กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=39)
-   -   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๐ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=5480)

เถรี 17-03-2017 15:29

เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๐
 
ให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกของเรา หายใจเข้า...ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก...ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ตามที่เรามีความถนัดมาแต่เดิม

วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ อยากจะพูดถึงสำหรับผู้ที่ปฏิบัติใหม่ เนื่องจากว่ามีหลายท่านที่มาสอบถามเกี่ยวกับปัญหาในการปฏิบัติ แล้วสรุปได้ว่าแม้แต่ลมหายใจเข้าออกก็จับไม่ได้

ลมหายใจเข้าออกนั้นเป็นพื้นฐานใหญ่ของกองกรรมฐานทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นกรรมฐานกองใดก็ตาม ถ้าไม่มีลมหายใจเข้าออกไปควบคู่ด้วย กรรมฐานกองนั้นจะตั้งอยู่ไม่ได้นาน การที่เราจะตัดกิเลสต้องมีกำลังสมาธิที่สูงพอ จึงจะสามารถตัดกิเลสในระดับต่าง ๆ ได้ ถ้าไม่มีลมหายใจเข้าออกไปควบคู่ด้วย สมาธิก็ไม่ทรงตัว ย่อมไม่มีกำลังที่จะไปต่อสู้กับกิเลสได้

ดังนั้น...ในการปฏิบัติของเราทุกครั้งจะทิ้งลมหายใจเข้าออกไม่ได้ มีหลายท่านบอกว่าการปฏิบัติแบบวิปัสสนายานิกะ คือการคิดพิจารณาไปเรื่อย ๆ ก็สามารถทำให้บรรลุมรรคผลได้ นั่นเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามตำรา แต่ในการปฏิบัติจริง ๆ นั้นจะเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะว่าสภาพจิตของเราขาดสมาธิที่จะหนุนเสริม การพินิจพิจารณาย่อมไม่ปรากฏความชัดเจน

ในเมื่อไม่ปรากฏความชัดเจน ก็จะสร้างความฟุ้งซ่านให้เกิดได้ง่าย เมื่อจิตใจฟุ้งซ่านขึ้นมา รัก โลภ โกรธ หลง ก็ย่อมแทรกเข้ามาทันที ดังนั้น...วิปัสสนาล้วน ๆ จึงเป็นเรื่องที่ยากเหลือเกินที่จะบรรลุหรือประสบความสำเร็จ

เถรี 19-03-2017 12:39

ลมหายใจเข้าออกของเรานั้น ช่วยให้จิตใจของเรามั่นคงอยู่เฉพาะหน้า ไม่ฟุ้งซ่านไปในอดีต ไม่ฟุ้งซ่านไปในอนาคต อยู่กับปัจจุบันธรรมนี้เท่านั้น ถ้าเราหยุดใจอยู่กับลมหายใจเข้าออก กรรมใหม่ที่เราสร้างก็ไม่มี เหลือแต่กรรมเก่าอย่างเดียว ถ้าเราขัดเกลาไปเรื่อย ๆ ก็ย่อมมีโอกาสที่สภาพจิตจะผ่องใสจากกิเลสได้สักวันหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนั้น เรื่องของลมหายใจเข้าออกจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดซึ่งเราจะละทิ้งไม่ได้

แต่การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ต้องไม่เป็นการบังคับลมหายใจ ลมหายใจจะแรงจะเบา จะยาวจะสั้น ให้ปล่อยเป็นไปตามธรรมชาติ เรามีหน้าที่แค่เอาสติของเรารับรู้ตามไปเท่านั้น

ถ้าถามว่าสติคืออะไร ? คือความรู้สึกทั้งหมดของเรา ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเราแนบชิดติดกับลมหายใจเข้าไปจนสุด แนบชิดติดกับลมหายใจออกมาจนสุด ถ้าเผลอสติคิดถึงเรื่องอื่นเมื่อไร ก็ให้ดึงสติกลับมาหาลมหายใจของตนใหม่

ตอนแรกก็ต้องมีการต่อสู้ยื้อแย่งกันระหว่างกิเลสกับเรา บางทีหายใจเข้าไม่ทันจะหายใจออกก็เผลอไปคิดเรื่องอื่นแล้ว ฟุ้งซ่านไปไกลแล้ว แต่ถ้าเราใช้ความเพียรพยายามโดยไม่ย่อท้อ พยายามกำหนดลมหายใจของเราไป ระยะเวลาที่เราจะทรงได้ก็จะนานขึ้น

เถรี 19-03-2017 12:41

สำหรับบางท่านแล้วถ้ารู้สึกว่าไม่ไหวจริง ๆ เพราะสภาพจิตฟุ้งซ่านมาก ก็ให้ตั้งสติอยู่เฉพาะหน้า ดูว่าจิตของเราคิดอะไร ถ้าเราจดจ่อคอยดูอยู่ สภาพจิตของเราจะคิดได้ไม่นาน เพราะว่าตัวรู้ที่ลงไปปรุงแต่งเหลือน้อย เมื่อตัวรู้กลายเป็นผู้จับจ้องดูว่าเราคิดอะไร สภาพจิตก็ไม่สามารถที่จะปรุงแต่งต่อไปได้นาน ก็จะยอมสงบนิ่ง ยอมอยู่กับลมหายใจในที่สุด

การกำหนดลมหายใจนั้น เราจะจับจุดกระทบฐานเดียว ๓ ฐาน ๗ ฐาน ก็แล้วแต่เราถนัด ถ้าการปฏิบัติใหม่ ๆ รู้สึกวาการจับลม ๓ ฐาน ๗ ฐานเป็นเรื่องยาก เราก็เอาฐานเดียว อย่างเช่นว่าจับอยู่เฉพาะที่ปลายจมูก ลมหายใจเข้ารู้สึกว่าหายใจเข้าผ่านจมูก ลมหายใจออกรู้สึกว่าหายใจออกผ่านจมูก หรือจะจับตรงส่วนของท้องซึ่งเป็นที่สุดของลมหายใจ ลมหายใจเข้าไปจนสุดที่ท้อง รู้อยู่ว่าลมหายใจเข้าไปจนสุดที่ท้อง ลมหายใจออกจากท้อง รู้อยู่ว่าออกจากท้องมาแล้ว

คำภาวนาก็อย่าใช้คำภาวนาที่ยาวมาก เพราะถ้าไม่มีความคล่องตัวแล้ว การใช้คำภาวนายาว ๆ จะลำบากในการจับลมหายใจไปด้วย เมื่อไม่มีความชำนาญ คำภาวนาลงตัวกับลมหายใจได้ยาก การภาวนามีการสะดุดหยุดยั้งเป็นระยะ ก็อาจจะเบื่อหน่าย รำคาญ ฟุ้งซ่านจนภาวนาไม่ได้ก็มี ให้ใช้คำภาวนาสั้น ๆ อย่างเช่น พุทโธหรือนะมะพะธะ หรือพองหนอ ยุบหนอก็ได้ เพียงแต่ว่าสติของเราต้องจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจและคำภาวนาเท่านั้น

เถรี 21-03-2017 09:48

เมื่อผ่านไประยะหนึ่งลมหายใจละเอียดขึ้น เราจะจับอาการกระทบได้น้อยลง จึงรู้สึกว่าลมหายใจเบาลง ไม่ต้องไปพยายามหายใจใหม่ให้แรงเท่าเดิม ปล่อยให้เบาไปตามธรรมชาติอย่างนั้น เมื่อลมหายใจละเอียดไปกว่านั้น เราอาจจะจับไม่ได้ จนรู้สึกว่าลมหายใจหายไป แต่ความจริงไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่จิตกับประสาทแยกจากกัน เราจึงไม่รับรู้อาการกระทบของลม ก็ให้กำหนดใจรู้อยู่ว่า ตอนนี้ลมหายใจเบาลง หรือว่าลมหายใจหายไป

ถ้าหากว่าสภาพจิตไปถึงจุดจริง ๆ ความนิ่งที่เกิดขึ้น จะทำให้แม้แต่คำภาวนาก็ไม่ต้องการ คำภาวนาก็จะหายไปด้วย เรามีหน้าที่กำหนดดูกำหนดรู้ว่า ตอนนี้ลมหายใจเบาลง ตอนนี้ลมหายใจหายไป ตอนนี้คำภาวนาหายไป อย่าไปดิ้นรนหายใจใหม่ อย่าไปดิ้นรนภาวนาใหม่ เพราะจะเป็นการย้อนไปที่จุดเริ่มต้น และในขณะเดียวกันก็อย่าอยากให้เข้าไปถึงสภาพอย่างนั้น เพราะตัวอยากทำให้ฟุ้งซ่าน สภาพจิตย่อมไม่ทรงตัว

สำหรับท่านที่กำหนดได้ยาก ก็ให้กำหนดลมหายใจแล้วนับเป็นคู่ หายใจเข้าจนสุดพร้อมกับคำภาวนา หายใจออกจนสุดพร้อมกับคำภาวนา นับเป็น ๑ คู่ หายใจเข้าจนสุดพร้อมกับคำภาวนา หายใจออกจนสุดพร้อมกับคำภาวนา นับเป็น ๒ คู่ โดยที่ตั้งใจเอาไว้ว่าเราจะนับลมหายใจเข้าออกให้ได้สัก ๑๐ คู่หรือ ๒๐ คู่ โดยที่ไม่คิดเรื่องอื่น

ถ้าเราเผลอสติไปคิดเรื่องอื่น รู้ตัวเมื่อไรก็ให้ย้อนกลับไปนับหนึ่งใหม่ ถ้าเราตั้งใจภาวนาแค่ ๑๐ คู่ ต่อให้นับไปจนถึง ๘ หรือ ๙ แล้ว ถ้าคิดเรื่องอื่นเมื่อไร ก็ย้อนกลับไปนับหนึ่งใหม่ สภาพจิตที่โดนทรมานอย่างนี้หลาย ๆ รอบ ก็จะรู้ว่าถ้าไม่ยอมสงบเราไม่ยอมเลิกแน่ สภาพจิตที่เหน็ดเหนื่อยแล้วก็จะยอมนิ่งลงไปเอง ยอมอยู่กับลมหายใจเข้าออกไปเอง

เถรี 21-03-2017 09:49

เมื่อภาวนาไปจนอารมณ์ใจทรงตัวเต็มที่ รู้สึกว่าไปต่อไม่ได้แล้ว เมื่อกำลังคลายใจตัวออกมา ให้รีบหาวิปัสสนาญาณมาพิจารณา อย่างเช่นว่าการดูว่าร่างกายของเราก็ดี ของคนอื่นก็ดี ของสัตว์อื่นก็ดี เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง และสลายตัวไปในที่สุด

ระหว่างที่ดำรงชีวิตอยู่ก็มีแต่ความทุกข์ ท้ายสุดก็ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา เสื่อมสลายตายพัง กลับคืนเป็นสมบัติของโลกไปตามเดิม ถ้าเราไม่หาวิปัสสนาญาณให้คิด สภาพจิตที่มีกำลังจากการภาวนา จะเอากำลังเหล่านั้นไปฟุ้งซ่าน และจะทำฟุ้งซ่านไปใหญ่โตชนิดหยุดไม่ได้ ห้ามไม่อยู่

ดังนั้นทุกครั้งที่ภาวนาแล้ว เมื่อคลายกำลังใจออกมาให้พิจารณาไว้เสมอ เมื่อพิจารณาจนสภาพจิตทรงตัว ก็ย้อนกลับไปภาวนาใหม่ ต้องทำอย่างนี้สลับกันไปสลับกันมา จึงจะมีความก้าวหน้าตามที่เราต้องการ

ลำดับต่อไปให้ทุกคนภาวนาหรือพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านเติมบุญ
วันเสาร์ที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๐

(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยคะน้า)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 17:47


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว