กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   พระครูวิลาศกาญจนธรรม (หลวงพ่อเล็ก สุธมฺมปญฺโญ) (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=18)
-   -   อุปสรรคของผู้ฝึกมโนมยิทธิ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=2311)

โอรส 07-12-2010 03:07

อุปสรรคของผู้ฝึกมโนมยิทธิ
 
เมื่อครูฝึกท่านบอกว่าให้ยกจิตขึ้นสู่พระจุฬามณีเจดีย์สถาน ให้นึกเดี๋ยวนี้เลยว่าตรงหน้าของเราตอนนี้คือพระจุฬามณี ให้เรากำหนดใจว่ากำลังอยู่ตรงหน้าพระจุฬามณี ถ้าเขาถามว่าพระจุฬามณีมีสภาพอย่างไร ? ความรู้สึกแรกบอกว่าอย่างไร ก็ให้ตอบไปตามนั้นเลย ไม่จำเป็นจะต้องเหมือนคนอื่นเขา โดยเฉพาะถ้าฝึกร่วมกัน

ถึงเวลาคนหนึ่งเขาตอบอย่างนี้แล้ว เอ๊ะ..เรารู้สึกไม่เหมือนเขา แล้วไปตอบอีกอย่างหนึ่งคิดว่าผิด แบบนั้นก็เจ๊งเลย คนที่จะรู้สึกเหมือนกัน ตอบเหมือนกันจะต้องลงที่เดียวกัน เช่น สมมติบอกว่าพวกเราไปกรุงเทพฯ คนแรกมาบางแค คนที่สองมาลาดพร้าว อีกคนมาพระโขนง สรุปสามคนไปกรุงเทพฯ เหมือนกัน..ใช่ไหม ? แล้วเราจะเห็นเหมือนกันไหม ?

โลกของเราทั้งโลกหย่อนลงไปสวรรค์ชั้นหนึ่งก็เท่ากับถั่วเม็ดเล็ก ๆ ในเข่งเท่านั้นเอง สวรรค์ใหญ่กว่านั้นตั้งเยอะ..!

เพราะฉะนั้น..ถ้าหากว่าตอบไปคนละทิศ คนละทาง คนละเรื่อง คนละโลกกับเขา ก็ไม่ต้องสงสัย เพราะว่านั่นคือที่ ๆ เราไป ขณะที่เขาตอบคือที่ ๆ เขาไป เราต้องมั่นใจในตัวของเราเอง โดยเอาความรู้สึกแรกเป็นหลัก

แรก ๆ จะมองไม่เห็น เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วสมาธิยังไม่ดี การตัดกิเลสก็ไม่คล่องตัว จะเหมือนกับคลำของในที่มืด เขาส่งของให้เราชิ้นหนึ่ง เราก็ต้องหลับตา ถึงไม่หลับตาก็มองไม่เห็น คลำไปคลำมาสักพักหนึ่งก็ตอบได้ เช่น สมุดเล่มนี้ เราก็จะทราบว่าเป็นสมุด ถ้าไม่เห็นแล้วเราคลำบ่อย ๆ จับบ่อย ๆ ก็จะบอกได้เลยว่าเป็นสมุด ความคล่องตัวจะมีมากขึ้นไปเรื่อย ๆ

โอรส 07-12-2010 03:13

คราวนี้ก็จะมาสู่ขั้นตอนที่ลำบาก เพราะว่าถึงเวลานั้นกำลังใจของเราจะเริ่มมั่นคง เมื่อกำลังใจของเรามั่นคง สมาธิเริ่มทรงตัว ภาพจะปรากฏ ลำบากตรงไหน ? ก็ลำบากตรงความเคยชินของเรา เราเห็นภาพด้วยตาจนเคย พอถึงเวลาภาพปรากฏ เราอยากจะให้ชัดมากกว่านั้นโดยที่ไม่ได้นึกถึงข้อจำกัด

ข้อจำกัดคือ พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่เห็นอะไรชัดโดยตลอด ไม่มีอะไรปิดบังเหมือนอย่างกับพระอาทิตย์ยามเที่ยง
พระปัจเจกพุทธเจ้า มองเห็นได้อย่างกับพระจันทร์คืนวันเพ็ญ ก็ยังมีที่หลบมุมได้บ้าง..ใช่ไหม ?
พระอัครสาวก มองเห็นได้อย่างกับคบไฟดวงใหญ่ ถึงสว่างอย่างไร รอบข้างก็ยังมืดอีกเยอะ
พระอริยเจ้าทั่ว ๆ ไป มองเห็นได้อย่างกับแสงเทียนดวงน้อย
ของเราถ้าได้มโนมยิทธิจริง ๆ ยังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า คือ ทรงฌานโลกีย์ มองเห็นได้อย่างกับเวลาโพล้เพล้ใกล้ค่ำ

ทีนี้ลักษณะโพล้เพล้ใกล้ค่ำ บางครั้งก็เหมือนกับค่ำสนิทจริง ๆ แล้วเราไม่นึกถึงข้อจำกัดตรงนี้ ก็จะใช้สายตาไปเพ่ง เพื่อให้ภาพชัดขึ้น การใช้สายตา จะต้องนึกถึงตา นึกถึงตาคือนึกถึงตัว เท่ากับเราดึงจิตย้อนกลับ ภาพก็จะหายไป เราก็มานั่งกลุ้มว่า ทำไมภาพถึงหายไป ? ยิ่งฟุ้งซ่านก็ยิ่งหาภาพไม่เจอ พอใจเราสงบภาพก็จะมาปรากฏอีก เราก็เพ่งอีก แล้วก็หายไปอีก ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่นักปฏิบัติติดกันมาก

อาตมาเองก็ติดอยู่เป็นปี ๆ จนกว่าจะทำใจได้ว่า ก่อนหน้านี้ความรู้สึกของเราก็ถูกต้องแม่นยำดีอยู่แล้ว ภาพนี้จะปรากฏหรือไม่ปรากฏก็ช่างเถอะ เราพอใจแค่นี้แหละ เห็นก็เอา ไม่เห็นก็เอา ถ้าอย่างนั้นภาพจะปรากฏแล้วทรงตัวอยู่ได้นาน

คราวนี้นึกออกไหมว่าของเราผิดพลาดตรงไหนถึงไม่ได้สักที ? อย่าบอกนะว่าทุกขั้นตอน จำไว้ว่า "อย่าอยากจนเกินไป"

โอรส 08-12-2010 06:39

ถาม : เราตั้งใจมากเกินไป ?
ตอบ : ตัวตั้งใจมากเกินไปก็เป็นตัวอุทธัจจะ พาให้ฟุ้งซ่าน

การทรงฌานนี่ลำบาก ถ้าหากว่าเราไม่สามารถทรงฌานได้คล่องตัวชนิดเข้าฌานไหนก็ได้ เมื่อนั้นก็จะเป็นตัวถ่วงทิพจักขุญาณ

เพราะทิพจักขุญาณจะเกิดเมื่อ อยู่ในอุปจารสมาธิ หรือ ฌาน ๔ เต็มกำลัง

คราวนี้อยากจะเปรียบว่า เหมือนกับมีห้อง ๒ ห้อง ชั้นล่างกับชั้นบน ในห้องมีทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกันหมด มีบันไดอยู่ระหว่างกลางจากชั้นล่างขึ้นไปชั้นบน ถ้าเราอยู่อุปจารสมาธิ คือ อยู่ชั้นล่าง ถ้าฌาน ๔ ก็อยู่ชั้นบน เห็นได้เหมือนกัน ทุกอย่างเหมือนกันหมด ถ้าหากเราอยู่ระหว่างฌาน ๑ ๒ ๓ ก็เจ๊ง..ถึงอยู่ในฌาน ๔ ถ้าเป็นฌาน ๔ หยาบก็ยังไม่ถึงจุดที่จะเห็นได้

เพราะฉะนั้น..ถ้าหากว่าเรามีพื้นฐานการภาวนามาก่อนแล้ว แต่เราลดกำลังใจมาสู่อุปจารสมาธิไม่เป็น หรือส่งกำลังใจขึ้นไปฌาน ๔ ละเอียดไม่เป็น จะทำให้เกิดทิพจักขุญาณไม่ได้

พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ว่า บุคคลผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ตั้งใจปฏิบัติภาวนา ทรงสมาธิได้ สร้างฌานสมาบัติให้เกิดได้

บุคคลผู้ปฏิบัติภาวนาเป็นแสนคน จะทรงฌานได้สักคนก็แสนยาก
บุคคลผู้ทรงฌานเป็นแสนคน จะทรงฌาน ๔ ได้สักคนก็แสนยาก
บุคคลผู้ทรงฌาน ๔ เป็นแสนคน จะได้ทิพจักขุญาณสักคนก็แสนยาก

โอรส 08-12-2010 06:49

เพราะฉะนั้น..เรื่องที่เราทำไม่ได้ บางครั้งอาจจะเป็นที่ครูฝึกใช้คำพูดไม่ถูกต้องก็มี ขณะเดียวกัน..บางครั้งเราเองก็วางกำลังใจสูงเกินไป ลดกำลังใจต่ำเกินไป จนไม่ตรงกับช่วงที่จะเกิดทิพจักขุญาณก็มี ถ้าตรงเสียครั้งเดียวต่อไปก็จะจำได้ ลำบากครั้งแรกครั้งเดียว

อาตมาเองตอนฝึกใหม่ ๆ ครูฝึกเขาถามว่า
ถาม : "เห็นอะไรไหม ?"
ตอบ : " ไม่เห็นครับ"
ถาม : "สว่างไหม ?"
ตอบ : "มืดครับ"

ไม่รู้เรื่องอะไรเลย เพราะครูฝึกเขาใช้คำพูดผิด ไปได้อีกครั้งตอนที่ครูฝึกเขาหมดอารมณ์ไปนอนตีพุงอยู่ที่ไหนไม่รู้ อาตมาก็ดื้อภาวนาต่อไป ปรากฏว่าครูฝึกข้างหลังเขาถามลูกศิษย์ของเขาว่า "สามารถนึกถึงพระพุทธรูปได้ไหม ? องค์ใดองค์หนึ่งที่เรารักเราชอบมากที่สุด" โอ๊ย..หวานหมูเลย ก็จับภาพพระเป็นกสิณมาตั้ง ๓ ปีเต็ม ๆ อธิบายได้ทุกรายละเอียดเลยก็ว่าได้ ก็อธิบายไป ครูฝึกข้างหลังฟังแล้วเห็นว่าบอกได้ ก็ดึงเข้าร่วมวงไปด้วย อาตมาก็ว่าไปเรื่อย ถึงได้บอกว่า แค่ครูฝึกใช้คำพูดผิดนิดเดียว เราก็อาจจะไม่สามารถที่จะทำทิพจักขุญาณได้

ส่วนอีกครั้งหนึ่ง อาตมาพาโยมแม่ไปฝึก เรื่องของคนครอบครัวเดียวกัน โดยเฉพาะผู้อาวุโสกว่า จะเป็นเวรเป็นกรรมอยู่อย่างหนึ่งว่า เราจะสอนเขายาก เครดิตไม่พอ ก็ท่านเป็นแม่เรา..ใช่ไหม ? เลี้้ยงเรามากับมือ เราจะเอาอะไรไปสอนท่าน ก็ต้องไปให้คนอื่นเขาสอน ก็ไปให้ครูพรรณีสอน

พอหายเข้าไปในห้องสักครึ่งชั่วโมง ครูพรรณีก็เดินหัวเราะออกมา บอกว่า ท่านเล็กสอนแม่อย่างไร ? ถามว่า "เกิดมาทุกข์ไหม ?" แม่บอกว่า "ไม่ทุกข์" จึงบอกไปว่า ครูถามผิด กลับไปถามแม่ใหม่ว่า "เกิดมาลำบากไหม ?" รับรองว่า ๓ ชั่วโมงท่านอธิบายไม่หมดหรอกว่าลำบากอย่างไร ครูฝึกใช้คำพูดผิดนิดเดียว ทำให้เกิดผลเสียกับลูกศิษย์ได้ขนาดนั้น

เพราะฉะนั้น..เกิดจากหลายอย่างรวมกัน อาจจะเป็นได้ว่าเพราะครูฝึกไม่ชำนาญพอ และเราเองก็ทำกำลังใจไม่ตรงร่อง ให้ใช้ความพยายามต่อไป

โอรส 09-12-2010 01:23

อาตมาเองตอนที่พยายามทรงฌาน ปล้ำกับปฐมฌานอย่างเดียวใช้เวลา ๓ ปีเต็ม ๆ คิดว่าคงไม่มีไอ้บ้าที่ไหนอึดได้ขนาดนี้หรอก เขาทำไม่ได้ผล แค่ ๓ เดือนเขาก็ทิ้งกันหมดแล้ว

ภาวนาไปก็ไปไล่ขั้นตอน
ตอนนี้วิตกนะ เรากำลังนึกอยู่ว่าจะภาวนา
ตอนนี้วิจารณ์นะ ลมหายใจยาว-สั้น เข้า-ออก แรง-เบา คำภาวนาอย่างไรก็รู้อยู่
ตอนนี้ปีตินะ ขนชักจะลุกซ่า ๆ แล้ว ต่อจากนั้นก็หายจ้อยไปหมด

เราตามจี้อาการของฌานมากจนเกินไป เรื่องของกรรมฐานจะเหมือนกับคนขี้อาย ไปจี้จดจ่อมากเกินไป จะกลายเป็นตัวอารมณ์อุทธัจจะ คือ ฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้น..จึงทรงเป็นฌานไม่ได้ เดือนก็แล้ว ปีก็แล้ว ไล่ไปเรื่อย ๆ ไม่เห็นก้าวหน้าสักที ติดอยู่แค่นั้น

จนกระทั่งวันหนึ่ง..คงจะถึงวาระถึงเวลาแล้ว ตอนนั้นเบื่อเต็มทีแล้ว ข้าจะภาวนา ส่วนอารมณ์จะเป็นฌานหรือไม่เป็นฌานก็ช่างหัวมันเถอะ วูบเดียวก็ได้เลย คือ กำลังใจปล่อยวางแล้ว

โอรส 09-12-2010 01:28

ตรงจุดนี้แหละ ถ้าเราอยากเกินไปเราจะไม่ได้ แล้วมาถามอีกครั้งว่า "ถ้าไม่อยากแล้วจะไปปฏิบัติทำไม ?" คือ ให้ตั้งกำลังใจของเราไว้ว่า เราปฏิบัติครั้งนี้เราต้องการอะไร เมื่อถึงเวลาภาวนา ก็ให้ลืมความตั้งใจนั้นเสีย เอาใจจดจ่ออยู่กับการภาวนาอย่างเดียว

พอครูฝึกบอกอย่างไรก็ให้ทำอย่างนั้น พอเขาบอกว่าคลายอารมณ์ออกมา ทำตัวสบาย ๆ เหมือนกับเรานั่งคุยกัน หลับตาเบา ๆ สบาย ๆ เขาบอกอย่างไรทำอย่างนั้น เขาถามอย่างไรตอบไปตามความรู้สึก อย่างนั้นจะได้ง่าย

ถ้าหากเราเสียดายว่า กำลังภาวนาอารมณ์ทรงตัวเลย เขาถามเราไม่ตอบ คือเราไม่ลดกำลังใจลงมา เราก็จะเสียผลเอง ถ้าเป็นอย่างนี้เราจะไปโทษครูฝึกไม่ได้


สนทนากับพระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ

ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๔๔


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 17:35


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว