กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   พระครูวิลาศกาญจนธรรม (หลวงพ่อเล็ก สุธมฺมปญฺโญ) (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=18)
-   -   สังโยชน์เบื้องสูง (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=656)

เถรี 30-06-2009 19:15

สังโยชน์เบื้องสูง
 
พระท่านมีข้อคิดในการพิจารณาเป็นภาษาบาลี แต่แปลเป็นไทยได้ว่า บรรพชิตพึงพิจารณาเนือง ๆ ว่า กาย วาจา ใจ ที่ดีกว่านี้ยังมีอยู่ เราต้องทำ กาย วาจา ใจ เหล่านั้นให้ได้ ฆราวาสก็นำเอาไปใช้ได้

ในแต่ละวัน สำรวจดูว่าศีลข้อไหนของเราบกพร่องบ้าง ? ถ้าสมบูรณ์บริบูรณ์ดีแล้ว ไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้คนอื่นเขาทำ ไม่ยินดีเมื่อเห็นคนอื่นเขาทำ เราก็พัฒนาไปเป็นกรรมบถ ๑๐

กรรมบถ ๑๐ ระมัดระวังรักษายากกว่า นอกจากจะไม่ฆ่าสัตว์แล้ว ยังไม่ทำร้ายสัตว์โดยเจตนาอีก ไม่ลักขโมยของเขาแล้ว แม้กระทั่งหยิบของที่เจ้าของไม่ได้อนุญาตก็ไม่แตะต้อง ไม่ละเมิดคนรักของใคร ไม่ละเมิดของรักของใคร

ไม่พูดโกหก ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียดให้คนเขาแตกร้าวกัน ไม่พูดวาจาเหลวไหลไร้ประโยชน์ ไร้อรรถ ไร้ธรรม

ในด้านของใจนั้น ท่านไม่โลภ ถ้าอยากได้สิ่งใดจะหามาโดยถูกต้องตามทำนองคลองธรรม พยายามระงับโทสะ โกรธได้แต่ไม่ผูกโกรธ พูดง่าย ๆ ก็คือ โกรธแล้วลืม และท้ายสุดมีความเห็นเป็นสัมมาทิฏฐิ คือ เห็นว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเป็นของดี เราจะทำตาม

เมื่อพัฒนาขึ้นมาถึงขั้นนี้ได้ กำลังใจเราจะห่างจาก รัก โลภ โกรธ หลง ไปอย่างมาก สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นกำเริบได้ แต่ทำอันตรายเราไม่ได้ ถ้าเราทบทวนพิจารณาอยู่บ่อย ๆ ท้ายสุดก็จะก้าวล่วงขึ้นไปสู่การเป็นพระอนาคามี

การทบทวนบ่อย ๆ ทำให้สมาธิทรงตัว ถ้าถึงระดับฌาน ๔ เมื่อไร กำลังเดิมก็จะรวมตัวมาทั้งหมด จะตัดราคะกับโทสะโดยอัตโนมัติ ถ้าหากว่ายังไม่ทรงฌาน ๔ โอกาสเป็นพระอนาคามีเหลือแค่ศูนย์ เนื่องจากว่าเมื่อกำลังไม่ถึงฌาน ๔ ก็ไม่สามารถที่จะกดราคะกับโทสะลงได้

ดังนั้น..ท่านทั้งหลายถ้าหวังความอยู่สุข อยู่เย็น ไม่ว่าจะอยู่ในผ้าเหลืองของพุทธศาสนา หรือว่าอยู่ในฐานะพุทธศาสนิกชนที่เป็นนักปฏิบัติ ต้องหวังอย่างต่ำคือความเป็นพระอนาคามี เพราะว่าสามารถที่จะตัดรัก ตัดโกรธได้อย่างแท้จริง แล้วถามว่า...หากมีคู่ครองจะทำอย่างไร ? บอกว่า..ไม่ต้องทำ เพราะไร้ความสามารถที่จะทำ พอก้าวถึงตรงจุดนั้น ร่างกายจะหมดความสามารถที่จะมีคู่ครองโดยสิ้นเชิงแล้ว

ถ้าไม่ทอดทิ้ง พยายามพิจารณาในส่วนละเอียดของสังโยชน์เบื้องสูง ก็คือ พยายามละเว้นในรูปราคะและอรูปราคะ คือ การไม่ติดในรูปหรืออรูป ซึ่งส่วนที่ละเอียดที่สุดก็คือ การยึดติดในรูปฌานและอรูปฌาน ซึ่งจะว่าแล้วก็ละได้ง่าย เพราะว่าเราใช้กำลังส่วนนั้นในการเกาะพระนิพพานแทน...ก็ไม่ถือว่าติด

พยายามลดการถือตัวถือตนลง ให้เห็นว่าไม่ว่าตัวเราตัวเขา ไม่ว่าคน ไม่ว่าสัตว์ ท้ายสุดก็เสื่อมสลายตายจากไปหมด ไม่มีใครดีกว่า ไม่มีใครเลวกว่า

เหลือตัวสุดท้ายคืออวิชชา ไม่ว่าตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส ใจครุ่นคิดอะไรก็ตาม พยายามหยุดลงให้ได้ ให้เห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน ได้กลิ่นสักแต่ว่าได้กลิ่น ได้รสก็สักแต่ว่าได้รส สัมผัสสักแต่ว่าสัมผัส ใจอย่าไปนึกคิดปรุงแต่งต่อ ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ จะเกิดไม่ได้ เพราะทันทีที่เราคิด ยินดี....ราคะเกิด ไม่ยินดี...โทสะเกิด แล้วถ้ายินดีเมื่อไร ก็จะอยากมีอยากได้ ซึ่งเป็นต้นเหตุใหญ่ของตัณหา

ดังนั้น..ตัวอวิชชาตัวสุดท้าย จะเป็นตัวที่ละได้ยากนิดหนึ่ง แต่ว่าถ้าทำถึงระดับนั้นแล้วก็ ไม่เกินความสามารถของเรา


พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เทศน์บนศาลาวัดท่าขนุน ก่อนวันงานเป่ายันต์
๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๙.๐๐ น.


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 03:44


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว