กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   กระทู้ธรรม (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=2)
-   -   โอวาทพระสุปฏิปันโน ๑๐๐ องค์ของไทย (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=2005)

ป้านุช 24-07-2010 22:33

โอวาทพระสุปฏิปันโน ๑๐๐ องค์ของไทย
 
อำนาจของกรรมใหญ่ยิ่งที่สุดในโลก ไม่มีอำนาจใดอาจมาทำลายได้
แม้อำนาจของกรรมดีก็ไม่อาจทำลายอำนาจของกรรมชั่ว
และอำนาจของกรรมชั่วก็ไม่อาจทำลายอำนาจของกรรมดี
อย่างมากที่สุดที่มีอยู่คืออำนาจของกรรมดี
แม้ทำให้มากให้สม่ำเสมอในภพภูมินี้
ก็อาจจะทำให้อำนาจของกรรมชั่วที่ได้ทำมาแล้ว ตามมาถึงได้ยาก

ธรรมสำคัญประการหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญคือ เมตตาธรรม
ใครทั้งหลายก็สรรเสริญบรรดาผู้มีเมตตาธรรม
ในขณะเดียวกันก็มีผู้ต้องเป็นทุกข์เพราะมีเมตตา
ด้วยหลงเข้าใจว่า เมื่อมีเมตตา มีความสงสารก็ต้องมีใจไม่เป็นสุข ซึ่งที่จริงหาถูกต้องไม่

มีเมตตาต่อเขาผู้เป็นทุกข์นั้นดีนัก แต่อย่าลืมเมตตาตน
ตนเองปล่อยให้ใจตัวเองเป็นทุกข์เพราะเมตตาเขา
ไม่มีอำนาจใดจะไปสู้กับอำนาจธรรมของใครได้

เมื่อเชื่อในเรื่องอำนาจกรรมเช่นนี้
ใจที่มีเมตตาก็จะเป็นการมีเมตตาอย่างถูกต้อง อย่างมีปัญญา
ไม่พาใจตนเองไปสู่ความเร่าร้อนด้วยความเมตตาที่ไม่ถูกต้อง


สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร

ป้านุช 01-08-2010 22:40

พูดมาก เสียมาก
พูดน้อย เสียน้อย
ไม่พูด ไม่เสีย
นิ่งเสีย โพธิสัตว์


“มนุษย์ผู้ใดเห็นแก่งานส่วนตัว…
…มนุษย์ผู้นั้นจะไม่มีงานทำในไม่ช้า
มนุษย์ผู้ใดเห็นแก่ทรัพย์ส่วนตัว
…มนุษย์ผู้นั้นจะไม่มีทรัพย์ครองในไม่ช้า
มนุษย์ผู้ใดเห็นแก่นอนมาก
…มนุษย์ผู้นั้นจะไม่ได้นอนในไม่ช้า”


“นะโมโพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภะคะวา”

สมเด็จพระสังฆราชคุรูปาจารย์ หลวงปู่ทวด(เหยียบน้ำทะเลจืด)
พระเถระสมัยกรุงศรีอยุธยา

มิ่งเมือง 02-08-2010 12:18

พี่นุช ขอร่วมด้วยได้ไหมครับ จะช่วยหาธรรมดีดีที่น่าสนใจมาให้อ่านกันครับ


" ถ้าต้องพูดกับคนทุกคนแล้ว ..คงไม่มีเวลาปฏิบัติธรรมแน่.."
" การเห็นเป็นเหตุแห่งการคิด การคิดเป็นเหตุแห่งการเห็น...ถ้าคิดดีก็เป็นทางเย็น ถ้าคิดไม่เป็นก็เย็นสบาย .."
" ตายเป็นเหม็นเน่า เราเขาเหมือนกัน...อยู่ไปทุกวัน ใครได้ก็ดี ใครมีก็ได้ !"
" พระนิพพาน..ความรู้พิเศษ.. พระนิพพานเปรียบเหมือนคุณของอากาศ..อธิบายว่า..อากาศมีคุณ ๑๐ ประการ
๑. ไม่รู้จักเกิด
๒. ไม่รู้จักแก่
๓. ไม่รู้จักตาย
๔. ไม่กลับเกิดอีก
๕. ไม่จุติ
๖. ใครจะข่มเหงลอบลักเอาไปไม่ได้
๗. เป็นของดำรงสภาพไว้ได้โดยไม่ต้องอาศัยอะไร
๘. สำหรับฝูงนกบินไปมา
๙. ไม่มีอะไรมากางกั้น..แล
๑๐. ที่สุดไม่ปรากฏ"

หลวงพ่อเกษม เขมโก
สุสานไตรลักษณ์ อ. เมือง จ. ลำปาง

ลัก...ยิ้ม 05-08-2010 11:09

คติธรรมคำสอนของหลวงปู่ทวด



ละได้ย่อมสงบ

ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ล้วนแต่เคลื่อนที่ไปสู่ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ทุกอย่างในโลกนี้ เคลื่อนไปสู่การสลายตัวทั้งสิ้น ไม่ยึด ไม่ทุกข์ ไม่สุข ละได้ย่อมสงบ



สันดาน

ภูเขาถูกมนุษย์ทำลายลงมาได้
แต่สันดานของคนเราที่นอนนิ่งอยู่ในก้นบึ้ง
ซึ่งไม่เหมือนกันย่อมขัดเกลาให้ดีเหมือนกันได้ยาก



ชีวิตทุกข์

การเกิดมาเป็นมนุษย์ชาติหนึ่ง จะว่าประเสริฐก็ประเสริฐ จะว่าไม่ประเสริฐก็ไม่ประเสริฐ
จะเห็นได้ว่า ตื่นเช้าก็มีความทุกข์เข้าครอบงำ
จะต้องล้างหน้า ล้างปาก ล้างฟัน ล้างมือ
เสร็จแล้วจะต้องกินต้องถ่าย นี่คือความทุกข์แห่งกายเนื้อ
เมื่อเราจะออกจากบ้าน
ก็จะประสบความทุกข์ในหมู่คณะ ในการงาน ในสัมมาอาชีวะ การเลี้ยงตนชอบ
นี่คือ ความทุกข์ในการแสวงหาปัจจัย

ลัก...ยิ้ม 05-08-2010 15:11

คติธรรมคำสอนของหลวงปู่ทวด (ต่อ)


บรรเทาทุกข์

การที่เราจะไม่ต้องทุกข์มากนั้น
เราจะต้องรู้ว่า เรานี้จะต้องไม่เอาชีวิตไปฝากสังคม เราต้องเป็นตัวของเราเอง
และเราจะต้องวินิจฉัยในเหตุการณ์ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับตัวเราว่า สิ่งใดเราควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ



ยากกว่าการเกิด

ในการที่เราเกิดมา ชีวิตแห่งการเกิดนั้นง่าย แต่ชีวิตแห่งการอยู่นั้นสิยาก
เราจะทำอย่างไรให้อยู่ได้อย่างสุขสบาย



ไม่สิ้นสุด

แม่น้ำทะเล และมหาสมุทร ไม่มีที่สิ้นสุดของน้ำ ฉันใด
กิเลสตัณหาของมนุษย์ก็ย่อมไม่มีที่สิ้นสุด ฉันนั้น

ลัก...ยิ้ม 06-08-2010 09:59

คติธรรมคำสอนของหลวงปู่ทวด (ต่อ)


ยึดจึงเดือดร้อน

ทุกวันนี้ เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน ก็เพราะมนุษย์ไปยึดนั่น ยึดนี่
ยึดพวกยึดพ้อง ยึดหมู่ยึดคณะ ยึดประเทศเป็นสรณะ โดยไม่คำนึงถึงธรรมสากล
จักรวาลโลกมนุษยนี้ ทุกคนมีกรรมจึงเกิดมาเป็นสัตว์โลก
สัตว์โลกทุกคนต้องใช้กรรมตามวาระ ตามกรรม
ถ้าทุกคนยึดถือเป็นอารมณ์ ก็จะเกิดการเข่นฆ่ากัน เกิดการฆ่าฟันกัน
เพราะอารมณ์แห่งการยึดถืออายตนะ ฉะนั้น ต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ว่า
สิ่งใดทำแล้ว สัตว์โลกมีความสุข สิ่งนั้นควรทำ นี่คือ หลักความจริงของธรรมะ



อยู่ให้สบาย

ในภาวะแห่งการที่จะอยู่อย่างสบายนั้น
เราต้องอยู่กันอย่างไม่ยึด อยู่กันอย่างไม่ยินดี อยู่กันอย่างไม่ยินร้าย
อยู่กันอย่างพยายามให้จิตวิญญาณของนามธรรมนั้นเหนืออารมณ์
เหนือคำสรรเสริญ เหนือนินทา เหนือความผิดหวัง เหนือความสำเร็จ เหนือรัก เหนือชัง

ป้านุช 07-08-2010 17:09

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
(จันทร์ สิริจันโท)
วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร ยศเส กรุงเทพมหานคร



“…ควรพวกเราทั้งหลายคิดดูให้เห็นโทษและคุณแห่งความตายเสียให้ชัดใจ…
ผู้มีปัญญาไม่ควรประมาทความตาย…
ให้เห็นว่าเป็นสมบัติสำหรับตัวเรา
เราจะต้องการในกาลอันสมควร…คือความตายมาถึงเราสมัยใด
สมัยนั้นแหละชื่อว่ากาลอันสมควร
ไม่ควรจะเกลียด ไม่ควรจะกลัว…

สังขารทั้งหลาย คือสัตว์ที่เกิดมาในไตรภพ
จะหลีกหลบให้พ้นจากความตาย ไม่มีเลย…
เมื่อมีความเกิดเป็นเบื้องต้นแล้ว ย่อมมีความตายเป็นเบื้องปลายทุกคน
นัยหนึ่งให้เอาความเกิดความตายซึ่งมีประจำอยู่ทุกวันเป็นเครื่องหมาย

เมื่อพิจารณาถึงความตาย ก็ต้องพิจารณาถึงความป่วยไข้
และความแก่ ความชรา เพราะเป็นเหตุ เป็นผลกัน…
ให้พิจารณาถึงพยาธิความป่วยไข้ว่า
พยาธิ ธมฺโมมหิ พยาธิ อนตีโต
เรามีความป่วยไข้เป็นธรรมดา จะข้ามล่วงพ้นไปจากความป่วยไข้หาได้ไม่…
ถ้าแลพิจารณาเห็นความชราอันเป็นปัจจุบันได้ก็ยิ่งประเสริฐ

ความระงับสังขารทั้งหลายนั้น ท่านมิได้หมายถึงความตาย…
ท่านหมายถึงวิปัสสนาญาณ และอาสวักขยญาณ
คือปัญญารู้เท่าสังขาร รู้ความสิ้นไปแห่งอาสวะ
เป็นชื่อของ…พระนิพพาน…เป็นยอดแห่งความสุข”



ป้านุช 09-08-2010 15:33

หลวงปู่ปาน โสนันโท
(พระครูวิหารกิจจานุการ)
วัดบางโคนม อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา


“ในงานศพ…ที่มาไหว้ศพนั้น เขามาไหว้สัจจธรรมของพระพุทธเจ้านะ
คือ ท่านตรัสว่าร่างกายของคนนั้นเป็นอนิจจัง…ไม่เที่ยง
เวลาอยู่ก็เป็นทุกข์ ในที่สุดก็อนัตตาคือตาย ใครบังคับบัญชาไม่ได้
เวลากราบทีแรกเรานึกถึงพระพุทธเจ้าว่าทรงเทศน์ไว้ถูก เทศน์ไว้ตรง
ข้าพระพุทธเจ้าขอยอมรับนับถือ เป็นมรณานุสติกรรมฐาน

กราบครั้งที่ ๒ เรานึกถึงพระธรรมคำสอนของพระองค์จากพระโอษฐ์
เหมือนดอกมะลิแก้วแพรวพราวไปด้วยความจริงอันประเสริฐ
ทำบุคคลทั้งหลายไม่ให้เมามัน และทำให้เข้าถึงความสุข

กราบครั้งที่ ๓ นึกถึงพระสงฆ์ พระอริยสงฆ์ทั้งหลาย
ที่ท่านร้อยกรองพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้แล้ว
ไม่ปล่อยให้อันตรธานสูญไป รวบรวมเข้าไว้…

นี่กราบความดีของพระ ๓ พระนะ เขาไม่ได้กราบผีกราบศพ !”

“ถึงแม้เราจะมีคาถาอาคมของดีอะไรก็ตาม เราก็ต้องตาย…
ก่อนตายควรเลือกทางเดินเอา อย่างน้อยที่สุดเราควรไปสวรรค์ชั้นกามาวจรให้ได้…

ขอให้ทุกคน เวลาก่อนจะหลับ ให้นึกถึงความดีที่ตนเคยทำไว้
ทรัพย์สินที่เคยสละเป็นวิหารทาน ธรรมทาน สังฆทานเลี้ยงพระ
นึกถึงศีลที่ตนเคยรักษา เทศน์ที่ตนเคยฟัง
แล้วหมั่นภาวนาถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
พระพุทธโธ ธัมโม สังโฆ แล้วจะรู้ว่าฉันหวังดีกับลูกหลานเพียงใด

คนไหนทำดีมากไม่ได้ก็ให้สร้างความดี ๒ อย่างที่ฉันต้องการ คือ
๑. อย่าดื่มสุราเมรัย
๒. อย่าลักขโมย อย่าเป็นโจร”

เมื่อจะเจริญกรรมฐาน ให้ตั้งอยู่ในพรหมวิหาร ๔ ให้เป็นฌานสมาธิแน่วแน่
ให้แผ่เมตตาไปทั่วจักรวาล แล้วจึงพิจารณาตามอารมณ์วิปัสสนา
หรือภาวนาตามแบบสมถะ…

ทุกคนตายแล้วจงไปสวรรค์..
จงไปพรหมโลก..
จงไปพระนิพพาน”


:875328cc::875328cc::875328cc:

ป้านุช 10-08-2010 17:34

หลวงปู่เครื่อง ธัมมจาโร
วัดเทพสิงหาร ต.นายูง อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี


“จิตมนุษย์มีพลังมหาศาล จะทำอะไรก็มักสำเร็จ
ก็เพราะมีดวงจิตที่เป็นกำลังสำคัญ จิตดวงเดียวสำคัญที่สุด…
จิตมันบอกลักษณะไม่ได้ แต่มันก็มีความรู้สึกอยู่ภายใน…
เว้นแต่ว่ามนุษย์เกิดมาแล้ว จะเอาดีหรือเอาชั่วเท่านั้น
มันเป็นขั้นตอนอยู่ตรงนี้
ถ้าเอาดีก็ต้องได้ของดีมาประดับตัวแน่นอน…”

“มนุษย์ควรเจริญด้วยธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ
ย่อมเจริญแก่ผู้มีปกติในข้อวัตรปฏิบัติธรรม
คือ ความดีมีศีลธรรมนั้นเองจะช่วยได้…”

ป้านุช 12-08-2010 19:35

หลวงพ่อสด จนฺทสโร (พระมงคลเทพมุนี)
วัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร


ว่าในด้านภาวนา…
กายนี้มีซ้อนกันเป็นชั้น ๆ มีกายทิพย์ซ้อนอยู่ในกายมนุษย์
กายรูปพรหมซ้อนอยู่ในกายทิพย์
กายอรูปพรหมซ้อนอยู่ในกายรูปพรหม
กายธรรมซ้อนอยู่ในกายอรูปพรหม…

คนเราที่ว่าตายนั้นคือ กายทิพย์กับกายมนุษย์หลุดพรากออกจากกัน
เหมือนมะขามกะเทาะล่อนจากเปลือกฉันนั้น
กายทิพย์ก็หลุดจากกายมนุษย์ไป


สุขในฌานอะไรจะไปสู้ ในภพนี่ไม่มีสุขเท่าถึงดอก
สุขในฌานนะ…สุขลืมสมบัตินั่นแหละ
สมบัติกษัตริย์ก็ไม่อยากได้ สุขในฌานนะ สุขนักหนาทีเดียว
เต็มส่วนความสุขก็หนึ่ง เฉยวิเวกวังเวงเปลี่ยวเปล่า
เรามาคนเดียวไปคนเดียวหมดทั้งสากลโลก
คนทั้งหลายไปคนเดียวทั้งนั้น ไม่มีคู่สองเลย
จะเห็นว่าลูกสักคนหนึ่งก็ไม่มี สามีสักคนหนึ่งก็ไม่มี ภรรยาสักคนหนึ่งไม่มี
ต่างคนต่างมา ต่างคนต่างไป ต่างคนต่างเกิด เป็นอย่างนี้
ปล่อยหมด ไม่ว่าอะไรไม่ยึดถือทีเดียว
เรือกสวนไร่นา ตึกร้านบ้านช่อง ก่อนเราเกิดเขาก็มีอยู่อย่างนี้
หญิงชายเขาก็มีกันอยู่อย่างนี้ เราเกิดแล้วก็มีอยู่อย่างนี้
เราตายไปแล้วมันก็มีอยู่อย่างนี้
เห็นดิ่งลงไปทีเดียว เข้าปฐมฌานเข้าไปแล้ว
เห็นดิ่งลงไปเช่นนี้

การปฏิบัติ…ไม่หยุดไม่ถึงพระ…ตัวหยุดนี่แหละเป็นตัวสำเร็จ

พระรัตนตรัยเป็นแก้วจริง ๆ หรือเปรียบด้วยแก้ว
ถ้าเป็นทางปริยัติเข้าใจตามอักขระแล้ว เป็นอันเปรียบด้วยแก้ว
ถ้าเป็นทางปฏิบัติแล้ว เป็นแก้วจริง ๆ

ภาวนํ ตาเวติ ทำให้จริง ให้หยุด ให้นิ่ง ทำให้มี ให้เป็นขึ้น
กี่ร้อย กี่พันคนก็นอนหลับสบาย กี่คน ๆ ก็สงบนิ่ง
เมื่อสงบนิ่งแล้ว มีคนสักเท่าไร ก็ไม่รกหูรกตา
ไม่รำคาญไม่เดือดร้อน เป็นสุขสำราญเบิกบานใจเป็นนิจ
นี่เขาเรียกว่า ภาวนา ทำให้ใจหยุดสงบ

ในการบำเพ็ญภาวนา ความเพียรเป็นข้อสำคัญยิ่ง
ต้องทำเสมอ
ทำเนือง ๆ ในทุกอิริยาบถไม่ว่า นั่ง นอน เดิน ยืน และทำเรื่อยไป
อย่าหยุด อย่าละ อย่าทอดทิ้ง อย่าท้อแท้ มุ่งรุดหน้าเรื่อยไป
ผลจะเกิดวันหนึ่ง ไม่ต้องสงสัย
ผลเกิดอย่างไร ท่านรู้ได้ด้วยตัวของท่านเอง

ลัก...ยิ้ม 18-08-2010 10:28

คติธรรมคำสอนของหลวงปู่ทวด (ต่อ)


ธรรมารมณ์

การอยู่อย่างมีธรรมารมณ์ คือ การอยู่เหนือความรู้สึกทั้งปวง
อยู่อย่างรู้หน้าที่การเป็นคน และรู้หน้าที่ในการงาน คือ รู้ว่าสิ่งที่เราทำนั้น เป็นสิ่งที่เราต้องทำ
ไม่ใช่ทำเพื่อหวังผลตอบแทน เพราะถ้าเราทำงานเพื่อหวังผลตอบแทนต่าง ๆ แล้ว
ถ้าสิ่งต่าง ๆ ไม่สัมฤทธิ์ผลตามความหวังนั้น เราย่อมเกิดความโทมนัส เสียใจ น้อยใจ เป็นทุกข์



กรรม

ถ้าเรามีชีวิตอยู่อย่างที่ว่า
เกิดเพราะกรรม อยู่เพื่อกรรม ทำเพราะกรรม ตายเพราะกรรมแล้ว
ชีวิตการเป็นมนุษย์ย่อมมีความภิรมย์ มีความรื่นเริง



มารยาทของผู้เป็นใหญ่

ผู้ใหญ่ไม่ใช่อยู่ที่เกิดก่อน ผู้ดีไม่ใช่อยู่ที่เรียนสูง
มารยาทจรรยาของการเป็นผู้ใหญ่ ก็คือต้องสุขุมรอบคอบ และไม่ยึดติดเสียงเป็นหลัก
คือ ต้องไม่หวั่นไหวกับคำนินทาและสรรเสริญ

ลัก...ยิ้ม 18-08-2010 10:33

คติธรรมคำสอนของหลวงปู่ทวด (ต่อ)



โลกิยะ หรือ โลกุตระ

คนที่เดินทางโลกุตระ ย่อมไปดีทางโลกิยะไม่ได้
คนที่เดินทางโลกิยะ ย่อมสำเร็จทางโลกุตระได้ยาก เพราะอะไร ?
ถ้าคนหนึ่งสำเร็จได้ทั้งโลกิยะ และโลกุตระง่ายแล้ว
ทำไม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธโคดม ต้องสละราชบัลลังก์แห่งจักรพรรดิไปเป็นธรรมราชาเล่า ?

ถ้าเป็นไปได้ พระองค์เป็นมหาจักรพรรดิพร้อมทั้งธรรมราชา ไม่ดีหรือ ?
แต่มันเป็นไปไม่ได้ เพราะโลกของโลกิยะและโลกุตระเดินคู่ขนานกัน
เราต้องตัดสินใจ ต้องมีความเด็ดเดี่ยวและกล้าหาญในการที่จะเลือกทางใดทางหนึ่ง

ลัก...ยิ้ม 19-08-2010 08:10

คติธรรมคำสอนของหลวงปู่ทวด (ต่อ)


ศิษย์แท้

พิจารณากายในกาย พิจารณาธรรมในธรรม พิจารณาวิญญาณ ในวิญญาณ
นั่นแหละ คือ สานุศิษย์อันแท้จริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า



รู้ซึ้ง

ทุกอย่างจะต้องมีเหตุ เมื่อมีเหตุจึงจะมีผล ผลนั้นเกิดจากเหตุ
เราได้วินิจฉัยข้อนี้แล้ว เราจึงรู้ซึ้งถึงพุทธศาสนา



ใจสำคัญ

การทำบุญนั้น จะต้องทำด้วยจิตใจบริสุทธิ์
จะต้องทำด้วยความศรัทธา
ผลสะท้อนมันจะเกิดขึ้นเกินความคาดหมาย

ลัก...ยิ้ม 19-08-2010 14:43

คติธรรมคำสอนของหลวงปู่ทวด (ต่อ)




หยุดพิจารณา

คนเรานี้ ถ้าไม่มีอะไรทำอยู่ในที่วิเวกคนเดียว จิตมันจะฟุ้งซ่าน
และถ้าภาวะนั้น ตนไม่ปล่อยให้จิตฟุ้งซ่านไปเรื่อย ๆ คือ หยุดพิจารณา
แล้วค้นสัจจะของ ศีล สมาธิ ปัญญา ย่อมที่จะค้นหาสัจจะในธรรมะได้



บริจาค

ทำบุญสังฆทานเป็นจาคะ จาคะเป็นการบริจาคโภคทรัพย์ภายนอก
การสวดมนต์เป็นการภาวนา การภาวนาเป็นการบริจาคภายใน
เพราะฉะนั้น ถ้านับในด้านทิพย์อำนาจ
การบริจาคภายในย่อมได้กุศลมากกว่าการบริจาคภายนอก
นี่คือเรื่องของนามธรรม

ลัก...ยิ้ม 23-08-2010 13:05

คติธรรมคำสอนของหลวงปู่ทวด (ต่อ)



ทำด้วยใจสงบ

เราจะทำบุญก็ดี เราจะทำอะไรก็ดี จงทำด้วยความสงบ
อย่าทำด้วยอารมณ์แห่งความร้อน เพราะการทำด้วยอารมณ์ร้อนนั้น มันจะพาเราไปสู่หายนะ
เมื่อเกิดอารมณ์ร้อน เราจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จงอย่าทำ
นั่งให้จิตใจมันสบายเสียก่อน เมื่อจิตใจสบายแล้ว ปัญญาก็เกิด
เมื่อเกิดปัญญาแล้ว จะทำสิ่งใดก็เป็นไปโดยความสะดวก



มีสติพร้อม

จะทำสิ่งใดก็ตาม เราต้องมีสติพร้อม
คือ อย่าให้มีโทสะ อย่าให้อารมณ์เข้ามาควบคุมสติ
อย่าให้เรื่องส่วนตัวและขาดเหตุผล มาอยู่เหนือความจริง



เตือนมนุษย์

มนุษย์ผู้ใด เห็นแก่งานส่วนตัว มนุษย์ผู้นั้น จะไม่มีงานทำในไม่ช้า
มนุษย์ผู้ใด เห็นแก่ทรัพย์ส่วนตัว มนุษย์ผู้นั้น จะไม่มีทรัพย์ครองในไม่ช้า
มนุษย์ผู้ใด เห็นแก่นอนมาก มนุษย์ผู้นั้น จะไม่ได้นอนในไม่ช้า

ลัก...ยิ้ม 24-08-2010 10:31

คติธรรมคำสอนของหลวงปู่ทวด (ต่อ)


พิจารณาตัวเอง

คืนหนึ่งก็ดี วันหนึ่งก็ดี ควรให้มีเวลาว่างสัก ๕ นาที หรือ ๑๐ นาที ไม่ติดต่อกับใคร ?
ให้นั่งเฉย ๆ คิดถึงเหตุการณ์ที่เราทำไปแต่ละวัน ๆ ว่า ที่เราทำไปนั้นเป็นอย่างไร ?
คือให้ปลีกตัวมีเวลาเป็นของตัวเองบ้าง คิดเอาแต่เรื่องของตัว อย่าไปคิดเรื่องของคนอื่น
เพราะมนุษย์เราส่วนมากทุกวันนี้ มักเอาแต่เรื่องของคนอื่นมาคิด ไม่ค่อยคิดเรื่องของตัวเอง




หมายเหตุ...คัดลอกจากหนังสือ เรียนธรรมะบูชาพระสุปฏิปันโน ของหลวงปู่ทวด

ป้านุช 18-09-2010 11:46

คติธรรมคำสอนพระราชวุฒาจารย์(พระอตุโล ดูลย์)
วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์
คัดเป็นบางตอนมาจากหนังสืออตุโลไม่มีใดเทียม พ.ศ.๒๕๓๙
และทางวัดป่าดานวิเวก จังหวัดหนองคายได้รวบรวมไว้ในหนังสือหลักธรรมชุดศิลาจารึก พ.ศ.๒๕๔๙


จิตนี้คือพุทโธ จิตนี้คือธรรมเป็นสภาวะพิเศษที่ไม่ไปไม่มาเป็นความบริสุทธิ์ล้วน ๆ
จิตนี้เหนือความดีความชั่วทั้งปวงซึ่งไม่อาจจัดเป็นรูปหรือนามได้

จิตส่งออกไปเป็นสมุทัย
ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอกเป็นทุกข์
จิตเห็นจิตเป็นมรรค
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตเป็นนิโรธ

ไม่มีอะไรจะถึงและไม่มีอะไรจะไม่ถึง
ผู้ปฏิบัติธรรมต้องปฏิบัติถึงสิ่งที่ไม่มีและอยู่กับสิ่งที่ไม่มี
คนในโลกนี้ต้องมีสิ่งที่มีเพื่ออาศัยสิ่งนั้นเป็นอยู่
ในทางโลกมีสิ่งที่มี ส่วนในทางธรรมมีสิ่งที่ไม่มี

คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดคิดจึงได้รู้
แต่ต้องอาศัยความคิดเห็นนั้นแหละจึงรู้
ทุกข์ต้องกำหนดรู้ เมื่อรู้แล้วให้ละเสีย
ไปเก็บมันไว้ทำไม
การไม่กังวลการไม่ยึดนั่นแหละ
คือวิหารธรรมของนักปฏิบัติ


จิตนี้คือพุทธโยนิอันบริสุทธิ์ ซึ่งมีประจำอยู่แล้วในทุกคน
สัตว์ซึ่งมีความรู้สึกนึกคิดกระดุกกระดิกได้ทั้งหมดก็ดี
พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระโพธิสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงก็ดี
ล้วนแต่เป็นของแห่งธรรมชาติอันหนึ่งอันนี้เท่านั้นและไม่แตกต่างกันเลย
ความแตกต่างทั้งหลายเกิดจากเราคิดผิดเท่านั้น
ย่อมนำเราไปสู่การก่อสร้างกรรมทั้งหลายทั้งปวงทุกชนิดไม่มีหยุด


:875328cc::875328cc::875328cc:

ป้านุช 18-11-2010 04:49

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
จากบันทึกคติธรรมและธรรมเทศนา"หลวงปู่ฝากไว้"


จับกับวาง

นักศึกษาธรรมะหรือนักปฏิบัติธรรมะ มีสองประเภท

ประเภทหนึ่ง ศึกษาปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง

ประเภทสอง ศึกษาปฏิบัติเพื่อจะอวดภูมิกัน ถกเถียงกันไปวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น

ใครจำตำราหรืออ้างครูบาอาจารย์ได้มาก ก็ถือว่าตนเป็นคนสำคัญ
บางทีเข้าหาหลวงปู่ แทนที่จะถามธรรมะข้อปฏิบัติจากท่าน
ก็กลับพ่นความรู้ความจำของตนให้ท่านฟังอย่างวิจิตรพิสดารก็เคยมีไม่น้อย

แต่สำหรับหลวงปู่นั้นทนฟังได้เสมอ
เมื่อเขาจบลงแล้วยังช่วยต่อให้หน่อยหนึ่งว่า

“ผู้ใดหลงใหลในตำราและอาจารย์

ผู้นั้นไม่อาจพ้นทุกข์ได้

แต่ผู้ที่จะพ้นทุกข์ได้

ต้องอาศัยตำราและอาจารย์เหมือนกัน”

ป้านุช 18-11-2010 04:57

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
จากบันทึกคติธรรมและธรรมเทศนา"หลวงปู่ฝากไว้"


“ปัญญาภายนอกคือปัญญาสมมติ
ไม่ทำให้จิตแจ้งในพระนิพพานได้
ต้องอาศัยปัญญาอริยมรรค
จึงจะเข้าถึงพระนิพพานได้

ความรู้ของนักวิทยาศาสตร์เช่น ไอน์สไตน์
มีความรู้มาก มีความสามารถมาก
แยกปรมาณูที่เล็กที่สุด จนเข้าถึงมิติที่ ๔ แล้ว
แต่ไอน์สไตน์ไม่รู้จักพระนิพพาน
จึงเข้าพระนิพพานไม่ได้

จิตที่แจ้งในอริยมรรคเท่านั้น

จึงเป็นไปเพื่อการตรัสรู้จริง ตรัสรู้ยิ่ง ตรัสรู้พร้อม

เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ เป็นไปเพื่อนิพพาน
"

ป้านุช 04-04-2011 21:06

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
จากบันทึกคติธรรมและธรรมเทศนา"หลวงปู่ฝากไว้"


เมื่อจิตกระทบเข้ากับอารมณ์ภายนอกอย่างไร ก็ให้หยุดอยู่แค่นั้น
อย่าไปทะเลาะวิวาทโต้แย้ง
อย่าไปเอออวยเห็นดีเห็นงามให้จิตได้โอกาส
ก่อรูปก่อร่างเป็นตุเป็นตะเป็นเรื่องเป็นราวยืดยาวออกไป
อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ต่อไป อย่าไปใส่ใจอีกต่อไป
พอกันเพียงรู้อารมณ์เท่านี้เอง หยุดกันเพียงเท่านี้

ป้านุช 04-04-2011 21:09

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
จากบันทึกคติธรรมและธรรมเทศนา"หลวงปู่ฝากไว้"


การปฏิบัติทั้งหลายที่เราพยายามปฏิบัติมา
ก็เพื่อจะใช้ในเวลานี้เท่านั้น

เมื่อถึงเวลาที่จะตาย
ให้ทำจิตให้เป็นหนึ่ง
แล้วหยุดเพ่งปล่อยวางทั้งหมด

(หมายถึงออกจากฌานและดับพร้อม)

ป้านุช 09-04-2011 17:29

ธรรมะหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ
วัดสะแก จ.พระนครศรีอยุธยา


...ศีล สมาธิ ปัญญา ก็เหมือนรสแกงส้ม...

...ศีล เปรียบได้กับรสเปรี้ยว ความเปรี้ยวทำหน้าที่กัดกร่อนความสกปรกออก...

...ทำนองเดียวกัน ศีลจะช่วยขัดเกลาความหยาบออกจากทางกาย วาจา ใจ...

...สมาธิ เปรียบได้กับรสเค็ม เพราะความเค็มช่วยรักษาอาหารต่าง ๆ ไม่ให้เน่าเสีย...

...สมาธิก็เหมือนกัน สามารถรักษาจิตของเราให้ตั้งมั่นอยู่ในคุณงามความดีได้...

...ปัญญา เปรียบได้กับรสเผ็ด เพราะปัญญามีความคิดอ่าน...

...ตริตรอง...โลดแล่นไป เพื่อขจัดอวิชชาความหลง...

ป้านุช 15-05-2012 01:11



หลวงปู่บุดดา ถาวโร

“กรรมใครกรรมมันนะอย่าลืม
ใครเขาอยากจะตีให้เขาตีไป
เราหลบได้เราหลบ หลบอยู่ในธรรม”

ธรรมะของพระพุทธเจ้า ไม่มีตัวมีตน หลบพ้นนะลูก
ถ้าหลบไม่พ้นก็ให้รับอย่างพระโมคคัลลานะ
รับอย่างคนฉลาด อย่ารับอย่างโง่ ๆ
รับแล้วไปนิพพาน คือ รับด้วยจิตผ่องใสบริสุทธิ์
ไม่ใช่รับด้วยความขัดข้องหมองใจ
จิตไม่บริสุทธิ์ การไปของจิตก็บริสุทธิ์ไม่ได้
อย่ารับอย่างคนโง่เพราะมีอบายภูมิ ๔ เป็นที่ไป

ป้านุช 17-05-2012 00:28

1 Attachment(s)
ธรรมะหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ
วัดสะแก จ.พระนครศรีอยุธยา

http://www.watthakhanun.com/webboard...1&d=1337189684

ป้านุช 18-05-2012 00:30

หลวงปู่บุดดา ถาวโร

มีหนังแผ่นเดียว มีจิตดวงเดียวเท่านั้น
ก็หนังแผ่นเดียวมันหุ้มอยู่ทั้งหมดกับทะลุ ๙ ช่อง
นะวะทะวารัง ทะลุทางตา ๒ หู ๒ จมูก ๒ ปาก ทวารหนัก ทวารเบา

หนังแผ่นเดียวนี้ก็ไม่มีเจ้าของ
นามรูปไม่มีเจ้าของ ใช้ได้แล้วเข้าทางแล้ว
รูปฌานเป็นเจ้าของไม่ได้ อรูปฌานก็เป็นเจ้าของไม่ได้

จับก็จับไปสิ จับแต่หนัง ไม่ได้จับตัว ตัวมีที่ไหนล่ะ
พออริยมรรค ๔ อริยผล ๔ ทำงาน พอ หมดแล้วไม่มีเจ้าของแล้ว

หนังแผ่นเดียวมันรักษาง่าย อยู่ในท้องก็มีเท่านี้แหละ
ออกจากท้องมาแล้วก็มีเท่านี้แหละ
หมดไป ๑๐๐ ชั่วโมง ๑๐๐ วัน ก็มีหนังแผ่นเดียวเท่านี้แหละ
ตื่นขึ้นมาก็มีหนังแผ่นเดียว จะดับไปก็หนังแผ่นเดียว

จะมาเกิดอีกก็มีแค่หนังแผ่นเดียวเท่านี้
ยังไม่เชื่อกัน ไม่เชื่อธรรมะก็ตามใจสิ

อยากดูหนังก็ให้ดูหนังเรา มีให้ดูตลอดเวลา ดูตามนี้ธรรมะดีขึ้น
หนังมันดีลง จะไปติดอะไรกับหนัง จะไปเสียดายอะไรกับหนัง
แค่กระดาษห่อขนมปังเท่านั้นเอง
คนรู้นะ เขาทิ้งกระดาษห่อขนมปังทั้งนั้น

พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ท่านรู้อย่างนี้
ท่านไม่หลงไม่ลืม แล้วเราจะอวดดีไปหลงไปลืมทำไม

ป้านุช 25-05-2012 19:10

ธมฺมวิตกฺโก ภิกฺขุ
เจ้าคุณนรรัตน์ ราชมานิต


"วิธีจัดการกับอารมณ์ร้าย"


...อารมณ์ร้าย คือ ความกลัว ความกังวลกลุ้มใจ ความร้อนใจ ความห่วงใจ ความเกลียด ความโกรธ ความหึงหวง ความริษยา ใจคอเหี่ยวแห้ง ความโศก ความตื่นเต้น ความเสียใจ โทมนัส ความบ่นเพ้อรำพันด้วยเสียใจ โหยหวน โศกเศร้า คร่ำครวญถึง มืดมน ความเสียใจ ตรอมใจ

เมื่ออารมณ์ร้ายเหล่านี้เกิดขึ้นในใจ จงหายใจเข้าให้ลึก ๆ สร้างมโนภาพสูดเอากำลังงานของชีวิตที่อยู่ในสากลโลก (The universal supply of life energy) อำนาจ ความเข้มแข็งและกำลังเข้าไป

เมื่อหายใจออกจงนึกขับอารมณ์ร้ายเหล่านี้ออกมา และเพ่งกล่าวในใจว่า

"ออกไป ออกไป ออกไป"


พร้อมกับทำความรู้สึกว่า อารมณ์ร้ายเหล่านี้ออกไปจากใจแล้ว ปฏิบัติอย่างนี้จนกว่าอารมณ์นั้นจะจางหายไป

ถ้าไม่หายอย่าเพิ่งเลิก หรืออีกอย่างหนึ่ง เพ่งดูอารมณ์ร้ายเหล่านั้นที่เกิดขึ้น แยกใจออก เหมือนกับดวงจันทร์แยกออกจากเมฆ

อารมณ์ร้ายเหล่านี้เป็นเมฆหมอกจะมาบังใจ ตามปกติไม่ได้อยู่ที่ใจ มันจรมาเป็นครั้งคราว เหมือนมารมาผจญหรือลองใจว่า เราจะเข้มแข็งหรือไม่ ถ้าเรามีกำลังต่อต้านพอ ค่อย ๆ จางไปทีละน้อย ๆ จนมันหลบหน้าหายไป

ในทางตรงกันข้าม ถ้ากำลังใจต่อต้านไม่พอ มันก็กำเริบได้ใจ ผจญเราล่มจมป่นปี้ไปเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเวลามันเกิดขึ้น ให้มีสติระลึกว่า เวลานี้เจ้าอารมณ์ร้ายเหล่านั้นเกิดขึ้นแก่เราแล้ว วางใจเฉยเพ่งดู ต่อต้าน อย่างสงบ นึกในใจว่า

"ปล่อยมันไป อย่ายึดมันไว้ สักประเดี๋ยวมันก็ค่อย ๆ จางหายไป"

อารมณ์ร้ายเหล่านี้อ่อนแอ เหมือนเมฆในท้องฟ้า สู้กำลังที่เข้มแข็งไม่ได้เว้นไว้แต่เราจะชอบมัน แล้วเลี้ยงมันไว้เป็นมิตรสหายสนิทกับใจ มันก็จะทำลายใจเราทีละน้อย ๆ เหมือนสนิมกัดเหล็กให้กร่อนไปทีละน้อย

เพราะฉะนั้นอย่าประมาท จงระวังให้มากอย่างที่สุด จงอย่าสมาคมกับอารมณ์เหล่านี้เป็นอันขาด

ในทางตรงกันข้าม ถ้าอารมณ์ดีมีประโยชน์ ที่ให้เกิดความกล้าหาญบากบั่น วิริยะ อุตสาหะ เข้มแข็ง อดทนก้าวหน้า เหล่านี้ควรรักษาไว้ และบำรุงให้เจริญ วัฒนาถาวรยิ่ง ๆ ขึ้น เหมือนกับดวงจันทร์ที่ปราศจากเมฆหมอกฉะนั้น...

ป้านุช 30-05-2012 14:54

https://fbcdn-sphotos-a.akamaihd.net...63440813_n.jpg

‎"ความสกปรกใดก็ตามในโลกนี้
เช่น ขี้ตมขี้โคลน สิ่งสกปรกโสมมต่าง ๆ
ที่โลกไม่พึงปรารถนากันเหล่านั้น
ก็ไม่เหมือนใจที่สกปรก
เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ก่อความเดือดร้อน
และเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
ให้ได้รับความพินาศฉิบหายเหมือนใจที่สกปรก"


หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน

ป้านุช 21-06-2012 11:53

เขานินทาเรา ด่าเรา เขาแย่งของเราไป
เราไม่พอใจ เรากำลังจะโกรธเขา ต้องรีบแก้ไขทันที

"เขา" ไม่สำคัญ สำคัญที่ใจเรากำลังจะเป็นทุกข์
เรากำลังจะผิดศีล กำลังจะผิดข้อวัตรของเรา
ระวังนะ... ถ้าเราเป็นทุกข์ เราก็ผิดข้อวัตรของเราแล้ว
...
ผิดศีล เราก็บาปแล้ว เราต้องมี หิริ โอตตัปปะ
ละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป
ถ้าเราเป็นทุกข์ เราผิดศีล เราก็บาป

ใครเขานินทาเรา ก็ไม่สำคัญ
เขาทำอะไร ๆ เรา ก็ไม่สำคัญ
สำคัญที่ใจเราอย่าเป็นทุกข์เท่านั้นก็พอแล้ว

ไม่ต้องดูใคร ไม่ต้องฟังใคร
ดูกายกับใจของเรานี่แหละ
เราต้องเป็นที่พึ่งของเราเอง
อัตตา หิ อัตตโน นาโถ นะ

เราขึ้นอยู่กับคำพูดหรือการกระทำของคนอื่นไม่ได้หรอก
ระวังนะ… คนโน้นคนนี้ก็ไม่สำคัญหรอก
สำคัญที่จิตของเรานี่แหละ
ใครทุกข์ก็ไม่ต้องทุกข์ตามเขา
ไม่ต้องโต้ตอบ ไม่ต้องชี้แจง ไม่ต้องกลัว

สำคัญที่ใจเราอย่าเป็นทุกข์นะ
ถ้าเราทุกข์เราผิดแล้วนะ ไม่ใช่เขาผิดหรอก
ต้องรีบพิจารณาแก้ไขทันที


พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

ป้านุช 03-07-2012 08:13

หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร
วัดถ้ำผาบิ้ง จ.เลย



ทุกวันนี้กัมมัฏฐานขุนนางเยอะ เป็นอย่างไรขุนนาง ก็หรูหรามากเหลือเกิน
ขุนนางหมายความว่าอย่างไร เดินธุดงค์ขึ้นรถแล้วนั่น เดินธุดงค์ขึ้นเรือบินแล้วนั่น
แต่ก่อนนะ ไม่ได้ทีเดียว แบกกลดขึ้นภูเขา ลงภูเขา แหมเหนื่อยมากเหลือเกินนะ
แต่ก่อนนะ อาหารการกินก็ไม่สมบูรณ์เหมือนทุกวันนี้นะ กินพริกกินเกลือไปแล้วมื้อแล้ววันไป
หิวมาก หิวมากเทียวเวลาเย็นนะนั่น เดี๋ยวนี้อะไร ป้อนอาหารใหญ่โตหรูหรามากเลี้ยงกิเลสนะ
มันจะมีความรู้ความฉลาดอะไรได้นะ แล้วขึ้นเรือบินด้วย แล้วขึ้นรถขึ้นราด้วย

กัมมัฏฐานขุนนางทุกวันนี้นะ “ลาภเกิดก่อนธรรม”
ลาภมันเกิดก่อนนะ เมื่อเกิดก่อนซะแล้วมันยกจิตไม่ขึ้นทีเดียวนั่น
มันหันไปทุกอย่างเชียว อันนี้นะ ลาภมันเกิดขึ้นก่อน มันถ่วงหัวทุบหาง
มันยกจิตไม่ขึ้นนะ นั่น มันติดลาภติดยศอยู่ เหตุนั้น ให้พากันภาวนา ให้ยิ่ง ให้ยิ่งทีเดียว

ป้านุช 18-08-2012 10:40

https://fbcdn-sphotos-g-a.akamaihd.n...47821360_n.jpg

พ่อขอให้ข้อคิดไว้นิดหนึ่งว่า เมื่อทำได้ขนาดไหนก็ตาม
จงอย่าคิดว่าเราดีหรือเราเก่ง ถ้ายังไม่ตายเข้านิพพานเพียงใด
คำว่าดีหรือเก่งยังไม่มีกับเราแน่
เพราะยังมีร่างกายเป็นตัวทรมานเราอยู่
ยังมีหนาว ร้อน ป่วย กระทบกับอารมณ์ที่ไม่พึงใจเป็นต้น
จึงชื่อว่าดีหรือเก่งไม่ได้
จงพิสูจน์ที่อยู่เมื่อตายแล้วให้แน่นอนว่า
บุญที่เราทำนี้เมื่อตายแล้วจะส่งผลให้ไปอยู่ที่ไหน
ถ้ายังไม่เป็นที่พอใจ ก็ถามพระท่านว่า
เราต้องการนิพพานทำอย่างไรจึงจะถึง ท่านบอกอย่างไรปฏิบัติตามอย่างนั้น
แล้วในที่สุดก็จะมีความปรารถนาสมหวังตามที่ต้องการทุกประการ

ขอลูกรักจงรักษากายไว้ด้วยดี
อย่าเอากายไปฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม
และจงรักษาวาจาไว้ให้ดี อย่าพูดปดมดเท็จที่ไม่ตรงความจริง
อย่าพูดคำหยาบหรือด่าคนอื่น
อย่าใช้วาจาเป็นเครื่องทำลายสามัคคี คือยุให้คนแตกร้าวกัน อย่าใช้วาจาเหลวไหลไร้ประโยชน์

ด้านใจ จงรักษาใจไว้ด้วยดี คือไม่อยากได้ของของใครที่เขาไม่เต็มใจให้
ไม่โกรธแค้นอาฆาตพยาบาทใคร ไม่เมาใจจนเห็นผิด คิดว่าตัวเป็นคนประเสริฐ
อารมณ์เท่านี้เป็นพื้นฐานที่จะให้เข้าถึงพระนิพพาน
เมื่อรักษากายใจได้ดังนี้แล้ว ต่อไปใจจะสะอาดขึ้นทีละน้อย ๆ จนไม่ต้องระวังทั้งกาย วาจา ใจ
จะทรงไว้แต่ความดีอย่างเดียว ในที่สุดก็ถึงนิพพาน


อ้างอิง จากหนังสือโอวาทหลวงพ่อวัดท่าซุง เล่ม ๒ หน้า ๓

ป้านุช 18-08-2012 10:51

https://fbcdn-sphotos-a-a.akamaihd.n...48177221_n.jpg

ทุกข์

“เคยทุกข์แทบจะตายไหม” ท่านอาจารย์ถาม
ถ้าทุกข์หรือหดหู่ ให้รู้อยู่ว่าทุกข์หรือหดหู่ ไม่ต้องปรุงแต่ง
ให้อดทนเพ่งความทุกข์ความหดหู่ใจอยู่อย่างนั้น
ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย
ประคับประคองจิต ไม่ให้เอียงไปทางซ้าย
ไม่ให้เอียงไปทางขวา ทำใจให้เป็นกลาง ๆ
กำหนดรู้อยู่อย่างนั้น นั่งก็รู้ เดินก็รู้
กำหนดไป กำหนดไป ก็จะรู้ชัดขึ้น ๆ
จะเห็นเป็นความว่างต่างหาก

เห็นว่าความทุกข์ก็ดี ความหดหู่ก็ดี
เป็นสักแต่ว่าความรู้สึกเท่านั้น
ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
เป็นเพียงอุปาทานเท่านั้น
อุปาทานว่าเราหดหู่ อุปาทานว่าเราทุกข์นั่นแหละ
จริง ๆ แล้วมันก็เปลี่ยนแปลงได้ และจะเปลี่ยนไปเอง
เมื่อมีอารมณ์ใหม่เข้ามาแทนที่
เพราะมันเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เราทุกข์ เราหดหู่ เพราะอุปาทาน ความยึดมั่นนั่นแหละ

อาศัยความอดทน อดกลั้น ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์วิปัสสนา
เพ่งพิจารณาความไม่เที่ยง ไม่แน่นอน
แล้วความรู้สึกทุกข์ ความรู้สึกหดหู่ใจก็จะเปลี่ยนไปเอง
เพราะ สัพเพ ธัมมา อนัตตา
ธรรมทั้งปวง ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
แล้วเราจะรู้ชัดขึ้น ๆ
ความหดหู่เป็นอาคันตุกะ
เขามาเยี่ยมเฉย ๆ แล้วก็ไป ไปแล้วก็มาใหม่
ถ้าเราหยุด วางเฉย เขาก็อยู่ไม่ได้
อย่าเพลิดเพลินกับการตามอารมณ์นะ

แขกมาหา จะไล่เขาไปก็ไม่ได้ เดี๋ยวเขาจะโกรธเอา
ต้อนรับก็ไม่ได้ เขาจะอยู่เลย
เราเฉยเสีย เขาก็จะไปเอง
เพราะเขาเป็นอาคันตุกะ ไม่ใช่ผู้อยู่ประจำ
ถ้าเขามาก็รู้ว่า อ้อ เขามาแล้ว กำหนดรู้ แล้วก็เฉย
ทำใจให้เป็นอุเบกขา ทำใจให้เป็นกลาง ๆ
ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ไม่ตกใจ ไม่กลัว ไม่รังเกียจ
เอาก็ไม่ใช่ ไม่เอาก็ไม่ใช่
กำหนดรู้ไปเรื่อย ๆ
จุดหมาย คือความไม่มีทุกข์ และจิตที่สงบ สะอาด สว่าง

ให้เอาทุกข์เป็นอาจารย์
อย่ารังเกียจทุกข์นะ อย่าหนีทุกข์นะ อย่ากลัวทุกข์
ทุกข์นั่นแหละเตือนเราไม่ให้ประมาท
ให้เกิดปัญญา ให้รู้ ให้เห็น ตามความเป็นจริง ให้เห็นสัจธรรม
ยิ่งทุกข์มากยิ่งดี เมื่อผ่านไปได้ ต่อไปก็ไม่ต้องกลัวอะไร
ต้องอดทนต่อสู้ ด้วยจิตใจที่กล้าหาญ
ทุกข์ที่ไหน กำหนดดูที่นั่น
ทุกข์เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ ต้องตามรู้ ตามศึกษา
ค้นหาดูทุกข์

ตัณหา อุปาทาน นี่แหละ ทำให้เป็นทุกข์
ตัณหา อุปาทาน นี่แหละ ปิดบังไม่ให้เห็นทุกข์
เป็นทุกข์ แต่ไม่เห็นทุกข์
เราจึงต้องทำจิตใจให้เข้มแข็ง มุ่งหน้าเข้าไป (พิสูจน์) ดู
จึงจะเห็นทุกข์ เมื่อเห็นแล้วก็จะรู้แจ้ง
เกิดญาณทัสสนะ ทั้งรู้ ทั้งเห็น ตามความเป็นจริงว่า

ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น
ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่
ทุกข์เท่านั้นดับไป
นอกจากทุกข์แล้ว ไม่มีอะไรเกิด
นอกจากทุกข์แล้ว ไม่มีอะไรดับ



พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

ป้านุช 20-08-2012 01:16

https://fbcdn-sphotos-h-a.akamaihd.n...06752356_n.jpg

ในการบำเพ็ญภาวนา ความเพียรเป็นข้อสำคัญยิ่ง
ต้องทำเสมอ ทำเนือง ๆ ในทุกอิริยาบถ
ไม่ว่า นั่ง นอน เดิน ยืน และทำเรื่อยไป
อย่าหยุด อย่าละ อย่าทอดทิ้ง อย่าท้อแท้
มุ่งรุดหน้าเรื่อยไป ผลจะเกิดวันหนึ่ง
ไม่ต้องสงสัย ผลเกิดอย่างไร
ท่านรู้ได้ด้วยตัวของท่านเอง


พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ

ป้านุช 20-08-2012 21:58

https://fbcdn-sphotos-a.akamaihd.net...83431739_n.jpg

ธรรมโอวาท หลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

วางร่างกายและมีพระนิพพานเป็นอารมณ์
ทำได้อย่างนี้ถึงพระนิพพานแน่นอน


ให้พิจารณาว่า
ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
เราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา
โดยให้พิจารณาเป็นปกติ เมื่อเห็นว่าขันธ์ ๕ ป่วย
ก็รักษาเพื่อให้ทรงอยู่ แต่เมื่อมันจะพังก็ไม่ตกใจ
หรือมันเริ่มป่วยไข้ ก็คิดว่าธรรมดามันต้องเป็นอย่างนี้
เราจะรักษาเพื่อให้ทรงอยู่
ถ้าทรงอยู่ได้ก็จะอาศัยเพื่องานกุศลต่อไป
ถ้าเอาไว้ไม่ได้มันจะผุพัง ก็ไม่มีอะไรหนักใจ
ความทุกข์จะเกิดแก่ตัวเองหรือใคร
อะไรก็ตาม ไม่ผูกจิตติดใจอย่างนี้
จนกระทั่งบรรลุอรหัตผล

ถ้าเราต้องการนิพพาน เราก็วางขันธ์ ๕ คือร่างกาย
เห็นว่าร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา
จนกระทั่งเราไม่ยึดถือในร่างกาย
และทรัพย์สมบัติภายนอกว่ามันเป็นเรา เป็นของเรา
ทุกสิ่งทุกอย่างถือว่าเป็นกฎธรรมดา
โลกทั้งโลกเราเห็นว่าเป็นความทุกข์
เราไม่ปรารถนาความเกิดอีก มีใจชุ่มชื่น
มีอารมณ์เบิกบาน มีจิตจับเฉพาะพระนิพพานเป็นอารมณ์
อย่างนี้เราก็ถึงพระนิพพาน

ป้านุช 23-08-2012 02:25

https://fbcdn-sphotos-h-a.akamaihd.n...33976015_n.jpg

"บาปลบล้างไม่ได้ แต่หนีได้"
ธรรมโอวาทหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง

คนเราเกิดมาในโลก ที่ไม่ทำความชั่วเลยน่ะไม่มี
ถ้าเราจะชดใช้บาปมันก็ชดใช้กันไม่ไหว
มีทางเดียวในกิจของพระพุทธศาสนาคือหนีบาป

การภาวนาให้จิตทรงตัว
การคิดถึงคุณพระรัตนตรัย
พยายามรวบรวมบารมี ๑๐ ประการไว้ให้ครบถ้วน
พยายามตัดสังโยชน์ ๑๐ ประการให้หมด
จรณะ ๑๕ ปฏิบัติให้ครบถ้วน
มีพรหมวิหาร ๔ ให้ครบถ้วน
ทรงศีลให้บริสุทธิ์
มีอิทธิบาท ๔ ทรงตัว

เมื่อมีการทรงตัวดังกล่าวมาแล้วนี้
ลูกรักของพ่อจะไม่ต้องเกิดอีกต่อไป


ที่มา : FB ศูนย์พุทธศรัทธา

ป้านุช 23-08-2012 08:58


https://fbcdn-sphotos-f-a.akamaihd.n...68844060_n.jpg

คนที่มุ่งประโยชน์เฉพาะตนเท่านั้น ไม่เกื้อกูลใคร
เป็นจำพวกเห็นแก่ตนโดยส่วนเดียว เป็นคนคับแคบ ไม่ประพฤติการเป็นคุณประโยชน์แก่ใคร
อาจเจริญด้วยประโยชน์ปัจจุบัน มีทรัพย์เฉพาะตน
แต่เป็นคนไม่มีประโยชน์แก่คนอื่นหรือแก่หมู่คณะ
เรียกว่าเป็นคนมีความคิดแคบสั้น

เพราะหลักของการอยู่ร่วมกัน เมื่อคนอื่นพากันเป็นทุกข์เดือดร้อน จะเป็นสุขอยู่ได้อย่างไร
ฉะนั้น คนฉลาดจึงมีความคิดยาวและกว้างออกไป
เมื่อตนเองได้ประโยชน์มีความสุข ความเจริญ
ก็ทำการที่เป็นประโยชน์ แผ่ความสุขให้แก่ผู้อื่นตามที่เกี่ยวข้องและตามสามารถ
อันจะเป็นประโยชน์ในภายหน้า


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

ป้านุช 23-08-2012 09:10

https://fbcdn-sphotos-f-a.akamaihd.n...40589392_n.jpg

บางคนปฏิบัติธรรมะ แต่ไม่เห็นธรรมะ
บางคนรู้ธรรมะ เรียนธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ ก็ยังไม่เห็นธรรมะ
เพราะไปติดอยู่กับตำรับตำรา
ความจริงสิ่งที่เป็นรูปก็เป็นธรรมะ สิ่งที่เป็นนามก็เป็นธรรมะ
เราอยู่กับธรรมะคือ อยู่ในธรรม มันเป็นธรรม
ตัวของเราจริง ๆ ที่ไหนมันก็ไม่มี มันเป็นธรรมะ
สภาพธรรมมันก็เกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไป เกิดแล้วมันก็ดับไป
สภาวธรรมเป็นอยู่อย่างนั้น มีความเกิดแล้วมีความดับ
เราก็มีความเกิดดับอยู่ทุกขณะเดี๋ยวนี้
มันเป็นอยู่อย่างนี้ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
จึงชื่อว่าเห็นธรรมะ


หลวงปู่ชา สุภทฺโท
วัดหนองป่าพง

ป้านุช 27-08-2012 00:35


https://fbcdn-sphotos-h-a.akamaihd.n...13310686_n.jpg

เมื่อภาวนาและเกิดนิมิตผุดขึ้นมาในดวงจิต อย่าได้ตื่นเต้นคิดว่าตนเองเป็นผู้วิเศษ
ให้มีสติคุมรู้เท่าทันและพิจารณาด้วยหลัก ๒ ประการ คือ

๑.ไตรลักษณ์ ได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ทุกอย่างไม่เที่ยง ทุกสิ่งเป็นทุกข์ ทุกสิ่งไม่ใช่ตัวตน

๒.อริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
พิจารณาเหตุให้เกิดทุกข์ ธรรมเป็นเครื่องดับทุกข์
และข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์

“สิ่งที่จริงก็รู้เอง สิ่งที่ไม่จริงก็แยกแยะได้”


พระเทพวิสุทธิญาณ (หลวงพ่อไพบูลย์ สุมงฺคโล)
วัดอนาลโยทิพยาราม (ดอยบุษราคัม) จ.พะเยา

ป้านุช 27-08-2012 00:53

https://fbcdn-sphotos-b-a.akamaihd.n...91049872_n.jpg

ปฏิบัติธรรมแล้ว ถ้ารู้สึกเบื่อครอบครัว เบื่อโลก

“ปฏิบัติธรรมแล้ว ถ้ารู้สึกเบื่อครอบครัว เบื่อโลก เบื่อสงสาร อย่าไปเชื่อความรู้สึกของตัวเอง
ถ้ามันเบื่อ ดูไปจนมันหายเบื่อ แต่ถ้าหากพอปฏิบัติธรรม ได้ธรรมเห็นธรรมแล้วนี่
มันทำให้รู้สึกเคารพบูชาพ่อแม่ปู่ย่าตายาย เมตตาสงสารครอบครัว

แล้วความรักระหว่างครอบครัวเรานี่ ทีแรกเรารักด้วยกิเลสตัณหา
แต่มาภายหลังจะเหลือแต่ความเมตตาปราณี
แล้วเราจะทอดทิ้งซึ่งกันและกันไม่ได้
ยิ่งปฏิบัติไปเท่าไหร่ ความเมตตาปราณีมันก็ยิ่งเพิ่มขึ้น
เราจะอยู่ด้วยกันโดยไม่มีความหมายใด ๆ ทั้งสิ้น
เกี่ยวกับทางเรื่องของกิเลส
เราจะมีอะไรต่อกันหรือไม่มีอะไรต่อกัน
เราจะอยู่กันได้อย่างสบาย

เพราะความรักและความเมตตาปราณีนี้เป็นความรักที่บริสุทธิ์สะอาด
ถ้าความรู้สึกอันนี้เกิดขึ้นในบรรดาพ่อแม่พี่น้องทั้งหลายแล้ว สันนิษฐานได้ว่าเราปฏิบัติธรรมได้ผล“



หลวงพ่อพุธ ฐานิโย


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 15:06


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว