กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   ธรรมวิภาค (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=68)
-   -   ติกะ คือ หมวด ๓ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=5765)

ตัวเล็ก 17-08-2017 22:14

ติกะ คือ หมวด ๓
 
รตนะ ๓ ประการ คือ พระพุทธ ๑ พระธรรม ๑ พระสงฆ์ ๑

๑. ท่านผู้สอนให้ประชุมชนประพฤติชอบด้วย กาย วาจา ใจ ตามพระธรรมวินัยที่เรียกว่าพระพุทธศาสนา ชื่อว่าพระพุทธเจ้า
๒. พระธรรมวินัยที่เป็นคำสอนของท่าน ชื่อว่าพระธรรม
๓. หมู่ชนที่ฟังคำสั่งสอนของท่านแล้ว ปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย ชื่อว่าพระสงฆ์

รตนะ แปลว่า สิ่งที่ให้เกิดความยินดี หมายถึงสิ่งที่มีราคาแพง เช่น เพชร พลอย ทองคำ หรือสิ่งอื่นใดก็ตามที่ชาวโลกเขานิยมกัน หรือของวิเศษ เช่น รตนะ ๗ อย่าง ของพระเจ้าจักรพรรดิ คือ ช้างแก้ว, ม้าแก้ว, ขุนพลแก้ว, ขุนคลังแก้ว, นางแก้ว, จักรแก้ว และแก้วมณี

พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ทรงจัดว่าเป็นรตนะ เพราะเป็นผู้มีค่ามากโดยตนเองเป็นผู้สงบจากบาปแล้ว สอนผู้อื่นให้ละชั่วประพฤติชอบ ถ้าคนในโลกไม่ละชั่วประพฤติชอบแล้ว สิ่งมีค่าทั้งหลายก็จะกลายเป็นศัตรูนำภัยอันตรายมาสู่ตนเอง

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ จึงชื่อว่า รตนะ คือ เป็นสิ่งที่มีค่า น่ายินดี


ที่มา http://nakthamtee.blogspot.com/2015/09/blog-post.html

ตัวเล็ก 17-08-2017 22:15

คุณของรตนะ ๓ ประการ คือ

พระพุทธเจ้า รู้ดีรู้ชอบด้วยพระองค์เองก่อนแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้ตามด้วย
พระธรรม ย่อมรักษาผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว
พระสงฆ์ ปฏิบัติชอบตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว สอนให้ผู้อื่นกระทำตามด้วย


ที่มา http://nakthamtee.blogspot.com/2015/09/blog-post.html

ตัวเล็ก 17-08-2017 22:16

โอวาทของพระพุทธเจ้า ๓ ประการ คือ
๑. เว้นจากทุจริต คือ เว้นจากการประพฤติชั่วด้วยกาย วาจา ใจ
๒. ประกอบสุจริต คือ ประพฤติชอบ ด้วยกาย วาจา ใจ
๓. ทำใจของตนให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองใจ มีโลภ โกรธ หลง เป็นต้น


ที่มา http://nakthamtee.blogspot.com/2015/09/blog-post.html

ตัวเล็ก 17-08-2017 22:17

ทุจริต ๓ ประการ คือ
๑. ประพฤติชั่วด้วยกาย เรียก กายทุจริต
๒. ประพฤติชั่วด้วยวาจา เรียก วจีทุจริต
๓. ประพฤติชั่วด้วยใจ เรียก มโนทุจริต


กายทุจริต ๓ ประการ คือ
๑. ฆ่าสัตว์
๒. ลักฉ้อ
๓. ประพฤติผิดในกาม


วจีทุจริต ๔ ประการ คือ
๑. พูดเท็จ
๒. พูดส่อเสียด
๓. พูดคำหยาบ
๔. พูดเพ้อเจ้อ


มโนทุจริต ๓ ประการ คือ
โลภอยากได้ของเขา ๑
พยาบาทปองร้ายเขา ๑
เห็นผิดจากคลองธรรม ๑


ทุจริต (ความประพฤติชั่ว) ๓ อย่างนี้ เป็นสิ่งไม่ควรทำ ควรละเสีย

ที่มา http://nakthamtee.blogspot.com/2015/09/blog-post.html

ตัวเล็ก 17-08-2017 22:24

สุจริต ๓ ประการ คือ
๑. ประพฤติชอบด้วยกาย เรียก กายสุจริต
๒. ประพฤติชอบด้วยวาจา เรียก วจีสุจริต
๓. ประพฤติชอบด้วยใจ เรียก มโนสุจริต


กายสุจริต ๓ อย่าง คือ
เว้นจากฆ่าสัตว์
เว้นจากลักฉ้อ
เว้นจากประพฤติผิดในกาม


วจีสุจริต ๔ อย่าง คือ
เว้นจากพูดเท็จ
เว้นจากพูดส่อเสียด
เว้นจากพูดคำหยาบ
เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ


มโนสุจริต ๓ อย่าง คือ
ไม่โลภอยากได้ของเขา
ไม่พยายามปองร้ายเขา
เห็นชอบตามคลองธรรม


สุจริต (ความประพฤติชอบ) ๓ อย่างนี้ เป็นกิจควรทำ ควรประพฤติ

ที่มา http://nakthamtee.blogspot.com/2015/09/blog-post.html

ตัวเล็ก 17-08-2017 22:29

อกุศลมูล ๓ อย่าง
รากเหง้าของอกุศล เรียกอกุศลมูล มี ๓ อย่าง คือ
๑. โลภะ อยากได้
๒. โทสะ คิดประทุษร้ายเขา
๓. โมหะ หลงไม่รู้จริง

เมื่ออกุศลทั้ง ๓ นี้ ก็ดี ข้อใดข้อหนึ่งก็ดีมีอยู่ในใจ อกุศลอื่นที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็เจริญมากขึ้น เหตุนั้นจึงชื่อว่าอกุศลมูล คือรากเหง้าของอกุศล ท่านสอนให้ละเสีย


กุศลมูล ๓ อย่าง
รากเหง้าของกุศล เรียก กุศลมูล มี ๓ อย่าง คือ
๑. อโลภะ ไม่อยากได้
๒. อโทสะ ไม่คิดประทุษร้ายเขา
๓. อโมหะ ไม่หลง


ที่มา http://nakthamtee.blogspot.com/2015/09/blog-post.html

ตัวเล็ก 17-08-2017 22:33

สัปปุริสบัญญัติ คือ ข้อที่ท่านสัตบุรุษตั้งไว้ ๓ อย่าง คือ
๑. ทาน สละสิ่งของของตน เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น
๒. ปัพพัชชา ถือบวช เป็นอุบายเว้นจากการเบียดเบียนกันและกัน
๓. มาตาปิตุอุปัฏฐาน ปฏิบัติมารดา บิดาของตนให้เป็นสุข


สัตบุรุษ แปลว่า คนดีมีความประพฤติทางกาย วาจาและใจอันสงบ
๑. กายสงบ คือ เว้นจากกายทุจริต ๓
๒. วาจาสงบ คือ เว้นจากวจีทุจริต ๔
๓. ใจสงบ คือ เว้นจากมโนทุจริต ๓ และเป็นผู้ทรงความรู้


ทาน แปลว่า การให้ หมายถึงการให้สิ่งของของตน มีข้าว น้ำเป็นต้น แก่บุคคลอื่นด้วยวัตถุประสงค์ ๒ อย่าง คือ
๑. เพื่อบูชาคุณของผู้มีคุณความดี เช่นการทำบุญแก่พระสงฆ์เป็นต้น
๒. เพื่อช่วยเหลือบุคคลผู้ขาดแคลน เช่นการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นต้น


ปัพพัชชา แปลว่า การถือบวช หมายถึง นำกายและใจออกห่างจากกามคุณอันเป็นเหตุแห่งการเบียดเบียนกัน แม้ผู้เป็นฆราวาสจะทำเช่นนี้บางครั้งบางคราวก็เกิดประโยชน์ได้

มาตาปิตุอุปัฏฐาน แปลว่า การปฏิบัติบิดาและมารดา หมายถึงการเลี้ยงดูท่าน ช่วยท่านทำงาน รักษาชื่อเสียงวงศ์ตระกูล รักษาทรัพย์มรดก และเมื่อท่านถึงแก่กรรมทำบุญให้ท่าน

ที่มา http://nakthamtee.blogspot.com/2015/09/blog-post.html

ตัวเล็ก 17-08-2017 22:36

บุญกิริยาวัตถุ ๓ อย่างคือ สิ่งเป็นที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญ เรียกบุญกิริยาวัตถุ โดยย่อมี ๓ อย่าง
๑. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน
๒. สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล
๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา


บุญ มีความหมาย ๒ ประการ คือ
๑. เครื่องชำระสิ่งที่ไม่ดีที่นอนเนื่องอยู่ในใจ
๒. สภาพที่ก่อให้เกิดความน่าบูชา
บุญนั้นเป็นสิ่งที่ควรทำ จึงชื่อว่า บุญกิริยา บุญที่ควรทำนั้น เป็นที่ตั้งแห่งสุขวิเศษ จึงชื่อว่า บุญกิริยาวัตถุ


ทาน คือ เจตนาที่เสียสละสิ่งของ หมายถึง เสียสละเพื่อทำลายกิเลส คือความโลภในใจของตน
ศีล คือ เจตนาที่ตั้งไว้ดี โดยห้ามกายกรรมและวจีกรรมที่มีโทษ แล้วให้สมาทานกรรมดีไม่มีโทษ และเป็นที่ตั้งของกุศลธรรมชั้นสูง มีสมาธิและปัญญาเป็นต้น
ภาวนา คือ เจตนาที่ทำให้กุศลเจริญ หมายความว่า ทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และทำกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้เพิ่มพูนมากขึ้น


ที่มา http://nakthamtee.blogspot.com/2015/09/blog-post.html

ตัวเล็ก 02-02-2018 16:32

อกุศลวิตก ๓ (ความตรึกที่เป็นอกุศล)

๑. กามวิตก (ความตรึกในทางกาม) หมายถึง การนึกถึงรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ อันน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ ด้วยความคิดที่ไม่ถูกต้องทางศีลธรรม

๒.พยาปาทวิตก (ความตรึกในทางพยาบาท) หมายถึง ความตรึกนึกด้วยความอำนาจแห่งความพยาบาท ซึ่งอาจจะเกิดมาจากความไม่พอใจ หรือการกระทบกระทั่งกันบางอย่าง แล้วใจยังเก็บเรื่องนั้นไว้อยู่

๓. วิหิงสาวิตก (ความตรึกในทางเบียดเบียน) หมายถึง ความนึกคิดในทางก่อความเดือดร้อนให้เกิดแก่ผู้อื่น ต้องการจะเห็นความวิบัติ ความเดือดร้อนของคนอื่น สัตว์อื่น

อกุศลวิตก ๓ นี้
- กามวิตก มีราคะ และโลภะ เป็นมูล
- พยาปาทวิตก มีโทสะ เป็นมูล
- วิหิงสาวิตก มีโมหะ เป็นมูล

ตัวเล็ก 03-02-2018 15:58

กุศลวิตก ๓ (ความนึกคิดที่ดีงาม)

๑. เนกขัมมวิตก (ความตรึกปลอดจากกาม) หมายถึง ความนึกคิดในทางสงบ ไม่คิดในกามารมณ์ อันเป็นเครื่องปรนเปรอ หรือสนองความอยากของตน คิดหาทางออกจากตัณหา

๒. อพยาบาทวิตก (ความนึกคิดที่ปราศจากความพยาบาท) หมายถึง ความนึกติดที่ประกอบด้วยเมตตา คิดปรารถนาให้คนอื่นมีความสุข ไม่เพ่งมองผู้อื่นในแง่ร้าย

๓. อวิหิงสาวิตก (ความนึกคิดในทางไม่เบียดเบียน) หมายถึง ความนึกคิดที่ประกอบด้วยกรุณาปรารถนาให้คนอื่นพ้นจากความทุกข์ที่เขากำลังได้รับ ไม่คิดร้ายหรือมุ่งทำลายเขา

ตัวเล็ก 04-02-2018 10:36

อัคคิ ๓ (ไฟคือกิเลส)

๑. ราคัคคิ (ไฟคือราคะ) ได้แก่ ความรู้สึกนึกกำหนัด รักใคร่ ยินดีในกามคุณ มี รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มีความมุ่งหมายปรารถนาที่จะได้ของเหล่านั้นมาเป็นของ ๆ ตน ถ้าไม่ได้ก็กระเสือกกระสนแสวงหา ทำให้เดือดร้อนต่าง ๆ นานา เปรียบเสมือนไฟแผดเผาอยู่ภายใน

๒. โทสัคคิ (ไฟคือโทสะ) ได้แก่ ความเดือดพล่านของอารมณ์ ซึ่งเกิดขึ้นขณะประสบอารมณ์ไม่น่าปรารถนา เกิดความโกรธ อาฆาต พยาบาท เป็นต้น เมื่อไฟกองนี้เกิดขึ้นในสันดานแล้ว ทำให้เกิดการวิวาทประทุษร้ายกันและกัน จนถึงกับบาดเจ็บล้มตายได้ เป็นต้น

๓. โมหัคคิ (ไฟคือโมหะ) ได้แก่ ความหลงมัวเมา ความไม่รู้ ความไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นบุญอะไรเป็นบาป เป็นคุณเป็นโทษ ไฟกองนี้เปรียบเหมือนไฟสุมแกลบฉะนั้น

ตัวเล็ก 05-02-2018 10:49

อัตถะ ๓ (ประโยชน์)

๑. ทิฏฐธัมมิกัตถะ (ประโยชน์ในภพนี้) ได้แก่ ประโยชน์ที่บุคคลจะพึงได้รับในปัจจุบัน ที่รู้จักกันง่าย ๆ คือ ความสุข เช่น ความสุขจากการมีทรัพย์ ความสุขจากการมีสามี-ภรรยาที่ดี เป็นต้น นี้เรียกว่า ประโยชน์ในปัจจุบัน

๒. สัมปรายิกัตถะ (ประโยชน์ในภพหน้า) ได้แก่ ประโยชน์ที่เราจะได้รับหลังจากตายไปแล้ว ถ้าเราทำดีภายหน้าก็จะได้รับผลที่ดี ถ้าทำชั่วภายหน้าก็จะได้รับผลไม่ดี

๓. ปรมัตถะ (ประโยชน์คือพระนิพพาน) ได้แก่ การดับกิเลสมี ราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น อันเป็นเหตุให้เกิดความร้อนใจทั้งปวง การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏนี้

ตัวเล็ก 06-02-2018 10:06

อธิปเตยยะ ๓ (ความเป็นใหญ่)

๑. อัตตาธิปเตยยะ (ความมีตนเป็นใหญ่) หมายถึง การจะทำอะไร ๆ ก็ปรารภตนเองเป็นใหญ่ ปรารภตนเป็นที่ตั้ง เช่น เห็นว่าตนเองขัดสนในชาตินี้ ก็เลยทำบุญเพื่อจะให้ได้ประสบความสุขในภพหน้า

๒. โลกาธิปเตยยะ (ความมีโลกเป็นใหญ่) หมายถึง การกระทำที่ปรารภโลกเป็นใหญ่ (ทำตามอย่างคนพวกมาก) เช่น เราไม่อยากจะทำบุญ แต่เห็นชนส่วนมากหรือเพื่อนร่วมงานเขาพากันทำ ครั้นจะไม่ทำก็เกรงว่าเขาจะติเตียน บางทีเรียกว่า ประชาธิปไตย การถือเอาความคิดคนส่วนมากเป็นเกณฑ์ ถึงแม้จะเป็นการกระทำที่ไม่ดี

๓. ธัมมาธิปเตยยะ (ความมีธรรมเป็นใหญ่) หมายถึง การกระทำที่ถือธรรมเป็นหลัก ถือความถูกต้อง ทำเพื่อให้คนอื่นมีความสุข ถึงแม้จะไม่ได้รับการยกย่องสรรเสริญก็ตาม

ตัวเล็ก 07-02-2018 14:56

อภิสังขาร ๓ (สภาพที่ปรุงแต่งผลแห่งการกระทำของสัตว์)

๑. ปุญญาภิสังขาร (อภิสังขารคือบุญ) หมายถึง สภาวะของความดีที่ปรุงแต่งชีวิตสัตว์ให้ดี เพราะกรรมอันเป็นฝ่ายกุศล อันได้แก่กุศลเจตนาฝ่ายกามาวจร ๓ และฝ่ายรูปาวจร ๕

๒. อปุญญาภิสังขาร (อภิสังขารคือบาป) หมายถึง สภาวะของความชั่วที่ปรุงแต่งให้สัตว์เลว ได้แก่ อกุศลเจตนาอันเป็นฝ่ายกามาวจรทั้ง ๑๒ ทำให้สัตว์เป็นไปตามแรงกรรมที่ตนได้กระทำไว้ก่อไว้ในอดีต เช่น ทำให้เกิดในตระกูลขัดสน ไม่หล่อ ไม่สวย เป็นต้น

๓. อเนญชาภิสังขาร (อภิสังขารคือความไม่หวั่นไหว) หมายถึง ภาวะที่มั่นคงไม่หวั่นไหว ได้แก่ กุศลเจตนาที่เป็นอรูปาวจร ๔ ไปจนถึงอรูปฌาน ๔

ตัวเล็ก 08-02-2018 10:16

อาสวะ ๓ (สิ่งที่หมักหมมอยู่ในสันดานสัตว์)

๑. กามาสวะ (อาสวะเป็นเหตุอยากได้) ได้แก่ ความใคร่ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ใจตนกำหนดว่า น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ

๒. ภวาสวะ (อาสวะเป็นเหตุอยากเป็น) ได้แก่ ความชื่นชมยินดีในความมีความเป็นต่าง ๆ ที่ตนกำหนดว่า น่ายินดี น่าปรารถนา เช่น ต้องการอยากเป็นเศรษฐี ต้องการอยากมีการงานดี ๆ ตำแหน่งสูง ๆ

๓. อวิชชาสวะ (อาสวะคือความเขลา) ได้แก่ ความไม่รู้ตามความเป็นจริงของสิ่งเหล่านั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไร เช่น คนไม่เข้าใจหลักสมดุลธรรมชาติที่คน พืช สัตว์ ต้องพึ่งพาอาศัยกัน เมื่อไม่เข้าใจก็ย่อมจะทำลายธรรมชาติ

ตัวเล็ก 09-02-2018 10:00

กรรม ๓ (การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา)

๑. กายกรรม (การกระทำทางกาย) ถ้าเป็นกรรมดีก็เป็นกายสุจริต เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ถ้าเป็นกรรมชั่วก็เป็นกายทุจริต เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น

๒. วจีกรรม (การกระทำทางวาจา) ถ้าเป็นกรรมดีก็เป็นวจีสุจริต เช่น ไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ เป็นต้น แต่ถ้าเป็นกรรมชั่วก็เป็นวจีทุจริต เช่น พูดเท็จ พูดคำหยาบ เป็นต้น

๓. มโนกรรม (การกระทำทางใจ) ถ้าเป็นกรรมฝ่ายดีก็เป็นมโนสุจริต เช่น ไม่โลภอยากได้ของคนอื่น ไม่พยาบาทปองร้ายคนอื่น ถ้าเป็นกรรมชั่วก็เป็นมโนทุจริต เช่น โลภอยากได้ของของคนอื่น พยาบาทคนอื่นเป็นต้น

ตัวเล็ก 10-02-2018 19:46

ทวาร ๓ (ช่องทางที่ทำกรรม)

๑. กายทวาร (ทวารคือกาย) ได้แก่ กายเป็นที่ตั้งแห่งการกระทำ คือ การกระทำเป็นกายทวาร ผลเป็นกายกรรม เป็นได้ทั้งดีและชั่ว

๒. วจีทวาร (ทวารคือวาจา) ได้แก่ การกล่าวด้วยวาจา จัดเป็นวจีทวาร คำพูดที่ออกมาจัดเป็นวจีกรรม เป็นได้ทั้งฝ่ายดี ฝ่ายชั่ว

๓. มโนทวาร (ทวารคือใจ) ได้แก่ จิตที่คิดรำพึงถึงสิ่งที่ตนปรารถนา เป็นมโนทวาร ผลที่คิดเป็นมโนกรรม เป็นได้ทั้งฝ่ายดี ฝ่ายชั่ว

ตัวเล็ก 12-02-2018 16:08

ตัณหา ๓ (ความทะยานอยาก)

๑. กามตัณหา (ความทะยานอยากในกาม) ได้แก่ อยากได้อารมณ์อันน่ารักใคร่ น่าปรารถนา ต้องการพัวพันอยู่ในกามารมณ์

๒. ภวตัณหา (ความทะยานอยากในภพ) ได้แก่ การอยากเป็นนั่น อยากเป็นนี่ หรือไม่ต้องการพลัดพรากจากภพหรือสถานที่อยู่ของตน รวมถึงความต้องการเป็นคนมีอำนาจ มีชื่อเสียง มีฐานะดี เป็นต้น

๓. วิภวตัณหา (ความทะยานอยากในการไปจากภพ) ได้แก่ ความต้องการพ้นจากความเป็นอยู่จากความเป็นตัวตนอย่างใดอย่างหนึ่ง อยากดับสูญให้หมด

ตัวเล็ก 13-02-2018 15:07

ทิฏฐิ ๓ (ความเห็น, ทฤษฏี)

๑. อกิริยทิฏฐิ (ความเห็นว่าไม่เป็นอันทำ) หมายถึง ความเห็นว่าการกระทำแล้วไม่ชื่อว่าทำ เช่น เห็นว่าทานที่ให้ไปแล้วไม่เป็นผล ผลวิบากของกรรมที่สัตว์ทำแล้วไม่มี เป็นต้น

๒. อเหตุกทิฏฐิ (ความเห็นว่าหาเหตุมิได้) หมายถึง การเห็นว่าสรรพสิ่งไม่มีเหตุปัจจัย ทิฏฐินี้แสดงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของคน ๆ นั้นไม่ว่าจะเป็นความสุขความทุกข์เป็นต้นล้วนเกิดขึ้นมาเองโดยไม่มีเหตุปัจจัย

๓. นัตถิกทิฏฐิ (ความเห็นว่าไม่มี) หมายถึง ความเห็นที่ปฏิเสธทุกอย่าง โดยสรุปว่า บุญ บาปไม่มี โลกหน้าไม่มี สัตว์ทั้งหลายสิ้นสุดลงที่ความตาย เป็นต้น

ทิฏฐิทั้ง ๓ อย่างนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นความเห็นขัดแย้งกับทางพระพุทธศาสนา

ตัวเล็ก 14-02-2018 13:10

ปาฏิหาริย์ ๓ (การกระทำที่ให้บังเกิดผลเป็นอัศจรรย์)

๑. อิทธิปาฏิหาริย์ (แสดงฤทธิ์เป็นอัศจรรย์) หมายถึง การแสดงที่พ้นวิสัยของสามัญชนธรรมดา เช่น หายตัวได้ ดำดินได้ เหาะได้ เป็นต้น

๒. อาเทสนาปาฏิหาริย์ (ทายใจเป็นอัศจรรย์) หมายถึง การทายใจของคนอื่นได้ถูกต้อง ไม่ว่าเขาจะคิดไปอย่างไร จะดีหรือเลว ญาณที่ทำให้รู้ใจผู้อื่นนี้ คือ เจโตปริยญาณ

๓. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ (คำสอนเป็นอัศจรรย์) หมายถึง คำสอนที่เป็นจริง สอนให้เห็นผลจริง คนผู้นำไปปฏิบัติสามารถทำให้ได้ผลสมจริงได้โดยไม่เลือกเวลา สถานที่ ผู้ปฏิบัติจะรู้ได้ด้วยตัวเอง

คำสอนทั้ง ๓ นี้พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญอนุสาสนีปาฏิหาริย์ เพราะว่าช่วยดำรงศาสนาไว้ได้


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 02:21


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว