กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=39)
-   -   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๕ มกราคม ๒๕๖๑ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=6016)

เถรี 16-01-2018 21:24

เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๕ มกราคม ๒๕๖๑
 
ให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกทั้งหมดของเราไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า...ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก...ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเราไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ ที่เรามีความถนัด มีความชำนาญมาแต่เดิม

วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ เป็นการปฏิบัติธรรมวันแรกของปีใหม่ เมื่อครู่ที่ได้กล่าวถึงว่า พวกเราทั้งหลายปฏิบัติธรรมไปแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เพราะว่าเราทำไปแล้วก็ปล่อยให้กำลังของเรารั่วไหลไปหมด

สาเหตุที่เราปล่อยให้กำลังของเรารั่วไหลไปหมด ก็เพราะว่าเราขาดการสำรวมอินทรีย์ คือ ไม่รู้จักระมัดระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา ในเมื่อเราไม่ระมัดระวัง กำลังที่เราปฏิบัติได้ต่อให้เป็นสมาธิระดับอภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ ก็จะรั่วไหลจนหมด

ให้เราสังเกตดู สมมติว่าเราดูหนังเรื่องยาว ๆ สัก ๓ ชั่วโมง บางคนพอหนังจบก็เพลีย เหนื่อย หมดสภาพ แปลว่าเราใช้กำลังในการดูด้วยสายตาไปมากมายมหาศาล บางคนฟังเพลงไอพ็อดกรอกหูอยู่ตลอดเวลา ถ้าสักแต่ว่าให้เสียงเพลงเข้าหูก็ยังไม่กระไร แต่ถ้ามีความเข้าใจเนื้อเพลง กำหนดใจตามทำนองของเพลง เหมือนอย่างกับเราร้องคลอตามไปในใจด้วย พอผ่านไปสัก ๒-๓ ชั่วโมง เราก็จะเหนื่อยหมดสภาพเช่นกัน

เรื่องของจมูก ของลิ้น ของกาย ของใจ ก็ลักษณะเดียวกัน ไม่ว่าเราจะใช้ในการดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัส หรือว่าครุ่นคิดก็ตาม จะเป็นการใช้กำลังสมาธิอย่างมาก ในเมื่อเราใช้มากแล้วปฏิบัติน้อย ก็เหมือนกับบุคคลทั่ว ๆ ไปที่ทำงานแล้วได้เงินน้อยแต่ใช้จ่ายมาก นาน ๆ ไปก็เป็นหนี้สินล้นพ้นตัว หลายรายก็ถึงระดับล้มละลายไปเลย

เถรี 16-01-2018 21:30

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสในอปัณณกปฏิปทา ก็คือแนวทางในการปฏิบัติที่ไม่ผิด พระองค์ท่านกล่าวว่าอปัณณกปฏิปทามี ๓ ประการ คือ ๑. อินทรียสังวร รู้จักสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ปล่อยให้สติเผลอหลุดออกไปในการดูรูป ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส เพราะว่าระมัดระวังใจของเราเอาไว้เสมอ

พระองค์ท่านเปรียบว่า เหมือนกับเด็กชาวนาจะจับเหี้ยที่อาศัยในจอมปลวก ซึ่งมีช่องอยู่ ๖ ช่อง ก็จำเป็นที่จะต้องอุดช่องอื่นเสีย ๕ ช่อง แล้วก็เฝ้าจ้องอยู่เพียงช่องเดียว ในเมื่อเหี้ยไม่มีทางออกไปทางอื่น ท้ายสุดก็ต้องโผล่มาในช่องที่เราเปิดไว้ ก็จะโดนจับได้โดยง่าย ลักษณะเดียวกับเราที่สำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เอาไว้ ระมัดระวังแต่ในเรื่องใจอย่างเดียวว่า จะไม่ให้ไหลไปในอายตนะทั้ง ๕

ในเมื่อเราระวังใจอย่างเดียว ก็แปลว่าเราต้องมีสมาธิที่ตั้งมั่น ไม่อย่างนั้นแล้วเราจะไม่สามารถระวังรักษาใจของเราได้ เราจะมีสมาธิมีความตั้งมั่นได้ ก็ต้องมีอานาปานสติ ก็คือสติที่ไปในลมหายใจเข้าออก ซึ่งจะสามารถสร้างได้ตั้งแต่ขณิกสมาธิ คือกำลังสมาธิที่ทรงตัวเพียงเล็กน้อย อุปจารสมาธิ กำลังสมาธิที่ทรงตัวเฉียดฌาน และอัปปนาสมาธิ สมาธิที่ทรงตัวแนบแน่นตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป

เถรี 18-01-2018 21:20

ก็แปลว่าในการปฏิบัติธรรมของทุกท่าน จะทิ้งลมหายใจเข้าออกไม่ได้เลย เพียงแต่ว่าลมหายใจเข้าออกต้องปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ใช่ไปบังคับ ร่างกายต้องการหายใจแรงหรือเบา ยาวหรือสั้น เราต้องปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ แค่เอาสติกำหนดดู กำหนดรู้ตามไปเท่านั้น

ยกเว้นบางท่านที่ปฏิบัติมานาน สมาธิเริ่มมีความคล่องตัว สามารถทรงตัวในระดับที่ตนเองต้องการได้ ถ้าอย่างนั้นก็จะเหมือนกับท่านบังคับลมหายใจ แต่ความจริงแล้วไม่ได้บังคับ แต่ว่าทันทีที่ท่านคิดจะทรงสมาธิ สภาพจิตก็จะวิ่งเข้าไปสู่สมาธิในระดับที่เราเคยทำได้ เมื่อสมาธิทรงตัว สภาพของลมหายใจก็จะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด สมาธิยิ่งทรงตัวสูง ลมหายใจก็ยิ่งเบาลง ถ้าหากว่าทรงตัวในระดับปฐมฌานหยาบอาจจะไม่รู้ถึงลมหายใจไปเลยก็มี

เรื่องคำภาวนา เราจะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ เพียงแต่ขอให้เป็นคนรักเดียวใจเดียว อย่าเปลี่ยนคำภาวนาบ่อย เพราะว่าจิตของเรามีสภาพจำ เมื่อจิตของเรามีสภาพจำ เมื่อถึงเวลาถ้าเราเปลี่ยนคำภาวนา สภาพจิตจะไปจำของเก่า เราต้องเอาสติบังคับให้มาจดจำของใหม่ ก็จะเกิดการยื้อแย่งกันขึ้น บางครั้งทำให้ฟุ้งซ่านเสียการเสียงานไปเลยก็มี

ฉะนั้น...เรื่องของคำภาวนาอย่าถือเป็นสาระ ให้ใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ที่เรามีความถนัด มีความชำนาญมาแต่เดิม ยกเว้นการปฏิบัติตามกองกรรมฐานต่าง ๆ เราค่อยเปลี่ยนไปใช้คำภาวนาประจำกองกรรมฐานนั้น ๆ ส่วนการกำหนดลมหายใจนั้น จะกระทบแค่ฐานเดียว ๓ ฐาน ๗ ฐาน หรือว่ารู้ตลอดกองลม ก็แล้วแต่ท่านจะมีความสะดวก

เถรี 18-01-2018 21:24

อปัณณกปฏิปทาข้อที่ ๒ นั้น ท่านว่า โภชเนมัตตัญญุตา คือ รู้ประมาณในการบริโภค นักปฏิบัติธรรมจริง ๆ จะไม่มาห่วงใยกังวลกับเรื่องของอาหารการกิน โดยเฉพาะถ้าสมาธิทรงตัวแล้ว ความรู้สึกหิวแทบจะไม่มี ยิ่งถ้ามีปีติค้ำอยู่ บางทีอยู่ไป ๗ วัน ๑๕ วันโดยไม่รู้สึกถึงความหิวเลย

ฉะนั้น...ถ้าสมาธิของท่านทรงตัวจริง ๆ การกินอาหารเพียงมื้อเดียวหรือ ๒ มื้อก็มากเกินพอแล้ว ถ้าร่างกายไม่หนักด้วยอาหาร เลือดลมปลอดโปร่ง การภาวนาก็จะทรงตัวเป็นสมาธิได้ง่าย ถ้าร่างกายหนักด้วยอาหาร เลือดลมไม่โปร่ง การภาวนาก็จะมีแต่ความหนัก ความง่วงเหงาหาวนอนเป็นปกติ ทำให้เสียการปฏิบัติได้

อปัณณกปฏิปทาข้อสุดท้ายคือ ชาคริยานุโยค การปฏิบัติธรรมของผู้ตื่นอยู่ คำว่า ผู้ตื่น ในที่นี้คือ สติของเราสมบูรณ์ จะหลับ จะตื่น จะยืน จะนั่ง มีสติรู้สึกเท่ากัน บุคคลที่มีสติรู้เท่ากันทั้งหลับและตื่น จึงจะระมัดระวังใจไม่ให้ถูกกิเลสกินได้

เพราะว่าบางท่านในช่วงกลางวันเราระมัดระวังรักษาใจสุด ๆ ไม่ยอมละเมิดศีลไม่ว่าจะข้อใดก็ตาม กระทั่งมดแดงแมลงน้อยก็ไม่กล้าแตะ กลัวว่าจะเป็นการฆ่าสัตว์ แต่พอกลางคืนฝันว่าไล่ฆ่าเขาไปหลายคน บางท่านก็สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เต็มที่ ไม่กล้าพูด ไม่กล้ามองเพศตรงข้าม แต่กลางคืนกลับกลายเป็นว่า ฝันไปมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลนั้นบุคคลนี้ นี่คือลักษณะของกิเลสที่กินเราในยามหลับ

ถ้าหากว่าสติของเราสมบูรณ์พร้อมทั้งตื่นและหลับ เราจึงจะสามารถเอาชนะกิเลสเหล่านี้ได้ หรือสามารถป้องกันระวังไม่ให้กิเลสกินใจของเราได้ บุคคลที่จะทำถึงระดับนี้ก็ต้องทรงสมาธิ มีความคล่องตัวมาก อย่างน้อยก็สามารถเข้าออกในระดับปฐมฌานละเอียดได้ จึงจะรักษากำลังของผู้ตื่นอยู่ในแบบนี้ได้ตลอดเวลา

ถ้าท่านทั้งหลายสามารถทำตามทั้ง ๓ ข้อที่ว่ามา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า การปฏิบัติธรรมของท่านทั้งหลายมาถูกทาง ไม่ผิดไปจากที่พระองค์ตรัสไว้ เราจึงจะสามารถสะสมกำลังเอาไว้จนเอาชนะกิเลสได้

ลำดับต่อไปก็ให้ทุกท่านภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านเติมบุญ
วันศุกร์ที่ ๕ มกราคม ๒๕๖๑

(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยทาริกา)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 00:11


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว