เก็บตกจากบ้านวิริยบารมี ประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๕๖
ถาม : คนที่ทำหน้าที่เป็นไวยาวัจมัย นำเงินญาติโยมไปทำบุญ เช่นซื้อของถวายพระ ถวายวัด โดยที่ไวยาวัจมัยไม่ได้ออกเงินทอง แต่ช่วยให้บุญนั้นสำเร็จลงได้ ไม่ทราบว่าไวยาวัจมัยผู้นั้นจะได้อานิสงส์ในส่วนของบุญทานหรือไม่ ? หรือได้เฉพาะในส่วนของไวยาวัจมัย ไม่ได้เกี่ยวกับทาน ? แล้วบุญที่แท้จริงไวยาวัจมัยได้ออกมาในรูปแบบไหนครับ ?
ตอบ : ไวยาวัจมัยเป็นคำขยายกิริยา ไม่ใช่ประธาน ถ้าทำหน้าที่ประธานต้องใช้คำว่าไวยาวัจกร บุคคลที่เป็นไวยาวัจกรคือบุคคลที่ทำหน้าที่นำบุญให้คนอื่นเขา ถ้าตัวเองไม่มีส่วนร่วมในบุญนั้นด้วย ได้แต่ทำหน้าที่เฉย ๆ จะได้อานิสงส์ในการช่วยเหลืองานบุญคนอื่นให้สำเร็จ ที่เรียกว่าไวยาวัจมัยอย่างเดียว คนประเภทนี้ถ้าเกิดใหม่จะเกิดมาจนแต่เพื่อนมาก แต่ถ้าท่านทำเองด้วย ช่วยงานคนอื่นด้วย เกิดมารวยด้วย เพื่อนมากด้วย แต่ถ้าทำเองไม่ชวนคนอื่น เกิดใหม่รวยแต่เพื่อนไม่มี เพราะฉะนั้น..เลือกเอาก็แล้วกันว่าจะทำแบบไหน |
ถาม : ถ้ามัคคนายกเอาบาตรมาตั้งให้ญาติโยมใส่เงินเวลาพระเทศน์ ถามว่าเงินที่ได้จากการใส่บาตรพระที่เทศน์นั้น จะเป็นของพระที่เทศน์หรือเป็นของวัด ? เนื่องจากที่วัดของโยม เงินนั้นได้มาเท่าไรก็ตาม มัคนายกจะถวายพระเทศน์แค่ ๑๐๐ บาท ส่วนที่เหลือหักเข้าค่าน้ำ-ค่าไฟหมด โดยที่พระก็ไม่ได้เต็มใจ
ตอบ : จริง ๆ แล้วเขาถวายบูชากัณฑ์เทศน์ ถ้าโดยปกติแล้วเขาถือว่าเป็นสิทธิ์ของพระผู้ที่เทศน์นั้น แต่โดยปกติอีกเหมือนกันว่าพระผู้ที่เทศน์นั้นได้มาในฐานะของความเป็นพระ ดังนั้นอย่าไปคิดว่าเป็นเงินส่วนตัว ให้คิดว่าเป็นเงินสงฆ์ไว้เสมอ แต่คราวนี้ว่าการคิดเป็นเงินสงฆ์นั้นต้องแบ่งส่วนหนึ่งลงเพื่อสงฆ์ อย่างเช่นว่าในส่วนของภัตตาหารพระ เพื่อที่จะได้เป็นส่วนของสังฆทานไป อีกส่วนหนึ่งลงช่วยการก่อสร้างหรือว่าซ่อมแซมวัดอะไรก็ได้ เพื่อที่จะได้ส่วนของวิหารทานด้วย แล้วอีกส่วนหนึ่งค่อยเอาไปใช้ในกิจการของตนเอง แต่ถ้าตามที่หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านบอกไว้ ก็คือ ให้ใช้ในส่วนที่จำเป็นเท่านั้น เช่น เป็นค่ารถ ค่ายา ค่ารักษาพยาบาล ค่าอาหารการกิน เป็นต้น ส่วนที่เหลือก็ควรจะผลักเข้ากองบุญการกุศลเพื่อเพิ่มอานิสงส์ให้กับผู้ถวาย แต่คราวนี้ว่ามัคนายกเก่ง ก็เลยบีบคอบังคับพระ คุณเทศน์ไปก็ถือว่าได้ร้อยเดียวแล้วกัน ที่เหลือเดี๋ยวผมจัดการเอง จะว่าไปแล้วก็ใช้ได้ แต่วัดนี้ต่อไปพระจะน้อยลงเรื่อย ๆ ถาม : แล้วถ้าตอนถวายพระเทศน์ คนถวายเขาคิดว่าถวายเป็นสังฆทานละครับ ? ตอบ : ก็บอกแล้วว่าอย่าคิดว่าเป็นของส่วนตัว ได้มาเพราะเป็นพระ ให้ถือว่าเป็นเงินสงฆ์ไว้เสมอ |
ถาม : มีพระที่วัดป่วยเป็นไข้เลือดออกในช่วงเข้าพรรษา หมอไม่ให้กลับวัดจนกว่าจะหาย พระรูปนั้นจึงโทรศัพท์มาขอสัตตาหะ ถามว่าการทำแบบนี้ถูกต้องหรือไม่ครับ เพราะพระท่านกลัวจะขาดพรรษา ?
ตอบ : ไม่สมควร...โทรไปบอกหลวงพ่อเจ้าอาวาสให้ส่งพระสงฆ์ในวัดอย่างน้อย ๔ รูป ไปให้ท่านบอกสัตตาหะให้เป็นทางการไปเลย ไม่อย่างนั้นแล้วเดี๋ยวประเภทงานจริงงานไม่จริง ป่วยแกล้งป่วยจริงก็ไม่รู้ โทรลาไปเรื่อย แล้วจะเป็นตัวอย่างไม่ดีให้กับคนอื่นเขา ทำให้ยากเข้าไว้จะได้ไม่กล้าเบี้ยว |
ถาม : มีพระรูปหนึ่งบอกว่า การที่ญาติโยมบอกให้พระภิกษุทำความสะอาดตรงจุดนั้น หรือทำนั่นทำนี่ตามที่ญาติโยมบอก เป็นการผิดศีลข้อที่ว่าเอาใจโยม ประจบคฤหัสถ์ หนูสงสัยว่าพระรูปนี้ท่านพูดถูกต้องหรือไม่ ? เพราะถ้าโยมไม่บอกให้พระทำ วัดก็สกปรกอยู่อย่างนั้น แล้วท่านก็จะใช้ข้ออ้างนี้ต่อว่าพระไปทั่ว ถ้าไปทำอะไรตามที่โยมบอก
ตอบ : อันตรายมาก...เรื่องพระผิดศีลไม่เท่ากับโยมใช้พระ โยมคนนั้นเตรียมตัวเฮงได้เลย การที่พระจะผิดศีลข้อประจบคฤหัสถ์นั้นก็คือยอมตัวให้เขาใช้ เพื่อที่เขาจะได้พอใจ แต่อันนี้ท่านไม่ได้พอใจ ท่านบอกว่าโดนบังคับใช้ ดังนั้น..โดยสถานะแบบที่ว่ามานี่พระไม่ผิดศีลหรอก แต่โยมเฮงแน่ ๆ ข้อหาใช้พระ อย่าเผลอไปเกิดใหม่ก็แล้วกัน |
ถาม : ถ้าโจทย์และจำเลยขออโหสิกรรมให้กันทั้ง ๒ ฝ่าย ถามว่าทำไมต่อไปยังมีปัญหาเกิดขึ้นอีก ทั้ง ๆ ที่ขออโหสิกรรมแล้ว กรรมไม่ดีต่อกันก็น่าจะหมดลงไปแล้ว ?
ตอบ : ผลของกรรมหมด ไม่ใช่กรรมที่ไม่ดีต่อกันหมดลง ตราบใดที่ยังไม่ตายแล้วยังเหม็นขี้หน้ากันอยู่ ก็จะทำกรรมใหม่ไปเรื่อย แต่ที่ทำมาตั้งแต่ต้นจนจบนั้นสูญไปแล้ว เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่กัน เกลียดขี้หน้ากันมากี่ชาติ อยู่ ๆ จะให้มารักกันย่อมเป็นไปไม่ได้ ถาม : แต่กรรมที่เคยทำกันมาก่อน ๆ ก็จบไป ณ จุดนั้น ? ตอบ : กรรมเดิมจบไป กรรมใหม่ก็เริ่มต้นใหม่ เดี๋ยวไม่มีอะไรทำก็เบื่อแย่..! |
ถาม : ถ้าพระต้องสังฆาทิเสสเป็นระยะเวลานาน ถ้าจะไปเข้าปริวาสไม่ถึงวันที่ตนเองทำผิด (และปกปิดไว้) เช่น ต้องเข้าปริวาส ๑ เดือนแต่อยู่แค่ ๑๐ วัน เพราะมีกิจอย่างอื่น ถ้าพระรูปนั้นจะเก็บแค่ ๑๐ วันก่อนแล้วค่อยมาเก็บอีกทีหลังจะได้ไหมคะ ?
ตอบ : เข้าไปเรื่อย ๆ แต่อย่าเก็บมานัต เพราะว่ายังไม่ใช่มานัตตารหาบุคคล คือบุคคลที่ควรแก่มานัต ฉะนั้น..เข้าแล้วก็บวกไปเรื่อย จนกว่าจะได้วันเวลาเท่าจำนวนที่ตัวเองปกปิดไว้ แล้วก็บวกไปอีก ๖ วัน ๖ คืน หลังจากนั้นก็ไปเก็บมานัตได้ ถาม : ไม่ต้องเก็บติดต่อกันก็ได้ใช่ไหมครับ ? ตอบ : ปกติควรจะติดต่อกัน แต่คราวนี้เขาใช้คำว่าจำเป็น ถ้าจำเป็นก็ต้องใช้วิธีนี้แหละ |
ถาม : การที่เรารักษาความดีเป็นระยะเวลานาน ๆ จนเห็นในความดีนั้นอย่างชัดเจน เห็น..รับรู้..แล้วเกิดอาการไม่หวั่นไหวว่าคนอื่นจะพูดว่าอย่างไร มีความมั่นใจ ไม่ประมาท เหมือนมีความดีนั้นเป็นเครื่องรองรับเราอยู่ตลอด ตรงนี้เป็นสักกายทิฐิ หรือเป็นการปฏิบัติที่ทำไปถึงจุดหนึ่งแล้วลงอารมณ์นี้คะ ?
ตอบ : ต้องระมัดระวังว่า ถ้าเผลอจะเป็นทั้งสักกายทิฐิ เป็นทั้งมานะ เป็นทั้งสีลัพพตุปาทาน สักกายทิฐิถ้าเผลอจะกลายเป็นว่า “กูดีกว่า” เพราะฉะนั้น..ในเมื่อมีคำว่ากว่า มานะย่อมมาแน่ ๆ และจะกลายเป็นว่าสิ่งที่กูทำดีกว่าคนอื่น เขาเรียกว่ายึดมั่นในหลักการปฏิบัติของตนเองว่าดีกว่า ภาษาบาลีเรียกว่าสีลัพพตุปาทาน เพราะฉะนั้น..โปรดอย่าประมาท ให้คิดอยู่เสมอว่า ตราบใดที่ยังไม่อยู่บนพระนิพพาน ตราบนั้นยังไม่ดีแน่ |
ถาม : เรื่องผ้ายันต์เกราะเพชรและผ้ายันต์ธงมหาพิชัยสงคราม ถ้าหากเราเลี้ยงกุมารทองหรือพราย เราจะบูชาพกพาหรือนำผ้ายันต์ติดสถานที่อาศัย จะมีผลอย่างไรครับ ?
ตอบ : ก็มีผลว่ากุมารทองหรือพรายไปอยู่ไหนแล้วก็ไม่รู้..! ถาม : อยู่ไม่ได้เลยหรือครับ ? ตอบ : แสงสว่างกับความมืด ถ้าสว่างแล้วมืดจะอยู่อย่างไร ? เพราะตรงกันข้าม ถ้าเสียดายอยากเลี้ยงพรายหรือกุมารทองก็เอาผ้ายันต์ให้คนอื่นเขาไป |
ถาม : เหรียญในหลวงที่มีตราแผ่นดิน ๒๕๐๕ ไว้ใช้ซื้อที่กับเจ้าที่ได้ แล้วเหรียญในหลวงหลังตราครุฑปี ๒๕๑๗ ใช้ซื้อที่กับเจ้าที่ได้เหมือนกันหรือเปล่าครับ ?
ตอบ : ถ้ามีจำนวนมากตามที่เขาต้องการซื้อได้ทั้งนั้นแหละ ถ้าเขาบอกว่าตารางวาละแปดแสนห้า ก็หาไปให้เขาแล้วกัน รับรองว่าซื้อได้ ไปเอาความรู้ประเภทนี้มาจากไหนวะ ? |
ถาม : หลังจากนั่งสมาธิในทุก ๆ ครั้งไประยะหนึ่งแล้ว รู้สึกว่าตัวเองเข้าไปอยู่ที่หนึ่ง ไม่มืด ไม่สว่าง คล้าย ๆ กับว่าหายไปจากโลกนี้ แต่ยังพอได้ยินเสียงภายนอกอยู่ไกล ๆ แต่ไม่ได้สนใจแต่อย่างใด อยากกราบเรียนถามว่า ลักษณะอย่างนี้คือสภาวะอะไร ? และควรจะปฏิบัติต่อไปอย่างไร ?
ตอบ : ถ้าอย่างต่ำก็ประมาณอุปจารฌาน ก็คือจิตเริ่มใกล้จะเป็นฌาน ถ้าอย่างสูงก็เป็นปฐมฌาน เหตุที่กล้าฟันธงอย่างนี้เพราะว่ายังได้ยิน ยังเห็นอยู่เป็นปกติ แต่ว่าไม่รำคาญ ซึ่งเป็นอาการของอุปจารฌานหรือปฐมฌานเท่านั้น ถาม : แล้วควรจะปฏิบัติต่อไปอย่างไรครับ ? ตอบ : ภาวนาต่อไปเรื่อย ๆ จะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน เรามีหน้าที่ทำ ส่วนผลจะเกิดอย่างไรก็ช่าง ถาม : หลายคนพอมาถึงจุดนี้สงสัยเลยเลิกทำ ? ตอบ : เลิกเลยไม่เป็นไร แต่ถ้าทำต่อไปแล้วอยากได้ตรงนี้จะไม่ได้อีก เพราะว่าใจไม่นิ่งแล้ว ตัวอยากเป็นอุทธัจจะกุกุจจะ ความฟุ้งซ่าน |
ถาม : หากผมเปิดเสียงของหลวงพ่อ หรือพระอาจารย์ หรือท่านอื่น ๆ เช่น ท่านจิตโต เป็นต้น หลายครั้งก็ฟังได้ตลอดจนจบ แต่บางครั้งเกิดการวูบเหมือนขาดสติ ทำให้ไม่ได้ยินเสียง จะต้องประคองใจอย่างไรบ้างครับ ? คือผมจับลมหายใจไปด้วยพยายามฟังไปด้วย แต่บางครั้งผมจะฟังไปภาวนาไป เลยทำให้ไม่ได้ฟัง แต่เอาใจไปจดจ่อที่คำภาวนาแทน อาการวูบไป หรือเสียงหายไปจะต้องมีวิธีแก้อย่างไร ?
ตอบ : จริง ๆ แล้วการฟังธรรมให้ตั้งกำลังใจที่อุปจารสมาธิ น้อมจิตฟังตามไป ตรงจุดใดที่เราคิดว่าทำได้ ให้ตัดสินใจเดี๋ยวนั้นว่าเราจะทำอย่างนั้น ถ้าอย่างนี้จะเกิดประโยชน์มาก การฟังแล้วภาวนาไปด้วยถือว่าดี แต่ว่าเป็นการอาศัยเสียงที่ฟังนั้นโยงจิตตนเองให้เป็นสมาธิ ถ้าไม่ใช่บุคคลที่คล่องตัวระดับฌานใช้งาน จะไม่สามารถตัดสินใจหรือคิดอะไรตามหลักธรรมนั้นได้ เพราะว่าสมาธิยังดำเนินไปตามปกติของเขาอยู่ ดังนั้น..ควรจะเลือกเอาว่าจะทำแบบไหน ถ้าหากว่าโดยปกติธรรมดาก็คือ เข้าสมาธิให้เต็มที่ก่อน แล้วคลายลงมาเป็นอุปจารฌานหรืออุปจารสมาธิ แล้วค่อยฟัง จะได้กำลังในการที่จะนำมาตัดกิเลสหรือตัดสินใจอีกด้วย ถาม : แล้วการที่ฟังไป ภาวนาไป จะถือว่าเป็นการปรามาสพระรัตนตรัยหรือไม่ ? ตอบ : จะเรียกว่าปรามาสก็ไม่ใช่ อย่าคิดมาก เพียงแต่ว่าถ้าจะเอาผลจริง ๆ ตอนช่วงนั้นสภาพจิตพอเป็นสมาธิ ถ้าหยาบหน่อยก็เหมือนกับหายไปเฉย ๆ ตอนนั้นคำเทศน์ก็จะขาดประโยชน์ไป แล้วถึงรู้อยู่ ถ้าสมาธิไม่คล่องตัว ก็ตัดสินใจอะไรไม่ได้ สักแต่ได้ยินไปเฉย ๆ ถาม : แล้วสมาธิระดับที่พูดถึง กับสมาธิที่เวลาเราเรียนหนังสือแล้วตั้งใจฟังครูสอนนี่ ยังหยาบกว่าไหมคะ ? ตอบ : ต้องบอกว่าระดับเดียวกัน เพียงแต่ว่าถ้าเราเข้าสมาธิก่อน เราจะมีกำลังสมาธิหนุนอยู่ สภาพจิตจะจดจ่อแน่วแน่ได้มากกว่า แล้วถ้าจะตัดสินใจอะไร กำลังสมาธิจะช่วยให้ตัดสินใจได้เด็ดขาดกว่ามาก |
ถาม : เนื่องจากศาลพระภูมิที่บ้านรวมถึงศาลตายาย ได้ตั้งอยู่ในทิศตะวันตกค่อนมาทางเหนือของตัวบ้าน ซึ่งได้อ่านมาจากคำสอนของหลวงพ่อฤๅษีฯ ว่า ทิศตะวันตกเป็นทิศที่ไม่ควรตั้งศาลพระภูมิ เนื่องจากเป็นทิศของอากาศเทวดา แต่ศาลนี้ตั้งมานานมาก ประมาณว่าเกินสามสิบปี และที่บ้านก็อยู่เป็นปกติสุขดี จึงขอกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า จำเป็นต้องย้ายตำแหน่งของศาลหรือไม่คะ ?
ตอบ : ถ้าอยู่มา ๓๐ กว่าปีแล้วก็คงไม่จำเป็นแล้ว จงอยู่ต่อไปเถอะ ยกเว้นว่าหนักใจก็โยกย้ายเสียให้ถูก |
ถาม : ถ้าผมเปิดร้านรับจ้างปั้นพระ หล่อพระ สร้างวัตถุมงคล ที่ไม่ได้เข้าพิธีพุทธาภิเษกจะเป็นบาปหรือไม่ครับ ?
ตอบ : ทำมาหากินตามปกติ ทำด้วยความเคารพก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าประเภทตั้งร้านวางแบกับดิน ให้คนเดินข้ามไปข้ามมาอย่างนั้นก็สาหัสหน่อย ไม่ได้เข้าพิธีพุทธาภิเษกก็ไม่มีปัญหา แทบจะไม่มีโรงงานไหนเอาไปเข้าพุทธาภิเษกหรอก ถาม : ถ้าเกิดว่าไม่ได้ไปวางแบกับดิน ทำด้วยความเคารพก็ไม่เป็นไร ? ตอบ : ควรจะหาที่ตั้งให้เหมาะสม เราจะเห็นว่าโบราณเขาตั้งพระ อย่างน้อยก็ต้องมีตั่ง ถาม : ถ้าผมเปิดร้านรับจ้างปั้นพระ หล่อพระ สร้างวัตถุมงคล มีบางครั้งที่นำวัตถุมงคลบางรุ่นเข้าพิธีพุทธาภิเษก แล้วจำหน่ายในราคาเดิมก่อนพุทธาภิเษกอย่างนี้ จะเป็นบาปหรือไม่ครับ ? ตอบ : ไม่ได้ทำความผิดอะไรก็ไม่ถือว่าบาป ถือว่าช่วยให้คนที่รับไปได้วัตถุมงคลที่สามารถคุ้มครองตัวเองได้อย่างแท้จริงอีกด้วย ถาม : ถ้าผมเปิดร้านรับจ้างปั้นพระ หล่อพระ สร้างวัตถุมงคล ที่ไม่ได้เข้าพิธีพุทธาภิเษก ผู้ซื้อเอานำพระไปตกแต่งร้านผับ ร้านบาร์ ร้านคาสิโน สถานอบายมุข ผมจะมีส่วนบาปหรือไม่ครับ ? ตอบ : ถ้าไม่ได้บอกให้เขาเอาไปตกแต่งไม่เป็นไร คนไปเอาก็โดนเองอยู่ฝ่ายเดียว แต่ถ้าบอกว่า “ต้องพระจากร้านผมนี่ แต่งแล้วเท่สุด ๆ” ก็แปลว่าต่างคนต่างโดนไปด้วยกัน |
ถาม : ถ้าเขาใส่ซองปัจจัยร่วมบวชพระ หรือร่วมเป็นเจ้าภาพบวชพระ แล้วเราเอาปัจจัยนั้นไปจ่ายค่าอาหาร ค่าน้ำ ให้กับแขกที่มาร่วมงานจะได้ไหมครับ ?
ตอบ : ปรับโทษเท่าย้ายเจดีย์ ถาม : ก็เป็นเรื่องของงานบวชเหมือนกันนี่ครับ ? ตอบ : ทำกี่ครั้งก็ย้ายเท่านั้นครั้ง เขาตั้งใจบวชพระไม่ได้ตั้งใจเลี้ยงคน..! ฉะนั้น..เอาให้ชัดเจน ถ้าเขาบอกว่าเงินช่วยงาน ให้เราทำอะไรก็ได้ แต่ถ้าเขาบอกว่าเงินบวชพระ อย่าเอาไปใช้ผิดงานเป็นอันขาด ถาม : แล้วเงินบวชพระส่วนนี้ควรจะถวายให้กับพระใหม่ กับวัด กับพระอุปัชฌาย์พระคู่สวดอย่างนี้หรือครับ ? ตอบ : อะไรที่เกี่ยวข้องกับการบวชทำไปเถอะ แต่ว่าอย่าให้หลุดไปจากการบวช ถาม : โต๊ะจีนนี่ไม่เกี่ยวใช่ไหมครับ ? ตอบ : บอกแล้วว่าบวชพระ ไม่ได้เลี้ยงคน ถาม : ถ้าเงินเหลือจากเครื่องบริขาร เหลือจากการถวายพระอุปัชฌาย์ พระคู่สวดแล้ว เอาไปทำบุญร่วมบวชกับพระอาจารย์ได้ไหมครับ หรือเอาไปถวายสังฆทาน ถวายเพลได้ไหมครับ ? ตอบ : ถ้าจะให้ตรงก็ไปร่วมบวชพระรูปอื่น ถาม : พอสึกแล้ว เงินทั้งหมดที่ได้มาตอนบวชไปถวายพระที่มาร่วมพิธีสึกให้ถูกไหม ? หรือว่าถวายกับพระที่ดูแลได้ไหม? และถวายเป็นค่าน้ำค่าไฟได้ไหมครับ ? ตอบ : ทำอะไรก็ได้ที่เป็นกองบุญการกุศล จะถวายพระก็ถวายอย่างน้อย ๔ รูป |
ถาม : ได้ฟังพระท่านบอกว่าจิตเดิมแท้ของเราอยู่ที่พระนิพพาน แต่ก็ไม่รู้..ยังมีอวิชชาอยู่ จึงทำให้เรามาหลงติดขันธ์ ๕ แล้วเวียนว่ายตายเกิด จริง ๆ แล้วจิตเดิมแท้ตั้งแต่แรกอยู่บนพระนิพพานหรือครับ ?
ตอบ : ถ้าอยู่แล้วเสือกทะลึ่งมาเกิดทำไมวะ ? เขาบอกหรือเปล่าว่าวัดไหน ? ถ้าบอกอาตมาจะได้ย้ายวัดไปอยู่ด้วย ไปพระนิพพานง่ายดี ถาม : แล้วจริง ๆ เป็นอย่างไรครับ ? ตอบ : สภาพจิตเดิมแท้กำลังสูงสุดไม่เกินอาภัสราพรหม แปลว่าความสะอาดเท่ากับฌานที่ ๒ ละเอียด ไม่เกินนั้น แต่ว่าพอโดนกิเลสท่วมทับไปก็เสื่อมสูญไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งท้ายสุดกระทั่งอุปจารสมาธิก็ไม่มี |
ถาม : ทำไมที่โต๊ะบวงสรวงต้องมีข้าวตอกดอกไม้ ?
ตอบ : เพราะเงินเหลือ ...(หัวเราะ)... การบูชาด้วยข้าวตอกดอกไม้ เขาถือว่าเป็นการบูชาด้วยสิ่งที่พระพุทธเจ้ากล่าวไว้ว่าเป็นวัตถุทาน ในเมื่อมีก็แสดงว่าเราเองพยายามสรรหาสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มาด้วยความพยายามอย่างเต็มที่แล้ว แสดงออกซึ่งความเคารพในพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง คนรุ่นใหม่ ๆ ที่ไม่รู้ ถ้าใส่ไปเยอะ ๆ หน่อยถึงเวลายังทำข้าวตอกน้ำกะทิได้ ถาม : แล้วทำไมต้องเป็น ๕ กระทงด้วยคะ ? ตอบ : ต้องการจะใส่เยอะกว่านั้นแต่พื้นที่ไม่พอ สมัยก่อนเขานิยมว่าขัน ๕ เลียนแบบมาจากขันธ์ ๕ คืออัตภาพร่างกายของเรา เป็นปริศนาธรรมส่วนหนึ่งจะไม่ให้เราลืมความจริงว่าร่างกายของเราไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เพราะฉะนั้น..ทำอะไรเขาจึงเกี่ยวโยงถึงขันธ์ ๕ แม้กระทั่งจัดเครื่องบูชาก็จัด ๕ อย่าง แล้วก็เรียกตรง ๆ เลยว่าขันธ์ ๕ เมื่อเป็นดังนั้นเขาก็มักจะจัด ๕ ชุด มาสมัยนี้ก็จัดไปเรื่อย ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร |
ถาม : ลูกสาวเริ่มเป็นสาวแล้ว และมีแฟน วัน ๆ เอาแต่คุยโทรศัพท์ พระอาจารย์มีวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง ?
ตอบ : ซื้อโทรศัพท์ให้เขาสัก ๕ เครื่อง ดูว่าจะคุยไหวไหม ? เรื่องของวัยรุ่น ถ้าพ่อแม่ไม่เข้มงวดตั้งแต่แรก แล้วจะไปจำกัดตอนเป็นวัยรุ่น ไม่สำเร็จสักราย ขนาดเข้มงวดตั้งแต่แรก เขายังตะแบงข้างไปเลย เป็นทุกคนแหละ ตัวเองก็เป็นมาก่อน อย่าไปว่าลูกเลย สมัยก่อนอาตมาเองไม่มีโทรศัพท์มือถือ ตี ๓ วิ่งไปหยอดตู้โทรหาสาว แม่ก็ต้องทำใจ อะไรเตือนได้ก็เตือน อะไรบอกได้บอก ถ้าทั้งบอกทั้งเตือนแล้วเขาไม่ฟังก็ตัวใครตัวมัน..! ถาม : กลัววันหนึ่งจะอุ้มหลานกลับมานะสิครับ ? ตอบ : ไม่เป็นไร..ก็ช่วยเลี้ยงต่อไป พอหลานโตเป็นวัยรุ่นเดี๋ยวก็ทำอย่างนี้กับแม่ตัวเองอีก เรื่องของวัยรุ่นก็ต้องดูในมัทนพาธา ความรักเหมือนโคถึก......กำลังคึกผิว์ขังไว้ ก็โลดจากคอกไป........บ่ยอมอยู่ ณ ที่ขัง ถึงหากจะผูกไว้.............ก็ดึงไปด้วยกำลัง ยิ่งห้ามก็ยิ่งคลั่ง..............บ่หวนคิดถึงเจ็บกาย สิ่งที่เราพูดเป็นเรื่องของเหตุผล แต่สิ่งที่ลูกหลานทำเป็นเรื่องของอารมณ์ คนละคลองกัน ไปกันไม่ค่อยได้หรอก ยกเว้นว่าบุญเก่าเขาดี รู้จักรับฟังผู้ใหญ่ ตั้งสติ ระงับยับยั้งใจได้ ถ้าอย่างนั้นก็แล้วไป ไม่อย่างนั้นก็เตลิดทุกราย เราก็เคยเป็นจะไปโทษใครวะ ? อาตมาเองเคยโดนสาวหนีตามถึงบ้าน..เครียดเลย..! กว่าจะกล่อมให้กลับบ้านได้นี่น้ำลายแห้ง... |
พระอาจารย์กล่าวว่า "ในเรื่องของพระพุทธศาสนา ถ้านั่งรออยู่ในวัดอย่างเดียวไปไม่รอดหรอก เจ๊งแน่นอน ก็เลยต้องใช้วิธีเดินออกจากวัดไป ในเมื่อโรงเรียนเทศบาลเขาขาดครูที่ชำนาญการเฉพาะ แล้ววัดท่าขนุนมี ก็ส่งไปเลย คราวนี้อาตมาเป็นกรรมการการศึกษาอยู่แล้ว และนายกเทศมนตรีซึ่งจะเป็นคนอนุมัติเงินเดือนตำแหน่ง ก็เป็นลูกศิษย์วัดอยู่แล้ว ก็งานง่ายเลย ถึงเวลาก็..ช่วยจัดการให้หน่อย.. เอาพระเอาชีไปสอนได้
เสียดายพระในวัดจบเมืองนอกกันมา พอให้เรียนปริญญาเอกต่อก็ไม่เรียน บอกว่าที่มาบวชเพราะเบื่อเรียน ถ้าอย่างนั้นช่วยไปสอนเด็กก็แล้วกัน ถ้าเราวางพื้นฐานแนวทางให้เด็ก ๆ เอาไว้ เด็กก็จะคุ้นชินกับพระกับวัด ไม่ใช่ถึงเวลาเข้าวัดแล้วเขิน ทำอะไรไม่ถูก อาตมาบอกกับพระและแม่ชีว่า ให้เขาท่องคำอาราธนาศีล อาราธนาธรรม อาราธนาพระปริตร แบบท่องสูตรคูณเลย ให้ท่องทุกเย็นก่อนเลิกเรียน ท่องให้ฝังหัวไปเลย ไปอยู่ที่ไหนจะได้เป็นงาน นี่เป็นนโยบายเจ้าอาวาสวัดท่าขนุน ไม่ใช่นโยบายของโรงเรียน พอถึงเวลาแล้วตัวเองเป็นพุทธศาสนิกชน เข้าวัดกันไปเป็นร้อยแต่ไม่มีใครอาราธนาศีลเป็นก็แย่ ต่อไปก็ให้เด็ก ๆ รุ่นนี้แหละ อยู่ ป.๓ - ป.๕ ถึงเวลาให้นำปู่ย่าตายายให้ได้อายเสียบ้าง" |
พระอาจารย์กล่าวให้โอวาทกับพนักงาน ThaiPBS ที่มาถวายเทียนพรรษาจากทูลกระหม่อมอุบลรัตน์ฯ ว่า...
"ในความเป็นจริงแล้ว พวกเราทุกคนรู้อยู่ว่าต้องทำอะไร เพียงแต่ว่าการกระทำของเรา บางทีเราก็ไหลตามความต้องการของผู้ใหญ่มากเกินไป ในความเป็นสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อสาธารณะ ต้องยึดหลักการไว้ก่อน ถ้าหลักการของเขามีไว้ว่าอย่างไร ก็ว่าไปตามวิสัยทัศน์ พันธกิจ ของหน่วยงาน ไม่อย่างนั้นแล้วสิ่งที่เราทำมา จะมีบางส่วนที่ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนหมู่มาก แต่ว่าเป็นไปเพื่อเอาใจคนแค่บางคนเท่านั้น ถ้าเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นในวงการไหนก็ตาม ความเสื่อมจะมาถึงวงการนั้น ที่ความเสื่อมมาถึงวงการนั้นก็เพราะว่า เมื่อเราไม่ยึดหลักการก็ต้องลอยตามกระแส คราวนี้การลอยตามกระแสของเรา ไม่ใช่แต่เราคนเดียว แต่หมายถึงประเทศชาติบ้านเมืองด้วย เพราะว่าเราเป็นสื่อกระแสหลัก ในเมื่อเป็นอย่างนั้นก็เลยอยากให้การทำงานของพวกเราทุกคน ทำอย่างไรที่จะมีความมุ่งมั่นยึดหลักการที่ถูกต้อง ไม่คล้อยตามความต้องการของผู้มีอำนาจเขา ถึงจะเรียกได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นสื่อมวลชนเพื่อมวลชนจริง ๆ ไม่อย่างนั้นแล้วจะกลายเป็นว่า เพื่อบุคคลที่มีอำนาจแค่ไม่กี่คน ในเมื่อไม่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่เราเอาภาษีอากรส่วนรวมเขามาใช้ ก็จะกลายเป็นเหมือนกับอกตัญญูไป ดังนั้น..การทำงานของเราทั้งหลายก็ให้ยึดหลักเอาไว้ว่า ปณิธานหรือว่าความต้องการแรกเริ่มของการก่อตั้งองค์การขึ้นมา เราตั้งใจจะทำอะไรเพื่ออะไร ถึงเวลาแล้วก็ให้รักษาและเดินตามแนวทางนั้น ถ้าเราจะทำเพื่อบุคคล ก็ให้ทำเพื่อบุคคลที่คนทั้งประเทศรักและเคารพ อย่างเช่นทำเพื่อในหลวง เป็นต้น แต่ว่าไม่ใช่ทำเพื่อบุคคลที่มีอำนาจ ชี้เป็นชี้ตายแก่เราได้ ถ้าเราไม่มีความกล้าหาญพอที่จะต่อต้านอำนาจของเขาทั้งหลายเหล่านั้น ประเทศชาติก็จะเจริญได้ยาก ทำอย่างไรเราถึงจะเป็นที่เชื่อถือของคนทั้งประเทศ ให้เขารู้สึกว่าถ้าเป็นไทยพีบีเอสแล้ว ข่าวที่ออกมา สิ่งที่นำเสนอต่อมวลชน จะต้องเป็นความจริง จะต้องเป็นประโยชน์ต่อคนทั้งหมด" |
"เรื่องเหล่านี้จริง ๆ แล้วพวกเรารู้กันทุกคน แต่ว่าเมื่อมาขอโอวาท ก็อยู่ในลักษณะย้ำเตือนเฉย ๆ ว่า จุดมุ่งหมายที่เราทำอยู่ ให้ตั้งเป้าให้แม่น แล้วเดินให้ตรงเป้า ไม่อย่างนั้นแล้วสิ่งที่เราทำมาทั้งหมด จะไม่สามารถเป็นผลงานที่อวดคนอื่นเขาได้ เพราะว่าปัจจุบันนี้ สื่อกระแสหลักของเราหลายต่อหลายอย่าง มีการเลือกข้างอย่างชัดเจน ในเมื่อมีการเลือกข้าง การนำเสนอก็ไม่ตรงไปตรงมา แต่จะนำเสนอในมุมมองของตน แล้วการนำเสนอในมุมมองของตน ความรัก ชอบ เกลียดชัง ก็จะเป็นไปตามกิเลสเฉพาะตน
ทำอย่างไรที่เราจะลบความรัก ชอบ เกลียดชังเหล่านั้นออกไป ไม่เอาความคิดส่วนตัวแทรกเข้าไปในงาน แล้วนำเสนอสิ่งที่เราเห็นตามที่เป็นอยู่จริง นี่ก็คือข้อคิดที่อยากจะฝากพวกเราเอาไว้ พวกเราทุกคนมีส่วนสำคัญต่อองค์กรทั้งหมด องค์กรทั้งหมดก็คือเครื่องจักร เราเป็นเฟืองหรือส่วนหนึ่งของเครื่องจักรนั้น ๆ ถ้าการกระทำของเราติดขัด ไม่ได้ทุ่มเทอย่างเต็มที่ ก็อาจจะกลายเป็นตัวถ่วงขององค์กรไป เราจึงควรจะทุ่มเทให้เต็มที่ในหน้าที่การงานที่เรารับผิดชอบ ต้องใช้คำว่า เมื่อเราทำเต็มที่แล้ว เราก็สามารถตอบตัวเองได้โดยไม่ต้องละอายใคร ไม่ว่าใครเขาจะตั้งคำถามแบบไหน เราสามารถชี้แจงเขาได้เต็มปากเต็มคำทั้งหมด ไปไหนก็แหงนหน้าไม่อายฟ้า ก้มหน้าไม่อายดิน ถึงเวลาก็สามารถที่จะเชิดหน้า ยืดอกต่อสังคมได้ เพราะตัวเราที่เป็นผู้ใหญ่ เป็นปู่ย่าตายาย เป็นพ่อเป็นแม่ เป็นพี่เป็นน้อง เราได้ทำหน้าที่ของเราเพื่อมวลชนอย่างแท้จริง เอาแค่นี้แหละ เยอะมากเดี๋ยวกลายเป็นด่าไปอีก..! เอาไว้มีโอกาสแล้วค่อยไปคุยกันที่ทำงานของเรา ขอให้มีความสุขความเจริญกันทุก ๆ คน โมทนาด้วยที่เป็นผู้แทนของทูลกระหม่อมฯ อัญเชิญเทียนพรรษามาถวาย" |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 06:14 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.