กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   กระทู้ธรรม (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=2)
-   -   สิ้นโลก เหลือธรรม (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=1288)

สายท่าขนุน 18-12-2009 20:15

ภวังค์นี้ถึงมิใช่หนทางให้พ้นจากทุกข์ก็จริงแล แต่มันเป็นหนทางให้ถึงความบริสุทธิ์ได้ ผู้ฝึกหัดจะต้องเป็นไปเป็นขั้นแรก แลเราจะแต่งเอาไม่ให้เป็นก็ไม่ได้ ผู้ฝึกหัดสมาธิจะเป็นทุก ๆ คนถ้าสติอ่อน หมั่นเป็นบ่อย ๆ จนเคยชินแล้ว เห็นว่าไม่ใช่หนทางแล้ว มันหากแก้ตัวมันเองดอก ดีเหมือนกันนั่งหลับ มันเป็นเหตุให้ระงับจิตฟุ้งซ่านไปพักหนึ่ง ดีกว่าจิตไปฟุ้งซ่านหาโน่นหานี่ ตลอดวันค่ำคืนรุ่ง สิ่งทั้งปวง ถ้าเราไม่เห็นด้วยตัวเองแล้ว เราก็ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร เรารู้ไว้มาก ๆ แล้วภายหลังจะได้ไม่หลงอีก

สายท่าขนุน 18-12-2009 20:22

บางคนฝึกหัดภาวนา กำหนดเอา อสุภะ เป็นอารมณ์ พิจารณาร่างกายตัวของเรา ให้เห็นเป็นอสุภะไปทั้งตัวเลย หรือพิจารณาส่วนใดส่วนหนึ่งให้เป็นอสุภะก็ได้ เช่น พิจารณาผม ขน เล็บ หรือจะพิจารณาของภายในมี ตับ ไต ไส้ พุง เป็นต้น ให้เห็นเป็นปฏิกูลเปื่อยเน่า น่าพึงเกลียด เป็นของไม่งาม ให้พิจารณาจนเห็นชัด
เบื้องต้นพึงพิจารณาโดยอนุโลมเอาของภายนอกมาเทียบ เช่น เห็นคนตาย หรือสัตว์ตายขึ้นอืดอยู่เอามาเทียบกับตัวของเราว่า เราก็จะต้องเป็นอย่างนั้น แล้วมันค่อยเห็นตัวของเราชัดขึ้นโดยลำดับ จนชัดขึ้นมาในใจ แล้วจะเกิดความสังเวชสลดใจ จิตจะรวมเข้าเป็นสมาธิ นิ่งแน่วเป็นอารมณ์อันเดียว ถ้าสติอ่อนจิตจะน้อมเข้าไปยินดีกับความสงบสุข มันจะเข้าสู่ภวังค์ มีอาการดังอธิบายมาแล้วในเรื่อง มรณานุสติ แล อานาปานุสติ วางคำบริกรรมแล้วสงบนิ่งเฉยบางคนก็เกิดนิมิตต่าง ๆ นานา เกิดแสงสว่างเหมือนกับพระอาทิตย์ แลพระจันทร์ เห็นดวงดาว เห็นกระทั่งเทวดา หรือภูต ผี ปีศาจ แล้วหลงไปจับเอานิมิตนั้น ๆ สมาธิเลยเสื่อมหายไป

สายท่าขนุน 23-12-2009 19:52

บางอาจารย์เมื่อนิมิตเกิดขึ้นมาแล้ว สอนให้ถือเอานิมิตนั้น เป็นขั้นเป็นชั้นของมรรคทั้ง ๔ มีโสดาปัตติมรรค เป็นต้น เช่น นิมิตเห็นแสงเล็กเท่าแสงหิ่งห้อย ได้สำเร็จชั้นพระโสดาบัน เห็นนิมิตแสงใหญ่ขึ้นมาหน่อยเท่าแสงดาว ได้สำเร็จชั้นพระสกทาคามี เห็นนิมิตแสงใหญ่ขึ้นมาเท่าแสงพระจันทร์ ได้สำเร็จชั้นพระอนาคามี เห็นนิมิตแสงใหญ่ขึ้นมาเท่าแสงพระอาทิตย์ ได้สำเร็จชั้นพระอรหันต์ อย่างนี้เป็นต้น
ไปถือเอาแสงภายนอก ไม่ถือเอาใจของคนที่บริสุทธิ์มากน้อยเป็นเกณฑ์ ความเห็นเช่นนั้น ยังห่างไกลจากความเป็นจริงนัก ผู้อยากได้ชั้นได้ภูมิ เมื่ออาจารย์ถาม ก็แสดงถึงแสงอย่างนั้น แล้วก็ถือว่าตนถึงขั้นนั้นแล้ว แต่อาจารย์ไม่ถามถึงกิเลส แลตนก็ไม่รู้กิเลสของตนเลยว่ามันมีเท่าไร มันหมดไปเท่าไรแล้ว เดี๋ยวกิเลสคือโทสะ มันเกิดขึ้นมา หน้าแดงก่ำ มรรคผลนั้นเลยหายหมด การสอนให้จับเอานิมิต เกิดทีแรกแล้วทีหลังไม่เป็นอีกเด็ดขาด อย่างนี้มันจะเป็นของจริงได้อย่างไร นิมิตเกิดจากภวังค์เป็นส่วนมาก ภวังค์เป็นอุปสรรคของมรรคโดยเฉพาะอยู่แล้ว มันจะเป็นมรรคได้อย่างไร

สายท่าขนุน 23-12-2009 19:57

จริงอยู่ คนภายนอกพระพุทธศาสนาก็ทำสมาธิได้มิใช่หรือ เช่น ฤๅษีชีไพร เป็นต้น
คนเหล่านี้เขาทำกันมาแต่พระพุทธเจ้าของเรายังไม่อุบัติขึ้นในโลก เขาทำก็ได้เพียงแค่ขั้นโลกิยฌานเท่านั้น
ส่วนโลกุตรสมาธิ พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้สอนแต่พระองค์เดียว ไม่มีใครสอนได้ในโลก
ผู้เข้าถึงฌานสำคัญตนว่าเป็นสมาธิแล้ว ก็เลยพอใจยินดีในฌานนั้น ติดอยู่ในฌานนั้น

สายท่าขนุน 30-12-2009 00:38

ฌาน กับ สมาธิ มีลักษณะคล้าย ๆ กัน ผู้ไม่พิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว จะเห็นเป็นอันเดียวกัน
เพราะ ฌาน แล สมาธิ สับเปลี่ยนกันได้ อารมณ์ก็อันเดียวกัน ต่างแต่การเข้าภวังค์ แลเข้าสมาธิเท่านั้น
เมื่อเข้าภวังค์ จะน้อมจิตลงสู่ความสงบสุขอย่างเดียวแล้วก็เข้าภวังค์เลย
ถ้าเข้าสมาธิ จิตจะกล้าแข็ง มีสติอยู่เป็นนิจ จะไม่ยอมน้อมจิตเข้าสู่ความสงบสุข
จิตจะรวมหรือไม่รวมก็ช่าง แต่จิตนั้นจะพิจารณาอยู่ในธรรมอันเดียวอย่างนี้เรียกว่า สมาธิ

สายท่าขนุน 30-12-2009 00:43

แท้จริงนิมิตทั้งหลาย ดังที่ได้อธิบายมาแล้วก็ดี หรือนอกไปกว่านั้นก็ดี ถึงมิใช่เป็นทางให้ถึงความบริสุทธิ์ก็จริงแล
แต่ผู้ปฏิบัติทั้งหลายจะต้องได้ผ่านทุก ๆ คน เพราะการปฏิบัติเข้าถึงจิตรวมเข้าถึงภวังค์แล้วจะต้องมี
เมื่อผู้มีวาสนาเคยได้กระทำมาเมื่อก่อน เมื่อเกิดนิมิตแล้ว จะพ้นจากนิมิตนั้นหรือไม่
ก็แล้วแต่สติปัญญาของตน หรืออาจารย์ของผู้นั้นจะแก้ไขให้ถูกหรือไม่
เพราะของพรรค์นี้ต้องมีครูบาอาจารย์เป็นผู้แนะนำ ถ้าหาไม่แล้วก็จะต้องจมอยู่ปลัก

คือนิมิตนั้น นานแสนนาน เช่น อาฬารดาบส แลอุททกดาบส เป็นตัวอย่าง

คนเก่า 05-01-2010 14:14

ชื่อกระทู้ชวนให้นึกถึง ธรรมอันละเอียดปราณีตของหลวงปู่ลุน ณ เมืองอุบล

เล่าลือว่าท่านมีวาสนาทางธรรมอันหาได้ยากยิ่ง คือมีความชำนาญการปฏิบัติในทางพระอภิธรรม ปรมาจารย์นามอุโฆษด้านพระอภิธรรมอย่างอาจารย์แนบ มหานีรานนท์ยังมากราบฝากตัวเป็นศิษย์

ลองพิจารณาข้อธรรมของหลวงปู่ดูนะครับ



๑. โลกก็บังธรรม ธรรมก็บังโลก อารมณ์ก็บังจิต จิตก็บังอารมณ์

๒. ถ้าอยากเห็นธรรม ก็ให้เพิกโลกออกให้หมด ถ้าอยากเห็นจิตก็เพิกอารมณ์ออกให้หมด

๓. ลำพังธรรมอย่างเดียว หรือจิตอย่างเดียว เป็นวิสังขาร คือนิพพาน ไม่ใช่สัตว์

๔. ถ้าโลกอย่างเดียว หรืออารมณ์อย่างเดียวก็เป็น อนุปาทินกะสังขาร ไม่ใช่สัตว์อีก

๕. สัตว์นั้นเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้เพราะอาศัยโลกกับธรรม อารมณ์กับจิต เพราะเหตุนั้นสัตว์จึงต้องมีหู มีตา มีจมูก มีลิ้น มีกาย และมีใจ

และอารมณ์ผสมเข้ากับจิต ถึงอรูปสัตว์ที่ไม่มีกายก็ต้องมีอารมณ์ผสมกับจิต จึงจะเรียกว่าสัตว์ ว่าคนได้ เป็นอุปาทินกะสังขาร

๖. โลกก็ดี อารมณ์ก็ดี เกิดดับอยู่เสมอ แต่ธรรมหรือจิตอันบริสุทธิ์นั้น ไม่เกิดไม่ดับ

๗. ถ้าเพิกโลกออกจากธรรม เพิกอารมณ์ออกจากจิตได้แล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะยกขึ้นสู่บัญญัติว่าเป็นสัตว์เป็นคน จึงบัญญัติว่าเป็น “นิพพาน”

สายท่าขนุน 05-01-2010 21:41

อ้างอิง:

ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ คนเก่า (โพสต์ 29261)
ชื่อกระทู้ชวนให้นึกถึง ธรรมอันละเอียดปราณีตของหลวงปู่ลุน ณ เมืองอุบล

เล่าลือว่าท่านมีวาสนาทางธรรมอันหาได้ยากยิ่ง คือมีความชำนาญการปฏิบัติในทางพระอภิธรรม ปรมาจารย์นามอุโฆษด้านพระอภิธรรมอย่างอาจารย์แนบ มหานีรานนท์ยังมากราบฝากตัวเป็นศิษย์

ลองพิจารณาข้อธรรมของหลวงปู่ดูนะครับ
...

ลึกซึ้งยิ่งนัก ต้องค่อย ๆ อ่าน ค่อย ๆ พิจารณา:onion_love:
ยิ่งอ่านยิ่งรู้สึกว่าเรียนรู้เพิ่มอีก:onion_wink: ทั้งที่เป็นข้อความเดิม

สายท่าขนุน 05-01-2010 21:49

ความรู้แลนิมิตต่าง ๆ เกิดจากคำบริกรรม เมื่อจิตรวมเข้าภวังค์แล้ว
คำบริกรรมมีมากมาย ท่านแสดงไว้ในตำรามีถึง ๔ อย่าง มีอนุสติ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กสิณ ๑๐ เป็นต้น
ที่พระสาวกบางองค์บริกรรมแล้วได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
ยังมีมากกว่านี้ แต่ท่านไม่ได้เอารวมไว้ในที่นี้ ยังมีมากกว่านั้น เช่น
องค์หนึ่งไปนั่งอยู่ริมสระน้ำ เห็นนกกระยางโฉบกินปลา ท่านไปจับเอามาเป็นคำบริกรรมจนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

คำบริกรรมแล้วแต่อัธยาศัยของบุคคล มันถูกกับอัธยาศัยของตนก็ใช้ได้ทั้งนั้น
ที่ท่านแสดงไว้ ๔๐ อย่างนั้น พอเป็นเบื้องต้นเฉย ๆ ดอก

ถึงผู้เขียนนำมาแสดงไว้ ๓ อย่างนั้น ก็พอเป็นบทเบื้องต้นข้อใหญ่ที่สำคัญ ๆ เท่านั้น

ผู้ภาวนาถ้าไม่ถูกจริตนิสัยของตนแล้ว จะเอาอะไรก็ได้ แต่ให้เอาอันเดียว
อย่าเอาหลายอย่างมันจะฟุ้งแลลังเลไม่ตั้งมั่นในคำบริกรรมของตน

สายท่าขนุน 05-01-2010 21:52

คำบริกรรมนี้ให้เอาอันเดียว ถ้ามากอย่างจิตจะไม่รวม
เมื่อพิจารณาไป ๆ แล้ว จิตมันจะมารวมนิ่งเฉยอยู่คนเดียว แล้วให้วางคำบริกรรมนั้นเสีย
ให้จับเอาแต่จิตผู้นิ่งเฉยนั้น ถ้าไม่วางคำบริกรรมเดี๋ยวมันจะฟุ้งอีก จับจิตไม่ได้
ถึงฌาน แลสมาธิ ก็เหมือนกัน เมื่อเกิดนิมิตแลความรู้ต่าง ๆ
แล้วไปจับเอานิมิตแลความรู้นั้น ไม่เข้ามาดูตัวผู้ที่ส่งออกไปดูนิมิตแลความรู้นั้น
เมื่อความรู้แลนิมิตนั้นหายไปแล้วจับเอาจิตไม่ได้

สายท่าขนุน 07-01-2010 21:16

ใจ ๑ นิมิต ๑ ผู้ส่งออกไปดูนิมิต ๑ สามอย่างนี้ให้สังเกตให้ดี
เมื่อนิมิตแลความรู้เกิดขึ้น อาการทั้งสามอย่างนี้จะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน

ถ้าจับ ใจ คือ “ผู้รู้” ไม่ได้ เมื่อนิมิตและความรู้นั้นหายไป ผู้รู้อันนั้นก็หายไปด้วยแล้วจะจับเอาตัวผู้รู้นั้นไม่ได้สักที

สายท่าขนุน 07-01-2010 21:41

คำบริกรรม ก็ต้องการให้จิตรวมเข้าอยู่ในอารมณ์อันเดียว เมื่อจิตรวมเข้ามาอยู่ในอารมณ์อันเดียวแล้ววางคำบริกรรมนั้นเสีย จับเอาแต่ผู้รู้อันเดียวก็ใช้ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นคำบริกรรมอะไรก็ตาม ผู้บริกรรมภาวนาทั้งหลาย ขอให้พิจารณาดูให้ถี่ถ้วน บริกรรมอันเดียวกัน แต่เวลามันรวมเข้าเป็นภวังค์ แลเป็นสมาธิมันต่างกัน คือว่า
บริกรรม มรณานุสติ พิจารณาความตายเป็นอารมณ์ จนแน่ชัดว่าเราต้องตายแน่แท้ ไม่วันใดก็วันหนึ่งตายแล้วไปคนเดียว สิ่งทั้งปวงละทิ้งหมด แม้แต่ปิยชนของเราเอาไปด้วยก็ไม่ได้ เมื่อเห็นชัดเช่นนั้นแล้ว จิตจะเพ่งแต่ความตายอย่างเดียว จะไม่เกี่ยวข้องถึงเรื่องอื่นทั้งหมดแล้วจิตจะรวมเข้าเป็นภวังค์หายเงียบ ไม่รู้สึกตัวสักพักหนึ่ง หรือรวมเข้าเป็นภวังค์วูบวาบคล้ายกับคนนอนหลับ แล้วเกิดความรู้ตัวอยู่อีกโลกหนึ่ง (โลกของจิต) แล้วมีความรู้เห็นทุกอย่างเหมือนกับความรู้เห็นที่อยู่ในโลกนี้ แต่มันยิ่งกว่าโลกนี้ แลจะเทียบกับโลกนี้ไม่ได้ เป็นแต่รู้สึกได้ในเมื่อจิตนั้นยังไม่ออกจาภวังค์ หรือจิตมีอาการดังกล่าวแล้วเข้าไปนิ่งเฉยอยู่ไม่มีอารมณ์ใด ๆ ทั้งหมด นอกจากความนิ่งเฉยอย่างเดียวเท่านั้น อย่างนี้เป็นต้น เรียกว่า จิตรวมเข้าเป็น “ภวังค์”

สายท่าขนุน 11-01-2010 23:04

บริกรรม มรณานุสติ พิจารณาความตาย ดังอธิบายแล้วแต่เบื้องต้น แต่คราวนี้เวลามันจะรวมเข้าเป็นสมาธิ มันจะต้องตั้งสติให้กล้าหาญ เข้มแข็งไม่ยอมให้จิตเข้าสู่ภวังค์ได้ พิจารณา มรณานุสติ ถึงเหตุแห่งความเกิดว่า มันเกิดอย่างไร พิจารณาถึงความตายว่า มันตายอย่างไร ตายแล้วไปเป็นอะไร จนความรู้แจ่มแจ้งชัดขึ้นมาในใจ จนจิตเกิดความปราโมทย์ร่าเริงอยู่กับความปราโมทย์นั้น (จะไม่มีปีติ ปีติเป็นอาการของฌาน) อย่างนี้เรียกว่า “สมาธิ”

สายท่าขนุน 11-01-2010 23:10

ฌาน แล สมาธิ พิจารณาคำบริกรรมอันเดียวกัน แต่จิตที่มันเข้าไปมันต่างกัน ฌาน รวมเข้าไปเป็นภวังค์ ให้นึกน้อมเอาอารมณ์อันเดียวคือ ความตาย แลเพื่อความสงบอย่างเดียวแล้วเป็นภวังค์ ส่วน สมาธิ นั้น ตั้งสติให้กล้าแข็ง พิจารณาความตายให้เห็นชัดตามเป็นจริงทุกสิ่ง จิตจะรวมหรือไม่รวมก็ไม่คำนึงถึง ขอแต่ให้เห็นชัดก็แล้วกัน แต่ด้วยจิตที่แน่วแน่พิจารณาอารมณ์อันนั้น มันเลยกลายเป็นสมาธิไปในตัว เกิดความรู้ชัดขึ้นมา เกิดปราโมทย์ร่าเริงในธรรมที่ตนพิจารณาอยู่นั้น แจ่มแจ้งอยู่ในที่เดียวแลคนเดียว จะพิจารณาไปรอบ ๆ ข้าง ก็จะมาชัดแจ้งในที่เดียว หายสงสัยหมด

สายท่าขนุน 14-01-2010 19:36

ฌาน แล สมาธิ บริกรรมอันเดียวกัน แต่มันเป็นฌาน แลเป็นสมาธิต่างกันดังอธิบายมานี้ พอเป็นตัวอย่างแก่ผู้ปฏิบัติ นอกเหนือจากคำว่าบริกรรมที่อธิบายแล้ว จะเป็นคำบริกรรมอะไรก็ได้ แต่มันเป็นฌาน แลสมาธิ จะต่างกันตรงที่มันจะรวมไปเท่านั้น ทางที่ดีที่สุดไม่ต้องไปถือเอาคำที่ฌาน ภวังค์ แลสมาธิ ให้พิจารณาเอาแต่อาการของจิตที่รวมเข้าไปมีอาการต่างกันอย่างไร ดังได้อธิบายมาแล้ว ก็จะเห็นชัดเลยทีเดียว

สายท่าขนุน 14-01-2010 19:40

ผู้ทำฌานได้ชำนาญคล่องแคล่ว จะเข้าจะออกเมื่อไหร่ก็ได้แล้ว ถ้าหากผู้นั้นเคยบำเพ็ญมาแล้วแต่ชาติก่อน ก็จะทำอภินิหารได้ตามความต้องการของตน เป็นต้นว่า มีความรู้เห็นนิมิตตนเองแลคนอื่น เคยได้เป็นบิดา มารดา เป็นบุตร ธิดา แลสามี ภรรยา หรือเคยได้จองเวรจองกรรม อาฆาต บาดหมางแก่กันและกันมาแล้วแต่ชาติก่อน เรียกว่า “อตีตังสญาณ” อตีตังสญาณนี้ บางทีบอกชื่อแลสถานที่ที่เคยกระทำมาแล้วนั้นพร้อมเลยทีเดียว

สายท่าขนุน 19-01-2010 22:43

บางทีก็เห็นนิมิตแลความรู้ขึ้นมาว่าตนเอง แลคนอื่น มีญาติพี่น้องเราเป็นต้น ที่มีชีวิตอยู่ จะต้องตายวันนั้นวันนี้ หรือปีนั้นปีนี้ หรือจะได้โชคลาภ หรือเป็นทุกข์จนอย่างนั้น ๆ
เมื่อถึงกำหนดเวลาก็เป็นจริงอย่างที่รู้เห็นนั้นจริง ๆ นี้เรียกว่า “อนาคตังสญาณ

สายท่าขนุน 19-01-2010 22:53

“ อาสวักขยญาณ” ท่านว่า ความรู้เห็นในอันที่จะทำอาสวะให้สิ้นไป ข้อนี้ผู้เขียนขอวินิจฉัยไว้สักนิดเถอะ เพราะกังขามานานแล้ว ถ้าแปลว่าความรู้ความเห็นของท่านผู้นั้น ๆ ท่านทำให้สิ้นอาสวะไปแล้วก็ยังจะเข้าใจบ้าง เพราะญาณก็ดี อภิญญา ๖ ก็ดี เกิดจากฌานทั้งนั้น และในนั้นก็บอกชัดอยู่แล้ว ฌาน ถ้าแปลว่า ความรู้เห็นอันที่จะทำอาสวะให้สิ้นไป ก็แสดงว่า ได้ฌานแล้วทำหน้าที่แทนมัคคสมังคีในมัคค์นั้นได้เลย ถ้าพูดอย่างนี้มันตรงกันข้ามกับที่ว่า มัคคสมังคี เป็นเครื่องประหารกิเลสแต่ละมัคค์

สายท่าขนุน 27-01-2010 22:15

ญาณ ๓ เกิดจากฌาน ฌานดีแต่รู้เห็นคนอื่น สิ่งอื่น ส่วนกิเลสภายในใจของตนหาได้รู้ไม่
ญาณ ๓ ก็ดี หรือบรรดาญาณทุกอย่าง
ไม่เคยได้ยินท่านกล่าวไว้ที่ไหนเลยว่า “ญาณประหาร” มีแต่ “มัคคประหาร” ทั้งนั้น
มีแต่ อาสวักขยญาณ นี้แหละที่แปลว่าวิชาความรู้ อันที่จะทำอาสวะให้สิ้นไป

จึงเป็นที่น่าสงสัยยิ่งนัก ท่านผู้รู้ทั้งหลายกรุณาพิจารณาเรื่องเหล่านี้ให้ด้วย
ถ้าเห็นว่าไม่ตรงตามผู้เขียนแล้ว โปรดจดหมายส่งไปที่ที่อยู่ของผู้เขียนข้างต้นด้วย จักขอบพระคุณอย่างยิ่ง

สายท่าขนุน 27-01-2010 22:19

“อาสวักขยญาณ” มิได้เกิดจากฌาน ฌานเป็นโลกียะทั้งหมดตลอดถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ
เพราะโลกุตตรฌาน ไม่เห็นท่านแสดงไว้ว่ามีองค์เท่านั้นเท่านี้
ท่านผู้เข้าเป็นโลกุตตระต่างหาก จึงเรียกฌาน เป็นโลกุตตระตามท่าน
เหมือนกับพระเจ้าแผ่นดินแล้วจึงเรียกว่าทรงพระขรรค์ นี่ก็ฉันใด
ถ้าแปลว่า รู้จักท่านที่ทำกิเลสอาสวะให้สิ้นไป ก็ยังจะเข้าใจบ้าง


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 21:58


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว