กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=43)
-   -   จิตมันฟุ้งอยู่ในสัญญา (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=2974)

ลัก...ยิ้ม 25-10-2011 11:24

จิตมันฟุ้งอยู่ในสัญญา
 
จิตมันฟุ้งอยู่ในสัญญา
เพราะมัวไปยุ่งกับเรื่องของผู้อื่น

หลวงพ่อฤๅษี กับ หลวงพ่อสิม ท่านมีเมตตาสอนเรื่องนี้ไว้ดังนี้

๑. “จิตมันฟุ้งอยู่ในสัญญา คือความจำได้หมายรู้ แต่จิตมันชอบจำแต่ความเลวของผู้อื่นไม่ยอมวาง แล้วเก็บเอามาสร้างเป็นธรรมารมณ์ อันเป็นพิษภัยทำร้ายจิตของตนเองให้เศร้าหมอง เพราะมัวไปยุ่งกับเรื่องของผู้อื่น คิดถึงเรื่องคนโน้นคนนี้ไปเรื่อย จัดว่าขาดพรหมวิหาร ๔ สองข้อแรกคือ เมตตากับกรุณาจิตตนเอง การที่จิตของเอ็งไม่รวมตัวเป็นสมาธิได้ เพราะไม่ใช้กายวิเวก วจีวิเวก จิตวิเวก รวมตัวให้เป็นหนึ่ง (เอโกธัมโม) จึงจะเกิดสมาธิได้ ความจริงแล้วที่พึ่งอันสุดท้ายก็คือตัวเราเอง เราเป็นคน ๆ เดียวจริง ๆ กายเรา ปากเรา จิตเราทำความสงบรวมให้เป็นหนึ่งก็อยู่ที่เราคนเดียว จึงจะเจริญพระกรรมฐานได้ผล”

๒. “ตั้งแต่ตื่นลืมตาขึ้นมาจิตก็เริ่มออกนอกตัว คิดแต่เรื่องของชาวบ้านทั้งสิ้น จัดเป็นอารมณ์หลง ฟุ้งเลวออกนอกตัว เป็นธัมเมา (ยังไม่ทันเสพของมึนเมา จิตก็เมาเสียแล้ว) จิตเลยไม่รวมตัวเป็นสมาธิ สาเหตุก็เพราะอ่อนอานาปานุสติ ลืมกำหนดรู้ลมหายใจเข้า-ออก ซึ่งเป็นคาถาเรียกจิต ทำจิตให้รวมตัวอยู่กับตัวได้ตลอดเวลา จิตก็สงบเย็นเป็นสุขได้”

๓. “จิตที่มีสมาธิไม่ทรงตัวเพราะอ่อนอานาปานุสติ มีผลทำให้สติ-สัมปชัญญะไม่ต่อเนื่อง พิจารณาอะไรก็ไม่ได้นาน ก็เลยฟุ้งซ่านออกนอกตัว ไปคิดเรื่องอื่นที่ไม่เป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติธรรม จัดว่าเป็นคนใจร้อน ขาดเมตตาบารมี ชอบจุดไฟเผาตนเองอยู่เสมอ และขาดขันติบารมีด้วย เพราะมีอะไรมากระทบเพียงเล็กน้อย (มีอุปสรรคเล็กน้อย) จิตก็หวั่นไหวไปตามสิ่งกระทบนั้น (ขาดการสำรวมอายตนะหรืออินทรีย์สังวรณ์) ท่านก็บอกว่า “เอ็งนี่ไม่ได้เรื่องจริง ๆ เพราะขาดสมาธิ แล้วเรื่องที่คิดอยู่ในขณะนี้ พอมันผ่านไปแล้ว เอ็งรู้เรื่องหรือไม่” (เพื่อนของผมตอบว่า ยังรู้เรื่องอยู่) ท่านว่า “นั่นซิ แล้วจะมาบอกว่าไม่มีสมาธิได้อย่างไร” (เพื่อนผมก็ยอมรับ)

๔. ท่านอธิบายว่า “มันเป็นสมาธิในสัญญา มิใช่สมาธิในปัญญา”

ลัก...ยิ้ม 26-10-2011 12:22

สมาธิในสัญญากับสมาธิในปัญญา

๑. “เรื่องสัญญาอันเป็นอุปสรรคของการปฏิบัติธรรม พึงกำหนดรู้เอาไว้ให้มาก และพึงละเสียให้ได้ในสัญญานั้น ๆ หากต้องการที่จักปฏิบัติให้ได้ดี(ให้ลืมสัญญาเลว จำของเลว ๆ ให้จำแต่ของดี ๆ)

๒. “สัญญาทางโลกที่ฟุ้งออกไปภายนอก ให้พยายามสงบระงับเสีย เพราะจัดว่าเป็นนิวรณธรรม ตัวร้ายแรงตัวหนึ่งที่ทำปัญญาให้ถอยหลัง สัญญาตัวนี้แหละที่ไม่เที่ยง เป็นหนึ่งในขันธ์ ๕ ที่พึงจักต้องละ” (ร่างกายเราประกอบด้วยรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)

๓. “ฟุ้งเรื่องอะไรให้พยายามแก้เรื่องนั้น นำมาพิจารณาเป็นกรรมฐานได้ ถ้าแก้ไม่ไหว ก็เอาอานาปานุสตินั่นแหละเข้ามาเป็นกำลังสงบระงับ ให้ใช้อริยสัจหรือกรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เป็นหลักสำคัญในการแก้ปัญหา หากยังคิดไม่ออกให้ระงับไว้ด้วยสมถะภาวนา คือใช้อานาปานุสติระงับไว้ก่อนชั่วคราว

๔. “อารมณ์จิตมันดิ้นรน (ฟุ้งซ่าน) ให้อบรมจิตอยู่ในอานาปานุสติให้มาก ๆ เพราะความสงบของกาย วาจา ใจ นั้นสำคัญมาก พึงจักทำให้เข้าถึงความสงบให้มาก จักได้มีกำลังใหญ่ เป็นเหตุให้เห็นความเคลื่อนไหวของจิตที่แปรปรวนอยู่ตลอดเวลาได้ ธรรมของตถาคตจักต้องหยุด (อารมณ์จิตให้สงบ) ก่อน จึงจักเห็นความเคลื่อนไหวของ จิต (กิเลส) ที่แปรปรวนอยู่ตลอดเวลาได้ สรุปการศึกษากระแสจิต (อารมณ์ของจิต) จักต้องอาศัยความสงบจึงจักเห็นได้

๕. “เป็นการดีแล้วที่รู้ตัวเองว่า ที่เจริญพระกรรมฐานไม่ได้ผลเท่าที่ควรนั้น มาจากชอบมีอารมณ์ไปยุ่งกับเรื่องของผู้อื่น แม้จักเป็นความหวังดีต่อเขาก็ตาม ก็เป็นเหตุให้เสียเวลาทำจิตให้ฟุ้งซ่าน”

๖. “อนึ่ง การแก้ไขอารมณ์ฟุ้งซ่านที่ชอบยุ่งกับเรื่องของผู้อื่น โดยใช้วิปัสสนาแก้ดีกว่าใช้สมถะนั้น ถูกต้อง เพราะสมถะที่ใช้อานาปานุสตินั้น เป็นเพียงแต่ระงับไว้ชั่วคราวเท่านั้น หากใช้พิจารณาเรื่องเราเกิดมาก็คนเดียว เวลาตายก็ตายคนเดียว ไม่เกี่ยวเนื่องกับใคร จึงมีอารมณ์สงบ ไม่ฟุ้งซ่านเรื่องของคนอื่นได้นั้น ถูกต้อง ค่อย ๆ พิจารณาไป แล้วจักวางอารมณ์ฟุ้งซ่านลงได้”

ลัก...ยิ้ม 27-10-2011 10:35

๗. “จับหลักวิปัสสนาญาณให้ได้ตามที่ท่านฤๅษีบอก การเจริญวิปัสสนาทุกครั้ง จำเป็นต้องพิจารณาให้เข้าถึงความเบื่อหน่ายในร่างกายทุกครั้ง จะมากจะน้อยก็ต้องพยายามให้เข้าถึง คือ ปฏิบัติให้เกิดความเบื่อหน่ายในขันธ์ ๕ อย่างจริงใจ วันละเล็ก วันละน้อย ไม่ช้ากำลังใจจักรวมตัว ก็จักสามารถตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหานได้(อุบายในการพิจารณาทุกชนิดที่มีผลทำให้ตัดขันธ์ ๕ ได้ ว่ามันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา จนเกิดอารมณ์เบื่อหน่ายในขันธ์ ๕ อย่างจริงใจหรือนิพพิทาญาณแล้ว จัดว่าเป็นวิปัสสนาญาณทั้งสิ้น)

๘. “งานที่ทำอยู่ก็ทำไปตามปกติตามหน้าที่ แต่ให้ดูสุขภาพของร่างกายไปด้วย ให้เหมาะสม ไม่ตึงไปหรือเบียดเบียนกายมากไป ไม่หย่อนไปหรือขี้เกียจเกินไป ให้เดินสายกลางตามหลักมัชฌิมาปฏิปทา โดยมีพรหมวิหาร ๔ เป็นหลักสำคัญในการควบคุม ให้ยอมรับนับถือกฎของความเป็นจริงไว้ด้วย และอย่าลืมความตาย ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง แต่ความตายเป็นของเที่ยง หมั่นซ้อมตาย และพร้อมที่จะตายได้ตลอดเวลาด้วยความไม่ประมาท (รู้ลม รู้ตาย รู้นิพพาน) ตั้งเข็มทิศของจิตจักไปพระนิพพานเอาไว้ให้มั่นคง พยายามทรงจิตในอุปสมานุสติให้มาก เพื่อความไม่ประมาทในชีวิต แล้วหมั่นพิจารณาธาตุ ๔ อาการ ๓๒ เข้าไว้ ให้จิตยอมรับสภาพของขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง และการเกาะอยู่ในอายตนะ ๑๒ ทั้งภายใน ๖ และภายนอก ๖ ที่แท้จริง ก็คือจิตอยู่ในอุปาทานขันธ์นั่นเอง ให้พยายามปลดตรงนี้ให้มาก

๙. “เรื่องการพิจารณาอารมณ์ของจิตตนเองเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจักต้องรู้ว่าอารมณ์อะไรเกิดขึ้นกับจิต และอารมณ์นั้นเกิดขึ้นได้เพราะสัญญาหรือปัญญา (สัญญาสมาธิหรือปัญญาสมาธิ) จุดนี้ทบทวนให้ดี จึงจักแยกแยะได้ถูกต้องว่า อารมณ์นั้นเป็นสัญญาหรือปัญญา ถ้าเป็นสัญญานึกขึ้นมาได้ ประเดี๋ยวก็ลืม ถ้าเป็นปัญญาจิตก็จักรู้อยู่อย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลง ปัญญามีความทรงตัว รอบรู้ในกองสังขาร (ของกายและจิต) อยู่ตลอด เห็นอะไรจิตน้อมยอมรับทันที ว่านี่เป็นกฎของธรรมดา จิตมันจักบอกตนอยู่อย่างนี้เสมอ จิตของผู้มีปัญญาจักเป็นจิตที่รู้เท่าทันความจริงในอริยสัจอยู่เสมอ พระอรหันต์ท่านทรงอธิปัญญาก็อยู่ที่ตรงนี้ หมั่นสำรวจใจให้ดี ๆ อย่าตรากตรำร่างกายมากเกินไป เหนื่อยก็ต้องให้ร่างกายพักผ่อน อย่าฝืนสังขารเพราะจักได้แต่ตัวทุกข์เท่านั้น ผลของการปฏิบัติจักได้น้อย พยายามหาทางพอดีให้ได้ทั้งทางจิตและทางกาย แล้วปฏิบัติตามนั้น จักได้ผลดีกว่าทรมานกายและจิตใจ จุดนี้ต้องหากันเอาเอง เพราะมัชฌิมาปฏิปทาของแต่ละคนไม่เท่ากัน ให้เป็นไปตามแต่ความเหมาะสมของแต่ละคน

๑๐. “การที่วางอารมณ์ราคะและปฏิฆะไม่ได้อย่างสนิทใจ ก็เพราะบกพร่องในกายคตานุสติและพรหมวิหาร ๔ จักต้องพิจารณาร่างกายให้มาก ๆ คำว่าให้มากก็จงสำรวมใจว่า มากจนกระทั่งจิตคลายความรักในร่างกายตนเอง เห็นร่างกายตนเองเป็นธาตุ ๔ กายคตา-อสุภะ อยู่ตลอดเวลาที่ระลึกนึกขึ้นมาได้ มีความเบื่อหน่ายและรังเกียจในร่างกายตนเองอยู่เสมอ นั่นแหละ จึงจักวางราคะได้ ปฏิฆะก็เช่นกัน ให้เจริญพรหมวิหาร ๔ ให้เมตตาจิตของตนเองให้มาก ๆ เห็นไฟโทสะเป็นความร้อนที่เป็นโทษอยู่ในจิตเสมอ ให้เห็นคุณคือความเย็นของพรหมวิหาร ๔ อย่างจริงใจ เมื่อนั้นแหละ จึงจักตัดปฏิฆะได้ หนทางอื่นที่จัดตัดได้นั้นไม่มี มีแต่ทางเดินไปอย่างนี้เท่านั้น จึงจักบรรลุมรรคผลได้”


ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๙
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 06:33


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว