท้หดหู่อยู่กับสภาพร่างกาย ที่มันมีแต่ทรุดโทรมลงไปทุกขณะ แล้วจิตไม่ยอมรับกฎธรรมดาของร่างกาย ต้องปรับปรุงกำลังใจเสียใหม่ พิจารณาให้ตก อารมณ์นี้อันตราย เพราะจิตเศร้าหมอง อย่าไปสนใจจริยาของผู้อื่น ให้ตั้งใจทำความดีเพื่อพระนิพพาน และเพื่อพระพุทธศาสนาเท่านั้นเป็นพอ พวกเจ้าแต่ละคนพึงเตรียมใจไว้เพื่อรับความจริงเกี่ยวกับร่างกายที่ไม่เที่ยง หาความทรงตัวไม่ได้ เดินเข้าไปหาอนัตตาในที่สุด เพราะทุกคนก็ต้องทิ้งร่างกายไปในที่สุด ไม่มีใครหนีพ้นความตาย ไม่ว่าตนเองจักทิ้งร่างกายหรือคนอื่นจักทิ้งร่างกาย ก็ให้ลงตรงกฎธรรมดาเข้าไว้ อย่าเสียกำลังใจให้มากจนเกินไป (เฉพาะผู้ที่หมดความหวั่นไหวเรื่องความตายได้จริง ๆ ก็มีแต่พระอรหันต์เท่านั้น)

๒.๑๑ ให้พยายามทรงอารมณ์ของจิตให้อยู่ในธรรมปัจจุบันให้มาก การนึกถึงอดีตก็ดี การนึกถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึงก็ดี เป็นนิวรณ์เลว เพราะจิตส่งออกเบื้องหลังและเบื้องหน้า ไม่อยู่ในธรรมปัจจุบัน และอารมณ์เหล่านี้เป็นเหตุทำให้ทุกข์เกิดขึ้นแก่จิต ดึงจิตลงต่ำให้มีอารมณ์เศร้าหมอง ส่วนการวางแผนชีวิต ว่าจักดำเนินไปอย่างไรในอนาคตนั้น เป็นการไม่ประมาทในชีวิต แต่มิใช่คิดมากจนเกินไป จนกลายเป็นฟุ้งซ่าน กลายเป็นนิวรณ์ทำปัญญาให้ถอยหลัง กลับมาเบียดเบียนจิตและกายตนเองใหม่ ดังนั้น จงอยู่กับธรรมปัจจุบันให้มาก แล้วจิตจักเป็นสุข

ลัก...ยิ้ม 13-01-2012 09:50

๓. เรื่องอารมณ์ของพระอริยเจ้าเบื้องสูง ท่านปฏิบัติอย่างไร มีความสำคัญดังนี้

๓.๑ การปฏิบัติของพระอริยเจ้าเบื้องสูง ท่านมุ่งดูอารมณ์จิตของตน รักษาจิตของตนเองโดยไม่ยุ่งกับจริยาของผู้อื่นเป็นสำคัญ การพูดด้วย การคุยด้วยกับผู้อื่น แต่จิตท่านมิได้หวั่นไหวไปกับกรรมของบุคคลอื่น

๓.๒ ท่านดูจิต รักษาจิต ปฏิบัติเอาแต่ตัวหลุดพ้นจากกิเลสอยู่ในจิต เอาจริงเอาจังกับธรรมภายในนี้แหละ จนที่สุดท่านก็ชนะกิเลส-ตัณหา-อุปาทาน และอกุศลกรรมใด ๆ หมดไปจากจิตของท่านอย่างสมบูรณ์

๓.๓ เรื่องอุตุธาตุนี้สำคัญกับกระแสเลือดมาก พระอริยเจ้าเบื้องสูงจิตท่านละเอียดมาก มีญาณทัศนะอันบริสุทธิ์หมายความว่า ตัวรู้หรือตัวปัญญาของท่านเกิดจากญาณที่มีจิตบริสุทธิ์ หมดอุปาทานขันธ์ ๕ แล้ว หมดสักกายทิฏฐิแล้ว หมดสมมุติธรรม จิตเข้าสู่วิมุติธรรมแล้ว ตัดสังโยชน์ได้หมดแล้วทั้ง ๑๐ ประการ แล้ว ท่านจึงทราบ.. เรื่องอุตุธาตุไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างไร มีความสำคัญโดยย่อดังนี้ ...เมื่อนอนในที่อากาศอับมาก ๆ กล่าวคือ ขาดออกซิเจน เม็ดเลือดแดงบางส่วนจะขาดอากาศหายใจ ก็จักแข็งตัวตายไป คือตกเป็นสะเก็ดเลือด ร่างกายก็จักพยายามสร้างเม็ดเลือดขึ้นมาแทนที่ ถ้าไม่แก้ไขเกี่ยวกับอากาศในห้องนอน สภาพของเลือดในกายก็จักเข้มข้นยิ่งขึ้น บุคคลที่เป็นโรคเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบ แม้จักไปผ่าตัดซ่อมแซมแล้ว หากไม่แก้ไขเรื่องอุตุธาตุ โรคก็กลับเข้าไปสู่สภาวะตีบตันเช่นเดิม เรื่องนี้พึงสังวรณ์ให้มาก..ผัสสาหาร (ลมหายใจคืออาหารของกาย) เป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าอาหารหยาบ ๆ หลายเท่านัก ที่รู้สึกกำหนดอานาปาฯ ได้ไม่คล่อง ก็เพราะกระแสเลือดขาดออกซิเจนตัวนี้ เลือดที่ขึ้นไปเลี้ยงสมองไม่พอก็เพราะเหตุนี้ ดังนี้ ในการนอนอยู่ในห้องที่อับทึบมาก ๆ จึงเป็นเหตุที่ทำให้เซลล์ของร่างกายทุกส่วน ขาดประสิทธิภาพในการทำงาน เซลล์ที่ไว (sensitive) ต่อการขาดออกซิเจนคือ หัวใจกับสมอง และไต เรื่องอุตุธาตุนี้ จึงสำคัญกับกระแสเลือดมาก สมควรจักศึกษาเอาไว้ด้วย

ลัก...ยิ้ม 16-01-2012 12:05

๔. เรื่องปกิณกธรรมที่ทรงตรัสสอน มีความสำคัญดังนี้

๔.๑ ให้พิจารณาร่างกายลงตรงที่ว่า มันไม่มีแก่นสาร ไม่มีสาระ อันที่จักยึดถืออันใดได้ คน สัตว์ วัตถุธาตุใด ๆ ในโลกนี้เหมือน ๆ กันหมด มีเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีเสื่อมไปในท่ามกลาง และมีการสลายตัวไปในที่สุด โลกนี้ทั้งโลกไม่มีอะไรเป็นที่พึ่งของเราได้อย่างจริงจัง นี่เป็นความจริงของโลก ให้กำหนดจิตยอมรับอย่างจริงใจ การดำรงชีพอยู่ในโลก ก็สักเพียงแต่ว่าอาศัยชั่วคราวเท่านั้น จิตให้พยายามปล่อยวางในทุกสิ่งทุกอย่างลงเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร่างกายที่อาศัยอยู่นี่แหละ เป็นเครื่องยึดเกาะอันสำคัญที่สุด พยายามพิจารณาร่างกายของตนเองให้มาก

๔.๒ อย่ากังวลใจเรื่องของตนเองและของผู้อื่น เพราะทุกคนในโลกไม่มีใครหนีทุกข์ หนีปัญหาไม่ให้เกิดไปได้ อะไรจักเกิดก็ล้วนเป็นธรรมดาทั้งสิ้น เช่น การเจ็บป่วย ความแก่ ในที่สุดก็ต้องไปหาความตายด้วยกันทุกคน ให้จิตยอมรับนับถือกฎของธรรมดาของการมีร่างกาย จิตจักได้ไม่ทุกข์ตามร่างกายให้มากจนเกินไป ต้องพยายามพิจารณาให้เห็นร่างกายตามความเป็นจริง จนจิตยอมรับนับถือกฎของธรรมดา จิตจักหมดทุกข์และปลดขันธ์ ๕ ลงได้ในที่สุด

๔.๓ เมื่อร่างกายไม่ดี ก็จงอย่าตรากตรำงานให้มากจนเกินไป ให้ยอมรับสภาพร่างกายว่า เวลานี้มันเสื่อมลงไปทุกวันและเข้าหาความตายเข้าไปทุกที อย่าลืมงานทางโลกไม่มีใครทำได้จบ คำว่าเสร็จสมบูรณ์ไม่มี งานทางธรรมคือทางจิต จุดนั้นสำคัญมากกว่า ให้เพียรปฏิบัติไปเพื่อการจบกิจ และให้ยอมรับนับถือสภาพของร่างกายตามความเป็นจริง จิตจักได้ไม่เศร้าหมอง *และให้พิจารณาลงตรงกฎของธรรมดาของร่างกาย* พร้อมทั้งคิดว่าร่างกายอย่างนี้ต่อไปจักไม่มีกับเราอีก ขอมีชาตินี้เป็นร่างกายสุดท้าย ตายเมื่อไหร่ขอไปพระนิพพานเมื่อนั้น

๔.๔ การพิจารณาร่างกาย ให้แยกรูปออกจากเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณให้เด็ดขาด ให้เห็นรูปสักแต่ว่าเป็นรูป เพราะรูปตัวนี้เป็นเหตุให้เกิดอารมณ์พอใจและไม่พอใจเป็นอย่างหนัก เป็นเหตุให้ติดภพ ติดชาติไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยการหลงรูปนี่แหละเป็นเรื่องใหญ่ จุดนี้จักต้องใช้อารมณ์ให้หนักหน่อย ถามจิต ตอบจิต ให้จิตยอมรับสภาวะของรูปตามความเป็นจริงว่า รูปนี้ไม่เที่ยง รูปนี้เป็นทุกข์ รูปนี้อนัตตาไปในที่สุด กี่รูปแล้วที่จิตของเราไปเกาะ แล้วรูปเหล่านั้นที่สุดก็หาความทรงตัวไม่ได้ มีแต่สลายตัวไปในที่สุด ถาม-ตอบให้จิตยอมรับ และคลายจากการติดรูปลงได้ ไม่ว่ารูปของเราหรือรูปของคนอื่น ด้วยเหตุจิตจักยอมรับตามความเป็นจริง การหวังจักให้ร่างกายแข็งแรง ก็คือการฝืนสภาวะของรูปเรียกว่า เป็นวิภวตัณหา (จะให้อดีตกลับมาเป็นปัจจุบัน) อันเป็นไปไม่ได้ตามใจหวังจึงเป็นทุกข์ ให้ยอมรับนับถือตามความเป็นจริงของร่างกายที่มันแก่ มันเสื่อมลงไปทุกวัน แม้มันจักตายเราก็ห้ามมันไม่ได้ แล้วจักดิ้นรนฝืนความจริง ให้จิตมันเป็นทุกข์ เพื่อประโยชน์อันใดกัน นี่เรียกว่าจิตฝืนกฏธรรมดาของรูป จึงเรียกว่า จิตยังไม่เข้าถึงธรรม ให้พิจารณาธาตุ ๔ อาการ ๓๒ ปฏิกูลบรรพให้ลึกเข้าไปในรูป แล้วจิตจักคลายความต้องการในรูปให้ทรงตัวลงได้ และจิตจักยอมรับนับถือรูปตามกฎของความเป็นจริง จุดนี้ทุกคนจักต้องช่วยตนเอง ตถาคตเป็นเพียงผู้ชี้แนะให้เท่านั้น ให้หมั่นใช้ความเพียรให้เป็นประโยชน์ แล้วทุกคนก็จักพ้นทุกข์อันเนื่องจากรูปนี้ได้


ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๙
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 21:51


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว