ประวัติและคำสอนของหลวงปู่สิม
มาทยอยลงขึ้นเรื่องไว้เพราะมีหลายหน้า จะได้ทราบและค่อย ๆ อ่านไปพิจารณาไป
หลวงปู่สิม ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๒ ตรงกับวัน ศุกร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีระกา เวลาประมาณ ๒๑.๐๐ น. ที่บ้านบัว ตำบลสว่าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร บิดามารดาของท่านชื่อ นายสาน นางสิงห์คำ วงศ์เข็มมา มีพี่น้องร่วมบิดามารดา รวม ๑๐ คน ในคืนที่หลวงปู่เกิดนั้น ประมาณเวลา ๑ ทุ่ม โยมมารดาของท่านเคลิ้มหลับไป ก็ได้ฝันเห็นพระสงฆ์รูปหนึ่ง มีรัศมีกายสุกสว่างเปล่งปลั่ง แลดูเย็นตาเย็นใจอย่างบอกไม่ถูก ลอยลงมาจากท้องฟ้าลงสู่กระต๊อบกลางทุ่งนาของนาง ต่อมาเวลาประมาณ ๓ ทุ่ม นางคำสิงห์ก็ให้กำเนิดเด็กน้อย ผิวกายขาวสะอาด นายสานผู้เป็นบิดาได้ตั้งชื่อให้ ว่า สิม หมายถึงโบสถ์ อันบ่งบอกถึงความใกล้ชิดพระพุทธศาสนา ซึ่งต่อมาท่านก็ได้ครองผ้ากาสาวพัสตร์ บำเพ็ญสมณธรรมจนตลอดชั่วชีวิตของท่าน ... หลวงปู่สิม เป็นพระกรรมฐาน เป็นศิษย์รุ่นแรก ๆ ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของท่านคือการนั่งขัดสมาธิเพชร ท่านเน้นย้ำเสมอว่า การนั่งสมาธิภาวนา ใจต้องเด็ด นั่งขัดสมาธิเพชรนี้แหละจะช่วยให้จิตใจอาจหาญขึ้นมาได้ โดยน้อมระลึกถึงพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งก่อนตรัสรู้ พระพุทธองค์ทรงนั่งขัดสมาธิเพชรใต้ต้นโพธิ์ เอาชีวิตเป็นเดิมพัน แลกกับการตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาน ท่านว่าการปฏิบัติจะให้ได้ผล ต้องปล่อยวางร่างกายลงไป ปล่อยวางความหมายมั่นในรูปร่างกาย ทั้งต้องระลึกถึงความตายให้ได้ทุกลมหายใจเข้าออก จึงจะชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท ท่านพระอาจารย์มั่นได้พยากรณ์ไว้ว่า .. ท่านสิมเป็นดอกบัวที่ยังตูมอยู่ เบ่งบานเมื่อใด จะหอมกว่าหมู่ .. |
ประวัติและคำสอนของหลวงปู่สิม (หน้า ๒)
ในวัยเด็กนั้น หลวงปู่ท่านอยู่ในครอบครัวชาวนาก็มีหน้าที่ช่วยเลี้ยงควาย
ท่านเล่าว่า เฮามีควายเขาตู้อยู่ตัวหนึ่ง มันอยากจะชนเขาอยู่เรื่อย แต่ชนทีไรแพ้ทุกที เพราะมันไม่มีชั้นเชิงเอาเสียเลย ได้แต่ก้มหน้าก้มตาเอาหัวงัดลูกเดียว ไม่กี่ทีก็หันหลังวิ่งหนีแล้ว มิน่าล่ะ คนไม่มีปัญญา หลวงปู่จึงเรียกว่า ควายเขาตู้ การภาวนาก็เหมือนกัน หลวงปู่เปรียบเทียบให้ฟังว่า "ต้องรู้จักเลือกอุบายภาวนา พิจารณาอุบายที่ถูกจริต อาศัยความเพียรอย่างเดียวบ่ได้ เหมือนคนกินอาหารต้องรู้จักเลือกกินปลากินไก่บ้าง ไม่ใช่กินเนื้ออยู่นั่นแล้ว กิเลสมันพลิกแพลงเก่งต้องตามให้ทัน คนรู้จักพิจารณาก็ได้บรรลุธรรมเร็ว อย่างสาวกในครั้งพุทธกาลตั้งใจจะบวช พอปลงผม ผมตกลงมาเท่านั้นแหละ ท่านก็ปลงกรรมฐานได้เลยว่าผมไม่ใช่ของใคร ปล่อยวางทุกอย่างก็ได้บรรลุธรรมเลย แล้วแต่สติปัญญาของคนจะพิจารณา บางองค์นั่งฟังเทศน์ก็ได้บรรลุเลย อย่างนั้นปัญญาท่านมาก" สมัยที่หลวงปู่เริ่มเข้ารุ่นหนุ่มนั้น ท่านสนใจในการเป่าแคน และได้เคยไปเที่ยวล่ากระต่ายกระแตบ้าง แต่สิ่งบันดาลใจที่ทำให้ท่านอยากออกบวชก็คือ ความสะดุ้งกลัวต่อความตาย ท่านเล่าว่า ตั้งแต่ยังเด็กแล้ว เมื่อได้เห็นหรือได้ข่าวคนตาย มันให้สะดุ้งใจทุกครั้ง กลัวว่าเราจะตายเสียก่อนได้ออกบวช |
ประวัติและคำสอนของหลวงปู่สิม (หน้า ๓)
ในที่สุดเมื่ออายุได้ ๑๗ ปี จึงได้ขอบิดามารดาบรรพชาเป็นสามเณร
ณ วัดศรีรัตนาราม (เป็นวัดมหานิกาย) ณ บ้านบัวนั่นเอง ต่อมาคณะกองทัพธรรมของหลวงปู่มั่นได้เดินธุดงค์มาจากหนองคาย โดยเดินทางมาถึงวัดศรีสงคราม จังหวัดนครพนม สามเณรสิมจึงได้มีโอกาสเดินทางไปฟังธรรม ทั้งจากท่านอาจารย์ มั่น ภูริทัตโต ท่านอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม และ ท่านอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล ท่านบังเกิดความเลื่อมใสอย่างมาก จึงตัดสินใจขอถวายตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น และได้ญัตติเป็นฝ่ายธรรมยุติ โดยมีท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ ที่วัดป่าสามผง จังหวัดนครพนม หลังจากนั้นท่านได้ร่วมขบวนธุดงค์ ติดตามท่านอาจารย์มั่น จากจังหวัดนครพนม ไปยังจังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาเมื่ออายุครบบวช สามเณรสิมจึงได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดศรีจันทราวาส อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น มีท่านเจ้าคุณพระเทพสิทธาจารย์ (จันทร์ เขมิโย) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระปลัดดวงจันทร์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้เดินธุดงค์ติดตามพระอาจารย์สิงห์ ไปจำพรรษาที่วัดป่าเหล่างา จังหวัดขอนแก่น ที่นี่ท่านได้รับการอบรมกรรมฐานบทแรกอย่างถึงใจ คือมีอยู่วันหนึ่งฝนตกหนัก ชาวบ้านออกมารองน้ำฝนและเล่นน้ำฝน เกิดฟ้าผ่าเปรี้ยงลงมาที่ท่อรองน้ำฝน เป็นผลให้มีคนตาย ๒-๓ คน เขาเอาศพมาฝังในป่าช้า พอฝังไปได้ ๓-๔ วัน ท่านพระอาจารย์สิงห์ก็พาพระเณรไปขุดศพขึ้นมา หลวงปู่สิมเล่าด้วยเสียงกลั้วหัวเราะ ขุดขึ้นมาใส่กองไฟเขียวอื๋อเลยละ เขียวเหมือนเทา สภาพศพกำลังเน่า หนังตอนนั้นยังเหนียวอยู่ยังไม่แตก เหม็นไม่ต้องบอกละ เต็มจมูกทุกองค์ ได้อสุภะกันหมด ถ้าได้สักศพเอามาเผาที่ถ้ำผาปล่อง เณรน้อยน่ากลัวจะไม่ยอมอยู่ละ นี่แหละคือร่างกาย หลวงปู่พูดเนือย ๆ อย่างปลงตกแล้วโดยสิ้นเชิง บางครั้งบางสมัยมันก็ต้องดม ครูบาอาจารย์เพิ่นทำ เราจะหลบไปทางอื่นก็ไม่ได้ ก็ต้องดมไปด้วยกัน ท่านเล่าประสบการณ์ที่ท่านได้อสุภกรรมฐานอีกตอนหนึ่งว่า ศพที่เก็บไว้ ๔-๕ วันก่อนจะเผานั้น ถ้าสมณะนักบวชเรายังไม่เคยเห็นก็อาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่ผู้ที่เคยดูศพอย่างนั้นมาแล้ว จะนึกได้ว่าพอเปิดฝาโลงเท่านั้นแหละ จะเป็นน้ำมันท่วมขึ้นมาตั้งครึ่งโลง (สมัยก่อนยังไม่มีฟอร์มาลีนฉีด ศพก็จะเน่าไปตามกาลเวลา) แมลงวันไม่รู้มาจากไหน ไม่ต้องมีใครไปเชื้อเชิญละ มาจับสบงจีวรเต็มไปหมด เวลาไปชักบังสุกุลเสร็จ ดมซากศพเสียไม่รู้ว่ากี่ลมหายใจ นี่แหละร่างกายนั้น พระพุทธองค์ท่านจึงทรงสอนให้กำหนดเป็นอสุภกรรมฐาน อย่าไปเห็นเป็นรูป ไม่ว่ารูปหญิงรูปชาย ให้เข้าใจว่าเป็นอันเดียวกัน ไม่มีใครสวยใครงามกว่ากัน สมมติโลกว่าสวยงาม สมมติธรรมมันไม่มีสวยงาม อสุภัง มรณัง ทั้งนั้น ถึงมันจะยังไม่ตายตอนเด็กตอนหนุ่มก็เถอะ ไม่นานละ มันก็ทยอยตายไปทีละคนสองคน หมดไป สิ้นไป ไม่เหลือ |
ประวัติและคำสอนของหลวงปู่สิม (หน้า ๔)
เรื่องการให้ทาน เป็นอีก เรื่องที่หลวงปู่ฯ สอนละเอียดลออ ทานที่ท่านย้ำเสมอคือ “อภัยทาน”
ท่านบอกว่า “คนเราจะอยู่ด้วยกันได้อย่างนานที่สุดก็ไม่เกินร้อยปีหรอก เพราะฉะนั้นอย่าไปโกรธแค้น อาฆาต จองเวร คิดเบียดเบียน หรือทำร้ายกันเลย ให้อภัยเสียเถอะ อย่างไรเขาก็จะตายเองอยู่แล้ว เราไม่ต้องไปลงมือหรอก ตัวเราเองก็จะต้องตายเองด้วยเหมือนกันนั่นแหละ” แม้กระทั่งสัตว์เดรัจฉานที่ตัวเล็กกว่ายุง เช่น ริ้น ไร และ ลอด หลวงปู่ฯ ก็ยังสอนให้พวกเราให้ทาน ตัวลอดนี่หน้าตาเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ หลวงปู่ฯ บอกว่าตัวมันเล็กจนลอดรูผ้าเข้าไปกัดเราได้นั่นแหละ และท่านก็ยกย่องว่าการที่เราให้ทานน้ำเลือดน้ำเหลืองในตัวเราแก่พวกนี้ เป็นทานบริสุทธิ์เสียด้วย “ทานัง เม ปริสุทธัง นิพพานัง ปรมัง สุขัง” นั่นทีเดียว นอกจากให้ธรรมเป็นทานอันเป็นกิจวัตรประจำวันแล้ว มีวัตถุทานอะไรที่พอจะให้ได้ หลวงปู่ฯ เป็นแจกไม่อั้น ไม่ว่าจะเป็นเหรียญปลุกเสก ผ้าพุทโธ รูปถ่าย ฯ ลฯ ก็ด้วยเมตตาไม่มีประมาณของท่านนั่นเอง ทำให้ท่านไม่ค่อยขัดใจใคร ถ้าเป็นคำขอที่ไม่ผิดกาลเทศะ หลวงปู่ฯ มักจะอนุโลมให้เสมอ โดยเฉพาะผู้ที่กำลังมีทุกข์ แต่ไม่ว่าจะแจกอะไรก็ตาม หลวงปู่ฯ จะกำชับให้ภาวนา พุทโธ ด้วยทุกครั้ง ... |
ประวัติและคำสอนของหลวงปู่สิม (หน้า ๕)
ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ (พรรษาที่ ๘) สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) แห่งวัดบรมนิวาส
ได้เดินทางไปเยี่ยมพระอาจารย์สิงห์ ที่วัดจักราช ท่านได้แลเห็นจริยาวัตรของหลวงปู่สิม ขณะทำหน้าที่อุปัฏฐากท่านอาจารย์สิงห์ และเกิดชื่นชอบถูกอกถูกใจขึ้นมา จึงเอ่ยปากขอตัวหลวงปู่สิมว่า ”พระองค์นี้มีลักษณะเป็นผู้มีบุญบารมี ผมจะขอตัวให้ไปอยู่ด้วยจะขัดข้องหรือเปล่า” ท่านอาจารย์สิงห์มิได้ขัดข้อง เพราะหลวงปู่สิมจะได้มีโอกาสใกล้ชิดพระเถระผู้ใหญ่ มีโอกาสศึกษาพระธรรมวินัยให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น หลวงปู่สิมจึงได้ร่วมเดินทางมากับสมเด็จฯ ได้มาศึกษาพระธรรมวินัย พร้อมกันนั้นก็ได้ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนการปฏิบัติธรรมตามแนวทางของพระธุดงค์ โดยสมเด็จฯ โปรดให้ปลูกกุฏิกรรมฐานรอบกำแพงโบสถ์ เพื่อเป็นที่พักของพระเณรจำนวนมากที่มารับการอบรมจากหลวงปู่ องค์ท่านเองก็โปรดที่จะมานั่งภาวนาใต้ต้นไม้ใหญ่ข้างโบสถ์ โอกาสเช่นนี้ หลวงปู่ได้ถวายคำแนะนำในการปฏิบัติ... ครั้งหนึ่งมีรับสั่งถามหลวงปู่ว่า “ที่พูดกันว่าได้ฌานนั้น ฌานนี้ คำว่าฌานนี่หมายถึงอะไร เห็นว่ามีตั้งหลายอย่าง มีวิตก วิจาร อะไรต่ออะไร มันเป็นอย่างไร” หลวงปู่ถวายคำอธิบายว่า “เวลาญาติโยมเขาสร้างกุฏิให้พระอยู่อาศัย พอขึ้นบันไดบ้านมาก็จะถึงชานก่อน แล้วจึงไปถึงที่นอน” “อ้อ! ๆ รู้แล้ว” สมเด็จฯ ทรงเข้าใจในทันที “มันเป็นที่พักผ่อนชั่วคราวเองนะ ยังไม่ใช่ที่หลับที่นอนจริง ๆ” |
ประวัติและคำสอนของหลวงปู่สิม (หน้า ๖)
เรื่องฌานนี้ หลวงปู่มีเกร็ดฝอยเกี่ยวกับหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม มาเล่าให้ฟังว่า
หลวงปู่ตื้อท่านเคยเข้าฌานไปดูศพพระมหากัสสปเถระ ซึ่งตามตำนานมีว่ายังคงเก็บรักษาไว้แถบภูเขาหิมาลัย คือ ก่อนที่จะเข้าสู่นิพพาน พระมหากัสสปเถระท่านได้อธิษฐานให้ภูเขาปิดล้อมศพเอาไว้สามด้าน รอเวลาพระศรีอาริย์มาตรัสรู้ แล้วจะได้เผาศพของท่านบนฝ่ามือของพระศรีอาริย์ เนื่องจากมีบุพกรรมต่อกัน เรื่องมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งพระมหากัสสปเถระ ท่านมีชาติกำเนิดเป็นช้างแสนรู้ ของจักรพรรดิคือพระศรีอาริย์นั่นเอง วันหนึ่งพระจักรพรรดิทรงช้างเสด็จออกประพาสป่า ช้างหนุ่มกัสสปะพอเห็นช้างสาว ก็วิ่งเข้าหาทันทีตามประสา วิ่งไม่วิ่งเฉย ๆ สะบัดเอาพระจักรพรรดิตกจากหลังไปด้วย เลยถูกทำโทษให้เอางวงจับเหล็กเผาไฟจนตาย จึงมีเวรกรรมต่อกันตั้งแต่ครั้งกระโน้น จนเดี๋ยวนี้ศพของพระมหากัสสปเถระก็ยังรอพระศรีอาริย์อยู่ เมื่อหลวงปู่ตื้อเข้าฌานไปดูถึงที่เนปาลโน้นต้องไปถึงสองครั้ง เพราะไปครั้งแรกประตูไม่เปิด ในห้องหรือภูเขาที่เก็บศพนั้นมีแสงสว่างเรืองรองแต่ไม่ยักกะมีดวงไฟสักดวง เล่ามาถึงตรงนี้ หลวงปู่ก็กระเซ้าคนฟังว่า “ใครอยากพิสูจน์ให้เห็นจริงก็ให้เร่งภาวนา เอาให้ได้ให้ถึง ภาวนาเอง เห็นเอง ฟังคนอื่นเล่ามันก็ไม่สิ้นสงสัย” |
ประวัติและคำสอนของหลวงปู่สิม (หน้า ๗)
ปี พ.ศ.๒๔๘๐ ออกพรรษาแล้ว หลวงปู่เดินธุดงค์จากวัดบรมนิวาส
มาจนถึงบ้านบัว ตำบลสว่าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เพื่อโปรดญาติโยมที่บ้านเกิด ตามคำอาราธนา ชาวบ้านบัวและบ้านใกล้เคียงมีความเคารพเลื่อมใส แห่กันมาทำบุญกุศล และฟังพระธรรมเทศนา รับการอบรมการปฏิบัติสมาธิภาวนาจากหลวงปู่อย่างมากมาย หลวงปู่ท่านไม่นิยมการสั่งสมทรัพย์สมบัติใด ๆ หากมีลาภเกิดขึ้น ท่านจะแจกจ่ายออกไปอย่างรวดเร็ว เมื่อครั้งญาติพี่น้องของท่านนิมนต์ไปที่บ้านเกิดเพื่อรับส่วนแบ่งมรดกที่ดิน หลวงปู่บอกกับพี่น้องว่า นาที่เป็นมรดกนั้นให้แบ่งกันเองเถอะ เราเอานาทุ้งนี้ (ทุ้ง เป็นภาษาอีสาน แปลว่าทุ่ง) แล้วท่านก็ชี้ไปที่บาตรของท่าน หลวงปู่จำพรรษาที่บ้านเกิดเพียงพรรษาเดียว แล้วท่านก็ธุดงค์ไปจังหวัดเพชรบูรณ์ แวะจำพรรษาอยู่ ๒ พรรษาตามวัดป่า แล้วท่านก็ขึ้นเหนือ จนกระทั่งได้พบท่านอาจารย์มั่น ที่หมู่บ้านแม่ดอย อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ณ ที่นี้เอง ท่านได้รับคำแนะนำเพิ่มเติมจากท่านอาจารย์ จนการปฏิบัติธรรมของท่านก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก ต่อมาท่านอาจารย์มั่นกลับไปที่จังหวัดอุดรธานี ท่านก็แยกไปพักที่วัดโรงธรรมสามัคคี อำเภอสันกำแพง ได้พักจำพรรษาอยู่นานถึง ๕ ปี แล้วจึงไปอยู่ที่ถ้ำผาผัวะ อำเภอจอมทอง และอีกหลาย ๆ ที่ในจังหวัดเชียงใหม่ ท่านเคยปรารภกับองค์ท่านเองว่า จะเป็นด้วยเหตุอะไรหนอ ไปอยู่ที่อื่นที่ไหน ๆ ก็ตามไม่รู้สึกปลอดโปร่งโล่งใจ เหมือนอยู่ที่เชียงใหม่ ครั้งหนึ่งมีภาพนิมิตเกิดขึ้น เป็นภาพหลวงปู่ในเครื่องทรงของพระเจ้าแผ่นดินเชียงใหม่ ใส่รองเท้าสูงถึงครึ่งน่องแน่ะ หลวงปู่เล่าอย่างขำ ๆ |
ประวัติและคำสอนของหลวงปู่สิม (หน้า ๘)
ในระหว่างที่ท่านจำพรรษาอยู่นี้ ท่านได้มีโอกาสเรียนภาษาอังกฤษ
และเมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาอุบัติขึ้น ท่านก็ได้ไปหาที่สงบบำเพ็ญธรรมที่ถ้ำผาผัวะ ปรากฏว่ามีทหารญี่ปุ่นขึ้นไปฟังเทศน์หลวงปู่ที่ถ้ำ ตอนแรกเทศน์เป็นภาษาไทย แล้วมีล่ามแปลจากไทยเป็นอังกฤษ และจากอังกฤษเป็นญี่ปุ่นอีกที ทำให้เกิดความยุ่งยาก พอทหารญี่ปุ่นรู้ว่าท่านสามารถคุยภาษาอังกฤษให้รู้เรื่องโดยตรงได้ ต่างก็พอใจยิ้มออกทีเดียว ระหว่างที่อยู่จำพรรษาที่เชียงใหม่นี้ หลวงปู่ได้สร้างวัดสันติธรรมซึ่งอยู่ในตัวอำเภอเมือง โดยการอุปถัมภ์ของคุณแม่นิ่มนวล สุภาวงศ์ มีเนื้อที่ประมาณ ๑๐ ไร่ เป็นที่พักอันมั่นคง บางขณะมีพระเณรมากถึง ๓๘ รูป หลวงปู่ปกครองพระเณรลูกวัดของท่านอย่างอบอุ่นใกล้ชิดเหมือนพ่อดูแลลูก ๆ เวลาที่พระเณรอาพาธ หลวงปู่จะนั่งเฝ้าไข้อย่างสงบไม่ยอมห่าง จนกระทั่งผู้ป่วยอาการดีขึ้น ครั้งหนึ่งเณรน้อยนอนซมด้วยโรคพยาธิ ตัวเหลือง ซูบซีดผอม เพราะฉันอาหารไม่ได้เลย “แม่ไล” ได้เอายาถ่ายพยาธิมาถวาย เณรน้อยก็ฉันไม่ได้ อาเจียนออกมา ทำให้แม่ไลโมโหมากจะบังคับให้ฉันให้ได้ แต่หลวงปู่ซึ่งนั่งเฝ้าอยู่อย่างใจเย็น ได้ปลอบประโลมเณรน้อยของท่านว่า “วันพรุ่งนี้เถอะเน้อ ไปบิณฑบาตได้กล้วยก่อน จะเอายาใส่ในกล้วยให้เณรน้อยฉัน” |
ประวัติและคำสอนของหลวงปู่สิม (หน้า ๙)
หลวงปู่ยังได้เดินทางไป ๆ มา ๆ ระหว่างเชียงใหม่กับทางภาคอีสานอีกหลายครั้ง
เนื่องจากโยมมารดาถึงแก่กรรมและดูแลการสร้างวัด จนกระทั่งวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ ท่านได้รับสมณศักดิ์ พระครูสันติวรญาน ขณะอยู่ที่วัดสันติธรรม นำความปลาบปลื้มยินดีแก่บรรดาศิษยานุศิษย์โดยทั่วกัน ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้มีพระลูกศิษย์ของท่านไปพบถ้ำปากเปียง ซึ่งอยู่ ตำบลบ้านถ้ำ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นที่สงบ สงัด ร่มรื่น และมีน้ำอุดมสมบูรณ์ หลวงปู่ท่านได้เดินทางมาสำรวจและเข้าปฏิบัติธรรมหลายครั้ง แต่ยังไม่ถูกใจ ท่านอยากได้ถ้ำที่กว้างและอยู่สูงสักหน่อย กิเลสจะได้เข้าหายาก ลุงติ๊บ คนบ้านถ้ำเป็นผู้พบถ้ำผาปล่อง แกเล่าว่า ผมขึ้นมาตัดไม้จึงได้มาเจอถ้ำ มีแต่เถาวัลย์ปกคลุมรุงรังไปหมด ข้างในถ้ำมีแต่ขี้เลียงผา เหม็นอับแล้วก็ชื้นมาก พอเห็นถ้ำท่านก็ชอบใจมาก ตกลงพักในถ้ำคืนนั้นเลย ปัจจุบันนี้ สะดวกสบายมาก สมัยก่อนหลวงปู่พร้อมด้วยศิษย์ผู้บุกเบิก ท่านนอนกลางดินกินกลางทราย แถมดมขี้เลียงผามานักต่อนัก หลวงปู่เล่าว่า ตอนมาใหม่ ๆ ได้เจอครกหินอันหนึ่งกับสากสองอัน แสดงว่า คนสมัยก่อนที่อยู่ถ้ำปล่อง เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยตำรากไม้ใบไม้กินเป็นยา แต่ตอนตายครกหินมันหนัก เอาไปด้วยบ่ได้ |
ประวัติและคำสอนของหลวงปู่สิม (หน้า ๑๐)
หลวงปู่ท่านไม่ได้พักในถ้ำอันเป็นที่วิเวกเหมาะกับการปฏิบัติของท่านนานนัก
เนื่องจากท่านพระอาจารย์ลี ธมฺมธโร เจ้าอาวาสวัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ ได้มรณภาพลงในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ท่านต้องไปรับตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาส แต่ท่านเป็นอยู่เพียง ๔ ปีเศษ ก็ขอลาออกด้วยสุขภาพไม่ดี ต้องไปพักรักษาตัวที่วัดสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร จนถึง ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ท่านจึงวางภาระทั้งหมด และมาจำพรรษาที่ถ้ำผาปล่องเป็นระยะเวลานาน ในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ หลวงปู่เดินทางไปเยี่ยม หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ที่อำเภอสันกำแพง หลวงปู่ตื้อได้บอกอำลาว่า ผมจะขอลาท่านกลับไปบ้านเกิด จะเอาสังขารไปทิ้งที่นั่น คงจะไม่ได้กลับมาเชียงใหม่อีก ผมมีความลับจะบอกท่านอยู่เรื่องหนึ่ง ผมรักษาเอาไว้ ๓๔ ปีนี่แล้ว เมื่อครั้งหลวงปู่มั่นยังอยู่ที่เชียงใหม่ ก่อนท่านจะกลับไปอุดรธานี ท่านได้พยากรณ์ไว้ว่า ศิษย์รุ่นต่อไปที่จะมีชื่อเสียงโด่งดังคือท่านสิม กับท่านมหาบัว นี่แหละ ต่อมาหลวงปู่ตื้อก็ได้เดินทางกลับ บ้านข่า ตำบลท่าบ่อ อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม บ้านเกิดของท่าน ... หลวงปู่ท่านมีปฏิปทาชอบอยู่ป่าเขาห่างไกลจากความเจริญอันเป็นที่เหมาะสมสำหรับผู้ปฏิบัติ แต่ศิษยานุศิษย์ของท่านก็ยังได้อาราธนานิมนต์ท่านไปต่างประเทศหลายแห่ง เช่น อินเดีย ปีนัง มาเลเซีย อังกฤษ และไปถึงทวีปยุโรป และอเมริกา อีกด้วย ตลอดชีวิตของท่านได้ประพฤติปฏิบัติตรงต่อความหลุดพ้น ทำงานทั้งทางโลก เช่น งานพัฒนาชุมชน งานก่อสร้างบูรณะวัดวาอาราม สถานที่สาธารณะต่าง ๆ และงานทางธรรม ให้การอบรมสั่งสอนการปฏิบัติสมาธิ ภาวนาต่าง ๆ สมบูรณ์ครบถ้วน จนถึงวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๕ หลวงปู่จึงเข้าไปรับพัดยศ ในสมณศักดิ์ พระญาณสิทธาจารย์ ที่ในพระราชวัง หลังจากนั้นท่านรีบกลับถ้ำผาปล่องทันที โดยท่านมิได้มีอาการอาพาธแต่อย่างใด หลวงปู่ได้ละสังขาร เวลาประมาณ ตี ๓ คืนวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ (ทางราชการถือเป็น วันที่ ๑๔) ด้วยอาการสงบเหมือนท่านนอนหลับไป ท่านจากไปอย่างผู้ที่พร้อมรับต่อความตายทุกขณะ สมตามที่หลวงปู่ได้พร่ำสอนผู้อื่นอยู่เสมอ ... หลวงปู่เป็นผู้มีความเด็ดเดี่ยว เข้มแข็ง อดทน พูดจริง ทำจริง ถือสัจจะมั่นคง |
คำสอนหลวงปู่สิม ๑
คำว่าจิตได้แก่ ดวงจิตดวงใจ ผู้รู้อยู่ ผู้เห็นอยู่ ผู้ได้ยินได้ฟังอยู่ เราฟังเสียง ได้ยินเสียง ใครเป็นผู้รู้ อยู่ในตัวในใจนั้นแหละ มันอยู่ตรงนี้ ให้รวมให้สงบเข้ามาอยู่ตรงนี้ ตรงจิตใจผู้รู้อยู่ (พระธรรมเทศนา พุทธาจารานุสรณ์) |
คำสอนหลวงปู่สิม ๒
ตาเห็นรูปก็จิตดวงนี้เป็นผู้เห็น ดีใจก็จิตดวงนี้หลงไป เสียใจก็จิตดวงนี้หลงไป เสียงผ่านเข้ามาทางโสตทางหู ก็จิตดวงเก่านี่แหละ กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็จิตดวงนี้เป็นผู้หลง เมื่อจิตใจดวงนี้เป็นผู้หลงผู้เมาไม่เข้าเรื่อง เราก็มาแก้ไข ภาวนาทำใจให้สงบ ไม่ให้หันเหไปกับอารมณ์ใด ๆ เห็นสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดดับอยู่ในตัว ในใจ ในสัตว์ ในบุคคลนี้ ว่ามีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วระยะหนึ่ง แล้วก็แตกดับไป เป็นธรรมดาอย่างนี้ (พระธรรมเทศนา พุทธาจารานุสรณ์) |
คำสอนหลวงปู่สิม ๓
การปฏิบัติบูชาภาวนานี้ เป็นการปฏิบัติภายใน เป็นการเจริญภายใน พุทโธภายใน ให้ใจอยู่ภายใน ไม่ให้จิตใจไปอยู่ภายนอก (พระธรรมเทศนา พุทธาจารานุสรณ์) |
คำสอนหลวงปู่สิม ๔
การภาวนาไม่ใช่เป็นของหนักเหมือนแบกไม้หามเสา เป็นของเบาที่สุด นึกภาวนาบทใดข้อใด ก็ให้เข้าถึงจิตถึงใจ จนจิตใจผ่องใสสะอาด ตั้งมั่นเที่ยงตรงคงที่อยู่ ภายในจิตใจของตน ใจก็สบาย นั่งก็สบาย นอนก็สบาย ยืนไปมาที่ไหนก็สบายทั้งนั้น ในตัวคนเรานี้เมื่อจิตใจสบาย กายก็พลอยสบายไปด้วย อะไร ๆ ทุกอย่างมันก็สบายไป มันแล้วแต่จิตใจ (พระธรรมเทศนา พุทธาจารานุสรณ์) |
คำสอนหลวงปู่สิม ๕
ทำอย่างไรใจข้าพเจ้าจะสงบระงับ มีอุบายอะไร ก็อุบายไม่ขี้เกียจนั่นแหละ อุบายมันอยู่ที่ไหน อุบายมันอยู่ที่ความเพียร ทำอย่างไรข้าพเจ้าจะสู้กับกิเลสราคะ โทสะ โมหะ ในใจได้ ไปสู้ที่ไหน ก็สู้ด้วยความเพียร สู้ด้วยความตั้งใจมั่น เราตั้งใจลงไปแล้วให้มันมั่นคง อย่าไปถอย (พระธรรมเทศนา พุทธาจารานุสรณ์) |
คำสอนหลวงปู่สิม ๖
เพียรพยายามฝึกตนเองอยู่ มันจะเหลือ (วิสัย) ผู้มีความเพียรไปไม่ได้ เพราะว่าบนแผ่นดินนี้ ผู้มีความเพียร ผู้ไม่ท้อแท้อ่อนแอในดวงใจ ไม่ว่าจะทำอะไรย่อมสำเร็จได้ ดูตัวอย่างพระพุทธเจ้า เมื่อเห็นแล้ว เราต้องตั้งความเพียรลงไป ภาวนาลงไป เมื่อมันยังไม่ตายจะไปถอยความเพียรก่อนไม่ได้ (พระธรรมเทศนา พุทธาจารานุสรณ์) |
คำสอนหลวงปู่สิม ๗
สู้ด้วยการละทิ้ง อย่าไปยึดเอาถือเอา เขาว่าให้เรา เขาดูถูกเรา เสียงไม่ดีเข้าหูก็เพียรละออกไปให้มันหมดสิ้น มนุษย์มีปาก ห้ามมันไม่ให้พูดไม่ได้ มนุษย์มีตา ห้ามไม่ให้มันดูไม่ได้ มันเป็นเรื่องของโลก ท่านจึงตรัสว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันเป็นความร้อน ความร้อนคือกิเลส กิเลสเหมือนกับไฟ ไฟมันเป็นของร้อน (พระธรรมเทศนา พุทธาจารานุสรณ์) |
คำสอนหลวงปู่สิม ๘
เราได้คลานภาวนาจนเข่าแตกเลือดออกมีไหม ไม่มี มีแต่นอนห่มผ้าให้มันตลอดคืน มันจะได้สำเร็จมรรคผลอะไร ก็ได้แต่กรรมฐานขี้ไก่ กรรมฐานขี้หมู ไม่ลุกขึ้นภาวนาเหมือนพระแต่ก่อน พระแต่ก่อนท่านเดินไม่ได้ท่านก็คลานเอา (พระธรรมเทศนา พุทธาจารานุสรณ์) |
คำสอนหลวงปู่สิม ๙
พุทโธในใจ หลงใหลทำไม ไม่ต้องหลง ไม่ต้องลืม นั่งก็พุทโธในใจ นอนก็พุทโธในใจ ยืนก็พุทโธในใจ เดินไปไหนมาไหน ก็พุทโธในใจ กิเลสโลเลละให้หมด โลเลทางตา โลเลทางหู โลเลทางจมูกทางกลิ่น โลเลในอาหารการกิน เลิกละให้หมด (พระธรรมเทศนา พุทธาจารานุสรณ์) |
คำสอนหลวงปู่สิม ๑๐
ไม่ต้องไปรอท่าว่า เมื่อถึงวันตายข้าพเจ้าจะภาวนาพุทโธเอาให้ได้ อย่างนี้ไม่ได้ เราต้องทำไว้ก่อน เตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อนตั้งแต่บัดนี้ เดี๋ยวนี้ เวลานี้เป็นต้นไป (พระธรรมเทศนา พุทธาจารานุสรณ์) |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 05:45 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.