กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน เดือนมกราคม ๒๕๖๗ (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=144)
-   -   เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๖๗ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=9987)

พิชวัฒน์ 16-01-2024 18:16

เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๖๗
 
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๖๗



เถรี 16-01-2024 23:44

วันนี้ตรงกับวันอังคารที่ ๑๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ เป็นวันครูของบ้านเรา ปกติแล้ววันครู โบราณเขาถือเอาวันพฤหัสบดี เพราะว่าพระพรหมสร้างพระพฤหัสบดีขึ้นมาจากพระฤๅษี ๑๙ ตน บรรดาฤๅษีต่าง ๆ ถือว่าเป็นครูของสายวิชาการสารพัดสารเพ ในเมื่อเป็นเช่นนั้น เขาถึงได้ถือว่าวันพฤหัสบดีเป็นวันครู ก็คือมาจากพ่อครูปู่พระฤๅษีนั่นเอง แต่ว่าของเรามากำหนดเอาวันครู เป็นวันที่ ๑๖ ของเดือนมกราคมของทุกปี

คำว่า ครู นั้นเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากมาแต่โบราณ โดยที่มีคำกล่าวว่า แม่เป็นครูคนแรก พ่อเป็นครูคนที่สอง คุณครูที่โรงเรียนเป็นครูคนที่สาม เหล่านี้เป็นต้น ดังนั้น..เวลานักเรียนร้องเพลง "พระคุณที่สาม" ขอให้ทราบว่ามีที่มาจากครูนี่เอง

ครูเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้แก่เรา ถ้าหากว่าย้อนไปว่า
พ่อแม่เป็นผู้ที่ให้กำเนิดชีวิต ครูก็เป็นผู้ให้ความรู้ เพื่อที่เราจะได้อาศัยเป็นศิลปศาสตร์ในการทำมาหาเลี้ยงชีพของตน แต่ว่าพ่อแม่หลายรายก็เป็นครูสอนศิลปศาสตร์ไปด้วย บางทีก็ปู่ย่าตายายนั่นแหละ ที่เป็นครูผู้สอน อย่างในวรรณคดีขุนช้างขุนแผนที่กล่าวถึงพลายงามตอนศึกษาวิชาการว่า

"ฯลฯ..อันเรื่องราวกล่าวความพลายงามน้อย
ค่อยเรียบร้อยเรียนรู้ครูทองประศรี
ทั้งขอมไทยได้สิ้นก็ยินดี
เรียนคัมภีร์พุทธเพทพระเวทมนต์..ฯลฯ"

เราท่านทั้งหลาย ถ้าไปนึกถึงสมัยนั้นว่าระหว่างสุพรรณบุรีกับกาญจนบุรีนั้นคือป่าดงดิบมหึมา หรือป่าเสือป่าช้างเลย สมัยพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่าซุงท่านทำการบริหารจัดการวัด ยังต้องไปซื้อไม้ที่อำเภออู่ทอง แล้วเรามาคิดว่า จากอำเภออู่ทอง กว่าจะทะลุไปถึงกาญจนบุรีนั้น ถ้าเป็นระยะทางรถในปัจจุบัน ก็ ๖๐ กว่ากิโลเมตร

เถรี 16-01-2024 23:59

แต่ในสมัยก่อนนั้น ผู้หญิงม่ายคนหนึ่งกระเซอะกระเซิง อุ้มลูกชายหนีราชภัยกลับไปอยู่กับตระกูลของตนเอง ต้องบุกป่าฝ่าดงเป็นเวลากี่วัน ? อะไรที่ทำให้ผู้หญิงคนนั้นโชคดี ถึงขนาดพาลูกชายหัวแก้วหัวแหวนไปได้ตลอดรอดฝั่ง ซ้ำยังท้ายสุดชุบเลี้ยงจนกระทั่งกลับมากลายเป็นเจ้าพระยากาญจนบุรี หรืออีกนามหนึ่งที่ทุกคนรู้จักก็คือ "ขุนแผนแสนสะท้าน หลานขุนไกร"

เมื่อมาอ่านถึงประวัติของพลายงาม ก็ได้รู้ชัดเจน

"ฯลฯ..ค่อยเรียบร้อยเรียนรู้ครูทองประศรี
ทั้งขอมไทยได้สิ้นก็ยินดี
เรียนคัมภีร์พุทธเพทพระเวทมนต์..ฯลฯ"

แปลว่าท่านย่าทองประศรีนั่นแหละเป็นสุดยอดของวิชาการเลย แล้วเป็นผู้หญิงที่แหกคอกแหกเหล่าของสมัยนั้นด้วย..! เพราะว่าสมัยก่อนผู้หญิงเขาก็จะเรียนรู้วิชาในครัว ศึกษาเกี่ยวกับเสน่ห์ปลายจวัก การเป็นแม่บ้านแม่เรือน ทำอย่างไรที่จะเลี้ยงลูกเลี้ยงผัวให้มีความสุข ไม่จำเป็นที่จะต้องศึกษาหาความรู้ด้วยการเรียนหนังสือ

แต่ท่านย่าทองประศรีนอกจากที่จะศึกษาเรียนรู้หนังสือแล้ว ยังศึกษาสารพัดตำรา ใช้คำว่า "พุทธเพทพระเวทมนต์" ก็คือในลักษณะของพุทธาคม นอกจากเรียนแล้วยังต้องทำได้อีกต่างหาก ไม่อย่างนั้นแล้วจะมาสอนหลานคือพลายงามได้อย่างไร ? เนื่องเพราะว่าถ้าตัวครูผู้สอนทำไม่ได้ แล้วจะทำให้ลูกศิษย์ทำได้นั้น แทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย..!

ดังนั้น..ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายอ่านตำราแล้วรู้จักคิด หรือว่าค่อนข้างจะฟุ้งซ่านอย่างกระผม/อาตมภาพ ก็จะได้อะไรต่อมิอะไรเพิ่มขึ้นมาอีกเยอะมาก อย่างเช่นที่กระผม/อาตมภาพตั้งคำถามกับลูกศิษย์เกี่ยวกับม้ากัณฐกะว่า "เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะให้นายฉันนะนำม้ากัณฐกะกับเครื่องทรง กลับคืนไปยังกบิลพัสดุ์ ม้าม้ากัณฐกะเหลียวมองเจ้าชายสิทธัตถะราชกุมารด้วยความอาลัย พอลับสายตาก็ล้มลง หัวใจสลาย" กระผม/อาตมภาพตั้งคำถามกับลูกศิษย์ว่า "ม้ากัณฐกะอาลัยเจ้าชายสิทธัตถะถึงขนาดหัวใจสลายเลยหรือ ? ไม่ใช่เหนื่อยตายแน่นะ..!"

เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าม้ากัณฐกะพาเจ้าชายสิทธัตถะวิ่งจากเมืองกบิลพัสดุ์ ผ่านแคว้นโกศลทั้งแคว้น ผ่านแค้วนมคธทั้งแคว้น ไปจนถึงแคว้นกาสี ถ้าเป็นสมัยนี้ก็ต้องวิ่งข้าม ๓ ประเทศ ต่อให้ไม่ใช่ประเทศที่ใหญ่นัก ตีเสียว่าวิ่งข้าม ๓ จังหวัดก็แล้วกัน แล้วก็เป็นจังหวัดใหญ่ ๆ ประมาณกาญจนบุรี เชียงใหม่เสีย ๒ จังหวัด จังหวัดเล็ก ๆ ประมาณนนทบุรีหรือนครปฐมอีก ๑ จังหวัด ภายในคืนเดียว..!

เถรี 17-01-2024 00:15

อย่าลืมว่าม้าไม่ใช่รถยนต์ รถยนต์วิ่งกันทีหลายร้อยกิโลเมตร ยังต้องมีการหยุดพักเครื่อง แล้วที่ร้ายไปยิ่งกว่านั้น ม้ากัณฐกะเป็นสหชาติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชา หรือออกมหาภิเนษกรมณ์ ตอนอายุ ๒๙ ปี แปลว่าม้ากัณฐกะก็อายุ ๒๙ ปีเช่นกัน เป็นม้าที่แก่มากแล้ว ต่อให้เก่งกล้าสุดยอดขนาดไหน คืนเดียววิ่งข้าม ๓ จังหวัดใหญ่ ๆ คิดว่าจะไหวหรือไม่ไหว ?

กระผม/อาตมภาพจึงคิดว่า ม้ากัณฐกะน่าจะอยู่ในอาการเหนื่อยตายมากกว่า อาการนี้เป็นอาการเดียวกันบุคคลที่ทรงอยู่ด้วยมโนสัญเจตนา ก็คือมุ่งมั่นต่อการงานของตน ทำให้มีแรงฮึด มีลูกอึด ลูกถึก ลูกทน เมื่อถึงเวลางานเสร็จ ตัวเองก็พับไปกับงานด้วย..!

แต่ด้วยความที่แก่มากอย่างหนึ่ง ต้องวิ่งเป็นระยะทางไกลขนาดนั้นภายในคืนเดียวอีกอย่างหนึ่ง จึงทำให้ม้ากัณฐกะ เมื่อหมดมโนสัญเจตนา คือความมุ่งมั่นว่าส่งพระลูกเจ้าของตนไปสู่จุดมุ่งหมายแล้ว กำลังที่จะประคองกายก็ไม่เหลือแล้ว จึงได้ล้มลง หัวใจวายตายเพราะความเหนื่อยอย่างหนึ่ง เพราะรู้สึกว่าหมดภาระแล้วอีกอย่างหนึ่ง

เหมือนกับที่นักข่าววิ่งส่งข่าวการศึกระหว่างกรีกกับโรมัน เมื่อส่งข่าวเสร็จ ก็ล้มลงสิ้นใจตาย จนกระทั่งก่อให้เกิดการวิ่งมาราธอน ๔๒ กิโลเมตรเศษมาจนทุกวันนี้ นั่นก็เป็นอาการเดียวกัน ดังนั้น..ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายอ่านหนังสือ อ่านตำราแล้ว รู้จักคิด รู้จักตรอง หรือหัดฟุ้งซ่านเสียหน่อย ก็จะได้รสชาติของตำราขึ้นอีกมาก

บางท่านก็ว่ากระผม/อาตมภาพทำได้อย่างไร อ่านพระไตรปิฎกไปแล้ว ๗ - ๘ จบ ขอบอกว่าถ้าเป็นคำสั่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีฯ ท่านสั่งว่า "ถ้าเป็นไปได้..ให้แกอ่านพระไตรปิฎกปีละจบ" แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าบวชมาจะ ๔๐ ปีแล้ว เพิ่งอ่านไปได้แค่ ๗ - ๘ จบ..!

เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าพอไปถึงพระอภิธรรมปิฎก ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักธรรมล้วน ๆ ประมาณว่ากระดูกทั้งแท่ง ไม่มีเนื้อไม่มีน้ำเลย แล้วการที่ต้องไปแทะกระดูกอยู่ เมื่อไม่เสร็จหรือว่าไม่ทะลุปรุโปร่ง ก็ไม่อยากจะเลิก เมื่ออ่านไปถึงตรงไหนแล้วไม่มั่นใจ ก็ต้องพยายามสืบเสาะหาความรู้ให้ได้ ว่าจุดนี้เราเข้าใจถูกต้องแล้วหรือไม่ ? จึงทำให้การอ่านพระไตรปิฎกช่วงพระอภิธรรมปิฎกนั้นช้ามาก

ญาติโยมหลายคนที่เห็นในปัจจุบันนี้ กระผม/อาตมภาพอ่านหนังสือพ็อคเก็ตบุ้คประมาณ ๒๕๐ หน้าจบวันละ ๑ เล่ม แล้วก็บอกว่า "หลวงพ่ออ่านหนังสือเร็วมาก พระอาจารย์อ่านหนังสือเร็วมาก" รู้หรือไม่ว่ากระผม/อาตมภาพชะลอการอ่านลงมาแล้ว เพราะว่าโดยปกติแล้วสมัยก่อนอ่านวันละ ๔ - ๕ เล่ม..! แล้วก็ลดลงมาเหลือวันละ ๒ - ๓ เล่ม..!

เถรี 17-01-2024 00:29

ปัจจุบันนี้เหลือเล่มเดียวด้วย ๒ สาเหตุ สาเหตุแรกก็คือหนังสือออกให้อ่านไม่ทัน สาเหตุที่สองก็คือหนังสือราคาแพง กระผม/อาตมภาพพยายามจำกัดราคาหนังสือที่ตนเองซื้อหาในแต่ละเดือน ให้อยู่ในวงงบประมาณ ๓,๐๐๐ บาท แต่ว่าถ้าเดือนไหนมีสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ หรือว่าสัปดาห์หนังสือนานาชาติ บางทีก็วิ่งทะลุหมื่นเหมือนกัน..!

กระผม/อาตมภาพเคยไปยังร้านหนังสือ DK ก็คือ ร้านดวงกมล ที่ซีคอนสแควร์ ปรากฏว่าเข้าไปแค่มุมหนังสือต่างประเทศอย่างเดียว เงินสดติดตัวอยู่ ๗,๐๐๐ กว่าบาท เหลือกลับมาแค่เศษสตางค์ ไม่ถึง ๑๐ บาท ยังไม่ได้ขยับไปมุมอื่นเลย ตอนแรกที่ซื้อก็ด้วยความมั่นใจว่า นักเขียนต่างประเทศส่วนใหญ่แล้วก็จะเขียนหนังสือด้วยการหาข้อมูลอย่างมั่นใจแล้ว ถึงได้เขียนเป็นตำราออกมา แต่เมื่อเจอเรื่องเกี่ยวกับประเทศไทย มีคำว่า "ทะเลสาบ ลากูน" "แม่น้ำ ริเวอร์" กระผม/อาตมภาพก็นั่งเครียดแล้ว แปลว่า เอ็งหาข้อมูลก็จริง แต่เอ็งไม่เข้าใจ..!

พอถามเขาว่า "แม่น้ำนี้ชื่ออะไร ?" คราวนี้ด้วยความที่ถามเป็นภาษาต่างประเทศ คนไทยก็ตอบว่า "แม่น้ำ" พ่อเจ้าประคุณก็ลงไปว่า "แม่น้ำริเวอร์" พอถามว่า "ทะเลสาบนี้ชื่ออะไร ?" พอคนไทยตอบว่า "ทะเลสาบ" พ่อเจ้าประคุณก็ลงไปว่า "ทะเลสาบลากูน" เป็นอันว่าจบกัน..! กระผม/อาตมภาพก็เลยเลิกเห่อ เลิกบ้าตำราฝรั่งไป ไม่เช่นนั้นแล้วสมัยก่อนก็สะสมแต่หนังสืออ่านยากพวกนั้น

เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าครูบาอาจารย์ท่านหนึ่ง คือหลวงปู่มหาอำพัน - ท่านเจ้าคุณพระภาวนาปัญญาวิสุทธิ์ (อำพัน อาภรโณ บุญ-หลง) วัดเทพศิรินทราวาส ในกุฏิของท่านมีตำราทั้งภาษาไทยภาษาอังกฤษแน่นไปหมด บางทีท่านก็อ่านไปยันเที่ยงคืน ตี ๑ ตี ๒ เห็นกระผม/อาตมภาพนั่งหาวแล้วหาวอีก ท้ายที่สุดท่านก็สงสาร บอกว่า "วันนี้พอแค่นี้ก่อน แต่ว่าสวดมนต์ทำวัตรกันก่อนแล้วค่อยนอนนะ..!" กระผม/อาตมภาพก็เกือบจะสลบไปแล้วตอนทำวัตรกับท่าน..!

วันนี้ที่มาเล่าเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ เพราะว่าเป็นวันครู กระผม/อาตมภาพเป็นบุคคลที่มีครูมาก เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าเป็นผู้ที่ใฝ่รู้ ต้องการความรู้ทุกประเภท แม้กระทั่งปัจจุบันนี้ก็ยังมีผู้ปรารภ ที่กระผม/อาตมภาพกำลังรบราฆ่าฟันอยู่กับ "แอพพลิเคชั่นเสบียงบุญ" เนื่องเพราะว่าแอพพลิเคชั่นเสบียงบุญมักจะ "หลุด" อยู่เสมอ กำลังพยายามหาสาเหตุอยู่ว่าหลุดเพราะอะไร ? ถ้ามีโอกาสจะเล่าถึงการที่รบราฆ่าฟันกับ "แอพพลิเคชั่นเสบียงบุญ" ว่าสนุกสนานแบบเดียวกับที่รบกับกิเลสอย่างไรบ้าง ?

สำหรับวันนี้ก็ขออำนวยอวยพรต่อคุณครูทั้งหลาย ให้มีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่แข็งแรงมั่นคง ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับศิษย์ทั้งหลายได้อย่างเต็มที่ เพื่อที่จะได้ช่วยกันเสริมสร้างประเทศชาติของเราให้เจริญมั่นคงสืบไป และขออุทิศส่วนกุศลที่ได้สร้างมาตั้งแต่ต้นจนบัดนี้ ไม่ว่าจะเป็นทาน เป็นศีล เป็นภาวนาก็ดี แก่คุณครูทั้งหลายตั้งแต่อดีตชาติ จนถึงปัจจุบันชาติ ขอทุกท่านได้อนุโมทนา ประโยชน์ความสุขใดที่ศิษย์ผู้นี้จักพึงได้รับ ขอให้ครูทั้งหลายจงได้รับประโยชน์และความสุขนั้นเช่นเดียวกัน ณ กาลบัดเดี๋ยวนี้เถิด

สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายแก่พระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
วันอังคารที่ ๑๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 09:25


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว