กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   กระทู้ธรรม (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=2)
-   -   สิ่งที่พระอาจารย์ กล่าว สอน ไว้ดีแล้ว (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=37)

วาโยรัตนะ 17-01-2009 22:53

สิ่งที่พระอาจารย์ กล่าว สอน ไว้ดีแล้ว
 
ให้สังเกตว่า เมื่อเราปฏิบัติไปถึงจุดหนึ่งรู้สึกว่ามันดีเหลือเกิน ทาน ศีล ภาวนา ของเรา มีความก้าวหน้ามาก มีความคล่องตัวมาก แล้วอยู่ ๆ มันพังเสียเฉย ๆ ถ้าเราสังเกตุจุดนี้ หมั่นจับตรงจุดนี้บ่อย ๆ จะเห็นได้ว่า ทันทีที่เราปฏิบัติแล้ว ความดีเริ่มทรงตัว อยู่ ๆ มันก็พังไปทุกที่มันจะเอา โลภะ โทสะ โมหะ เข้ามาอยู่ในใจเราแทนก่อนกรรมฐานนั้น ๆ นี้คือฝีมือของมาร มารคือผู้ขวาง

ขอให้ทุกท่านทราบไว้ว่า "ขณะที่กำลังใจท่านฟุ้งซ่านที่สุด ความจริงแล้วเป็นเวลาที่ท่านใกล้ความดีมากที่สุด" มารเขารู้ว่า เราจะพ้นจากมือเขาแล้ว เขาจึงพยายามที่จะดึงเราให้เป๋ไปจากจุดที่เรามุ่งไป เหมือนกับเรายืนอยู่หน้าประตู แค่เอื้อมมือไปเปิดประตูเราก็จะก้าวพ้นไปแล้ว แต่ว่าทุกครั้งเขาสามารถหลอกให้เราสนใจสิ่งอื่นได้แล้วก็เลี้ยวตามเขาไปจนกระทั้งพอรู้ตัวขึ้นมา เอ๊ะ ก่อนหน้านี้ทำไมเราทำแล้วรู้สึกดีเหลือเกิน! แต่ตอนนี้ทำไมกำลังใจมันแย่ขนาดนี้?

ถ้าท่านรู้จักตรอง โดยการคิดย้อนกลับไปให้รู้ว่าตัวเองตอนนั้นคิดอย่างไร? พูดอย่างไร ? ทำอย่างไร? อยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบไหน? กำลังใจเราถึงได้ดี ทรงตัวได้
ให้สร้างสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นขึ้นมา เราก็จะก้าวไปสู่จุดที่เคยทำได้อีก แล้วคราวนี้ให้ใช้สติระมัดระวังควบคุมเอาไว้ อย่าให้คล้อยตามกำลังของมารที่มาหลอกลวงและดึงเราไปอีก หากเราหมั่นพินิจพิจารณาในลักษณะนี้บ่อยเราก็เริ่มจะชนะเขา (มาร) ได้บ้าง...

วาโยรัตนะ 17-01-2009 22:54

"จุดพื้นฐานของความกลัวทั้งหมด คือกลัวความตาย"

วาโยรัตนะ 17-01-2009 22:55

"มโนมยิทธิ"ที่แท้จริงก็คือ"เรารู้จักพระนิพพาน เราไปพระนิพพาน เอาใจตั้งไว้ที่ พระนิพพาน ถ้าเราเอาใจเกาะที่พระนิพพานไว้เป็นปกติทุกวัน ๆ กำลังใจทรงตัวเคยชินกับความปราศจาก รัก โลภ โกรธ หลง ถ้าทำไปนาน ๆ อารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง มันจะจะสลายตัวไปของมันเอง"
" มโนมยิทธิ"
ไม่ได้จำเป็นต้องรู้อดีต อดีตทุกชาติเราเกิดมาไม่มีชาติไหนที่เราไม่ทุกข์
ไม่จำเป็นต้องรู้ปัจจุบัน เพราะปัจจุบัน ชีวิตเราเกิดอยู่มีขันธ์ ๕ อยู่ก็ทุกข์ตลอด
ไม่จำเป็นต้องรู้ อนาคต เพราะว่า อนาคตถ้าเกิดอีกก็ทุกข์อีก
ไม่จำเป็นต้องระลึกชาติเพราะว่าไม่มีชาติไหนที่เราไม่ทุกข์
ไม่จำเป็นต้องรู้ใจคนอื่น เพราะว่าแค่ระวังใจของเราให้พ้นจากกองกิเลสก็ระวังไม่หวาดไม่ไหวแล้ว
ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าคนและสัตว์ก่อนเกิดมาจากไหน ตายแล้วไปไหน


ถ้าเรามั่นใจ ในสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สอนเราว่า
ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ก็ไม่ต้องเสียเวลาไปดูมัน

"มโนมยิทธิ"สำคัญที่สุดคือเกาะพระนิพพานให้ได้ใช้ในอุปสมานุสสติกรรมฐานให้ได้

วาโยรัตนะ 17-01-2009 23:00

พระพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ที่ตรงไหนนอกจากพระนิพพาน จำไว้ให้แม่นถ้าเราเจอพระพุทธเจ้าที่อื่น นั้นเป็นฉัพพรรณรังสีของพระองค์ท่าน ที่ส่งไปปรากฏต่อหน้าเรา ลักษณะเหมือนท่านทุกประการ แต่ว่ากายที่แท้จริงของพระองค์ท่านนั้นอยู่ที่พระนิพพาน ได้กล่าวย้ำอยู่เสมอว่าพระองค์ท่านไม่อยู่ที่ไหน นอกจากพระนิพพาน
"ในเมื่อเราจับภาพพระ แล้วกำหนดว่า พระองค์ท่านไม่อยู่ที่ไหนนอกจากบนพระนิพพาน เราเห็นท่านคือเราอยู่กับท่าน เราอยู่กับท่านคือเราอยู่บนพระนิพพาน"

วาโยรัตนะ 17-01-2009 23:02

"ถ้าเราตายแล้ว สามารถหลุดพ้นเข้านิพพานได้ นั่นเป็นสิ่งที่วิเศษที่สุด แต่เราก็ประมาทไม่ได้ ดังนั้น ต่อให้เรารู้ว่า ถ้าตายแล้ว เราจะเข้าพระนิพพานแน่ ๆ เราก็ยังคงต้องสร้างสมความดี ละเว้นความชั่วให้เป็นปกติ ทุก ๆ ขณะจิตให้มีพระพุทธเจ้า ให้มีพระธรรม ให้มีพระสงฆ์ อยู่ในใจ ทุก ๆ ขณะจิตให้มีพระนิพพานอยู่ในใจ รู้ตัวอยู่เสมอว่ามันจะต้องตาย ถ้าตายแล้วเราขอไปพระนิพพานแห่งเดียว"

วาโยรัตนะ 17-01-2009 23:05

อันดับต่อไป ถ้าหากว่าท่านสวดมนต์เป็นปกติ สภาพจิตมันจะก้าวหน้าขึ้นเป็นฌานได้ง่าย เพราะมันเคยชินกับการถูกบังคับให้จดจ่ออยู่เฉพาะหน้า เป็นระยะเวลานานประมาณครึ่งชั่วโมงติดต่อกัน หรือว่าท่านจะทำเป็นทิพจักขุฌาณ เวลาเราสวดมนต์ก็นึกคำสวดของเราเป็นตัวหนังสือมาอยู่ตรงหน้า ทีละคำ ทีละประโยคให้มันลอยผ่านไปเรื่อย ๆ ถ้าเราเห็นตัวหนังสือชัดเจนเท่าไหร่ ก็สามารถเห็นผี เห็นเทวดา ได้ชัดเท่านั้น
หรือว่า ถ้าจะเอาประโยชน์กันจริง ๆ ก็ทำอย่างที่ผมทำ
คือ ส่งใจไปกราบพระบนนิพพาน ตั้งใจสวดมนต์ถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ถ้าลักษณะนั้นท่านอยู่บนนิพพาน นาน ๆ ไปจิตมันจะชินกับอารมณ์ที่ปราศจากกิเลส กิเลสมันจาง มันจะบางลงไปเรื่อย ๆ ในที่สุดมันก็หมดไปได้ ตายเมื่อไหร่ก็อยู่บนพระนิพพานเลย

วาโยรัตนะ 17-01-2009 23:06

อิติ สัมมาสัมพุทธัสสะ มะมะจิตตัง

เป็นคาถาที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามอบให้ ถ้าฟุ้งซ่าน รักษาอารมณ์ใจให้ทรงตัวไม่ได้ ก็นึกถึงคาถานี้ ให้ใช้แทนคำภาวนาอื่น ๆ ชั่วขณะหนึ่ง อาจเป็นห้านาที สิบนาที จากที่เคยลอง ไม่เกินสามนาที กำลังใจที่มันฟุ้งซ่าน มันจะนิ่ง มันจะทรงตัว
คาถานี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านประทานให้ ดังนั้น เราใช้คาถานี้ก็เท่ากับเราทรงพุทธานุสติอยู่ ขอให้นึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นปกติ เรานับว่าโชคดีที่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมตตา คอยอนุเคราะห์อยู่ตลอดเวลา

วาโยรัตนะ 17-01-2009 23:08

พวกเราจะอยู่ในลักษณะ ทำทำ ทิ้งทิ้ง ไม่สม่ำเสมอ เปรียบเหมือนกับ การขุดบ่อน้ำเพื่อจะหาน้ำ พอขุดลงไปได้สักสองวาสามวา ยังไม่ถึงน้ำเสียที คนอื่นบอกตรงโน้นดีก็เปลี่ยนที่ไปขุดตรงโน้น
ขุดลงไปได้สักสองวาสามวา คนอื่นเขาบอกว่าตรงโน้นดี ก็เปลี่ยนที่ไปอีก


การที่เราขาดความจริงจังสม่ำเสมอ ในการทำกรรมฐาน ทำให้มันไม่เกิดผล ดังนั้น เมื่อมันไม่เกิดผล หรือว่าเกิดผลน้อย เหมือนกับขุดบ่อแล้วไม่ได้น้ำเสียที เราอาจจะท้อแล้วก็เลิกขุด

เพราะฉะนั้น เมื่อท่านทรงอารมณ์กรรมฐานได้แล้ว ทรงตัวได้แล้ว
ให้พยายามประคับประคองอารมณ์นั้น ให้อยู่กับเราให้นานที่สุด ให้ยาวที่สุด เพื่อความเคยชินของกำลังใจ

วาโยรัตนะ 17-01-2009 23:10

สังฆานุสติ การระลึกถึงพระสงฆ์ ไม่ใช่แต่นึกว่าเป็นหลวงปู่องค์นั้น เป็นหลวงพ่อองค์นี้ แต่ให้ดูปฏิปทาการปฏิบัติของท่าน

ว่าหลวงปู่หลวงพ่อองค์นั้น ท่านปฏิบัติของท่านอย่างไร สร้าง กาย วาจา ใจของท่านอย่างไร ท่านถึงได้ยกตนขึ้นเป็นกัลยาณชน เป็นพระอริยะชนจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์เข้าสู่พระนิพพาน หรือเป็นพระโพธิสัตว์ ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

วาโยรัตนะ 17-01-2009 23:11

..การบวชน้อย ถ้าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ก็มีคุณค่ามาก
เหมือนกับเพชร แม้จะเม็ดเล็ก แต่ก็ราคาสูง
การบวชมาก ถ้าหากว่าทำแต่ความชั่ว
ก็เหมือนกับขี้ ยิ่งกองใหญ่ ก็ยิ่งเหม็นมาก..! ?

..ถ้าเราจะเป็นนักบวช เราควรจะเป็นพระอริยเจ้าตั้งแต่ฆราวาส เพื่อที่เวลาบวชแล้ว ญาติโยมจะได้ไหว้เราได้เต็มมือ ทำบุญกับเราแล้วจะได้บุญเต็มที่..

วาโยรัตนะ 21-01-2009 09:05

ทุกข์เป็นเรื่องที่เรากำหนดรู้เท่านั้น รู้แล้วก็ปล่อยมันเอาไว้ตรงนั้น วางไว้ตรงนั้น จิตใจก็เบา สบายมีแต่ความสุข เรื่องทุกข์ต่าง ๆ เป็นเรื่องของร่างกาย เราจะเห็นอย่างชัดเจนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง สลายไปในที่สุด มีแต่บารมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งของเรา มีแต่พระนิพพานเต็มอยู่ในใจของเราเท่านั้น

วาโยรัตนะ 21-01-2009 09:06

หายใจเข้าครั้งหนึ่ง หายใจออกครั้งหนึ่ง นึกถึงภาพพระองค์ท่าน นึกถึงคำภาวนา ก็คือเราใกล้พระนิพพานไปก้าวหนึ่ง หายใจเข้าใกล้พระนิพพานไปก้าวหนึ่ง หายใจออกใกล้พระนิพพานไปก้าวหนึ่ง
ให้ตั้งใจว่า...ขึ้นชื่อว่าร่างกายที่เต็มไปด้วยความทุกข์นี้ เราไม่ขอเกิดมามีมันอีก ขึ้นชื่อว่าโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยากเร่าร้อนนี้ เราไม่ขอมาเกิดอีก การเป็นเทวดาเป็นพรหม ที่มีสุขชั่วคราว เราก็ไม่ปรารถนา ตายเมื่อไร เราขอไปอยู่พระนิพพาน กับพระองค์ท่านเท่านั้น

วาโยรัตนะ 21-01-2009 09:07

มารไม่ใช่ศัตรู แต่เป็นครูที่ดีที่สุด เป็นครูที่ขยันออกข้อสอบมากที่สุด จึงเป็นหน้าที่ของเรา ที่ต้องสร้าง สติ สมาธิ ปัญญา ให้มั่นคง เพื่อจะได้รับมือกับเขาได้
บริวารของเขาทั้งหลายที่ส่งออกมา อยู่ในลักษณะของ

กามฉันทะ พอใจในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ
พยาบาท ความผูกโกรธ อาฆาตแค้นผู้อื่นเขา
ถีนมิททะ ความง่วงเหงาหาวนอน ความขี้เกียจปฏิบัติ จะได้อยู่กับเขาต่อไป
อุธัจจะ ความฟุ้งซ่านอารมณ์ใจไม่ตั้งมั่น
วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในผลของการปฏิบัติ ลังเลสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ลังเลสงสัยในครูบาอาจารย์ ว่าจะมีความสามารถจริงหรือไม่ ?

นั่นเป็นการดลใจของมาร เป็นบริวารของมาร
เราสามารถหลีกพ้นได้ง่ายที่สุด คืออยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออกเท่านั้น หายใจเข้าก็นึกว่า พุท หายใจออกก็นึกว่า โธ กำหนดภาพพระให้แนบแน่นอยู่ในใจ

วาโยรัตนะ 21-01-2009 09:09

นิพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตัง กาสาวัง คะเหตวา เรารับผ้ากาสาวพัตร์นี้มา เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน

วาโยรัตนะ 21-01-2009 09:09

แม้กระทั่งการปฏิบัติในมโนมยิทธิของเรา คณาจารย์สายอื่น ท่านก็กล่าวว่าไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการส่งจิตออกนอก แต่อาตมาขอยืนยันว่า การส่งจิตออกนอกในลักษณะฟุ้งซ่าน ขาดสมาธิ เป็นคนละเรื่องกับมโนมยิทธิ
"มโนมยิทธิเป็นการส่งจิตออกนอก ด้วยกำลังของฌานสมาบัติ จะมีการควบคุม มีการป้องกัน ควบคุมไม่ให้นิวรณ์กินใจเราได้ ควบคุมไม่ให้ความฟุ้งซ่านเกิดขึ้นกับใจได้ ต้องการจะไปตรงจุดไหนไปได้ "

นี่คือการใช้ผลของฌานสมาบัติ ไม่ใช่ว่าสร้างผลเกิดแล้วไม่สามารถที่จะนำผลนั้นไปใช้ได้

วาโยรัตนะ 21-01-2009 09:11

ลีลาของมารก็คือ ยั่วให้กำหนัด ล่อให้หงุดหงิด ลวงให้หลงผิด
ความกำหนัดยินดี อยากมีอยากได้ ทำให้เกิดความราคะกับโลภะ เพราะโลภจึงอยากได้ เพราะยินดีจึงอยากมีอยากเป็น ยั่วให้หงุดหงิดคือกระตุ้นโทสะให้เกิด ตาเห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส มันพยายามสอดแทรกเข้ามาในใจของเราอยู่เสมอ จะทำลายเกราะป้องกันจิตใจของเรา เพื่อยึดเราให้เป็นทาสของมันให้ได้ รู้จักหน้าตาของมันเอาไว้

วาโยรัตนะ 21-01-2009 09:12

เรื่องของการทรงฌานสำคัญมาก เพราะว่าทันทีที่กำลังใจทรงเป็นฌานนั้น รัก โลภ โกรธ หลงจะกินใจของเราไม่ได้
ไฟใหญ่สี่กองได้แก่


ราคัคคิ ไฟคือราคะ
โลภัคคิ ไฟคือโลภะ
โทสัคคิ ไฟคือโทสะ
โมหัคคิ ไฟคือโมหะ


ไฟใหญ่สี่กองจากรัก โลภ โกรธ หลง เผาเราอยู่ตลอดเวลา ทันทีที่กำลังใจของเราทรงเป็นฌานได้ ไฟทั้งสี่กองนี้จะดับลงชั่วคราว
เราจะมีความสุข ดังนั้น ต้องพยายามกำหนดใจของเรา ให้ทรงเป็นฌานให้ได้
ถ้ายังทรงฌานระดับใดระดับหนึ่งไม่ได้ เราก็ยังไม่สามารถที่จะหนีความทุกข์ได้ การจะหนีความทุกข์นั้น
ถ้าเราหลุดพ้นเป็นพระอรหันต์ไปเลย เข้าสู่พระนิพพานไปเลย ก็จบเรื่องกันไป

วาโยรัตนะ 21-01-2009 09:14

พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า

อุปปาทา วา ภิกขเว ตถาคตานัง
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตจะเกิดขึ้นก็ดี

อนุปปาทา วา ตถาคตานัง
ตถาคตจะไม่เกิดขึ้นก็ดี

ฐิตา วะ สา ธาตุ ธัมมัฏฐิตตา
ธรรมธาตุทั้งหลาย ก็ทรงตัวของมันอยู่อย่างนั้น เป็นปกติอยู่แล้ว

สัพเพ สังขารา อนิจจาติ
อันว่าสังขารทั้งหลาย หมายถึง สรรพสิ่งทั้งหลาย คน สัตว์ วัตถุธาตุ สิ่งของใด ๆ ก็ตาม มีความไม่เที่ยงเป็นปกติ เกิดขึ้นในเบื้องต้น
เปลี่ยน แปลงแปรปรวนไปในท่ามกลาง สลายตัวไปในที่สุด

สัพเพ สังขารา ทุกขาติ
สรรพสิ่งทั้งหลาย ประกอบไปด้วยความทุกข์ ไม่ว่าจะคน จะสัตว์ จะต้นไม้ จะสิ่งของใด ๆ
ก็ตาม ถ้าไม่ใช่ตัวของมันเองเกิดอยู่ในกองทุกข์ ก็ประกอบขึ้นมาจากความทุกข์ยากลำบากเหมือนผู้อื่น
สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ
ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรทรงตัว เป็นเราเป็นของเราได้ ท้ายสุดก็เสื่อมสลายตายพังไปทั้งสิ้น


นี่คือนิยามแห่งธรรม นี่คือความเป็นจริงแห่งธรรมะนั้น นี่คือคำจำกัดความของธรรมะนั้น
องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นอัจฉริยะมนุษย์สุดประเสริฐ ทรงพระปัญญาคุณอันล้ำเลิศ สามารถตรัสรู้ มองเห็นธรรมะที่มีอยู่เป็นปกตินี้ได้ชัดเจน ขณะที่ผู้อื่นเขาไม่เห็น เมื่อรู้แล้ว พระองค์ท่านก็นำมาสอนเราให้รู้ตาม

วาโยรัตนะ 21-01-2009 09:29

คนเราทุกคน สรรพสัตว์ทั้งหมด ไม่มีใครดี ไม่มีใครเลว มีแต่คนกำลังเป็นไปตามกรรมเท่านั้น การสมมติคำว่าดี คำว่าเลวขึ้นมา เพื่อที่เราจะแยกแยะได้สะดวกเท่านั้น ไม่ใช่สมมติขึ้นมาแล้ว ให้เราไปแบกมัน

"บุคคลที่ทำดีตามคำสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
การกระทำของเขาทำให้เขาตกอยู่ในกระแสสีขาว มันจะไหลทวนกระแสโลก ขึ้นไปสู่ข้างบนอยู่เสมอ ไปสู่ภพภูมิที่สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป"

"บุคคลที่กระทำสิ่งที่คัดค้านคำสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เขาตกอยู่ในกระแสสีดำ พาไหลลงอยู่ตลอดเวลา ลงไปสู่ความเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน มีแต่ความทุกข์อยู่ตลอดเวลา"

วาโยรัตนะ 21-01-2009 09:31

พระพุทธเจ้าตรัสว่า สัตว์โลกเกิดมาเท่าไร ตายหมดเท่านั้น
คือ ทุกคนเกิดมาแล้ว ต้องตายแน่นอน สัตว์ทุกตัวเกิดมาแล้ว ต้องตายแน่นอน แต่ที่เห็นคนเห็นสัตว์ มันมากขึ้นทุกวัน เพราะว่า การเกิดขึ้นมา มันยังต้องดำรงชีวิตอยู่ระยะหนึ่ง อาจจะไม่กี่ปี หรือว่าหลายสิบปี
ดังนั้น คนเก่ายังไม่ทันจะตาย สัตว์เก่ายังไม่ทันจะตาย คนใหม่ สัตว์ใหม่ มันก็เกิดขึ้น เราถึงได้รู้สึกว่า มันมากขึ้น ๆ แต่จริง ๆ แล้วมันเกิดมาเท่าไหร่ มันตายหมดเท่านั้น

การระลึกถึงความตาย ทำให้เราไม่ประมาท
เป็นการสรุปยอดคำสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ลงเหลือแต่คำว่า"ไม่ประมาท"คำเดียว คนเราถ้ารู้ตัวอยู่ว่าจะตาย ตายแล้วไม่แน่ว่าจะไปสุคติหรือทุกคติ

วาโยรัตนะ 21-01-2009 09:32

แม้มันจะดีถึงที่สุดไม่ได้ ก็ให้มันดีในลักษณะของ
"พระโยคาวจร" คือ ผู้ตั้งใจปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น แม้จะไม่ได้เป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี หรือพระอรหันต์
ขึ้นชื่อว่าพระโยคาวจร ก็ยังไม่ขาดทุนมาก

วาโยรัตนะ 21-01-2009 09:36

สภาพของเราก็ดี ของเขาก็ดี ของคนหรือสัตว์ก็ตาม
เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง สลายไปในที่สุดดังนี้ ไม่มีอะไรยึดถือมั่นหมายได้
เกิดใหม่เมื่อไร ก็เป็นอย่างนี้เมื่อนั้น ดังนั้น ขึ้นชื่อว่าการเกิดใหม่ ไม่ควรจะมีสำหรับเราอีก เราก็เอาใจเกาะพระนิพพานเข้าไว้ ตั้งใจว่า เราตายเมื่อไร ขอไปพระนิพพานแห่งเดียว

วาโยรัตนะ 21-01-2009 09:37

สมถกรรมฐานเป็นการเพาะกำลังให้แข็งแรง
วิปัสสนากรรมฐานเหมือนกับอาวุธที่คมกล้า


เมื่อมีกำลังมีอาวุธแล้ว การจะตัดกิเลสก็เป็นเรื่องง่าย

ในเมื่อเรารู้ว่า ทั้งสองอย่างต้องทำสลับกันไป แต่บางทีมันก็ยังไม่ไหว มันก็ยังรู้สึกว่าไปได้ไม่ดี ไม่คล่องตัว
อาจจะเกิดจากอิริยาบถของเรา
ที่มันซ้ำ ๆ อยู่กับที่ ไม่ใช่ว่านั่งก็นั่งมันอย่างเดียวไปตลอด ยืนก็ยืนมันอย่างเดียวไปตลอด เดินก็เดินมันอย่างเดียวไปตลอด
นอนก็นอนมันอย่างเดียวไปตลอด
มีน้อยคนที่ทำอยู่อิริยาบถอย่างเดียว แล้วอารมณ์ใจจะตั้งมั่น


"ให้เราเปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนอิริยาบถบ้าง
เมื่อเราเปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนอิริยาบถ มีสิ่งที่แปลกใหม่เข้ามา สภาพจิตก็จะไม่เบื่อหน่าย มันก็จะเริ่มปฏิบัติในอิริยาบถใหม่
หรือว่าเริ่มปฏิบัติในสถานที่ใหม่ เพื่อที่จะให้กำลังใจ ทรงตัวเท่ากับที่เราเคยทำมา หรือว่าอาจจะดีขึ้นกว่าเดิมก็ได้ เพราะว่ามันไม่ซ้ำซากจำเจแล้ว
"

วาโยรัตนะ 21-01-2009 10:47

สมาธิทรงตัวสูงมากเท่าไร กำลังการสละออกของเราก็ยิ่งสูงมากเท่านั้น สามารถที่จะให้ได้ตลอดเวลา แม้แต่ชีวิต เลือดเนื้อ ร่างกาย ถ้ามีคนต้องการมันก็สละให้ได้ เพราะเรารู้ว่าเราตาย เราก็ไปพระนิพพาน ก็ให้เอาใจเกาะพระนิพพานเป็นจุดสุดท้าย จับอารมณ์ภาวนาให้ทรงตัว ให้กำลังมันสูงที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ จาคานุสติกรรมฐาน ก็จะสามารถทรงตัวอยู่ ตราบใดก็ตามที่เรายังคิดจะสละออก ตราบนั้นตัวอนุสติตัวนี้ก็ตั้งมั่นอยู่กับเราตลอดไป

วาโยรัตนะ 21-01-2009 12:06

มาว่าเรื่องกรรมฐานของเราต่อ จริง ๆ แล้วการปฏิบัติกรรมฐานนั้น เราต้องเป็นคนจริงจัง สม่ำเสมอ และต้องมีปัญญาประกอบด้วย การที่เราจริงจังสม่ำเสมอ ผลของการปฏิบัติถึงจะมี เพราะว่าการที่เรามาปฏิบัติกรรมฐานกัน เป็นการฝืนกระแสโลก เหมือนกับการว่ายทวนน้ำ ถ้าหากว่าเราไม่พยายามว่ายเข้าไว้ให้ตลอดเวลาอย่างสม่ำเสมอ มันก็จะลอยตามกระแสไป

วาโยรัตนะ 21-01-2009 12:06

รัก โลภ โกรธ หลง เป็นสมบัติของร่างกาย ถ้าไม่มีจิตไปคอยปรุง คอยแต่งกับมัน มันก็ไม่สามารถทรงตัวได้ มันก็สลายตัวของมันไปเอง
เมื่อ รัก โลภ โกรธ หลง สลายตัวไป เราก็เข้าถึงอุปสมานุสติที่แท้จริง
"นี่คือมโนมยิทธิที่หลวงพ่อท่านต้องการ"

วาโยรัตนะ 21-01-2009 12:07

เรื่องของอนุสติ คือ การตามระลึกถึงความดีในจุดใดจุดหนึ่ง สำหรับวันนี้จะสรุปลงที่อานาปานสติ อย่าลืมว่าอานาปานสตินั้นเป็นกรรมฐานใหญ่ เป็นพื้นฐานของกรรมฐานทุกกอง

วาโยรัตนะ 21-01-2009 12:08

อาหาเรปฏิกูลสัญญา คือเราจะต้องพิจารณาให้เห็นว่า อาหารที่เราฉันไปทุกวัน จริง ๆ แล้วมันเป็นของสกปรก
เขาไม่ต้องการให้เรากินอาหารเข้าไปเพื่อความอ้วนพีของร่างกาย เพื่อความผ่องใสของผิวพรรณ เพื่อไปกระตุ้นกิเลสให้เกิดขึ้น
จุดมุ่งหมายของการกินจริง ๆ ก็คือ กินเพื่อยังอัตภาพร่างกายนี้ให้อยู่ได้เท่านั้น
"เป็นการระงับดับความกระวนกระวาย ที่จะเกิดขึ้นจากอาการหิวกระหายของร่างกาย เพื่อที่จะประคับประคองร่างกายนี้ไว้
ใช้ปฏิบัติธรรมให้ก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป"

วาโยรัตนะ 21-01-2009 12:08

เราอาศัยอยู่กับเปลือกนี้ ขณะที่ดำรงชีวิตอยู่ เรามีความสุขหรือไม่ ?
มันมีแต่ความทุกข์อยู่ตลอดเวลา

มันหิว มันกระหาย มันร้อน มันหนาว มันเจ็บไข้ได้ป่วย
มันสกปรกโสโครกเป็นปกติ
เราก็ต้องลำบากยากแค้น ในการหาให้มันกิน หาให้มันดื่ม
พามันไปถ่ายอุจจาระถ่ายปัสสาวะ รักษาพยาบาลมันยามเจ็บป่วย
ดูแลทำความสะอาดมัน ไม่ให้มันสกปรกโสโครกจนกระทั่งเราเองถึงกับทนไม่ได้
มันมีความทุกข์ของมันอยู่ตลอดเวลา ตราบใดที่เรายังเกิดมามีร่างกายนี้ มันก็ยังทุกข์อีก
ถ้าธาตุใดธาตุหนึ่งมันบกพร่อง อาการเจ็บป่วยเกิดขึ้นกับร่างกาย
ก็ต้องมาลำบาก ต้องมาทุกข์ยากอยู่กับมัน เสียเวลารักษาพยาบาลดูแลเอาใจใส่มัน นั่นก็ยังไม่เท่าไร ถ้ามันบกพร่องมาก ๆ
เติมให้มันไม่ไหว หนุนมันเท่าไหร่ก็ไม่ขึ้น มันก็หมดสภาพ"ตาย"

วาโยรัตนะ 21-01-2009 12:09

ในการปฏิบัติธรรมของเรานั้น เราจะพบกับอารมณ์ใจในระดับต่าง ๆ ที่ความจริงแล้วเป็นสิ่งที่ดี
แต่ถ้าเราขาดปัญญากับการพิจารณา ไปน้อมใจเชื่อเข้าว่านั่นเป็นธรรมะแท้ นั่นเป็นมรรค นั่นเป็นผล นั่นเป็นที่สุดของการปฏิบัติ
มันก็จะกลายเป็นกิเลสทันที "บาลีเรียกว่าอุปกิเลส"

วาโยรัตนะ 21-01-2009 12:10

หลักการปฎิบัติในพระพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าท่านกล่าวไว้สามขั้นคือ

ศีล เป็นการควบคุมกายวาจาให้เรียบร้อย
สมาธิ เป็นการควบคุมกายวาจาให้เรียบร้อยและสร้างความมั่นคงทางใจ
ส่วนปัญญา เป็นผลสืบเนื่องมาจากศีลและสมาธิ ที่ควบคุมกายวาจาและใจให้สงบ เมื่อสงบลงก็เหมือนกับน้ำที่นิ่ง ก็จะสามารถสะท้อนภาพสิ่งต่าง ๆ ให้เห็นบนผิวน้ำนั้นได้ให้เกิดประโยชน์ได้


ตัวสมาธิภาวนาจะเป็นคำตอบที่สำคัญที่สุด


ในขั้นตอนของการปฎิบัติทุกระดับแม้กระทั่งระดับสุดท้าย เพราะกำลังของสมาธิจะช่วยให้ รักษาศีลได้สมบูรณ์และคงตัวมากขึ้นในขณะเดียวกัน ขณะเดียวกันความนิ่งของจิตที่มีสมาธิ ก็จะทำให้เกิดปัญญาขึ้นได้ง่าย
สมาธิจะทรงตัวหรือไม่ทรงตัวสำคัญอยู่ที่ ลมหายใจเข้าออกของเรา การสงบระงับของจิตแต่ละระดับชั้นนั้นเป็นของละเอียด เราต้องอาศัยของหยาบ คือลมหายใจเข้าออก เป็นเครื่องโยงไปหาความละเอียด คือ ความสงบของจิตให้ได้ การปฎิบัติสมาธิไม่ว่าจะรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งก็ตาม

วาโยรัตนะ 21-01-2009 12:12

พระพุทธเจ้าทรงเป็นอัจฉริยะมนุษย์สุดประเสริฐ มีพระปัญญาคุณอันอันล้ำเลิศ สามารถตรัสรู้พบเห็นอริยสัจที่ไม่มีใครพบเห็นได้

พระองค์มีพระกรุณาคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงตรากตรำพระวรกายสั่งสอนสัตว์โลกอยู่ ๔๕ ปีเต็ม ๆ
๔๕ ปีที่พระองค์ท่าน อดตาหลับขับตานอนสอนพวกเรา เนื่องจากเพราะเห็นว่าพวกเราโปรดได้สงเคราะห์ได้
ในแต่ละคืน พระองค์ท่านจะได้บรรทมสักชั่วโมง สองชั่วโมงก็แสนยาก ในบาลีกล่าวถึง พุทธกิจ ๕ ประการ ไว้ว่า



“ปุพพัณเห ปิณฑปาตัญ จะ”
เช้าขึ้นมาเสด็จออกบิณฑบาต พระองค์ท่านเสด็จบิณฑบาตตลอดพระชนม์ชีพ

“สายัณเห ธัมมเทสนัง” ตอนบ่ายทรงเทศน์โปรดสั่งสอนประชาชน

“ปโทเส ภิกขุโอวาทัง” ค่ำลงมาให้โอวาทสั่งสอนพระภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรี และสิกขมานาทั้งหลาย

“อัฒฑรัตเต เทวปัญหะนัง” เที่ยงคืนไปแล้วแก้ปัญหาให้กับเทวดา พรหม ที่เขาสงสัย หรือเทศน์โปรด เทวดา พรหม ที่มาขอฟังธรรม

“ปัจจุเสว คเตกาเล ภัพพาภัพเพ วิโลกะนัง” พอใกล้รุ่ง อย่างเช่นตอนนี้ เวลานี้ พระองค์ท่านก็จะสอดส่อง ตรวจดูอุปนิสัยสัตว์โลก
ว่าสมควรจะเสด็จไปโปรดผู้ใด สรุปแล้วลองคิดง่าย ๆ ดูว่า พระองค์ท่านมีเวลาบรรทม คือนอนอย่างพวกเราคืนหนึ่งกี่ชั่วโมง

พระองค์ทรงตรากตรำพระวรกายลักษณะนี้ ๔๕ ปีเต็ม ๆ ด้วยพระกรุณาคุณอันยิ่งใหญ่
เพื่อสงเคราะห์พวกเรา เห็นว่าพวกเราสอนได้ มีโอกาสที่จะทำเพื่อความหลุดพ้นได้ พระองค์ท่านทุ่มเทชีวิต จนกระทั่งวาระสุดท้ายก็เพื่อพวกเรา และขณะนี้พระองค์ท่าน เสด็จอยู่เหนือเศียรเหนือเกล้าของเรา พร้อมที่จะสนับสนุนความดีในทุก ๆ ด้านของเรา พร้อมที่จะรับเราไปสู่
"พระนิพพาน"

วาโยรัตนะ 21-01-2009 12:13

การปฏิบัติ เรามักจะไปตามดูตามจี้มันอยู่ตรงนั้น ซึ่งอันนี้ผิด อย่างการทรงปฐมฌาน มันจะผ่านอารมณ์วิตกคือนึกอยู่ว่าภาวนา วิจารณ์คือ รู้อยู่ว่าตอนนี้ภาวนาอยู่ ลมหายใจแรงหรือเบา ยาวหรือสั้น คำภาวนาว่าอะไรรู้อยู่ ปิติ มี อาการ ต่าง ๆ ๕ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น คือขนลุก น้ำตาไหล ร่างกายโยกโคลง ร่างกายลอยขึ้น หรือว่าพองตัวใหญ่ ตัวรั่วเป็นรูมาก ๆ หรือว่าแตกไปเลย ถัดไปคือสุข ความเยือกเย็นใจเนื่องจากกำลังใจปนเปอยู่เฉพาะหน้า ทำให้รัก โลภ โกรธ หลง ที่แผดเผาเราอยู่ต้องตัดลงชั่วคราว มันเย็นกายเย็นใจบอกเป็นภาษาคนไม่ถูก อันดับสุดท้ายคือเอกัตถตา อารมณ์ตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียว ไม่เคลื่อนคล้อยไปที่อื่น

วาโยรัตนะ 21-01-2009 12:14

"สิ่งที่ตถาคตรู้ คือใบประดู่ในป่า แต่สิ่งที่ตถาคตสอนพวกเธอคือใบประดู่กำมือเดียว
ท่านเลือกเอาใบประดู่กำมือเดียวที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สุขในปัจจุบันและประโยชน์สุขในอนาคต โดยเฉพาะการหลุดพ้นเข้าสู่พระนิพพานมาสอนเราเท่านั้น กำมือเดียวนี่แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์"

วาโยรัตนะ 21-01-2009 12:14

พระอาจารย์เล็กเคยกล่าวเกี่ยวกับการปฏิบัติไว้ว่า
"เราต้องคอยตรวจต้องทบทวนกำลังใจของตัวเองไว้เสมอ ๆ ว่ากำลังใจของเราตอนนี้ดีหรือว่าเลว ต้องรู้ตัวโดยที่ไม่เข้าข้างตัวเองด้วย
เช็คอยู่เสมอว่าตอนนี้ความดีในใจของเรามีหรือไม่?
ถ้าไม่มีทำให้มันมีขึ้นมา ถ้ามันมีอยู่แล้วทำให้มันยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ตอนนี้ความชั่วในใจของเรามีหรือไม่?
ถ้ามันมีขับไล่มันออกไปแล้วคอยระวังไว้อย่าให้มันเข้ามา ต้องคอยเตือนตัวเองเสมอ ๆ อยู่ตลอดเวลา"

วาโยรัตนะ 21-01-2009 20:58

ถ้าหากว่าเราทำกำลังใจของเราในด้านมโนมยิทธิไปเรื่อย เกาะพระไปเรื่อย เดี๋ยวพอกำลงใจมันทรงตัว ของเก่ามันมาทั้งหมดเอง ตอนนี้เราไม่สามารถใช้อภิญญาเต็มที่ได้ทั้ง ๆ ที่อดีตเราเคยทำมาแล้วเพราะว่า เรายังไม่ยอมรับกฏของกรรมอย่างจริงจัง

อภิญญานี่ถ้ามันเต็มสภาพเต็มกำลังของมันนี่มันฝืนกฏของกรรมได้ เห็นคนป่วยมาคิดให้เขาหายป่วยก็หาย เห็นคนง่อยมาคิดให้เขาหายง่อยก็หาย มันหายเดี๋ยวนั้นเลยเพราะเป็นการอธิษฐานอำนาจของกสิณโดยเฉพาะธาตุ ๔ คราวนี้พวกเราถ้าไม่ยอมรับกฏของกรรม เห็นปั๊บสงสารช่วยเขา จะทำเอากฏของกรรมอลเวงไปหมด เพราะว่าเราลืมดูไปว่าเขาเป็นอย่างนั้น เพราะอดีตทำอะไรมา เขาก็มีกรรมที่จำเป็นที่เขาจะต้องรับ ดังนั้นว่าตราบใดที่เรายังไม่ยอมรับกฏของกรรมอย่างจริงจังนี่โอกาสจะใช้อำนาจอภิญญาได้เต็มที่อย่างอภิญญาใหญ่นั้นอย่าหวังเลย โดนล๊อคหมด จะได้โล่งใจซะที ไม่งั้นมันจะคิดอยู่นั้นละ เอ๊ะ ....ทำได้ขนาดนี้ อภิญญาไม่เกิดซะที เกิดเมื่อไหร่บรรลัยเมื่อนั้นล่ะ โดยเฉพาะพวกเรามันเชื้อสายพุทธภูมิเก่า คือผู้ตั้งใจจะเป็นพระพุทธเจ้า คนที่ตั้งใจจะเป็นพระพุทธเจ้านี่ คนอื่นลำบากแค่ไหนตัวเองก็ยอมช่วยเขา ช่วยเขาโดยไม่เห็นแก่ความลำบากของตัวเอง ในเมื่อทำในลักษณะนั้นมันจะเผลอไปฝืนกฏของกรรม ลองดูซิพอได้แล้วลองไปช่วยใครเข้าซักยกหนึ่งเดี๋ยวมันก็เสื่อม นี่ไม่ใช่กำลังใจเราเสียเอง บางที่ท่านตัดผลมันไปเสียดื้อๆ ถ้าหากไปฝืนกฏของกรรม

วาโยรัตนะ 22-01-2009 07:19

สมมติว่าถ้านรกสวรรคไม่มี ชาติหน้าไม่มี คุณตั้งใจทำความดีก็เสมอตัว
แต่ถ้านรกมี สวรรค์มี ชาติหน้ามี คุณตั้งใจทำความดีคุณกำไร
แต่ถ้านรกสวรรคไม่มี คุณทำชั่ว คุณก็เสมอตัว
แต่ถ้านรกมี สวรรค์มี ชาติหน้ามี คุณทำชั่ว คุณก็ขาดทุน
เพราะฉะนั้นคุณก็เลือกเอาด้วยปัญญาของคุณเองว่า คุณจะเอาเสมอตัวแล้วกำไรดี หรือ ว่าเสมอตัวแล้วขาดทุนดี
เลือกเอา ๒ ประตู

วาโยรัตนะ 23-01-2009 06:36

ถ้าสติปัญญาสมบรูณ์พร้อมเมื่อไหร่ มันก็จะสามารถที่จะเห็นช่องทางที่ ลด ละ เลิก จนกระทั่งไม่ข้องแวะกับกิเลสได้อีก

ถ้าหากว่าสติมากเกินไป มันจะไปจด ๆ จ่อ ๆ ไม่กล้าตัดสินใจ กลัวผิดกลัวพลาด
ปัญญามากเกินไปเราก็บุ่มบ่ามโฉ่งฉ่าง

สติกับปัญญาเราต้องไปพร้อม ๆ กัน

วาโยรัตนะ 23-01-2009 06:44

ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำอยู่ไม่ว่า จะใหญ่ จะเล็ก ขนาดไหนก็ตาม ท้ายสุดมันให้ผลทั้งสิ้น

วาโยรัตนะ 23-01-2009 06:48

การปฏิบัติทุกอย่างลงมือเมื่อไหร่เป็นคุณแก่ตัวเมื่อนั้น


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 17:55


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว