กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=39)
-   -   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=3755)

เถรี 19-05-2013 14:47

เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖
 
ให้ทุกคนนั่งในท่าที่สบายของตัวเอง จะนั่งขัดสมาธิก็ได้ นั่งพับเพียบก็ได้ นั่งบนเก้าอี้ห้อยเท้าก็ได้ กำหนดความรู้สึกทั้งหมดของเราอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้กำหนดความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา ถ้าเผลอไปคิดเรื่องอื่น รู้ตัวเมื่อไรให้ดึงความรู้สึกทั้งหมดกลับมาอยู่กับลมหายใจเข้าออกเสียใหม่

วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๖ สำหรับการปฏิบัติธรรมในวันนี้ อยากจะย้ำเตือนพวกเราทุกคน โดยเฉพาะท่านที่เป็นคนรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่แล้วคนรุ่นใหม่ใจร้อน ใจเร็ว ถ้าพวกใจร้อนใจเร็วมาก ๆ เวลาไปหาพระ ก็มักจะอยากให้พระเสกให้ตนเองเป็นพระอริยเจ้าไปเลย ซึ่งเป็นไปไม่ได้

ในขณะเดียวกัน อีกประเภทหนึ่ง เพิ่งจะเริ่มปฏิบัติธรรม แต่อยากให้จิตของตนสงบ อยากได้ฌานสมาบัติระดับนั้นระดับนี้ อยากเป็นพระอริยเจ้าระดับนั้นระดับนี้ ก็ขอบอกว่า ท่านอยากจะสงบ แต่กลับไป "อยาก" นำหน้าเสียก่อน ตัวอยากจะทำให้เราฟุ้งซ่าน จิตจะไม่มีวันสงบได้อย่างแท้จริง การปฏิบัติของเราต้องสะสมไปทีละเล็กละน้อย เมื่อนานไปผลของการปฏิบัติก็จะมีมากขึ้น แล้วจะเริ่มเห็นผลชัดเจนต่อเมื่อปฏิบัติต่อเนื่องไประยะหนึ่งแล้ว

ดังนั้น..เราจะใจร้อนใจเร็วไม่ได้ ต้องค่อย ๆ ตามดู ตามรู้ลมหายใจเข้าออกของเราไป หายใจเข้าตามดูไปว่าเรารู้ลมได้ตลอด จมูก อก ท้อง หรือไม่ ? หายใจออกตามดูว่าลมของเราออกจากท้อง ผ่านอก มาจมูก โดยสามารถรู้ครบถ้วนทุกฐานหรือไม่ ? ถ้าสามารถทำดังนี้ได้ก็นับหนึ่ง หายใจเข้าผ่านจมูก..ผ่านกึ่งกลางอก..ลงไปสุดที่ท้อง หายใจออกจากท้อง..ผ่านกึ่งกลางอก..มาสุดที่ปลายจมูก ถ้าไม่คิดเรื่องอื่นเลยก็นับสอง ให้ค่อย ๆ สะสมไปทีละเล็กทีละน้อยเช่นนี้ ถ้าเผลอคิดเรื่องอื่นเมื่อไร ให้ดัดสันดานตนเองด้วยการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่

ถ้าทำดังนี้จะเห็นได้ว่า แม้แต่นับหนึ่งถึงสิบ โดยกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกไม่ให้คิดถึงเรื่องอื่นเลย ก็เป็นเรื่องที่ยากยิ่งนัก จำเป็นต้องใช้ความพากเพียรพยายาม จำเป็นต้องใช้ความตั้งใจที่แน่วแน่มั่นคง จำเป็นต้องใช้ความจริงจัง จริงใจในการปฏิบัติ อย่างชนิดทุ่มเทด้วยชีวิต

เถรี 20-05-2013 18:58

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่อาหารจานด่วน ที่สั่งตอนนี้อีก ๒ นาทีก็มาถึงตรงหน้า ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ใช่กาแฟ ดื่มกินลงไปตรงนี้อีก ๑ นาทีออกฤทธิ์แล้ว แต่ธรรมะนั้นเป็นสิ่งที่ต้องค่อย ๆ สะสมไป เพราะตัวเรานั้นมาอยู่ในช่วงหลังกึ่งพุทธกาลแล้ว ถ้าเราเองสร้างสมบารมีมามากเพียงพอ เราก็คงไปเกิดในสมัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฟังธรรมจบเดียวบรรลุมรรคผลไปแล้ว

หรือไม่ก็มาระยะหลัง ทันหลวงปู่หลวงพ่อที่มีชื่อเสียงเกียรติคุณยิ่งใหญ่ ได้รับฟังคำสอนของท่าน ปฏิบัติตนหลุดพ้นไปนานแล้ว ในเมื่อเราเองล่าช้าถึงขนาดนี้ แล้วเราจะไปคิดว่าเรามีสมรรถนะดี ถึงขนาดปฏิบัติแล้วได้อย่างนั้นอย่างนี้ทันที ย่อมเป็นไปไม่ได้

การปฏิบัติธรรมของเราจึงต้องใช้ความอดทนอดกลั้น ค่อย ๆ พากเพียร แน่วแน่ในการปฏิบัติ ค่อย ๆ สะสมความดีของเราไปเรื่อย ๆ เหมือนน้ำทีละหยด เมื่อรวมตัวกันนาน ๆ เข้าก็ได้เป็นโอ่งเป็นไห แต่กว่าจะปรากฏให้เห็นชัดเจนนั้น ต้องผ่านการสะสมตัวเป็นระยะเวลานานอยู่ช่วงหนึ่ง

เมื่อเป็นเช่นนั้นพวกเราทุกคนจึงควรที่จะละทิ้งความใจร้อนใจเร็วอย่างที่ว่ามา ตั้งหน้าตั้งตาตามดูตามรู้ลมหายใจเข้าออกของเราเป็นหลัก ตั้งหน้าตั้งตาตรวจสอบดูว่า ศีลทุกสิกขาบทของเราบริสุทธิ์บริบูรณ์หรือไม่ และท้ายที่สุด กำลังใจของเราแน่วแน่มั่นคงต่อพระนิพพานหรือไม่ ถ้าศีลยังไม่บริสุทธิ์ ให้ตั้งใจว่าตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป เราจะรักษาศีลทุกข้อให้บริสุทธิบริบูรณ์

ถ้าสมาธิไม่ทรงตัวให้พยายามตามดูตามรู้ลมหายใจเข้าออกของตนเองไปเรื่อย ๆ อยากปฏิบัติ อยากได้ดี ไม่ใช่ความผิด แต่ถ้าตอนช่วงปฏิบัติแล้วมัวแต่อยากได้ดีอยู่ นั่นจะผิด เพราะตอนปฏิบัติถ้ามัวแต่อยากอยู่ เราจะฟุ้งซ่าน กำลังใจไม่รวมตัว

เถรี 21-05-2013 20:55

ปัญญาของเราให้รู้อยู่เสมอว่า ชีวิตนี้เป็นของน้อย จะสูญสิ้นลงไปเมื่อไรก็ไม่รู้แน่ เราควรที่จะสะสมความดีในทาน ศีล ภาวนาให้มากเข้าไว้ ตายเมื่อไรเราขอไปพระนิพพานแห่งเดียว ถ้าไม่เข้าใจว่าพระนิพพานมีสภาพอย่างไร ก็ให้นึกถึงพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่ง ที่เรารักเราชอบมากที่สุด ว่านั่นคือรูปเปรียบแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนพระนิพพาน เรานึกถึงพระองค์ท่านได้คือเราอยู่กับพระองค์ท่าน เราอยู่กับพระองค์ท่านก็คือเราอยู่บนพระนิพพาน

เมื่อวางกำลังใจเช่นนี้ได้แล้ว ก็ย้อนกลับมาดูลมหายใจเข้าออกเป็นหลัก ถ้ายังมีลมหายใจเข้าออกอยู่ ให้กำหนดดู กำหนดรู้ ลมหายใจเข้าออกของเราไป ถ้าลมหายใจเบาลง คำภาวนาหายไป ก็ให้กำหนดรู้ไว้เช่นนั้น อย่าดิ้นรนอยากให้เป็นอย่างนั้น และอย่าดิ้นรนให้หลุดพ้นจากสภาพเช่นนั้น เรามีหน้าที่ตามดูตามรู้โดยไม่ต้องปรุงแต่งใด ๆ ทั้งสิ้น ให้ทุกคนรักษาสภาพอารมณ์เช่นนี้เอาไว้ จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันศุกร์ที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖

(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยทาริกาและเถรี)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 22:01


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว