กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=39)
-   -   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=1633)

เถรี 28-02-2010 11:21

เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓
 
เมื่อนั่งได้ที่แล้ว ก็นึกถึงลมหายใจเข้าออกของเราเป็นปกติ ลมหายใจเข้าออกเป็นสิ่งที่ทิ้งไม่ได้เด็ดขาด ลืมลมหายใจเข้าออกเมื่อไร กิเลสตีตายเมื่อนั้น..!

สำหรับวันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๗ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๓ เป็นการปฏิบัติกรรมฐานประจำเดือนกุมภาพันธ์ของเราในวันสุดท้าย ในเรื่องของการปฏิบัตินั้น ได้ย้ำนักย้ำหนาอยู่เสมอ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาว่า เมื่อทำได้แล้ว ให้พยายามประคับประคองเพื่อรักษาอารมณ์ ให้อยู่กับเราให้ได้นานที่สุด ก็ขออาศัยระยะเวลาที่ว่างเว้นจากการปฏิบัติกรรมฐานต้นเดือน ลองดูว่าเราสามารถประคองอารมณ์ใจของเรา เพื่อรักษาอารมณ์ให้ทรงตัวได้โดยไม่พลาด ได้นานกี่วัน ?

เรื่องอย่างนี้ต้องซ้อมกันบ่อย ๆ เพราะถ้าหากไม่ซ้อมเอาไว้ เราจะยืนระยะไม่เป็น เมื่อยืนระยะไม่เป็น ถึงเวลาชนกับกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง เราก็จะไม่มีความคล่องตัวที่จะไปสู้กับเขา และไม่มีกำลังที่จะยืนหยัดต่อต้านเขาได้นานเท่าที่ต้องการ

อีกข้อหนึ่งก็คือ การซ้อมเข้าฌานออกฌานของเรา หลายต่อหลายท่านปฏิบัติมา เป็นระยะเวลานับสิบปีหรือหลายสิบปีแล้ว แต่ว่ายังไม่สามารถที่จะต่อต้านอำนาจของ รัก โลภ โกรธ หลง ได้อย่างใจ เพราะขาดความคล่องตัวในการเข้าออกฌาน ถ้าหากว่าซ้อมจนคล่องตัวจริง ๆ สามารถเข้าได้ทุกเมื่อที่เราต้องการ ถ้ารู้สึกว่าราคะมา โลภะมา โทสะมา โมหะมา เราเข้าฌานหนีได้ทันที ถ้าสมาธิทรงตัวเมื่อไร ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ จะไม่มีอำนาจกินใจเราได้เลย ยกเว้นว่าหลุดจากสมาธิเมื่อไรค่อยว่ากันใหม่

เมื่อฟังมาถึงตรงนี้ ทุกท่านคงเห็นแล้วว่าการซ้อมเข้าออกฌานนั้น จริง ๆ แล้วสำคัญมาก ๆ เหมือนกับนักมวยซ้อมเพื่อความคล่องตัว ก่อนที่จะขึ้นเวทีไปชกกับคู่ต่อสู้ ถ้าหากว่าเราไม่ได้ซ้อมให้เกิดความคล่องตัว ไม่รู้จักสมมติสถานการณ์ ถึงเวลาเจอสถานการณ์จริงเข้า เราก็ไม่ทราบว่าจะแก้ไขอย่างไร โอกาสที่จะแพ้ก็มีสูง

การขยันหมั่นซ้อมบ่อย ๆ เป็นคุณสมบัติที่ดีของนักปฏิบัติ โดยเฉพาะการมีความเพียร ความอดทนบากบั่นไม่ท้อถอย เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง การปฏิบัตินั้นเป็นการค่อย ๆ สั่งสมความดีของเรา ทีละเล็กทีละน้อย เหมือนน้ำทีละหยด ๆ ถ้าเราไม่มีความอดทนไม่มีความพากเพียร ระยะแรก ๆ เราแทบมองไม่เห็นว่าเรามีน้ำหรือยัง เพราะว่าภาชนะอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างใหญ่

สมมติว่าเป็นตุ่มน้ำ บรรจุเสีย ๘๐ ปีบ พอถึงเวลาน้ำหยดลงไปไม่กี่หยด มองไม่เห็นเลยว่าน้ำอยู่ตรงไหน แต่ถ้ามีความอดทน มีความพากเพียร ค่อย ๆ ทำความดีในแต่ละวัน ๆ ของเรา สะสมไปเรื่อย ๆ นาน ๆ เข้าก็ได้เป็นถ้วย ได้เป็นขัน ได้เป็นถัง พอมาก ๆ เข้า ก็ได้ครึ่งโอ่ง คราวนี้เห็นชัดแล้วว่าเรามีต้นทุนอยู่

เถรี 28-02-2010 22:21

ความขยันหมั่นเพียรจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นมากสำหรับนักปฏิบัติ ต้องมีความอดทนไม่ท้อถอยง่าย ๆ การปฏิบัติไม่มีสิ่งใดที่ง่าย ถ้าเราอ่านดูในพระไตรปิฎก ในพระธรรมบทบ้าง พระที่ท่านปฏิบัติได้โดยง่าย เราเห็นว่าท่านง่ายเฉพาะชาตินี้ ชาติก่อน ๆ ท่านก็ตะเกียกตะกายลำบากมาไม่น้อยกว่าเราเหมือนกัน เพียงแต่ว่าความดีของท่านสะสมตัวมาเรื่อย ๆ เหมือนอย่างกับน้ำที่เต็มโอ่งเต็มไหแล้ว ถึงเวลาสามารถตักใช้งานได้ทันที ส่วนเราเองยังอยู่ในระหว่างที่สะสมน้ำ สะสมความดีอยู่ จงอย่าท้อถอยง่าย ๆ

ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ ได้ทรงประพันธ์เป็นร้อยกรองเอาไว้ว่า
หนทางแห่งเกียรติศักดิ์....จักโรยด้วยดอกไม้
หอมหวลยวนจิตไซร้..............ฤๅมี

หนทางที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จนั้น ไม่มีใครที่ไม่ต้องตะเกียกตะกายด้วยความยากลำบาก เราอาจะเห็นเขาสบาย นั่นก็คือความสบายในปัจจุบัน แต่ก่อนหน้านี้เขาลำบากมาเท่าไร เราไม่เห็น

ในเมื่อทุกอย่างต้องได้มาด้วยความยากลำบาก โอวาทปาฏิโมกข์ การสรุปรวมหลักการ อุดมการณ์และวิธีการของทางพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าทรงให้ไว้ในท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ จึงได้ขึ้นคำว่า ขันตี ปรมัง ตโป ตีติกขา ขันติ คือความอดทนอดกลั้นนั้น เป็นตบะ(เครื่องมือในการเผากิเลส)อย่างยิ่งยวด แปลว่าผู้ที่ประสบความสำเร็จนั้น จะต้องมีความอดทนอดกลั้นมาเป็นอันดับหนึ่ง

อดทนต่อความยากลำบากในการประพฤติปฏิบัติ อดทนอดกลั้นต่ออารมณ์ต่าง ๆ ที่มากระทบกระทั่งอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งสามารถที่จะใช้ปัญญา ปล่อยวางอารมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นลงได้ อยู่ในลักษณะของการสักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น ไม่นำมานึกคิดปรุงแต่งเพิ่มเติม

แรก ๆ ก็ไม่สามารถที่จะมีสติรู้เท่าทันได้ แต่ถ้าหากเราสั่งสมในเรื่องของศีล สมาธิ ปัญญาไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะตัวสมาธิ ถ้าทรงตัวตั้งมั่น สติก็จะว่องไว ปัญญาก็จะแหลมคม ก็จะสามารถที่รู้เท่าทันสิ่งที่มากระทบใจของเรา สามารถระวังป้องกันไม่ให้เข้ามาอยู่ในใจของเราได้ทันท่วงที

เถรี 28-02-2010 22:26

เมื่อเห็นก็สักแต่ว่าเห็น ไม่ได้นึกคิดปรุงแต่งให้เป็นโทษแก่ใจของตน เมื่อได้ยิน เมื่อได้กลิ่น เมื่อได้รส เมื่อสัมผัส ก็สามารถที่จะระมัดระวังป้องกันไว้ ไม่ปรุงแต่งให้เกิดทุกข์เกิดโทษแก่ตัวเอง เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ จำเป็นที่จะต้องซักซ้อมอยู่เสมอ โดยเฉพาะตัวสมาธิ

ในปัจจุบันสำหรับพวกเราทุกคน ทุกปัญหา ทุกคำตอบ แทบจะอยู่ที่สมาธิทั้งสิ้น การปฏิบัติทั้งหมดของเราในปัจจุบันนั้น ขาดความคล่องตัวในเรื่องสมาธิอย่างเดียว ถ้ามีความคล่องตัวเพียงพอ กำลังของสมาธิ จะสามารถป้องกันกิเลสได้ดีอย่างยิ่ง ช่วยให้กำลังใจของเราผ่องใสได้นาน เมื่อกำลังใจของเราผ่องใสมากเท่าใด ปัญญาก็จะเกิดขึ้น และเห็นช่องทางที่จะ ลด ละ เลิก ในส่วนของ รัก โลภ โกรธ หลง ที่เป็นกิเลสกินใจของเราได้ จนในที่สุด ก็ถอนความปรารถนาในร่างกายนี้ ในโลกนี้ออกไปได้ หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง ก้าวเข้าสู่พระนิพพานดังที่พวกเราต้องการ

วันนี้จึงขอสรุปลงตรงที่ว่า พวกเราทุกคนเรื่องของทาน ปฏิบัติมาสมควรแก่กาลแล้ว เรื่องของศีล หลายต่อหลายคนก็มั่นคงถึงขนาดตัวตายดีกว่าศีลขาด เราก็ต้องมาฝึกซ้อมความคล่องตัวในเรื่องของสมาธิ เมื่อมีความคล่องตัวมาก กิเลสกินใจไม่ได้ ความผ่องใสของใจมีมาก ปัญญาก็จะได้เกิด

ระยะเวลาตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะถึงการปฏิบัติธรรมในเดือนมีนาคมที่จะถึง ซึ่งจะเป็นระยะเวลา ๑ เดือนโดยประมาณ ขอให้ทุกคนพยายามซักซ้อมความคล่องตัวในการเข้าออกสมาธิ ซักซ้อมประคับประคองอารมณ์สมาธิที่เราทรงตัวได้ ให้อยู่กับเราให้นานที่สุด ลองดูว่ามีท่านใดที่สามารถจะรักษาอารมณ์ ตั้งแต่วันนี้ไปจนกระทั่งจะพบกันใหม่ในเดือนหน้าได้ ถ้าสามารถทำอย่างนั้นได้ ถือว่าเราประสบความสำเร็จในขั้นต้น มีกำลังเพียงพอที่จะต่อต้านกิเลสได้

ก็ขอมอบการบ้านนี้เอาไว้สำหรับพวกเราทุกคน จะได้มีงานเอาไว้ทำในช่วงระหว่างเดือนต่อเดือน ก่อนที่จะถึงการรับสังฆทานและฝึกกรรมฐานครั้งใหม่

สำหรับทุกท่านตอนนี้ ก็ให้อยู่กับคำภาวนาหรือการพิจารณา ตลอดจนภาพพระของตัวเอง กำหนดรู้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้รับสัญญาณว่าหมดเวลา


พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านอนุสาวรีย์
วันอาทิตย์ที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓

เด็กเมื่อวานซืน 28-02-2010 23:47

อ้างอิง:

ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ เถรี (โพสต์ 36961)

ล้นเล้ารัชกาลที่ ๖ ได้ทรงประพันธ์ร้อยแก้วเอาไว้ว่า
หนทางแห่งเกียรติศักดิ์....จักโรยด้วยดอกไม้
หอมหวลยวนจิตไซร้..............ฤามี

ฤๅ หมายถึง หรือ, อะไร, ไม่ใช่ โดยมากใช้ในบทร้อยกรอง


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 23:25


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว