กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   กระทู้ธรรม (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=2)
-   -   "ดูกรท่านทั้งหลาย ดาบสผู้นี้เธอสั่งสมบรมโพธิสมภาร เป็นพุทธังกรูหน่อพระชินสีห์โพธิสัตว์" (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=210)

วาโยรัตนะ 08-03-2009 11:27

ใคร่ขอเมตตาท่านสุธัมมา ขออนุญาตขยายความเกี่ยวกับเรื่องชาดก จากกระผมที่ได้สืบค้นมาขอรับว่า

ขุมทรัพย์จากชาดก


พระมหาบูรณะ ชาตเมโธ เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร 2542 หน้า 197 - 213

ความเบื้องต้น
ชาดกเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ แสดงถึงความเป็นมาในพระชาติต่าง ๆ ที่ได้เกิดมาสร้างบารมีเอาไว้เพื่อการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เราเรียกว่าพระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗, ๒๘ มีทั้งหมด ๕๔๗ เรื่อง อาจมีเรื่องที่ซ้ำกันบ้างแต่คาถาจะต่างกัน หรือบางเรื่องยกมาเพียงคาถาเดียวจากเรื่องที่มีหลาย ๆ คาถา

โครงสร้างชาดก
ชาดกนั้นมีคัมภีร์หลักอยู่ ๒ ส่วน คือคัมภีร์พระสุตตันตปิฎก ตามที่กล่าวแล้ว และคัมภีร์อรรถกถา ขยายความเรื่องนี้อีก ๑๐ เล่ม นอกนั้นอาจปรากฏในพระวินัยปิฏก แลพระสูตรส่วนอื่น ๆ หรือมีปรากฏในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบทบ้าง การอ่านชาดกในพระไตรปิฎกโดยตรง เราจะได้ขุมทรัพย์๑คือปัญญา เพราะเป็นการอ่านพระพุทธพจน์ที่ท่านบันทึกไว้ในรูปของคาถาร้อยกรอง แต่เราอาจจะไม่ทราบที่มาที่ไป หรือความเป็นมาความเป็นไป แม้ได้ของดีแต่บางทีไม่รู้วิธีใช้ ก็อาจเกิดประโยชน์น้อย เหมือนคนได้ยารักษาโรคขนานดีมา แต่ไม่มีฉลากกำกับวิธีใช้มาให้ ย่อมไม่ค่อยโปร่งใจเท่าไรที่จะบริโภค ส่วนในอรรถกถาชาดกนั้น มีโครงสร้างที่ชัดเจน ๕ ส่วน คือ

๑. ปัจจุบันนิทาน กล่าวถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ประทับอยู่ที่ไหน ทรงปรารภใคร เราจะทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นว่าใครทำอะไร ที่ไหน เรื่องอะไร

๒. อดีตนิทาน เป็นเรื่องชาดกโดยตรง เรื่องที่เคยเกิดมีมาในอดีต ทรงนำมาเล่าในที่ประชุมสงฆ์ให้รับทราบ บางเรื่องเป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์ของชนชาติต่าง ๆ ในชมพูทวีป บางเรื่องเป็นนิทานท้องถิ่น บางเรื่องเป็นนิทานเทียบสุภาษิต เช่นคนพูดกับสัตว์ สัตว์พูดกับสัตว์ หรือเทวดาพูดกับคน แต่ทั้งหมดนั้นมุ่งสอนให้คนประกอบกรรมดี

๓. คาถา เป็นพุทธพจน์ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่กล่าวแล้ว ท่านยกมาตั้งไว้ ซึ่งภาษิตบางเรื่องเป็นพุทธพจน์โดยตรง บางเรื่องเป็นฤาษีภาษิต บางเรื่องเป็นเทวดาภาษิต แต่ก็ถือเป็นพุทธพจน์เพราะเป็นคำที่นำมาตรัสเล่าใหม่

๔. เวยยากรณภาษิต เป็นการอธิบายธรรมที่ปรากฏในคาถานั้น ๆ เพื่อให้เข้าใจง่าย เช่นคำว่า หิริโอตตัปปะ ความละอายชั่วกลัวบาป ท่านอธิบายว่า ละอายชั่วคือละอายต่อการทำทุจริตทางกาย วาจา ใจ มีเหตุเกิดจากเหตุภายใน คือนึกถึงตนเอง ชาติตระกูล ความรู้ความสามารถ ฐานะ การศึกษา เป็นต้นแล้วไม่กล้าทำทุจริต ส่วนความกลัวบาปมีเหตุเกิดจากภายนอกคือกลัวว่าตนเองจะต้องติเตียนตนเอง กลัวสังคมติเตียน กลัวถูกจับกุมลงโทษ และกลัวว่าหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในทุคติ แล้วไม่กล้าทำความชั่ว (เทวธรรมชาดก ขุททกนิกาย อรรถกถาชาดก เล่มที่ ๑ ข้อ ๖ หน้า ๑๘๕ ฉบับ มหาจุฬาอัฏฐกถา ๒๕๓๕ )

๕. สโมธาน เป็นการสรุปชาดก ให้เห็นว่าผู้ที่ปรากฏในชาดกนั้น ๆ เมื่อก่อนได้เคยทำกรรมที่ไม่ดีมาแล้วอย่างนี้ แม้ชาตินี้ก็ยังทำอยู่ ผลที่ได้คือทำให้ท่านผู้นั้นไม่กล้าทำความผิดซ้ำอีก หรือไม่ก็ได้บรรลุธรรมชั้นโสดาบันบุคคลขึ้นไป

วาโยรัตนะ 08-03-2009 11:30

ความงามในชาดก

ชาดกนั้นนำเสนอวิถีชีวิตของบุคคลในอดีตที่ผ่านมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๓,๐๐๐ ปี ซึ่งก็ไม่ต่างไปจากยุคนี้ ยังตกอยู่ในอำนาจของความรัก ความชัง ความโกรธ ความหลง หรือถ้าจะกล่าวให้ถูกต้องคนในยุคนี้ก็แทบจะไม่มีอะไรแตกต่างจากคนในอดีตแต่อย่างใด ในเรื่องความรัก ความชัง ความหลงและแนวการดำเนินชีวิต ผู้ที่พัฒนาตนเองได้ ห้ามตนจากความชั่วได้ย่อมประสบกับความเจริญ ส่วนผู้ที่อ่อนแอกว่า โง่เขลากว่า ก็ยังลำบากอยู่เสมอ ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข ส่วนผู้ประพฤติอธรรมย่อมอยู่เป็นทุกข์อยู่เสมอเช่นกัน สิ่งเหล่านี้เราหาได้ในชาดก
แม้วิถีชีวิตไทยแท้ก็ยังดำเนินตามแนวทางที่ปรากฏในชาดก เช่นศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี วิถีชีวิตไทยที่มีใจเมตตา กรุณา ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ล้วนได้จากชาดก เราจะมาดูลีลาชีวิตในชาดกที่เป็นเครื่องสอนใจในหลายรูป ดังนี้

ลีลาชีวิตที่แตกต่าง

๑. ตายเพราะปาก การพูด เป็นการสื่อสารที่สำคัญที่จะทำให้มนุษย์เรารู้เรื่องที่ประสงค์ได้ แต่การพูดมากไปก็ไม่ดี ไม่พูดก็ไม่รู้เรื่อง พูดกันคนละทีก็ทะเลาะกัน เรื่องการพูดท่านจึงว่า ต้องพูดให้ถูกกาล พูดคำสัตย์คำจริง คำอิงประโยชน์ อ่อนหวาน และมีเมตตา คนที่พูดไม่ถูกกาล ถึงตายมีมาแล้วมิใช่น้อย
ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์บวชเป็นฤๅษีมีศิษย์ ๕๐๐ ล้วนแต่เก่งในการเข้าฌาน แต่มีศิษย์ขี้โรคอยู่คนหนึ่งยังไม่ได้ฌานอะไร วันหนึ่งกำลังผ่าฟืนอยู่ เพื่อนดาบสอีกคนก็มายืนสั่งการว่า “ฟันอย่างนี้ซิ ผ่าอย่างนี้ ซิท่าน” เธอโกรธจึงพูดว่า “เดี๋ยวนี้ แกไม่ใช่อาจารย์สั่งสอนศิลปะในการผ่าฟืนแก่ฉันหรอกนะ” พูดจบก็เอาขวานฟันก้านคอคนช่างพูดนั้นถึงแก่ความตาย
ที่ใกล้ ๆ อาศรมของพวกดาบส มีนกกระทาตัวหนึ่งขันอยู่ทุกวัน ต่อมาเงียบเสียงไป พระโพธิสัตว์จึงถามพวกศิษย์ว่า “นกกระทาที่เคยขันอยู่ทุกวันไปไหน” ฟังว่าถูกนายพรานนกมาดักจับไปกินแล้ว เพราะขันดังเกินไป อาจารย์จึงกล่าวว่า
“คำพูดที่ดังเกินไป รุนแรงเกินไป และพูดเกินเวลา ย่อมฆ่าคนโง่ เหมือนเสียงฆ่านกกระทาที่ขันดังเกินไป”
(ติตติรชาดก ชาดก เรื่องที่ ๑๑๗ พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๒๕๓๙ เล่มที่ ๒๗ หน้า ๔๘)๒

๒. ชื่อนั้นสำคัญไฉน หลายคนไม่เข้าใจความจริงของชีวิตว่าความสุขและความทุกข์มีสาเหตุมาจากการกระทำของตนเอง ไม่ได้พิจารณา แต่กลับไปเที่ยวโทษสิ่งภายนอกว่าเป็นเหตุให้ตนลำบาก หาอะไรโทษไม่ได้ก็มาโทษชื่อของตนเองว่าเป็นกาลกิณี เลยยอมเสียเงินทองเสียเวลาเพื่อให้หมอเปลี่ยนชื่อ จนเกิดเป็นอาชีพรับตั้งชื่อกันก็มีอยู่มากมาย
ในอดีตกาล ลูกศิษย์ของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ชื่อนายบาป ไม่ชอบใจชื่อของตน จึงไปขอให้อาจารย์ตั้งชื่อให้ใหม่ อาจารย์จึงให้เขาออกเที่ยวหาชื่อเอาเองตามชอบใจ เมื่อได้กลับมาแล้วจะตั้งให้ เขาจึงออกเดินทางหาชื่อที่เหมาะสม เดินไปไม่นานเห็นคนหามศพผ่านไป ถามทราบความว่า คนตายชื่อนายเป็น ถามเขาว่า ชื่อเป็นทำไมถึงตาย ได้รับคำตอบว่า จะชื่ออะไรก็ตายทั้งนั้น เพราะชื่อเป็นสิ่งสมมติเพื่อรู้กันเท่านั้น
เขาเดินทางต่อไป เห็นเศรษฐีเจ้าหนี้กำลังทุบตีลูกหนี้ที่ไม่ยอมจ่ายดอกเบี้ยเสียที ถามเขาว่าคนถูกตีชื่ออะไร ทราบว่า ชื่อนางรวย คนชื่อรวยกลับจนด้วยหรือ ได้รับคำตอบว่า จะชื่ออะไร ไม่สำคัญ ถ้าไม่ขยันทำงานหาเงินก็จนได้ทั้งนั้นเเหละ ชื่อมันเป็นสิ่งสมมติเท่านั้น
เขาจึงเดินทางต่อไป เดินผ่านดงใหญ่ได้ยินเสียงคนร้องไห้อยู่ จึงเข้าไปสอบถาม ได้ความว่า เจ้าคนนั้นเดินหลงทางอยู่ในป่าหลายวันแล้วหาทางออกจากป่าไม่ได้ ถามเขาว่าชื่ออะไร ได้ฟังว่า ชื่อนายชำนาญทาง จึงถามต่อว่า ทำไมชื่อชำนาญ
ทางแต่หลงทาง ได้ฟังคำตอบว่า มันเป็นแต่เพียงชื่อที่สมมติเพื่อรู้กันเท่านั้น ไม่ใช่ชำนาญจริงอย่างชื่อเมื่อไร
นายบาปจึงเดินทางกลับสำนัก ไปบอกอาจารย์ว่า หาชื่อถูกใจไม่ได้ขอใช้ชื่อเดิม อาจารย์จึงกล่าวว่า
“เพราะเห็นคนชื่อเป็นแต่ตาย เห็นหญิงชื่อรวยแต่ยากจน เห็นนายชำนาญทางแต่หลงทางในป่า นายบาปจึงได้กลับมา”
(นามสิทธิชาดก ชาดก เรื่องที่ ๙๗ หน้า ๔๐ พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๒๕๓๙ เล่มที่ ๒๗ หน้า ๔๐)

วาโยรัตนะ 08-03-2009 11:31

๓. โลภมาก ลาภหาย ความโลภไม่เข้าใครออกใคร ยิ่งถ้าโลภจนตัวสั่นงันงกแล้ว(อภิชฌาวิสมโลภะ) ยิ่งมองไม่เห็นอรรถไม่เห็นธรรมหรือไม่เห็นความผิดถูกแต่ประการใด คิดแต่จะเอาให้ได้ฝ่ายเดียว
ในอดีต พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพราหมณ์มีภรรยาคนหนึ่งพร้อมธิดา ๓ คน เมื่อธิดาออกเรือนไปไม่นาน พระโพธิสัตว์ก็ทำกาลกิริยาไปเกิดเป็นหงส์ทอง ระลึกชาติได้ว่าเคยเกิดเป็นมนุษย์ คิดจะสงเคราะห์ภรรยา จึงบินมาสลัดขนทองให้ครั้งละหนึ่งขน
ทำให้อดีตภรรยาและธิดาได้เงินทองใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย ต่อมา ฝ่ายอดีตภรรยาพูดกับธิดาว่า “ธรรมดาสัตว์ดิรัจฉานรู้ใจยาก ถ้าเวลาหงส์ทองพ่อของพวกเจ้าไม่มา พวกเราจะลำบาก ทางที่ดีเราจะช่วยกันจับถอนเอาขนทองเสีย”
เมื่อหงส์ทองโพธิสัตว์กลับมา ภรรยาและธิดาต่างก็ช่วยกันจับถอนขนจนหมดสิ้น เมื่อขนขึ้นมาใหม่กลับกลายเป็นขนสีขาวตามปกติ เรื่องนี้มีสาเหตุมาจากถูลนันนทาภิกษุณีไปขอกระเทียมชาวบ้านเขา เมื่อเจ้าของเขาให้แล้ว ไปถอนเอาของเขาจนหมดแปลง ทำให้ชาวบ้านเขาติเตียนว่าไม่รู้จักประมาณ
พระพุทธเจ้าทรงปรารภเรื่องนี้แแล้วตรัสคาถาว่า
“บุคคลได้สิ่งใด ควรยินดีสิ่งนั้น เพราะความโลภเกินไปเป็นความชั่วแท้ นางพราหมณีจับเอาหงส์ทองถอนขนเสีย จึงเสื่อมจากทอง”
(สุวัณณหังสชาดก ชาดก เรื่องที่ ๑๓๖ พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๒๕๓๙ เล่มที่ ๒๗ หน้า ๕๖)

๔. กระต่ายตื่นตูม คนที่ทำอะไรตาม ๆ คนอื่นเขาโดยไม่สืบสาวเรื่องราวให้ถ่องแท้ก่อนนั้น เห็นวิบัติหมดเนื้อหมดตัวมามากแล้ว
ในอดีตกาล เจ้ากระต่ายตัวหนึ่งอาศัยหากินอยู่แถวดงตาลปนป่ามะตูม เมื่อมันหากินแล้ว ก็เข้านอนใต้ใบตาลแห้งซึ่งอยู่ที่โคนต้นมะตูม กำลังนอนคิดเพลินๆ ว่า ถ้าแผ่นดินถล่มจะทำอย่างไร บังเอิญขณะนั้น มะตูมสุกลูกหนึ่งได้หล่นลงมาบนใบตาลแห้งที่มันนอนอยู่ภายใต้ เสียงดังตูมใหญ่ มันตกใจรีบวิ่งหนีหน้าตั้งโดยไม่คิดจะหันหลังดู พวกเพื่อน ๆ เห็นมันวิ่งมาอย่างนั้นจึงร้องถามว่าวิ่งหนีอะไร มันวิ่งไปบอกไปว่า แผ่นดินถล่ม กระต่ายจำนวนพันได้ฟังดังนั้น ก็วิ่งตามมันไป สัตว์อื่น ๆ เห็นเข้า ก็ตะโกนถามว่าวิ่งหนีอะไร ได้ยินว่าแผ่นดินถล่ม บรรดาสัตว์ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น หมี ช้าง กวาง แรด เสือ ราชสีห์และสัตว์อื่น ๆ ต่างก็รักตัวกลัวตายไม่มีใครที่จะคิดกลับไปดู สัตว์ทั้งหลายที่เหยียบกันตายนับประมาณไม่ได้ วิ่งกัน
มาฝุ่นตลบกลบปฐพียิ่งกว่าแผ่นดินถล่ม กำลังจะถลันตกหน้าผาลงทะเลพอดี ขณะนั้นพระโพธิสัตว์เกิดเป็นราชสีห์หากินอยู่แถวนั้น เห็นสัตว์ทั้งหลายกำลังจะตกทะเลตาย จึงวิ่งไปยืนสกัดกั้นอยู่ข้างหน้าร้องถามไปว่าพวกท่านหนีอะไรกัน บรรดาสัตว์ทั้งหลายเห็นราชสีห์ยืนคำรามอยู่ข้างหน้าต่างกลัวตาย จึงร้องบอกว่า แผ่นดินถล่ม ราชสีห์ถามว่าใครเห็น ไม่มีใครบอกได้ ต้องไล่เลียงลงไปจนถึงเจ้ากระต่ายตัวต้นเรื่อง ราชสีห์จึงบังคับให้กระต่ายนำไปดูที่เกิดเหตุ กระต่ายไม่ยอมไป ยืนกระต่ายขาเดียว ราชสีห์จึงให้สัตว์ทั้งหลายรออยู่ ตนเองให้กระต่ายตัวนั้นนั่งบนหลังแล้วนำไปดูที่เกิดเหตุ กระต่ายไม่ยอมเข้าไปใกล้ต้นมะตูมได้ร้องบอกว่า ข้าพเจ้านอนอยู่ตรงนั้น แล้วเสียงมันดังตูมขี้น ราชสีห์จึงแสดงลูกมะตูมสุกให้กระต่ายดู แล้วพากระต่ายกลับไปบอกสัตว์ทั้งหลายให้ทราบความจริง พระพุทธจ้าตรัสคาถาว่า
“กระต่ายได้ยินเสียงผลมะตูมสุกหล่นเสียงดังสนั่นก็วิ่งหนีไป ฝูงสัตว์ฟังคำของกระต่ายต่างก็กลัวตัวสั่น พวกคนโง่เขลายังไม่ทันรู้เรื่องอย่างแจ่มแจ้ง ฟังคนอื่นโจษขาน ก็พากันตื่นตระหนก เพราะพวกเขาเชื่อคนง่าย ส่วนพวกนักปราชญ์ สมบูรณ์ด้วยศีลและปัญญา ยินดีในความสงบ และเว้นไกลจากความชั่ว ย่อมไม่เชื่อคนง่าย”
(ทุททุภายชาดก ชาดก เรื่องที่ ๓๒๒ พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๒๕๓๙ เล่มที่ ๒๗ หน้า ๑๗๔)

กายแก้ว 14-03-2009 19:56

ขอชื่นชม คุณ wonderisland ที่มีจิตกรุณาพิมพ์เรื่องราว เป็นพุทธานุสติ โดยเฉพาะเรื่องพระนางพิมพา ซึ่งชอบอ่านตอนที่ท่านจะขอนิพพานนี้ มาตั้งแต่เด็ก คราวนี้ได้มารื้อฟื้น และโมทนาอีกครั้ง โดนใจ ขอบพระคุณค่ะ:f449b82c:


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 02:21


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว