กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ในวาระสำคัญต่าง ๆ (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=40)
-   -   ปกิณกธรรมสัปดาห์วันแม่ วันอาทิตย์ที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๖ - ช่วงเช้า (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=9691)

พิชวัฒน์ 17-08-2023 18:16

ปกิณกธรรมสัปดาห์วันแม่ วันอาทิตย์ที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๖ - ช่วงเช้า
 
ปกิณกธรรมสัปดาห์วันแม่ วันอาทิตย์ที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๖ - ช่วงเช้า



เถรี 23-08-2023 01:11

สรุปว่ามาไม่ทันกันใช่ไหม ? ของพระยังต้องไปล้างบาตร ไปพับจีวร แต่ของโยมใส่ติดตัวอยู่แท้ ๆ ทำไมถึงช้ากันนัก..? เคยบอกหลายครั้งแล้วว่า เครื่องวัดความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมของเราอย่างหนึ่งก็คือ ยิ่งปฏิบัติไปก็ยิ่งทำอะไรได้เร็วขึ้น และผิดพลาดน้อยลง เนื่องเพราะว่าสติ สมาธิจดจ่ออยู่ตรงหน้า จากงานหนึ่งไปอีกงานหนึ่ง ต่อเนื่องตามกัน โดยที่เสียเวลาน้อยที่สุด

ดังนั้น..ถ้าหากว่าใครปฏิบัติธรรมแล้วทำอะไรยิ่งช้าลงไปเรื่อย ขอให้รู้ว่าทำผิดทาง เนื่องเพราะว่าสติที่ได้รับการขัดเกลาฝึกฝน จะมีความแหลมคมว่องไวขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถที่จะเท่าทันกับกิเลสได้

พวกเราทั้งหมดไม่ทันรู้ตัวว่ากิเลสเกิดจากอะไร มารู้ตัวก็ตอนที่ รัก โลภ โกรธ หลง กำลังกินเราแล้ว แต่ถ้าหากว่า สติ สมาธิ ปัญญา ของเราทรงตัว เราจะรู้แม้กระทั่งว่าคิดอะไรแล้วกิเลสจะกินเราได้ ก็จะตัดทิ้งตั้งแต่ความคิด ถ้าจะคิดก็คิดในเรื่องที่ทำให้ธรรมะในใจของเราเจริญขึ้น อย่างเช่นคิดในอนุสติ ๑๐ ประการ มีคิดถึงพระพุทธเจ้า คิดถึงพระธรรม คิดถึงพระสงฆ์ เป็นต้น

สิ่งหนึ่งประการใดที่คิดแล้วรู้ตัวว่าจะทำให้เกิดกิเลสเราก็จะตัดทิ้งไปจากใจ กิเลสจึงไม่สามารถที่จะกินใจเราได้ ยิ่งรู้จักระมัดระวัง ก็สามารถรักษาระยะเวลาที่จิตใจผ่องใสจากกิเลสได้มากขึ้นไปเรื่อย ๆ

แต่ด้วยความที่เราปฏิบัติธรรมกันแบบที่อาตมภาพเรียกว่า "ทำแก้บน" ก็คือสักแต่ว่าทำ ๆ ไปเท่านั้น ตั้งความหวังไว้สูงว่าจะเก็บเงินล้านให้ได้ในปีนี้ แต่ทำงานวันละชั่วโมง ก็น่าจะเก็บได้อยู่หรอก..!

ลักษณะของการปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน อยากเก่งต้องขยัน วันหนึ่งมี ๒๔ ชั่วโมง ถ้าปฏิบัติได้ ๒๕ ชั่วโมงจะดีมาก..! เพราะว่าต่อให้ปฏิบัติได้เต็ม ๒๔ ชั่วโมง ก็ยังไม่แน่ว่าเราจะสามารถชนะกิเลสได้ แค่พาตัวเข้ามาในที่ปฏิบัติธรรมให้ตรงเวลาเราก็ทำไม่ได้แล้ว ก็มองเห็นอนาคตได้อย่างชัดเจนแล้วว่า สิ่งที่เราทำนั้นจะมีผลต่อเรามากน้อยเท่าไร ?

เถรี 23-08-2023 01:14

ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น "เราทำ เราได้" คนอื่นทำแทนไม่ได้ ต่อให้เป็นแฟนก็ทำแทนไม่ได้..! ความดีความชั่วเป็นของจำเพาะตน โดยเฉพาะในส่วนของความดี อาจจะมีการฝากคนอื่นทำบุญได้ แต่อย่าลืมว่านั่นเป็นแค่ทานที่เป็นเบื้องต้นเท่านั้น เราฝากใครรักษาศีลแทนเราไม่ได้ ฝากใครปฏิบัติภาวนาแทนเราไม่ได้

บาลีกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า สุทธิ อสุทธิ ปัจจัตตัง นาญโญ อัญญัง วิโสธเย ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์เป็นของจำเพาะตน บุคคลหนึ่งจะทำอีกบุคคลหนึ่งให้บริสุทธิ์หาได้ไม่ ศัพท์โบราณแปลว่าไม่ได้นั่นแหละ จำไว้นะว่า "ไม่ได้" ไม่ใช่ "ไม่มี" สมัยนี้เวลาที่หาของไม่ได้ดันบอกว่า "หาไม่มี"..น่าเกลียดจริง ๆ..!

แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ยังตรัสว่า อักขาตาโร ตถาคตา แม้แต่ตถาคตเองก็เป็นได้เพียงผู้บอกเท่านั้น เราจะไปหวังว่าจะให้ครูบาอาจารย์เสกเราครั้งเดียว กลายเป็นพระอริยเจ้าเลย..เป็นไปไม่ได้เด็ดขาด..!

สมัยนี้มีการอาบแสงทิพย์อริยธรรม เลื่อนมรรคเลื่อนผลตัวเอง..นั่นมันบ้า..! ถ้าทำอย่างนั้นได้ พระพุทธเจ้าพาเราไปหมดแล้ว ถ้ายังมีคนเก่งกว่าพระพุทธเจ้า เราก็ยกให้เขาไปเถิด แล้วรีบเดินห่าง ๆ ไปอีกทางหนึ่งจะปลอดภัยกว่า..!

สมัยนี้เป็นยุคสมัยของการคลั่งพระอรหันต์ แต่เป็นพระอรหันต์ที่ลูกศิษย์ตั้ง ก็คือท่านนั้นเป็นพระอรหันต์ ท่านนี้เป็นพระอรหันต์ แต่ไอ้คนพูดยังไม่ได้อะไรเลย ประมาณว่า ป. ๔ ก็ยังไม่จบ แต่บอกว่าท่านนั้นจบพุทธศาสตรบัณฑิต ท่านนี้จบปรัชญาดุษฎีบัณฑิต..ยิ่งบ้าหนักเข้าไปใหญ่..!

เรื่องของมรรคผล บุคคลที่พยากรณ์ได้ชัดเจนที่สุดคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่การพยากรณ์ทุกอย่างเป็นไปตามปัจจัยเฉพาะหน้าในขณะนั้น

อย่างเช่นว่าถ้าเราขับรถด้วยความเร็ว ๑๒๐ กิโลเมตร/ชั่วโมง เราจะไปถึงกรุงเทพฯ ภายใน ๓ ชั่วโมง แต่ถ้าไม่กลัวใบสั่ง เหยียบให้เร็วขึ้นก็จะไปถึงก่อน ๓ ชั่วโมง หรือถ้ากลัวอุบัติเหตุมาก ลดความเร็วลง ก็ใช้เวลามากกว่า ๓ ชั่วโมง

ดังนั้น..แม้แต่คำพยากรณ์ก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะว่าวินาทีนี้ที่ได้รับการพยากรณ์ผ่านไป ก็กลายเป็นอดีตไปแล้ว ถ้าปัจจุบันนี้เราสร้างตัวแปรเพิ่มขึ้นมา อนาคตผลก็จะเปลี่ยนแปลงไป

เถรี 23-08-2023 01:17

กระผม/อาตมภาพจึงไม่ได้สนใจเรื่องคำพยากรณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น "กูทำ กูรู้อยู่" ในเมื่อเราทำแล้วเรารู้ ก็รีบตั้งหน้าตั้งตาทำต่อไป จะได้เมื่อไร เป็นเรื่องของอนาคตข้างหน้า ถ้าเราอยู่ไม่ถึง ตายเสียก่อนก็ไม่ได้ตามนั้น

เพราะฉะนั้น..โปรดอย่าคลั่งมรรคคลั่งผลมาก แล้วก็อย่าคลั่งพระอรหันต์มาก เพราะว่าส่วนใหญ่คนที่มาพูดนั่นไม่รู้จริง โดยมารยาทแล้วการพยากรณ์มรรคผล พระเถระท่านจะยกเป็นภาระของพระพุทธเจ้าเท่านั้น

แต่ต่อให้พระพุทธเจ้าเสด็จมาตรงหน้า พยากรณ์ว่าเราจะได้มรรคได้ผลเมื่อไร แล้วเรานอนเฉย ๆ แล้วได้ก็จะประหลาดมาก..! เนื่องเพราะว่าทุกอย่างต้องใช้ความเพียรพยายามที่ไม่ท้อถอย ยิ่งทำต้องยิ่งมีความก้าวหน้า ยิ่งทำต้องยิ่งมีความเจริญ

พวกเราตั้งผลไว้สูงมากคือหวังมรรคหวังผลเลย แต่ให้ดูว่าสิ่งที่เราทำ คำที่เราพูด คู่ควรกับมรรคผลหรือเปล่า ? ไม่ใช่วัน ๆ ก็เอาแต่ฟุ้งซ่าน นั่งภาวนาก็นั่งด่าชาวบ้านเขาอยู่ในใจ ถ้าลักษณะอย่างนั้นได้มรรคได้ผล ก็ต้องบอกว่าศาสนาพุทธของเราน่าจะง่ายเกินไป..!

ความจริงในเรื่องของมรรคผลไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่ว่าทำให้ดี ทำให้ถูก มัชฌิมาปฏิปทานั้นไม่มีมาตรฐาน ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญาที่เราสั่งสมมา ใครต้นทุนสูงมาก ก็กอบโกยได้มาก

คนอื่นเขานั่งกรรมฐาน ๓ วัน ๓ คืนรู้สึกสบายมาก แต่เรานั่ง ๓๐ นาทีเกือบตาย..! แล้วจะเอามาตรฐานที่ไหน ? ก็เพราะว่านั่นเป็นมัชฌิมาปฏิปทาของคนอื่น ไม่ใช่ของเรา ถ้าช้างบอกว่ามัชฌิมาปฏิปทาของช้างคือเท่านี้ ว่าแล้วก็เหยียบลงไปแค่ ๓๐๐ กิโลกรัม เพราะว่าช้างเหยียบได้ ๖๐๐ กิโลกรัม คนโดนเหยียบลงไป ๓๐๐ กิโลกรัมก็ตาย ไม่มีซากเหลือแล้ว..!

ส่วนแมวทั้งตัวมากระโดดโลดเต้นอยู่บนตัวเรา ต่อให้แมวทุ่มครบทั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เราก็เฉย ๆ เรื่องของทางสายกลางจึงเป็นสายกลางของใครของมัน ยกเว้นบุคคลที่มีระดับสติ สมาธิ ปัญญาใกล้เคียงกัน จึงมีโอกาสที่จะไปในแนวทางที่ใกล้เคียงกันได้ ไม่เช่นนั้นแล้วเราจะไปคิดว่าคนโน้นปฏิบัติไม่กี่วัน ครูบาอาจารย์ชมว่ามีความก้าวหน้าเหลือเกิน เราปฏิบัติมาเป็น ๑๐ ปีไม่ได้อะไรเลย นอกจากความเครียด แถมคนรอบข้าง "บูลลี่" เราอีก..!

เถรี 23-08-2023 01:20

ก็เพราะว่าเราไม่รู้จักคำว่า มัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งคือ พอเหมาะพอดี ไม่ได้พอเหมาะพอดีเฉพาะตัวเราใจเราเท่านั้น ต้องพอเหมาะกับกาละคือเวลา พอเหมาะกับเทศะคือสถานที่ด้วย

ไม่ใช่เขาเชียร์กีฬากันเฮ ๆ ลั่นทั้งสนาม แล้วเราก็ไปนั่งสมาธิ..! แบบนั้นไม่รู้กาลเทศะ หรือว่าเขานั่งสมาธิกันทั้งศาลา แต่เราดันไปแช็ตไลน์อยู่คนเดียว..นั่นก็บ้าอีก..!

เรื่องของการปฏิบัติธรรมจึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้ปัญญาเป็นอย่างสูง เพื่อที่จะได้ระมัดระวัง ทำตัวให้กลมกลืนกับคนรอบด้าน ไม่ใช่ทำตัวเป็นเม่น หันไปทางไหนก็ทิ่มใส่คนอื่น พอคนอื่นเขาทิ่มกลับมาบ้าง "อ้าว..เราเจ็บ คนอื่นไม่ดีกับเรา..!" แล้วตอนทิ่มเขาไปเยอะดันไม่รู้ตัว..!

สรุปว่าคงต้องบ่นไปเรื่อย ๆ "ที่หลวงพ่อว่ามาทั้งหมดด่าเราชัด ๆ เลย..!" แรก ๆ ในการปฏิบัติธรรมทุกคนเหมือนอย่างกับลูกเต๋าสี่เหลี่ยมทุกด้าน หล่นปั้กลงไปก็อยู่ตรงนั้นเลย เปลี่ยนแปลงอะไรไม่เป็น ปรับตัวไม่เป็น บุคคลประเภทนี้ควรแก่การรับคำสั่งไปปฏิบัติอย่างเดียว คิดงานเองไม่เป็น พลิกแพลงเฉพาะหน้างานไม่เป็น ถ้าสถานการณ์ผิดไปจากความคาดเดาของตนเองก็พังเลย..!

แต่การปฏิบัติธรรมของเรามีอยู่คำหนึ่งก็คือ สัลเลขตา เป็นผู้ขัดเกลาตนเอง ก็คือ ขัดเกลา ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ ของเรา

โดยมีคนอื่นเป็นแบบอย่าง ภาษาบาลีเรียกว่า ปรโตโฆสะ เสียงสะท้อนจากคนอื่นรอบด้าน

แล้วก็ต้องประกอบด้วย โยนิโสมนสิการ คือน้อมนำมาพิจารณาว่าสิ่งใดสมควรแก่เรา ก็เก็บสิ่งนั้นมาทำ ไม่ใช่ไปยกของเขามาทั้งดุ้น อาตมภาพมีบรรดาเพื่อนผู้ชายที่เป็นตุ๊ดเป็นแต๋วเยอะแยะ พวกนี้ทำงานเก่งมากและละเอียดมาก ถ้าไปยกการทำงานของเขามาก็แปลว่าใช่ แต่ถ้าทะลึ่งไปเอาจริตกิริยาของเขามาด้วยก็พัง..!

เถรี 23-08-2023 01:21

ก็แปลว่าเราต้องเลือกเฉพาะในสิ่งที่เหมาะสมแก่ตัวเราเอามาใช้งาน ค่อย ๆ ขัด ค่อย ๆ เกลา ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนไปเรื่อย แล้วท้ายที่สุดก็จะเป็นตัวตนของเรา ที่ไม่มีใครเหมือน แม้ว่าจะคล้ายคลึงใกล้เคียงบ้าง นั่นก็เป็นแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

เหมือนอย่างกับเราเก็บเอาดินเหนียวจากแหล่งโน้นนิด จากแหล่งนี้หน่อย มาผสมปนเปรวมกัน แล้วปั้นเป็นปฏิมากรรมส่วนตัว ก็มีความเหมือนจากดินแหล่งโน้นนิด จากแหล่งนี้หน่อย แต่จะบอกว่าเป็นดินของที่นั่นทั้งหมดไม่ได้

เรื่องของการปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน ตรงไหนที่เหมาะสมกับเรา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนฝูงรอบข้าง หรือว่าจากตำรา หรือจากครูบาอาจารย์ เราก็เก็บเอาส่วนนั้นมาใช้งาน

อ่านตำราเล่มหนึ่งชอบใจตรงไหน..วางตำราทิ้งไปเลย..แล้วทำตรงนั้นให้ได้..ทำได้..ทบทวนจนมั่นใจ..แล้วค่อยไปอ่านใหม่ ไม่ใช่ว่าพระไตรปิฎกมี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ กูจะทำทั้งหมด..! ชีวิตนี้ต่อให้อายุยืนสัก ๓๐๐ ปีก็ทำได้ไม่หมดหรอก..!

ดังนั้น..กองกรรมฐานอะไรที่เหมาะสมกับเรากองเดียวก็พอแล้ว หรือชอบใจพระคาถาบทไหนก็บทเดียวก็พอแล้ว เพียงแต่ว่าเวลาทำ ให้ควบกับลมหายใจเข้าออก ถ้าป้องกันความผิดพลาดก็ควบกับพุทธานุสติ นึกถึงพระพุทธเจ้า หรือจับภาพพระไปด้วย

ตอนนี้ต้องเอาให้ได้อย่างเดียวก่อน ถ้าทำถึงจริง ๆ กรรมฐานอื่นอยากได้ค่อยไปทำทีหลัง ไม่เช่นนั้นแล้ว ถึงเวลาเขาบอกว่ากรรมฐานกองนั้นดี เราก็ย้ายไปทำกองนั้น กองโน้นดี เราก็ย้ายไปทำกองโน้น ครูบาอาจารย์ท่านนั้นสอนดีมากเลย เราก็วิ่งไปหา รับเอาคำสอนมา ปรากฏว่าตีกันเกือบตาย..! เพราะใจชินกับของเดิม พอไปทำของใหม่ ใจก็คอยวิ่งเข้าหาของเดิม ก็เลยรู้สึกว่าไม่ดีไม่เหมาะ แล้วพอเขาบอกครูบาอาจารย์ท่านนี้ดี..เราก็วิ่งไปหาท่านนี้อีก

สรุปแล้วเก่งมาก..! ครูบาอาจารย์เพียบเลย แต่ทำตามครูบาอาจารย์จริง ๆ ไม่ได้สักรายเลย..! แล้วเมื่อไรจะเอาดีได้เสียที ?

เถรี 23-08-2023 01:23

พวกเราควรจะสังวรเอาปฏิปทาของเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์มาใช้ พระองค์ท่านสุดยอดทุกอย่างในสิ่งที่ท่านทำ ศึกษาเล่าเรียนเป็นทหารเรือ ก็เก่งกาจสามารถถึงขนาดฝรั่งยอมรับ เอาเรือหลวงพระร่วงกลับมาเมืองไทยได้ ทั้ง ๆ ที่กัปตันฝรั่งไม่มีใครกล้าทำสักคน

ไปเรียนคาถาอาคมก็ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งลูกศิษย์เต็มบ้านเต็มเมือง เห็นท่านเป็นจอมขมังเวทย์ เรียนแพทย์แผนโบราณท่านก็รักษาคนจนเขาเรียกว่า "หมอพร" ศึกษาดนตรีท่านก็สามารถเล่นได้จนครอบครูให้กับคนอื่นได้

เพราะท่านถือคติว่า "กยิราเจ กยิราเถนํ ทำอะไรทำให้จริง"

ถ้าอย่างหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง ท่านบอกว่า "เรียนให้รู้ ดูให้จำ ทำให้จริง" ไม่อย่างนั้นแล้วก็จะเป็นอย่างที่อาตมาภาพกล่าวก็คือ ทำเหมือนแก้บน แล้วก็เอาดีไม่ได้สักที สักแต่ไปอวดกับคนอื่นว่า "ฉันไปปฏิบัติธรรมที่โน่นมา ฉันไปปฏิบัติธรรมที่นี่มา หลวงพ่อสอนดีเหลือเกิน"

สรุปแล้วที่หลวงพ่อสอนดี ก็ยังดีอยู่ที่หลวงพ่อนั่นแหละ เรายังเอามาไม่ได้สักอย่าง เหนื่อยเปล่าที่จะไปคุย..!

พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
ปกิณกธรรมสัปดาห์วันแม่
ช่วงเช้าวันเสาร์ที่ ๑๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย ทะเล)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 12:47


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว