กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   ธรรมวิภาค (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=68)
-   -   สัตตกะ คือ หมวด ๗ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=5845)

ตัวเล็ก 24-10-2017 11:40

สัตตกะ คือ หมวด ๗
 
อริยทรัพย์ ๗
ทรัพย์ คือ คุณความดีที่มีในสันดานอย่างประเสริฐ เรียกอริยทรัพย์ มี ๗ อย่าง คือ
๑. สัทธา เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ
๒. ศีล รักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย
๓. หิริ ความละอายต่อบาปทุจริต
๔. โอตตัปปะ สะดุ้งกลัวต่อบาป
๕. พาหุสัจจะ ความเป็นคนเคยได้ยินได้ฟังมามาก คือทรงจำธรรม และรู้ศิลปวิทยามาก
๖. จาคะ สละให้ปันสิ่งของของตนแก่คนที่ควรให้ปัน
๗. ปัญญา รอบรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์


อริยทรัพย์ ๗ ประการนี้ ดีกว่าทรัพย์ภายนอก มีเงินทอง เป็นต้น ควรแสวงหาไว้ให้มีในสันดาน
ทรัพย์ภายนอก จะเป็นสังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ สวิญญณกทรัพย์ อวิญญณกทรัพย์ ก็ตาม มีไว้เพื่อให้เกิดความสุข ถ้าขาดทรัพย์แล้วย่อมมีความทุกข์ ตามธรรมภาษิตว่า ทลิททลิยํ ทุกขํ โลเก ความจนเป็นทุกข์ในโลก แต่ถึงจะมีทรัพย์ภายนอกมากมายอย่างไร ถ้าขาดทรัพย์ภายใน คืออริยทรัพย์ เช่น ขาดศีล หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น โลกก็จะลุกเป็นไฟหาความสุขไม่ได้เลย

อนึ่ง เมื่อคนมีทรัพย์ภายใน คือ อริยทรัพย์แล้ว ย่อมหาทรัพย์ภายนอกได้ง่าย ทั้งทำให้ทรัพย์ภายนอกนั้นมีความมั่นคง และก่อให้เกิดความสุขอย่างแท้จริง สมดังที่นักปราชญ์สอนไว้ว่า ความพยายามทุกอย่างของมนุษย์ ก็เพื่อความสุข แต่ถ้าขาดธรรมเสียแล้ว ความสุขจะเกิดไม่ได้เลย

ตัวเล็ก 29-11-2017 12:55

สัปปุริสธรรม ๗ ประการ
ธรรมของสัตบุรุษ เรียกว่า สัปปุริสธรรม มี ๗ อย่าง คือ
๑. ธัมมัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเหตุ เช่น รู้จักว่า สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งสุขสิ่งนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์
๒. อัตถัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักผล เช่น รู้จักว่าสุขเป็นผลแห่งเหตุอันนี้ ทุกข์เป็นผลแห่งเหตุอันนี้
๓. อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักตนว่า เราว่าโดยชาติ ตระกูล ยศศักดิ์ สมบัติ บริวาร ความรู้ และคุณธรรมเพียงเท่านี้ แล้วประพฤติตนให้สมควรแก่ที่เป็นอยู่อย่างไร
๔. มัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้ประมาณในการแสวงหาเครื่องเลี้ยง ชีวิตแต่โดยทางที่ชอบ และรู้จักประมาณในการ บริโภคแต่พอสมควร
๕. กาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลาอันสมควรในอันประกอบกิจนั้น ๆ
๖. ปริสัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประชุมชน และกิริยาที่จะต้องประพฤติต่อประชุมชนนั้น ๆ ว่า หมู่นี้เมื่อเข้าไปหาจะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ เป็นต้น
๗. ปุคคลปโรปรัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเลือกบุคคลว่า ผู้นี้เป็นคนดีควรคบ ผู้นี้เป็นคนไม่ดีไม่ควรคบ เป็นต้น


สัตบุรุษ คือ คนดีมีความประพฤติ ทางกาย วาจา ใจ อันสงบ และทรงความรู้ หรือจะกล่าวว่า ผู้ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้ คือ รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาลเวลา รู้จักเข้าหาชุมชน รู้จักเลือกคนที่ควรคบ เรียกว่า สัตบุรุษ ก็ได้
๑. รู้ว่า จุดไฟทิ้งไว้ในบ้าน ไฟจะไหม้บ้าน ชื่อว่า รู้เหตุ
๒. รู้ว่าไฟไหม้บ้านพร้อมทั้งทรัพย์สินต่าง ๆ หมดสิ้น ก็เพราะจุดไฟทิ้งไว้ ชื่อว่า รู้ผล
๓. การรู้เหตุ ทำให้รู้จักสร้างเหตุดี หลีกหนีเหตุร้าย
๔. การรู้ผล ทำให้เป็นคนมีประสบการณ์ แล้วไม่ทำอย่างนั้นอีก
สัปปุริสธรรมข้ออื่น ๆ ท่านอธิบายไว้ชัดเจนแล้ว

ตัวเล็ก 28-03-2018 15:57

อนุสัย หรือ สังโยชน์ ๗ (กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน เป็นกิเลสอย่างละเอียด)

๑. กามราคะ (ความกำหนัดในราคะ) ได้แก่ สิ่งที่มาปรุงแต่งจิต ให้กำหนัดรักใคร่พอใจในวัตถุกาม

๒. ปฏิฆะ (ความขัดใจ) ได้แก่ ความหงุดหงิด ไม่พอใจ ขัดเคืองใจ ด้วยอำนาจโทสะ

๓. ทิฏฐิ (ความเห็น) ได้แก่ ความเห็นผิด เช่น เห็นว่าทำดีไม่ได้ดี มารดา บิดาไม่มีคุณ เป็นต้น

๔. วิจิกิจฉา (ความลังเล) ได้แก่ การที่จะลงมือทำกิจการอะไรก็ไม่กล้าทำ เพราะกลัวจะไม่ดีบ้าง กลัวจะผิดบ้าง เลยไม่กล้าตัดสินใจอะไรแน่นอน

๕. มานะ (ความถือตัว) ได้แก่ ความคิดที่เย่อหยิ่งถือตัว เห็นว่าตัวเองเหนือกว่าผู้อื่นทั้งหมด

๖. ภวราคะ (ความอยากได้, อยากเป็น) ได้แก่ ความต้องการในวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ต้องการความมีอำนาจ ต้องการเป็นใหญ่

๗. อวิชชา (ความไม่รู้จริง) ได้แก่ ความไม่รู้แจ้งเห็นจริงในการทำลายกิเลสตัณหา

กิเลสแต่ละอย่างจะมีอำนาจไปคนละทาง แต่ละอย่างจะทำให้หลงไปทางนั้น ๆ เหมือนกับพาหะที่นำโรคมาสู่เราได้หลายทาง เช่น ยุงลายนำเชื้อไข้เลือดออกมา เป็นต้น พระอรหัตตมรรคขึ้นไปเท่านั้นที่ละอนุสัยได้ทั้งหมด

ตัวเล็ก 30-03-2018 12:12

วิญญาณฐิติ ๗ (ภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ)

๑. สัตว์บางพวก มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน เช่น พวกมนุษย์, เทพบางพวก, วินิปาติกะบางพวก

๒. สัตว์บางพวก มีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น พวกเทพจำพวกพรหมผู้เกิดในภูมิปฐมฌาน

๓. สัตว์บางพวก มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน เช่น พวกเทพอาภัสสร

๔. สัตว์บางพวก มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น พวกเทพสุภกิณหะ

๕. สัตว์บางพวก ผู้เข้าถึงชั้น อากาสานัญจายตนะ

๖. สัตว์บางพวก ผู้เข้าถึงชั้น วิญญานัญจายตนะ

๗. สัตว์บางพวก ผู้เข้าถึงชั้น อากิญจัญญายตนะ

ตัวเล็ก 01-04-2018 10:05

วิสุทธิ ๗ คือ ความบริสุทธิ์ ความหมดจด

๑. สีลวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งศีล) คือ การรักษาศีลของตนให้หมดจด ตามสมควรแก่ฐานะของตน

๒. จิตตวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งจิต) คือ จิตที่เข้าถึงความบริสุทธิ์จากนิวรณ์ทั้ง ๕

๓. ทิฏฐิวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งทิฏฐิ) คือ ความรู้ ความเห็นตามความเป็นจริง รู้จักแยกแยะถูกผิด

๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย) คือ ความรู้ที่สามารถกำหนดรู้เหตุเกิดและเหตุดับแห่งนามรูปได้ จนเป็นเหตุให้สิ้นความสงสัยในนามรูป ตรงกับคำว่า ธรรมฐิติญาณ หรือยถาภูตญาณ หรือสัมมาทัสสนะ

๕. มัคคามัคคญาณทัสสนะวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องเห็นว่าทางและมิใช่ทาง) คือ ความรู้ที่สืบทอดมาจากการเจริญวิปัสสนา ด้วยการพิจารณาให้เห็นความเกิดขึ้นและความเลื่อมไปแห่งสังขารทั้งหลาย เห็นว่าวิปัสสนูปกิเลสมิใช่ทาง ส่วนวิปัสสนานั่นแลเป็นทางที่ถูกต้อง จึงเตรียมที่จะประคองจิตไว้ในวิถีนั้น

๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งญาณอันรู้เห็นทางดำเนิน) คือ ประกอบความเพียรในวิปัสสนาญาณทั้งหลาย เริ่มตั้งแต่อุทยัพพยานุปัสสนาญาณที่พ้นจากอุปกิเลส ดำเนินเข้าสู่วิถีทางนั้นเป็นต้นไป จนถึงสัจจานุโลมิกญาณ หรือ อนุโลมญาณอันเป็นที่สุดแห่งวิปัสสนา ต่อแต่นี้เกิดโคตรภูตญาณคั่นระหว่างวิสุทธิข้อนี้กับข้อสุดท้าย เป็นหัวต่อแห่งความเป็นปุถุชน กับความเป็นอริยบุคคล โดยสรุปวิสุทธิข้อนี้ก็คือ วิปัสสนาญาณ

๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ) คือ ความรู้ในอริยมรรค ๔ หรือ มรรคญาณอันเกิดจากโคตรภูตญาณ เป็นต้นไป เมื่อมรรคเกิดขึ้นแล้ว ผลจิตแต่ละอย่างย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไปจากมรรคญาณนั้น ๆ ความเป็นพระอริยบุคคลย่อมเกิดเพราะวิสุทธิข้อนี้ เป็นอันบรรลุที่หมายสูงสุดแห่งไตรสิกขา

วิสุทธิ ๗ ข้อนี้มีผลตั้งแต่ข้อแรกสืบกันเรื่อย ๆ จนถึงข้อสุดท้าย จึงทำให้ผู้ปฏิบัติบรรลุพระนิพพานได้


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 14:13


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว