กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=39)
-   -   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันจันทร์ที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๓ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=1829)

เถรี 13-05-2010 13:22

เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันจันทร์ที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๓
 
ตั้งตัวให้ตรง กำหนดความรู้สึกไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้ากำหนดรู้ตามไป หายใจออกกำหนดรู้ตามไป โดยเฉพาะท่านที่ไปร่วมงานพุทธาภิเษกที่วัดเขาวง เมื่อคืนวันที่ ๓๐ เมษายนที่ผ่านมา คงจะรู้ว่าควรจะวางกำลังใจแบบไหน ตรงจุดไหน สมาธิจึงจะทรงตัวได้เร็ว ตามที่พระท่านได้แนะนำไว้


สำหรับวันนี้ ตรงกับวันจันทร์ที่ ๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓ เป็นวันหยุดชดเชยวันกรรมกร เนื่องจากว่าวันที่ ๑ พฤษภาคมปีนี้ไปตรงกับวันเสาร์ และนับเป็นโอกาสดีอีกอย่างก็คือ มีการชุมนุมทางการเมืองของพวกเสื้อหลากสีบริเวณของอนุสาวรีย์นี้ ทำให้เราได้ทดสอบกำลังใจในการปฏิบัติของเราว่า ที่ทำมาทั้งหมดนั้นสามารถใช้งานจริงได้หรือไม่?

ถ้าเราทุกคนสามารถทรงสมาธิได้ในทุกระดับที่ตนเองต้องการ หรือระดับใดระดับหนึ่งที่ทำได้ แล้วทรงได้ทุกเวลาที่ต้องการ เราก็จะไม่มีความรู้สึกรำคาญเกี่ยวกับเสียงปราศรัยทางการเมือง ที่เรารู้สึกว่า เป็นการยั่วยุและเป็นการล่อหลอกเพื่อชักนำเราให้ไปร่วมด้วย

การที่เราจะทรงสมาธิถึงขนาดนั้นได้ อันดับแรก เรื่องของลมหายใจเข้าออก ต้องกำหนดรู้เป็นปกติ หายใจเข้าเรากำหนดรู้ตามไปว่า ผ่านจมูก..ผ่านกึ่งกลางอก..ลงไปสุดที่ศูนย์กลางกายในท้อง หายใจออกจากท้อง..ผ่านกึ่งกลางอก มาสุดที่ปลายจมูก พร้อมกับคำภาวนาที่เราชอบ

ถ้าหากว่าสามารถกำหนดรู้ลมได้ทั้งสามฐาน หายใจเข้ารู้ได้ตลอด หายใจออกรู้ได้ตลอด ถ้าอย่างนั้นอาตมาขอยืนยันว่า ทุกท่านกำลังทรงอยู่ในปฐมฌาน เพียงแต่ว่าจะเป็นปฐมฌานอย่างหยาบ ปฐมฌานอย่างกลาง หรือว่าปฐมฌานอย่างละเอียด ก็แล้วแต่ว่าท่านจะทำได้ในระดับใด

เถรี 13-05-2010 13:28

เมื่อกำหนดรู้ลมหายใจเช่นนั้น พร้อมกับภาวนาต่อไป จากที่หูเราได้ยินเสียงตามปกติ แต่ไม่รู้สึกรำคาญ ก็จะกลายเป็นว่าได้ยินเสียงนั้นเบาลง พร้อมกับลมหายใจเข้าออกซึ่งเบาลงไปด้วย บางท่านที่จิตหยาบหน่อยอาจจะไม่ได้ยินเสียง หรือไม่รู้ถึงลมหายใจเข้าออกเลย เหลือแค่คำภาวนาอย่างเดียวก็เป็นได้ ถ้าอย่างนั้นแสดงว่าจิตของท่านกำลังดำเนินสู่สมาธิในระดับทุติยฌานคือฌานที่ ๒ เป็นความตั้งมั่นในระดับที่สองของกำลังใจของเรา

เมื่อกำหนดรู้ต่อไป คือ ถ้าไม่มีลมหายใจก็รู้ว่าไม่มีลมหายใจ ไม่มีคำภาวนาก็กำหนดรู้ว่าไม่มีคำภาวนา ไม่ไปตกอกตกใจจนย้อนกลับมาภาวนาใหม่ ซึ่งเป็นการย้อนกำลังใจของเราลงมาสู่สมาธิที่ต่ำกว่า ถ้าเรากำหนดรู้ไปเฉย ๆ ว่า ตอนนี้ไม่หายใจ ตอนนี้ไม่ภาวนา หรือถ้าไม่รู้ลมหายใจ ไม่รู้ถึงคำภาวนา รับรู้เฉพาะกำลังจิตที่เกาะนิ่งอยู่จุดใดจุดหนึ่งก็ได้เหมือนกัน

ถ้าทำไปสักระยะหนึ่ง กำหนดรู้สักระยะหนึ่ง ก็จะเกิดร่างกายรู้สึกตึงแน่นขึ้นมา บางท่านก็รู้สึกว่าเหมือนโดนสาปให้กลายเป็นหิน บางท่านก็รู้สึกตัวตึงขึ้นมาเรื่อย ๆ เหมือนมีใครเอาเชือกมามัดตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า บางท่านก็รู้สึกเย็นอยู่เฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง อย่างเช่น อาจจะเป็นปลายจมูก ริมฝีปาก หรือบริเวณตั้งแต่จมูก ปาก และคางด้วย

ความรู้สึกจดจ่อนิ่งอยู่เฉพาะจุดอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นอาการที่เหมือนถูกสาปให้เป็นหินก็ดี ความรู้สึกตึงแน่นไปทั้งตัวเหมือนโดนใครมัดตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้าก็ดี หรือความรู้สึกเย็นแข็งอยู่เฉพาะบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกายก็ดี นั่นเป็นการก้าวเข้าสู่อัปปนาสมาธิในระดับตติยฌานคือฌานที่ ๓ เป็นกำลังใจที่ทรงตัวอยู่ในระดับที่สาม

ถ้าเราสักแต่ว่ากำหนดรู้อย่างนั้นต่อไป โดยไม่ไปใส่ใจนึกคิดปรุงแต่ง ไม่ได้อยากไปหายใจ และขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้อยากให้อาการเหล่านี้คลายตัวหายไป กำหนดแค่รู้ไปเรื่อย ความรู้สึกทั้งหมดก็จะรวบเข้ามาอยู่ที่ใดที่หนึ่ง อาจจะตรงหน้าก็ได้ ภายในศีรษะก็ได้ ภายในอกก็ได้ ภายในท้องก็ได้ จุดใดจุดหนึ่ง จะสว่างโพลง นิ่ง เยือกเย็นอยู่อย่างนั้น ถ้าลักษณะอย่างนั้น ก็แปลว่าจิตของเราดิ่งลงสู่อัปปนาสมาธิในระดับที่สี่ คือ จตุตถฌานคือฌานที่ ๔ ถ้าถึงเวลานั้นหูจะไม่รับรู้เสียงภายนอกโดยสิ้นเชิง ลมหายใจพร้อมกับคำภาวนาก็ไม่มี เหลือแต่สภาพจิตที่นิ่ง โพลง ใสสะอาดอยู่อย่างนั้น

เถรี 14-05-2010 10:19

ถ้าหากมาถึงระดับนี้ เราต้องการจะคลายสมาธิออกมาเมื่อไร ก็สามารถที่จะคลายได้ หรือจะตั้งกำหนดไว้เลยว่า เราจะทรงอยู่ในสมาธิเช่นนี้เป็นระยะเวลานานเท่าไร ก็สามารถที่จะตั้งกำหนดเวลาได้ เมื่อถึงเวลาก็จะคลายออกมาตามที่เราต้องการเอง แต่บางท่านไม่ได้กำหนดว่าจะคลายสมาธิออกมา บางทีตนเองรู้สึกว่าเดี๋ยวเดียว แต่เวลาภายนอกผ่านไปสามวันสี่วันก็มี

ขอให้ท่านทั้งหลายซ้อมปฏิบัติเข้าออกในแต่ละระดับของสมาธินี้ให้คล่องตัวไว้ จะสลับกันไปสลับกันมาก็ได้ จะเข้าตามลำดับก็ได้ จะเข้าย้อนรอยถอยหลังจากมากลงมาน้อยก็ได้ เพื่อสร้างความคล่องตัวให้เกิดกับสภาพจิตของเรา ถ้าสามารถทำได้คล่องตัวแล้ว ต่อไปถ้าหากมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากระทบ ไม่ว่าจะเป็นตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส เราสามารถที่จะดึงจิตของตนหลบหนีจากสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเข้าไปสู่องค์สมาธิ ทำให้ไม่ต้องไปปรุงแต่งให้ฟุ้งซ่าน

ถ้าท่านทำได้คล่องตัวเช่นนี้แล้ว อย่างสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง ที่ประกอบไปด้วยเสียงดัง เราก็สามารถที่จะใช้สมาธินี้หลบหนีได้ ถ้าหากไม่ชอบมาก ก็เข้าสมาธิสูงสุดไม่รับรู้อาการภายนอกไปเลย ถ้าหากอยากรับรู้ว่าเขามีอะไรบ้าง แต่ไม่อยากไปใส่อารมณ์ตามเขา เราก็อาจจะอยู่ในขอบของฌานที่สอง หรือฌานที่หนึ่งก็ได้

เรื่องของลมหายใจเข้าออกนั้นสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นพื้นฐานของสมาธิทุกระดับชั้น บุคคลจะก้าวเข้าสู่มรรคผลได้ จะต้องมีกำลังของสมาธิเป็นเครื่องประกอบ ไม่ว่าจะเป็นท่านที่ปฏิบัติแบบเจโตวิมุตติ คือหลุดพ้นโดยใช้กำลังสมาธิข่มกิเลสไว้ก็ดี หรือท่านทั้งหลายที่ปฏิบัติมาในสายของปัญญาวิมุตติ เป็นการใช้ปัญญาพิจารณา จนกระทั่งรู้แจ้งเห็นจริง ตามสภาพความเป็นจริงของร่างกายแล้วยอมรับก็ดี ทั้งสองอย่างนี้ล้วนแล้วต้องอาศัยกำลังสมาธิทั้งนั้น

ทางสายเจโตวิมุตติเป็นการเริ่มจากการภาวนาโดยตรง ย่อมมีกำลังสมาธิเป็นปกติอยู่แล้ว แต่สายปัญญาวิมุตตินั้นใช้การพิจารณาจนสภาพจิตดิ่งเข้าสู่องค์สมาธิเอง ถ้าหากจิตของเราไม่มีสมาธิที่ทรงตัวเพียงพอ ก็จะไม่มีกำลังในการตัดละกิเลสต่าง ๆ ได้

เถรี 14-05-2010 10:25

ดังนั้น..ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ปฏิบัติตามสายของเจโตวิมุตติหรือปัญญาวิมุตติก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วย่อมต้องอาศัยกำลังของสมาธิและปัญญาควบคู่กันทั้งสิ้น

สายเจโตวิมุตติก็คลายกำลังใจออกมาใช้ปัญญาพิจารณา สายปัญญาวิมุตติเมื่อพิจารณาไปแล้ว สมาธิก็ทรงตัวขึ้นตามลำดับ จนถึงระดับที่ตนเองทำได้ ไม่ว่าจะเป็นปฐมฌานเพื่อใช้ตัดกิเลสในระดับโสดาบันกับสกิทาคามีก็ดี หรือว่าฌานสี่ที่ใช้ในการตัดกิเลสในระดับพระอนาคามีและพระอรหันต์ก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นการปฏิบัติที่ทั้งสองสายจำเป็นต้องมีทั้งสิ้น จะปฏิบัติเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ถึงปฏิบัติได้ โอกาสที่จะสำเร็จบรรลุมรรคผลตามที่ต้องการก็เป็นไปไม่ได้อีก เมื่อเป็นดังนี้ เราทุกคนจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับลมหายใจเข้าออก ให้ความสำคัญกับการภาวนา

เมื่อตอนงานพุทธาภิเษกที่วัดเขาวง ในวันที่ ๓๐ เมษายนที่ผ่านมานั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าได้ให้การแนะนำวิธีการภาวนาไว้ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า พวกเราเป็นจำนวนมากนั้น เมื่อภาวนาไปถึงระดับที่คำภาวนาหายไป ลมหายใจเข้าออกเบาลงจนจับไม่ติด เราก็เกรงว่าจะไม่ได้จับคำภาวนา ไม่ได้จับลมหายใจเข้าออก ก็ถอยกำลังใจออกภาวนาและจับลมหายใจใหม่ การที่เราปฏิบัติโดยไม่เข้าใจว่าต้องทำอย่างไรในลักษณะนี้ ก็ทำให้เราต้องเสียโอกาส เพราะว่าแทนที่สมาธิจะทรงตัวสูงขึ้น ก็กลายเป็นย้อนรอยถอยหลังกลับมา สู่การภาวนาที่เป็นขั้นต้นใหม่ ท่านทั้งหลายจึงจำเป็นต้องซ้อมสมาธิในแต่ละระดับให้เกิดความชำนาญ เพื่อถึงเวลาต้องการเมื่อไรจะได้ใช้งานได้เมื่อนั้น

สำหรับตอนนี้ก็ขอให้ท่านทั้งหลายกำหนดรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ตลอดจนคำภาวนาหรือภาพพระของเราตามอัธยาศัย จนกว่าท่านจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา


พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านอนุสาวรีย์
วันจันทร์ที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๓

เถรี 14-05-2010 10:29

ช่วงที่พระอาจารย์ได้ให้สัญญาณบอกหมดเวลา ท่านกล่าวว่า "ให้ทุกท่านค่อย ๆ คลายกำลังใจออกมา การซ้อมเข้าและคลายกำลังใจออกเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าหากไม่มีความคล่องตัว ถึงเวลาแล้วไม่สามารถที่จะรับมือกิเลสได้ทัน

แต่การคลายกำลังใจ ถ้าคลายออกมาหมดทีเดียวก็เป็นโอกาสให้กิเลสทำอันตรายเราได้เหมือนกัน จึงต้องคลายกำลังใจออกมา..อย่างแย่ที่สุด ไม่ควรจะให้ต่ำจากระดับของปฐมฌาน เพราะถ้าลงมาถึงระดับอุปจารสมาธิก็จะอันตรายมาก

ให้พวกเราพยายามประคองรักษาอารมณ์ไว้ในระหว่างปฐมฌานขึ้นไปทุกครั้ง เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงจากนิวรณ์ทั้งห้าประการได้"


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 17:56


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว