กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=43)
-   -   บารมี ๑๐ ประการ ต้องรักษาให้ครบ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=2984)

ลัก...ยิ้ม 01-11-2011 10:52

บารมี ๑๐ ประการ ต้องรักษาให้ครบ
 
บารมี ๑๐ ประการ ต้องรักษาให้ครบ

๑. “ให้ดูคำว่ากำลังใจเต็ม คือบารมี ๑๐ ประการ ได้รับการรักษาให้เต็มอยู่ในจิตครบทั้ง ๑๐ ประการหรือเปล่า นี่เป็นเพียงแค่บารมีต้น ๑๐ ประการ ลองสอบอารมณ์จิตดูว่า ยังพร่องหรือขาดข้อไหนบ้าง ขั้นแรกต้องให้เต็มอย่าพร่อง จนแน่ใจว่าทำได้ครบทั้ง ๑๐ บารมีแล้ว จึงค่อยก้าวเข้าสู่ขั้นที่สองคือ อุปบารมี และขั้นที่ ๓ ปรมัตถบารมีต่อไป”

๒. “การรับทานหรือการให้ทานก็ดี พึงดูบารมี ๑๐ ควบคู่ไปด้วยเสมอ จักทำให้การปฏิบัตินั้นเป็นการเจริญพระกรรมฐานไปในตัว เช่น อย่าขัดศรัทธาของผู้ให้ ใครจักให้สิ่งอันใดแก่เราก็จงรับไว้ก่อน แล้วค่อยพึงแจกจ่ายขยับขยายไปให้บุคคลอื่นต่อไปในภายหลัง และพึงวางอารมณ์ให้ถูก อย่าได้มีความพอใจหรือไม่พอใจของที่เขาให้ทั้งปวง จิตจักได้ไม่มีอารมณ์ขุ่นมัวไปด้วยกิเลส”

๓. “วันนี้เป็นวันสงกรานต์ (๑๔ เม.ย. ๒๕๓๙) มีคนมาวัดขอร่วมพักในห้องของเจ้า ก็ต้องวางกำลังใจให้สบาย หากมีคนต้องการสนทนาธรรมกับเจ้า ก็พึงให้ได้ตามที่ได้ปฏิบัติมา อย่าคิดว่าเป็นภาระหรือวิตกกังวลจนเกินเหตุ อย่าลืมการให้ธรรมะเป็นทานชนะทานทั้งปวง อย่าติดความสงบสุขในส่วนตนจนเกินไป พึงทำไปด้วยความเหมาะสม เราปฏิบัติได้แค่ไหนก็แนะนำแค่นั้นต่อบุคคลที่มีศรัทธาต่อเรา พระตถาคตเจ้าทุก ๆ พระองค์ก็แนะนำตามนี้ คือถ้าเขาไม่มีศรัทธาก็จักไม่แนะนำเลย”

๔. “เรื่องศีลระดับที่ ๓ ซึ่งท่านพระ.... นำมาพูด โดยอ้างว่าท่านฟังจากคำสอนของท่านฤๅษี แล้วนำมาพิจารณาและปฏิบัติตามจนได้ผลแล้ว ความว่า..

ศีลขั้นที่ ๑ ไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง เป็นการเอาศีลคุมกายให้เรียบร้อย

ศีลขั้นที่ ๒ ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล เป็นการเอาศีลคุมวาจาให้เรียบร้อย

ศีลขั้นที่ ๓ ไม่ยินดีด้วย เมื่อบุคคลอื่นได้ละเมิดศีลแล้ว เป็นการเอาศีลคุมใจให้เรียบร้อย

ถ้าหากทำได้สมบูรณ์ตามลำดับ จิตก็จักเข้าถึงอุเบกขา ไม่เดือดร้อนในกรรมของใคร ๆ จิตจักเยือกเย็นมาก มีความเคารพในกฎของกรรมสูงนั้น จุดนี้ถูกต้องแล้ว และเป็นจุดเดียวกับการที่ทำให้ไม่ไปยุ่งกับจริยาของผู้อื่นได้เป็นอย่างดี จุดนี้พวกเจ้าสมควรพิจารณาและปฏิบัติตามท่านพระ... ให้มาก”

ลัก...ยิ้ม 02-11-2011 10:42

๕. “ปัญญาในพุทธศาสนาคือ การรู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจ หรือการรู้เท่าทันกองสังขารของกายและจิตได้ชื่อว่าปัญญา ให้ลบสัญญาเก่า ๆ อันเกี่ยวกับการยึดมั่นถือมั่นในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นเรามาโดยตลอดนี้เสีย หมั่นทำให้บ่อย ๆ โดยการพิจารณาขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง พิจารณาด้วยอารมณ์ที่ยอมรับนับถืออย่างจริงใจ แล้วจิตจักมีความสุขมาก มีความสดชื่นมาก”

๖. “ในการพิจารณาขันธ์ ๕ ก็ดี พิจารณาศีล สมาธิ ปัญญาก็ดี ให้พิจารณาให้ลึก ๆ ลงไปตามลำดับ จนกว่าจิตจักมีอารมณ์สงบ-สบาย ยอมรับนับถือในความจริงของขันธ์ ๕ และยอมรับนับถือในความจริงของศีล-สมาธิ-ปัญญา และจงอย่าคิดว่าที่รู้อยู่นั้นดีแล้ว จงเตือนจิตของตนเองไว้เสมอ ๆ ว่า ตราบใดที่ยังไม่เข้าถึงพระอรหัตผล ตราบนั้นอย่างคิดว่าตนเองดีแล้วเป็นอันขาด และจงหมั่นศึกษาพระธรรมวินัยให้มาก ๆ จิตจักได้มีความสงบเยือกเย็น และมีความละเอียดในธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไป”

๗. “ให้เห็นการเจ็บป่วยเป็นกฎของกรรม เป็นเรื่องธรรมดาของผู้มีร่างกายซึ่งเป็นรังของโรค แม้แต่พวกเจ้าเองก็เหมือนกัน ไม่มีใครหนีความเป็นโรคไปได้พ้น แม้ในที่สุด.. ร่างกายนี้ก็ต้องมีความตายเป็นของธรรมดา กรรมเป็นผลมาจากการกระทำของตนเองซึ่งมีมาแต่อดีต จึงเป็นคนหลงอย่างยิ่งที่มีการตัดพ้อต่อว่ากฎของกรรม

ให้ดูตัวอย่างพระมหาโมคคัลลานะ ก็ยังถูกกฎของกรรมเข้าเล่นงาน หรือแม้แต่องค์สมเด็จปัจจุบันผู้มีความดีสูงสุดในพุทธันดรนี้ ก่อนจักเข้าสู่ปรินิพพานก็ยังประชวรหนัก ถ่ายออกมาเป็นเลือด ยังทุกขเวทนาให้เกิดแก่พระวรกายยิ่งนัก ทุกท่านทุกองค์ยอมรับกฎของกรรมโดยดุษฎี ถ้าหากพวกเจ้าได้ยินใครกล่าวเช่นนี้ ก็ให้ชี้แจงไปอย่างนี้ ถ้าหากบุคคลผู้นั้นมีศรัทธาอันพอจักชี้แจงได้”

๘. “การพิจารณาทุกข์ทุกครั้งให้ลงตรงขันธ์ ๕ ตัวรับทุกข์ แต่ก็ไม่ควรลืมต้นเหตุแห่งทุกข์ คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา อันเป็นผลทำให้เกิดมามีขันธ์ ๕ พิจารณาอย่างนี้แล้ว เพียรละซึ่งสมุทัยเหล่านี้เสีย มองให้ครบวงจรก็จักเป็นทางออกทางไปให้พ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงได้”

ลัก...ยิ้ม 04-11-2011 10:47

๙. “อย่าฝืนจิต ในเมื่อไม่มีอารมณ์วิปัสสนาก็จงอย่าฝืน ให้คอยตามดูอย่างเดียว ทำอารมณ์ใจให้สบาย ๆ จักได้ไม่หนักใจ อย่าใช้ปัญญาออกนอกลู่นอกทาง ให้คิดไว้เสมอว่า ปัญญาในพุทธศาสนาคือการรอบรู้ในกองสังขาร ก็จงมองจุดนี้จุดเดียว ซึ่งเป็นจุดสำคัญอันจักนำไปให้จิตหลุดพ้นจากสักกายทิฏฐิ หรือความผูกพันเกาะติดในขันธ์ ๕ หรือร่างกายนี้ อย่าไปคิดว่าเรื่องของคนอื่นจักสำคัญ ให้เห็นจุดนี้แหละ ที่โยงมาจากศีล-สมาธิมาเป็นปัญญา นี่แหละสำคัญ... เป็นสัมมาทิฏฐิอย่างแท้จริง ปฏิบัติไปก็จักได้มรรคผลปฏิปทาที่พ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง และให้ดูมัชฌิมาไว้ด้วย อย่าเครียด อย่าหย่อนจนเกินไป ทำให้พอดี ๆ จิตจักมีความสุขมาก ความหน่วงเหนี่ยวในขันธ์ ๕ จักเบาบางลงไป พิจารณาลงกฎของธรรมดาให้มาก จิตจักได้มีอารมณ์เยือกเย็น และยอมรับกฎของธรรมดา จนสามารถพ้นทุกข์ได้จนถึงที่สุด

๑๐. “อย่าไปแก้ธรรมภายนอก ให้แก้ธรรมภายใน อารมณ์ใจของเรานี้คือธรรมภายใน ธรรมภายนอกจักเป็นอย่างไรก็ช่างมัน ให้เห็นเป็นธรรมดาเข้าไว้ ไม่จำเป็นต้องไปแก้ไข เหมือนกับอายตนะ ๖ รับสัมผัสธรรม แก้ไขอะไรไม่ได้ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รับรส กายได้รับสัมผัส ก็เป็นอยู่ตามปกติอย่างนั้น ตา-หู-จมูก-ลิ้น-กายก็เป็นอย่างนั้น รูป-เสียง-กลิ่น-รส-สัมผัสก็เป็นอย่างนั้น ธรรมเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องไปแก้ไข เป็นปกติธรรมทุกอย่าง เป็นธรรมดาหมดทุกอย่าง ให้แก้ไขอารมณ์ใจที่ไปเกาะติดและปรุงแต่งธรรมเหล่านั้นขึ้นมาให้เป็นกิเลส

๑๑. “ให้ดูจิต เห็นอารมณ์ของจิตเข้าไว้เป็นสำคัญ จงพยายามดูไฟภายในเข้าไว้ กิเลสหรือสังโยชน์ตัวไหนยังกินใจอยู่ หนักอยู่หรือไม่ แล้วทำอย่างไรให้จิตมีปัญญาพิจารณาสังโยชน์ตามความเป็นจริง อย่าให้อารมณ์จิตมันหลอก ดีแต่จำ นึกได้แค่สัญญา จุดนั้นประโยชน์จักเกิดขึ้นน้อยมาก ให้พยายามใคร่คราญด้วยเหตุผลอยู่เสมอ ๆ แล้วผลของการปฏิบัติพระกรรมฐานจักก้าวหน้าไปได้


ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๙
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่
www.tangnipparn.com


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 07:49


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว